คนเกิดวันพุธ ความทุกข์โถมทับทวี
Anthropomorphism: เมื่อความเป็นมนุษย์อยู่ในทุกแห่งหน

Anthropomorphism คือการถือกำหนดคุณลักษณะความเป็นมนุษย์ให้แก่สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ สิ่งของ สิ่งนามธรรม ที่มีอยู่จริงหรือมีอยู่เพียงแต่ในจินตนาการก็ตาม คุณลักษณะดังกล่าวอาจหมายถึงความมีสติสำนึกรู้ ความรู้สึก อารมณ์ การมีเจตจำนง รวมไปถึงคุณธรรมของมนุษย์

ตัวอย่างของ Anthropomorphism เช่น การที่เราไปเที่ยวต่างจังหวัดเสียหลายวันแล้วนึกสงสารต้นไม้ที่บ้าน นึกว่าต้นไม้คงจะหิวน้ำแย่ ทั้งที่ความจริงพืชไม่มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนมนุษย์ หรือการที่เราตะโกนใส่คอมพิวเตอร์เมื่อการทำงานของเครื่องไม่เป็นไปตามดั่งใจเรา ราวกับว่าเครื่องคอมพิวเตอร์จะรับรู้ความโกรธของเรา หรือการที่เราพูดกับรถยนต์ขอร้องให้เครื่องติดเมื่อสตาร์ทรถไม่ติด ทั้งที่รถยนต์ไม่มีเจตจำนงหรือความตั้งใจในการกระทำสิ่งใด

Anthropomorphism เป็นหัวข้อที่มีการศึกษาในศาสตร์ด้านจิตวิทยาและมานุษยวิทยา Anthropomorphism ดูเหมือนจะเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ ในการค้นหา กำหนดความหมายและความเป็นมนุษย์ที่ให้ทุกสิ่งที่เราประสบในโลก คำถามหนึ่งที่เป็นปริศนาในปัจจุบันคือเหตุใดมนุษย์จึงต้องกำหนดความเป็นมนุษย์ (anthropomorphise)* ให้กับสิ่งต่างๆด้วย บางที ความรู้ทางด้านชีววิทยาและประสาทวิทยาอาจช่วยตอบคำถามนี้ได้

*หมายเหตุ ผู้เขียนไม่ทราบว่า Anthropomorphism เทียบนิยามเป็นคำศัพท์ไทยว่าอะไร จึงขอใช้คำทับศัพท์ เช่นเดียวกับคำว่า anthropomorphise ซึ่งเป็นรูปกริยาของ Anthropomorphism




ภาพตัวอย่าง Anthropomorphism



จากการศึกษาทางโบราณคดี พบหลักฐาน Anthropomorphism ย้อนหลังไปไกลที่สุดคือเมื่อ 30,000 ปีที่แล้ว คือภาพวาดครึ่งคนครึ่งสัตว์บนผนังถ้ำ เช่นเดียวกันกับตำนาน ความเชื่อทางศาสนาต่างๆที่กล่าวถึงจิตวิญญาณของธรรมชาติ แม่น้ำ สายลม พระแม่ปฐพีที่ให้กำเนิดโลก พระเจ้าผู้สร้างสรรพสิ่ง และเทพเจ้าที่มีรูปลักษณ์และคุณธรรมอย่างมนุษย์

ศัพท์คำว่า Anthropomorphism ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดยนักปราชญ์ชาวกรีกนามว่า Xenophanes เมื่อ 2,600 ปีก่อน เมื่อเขาสังเกตว่าผู้คนจะนับถือบูชาเทพเจ้าที่มีรูปลักษณ์เหมือนกับพวกเขา เช่น เทพเจ้าของชาวกรีกมักจะมีผิวกายขาว ในขณะที่เทพเจ้าของชาวเอธิโอเปียนมักจะมีผิวกายดำ Xenophanes ยังเสนออีกว่าหากม้าและลามีความเชื่อทางศาสนา พระเจ้าของพวกมันก็คงจะมีสี่ขา

Xenophanes อาจพูดถูกก็เป็นได้ เมื่อนักสัตววิทยาพบพฤติกรรม ‘rain dance’ ของลิงชิมแพนซี เมื่อเกิดฝนตกหนักและมีเสียงฟ้าร้อง ลิงชิมแพนซีจะปีนขึ้นไปบนยอดไม้ และกรีดร้องตอบโต้เสียงฟ้าร้อง คล้ายการคำรามใส่ศัตรูชิมแพนซีเพศผู้ตัวอื่น ราวกับว่ามีลิงตัวใหญ่บนฟ้าที่เป็นสาเหตุของพายุฝน เหมือนกับเทพเจ้า Zeus ในตำนานกรีกโรมัน บางคนเชื่อว่านี่อาจเป็นหลักฐานแสดงถึงการวิวัฒนาการทางศาสนาในลิงชิมแพนซี หรือไม่แน่ว่าลิงชิมแพนซีอาจจะ ‘chimpomorphise’ เสียงฟ้าร้องก็เป็นไปได้





การศึกษาทางด้านประสาทวิทยาแสดงให้เห็นถึงวงจรประสาทที่เกี่ยวข้องกับการ anthropomorphise โดย Prof. Christain Keysers มหาวิทยาลัย Medical Center Groningen ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทำการทดลองโดยฉายภาพยนตร์ให้อาสาสมัครดูและวัดการทำงานของสมองด้วยเครื่อง fMRI เพื่อทดสอบว่ามีสมองส่วนใดที่ถูกกระตุ้น ภาพยนตร์มีทั้งหมดสองชุด ชุดที่หนึ่งเป็นภาพการต่อสู้ระหว่างบุคคล อีกชุดหนึ่งนั้น บุคคลถูกเปลี่ยนเป็นรูปสี่เหลี่ยมและวงกลม (คล้ายกับภาพเคลื่อนไหวจาก Heider F, Simmel M. An experimental study of apparent behavior. Amer J Psycho.1944 57:243–249. ลองกดดูเฉพาะภาพเคลื่อนไหวได้ที่ลิงค์นี้ *แนะนำให้กดดู)

ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สมองส่วนที่มีการทำงานเมื่ออาสาสมัครดูภาพยนตร์เกี่ยวกับคนต่อสู้กันกับเมื่ออาสาสมัครดูภาพยนตร์รูปเรขาคณิตเคลื่อนไหวคล้ายต่อสู้กันไม่มีความแตกต่างกัน โดยสมองบริเวณที่ถูกกระตุ้นคือ mirror neuron system ใน premoter cortex (mirror neuron system หรือเซลล์ประสาทกระจกเงา เป็นกลุ่มเซลล์ประสาทที่มีการกระตุ้นตอบสนองเมื่อเราเห็นภาพการกระทำของบุคคลอื่น ในลักษณะเดียวกันกับเมื่อการกระทำนั้นเป็นของเราเอง) กล่าวในอีกนัยหนึ่งคือ อาสาสมัครแปลความหมายการเคลื่อนไหวของรูปเรขาคณิตว่ามีเจตจำนงเหมือนการต่อสู้ของมนุษย์ โดยใช้วงจรประสาทเดียวกัน

นอกจากการทดลองดังกล่าว ยังมีการทดลองอื่นที่ให้ผลลัพธ์เช่นเดียวกัน เช่นเมื่อฉายภาพยนตร์สองชุดให้อาสาสมัครดู ชุดที่หนึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวของมนุษย์หยิบสิ่งของต่างๆ อีกชุดหนึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ในกิริยาอาการเดียวกัน พบว่าสมองส่วน mirror neuron system ของทั้งสองกลุ่มนี้ก็ถูกกระตุ้นไม่แตกต่างกัน




ภาพประกอบแสดงการทำงานของ mirror neuron system ซึ่งมีการกระตุ้นในรูปแบบเดียวกันเมื่อลิงสังเกตการกระทำของตนอื่นและเมื่อลิงแสดงการกระทำนั้นๆด้วยตนเอง (Kandel ER et al. Principles of Neural Science. 4th edition)



เหตุใดเราถึงต้อง anthropomorphise? เป็นคำถามหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการหาคำตอบ Anthropomorphism มีประโยชน์อย่างไรต่อการดำรงชีวิตของเรานั้น นักมานุษยวิทยาและนักจิตวิทยาบางคนเชื่อว่า มนุษย์วิวัฒน์คุณสมบัติดังกล่าวเพื่อเฝ้าระวังภัยที่ไม่สามารถคาดเดาได้เช่น การระแวงเสียงพุ่มไม้ที่สั่นไหวโดยตีความว่าอาจเป็นศัตรู หรือเพื่อประเมินความเชื่อถือของสิ่งที่ไม่รู้จักมาก่อนว่าเป็นมิตรหรือศัตรู การปรับตัวดังกล่าวถือเป็นกลยุทธที่เรียกว่า “ปลอดภัยดีกว่าเสียใจทีหลัง” โดยการใส่เจตจำนงและเหตุผลให้กับสิ่งต่างๆเราไม่เสียอะไรมากนัก เมื่อกับการละเลยมันไปแล้วพบภายหลังว่ามันเป็นสิ่งสำคัญทั้งในแง่ดีและแง่ลบ

จากข้อสันนิษฐานดังกล่าว Cacioppo Epley นักประสาทวิทยาศึกษาพบว่า เรามีแนวโน้มที่จะ anthropomorphise เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ จากการศึกษาพบว่าเมื่ออาสาสมัครคิดถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าที่คาดเดาไม่ได้อย่างเช่น นาฬิกาปลุกที่วิ่งไม่ให้กดปิดเมื่อถึงเวลาตื่น สมองส่วน ventromedial prefrontal cortex ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคิดถึงความคิดของผู้อื่นจะถูกกระตุ้น

นักวิศวกรรมหุ่นยนต์พบว่า เด็กเล็กจะมีความสนใจกับหุ่นยนต์ของเล่นที่แสดงพฤติกรรมเดิน เต้นรำ นอนหลับอย่างไม่แน่นอน เมื่อปรับเปลี่ยนให้หุ่นยนต์แสดงพฤติกรรมเป็นรอบจังหวะที่แน่นอนก็พบว่า เด็กเล็กหมดความสนใจไปโดยปริยาย





อีกหลักฐานหนึ่งที่สนับสนุนสมมติฐานนี้คือการตอบสนองเมื่อเราเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม เรามักตีความว่าเกิดจากความพิโรธของธรรมชาติ การเอาคืนของธรรมชาติที่ถูกล่วงเกินโดยมนุษย์

นอกจากนี้ มีการศึกษาพบว่า บุคคลที่บุคลิกภาพเปลี่ยวเหงา มีแนวโน้มที่จะ anthropomorphise มากกว่าบุคคลที่มีบุคลิกตรงข้าม ตัวอย่างที่ผู้อ่านอาจจะนึกภาพออกโดยง่ายคือภาพยนตร์เรื่อง Cast away ที่ทอม แฮงค์เล่นเป็นตัวเอกของเรื่อง ต้องติดเกาะนานหลายปีกับลูกวอลเล่ย์บอลลูกหนึ่ง จึงยึดถือเอามันเป็นเพื่อน ตั้งชื่อให้ พูดคุยกับมัน และเศร้าใจเมื่อต้องลาจากกัน

จากการศึกษาหนึ่งโดย Cacioppo Epley และคณะ อาสาสมัครที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Cast away ฉากที่ให้ความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว (เป็นวิธีการวิจัยประเภทหนึ่งทางจิตวิทยา ในการฉายภาพยนตร์ที่มีฉากสะเทือนอารมณ์ต่างๆเพื่อกระตุ้นให้ผู้ถูกทดสอบมีสภาวะอารมณ์ที่สอดคล้องกันนั้น) จะให้คะแนนคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์เช่น ‘มีความคิด’, ‘เห็นอกเห็นใจผู้อื่น’ ให้กับสัตว์เลี้ยงและพระเจ้า (ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์) มากกว่าคนที่ได้ดูฉากอื่นๆ

บางที Anthropomorphism อาจเป็นกลไกหนึ่งในพฤติกรรมการอยู่เป็นสังคมของมนุษย์ เมื่อมนุษย์ถูกแยกห่างจากผู้อื่นและเกิดความรู้สึกเปลี่ยวเหงา เราจะสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมาโดยการ anthropomorphise





Anthropomorphism มีอิทธิพลต่อการกระทำ การตัดสินใจต่างๆของมนุษย์อย่างที่เราคาดไม่ถึง ตัวอย่างหนึ่งที่ฟังดูแล้วอาจขบขันคือการจากไปของเจ้า Clippy ตัวช่วย(?)ที่แถมมากับ Microsoft office รุ่นก่อนๆ ที่เสนอหน้าทุกครั้งเมื่อเรามีปัญหาในการใช้โปรแกรม การแส่เข้ามาของเจ้า Clippy มักไม่ช่วย และทำให้ผู้ใช้รู้สึกรำคาญ ถูกคุกคาม จน Microsoft office เวอร์ชั่นหลังๆต้องเอามันออกไป

เหตุผลที่ผู้ใช้ไม่ชอบเจ้า Clippy กันเท่าไรนักอาจเป็นเพราะว่าความที่มันเหมือนมนุษย์ (ทั้งที่รูปลักษณ์ไม่ใช่โดยสิ้นเชิง) Clippy ดูเหมือนตัวยุ่งที่โผล่มาอย่างคาดเดาไม่ได้ และมักขัดจังหวะการทำงาน น้อยครั้งที่ Clippy จะแก้ไขปัญหาให้ผู้ใช้งานได้ และเมื่อมันทำได้ ด้วยความที่เรารู้สึกว่ามันเหมือนมนุษย์ เราจึงรู้สึกว่าความดีความชอบในการแก้ปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวเรา และนั่นทำให้เราไม่ค่อยพอใจเท่าไรนัก

ปัญหาของ Clippy ก็เป็นปัญหาเช่นเดียวกันกับเมื่อเราไม่พอใจคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานที่จู่ๆก็ปิดการทำงานหรือทำงานช้ามากอย่างไร้เหตุผล เราตะโกน ทุบถอง อารมณ์เสียใส่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีความนึกคิดใด คำอธิบายหนึ่งคือ เมื่อเราใช้งานคอมพิวเตอร์ เราจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับหนึ่งกับมัน และเมื่อมันไม่เป็นไปตามที่เราหวัง เราจะรู้สึกเหมือนถูกหักหลัง ทรยศความเชื่อใจ และแสดงความรู้สึกโกรธ





หรือกรณีที่ฟังดูแล้วอาจเป็นตลกร้ายเช่น การฟ้องร้องความผิดทางกฎหมายจากสัตว์ มีการบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์กว่า 200 คดีที่มนุษย์ฟ้องร้องความเสียหายจากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นการลักขโมย การฆาตกรรม (ในคดีหนึ่งที่มีการบันทึก เด็กผู้ชายถูกฆ่าตายขณะหลับบนเตียง ร่างกายถูกฉีกทึ้งเป็นชิ้นๆ ฆาตกรที่ถูกนำมาขึ้นศาลคือหมูตัวหนึ่ง) สัตว์ถูกตัดสินให้จำคุกหรือประหารชีวิต เหตุเพราะมนุษย์ถือกำหนดว่า สัตว์ต้องมีคุณธรรม และรับผิดชอบต่อการกระทำที่มีเจตจำนงเหมือนกับมนุษย์

Anthropomorphism ยังทำให้มนุษย์รู้สึกว่า มีใครสักคนเฝ้ามองการกระทำของตนเองอยู่ ซึ่งอาจเป็นกลไกหนึ่งในการควบคุมทางศีลธรรมของมนุษย์ การศึกษาหนึ่งโดยมหาวิทยาลัย California in Los Angeles เมื่อให้อาสาสมัครเล่นเกมแข่งขันโดยมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง อาสาสมัครที่คอมพิวเตอร์แสดงดวงตาของตัวการ์ตูนจ้องมองอยู่จะมีความ ‘ใจดี’ ต่อคู่ต่อสู้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ถูกจ้องมอง ด้วยหลักการดังกล่าว รูปปั้นของพระเยซู พระแม่มารี หรือพระพุทธรูป ในสถานที่สำคัญต่างๆของแต่ละประเทศ อาจช่วยเตือนให้ผู้คนระลึกว่าพวกเขากำลังถูกจับตามองไม่ให้กระทำนอกลู่นอกทาง

กล่าวโดยสรุป การหาเหตุผล การใส่ความหมาย เจตจำนง คุณธรรม และคุณลักษณะอื่นๆของมนุษย์ให้กับสิ่งรอบกาย เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่มีโดยพื้นฐานของมนุษย์ เราอาจไม่ทราบเหตุผลอย่างแน่ชัดว่าเราวิวัฒน์คุณสมบัตินี้มาเพื่ออะไร การศึกษา Anthropomorphism เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น อาจนำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับจิตใจมนุษย์ และปฏิสัมพันธ์ที่เรามีต่อสิ่งต่างๆมากขึ้น





เรียบเรียงจาก Douglas Fox, In our own image. Newscientist. November 2010

อ่านเพิ่มเติมงานวิจัยที่อ้างอิงได้ดังต่อไปนี้

(1) อธิบายนิยามและความหมายของ Anthropomorphism

(2) พฤติกรรม rain dance ของ chimpanzee: Chimpanzee central – Waterfall display, The Jane Goodall Institute อย่างไรก็ตามยังมีข้อโต้แย้งอยู่มาก ดูตัวอย่าง

(3) การทดลองดูภาพยนตร์มนุษย์เปรียบเทียบกับภาพยนตร์หุ่นยนต์: Gazzola V, Rizzolatti G, Wicker B, Keysers C. The anthropomorphic brain: the mirror neuron system responds to human and robotic actions. Neuroimage. 2007 May 1;35(4):1674-84.

(4) การทดลองพฤติกรรมเด็กเล็กกับหุ่นยนต์ของเล่น: Tanaka F, Cicourel A, Movellan JR. Socialization between toddlers and robots at an early childhood education center. Proc Natl Acad Sci U S A. 2007 Nov 13;104(46):17954-8.

(5) การทดลองฉายหนัง Cast away ฉากที่ทำให้รู้สึกเปลี่ยวเหงา: Epley N, Akalis S, Waytz A, Cacioppo JT. Creating social connection through inferential reproduction: loneliness and perceived agency in gadgets, gods, and greyhounds. Psychol Sci. 2008 Feb;19(2):114-20.

(6) การทดลองให้เล่นเกมโดยมีดวงตาจ้องมอง: Haley KJ, Fessler DMT. Nobody's watching?: Subtle cues affect generosity in an anonymous economic game. Evolution and Human Behavior. 2005 May;26(3): 245-256.



Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2554 7:44:17 น. 1 comments
Counter : 4226 Pageviews.

 


สุขสันต์วันเกิด มีความสุขมากๆ นะคะ

บล๊อกนี้เป็นบล๊อกแห่งความรู้จริงๆ นะคะ
ถ้ามีเวลาจะแวะมาเยี่ยมอีกนะคะ


โดย: Megeroo วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:18:37:22 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มีชีวิตบนดาวอังคารหรือเปล่านะ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]






....โลกมนุษย์นี้ไม่มีที่แน่นอน
ประเดี๋ยวเย็นประเดี๋ยวร้อนช่างแปรผัน
โชคหมุนเวียนเปลี่ยนไปได้ทุกวัน
สารพันหาอะไรไม่แน่นอน
ชีวิตเหมือนเรือน้อยล่องลอยอยู่
ต้องต่อสู้แรงลมประสมคลื่น
ต้องทนทานหวานสู้อมขมสู้กลืน
ต้องจำฝืนสู้ภัยไปทุกวัน
เป็นการง่ายยิ้มได้ไม่ต้องฝืน
เมื่อชีพชื่นเหมือนบรรเลงเพลงสวรรค์
แต่คนที่ควรชมนิยมกัน
ต้องใจมั่นยิ้มได้เมื่อภัยมา


พันตรีหลวงวิจิตรวาทการ





เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา
จงเลือกเอาสิ่งที่ดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู
เรื่องที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
จะหาคนที่มีดีเพียงส่วนเดียว
อย่าเที่ยวเสาะหาสหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเล่าเอย
ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง

หลวงพุทธทาส





ชีวิตใกล้ปัจฉิมวัย ไม่เป็นไปตามแผนการเมื่อปฐมวัย อะไรที่ยิ่งใหญ่เมื่อเช้า เป็นของเล็กน้อยเมื่อเย็น อะไรที่เป็นสัจจะเมื่อแดดจ้า กลายเป็นมายาเมื่อยามพลบ

We cannot live the afternoon if life
according to the program on life’s morning; for what was great in the morning will be little at evening, and what in the morning was true will at evening have become a lie.



C.G. Jung.




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add มีชีวิตบนดาวอังคารหรือเปล่านะ's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.