คนเกิดวันพุธ ความทุกข์โถมทับทวี

Y Chromosome degeneration: วันที่มนุษย์เพศชายสูญพันธุ์...

คำเตือน ต้องการความรู้ชีววิทยาระดับมัธยมปลายขึ้นไป

Jennifer A. Graves ศาสตราจารย์ด้านพันธุศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงแห่ง Australian National University ผู้มีชื่อเสียงได้ออกมาประกาศอย่างกล้าหาญว่า Chromosome Y จะสูญหายไปจากโลกนี้ในอีก 14 ล้านปีข้างหน้า


มนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดมีระบบเพศที่ กำหนดโดยโครโมโซมเพศ X/Y (XY sex-determination system) ในระบบดังกล่าว สิ่งมีชีวิตที่มีโครโมโซม XX จะเป็นเพศหญิง และโครโมโซม XY เป็นเพศชาย ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า โครโมโซม Y เป็นตัวกำหนดความเป็นเพศชาย

โครโมโซม X และโครโมโซม Y มีความแตกต่างกันอย่างมาก โครโมโซม X ของมนุษย์มีขนาดใหญ่กว่า (165 Mb) และประกอบด้วยยีนมากกว่า 1000 ยีน ในขณะที่โครโมโซม Y ที่มีขนาดเล็กกว่ามาก (~60 Mb) มียีนเพียง 45 ยีน อย่างไรก็ตามเพียง 45 ยีนของโครโมโซม Y ก็ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างเพศชายและหญิง ทั้งนี้เนื่องจาก Sex-determining Region Y (SRY) บนโครโมโซม Y (สำหรับในมนุษย์คือ testis determining factor (TDF)) เป็นปัจจัยกำหนดให้สิ่งมีชีวิตแสดงลักษณะทางเพศชายแทนที่จะเป็นเพศหญิง





เมื่อราว 300 ล้านปีก่อน เชื่อว่าระบบโครโมโซมเพศ XY ได้อุบัติขึ้นจากโครโมโซมร่างกาย (autosomal chromosome) คู่หนึ่ง ในสิ่งมีชีวิตที่มีการกำหนดเพศโดยปัจจัยอื่นเช่น อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม (temperature-dependent sex determination) จากนั้นมี “การสะสม” ยีน SRY บนโครโมโซมเส้นหนึ่งแล้วมีการขาดออกเป็นเส้นสั้นที่มียีน SRY ติดอยู่ด้วยจึงกลายเป็นโครโมโซม Y ส่วนโครโมโซมอีกเส้นหนึ่งที่เป็นคู่กันก็เป็นโครโมโซม X

การสะสมยีน ที่ “เป็นประโยชน์” เฉพาะเพศชายในโครโมโซม Y เกิดจากโครโมโซมทั้งสองเส้นมีการวิวัฒนาการร่วมกันจนกระทั่งไม่อาจเกิด genetic recombination ได้ในบางบริเวณ การยับยั้งการเกิด genetic recombination ดังกล่าวเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือทำให้โครโมโซม Y ยังคงสามารถเก็บรักษายีนที่เป็นประโยชน์ต่อเพศชายไว้ได้ (male specific region) แต่ข้อเสียก็คือทำให้โครโมโซม Y มีการสูญสลายอย่างต่อเนื่อง (ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะพูดถึงต่อไป)

การศึกษาของศาสตราจารย์ Graves เมื่อไม่นานมานี้ทำให้ได้ขอสมมติฐานใหม่ว่าโครโมโซม X และ Y ของมนุษย์และสัตว์มีรก (placental mammals) เพิ่งอุบัติขึ้นเมื่อราว 100-160 ล้านปีก่อน จากโครโมโซม XY รุ่นเก่าซึ่งพบในสัตว์มีถุงหน้าท้อง (marsupials) และโมโนทรีม (monotremes เช่น ตุ่นปากเป็ด) ถูก “เติม” ชิ้นส่วนยีนจนมาเป็นโครโมโซม XY รุ่นใหม่ในปัจจุบัน





นักพันธุศาสตร์พบว่าโครโมโซม Y มีการเสื่อมสลายอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มันอุบัติขึ้นมา สำหรับมนุษย์ จากราว 1000 ยีนเหลือเพียง 45 ยีนในปัจจุบัน! เช่นเดียวกัน อัตราการเสื่อมสลายของโครโมโซม Y ดำเนินต่อไปเรื่อยๆในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ศาสตราจารย์ Graves ได้คำนวณไว้ว่า หากอัตราการเสื่อมสลายไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันโครโมโซม Y ของมนุษย์จะสูญสิ้นในอีก 14 ล้านปีข้างหน้า





ก่อนที่จะพูดถึงการเสื่อมสลายของโครโมโซม Y ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้มนุษย์เพศชายสูญพันธุ์ จขบ.ขอรีวิวเกี่ยวกับ genetic recombination เล็กน้อย genetic recombination หมายถึงการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนยีนระหว่างโครโมโซมที่เป็นคู่กัน ซึ่งมักเกิดในช่วงที่มีการแบ่งเพศแบบ meiosis (meiosis I) เนื่องจากในช่วงดังกล่าว โครโมโซมแต่ละเส้นที่เป็นคู่กันจะมีการจัดเรียงตัวเข้าคู่กัน ทำให้โครโมโซมมีโอกาสไขว้กัน (crossing over) และแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนยีนระหว่างกันได้ genetic recombination ทำให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตและช่วยซ่อมแซมยีนที่เสีย หายอีกด้วย





สาเหตุประการหลักที่ทำให้โครโมโซม Y เสื่อมสลายนั้นเกิดจาก nonrecombining region นั่นเอง จากการศึกษาในแมลงหวี่ (Drosophila Miranda) พบว่า อัตราการสูญสลายของโครโมโซม Y เกิดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่สามารถเกิด genetic recombination กับโครโมโซม X ได้ ทำให้ไม่สามารถกำจัดยีนที่เสียหายจากการถูกทำลาย ยีนกลายพันธุ์ แตกต่างจากโครโมโซม X ที่อยู่เป็นคู่กันในเพศหญิง (XX) เมื่อชิ้นส่วนยีนในโครโมโซมเกิดความเสียหายหรือกลายพันธุ์ การ recombination โดยคู่ของมันเองเป็นกลไกหนึ่งในการ “เฉลี่ย” ความเสียหาย ทดแทนยีนที่ทำงานไม่ได้ระหว่างคู่ของมันเอง

โครโมโซม Y ยังถูกเร่งการเสื่อมสลายได้อีกจากปัจจัยสามประการหลัก High mutation rate, Insufficient selection, Genetic drift (รายละเอียดซับซ้อน โปรดอ่านใน reference)

เป็นที่เข้าใจกันอย่างแน่ชัดว่า โครโมโซม Y ของมนุษย์ ต้องมีอันสูญสลายอย่างแน่นอนในอนาคตกาลข้างหน้า แต่สำหรับอัตราการเสื่อมสลายกลับเป็นข้อถกเถียงกันอย่างมาก จากจำนวนยีนเริ่มต้นประมาณ 1000 ยีนเมื่อประมาณ 300 ล้านปีก่อนเหลือเพียง 45 ยีนในปัจจุบัน ทำให้ประมาณอัตราการเสื่อมสลายเฉลี่ยไว้ที่ 3.3 ยีนต่อหนึ่งล้านปี

หากอัตราดังกล่าวมีค่าคงที่ ศาสตราจารย์ Graves ประมาณไว้ว่า โครโมโซม Y จะสูญสลายในอีก 14 ล้านปีข้างหน้า (ผู้อ่านบางท่านอาจจะเคยอ่าน และทราบตัวเลขที่ไม่ตรงกันคือ อัตราการเสื่อมสลายเฉลี่ย 4.6 ยีนต่อหนึ่งล้านปี ซึ่งโครโมโซม Y จะสูญสลายในอีก 10 ล้านปีข้างหน้า หากคิดตามอัตราดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้กล่าวว่า จำนวนยีนบนโครโมโซม X มีเพียงประมาณ 1000 ยีน จากที่เคยเข้าใจว่ามีประมาณ 1400-1600 ยีน ทำให้ตัวเลขในการคำนวณเปลี่ยนแปลงไป)

ข้อขัดแย้งจากวิจัยคนอื่น อย่างเช่น Gerrard และ Filatov กล่าวว่า อัตราการเสื่อมสลายของโครโมโซม Y ควรเป็นรูป exponential มากกว่าเส้นตรง หรือกระทั่งโค้งรูปตัว S (sinusoidal function) ซึ่งก็จะได้เวลาสิ้นสุดของโครโมโซม Y ที่ไม่เท่ากัน อาจเป็นได้ทั้ง 125,000, 14 หรือ 140 ล้านปีข้างหน้า (อย่างไรก็ตาม ข้อสมมติฐานของศาสตราจารย์ Graves เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือมากกว่า) นอกจากนี้ หากนับว่าในช่วงประวัติศาสตร์วิวัฒนาการ มีการ “เติม” ชิ้นส่วนยีนเข้าไปในโครโมโซมเข้าไปด้วย ก็ควรจะได้กราฟรูปขั้นบันได ดังรูปด้านล่าง





จากหลักการทางพันธุศาสตร์อันน่าปวดหัวทั้งหมด จขบ.ก็ขอสรุปสั้นๆว่า โครโมโซม Y ของมนุษย์กำลังเสื่อมสลายไปอย่างต่อเนื่องและอาจหายไปในที่สุดในอีก 14 ล้านปีข้างหน้า ทีนี้มาถึงคำถามสำคัญครับ อะไรจะเกิดขึ้นกับมนุษย์เพศชายทั้งหมด พวกเราจะสูญพันธ์ (โอ้วววว) กลายป็นของหายากในอนาคตข้างหน้าหรือไม่?

ทุกสิ่งมีชีวิตมีการดิ้นรน เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ตนเอง สัตว์โลกหลายชนิดมีการย้ายยีนกำหนดเพศไปอยู่บนโครโมโซมร่างกายอื่น เช่นแมลงหวี่ (D. melanogaster) ตัวผู้จะมีโครโมโซมเป็น XY หรือเป็น XO ก็ได้ ยีนกำหนดเพศได้ย้ายไปอยู่ที่โครโมโซมคู่อื่นๆ โครโมโซม Y จึงไม่มีความสำคัญต่อแมลงหวี่

เช่นเดียวกันกับ mole vole (Ellobius) และ Japanese spinous country rat (Tokudaia) ที่ทั้งสองเพศมีโครโมโซมเป็น XO ปัจจัยกำหนดเพศผู้ถูกย้ายไปอยู่ที่โครโมโซมคู่อื่นๆ

สัตว์ฟันแทะบาง ชนิดเช่น wood lemming และ Akodont ก็มีการเปลี่ยนแปลงโครโมโซม ยับยั้งการทำงานของ testis determining factor ทำให้โครโมโซม Y “หมดความสำคัญลง” และไม่จำเป็นอีกต่อไป

จากการศึกษาในสัตว์หลายชนิด ชี้ให้เห็นว่าแม้ไม่มีโครโมโซม Y เพศชายก็ไม่สูญ อีกทั้งเราเกิดมาเป็นมนุษย์ มีสติปัญญาตั้งมากมายขนาดนี้ แล้วเราจะน้อยหน้าสัตว์พวกนี้ได้อย่างไร

อย่า ปล่อยให้ผมสูญพันธ์น้า…








References


Graves JA. Sex chromosome specialization and degeneration in mammals. Cell. 2006 Mar 10;124(5):901-14.

Jobling MA, Tyler-Smith C. The human Y chromosome: an evolutionary marker comes of age. Nat Rev Genet. 2003 Aug;4(8):598-612.

Carvalho A.B. The advantages of recombination. Nat Rev Genet. 2003 Jun;1(34):128–129.

Leading Geneticists Debate the Fate of the Mammalian Y Chromosome at the 15th International Chromosome Conference

สุภา พร สุกสีเหลือง. ฤๅชายจะสิ้นสูญ. จุลสารวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 เดือนมีนาคม 2550




 

Create Date : 30 มีนาคม 2553    
Last Update : 30 มีนาคม 2553 12:24:23 น.
Counter : 12395 Pageviews.  

เวลาไม่ใช่วารี

ต้องการพื้นฐานความรู้ฟิสิกส์ระดับมัธยมปลาย (ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ เทอร์โมไดนามิกส์ กลศาสตร์ควอนตัม) และโปรดวางสามัญสำนึกไว้ข้างคอมพิวเตอร์ก่อนเริ่มอ่าน

ตาม สามัญสำนึกของเรา เป็นการง่ายที่จะเปรียบเทียบเวลาเหมือนดั่งวารี เพราะความทรงจำและความรู้สึกของเราบอกว่าเวลาไหลเลื่อนไป อดีตมีความแน่นอนจีรังไม่เปลี่ยนแปลง อนาคตยังไม่ถูกกำหนดแน่ชัด และความเป็นจริงอยู่ในปัจจุบันอันคงที่และเป็นสากล หากแต่เราเชื่อใจในสามัญสำนึกของเราได้มากน้อยเพียงใด เป็นไปได้ไหมว่าการไหลผ่านของเวลานั้นเป็นเพียงภาพลวงตา จิตสำนึกอาจประกอบด้วยการกระบวนการทางเทอร์โมไดนามิกส์และควอนตัม ซึ่งทำให้เรารู้สึกเหมือนว่าดำรงอยู่จากขณะหนึ่งไปยังขณะหนึ่ง






ภาพประกอบ: La Persistencia de la Memoria. 1931, Salvador Dali.



นักบุญออกุสตินแห่งฮิปโป (354-430) กล่าวไว้ว่า ข้าพเจ้าทราบว่าเวลาคืออะไรเมื่อยังไม่มีใครถามถึง แต่เมื่อข้าพเจ้าจะอธิบายให้ใครสักคนที่ถามถึง ข้าพเจ้ากลับไม่ทราบ ไม่ใช่เพียงนักบุญออกุสตินที่ประสบปัญหากับคำนิยามของเวลา เราทุกคนก็เช่นกัน เรารับรู้เวลาทางจิตวิทยา การผ่านไปของเวลาเป็นกระบวนการรับรู้พื้นฐานของจิตใจของเรา จากอดีตมายังปัจจุบันและไปต่อยังอนาคตอย่างไม่มีหยุดยั้ง แม้ว่าภาพพจน์ดังกล่าวจะดูเด่นชัด แต่มันกลับมีความขัดแย้งภายในตนเองอย่างลึกซึ้ง ไม่มีการไหลผ่านของเวลาในเชิงฟิสิกส์ และนักปรัชญาส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องว่าการไหลผ่านของเวลานั้นไม่มีความหมาย การเปรียบเวลาเป็นดั่งวารีนั้นอยู่พื้นฐานของความเข้าใจผิด การหลอกลวงโดยจิตสำนึกของเราเอง





เมื่อเราพูดถึงเหตุการณ์ใดๆ เรามีวิธีอ้างอิงเวลาที่แตกต่างกัน บางครั้งเรากล่าวเจาะจงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบันหรืออนาคต เช่น สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นในอดีต นาซ่าส่งมนุษย์อวกาศไปดาวอังคารในอนาคต หรือบางครั้งเราอ้างอิงเหตุการณ์หนึ่งเทียบกับอีกเหตุการณ์หนึ่งว่ามาก่อน หรือหลัง เช่น สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง นาซ่าส่งมนุษย์อวกาศไปดาวอังคารหลังจากส่งไปดวงจันทร์ หากลองพิจารณาอย่างถี่ถ้วน การอ้างอิงแบบที่หนึ่งเป็นบอกเวลาที่เป็นจุดตายตัวบนสายกาลเวลา ส่วนการอ้างอิงแบบที่สองบอกเวลาสัมพันธ์กับอีกเวลาหนึ่ง

ถึงตอนนี้ เราจะเข้าสู่ทฤษฎีเวลาสองทฤษฎีที่ทำให้นักปรัชญาถกเถียงกันมาอย่างยาวนานนับศตวรรษ ทฤษฎีเวลาแบบเทียบลำดับ (Tenseless time) และทฤษฎีเวลาแบบไร้ลำดับ (Tensed time)

ทฤษฎีเวลาแบบเทียบลำดับถือ ว่าเวลาเป็นเช่นเดียวกับตำแหน่ง คือการอ้างอิงแบบที่หนึ่ง ซึ่งเป็นกล่าวถึงเวลาที่ไม่สัมพันธ์กับเวลาอื่น ลักษณะเดียวกับการบอกว่า นมอยู่ในตู้เย็นหรือไม่อยู่ในตู้เย็น ดังนั้นนมจะไม่สามารถที่อยู่ในตู้เย็นเมื่อเทียบกับสิ่งหนึ่ง และไม่อยู่ในตู้เย็นเมื่อเทียบกับอีกสิ่งหนึ่ง-เหตุการณ์หนึ่งๆจะเป็นอดีต ปัจจุบันหรืออนาคตอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เป็นอดีต ปัจจุบันหรืออนาคตโดยเปรียบเทียบกับอีกเหตุการณ์หนึ่ง

ทฤษฎีเวลาแบบไร้ลำดับถือ ว่าเวลาไหลผ่านและแปรผัน คือการอ้างอิงแบบที่สอง อันเป็นการกล่าวถึงเวลาสัมพันธ์กับเวลาอื่น เช่นเดียวกับการบอกว่า มานีนั่งทางขวาของชูใจ และนั่งทางซ้ายของปิติ เหตุการณ์หนึ่งๆเป็นได้ทั้งอดีต ปัจจุบันหรืออนาคต ขึ้นกับว่าเราเทียบมันกับเหตุการณ์อื่นใดที่เกิดขึ้นก่อนหน้าหรือหลังจากมัน ความแตกต่างของสองทฤษฎีนี้ถูกเสนอแนะโดยอริสโตเติล นักบุญออกุสตินและนักปรัชญาอื่นๆอีกจำนวนมาก แต่ข้อยุติของการถกเถียง ณ ปัจจุบันเกิดจากการโต้แย้งระหว่างนักปรัชญา เมื่อช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่ 20 นี้เอง

ทฤษฎีเวลาแบบไร้ลำดับเป็นทฤษฎีที่สอดคล้องกับคำ เปรียบเปรยที่ว่า เวลาเหมือนดั่งวารี และเป็นทฤษฎีที่สอดคล้องกับสามัญสำนึกของคนส่วนใหญ่ ทฤษฎีนี้กล่าวว่า อนาคตเป็นสิ่งไม่จริงแท้และยังมาไม่ถึง เหตุการณ์ที่แน่นอนหลังจากคุณอ่านข้อความนี้จบไม่มีอยู่ (อีกนัยหนึ่ง หลังจากอ่านข้อความนี้จบ คุณอาจจะอ่านต่อไปด้วยใคร่รู้ คุณอาจจะปิดหน้าจอนี้เพราะเริ่มปวดหัว คุณอาจจะถูกขัดจังหวะด้วยเสียงกริ่งหน้าบ้าน ไม่มีใครรู้และไม่มีใครกำหนด) อนาคตคือความเป็นไปได้อันไม่รู้จบ และเมื่อเวลาผ่านไปข้างหน้าเอกภพจะเลือกเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งจาก เหตุการณ์อันมากมายมหาศาล ส่วนอดีตนั้นเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว มีความแน่นอนคงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้อีก นอกจากเวลาจะเปรียบดั่งวารีแล้ว แบบแผนของเวลาก็เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่แตกกิ่งก้านสาขาอันไม่รู้จบ

เพื่อ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน เราจะลองยกตัวอย่างอนาคตอันผันแปรของอดอล์ฟ ฮิตเล่อร์ (1889-1945) ผู้นำนาซีผู้มีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์โลก เราทราบกันดีว่าจุดพลิกผันสำคัญของชีวิตฮิตเล่อร์เกิดขึ้นในวัยเด็ก เขาชอบวิชาศิลปะและอยากเป็นจิตรกรแต่บิดาของเขาไม่สนับสนุน อะไรจะเกิดขึ้นหากฮิตเล่อร์เลือกทางเดินชีวิตเป็นจิตรกรแทนที่จะเป็นผู้นำ ทหาร ขณะที่เขายังเป็นเด็กนั้น อนาคตช่างไม่แน่นอนและเป็นไปได้หลายเส้นทาง แต่เมื่อเขาเลือกเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งแล้ว สิ่งที่ผ่านมาก็เป็นอดีตที่แน่นอนและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้





ทฤษฎีเวลาแบบเทียบลำดับนั้นสอดคล้องกับสามัญสำนึก น้อยกว่า แต่เป็นที่ชื่นชอบสำหรับนักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาส่วนใหญ่มากกว่า หลักการของทฤษฎีนี้คือ ไม่มีการไหลผ่านของเวลา ไม่มีการแปรผันกลับกลาย ไม่มีการแตกกิ่งก้านสาขาของเหตุการณ์ เวลาดำรงอยู่ของมันอย่างนั้น การแสดงเวลาเหมือนกับการแสดงตำแหน่ง เหมือนกับการระบุตำแหน่งมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งหมดนี้ล้วนมีอยู่จริงแต่ไม่ได้อยู่ตำแหน่งเดียวกัน เหตุการณ์การเกิดของคุณ การที่คุณอ่านประโยคนี้ และการตายของคุณ ต่างมีอยู่จริงแท้ทั้งสิ้นและไม่มีการเปลี่ยนแปลง

เพื่อขยายภาพของ ทฤษฎีนี้ มิติที่สี่จึงเข้ามาเกี่ยวข้อง (ซึ่งถูกพูดถึงครั้งแรกหลังจากศตวรรษที่ 19) เรารู้จักมิติทั้งสามที่เป็นสถานที่และมิติที่สี่ซึ่งคือเวลา ดังนั้นทฤษฎีเวลาแบบเทียบลำดับจึงไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อน หากเราระบุถึงเหตุการณ์สักอย่างหนึ่งนอกจากระบุตำแหน่งในพิกัดสามมิติแล้ว ก็ระบุเวลาที่แน่นอนชัดเจนเพิ่มขึ้นไปอีกหนึ่งมิติ





การโต้แย้งของแมคแทกการ์ต

จอห์น แมคแทกการ์ต (1866-1925) ได้เสนอข้อโต้แย้งอันเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักปรัชญาในบทความ “ความไม่จริงแท้ของเวลา” (The Unreality of Time, 1908) ในข้อโต้แย้งดังกล่าว แมคแทกการ์ตได้กล่าวถึงเวลาทั้งในรูปแบบที่สอดคล้องกับทฤษฎีเวลาแบบไร้ลำดับ และแบบเทียบลำดับ เขาคิดว่า ทฤษฎีเวลาแบบไร้ลำดับนั้นสอดคล้องกับความคุ้นเคยของเรามากที่สุด อย่างไรก็ตาม เขาชี้ให้เห็นว่ามีความไม่สอดคล้องกันเองในทฤษฎีดังกล่าว ดังนั้นทฤษฎีเวลาแบบไร้ลำดับจะต้องผิด แต่ในเมื่อมันเป็นทฤษฎีที่ดีที่สุด (ในความคิดของแมคแทกการ์ต) ที่มีอยู่ เขาจึงสรุปว่า เวลาเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง!

ข้อ สรุปของแมคแทกการ์ตนั้นออกจะสุดขั้วเกินไป ภายหลังเมื่อมีความรู้เกี่ยวกับเอกภพของเรามากขึ้น นักฟิสิกส์ส่วนใหญ่จะสรุปว่า การไหลของเวลานั้นไม่มีอยู่จริง แต่เวลานั้นมีอยู่จริง ดังเช่นการมีอยู่ของอวกาศ





ข้อคัดค้านต่อทฤษฎีเวลาแบบไร้ลำดับที่มีชื่อเสียงมากอีกประการหนึ่งคือ บทความของดี ซี วิลเลียม (1899-1983) ที่ชื่อ “เรื่องลึกลับของเวลาที่ล่วงไป” (The Myth of Passage, 1951) จากคำถามที่ว่า เวลาไหลผ่านไปเร็วเท่าใด?

หาก เวลามีการไหลผ่าน มันจะต้องมีการเคลื่อนไหวเทียบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นคืออะไร? เวลาไหลด้วยอัตราเร็วเท่าไร? นักทฤษฎีเวลาแบบไร้ลำดับอาจตอบว่า “หนึ่งวินาทีต่อหนึ่งวินาที” แต่มันเป็นคำกล่าวที่มีเหตุผลหรือไม่? และเวลามีทิศทางหรือไม่? เพราะในกรณีของอวกาศนั้นไม่มีทิศทางหนึ่งพิเศษไปกว่าทิศทางอื่น หากเวลามีทิศทางแล้วมันไหลไปในทิศทางใด? (อันที่จริงเวลาจะไหลหรือไม่ก็ตาม เราอาจกำหนดทิศทางของเวลาด้วยลูกศรเทอร์โมไดนามิกส์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและไม่ขอกล่าวถึงอย่างละเอียดในที่นี้)





จะเห็นได้ว่า ทฤษฎีเวลาแบบไร้ลำดับนั้นถูกโจมตีเยอะเหลือเกิน แต่มันไม่ได้จบลงแค่นั้น

ในต้นศตวรรษที่ 20 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่เกี่ยวกับเวลาด้วย ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ซึ่งปฏิเสธการมีอยู่ของเวลาปัจจุบันอันเป็นสิ่งสมบูรณ์สากล ไอน์สไตน์กล่าวว่า การพร้อมกันนั้นเป็นสิ่งสัมพัทธ์ไม่ใช่สิ่งสัมบูรณ์ เหตุการณ์สองเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้น ณ เวลาเดียวกัน หากสังเกตจากกรอบอ้างอิงหนึ่งอาจจะเกิด ณ เวลาต่างกันเมื่อมองจากกรอบอ้างอิงอีกอัน ไม่มีเวลาที่เป็นหนึ่งเดียวในเอกภพแบบสัมพัทธภาพ มีเวลาที่แตกต่างกันมากมาย หนึ่งเวลาสำหรับหนึ่งกรอบอ้างอิง โดยต่างเป็นเวลาที่ถูกต้องเท่าเทียมกันทั้งสิ้น (ดูคลิปประกอบ)





แน่นอนว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษนั้นขัดแย้งกับสามัญ สำนึกของคนส่วนใหญ่อย่างรุนแรง (เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะ เราไม่อาจสัมผัสมันได้ในชีวิตประจำวัน เราไม่มีโอกาสเคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้ความเร็วแสง อีกนัยนะหนึ่ง กายภาพของเราไม่เอื้อให้เกิดโอกาสเช่นนั้นอีกด้วย) อย่างไรก็ตาม มันได้ขยายภาพทฤษฎีเวลาแบบเทียบลำดับให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เอกภพแบบท่อนเวลา (block time) เป็นภาพอธิบายที่ชัดเจน ทุกชั่วขณะต่างดำรงอยู่และจริงแท้โดยตัวของมัน อดีต ปัจจุบัน อนาคตต่างมีอยู่จริงและถูกแสดงได้ด้วยท่อนเวลาตราบนิรันดร์เหมือนแช่แข็งไว้ อย่างนั้น ความพร้อมกันของเหตุการณ์เปรียบเสมือนการตัดขวางท่อนเวลาเพื่อพิจารณาจุด เวลาหนึ่ง หากในแต่ละกรอบอ้างอิงจะมีการตัดท่อนเวลาในมุมที่แตกต่างกัน ความพร้อมกันของเหตุการณ์จึงแตกต่างกันแต่ละกรอบอ้างอิง





ตอนนี้เรา เข้าใจเกี่ยวกับเวลามากขึ้นแล้ว เรารู้ว่าเวลาไม่ไหลผ่านเหมือนวารี ทฤษฎีที่ถูกต้องและเป็นไปได้มากกว่าคือทฤษฎีเวลาแบบเทียบลำดับ รูปแบบของเวลาแทนได้ด้วยท่อนเวลา เมื่ออดีต-ปัจจุบัน-อนาคตต่างจริงแท้เท่าเทียมกัน ไม่มีสิ่งไหนพิเศษเหนือกว่ากัน และแต่ละเหตุการณ์เกิดขึ้นในจุดหนึ่งของเวลาที่ตายตัว หากแต่ละความพร้อมของเหตุการณ์เป็นสิ่งสัมพัทธ์ที่ขึ้นอยู่กับแต่ละกรอบอ้างอิง…

ในการวิเคราะห์เชิงปรัชญาและฟิสิกส์กายภาพต่างชี้ให้ เห็นว่า เวลาไม่มีการเลื่อนไหล มาถึงปริศนาสุดท้าย แล้วทำไมจิตใจของเราจึงรู้สึกว่าเวลานั้นมีการเลื่อนไหล หากพิจารณาให้ถี่ถ้วนยิ่งขึ้น จริงๆแล้วเราไม่เคยรับรู้การผ่านไปของเวลา เรารับรู้ถึงความไม่สมมาตรของเวลา อนาคตนั้นมีความแตกต่างจากปัจจุบันและอดีต การไหลผ่านของเวลาอาจเป็นเพียงมายาเช่นเดียวกับเวลาที่เราหมุนตัวหลายรอบ แล้วหยุดกลางคัน เรารู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างรอบกายนั้นหมุนรอบตัวเราทั้งที่ไม่มีสิ่งใด เคลื่อนไหวเลย

ความไม่สมมาตรของเวลาทำให้เรารับรู้มายาการเลื่อนไหลของเวลา มีอยู่สองประการหลักคือ หนึ่ง ความแตกต่างทางเทอร์โมไดนามิกส์ระหว่างอดีตและอนาคต (ลูกศรของเอนโทรปี) การสร้างความทรงจำในสมองเป็นไปในทิศทางเดียวกับลูกศรของเอนโทรปี (การเพิ่มข้อมูล การเพิ่มความไม่ระเบียบในสมอง) ทำให้เรารับรู้ทิศทางของเวลาและหลงเข้าใจว่าเวลากำลังเลื่อนไหล





สอง กลศาสตร์ควอนตัมตามหลักความไม่แน่นอนของไฮเซนเบิร์ก บอกว่า ธรรมชาติโดยเนื้อแท้นั้นไม่สามารถกำหนดได้แน่นอน ทำให้อนาคต (หรือแม้แต่อดีต) เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนซึ่งแสดงออกอย่างเด่นชัดในระดับซับอะตอมมิก ตัวอย่างเช่น อะตอมหนึ่งในก้อนกัมมันตรังสีจะสลายตัวหรือไม่ กลศาสตร์ควอนตัมให้ค่าความน่าจะเป็นของการสลายตัวแต่เป็นไปไม่ได้ที่จะทำนาย ผลล่วงหน้า แต่เมื่อผู้สังเกตตรวจวัดผลที่ได้จะมีเพียงหนึ่งเดียว ความเป็นไปได้อันหลากหลายจะสลายไปเหลือเพียงความจริงหนึ่งเดียว ภายในจิตใจของผู้สังเกต ความเป็นไปได้กลายเป็นสิ่งจริงแท้ จากอนาคตที่ไม่แน่นอนเปลี่ยนรูปไปเป็นอดีตที่ถูกกำหนด อันเป็นภาพลักษณ์ของการไหลเลื่อนของเวลา นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า จิตสำนึกรับรู้การไหลเลื่อนของเวลาจากกระบวนการทางควอนตัมในสมอง





ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงสมมติฐาน ปริศนาของจิตใจมนุษย์นั้นลึกลับที่สุดสำหรับคำตอบเกี่ยวกับเวลา ในอนาคตเราอาจจะค้นพบบริเวณรับรู้เวลาภายในสมองเช่นเดียวกับ บริเวณที่รับรู้ภาพ (visual cortex) รับรู้สัมผัส (somatosensory cortex) หากมันเกิดขึ้นจริงก็น่าลองจินตนาการดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราทำการ กระตุ้นหรือยับยั้งสมองบริเวณดังกล่าว อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อจิตใจเราไม่รับรู้ถึงการเลื่อนไหลของเวลา ถึงตอนนั้น ทัศนคติต่อเวลาของมนุษย์จะเป็นอย่างไร เราจะยังเชื่อมั่นในปัจจุบัน โหยหาอดีตอันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ และไม่มั่นใจในอนาคตที่ยังไม่ถูกกำหนดหรือไม่…








เรียบเรียงจาก

Paul Devies, ผู้แปล ดร.ปิยบุตร บุรีคำ, ไหลเลื่อนอย่างลึกลับ, Scientific American special edition: A Matter of Time. 2551. สำนักพิมพ์มติชน.

Craig Callender, ผู้แปล สุจินต์ วังสุยะ, ปริศนากาลเวลา. 2552. สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก.

Brian Greene, ผู้แปล ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ, ทอถักจักรวาล (The Fabric of The Cosmos). 2551. สำนักพิมพ์มติชน.


เพิ่มลิงค์เนื้อหาปวดหัว(มาก) สำหรับคนที่ภาษาอังกฤษ excellent และชอบเสพย์ปรัชญา
คลิก




 

Create Date : 25 มกราคม 2553    
Last Update : 25 มกราคม 2553 14:05:32 น.
Counter : 4749 Pageviews.  

HeLa cell: ชีวิตอมตะของ Henrietta Lacks

ในปี 1951 หญิงสาววัย 30 ปีแห่งรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงระดับโลกแห่งหนึ่ง-Johns Hopkins Hospital เธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก อาการของโรคดังกล่าวลุกลามอย่างรวดเร็วและรุนแรง เธอเสียชีวิตในเวลา 8 เดือนต่อมา

ไม่ใช่ทุกส่วนในร่างกายของ Henrietta Lacks ที่สิ้นชีวา เซลล์มะเร็งของเธอยังคงมีชีวิตอยู่ ดำเนินกิจกรรมภายในเซลล์อย่างปกติ เจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด--จวบจนเวลาปัจจุบัน




รูปถ่าย Henrietta Lacks ครั้งยังมีชีวิตครบทั้งร่าง



หากแต่เซลล์มะเร็งที่ว่านั้นไม่ได้เจริญบนร่างกายที่ ไร้ชีวิตของ Henrietta Lacks เนื่องจากในระหว่างการผ่าตัดเพื่อพิสูจน์ชิ้นเนื้อมะเร็ง (cervical biopsy) มีชิ้นส่วนเนื้อเยื่อมะเร็งหลงเหลือ ชิ้นส่วนดังกล่าวซึ่งยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์และยังมีความสามารถในการเจริญ เติบโตได้ถูกส่งต่อไปยังนายแพทย์ George Gey ผู้เป็นหัวหน้านักวิจัยในโรงพยาบาล Johns Hopkins ในขณะนั้น ซึ่งมีขอบเขตความสนใจเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อ มะเร็ง และไวรัสวิทยา

เซลล์ มะเร็งของ Henrietta Lacks ได้ ปลุกความทะเยอทะยานของ Dr.Gey ที่คาดหวังถึงการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของวิทยาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (tissue culture หรือ cell culture) เนื่องจากเซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ที่สามารถเจริญพัฒนาได้อย่างไม่สิ้นสุดหากมี การควบคุมสภาวะแวดล้อมอย่างเหมาะสมและมีอาหารหล่อเลี้ยงเพียงพอ การดำรงอยู่ของเซลล์มะเร็งของ Henrietta Lacks จะนำไปสู่การศึกษาและค้นพบกระบวนการทางชีววิทยาของเซลล์มะเร็ง-ซึ่งอาจนำไป สู่หนทางในการพิชิตเซลล์มะเร็งในอนาคตข้างหน้า Dr.Gey ประกาศเป้าหมายอันสูงส่งดังกล่าวต่อหน้าสาธารณชน (โดยนำ”เซลล์มะเร็ง”ของ Henrietta Lacks ใส่หลอดทดลองออกอากาศทางโทรทัศน์ด้วย) และเดินหน้าเพาะเลี้ยง ศึกษาเซลล์มะเร็งของ Henrietta Lacks อย่างต่อเนื่อง (‘the isolation and maintenance of normal and malignant or otherwise diseased tissues as temporary or stable organoids or as derived cell strains.’)




Dr. George Gey คนขวาด้านบน



เพื่อเพิ่มความเข้าใจให้กับผู้ที่ไม่ได้เรียน ชีววิทยาระดับมหาวิทยาลัย จึงจำเป็นต้องอธิบายเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือ การเพาะเลี้ยงเซลล์ (tissue culture หรือ cell culture) อย่างคร่าวๆ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อคือการแยกเซลล์ชนิดเดี่ยวจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งมา เลี้ยงโดยควบคุมสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมและให้สารอาหารหล่อเลี้ยงเซลล์ วัตถุประสงค์เพื่อทำการศึกษาระดับเซลล์ในงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ในแขนง ต่างๆทั้งวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (การศึกษาวงจรเซลล์, การศึกษาด้านอณูชีววิทยาหรือพันธุกรรม, การศึกษากระบวนการทางชีวเคมี ฯลฯ) และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (การทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพของสารเคมี, การศึกษากลไกการเกิดโรค, การผลิตโปรตีน ฯลฯ) ปัจจุบัน การเพาะเลี้ยงเซลล์ถือเป็นเครื่องมือพื้นฐานและมีการใช้อย่างกว้างขวางในการ ศึกษาทางชีวภาพ

เซลล์เพาะเลี้ยงสามารถแบ่งตามต้นกำเนิดได้เป็นสองชนิดหลักคือ Primary cell line และ Continuous cell line

Primary cell line คือเซลล์ที่แยกจากสิ่งมีชีวิตหรืออวัยวะของสิ่งมีชีวิตโดยตรง เช่น เซลล์ตัวอ่อนไก่ (Chicken embryo cell) เซลล์ไตสุนัข (Dog kidney cell) ข้อดีของ cell line ชนิดนี้คือ มีคุณสมบัติเหมือนเซลล์ที่อยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกประการ สามารถใช้เป็นแบบในการศึกษาสรีรวิทยาปกติในอวัยวะนั้นๆได้ แต่ข้อเสียก็คือเลี้ยงได้ไม่นานนัก เซลล์จะมีกระบวนการแก่ชราและตายไปในที่สุด (สาเหตุคืออะไรจะอธิบายต่อไป)

Continuous cell line คือเซลล์ที่มีคุณสมบัติแบ่งตัวได้ไม่สิ้นสุด จึงสามารถเลี้ยงต่อไปได้เรื่อยๆไม่มีวันตายเช่น เซลล์มะเร็ง เซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสบางชนิด จากคุณสมบัติดังกล่าวจึงอาจกล่าวได้ว่าเซลล์เหล่านั้นเป็นอมตะ ซึ่งจะเพิ่มสะดวกอย่างมากในการศึกษาวิจัย เนื่องจากสามารถเลี้ยงเซลล์ต่อไปได้เป็นร้อยๆรุ่น และไม่ต้องมีกระบวนการยุ่งยากในการแยกเซลล์ออกจากสิ่งมีชีวิตหรืออวัยวะ แต่ข้อเสียก็คือเซลล์ดังกล่าวมักมีการกลายพันธุ์ไปจากเซลล์ปกติ ดังนั้น การวิจัยจาก continuous cell line จึงมีขอบเขตจำกัดอยู่บ้าง โดยมากมักใช้ศึกษากระบวนการพื้นฐานทั่วไปของเซลล์ซึ่งไม่มีความแตกต่างกัน ระหว่างเซลล์ปกติกับ immortal cell


แน่นอนว่า เซลล์มะเร็งของ Henrietta Lacks จัดเป็น continuous cell line และเป็นเซลล์อมตะแรกๆของโลกเสียด้วย





เซลล์มะเร็งของ Henrietta Lacks นั้นถูกตั้งชื่อใหม่ว่า HeLa (Henrietta Lacks) ตัว Dr.Gey นั้นมีความปรารถนาชื่อเสียงจากงานวิจัยดังกล่าวหรือไม่ก็ยากจะคาดเดา แต่การกระทำของเขาก็สร้างคุณประโยชน์นานัปการด้านวิทยาการเพาะเลี้ยงจวบจน ปัจจุบัน Dr.Gey ได้แจกจ่ายเซลล์มะเร็งดังกล่าวให้กับนักวิจัยอีกเป็นจำนวนมาก HeLa จึงแพร่กระจายไปทั่วโลกในเวลาไม่ช้า ถูกส่งต่อจากห้องปฏิบัติการหนึ่งไปยังอีกห้องปฏิบัติการหนึ่ง จากนักวิจัยคนหนึ่งไปยังนักวิจัยอีกหลายคน จนมีคำกล่าวว่ายุคดังกล่าวเป็น ‘ยุคของ HeLa’ (HeLa era)

และการใช้ประโยชน์จาก HeLa cell ก็ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางการแพทย์อย่างก้าวกระโดดดังที่ Dr.Gey คาดคะเน มีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาชีววิทยาระดับเซลล์โดยใช้ HeLa cell และทำให้เกิดการค้นพบ ความเข้าใจสิ่งใหม่ๆ เป็นต้นว่า กลไกการเกิดเซลล์มะเร็ง กลไกการติดเชื้อ HIV ผลของรังสีและสารพิษต่อเซลล์ การทำแผนที่ยีน (gene mapping) และความสำเร็จที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ การผลิตวัคซีนโปลิโอแบบฉีดใน HeLa cell โดย Dr.Jonas Salk (ดังนั้นวัคซีนดังกล่าวจึงถูกเรียกว่า Salk polio vaccine)

แต่กระนั้น Henrietta Lacks ก็ไม่ได้รับการอ้างถึงใดๆในฐานะที่เป็นเจ้าของเซลล์แม้แต่น้อย (ในเวลาดังกล่าว HeLa cell ถูกเข้าใจผิดว่ามาจากชื่อเต็ม HeLen Lane หรือ Harriet Lane ด้วยซ้ำ) อันที่จริงแล้ว เซลล์มะเร็งของเธอถูกนำไปใช้โดยปราศจากความยินยอมของเธอ (inform consent) และแม้แต่ญาติพี่น้องของเธอก็ไม่ได้รับรู้การกระทำดังกล่าวด้วยซ้ำจนกระทั่ง เวลาผ่านไปหลายต่อหลายปีหลังจากที่ Dr.Gey เสียชีวิตไปนานแล้ว และความพยายามที่จะปกปิดชื่อแท้จริงของ HeLa นั้นต้องเป็นอันสิ้นสุด

บางคนอาจเกิดคำถามในใจว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องผิดจริยธรรมหรือไม่ ประเด็นดังกล่าวถูกนำมาพิจารณาครั้งหนึ่งในศาลแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียและได้รับ การตัดสินว่า “ชิ้นส่วนเนื้อเยื่อของบุคคลใดๆที่ถูกทิ้ง ไม่ถือเป็นสมบัติของผู้นั้นอีกต่อไป และสามารถถูกนำมาใช้ในเชิงการค้าได้” ดังที่กล่าวมา ต้นกำเนิดของ HeLa นั้นเป็นเพียงชิ้นส่วนเนื้อเยื่อที่หลงเหลือจากการผ่าตัด แน่นอนว่าจากคำตัดสินดังกล่าวคงสร้างความกังขาแม้กระทั่งผู้อ่านที่กำลังอ่านบล็อกนี้ ประเด็นหนึ่งที่น่าคิดคือโรงพยาบาล John Hopkins เป็นโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงระดับโลก และ HeLa cell ก็ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างมากมายมหาศาล…หากลองพิจารณาตามทฤษฎีประโยชน์นิยม ก็…อืม…นะ (อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าลูกหลานของ Henrietta Lacks ไม่พอใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่าไรนัก และพวกเขาก็ค่อนข้างเจ็บปวดกับการปิดบังความลับนานนับสามสิบปีดังกล่าว)




รูปโรงพยาบาล John Hopkins วิทยาลัยทางการแพทย์ชื่อดังระดับโลก



เซลล์มะเร็งคือเซลล์ที่เกิดการกลายพันธุ์ของยีน เป็นผลให้สูญเสียการควบคุมกรแบ่งตัวเพิ่มจำนวนตนเอง เซลล์มะเร็งสามารถถูกกระตุ้นให้เกิดได้จากปัจจัยหลายประการเช่น การบาดเจ็บของเซลล์ รังสี สารเคมี เชื้อจุลินทรีย์บางชนิด

HeLa cell มีชิ้นส่วนจีโนมของไวรัส Human papilloma virus (HPV) อยู่ในสารพันธุกรรม ซึ่งแน่นอนว่า Henrietta Lacks ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวขณะที่เธอยังมีชีวิตอยู่และเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอเป็น มะเร็ง HPV นั้นได้รับการพิสูจน์มาเป็นเวลาช้านานแล้วว่าเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ กระตุ้นให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในมนุษย์ (จนกระทั่งบริษัทยาแห่งหนึ่งกล้าเคลมว่า หากมนุษย์ทุกคนได้รับการฉีด HPV vaccine แล้วไซร้ มะเร็งปากมดลูกจะถูกกำจัดจากโลกนี้โดยสิ้นเชิง บริษัทไหนไม่รู้ลองไปค้นหาดูเองนะจ๊ะ) ด้วยคุณสมบัติความเป็นมะเร็งของ HeLa cell นั้นเองทำให้มันเป็นอมตะและสามารถแบ่งตัวได้อย่างไม่สิ้นสุด




HPV เป็นสาเหตุในการเกิดมะเร็งปากมดลูก



ในเซลล์ปกติจะมีกระบวนการแก่ชราของเซลล์ (cell senescence) ซึ่งทำให้เซลล์สามารถแบ่งตัวได้อย่างจำกัดจำนวนครั้ง กระบวนการหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญคือการหดสั้นของเทโลเมียร์ (telomere shortening) หากยังไม่ลืมชีววิทยาม.ต้นกันไปหมด เทโลเมียร์คือหน่วยพันธุกรรมส่วนปลายของโครโมโซม และเนื่องจากข้อจำกัดบางประการของกระบวนการเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรม (DNA replication) จะทำให้เทโลเมียร์มีการหดสั้นลงทุกครั้งในแต่ละรอบของการแบ่งเซลล์ (หากอธิบายต่อจะซับซ้อนมาก ถ้าสนใจลองค้นคว้าดูเองโดยใช้ key word “end replication problem” ซึ่งเกี่ยวกับ Okasaki’s fracment) การหดสั้นลงของเทโลเมียร์ทำให้สารพันธุกรรมทั้งหมดของเซลล์ไม่สมบูรณ์ และทำให้เซลล์ตายในที่สุด

ในเซลล์มะเร็งหลายชนิดรวมถึง HeLa cell จะมีเอ็นไซม์ telomerase ซึ่งไม่พบในเซลล์มนุษย์ปกติ (ยกเว้นเซลล์สืบพันธุ์ เซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) ในบางระยะ) ทำหน้าที่ต่อสายเทโลเมียร์ที่หดสั้นลงแต่ละรอบของการแบ่งเซลล์ ทำให้เทโลเมียร์มีความยาวคงที่ และกระบวนการแก่ชราของเซลล์ทุกยับยั้ง นี่เป็นสาเหตุที่ HeLa cell สามารถแบ่งตัวได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด





และเนื่องจาก HeLa cell ถูกส่งต่อและมีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกจวบจนปัจจุบัน อาจกล่าวว่า HeLa cell มีอายุมากกว่าเจ้าของร่างของมันเสียแล้ว จำนวนเซลล์ทั้งหมดก็คงมากกว่าเซลล์ที่ประกอบเป็นร่างกายของ Henrietta Lacks ไม่รู้กี่ร้อยที่พันเท่าเช่นกัน (เป็นเรื่องยากมากที่จะคำนวณว่า HeLa cell มีการแบ่งตัวมาแล้วกี่ครั้งนับจากวันแรกที่ถูกแยกออกจากเจ้าของร่าง นอกจากต้องนับห้องปฏิบัติการที่มีอยู่ทั่วโลกแล้วยังต้องรวมถึงการส่งต่อ HeLa cell อย่างไม่เป็นทางการ-ให้เปล่าจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่ง-ด้วยไมตรีต่อกัน ของนักวิจัยในห้องปฏิบัติการเดียวกันอีกด้วย) ซ้ำร้าย HeLa cell ได้ก่อปัญหาสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ คือ การปนเปื้อนระหว่างเนื้อเยื่อ (tissue culture contamination)

การปน เปื้อนระหว่างเนื้อเยื่อ คือ การปนเปื้อนของเนื้อเยื่อชนิดหนึ่งในเนื้อเยื่อชนิดหนึ่ง โดยอาจเป็นสปีชี่ส์เดียวกันหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์และเป็นปัญหาที่สำคัญมากในการศึกษาวิจัย ที่มีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ อันเกิดขึ้นได้ในห้องปฏิบัติการที่ไม่มีการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพหรือ เกิดจากเทคนิคอันสะเพร่าของผู้วิจัย หรือแม้จะระวังสักเพียงใดก็ตามการปนเปื้อนก็ยังอาจเกิดขึ้นได้อยู่ดี! การปนเปื้อนของเนื้อเยื่อจะทำให้ผลการศึกษาที่ได้นั้นไม่ถูกต้องและไม่น่า เชื่อถือ (ต้องการผลการทดลองในเซลล์ชนิดหนึ่ง แต่กลับกลายเป็นผลการทดลองในเซลล์อีกชนิดหนึ่ง) ในยุคที่ HeLa cell มีการใช้อย่างแพร่หลาย cell line อื่นๆจำนวนมากในยุคดังกล่าวจึงถูกปนเปื้อนไปด้วย HeLa…เช่นเดียวกัน การปนเปื้อนดังกล่าวเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่ง…ทั่วโลกนี้

ในปี 1967 Stanley Gartler ได้พัฒนาวิธีตรวจสอบการปนเปื้อน HeLa cell ใน cell line อื่นๆ เขาทำการตรวจสอบโปรตีน 2 ชนิดคือ glucose-6-phosphate dehydrogenase (G6PD) และ phosphoglucomutase (PGM) ซึ่งมีความแปรผันทางพันธุกรรมอันมีลักษณะจำเพาะในสตรีชาวแอฟริกัน-อเมริกัน Henrietta Lacks เป็นลูกครึ่งแอฟริกัน-อเมริกัน ดังนั้นฟีโนไทป์ของโปรตีนทั้งสองชนิดในเซลล์ของเธอจึงมีความจำเพาะ และสามารถใช้เป็น marker ตรวจวัดการปนเปื้อนใน cell line อื่นๆได้
การ ปนเปื้อน HeLa ส่งผลกระทบต่อวงการวิทยาศาสตร์หลากหลายแขนงที่มีการใช้เซลล์เป็นเครื่องมือ ศึกษา ตัวอย่างหนึ่งคือการศึกษาด้านรังสีวิทยา เมื่อนักรังสีวิทยาทำการทดสอบความสัมพันธ์ของขนาดของรังสีกับการตายของเซลล์ มนุษย์ โดยใช้เซลล์ไตมนุษย์ในการศึกษา เขามีอันต้องประหลาดใจเมื่อเซลล์เพาะเลี้ยงดังกล่าวปนเปื้อน HeLa ผลการทดลองที่ได้จำเป็นต้องถูกโยนทิ้ง เพราะแทนที่จะได้ผลของรังสีต่อเซลล์มนุษย์ปกติ กลับได้ผลของรังสีต่อเซลล์มะเร็ง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการปนเปื้อน HeLa ในปัจจุบันเป็นที่น่าวิตกกังวลน้อยลง เนื่องจากความก้าวหน้าทางวิธีการตรวจสอบซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่การตรวจฟีโน ไทป์ เทคนิคอื่นๆอย่าง karyotyping และ chromosome band analysis ก็ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตรวจสอบเช่นกัน ร่วมกับการควบคุมการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันพบว่า 42 ใน 252 human cell lines (18%) มีการปนเปื้อน HeLa

คุณสมบัติและความเป็นอมตะของ HeLa cell ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งพิจารณาว่ามันไม่ใช่ ‘เซลล์มนุษย์’ อีกต่อไป นักวิทยาศาสตร์นามว่า Leigh Van Valen พยายามกำหนดให้มันเป็นสิ่งมีชีวิตสปีชี่ส์ใหม่ (Helacyton gartleri) ด้วยเหตุผลดังนี้

- โครโมโซมของ HeLa cell มีความแตกต่างจากโครโมโซมมนุษย์ปกติ (HeLa มีโครโมโซม 82 แท่ง และมีชิ้นส่วนของจีโนมไวรัส HPV18 แทรกอยู่ด้วย)
- HeLa cell มีความสามารถในการเจริญเติบโต ซึ่งเหนือยิ่งกว่าการควบคุมของมนุษย์ที่ทำการเพาะเลี้ยง


อย่างไรก็ตาม การระบุสปีชี่ส์ใหม่ของ HeLa cell นั้นไม่ได้รับการยอมรับในแวดลงนักวิทยาศาสตร์สากล แม้ว่าจะมีการใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มคนจำนวนหนึ่งก็ตาม


ลองพิจารณาอีกมุมองหนึ่ง โดยย้อนรอยกลับไปที่ชื่อของกระทู้นี้ เราสามารถกล่าวได้หรือไม่ว่า HeLa ก็ยังคงเป็น Henrietta Lacks และ Henrietta Lacks ยังคงมีชีวิตเป็นอมตะตราบเท่าที่ HeLa cell ยังแบ่งตัวต่อเนื่องอย่างไม่สิ้นสุด เพราะว่า HeLa cell นั้นครั้งหนึ่งก็เป็นเซลล์ในร่างกายของเธอ…เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเธอมิใช่ หรือ คำถามนี้อาจเป็นคำถามปรัชญาที่ต้องขอยกคำพูดของนายแพทย์ Sir William Oslar ที่เคยปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก่อนที่ Henrietta Lacks จะเกิดด้วยซ้ำว่า

‘‘the individual is nothing more than the transient off-shoot of a germ plasm, which has an unbroken continuity from generation to generation, from age to age . . . ‘the individual organism is transient, but its embryonic substance, which produces the mortal tissues, preserves itself imperishable, everlasting, and constant.’ ’’

ทั้งนี้ขออนุญาตไม่แปลเนื่องจากอาจทำให้เสียใจความสำคัญ หรืออีกนัยหนึ่งคือไม่มีความสามารถมากพอที่จะแปลประโยคซับซ้อนดังกล่าว…กร๊าก

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับจริยธรรมในการใช้ประโยชน์จาก HeLa cell โดยไม่มีการขอความยินยอม หรือการตั้งสปีชี่ส์ใหม่ให้กับ HeLa cell หรือความเป็นอมตะของ Henrietta Lacks ก็ยังคงเป็นที่น่ากังขาต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม HeLa cell ที่ Henrietta Lacks ได้หลงเหลือไว้ให้โลกนี้ก็ได้สร้างคุณประโยชน์ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างมากมาย ดังนั้น จขกท.ขอแสดงความเคารพเธอจากใจจริงมา ณ ที่นี้ครับ

ปล. มีวันรำลึกแด่ Henrietta Lacks ด้วยนะ (Henrietta Lacks day) แต่กำลังสงสัยอยู่ว่าเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ (วันแรกที่ Henrietta Lacks เข้ารับการรักษา) หรือวันที่ 11 ตุลาคม (วันเกิดของ Henrietta Lacks) ของทุกปี -*-




หมายเหตุ ชื่อบทความดัดแปลงมาจากหนังสือเรื่อง The Immortal Life of Henrietta Lacks เมืองไทยไม่มีขาย อยากได้ต้องสั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ตนะจ๊ะ




Reference

Lucey PB, Nelson-Rees AW, Hutchins MG. Henrietta Lacks, HeLa Cells, and Cell Culture Contamination. Arch Pathol Lab Med. 2009; 133: 1463-1467.

O’Brien JS. Cell culture forensics. PNAS. 2001; 98(14): 7656-7658.

Holt ES, Wright EW, Shay WJ. Regulation of Telomerase Activity in Immortal Cell Lines. Molecular and Cellular Biology. 1996; 16(6): 2932-2939

Smith Van. Wonder Woman: The Life, Death, and Life After Death of Henrietta Lacks, Unwitting Heroine of Modern Medical. [Online], Accessed 13 December, 2009 at //www.citypaper.com/news/story.asp?id=3426

//en.wikipedia.org/HeLa




 

Create Date : 14 ธันวาคม 2552    
Last Update : 14 ธันวาคม 2552 12:23:48 น.
Counter : 20695 Pageviews.  

น้องแมวสามสีกับความลับของโครโมโซม X

เชื่อว่าทุกคนคงเคยเห็นแมวสามสี ดำ-ส้ม-ขาว (ฝรั่งเรียกว่า tortoiseshell cats หรือ calico cats) น่ารักน่าชังแบบดังรูป แมวสามสีดังกล่าวเป็นผลลัพธ์ของการแสดงออกของยีนและวิวัฒนาการของโครโมโซม X อันสลับซับซ้อน หากมีความช่างสังเกตอีกสักนิด แมวสามสีดังกล่าวส่วนใหญ่มักจะเป็นเพศเมีย ส่วนเพศผู้นั้นแทบจะไม่พบเลย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น วันนี้จขบ.มีคำอธิบายครับ




ในรูปคือ ทามะจัง แมวประจำสถานีรถไฟของญี่ปุ่น น่ารักเป็นที่สุด



ก่อนอื่นต้องขอทบทวนความรู้ชีววิทยาก่อน เป็นที่ทราบกันดีว่า เพศในสิ่งมีชีวิตชั้นสูงถูกกำหนดโดยโครโมโซมเพศ สำหรับเซลล์มนุษย์ประกอบด้วยโครโมโซม 23 คู่ เป็นโครโมโซมร่างกาย (autosomal chromosome) 22 คู่ และโครโมโซมเพศอีก 1 คู่ (sex chromosome) XX ในเพศหญิงและ XY ในเพศชาย

นอกจากระบบโครโมโซม X-Y ซึ่งพบในแมลงบางชนิดและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมถึงมนุษย์แล้ว ยังมีระบบอื่นๆเช่น ระบบ X-O ที่พบในแมลงสาบ จิ้งหรีด หรือแมลงชนิดอื่นๆ (XO = เพศผู้, XX = เพศเมีย) ระบบ Z-W ในสัตว์ปีกและปลาบางชนิด (ZZ = เพศผู้, ZW = เพศเมีย) และระบบ haploid-diploid ในผึ้งและมดที่มีลักษณะสังคมแบบ polyandry-มากผัวหนึ่งเมีย (เพศเมียเป็น diploid-มีโครโมโซมสองชุด เพศผู้เป็น haploid-มีโครโมโซมชุดเดียว)





สำหรับในมนุษย์ที่โครโมโซมเพศเป็นระบบ X-Y เราแต่ละคนได้รับโครโมโซมเพศแต่ละแท่งจากพ่อและแม่ เพศของเราถูกกำหนดโดยโครโมโซมในอสุจิของพ่อที่เข้ามาผสมกับไข่สำเร็จ ว่าเป็นโครโมโซม X หรือ Y (เนื่องจากโครโมโซมในไข่จากแม่เป็นโครโมโซม X เสมอ) โครโมโซม X และ Y มียีนเป็นองค์ประกอบที่แตกต่างกัน โดยโครโมโซม X มี 1,000 ยีน โครโมโซม Y มีเพียง 45 ยีน ความแตกต่างของยีนดังกล่าวทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างเพศชายและหญิง

ประเด็น ที่น่าสนใจคือ ในเมื่อเพศหญิงมีโครโมโซมเป็น XX และเพศชายมีโครโมโซมเป็น XY ดังนั้นเพศหญิงจะมีการแสดงออกของยีนบนโครโมโซม X เป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับเพศชาย (เพราะมีโครโมโซม X มากกว่าอยู่หนึ่งแท่ง) ถูกต้องหรือไม่? คำตอบคือไม่ใช่

แม้เพศหญิงจะมีโครโมโซม X อยู่ถึงสองแท่ง แต่แท่งหนึ่งในสองนั้นจะไม่ทำหน้าที่หรืออยู่ในสภาพ inactive ระหว่างการเจริญเติบโตของเอ็มบริโอ ดังนั้นทั้งเพศชายและหญิงจึงเท่าเทียมกันในแง่นี้ กล่าวคือทั้งสองเพศมีโครโมโซม X ที่ทำงานเพียงแท่งเดียว…หรือมองกลับกันคือ เพศหญิงเสียเปรียบ มีโครโมโซม X สองแท่งแต่กลับทำงานแค่แท่งเดียว แต่ความจริงไม่ใช่หรอกครับ การที่มียีนทำงานมากเกินไปก็ใช่ว่าจะดี หากโครโมโซม X ทำงานทั้งสองแท่งเท่ากับต้องใช้ทรัพยากรในการแสดงออกของยีนเป็นสองเท่า โปรตีนผลผลิตที่ได้ก็เป็นสองเท่าซึ่งอาจไม่จำเป็นและทำให้เกิดความไม่สมดุล ระหว่างเพศชาย-หญิง

กระบวนการที่ทำให้โครโมโซม X แท่งหนึ่งหมดหน้าที่ไปเรียกว่า X chromosome inactivation (XCI) ซึ่งควบคุมด้วยยีนสองชนิดคือ XIST และ TSIX (ชื่อกลับด้านกันเนื่องจากยีนทั้งสองมีลำดับพันธุกรรมกลับกันจากหน้าไปหลัง) โครโมโซมแท่งที่ไม่ทำงานจะถูกกำจัดออกมองเห็นเป็นจุดดำตรงขอบด้านในของ นิวเคลียสเรียกว่า Barr body ยีนที่อยู่ใน Barr body นี้จะไม่ทำหน้าที่ (มีข้อยกเว้น บางยีนจะแสดงออกได้ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า escape X inactivation ซึ่งซับซ้อนและไม่กล่าวถึงในที่นี้) แต่จะ active ขึ้นมาอีกครั้งในเซลล์ที่จะเจริญไปเป็นไข่ในรังไข่




ถึงตอนนี้หลายๆท่านคงเริ่มงงแล้วว่าที่พูดมาทั้งหมด นี้มันเกี่ยวอะไรกับแมวสามสี ใจเย็นๆครับเรากำลังเข้าประเด็นแล้วการศึกษาของ Mary Lyon, 1961 แสดงให้เห็นว่าในกระบวนการ X chromosome inactivation นั้น โครโมโซม X แท่งใดจะ inactive หรือกลายเป็น Barr body เกิดขึ้นแบบสุ่ม (Random X inactivation) ในแต่ละเซลล์ในช่วงแรกของการเจริญพัฒนาของเอ็มบริโอ

ดัง นั้นโครโมโซม X ที่ไม่ทำงานอาจเป็นโครโมโซมที่มาจากอสุจิของพ่อหรือโครโมโซมจากไข่ของแม่ก็ ได้ นอกจากนี้ เซลล์ที่เกิด X chromosome inactivation เมื่อมีการแบ่งตัวแบบไมโทซิส (mitosis-การแบ่งเซลล์ที่จำนวนชุดโครโมโซมยังคงเท่าเดิม) ต่อไป กลุ่มเซลล์ต่อมาจะมี inactive X chromosome แท่งเดียวกันทั้งหมด

กลับ มาที่น้องแมวสามสีนะครับ ขนสีดำและสีส้มเป็นลักษณะการแสดงที่ถูกควบคุมโดยยีนบนโครโมโซม X อัลลีลหนึ่งควบคุมการแสดงออกขนสีดำ อีกอัลลีลหนึ่งควบคุมการแสดงออกขนสีส้ม (ส่วนสีขาวถูกควบคุมด้วยยีนอีกตำแหน่งหนึ่ง) พิจารณาเฉพาะน้องแมวสามสีเพศเมีย สมมติว่าน้องแมวดังกล่าวเป็น heterozygous คืออัลลีลบนโครโมโซมทั้งสองแท่งแตกต่างกัน แท่งหนึ่งมีอัลลีลสีดำ อีกแท่งหนึ่งมีอัลลีลสีส้ม

เนื่องจากกระบวน การ X chromosome inactivation ทำให้โครโมโซม X แท่งหนึ่งไม่ทำงาน ดังนั้นน้องแมวจึงควรจะมีเพียงสีใดสีหนึ่งระหว่างสีดำกับสีส้มถูกไหมครับ? คำตอบคือไม่ถูก(อีกแล้ว)





ดังที่กล่าวมาแล้ว ตามการศึกษาของ Lyon การที่โครโมโซม X แท่งหนึ่งจะไม่ทำงานในเซลล์หนึ่งนั้นเป็นไปแบบสุ่ม และเซลล์ที่แบ่งตัวมาจากเซลล์ที่เกิด X chromosome inactivation ก็จะมี inactive X chromosome แท่งเดียวกันทั้งหมด ดังนั้นเซลล์ในร่างกายของน้องแมวจึงมีการผสมปนเปกันระหว่างเซลล์ที่มี โครโมโซม X ควบคุมสีดำและเซลล์ที่มีโครโมโซม X ควบคุมสีส้ม น้องแมวจึงมีสีออกกระดำกระด่างดังรูป (แต่สำหรับจขกท.เห็นว่าน่ารักที่ซู้ด ถ้าเห็นเมื่อไรต้องรีบวิ่งเข้าไปอุ้มอย่างแน่นอน)

ทั้งนี้กรณีที่ กล่าวมาทั้งหมดคือกรณีของแมวสามสีเพศเมีย ถามว่าแมวสามสีเพศผู้ล่ะมีบ้างไหม ก็ตอบว่ามีเช่นกันครับ ตามหลักการ แมวเพศผู้จะมีโครโมโซมเพศเป็น XY โดยได้รับโครโมโซม X จากแม่และโครโมโซม Y จากพ่อ ดังนั้นมันควรจะมีสีใดสีหนึ่งเท่านั้นระหว่างสีดำกับสีส้ม สำหรับแมวสามสีเพศผู้นั้นนับว่าเป็นกรณีที่หาได้ยากยิ่งจะมีโครโมโซมแบบ XXY ครับ ซึ่งถือเป็นความผิดปกติ แต่ยังคงแสดงออกลักษณะทางเพศผู้ได้

อีก ปรากฏการณ์หนึ่งที่อธิบายได้ด้วย Random X inactivation ก็คืออาการต่อมเหงื่อไม่เจริญในคน ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม โรคดังกล่าวถูกควบคุมโดยยีนบนโครโมโซม X แต่พบว่าผู้หญิงที่เป็น heterozygous จะมีทั้งต่อมเหงื่อที่ทำงานได้และทำงานไม่ได้





อธิบายให้ลึกลงไปอีก (ถึงตรงนี้ท่านที่ไม่มีความรู้เรื่องอณูชีววิทยามากพอหรืออ่านแล้วรู้สึกปวด หัวเป็นอย่างยิ่ง สามารถข้ามไปได้ครับ) X chromosome inactivation ถูกควบคุมโดยยีน XIST และ TSIX ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

X-inactive specific transcript (XIST) เป็นยีนที่มีการแสดงออกในโครโมโซม X ที่ไม่ทำงาน ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้

- XIST เป็นยีนที่มีการถอดรหัสเป็น RNA แต่ไม่ได้ถอดรหัสเป็นโปรตีน (noncoding RNA)
- XIST RNA จะถูกแสดงออกเฉพาะเซลล์ที่มีโครโมโซม X สองแท่งขึ้นไป ดังนั้นจึงไม่มีการแสดงออกในเพศชาย
- XIST RNA จะปกคลุมบนโครโมโซม X แท่งที่มีการถอดรหัสมัน
- XIST RNA จะถูกแสดงออกในโครโมโซม X ที่ไม่ทำงาน


TSIX เป็นยีนที่ถอดรหัสได้ noncoding RNA เหมือน XIST แต่ตรงข้ามกันคือ TSIX จะถูกแสดงออกในโครโมโซม X ที่ทำงาน เชื่อว่า TSIX ทำงานในเชิงตรงข้ามกับ XIST เพื่อป้องกันการเกิด X-inactivation ทั้งสองแท่งของโครโมโซม





น้องแมวสามสี เห็นน่ารักเช่นนี้กลับบรรจุความอัศจรรย์อันมากมายเกี่ยวกับโครโมโซม X เอาไว้ ซึ่งก็ยังคงมีปริศนาอีกมากมายที่นักวิทยาศาสตร์ต้องศึกษาต่อไป เป็นต้นว่า เซลล์มีกลไกอย่างไรในการนับจำนวนโครโมโซม X อย่างแม่นยำ? ทำไม noncoding RNA จึงส่งผลอย่างมากในกระบวนการ X chromosome inactivation? ยีนสำคัญบางยีน”หลบหนี”จากกระบวนการ X chromosome inactivation ได้อย่างไร? ก็เป็นสิ่งที่น่าศึกษาวิจัยกันต่อไปครับ

ปล.ตอนแรกสุด ตั้งใจจะเขียนเรื่องกระบวนการหดสั้นลงของ chromosome Y ซึ่งอาจทำให้มนุษย์เพศชายสูญพันธุ์ในอนาคตอีกประมาณห้าล้านปีข้างหน้า แต่ค้นคว้าข้อมูลแล้วมึนหัวเป็นอย่างยิ่ง ต้องใช้เวลาอ่านอีกมาก จึงเปลี่ยนมาเขียนเรื่องง่ายๆอย่างน้องแมวสามสีแทนครับ -_-“







References

Ahn, J. & Lee, J. X chromosome: X inactivation. Nature Education. 2008; 1(1).

Graves JA. Sex chromosome specialization and degeneration in mammals. Cell. 2006 Mar 10;124(5):901-14.

Heard E, Disteche CM. Dosage compensation in mammals: fine-tuning the expression of the X chromosome. Genes Dev. 2006 Jul 15;20(14):1848-67.




 

Create Date : 14 ธันวาคม 2552    
Last Update : 14 ธันวาคม 2552 12:25:18 น.
Counter : 12451 Pageviews.  

หลายๆเรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับอัจฉริยะ

ไปอ่านเจอในนิตยสารวิทยาศาสตร์ Discovery
ขำๆครับ เลยเอามาแบ่งปันกัน


- ทุกๆปีจะมีการประกาศรางวัลโนเบล หากคุณเป็นอัจฉริยะคนหนึ่งที่ต้องการอยากรู้ว่าตัวเองเป็นหนึ่งในรายชื่อผู้ชิงรางวัลโนเบลในปีนี้หรือไม่ มีหนทางที่คุณจะรู้ได้สองประการ หนึ่งคือเป็นผู้ชนะรางวัลโนเบลในปีนี้ สองคือรอไปอีกห้าสิบปี เนื่องจากรายชื่อผู้ชิงรางวัลโนเบลในแต่ละปีจะถูกเก็บไว้เป็นความลับอย่างน้อย 50 ปี

- William Shockley ผู้ประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1956 และ Luis Alvarez นักวิจัยอนุภาคมูลฐานผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1968 ทั้งสองมีจุดร่วมกันคือ ในวัยเด็กเคยถูกคัดชื่อออกจากโครงการวิจัยอัจฉริยภาพในบุคคลเนื่องจากมีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ใครมันเป็นคนสร้างแบบทดสอบของโครงการนี้?

- Louis Terman แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเป็นบุคคลแรกที่นำการประเมินไอคิวมาใช้การศึกษาอัจฉริยภาพในบุคคล ในการศึกษาครั้งหนึ่ง เขาได้จัดกลุ่มเด็ก (เด็กๆที่ Terman ศึกษาวิจัย ถูกตั้งชื่อให้คล้องจองกับเขาว่า "Termite") ที่มีไอคิวสูงกว่า 140 ขึ้นไปเป็นกลุ่ม "อัจฉริยะ" นับจวบจนปัจจุบัน ไม่มีอัจฉริยะคนใดจากการศึกษาของ Terman ที่ได้รับรางวัลโนเบล

- อัจฉริยะหลายคนในศตวรรษที่ 19 ถึง 20 มักมีชื่อเสียงอื้อฉาวเรื่องเพศ เช่น Richard Feynman, Albert Einstein และ Bertrand Russell ทั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของสถิติ มีสมมติฐานหนึ่งที่ว่า อัจฉริยะมีส่วนสัมพันธ์กับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (ฮอร์โมนเพศชาย ความก้าวร้าว และการชอบเสี่ยงภัย)

- ในปี 1981 Shockley (คนเดียวกับอีตาข้างบน) และนัก eugenicist (นักชาติพันธุ์วิทยา พวกที่เชื่อว่ามนุษย์สามารถจัดลำดับความสามารถได้จากพันธุกรรม-หาคำแปลไทยไม่ถูก, จขบ.) นามว่า Robert Klark Graham ร่วมกันก่อตั้งสถาบันเก็บเชื้อพันธุ์อัจฉริยะในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ เป้าประสงค์หนึ่งคือการขายอสุจิของบุรุษที่ได้รับรางวัลโนเบลและบุรุษผู้ที่มีไอคิวสูงอีกเป็นจำนวนมาก

- Graham ตายในปี 1997 และสถาบันสติเฟื่องข้างบนนั้นก็ปิดลงในอีกสองปีถัดมา

- การศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอพบว่า คนที่มีไอคิวปกติหรือแม้กระทั่งต่ำกว่าปกติมักมีความสามารถการบริหารหรือออมเงินได้ดีกว่าคนที่มีไอคิวสูง ตัวอย่างเชิงประจักษ์หนึ่งคือ Albert Einstein ผู้ผลาญเงินที่ได้จากรางวัลโนเบลไปเกือบหมดสิ้นโดยแทบไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆกลับมาจากการลงทุน

- กุมารแพทย์ชาวออสเตรเลีย Hans Asperger เป็นผู้ค้นพบโรคAsperger's syndrome ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของออทิสติกที่มีความสนใจและความสามารถเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ คุณหมอเชื่ออย่างฝังใจว่าโรคดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และสรุปออกมาว่า "ภาวะออทิสติกมีความจำเป็นสำหรับการประสบความสำเร็จด้านวิทยาศาสตร์หรือศิลปะใดๆ"

- Norbert Weiner นักวิจัยด้านไซเบอร์เนติคส์เคยขับรถไปประชุมวิชาการ แต่ขากลับนั่งรถเมล์ เมื่อถึงบ้านเขาไม่พบรถยนต์จอดอยู่จึงโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจทันทีว่ารถของตนถูกขโมย

- ในระหว่างปี 1990 บริษัท Bell Labs ค้นพบว่าวิศวกรที่มีประสิทธิภาพและมีคุณค่าเป็นที่ต้องการมากที่สุดไม่ใช่วิศวกรที่เป็นอัจฉริยะ แต่เป็นผู้ที่มีนิสัยปรองดอง เข้าใจความรู้สึกผู้อื่น และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างไม่มีปัญหา...เอ่อ น่าจะรู้ตั้งนานแล้วนะ

- ในปี 2007 มหาวิทยาลัยเกียวโต ทำการศึกษาโดยจับลิงชิมแพนซีมาทำแบบทดสอบความฉลาดด้านการจำแข่งกับนักศึกษากลุ่มหนึ่ง ลิงชิมแพนซีตัวที่ได้คะแนนมากที่สุดทำคะแนนชนะนักศึกษาทุกคนได้ถึงสองในสามครั้งของการทดสอบ

- เหนือไปกว่าเจ้าลิงชิมป์ไม่ทราบชื่อตัวข้างต้น เจ้านกแก้วสีเทาชื่อ Alex ซึ่งตายไปเมื่อปีที่แล้ว ถูกบันทึกว่าเป็นนกที่ฉลาดที่สุดในโลก มันสามารถจดจำวัตถุได้ถึง 50 อย่าง ซึ่งมีสีและรูปร่างแตกต่างกันเจ็ดรูปแบบ อย่างละ 6 ชิ้นขึ้นไป (50 x 7 x 7 x 6)

- เราทุกคนก็สามารถเป็นอัจฉริยะได้ นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยซิดนี่ย์และมหาวิทยาลัยแมคควอรี่ ประเทศออสเตรเลียกล่าวว่า ความฉลาดของคนเราสามารถกระตุ้นให้สูงขึ้นได้ในระยะเวลาสั้นๆ โดยการรับประทาน creatine สารชีวโมเลกุลชนิดหนึ่งที่พบในกล้ามเนื้อ วันละ 5 mg



From: 20 Things You Didn't Know About... Genius




 

Create Date : 02 ตุลาคม 2552    
Last Update : 3 ตุลาคม 2552 15:19:02 น.
Counter : 2837 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

มีชีวิตบนดาวอังคารหรือเปล่านะ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]






....โลกมนุษย์นี้ไม่มีที่แน่นอน
ประเดี๋ยวเย็นประเดี๋ยวร้อนช่างแปรผัน
โชคหมุนเวียนเปลี่ยนไปได้ทุกวัน
สารพันหาอะไรไม่แน่นอน
ชีวิตเหมือนเรือน้อยล่องลอยอยู่
ต้องต่อสู้แรงลมประสมคลื่น
ต้องทนทานหวานสู้อมขมสู้กลืน
ต้องจำฝืนสู้ภัยไปทุกวัน
เป็นการง่ายยิ้มได้ไม่ต้องฝืน
เมื่อชีพชื่นเหมือนบรรเลงเพลงสวรรค์
แต่คนที่ควรชมนิยมกัน
ต้องใจมั่นยิ้มได้เมื่อภัยมา


พันตรีหลวงวิจิตรวาทการ





เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา
จงเลือกเอาสิ่งที่ดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู
เรื่องที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
จะหาคนที่มีดีเพียงส่วนเดียว
อย่าเที่ยวเสาะหาสหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเล่าเอย
ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง

หลวงพุทธทาส





ชีวิตใกล้ปัจฉิมวัย ไม่เป็นไปตามแผนการเมื่อปฐมวัย อะไรที่ยิ่งใหญ่เมื่อเช้า เป็นของเล็กน้อยเมื่อเย็น อะไรที่เป็นสัจจะเมื่อแดดจ้า กลายเป็นมายาเมื่อยามพลบ

We cannot live the afternoon if life
according to the program on life’s morning; for what was great in the morning will be little at evening, and what in the morning was true will at evening have become a lie.



C.G. Jung.




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add มีชีวิตบนดาวอังคารหรือเปล่านะ's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.