คนเกิดวันพุธ ความทุกข์โถมทับทวี

Flatland: โลกสองมิติกับชีวิตสารพัดเหลี่ยม




Flatland เป็นนิยายวิทยาศาสตร์รุ่นดึกดำบรรพ์ คือเขียนไว้ตั้งแต่ปี 1884 และตีพิมพ์ครั้งแรกอย่างนิรนาม แต่เนื้อหายังคงความคลาสสิคจนถึงปัจจุบัน นิยายว่าด้วยอาณาจักรแบนที่มีสองมิติคือกว้างและยาว สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรนี้จะมีรูปร่างเป็นเหลี่ยมทรงต่างๆ มีพฤติกรรม สติปัญญาและรูปแบบสังคมไม่ต่างอะไรจากสิ่งมีชีวิตในจักรวาลสามมิติอย่างเรา

ผู้เขียนเล่าเรื่องในอาณาจักรแบนด้วยมุมมองของบุคคลที่หนึ่ง-สี่เหลี่ยมแบนๆตนหนึ่ง ซึ่งบรรยายภูมิศาสตร์ สังคมและประวัติศาสตร์ของอาณาจักรอย่างเรียบง่ายแต่น่าสนใจ ทั้งยังคงแทรกประเด็นเสียดสีสังคมในยุควิคโตเรี่ยน (Victorian era) ไว้อย่างแสบสันเกือบทั้งเล่ม สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรแบนแบ่งเป็นสองเพศคือหญิงและชาย เพศหญิงมีรูปร่างเป็นเส้นตรงอย่างเดียว ส่วนเพศชายมีรูปร่างหลากเหลี่ยมตั้งแต่สามเหลี่ยมฐานแคบไปจนถึงรูปร่างร้อยเหลี่ยม

สังคมของอาณาจักรแบนแบ่งวรรณะตามจำนวนเหลี่ยม ดังนั้นเพศหญิงจึงมีสถานะทางสังคมต่ำมาก มีหน้าที่แค่เป็นภรรยาและแม่เรือน ทั้งถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไร้เหตุผล เต็มไปด้วยอารมณ์ และไม่ควรสนับสนุนให้ได้รับการศึกษา (คุ้นๆไหมครับ) สำหรับเพศชายก็จะแบ่งชนชั้นตามเหลี่ยม สามเหลี่ยมฐานแคบเป็นกรรมกรแรงงาน จัณฑาลชั้นต่ำ สามเหลี่ยมด้านเท่าเป็นพ่อค้า สี่เหลี่ยมจตุรัสเป็นทนาย ห้าเหลี่ยมหกเหลี่ยมขึ้นไปเป็นพวกชนชั้นสูง วงกลมไร้เหลี่ยมเป็นสถานะสูงสุด แต่ในอาณาจักรดังกล่าวไม่มีวงกลมสมบูรณ์แบบ มีแต่รูปร่างหลายร้อยเหลี่ยมซึ่งใกล้เคียงกับวงกลม ถือเป็นชนชั้นปกครอง หรือพระสงฆ์องค์เจ้าไป

ชีวิตสังคมของประชากรอาณาจักรแบนล้วนหมกหมุ่นอยู่กับการแบ่งวรรณะ (คุ้นๆอีกเช่นกันครับ) การแยกวิถีชีวิตของแต่ละชนชั้นให้ห่างออกจากกันให้มากที่สุด และการพยายามเพิ่มสถานะสังคมภายในตระกูล (สิ่งมีชีวิตจะเพิ่มจำนวนเหลี่ยมรุ่นต่อรุ่น) คำถามคือประชากรในอาณาจักรแยกแยะกันและกันได้อย่างไร ประเด็นนี้คือส่วนที่น่าสนใจมากในนิยาย เนื่องจากสิ่งมีชีวิตในโลกสองมิติย่อมมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงเส้นตรงและจุด (ดูรูปประกอบ) จากแค่เส้นตรงและจุด สิ่งมีชีวิตเหล่านี้แยกแยะรูปร่างต่างๆได้อย่างไร มิใยจะพูดถึงการแบ่งวรรณะอีก เป็นปริศนาที่อยากให้อ่านในหนังสือมากกว่าเดี๋ยวจะเสียอรรถรสครับ



เรื่องราวมันน่าสนุกมากขึ้น เมื่อสิ่งมีชีวิตสองมิติได้ไปเยือนหรือพบสิ่งมีชีวิตที่อยู่โลกที่มิติแตกต่างไป เช่นโลกหนึ่งมิติ (Lineland) ซึ่งมีสิ่งมีชีวิตแค่สองรูปแบบ คือเพศชายที่เป็นเส้นตรงและเพศหญิงที่เป็นจุด เรียงแถวกันยาวไม่สิ้นสุดและเคลื่อนที่สลับซ้าย-ขวาเป็นจังหวะ ตัวเอกสี่เหลี่ยมของเราพบว่าการอธิบายให้สิ่งมีชีวิตหนึ่งมิติเข้าใจสภาพของโลกสองมิตินั้นเป็นการกระทำที่ยากมาก และพ้นวิสัยสามัญสำนึกของพระราชาเส้นตรงที่มองเห็นเพียงจุดที่จะเข้าใจได้

และหลังจากนั้น สิ่งมีชีวิตจากโลกสามมิติ (Spaceland) ก็มาเยือนตัวเอกสี่เหลี่ยมด้วยวิธีการที่น่าฉงนที่สุด เขามีรูปร่างส่วนหนึ่งที่เป็นวงกลมสมบูรณ์แบบ (ซึ่งไม่เคยพบในอาณาจักรแบน) ผลุบโผล่เข้ามาในบ้านคนอื่นได้ตามใจนึก (ลองจินตนาการเราเอานิ้วมือจิ้มทะลุ เข้า-ออกแผ่นกระดาษ) และอ้างว่ามองเห็นทุกอย่างในบ้านสองมิติ รวมถึงสิ่งที่อยู่ภายในสี่เหลี่ยม (ซึ่งคือภายในร่างกาย) ได้ในครั้งเดียว สี่เหลี่ยมพบว่ามันเป็นการยากและยอมรับไม่ได้เช่นกันว่านอกจาก'ความกว้าง'และ'ความยาว' ยังคงมี 'ความลึก' อีกด้วย แต่เมื่อสิ่งมีชีวิตจากโลกสามมิติพาเขาออกจากสองมิติ ทุกสิ่งทุกอย่างก็กระจ่างแจ้ง และโลกที่มองเห็นก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป...หลังจากนั้น...




นิยายเรื่องนี้มีความน่าประทับใจตรงที่มันเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับเรา ในมุมมองของจุดย่อมมองไม่เห็นภาพของสี่เหลี่ยม ขณะที่สี่เหลี่ยมไม่เข้าใจความหมายของลูกบาศก์ ฉันใดก็ฉันนั้น เราในโลกสามมิติก็จินตนาการถึงสี่มิติไม่ได้ ทั้งยังไม่มีความสามารถที่จะจำลองภาพให้เห็นโดยประสาทสัมผัสที่มีอยู่ ทางหนึ่งที่เราจะรับรู้มิติที่สูงกว่าก็คือ "การมาเยือน" ของวัตถุจากมิตินั้นเหมือนสิ่งมีชีวิตสามมิติบุกรุกบ้านของชาวอาณาจักรแบนในนิยาย

(อย่างไรก็ดี โมเดลทางฟิสิกส์ในปัจจุบันมีการอ้างอิงถึงมิติที่สูงกว่าบ่อยครั้ง เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ในจักรวาลบางอย่าง นักฟิสิกส์เชื่อว่ามิติที่อาจมีมากเกินสิบมีขนาดเล็กมาก เล็กกว่าอนุภาค เราจึงไม่รู้ถึงการมีอยู่ของมัน)

อ่านนิยายเล่มนี้จบแล้ว ลองคิดเล่นๆว่าถ้าตัวเองได้มีโอกาสเข้าถึงมิติที่สูงกว่ามันจะเป็นอย่างไร มุมมองที่เห็นโลกสามมิติคงจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เราไม่ได้เห็นแค่รูปทรงของวัตุสามมิติแต่ยังเห็น 'ภายใน' ของมันในเวลาเดียวกัน เราสามารถปรากฏและหายวับไปในจุดหนึ่งๆใดๆได้ ด้วยคุณสมบัตินั้นไม่มีวัตถุกายภาพใดในโลกสามมิติที่กักขังเราได้ พอคิดถึงตรงนี้ผมคิดว่าตัวเองไม่ต่างจากวิญญาณเท่าไรเลย


Edwin A. Abbott. Flatland: A Romance of Many Dimensions.




 

Create Date : 08 เมษายน 2554    
Last Update : 8 เมษายน 2554 18:40:57 น.
Counter : 3148 Pageviews.  

เมฆาสัญจร (Cloud Atlas)

เมฆาสัญจร (Cloud Atlas), David Mitchell
จุฑามาศ แอนเนียน แปล
สำนักพิมพ์มติชน




เหตุผลที่เขียนรีวิวหนังสือเล่มนี้ คือความประทับใจสองประการ

หนึ่ง เนื้อหาของหนังสือ
สอง กลวิธีการเล่าเรื่อง

เมฆาสัญจร เป็นเรื่องราวชีวิตของคนหกคน หกยุคสมัยที่รายร้อยเป็นเรื่องเดียวกัน ด้วยความเกี่ยวพันกันอย่างละนิดหน่อย และสัญลักษณ์บางอย่างที่พยายามสื่อเป็นนัยยะว่าเกือบทั้งหมดคือชีวิตเดียวกันที่กลับชาติมาเกิดต่างภพต่างกาลเวลา อย่างไรก็ดี ทุกชีวิตล้วนเกี่ยวเนื่องกันในเชิงภาพสะท้อนของสังคม ให้เห็นถึงสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ในการแก่งแย่งชิงดี เอาเปรียบผู้ด้อยกว่าเสมอเมื่อมีโอกาส

กลวิธีการเล่าเรื่องของนิยายเรื่องนี้น่าสนใจมาก คล้ายกับตุ๊กตารัสเซียที่มีตุ๊กตาซ้อนตุ๊กตาไปเรื่อยๆ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกค้างคาใจหยุดอ่านไม่ได้ และเพิ่มความซับซ้อนในการทำความเข้าใจมากขึ้น

เนื้อเรื่องเริ่มต้นด้วยยุคล่าอาณานิคม บันทึกท่องแปซิฟิกของอดัม อีวิง กล่าวถึงการโดยสารเรือไปทวีปอเมริกาของทนายความของคนหนึ่ง ผู้เขียนบันทึกประสบการณ์สะท้อนการกดขี่ชนชาติพื้นเมืองของราชอาณาจักร เมื่อเล่าไปได้ถึงกลางเรื่อง เนื้อเรื่องก็ตัดเข้าสู่ยุคถัดไป ตอนต้นของศตวรรษที่ 20 จดหมายจากเซเดลเกม กวีหนุ่มนักแสวงโชคใช้เล่ห์เหลี่ยมของตนเองถีบตนเข้าสู่สังคมผู้ดี ผู้อ่านรับรู้เหตุการณ์ทุกอย่าง ภาวะตกเป็นเบี้ยล่างของกวีหนุ่มผ่านทางจดหมายหลายฉบับ เช่นกัน เมื่อเรื่องดำเนินไปถึงจุดกึ่งกลาง เนื้อหาก็ตัดเข้าสู่ยุคที่สาม ปลายศตวรรษที่ 20 ครึ่งชีวิต-เรื่องลึกลับครั้งแรกของหลุยซา เรย์ นักข่าวสาวผู้สืบค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมปริศนา แลผลประโยชน์ฉ้อโกงของบริษัทด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ และต้องต่อสู้กับอำนาจมืดอันน่าสะพรึงไปด้วย

ไม่ทันที่ผู้อ่านจะได้พบกับบทสรุปของชะตากรรมนักข่าวสาว เนื้อเรื่องก็ตัดมายังยุคปัจจุบัน ต้นศตวรรษที่ 21 วิบากกรรมสยองของทิโมธี คาเวนดิช เล่าเรื่องบรรณาธิการชรา ผู้ถูกน้องชายหลอกให้ไปอยู่ในบ้านพักคนชรา เขาจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อหลบหนีจากสถานที่ดังกล่าว จากนั้นก็มีการตัดฉากไปยุคอนาคต คำให้การของซอนมี-451 มนุษย์สังเคราะห์ที่เกิดการวิวัฒน์ทางปัญญา มีความตระหนักรู้ และลุกขึ้นก่อกบฏมนุษย์ผู้สร้าง ผู้กดขี่มนุษย์สังเคราะห์สเมือนสิ่งมีชีวิตที่ต่ำต้อยกว่า ภายใต้ความร่วมมือของมนุษย์กลุ่มหนึ่ง ถูกสอบสวนและบันทึกข้อความทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอลงไป เนื้อเรื่องยังไม่จบก็ตัดเข้าสู่ยุคสุดท้าย หลังอารยธรรมล่มสลาย ช่องสลูชาและเรื่องต่อมาหลังจากนั้น กล่าวถึงมนุษย์ในยุคที่สูญสิ้นอารยธรรม มนุษย์ที่มีความรู้ สติปัญญาหลงเหลืออยู่น้อยมาก เฝ้าตามหา ศึกษาชนเผ่าบนเกาะต่างๆ ท่ามกลางการต่อสู้ ล่าอาณานิคมระหว่างชนเผ่า

ทั้งหกเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร? บันทึกการเดินทางของอดัม อีวิงถูกอ่านต่อโดยโรเบิร์ต โฟรบิเชอร์ กวีหนุ่มนักแสวงโชคที่เขียนจดหมายติดต่อกับเพื่อนสนิทนักฟิสิกส์นามซิกสมิทซ์ นักฟิสิกส์คนดังกล่าวเมื่อชราลงถูกฆาตกรรมในคดีที่นักข่าวสาวหลุยซา เรย์ติดตาม เธอจึงมีโอกาสได้อ่านจดหมายดังกล่าว ต่อจากนั้นเรื่องราวของหลุยซา เรย์ก็กลายเป็นต้นฉบับหนังสือเรื่องใหม่ของทิโมธี คาเวนดิซ ขณะเดียวกันการผจญภัยของคาเวนดิซก็กลายเป็นภาพยนตร์สามมิติที่ซอนมี-451 ได้ดูและเกิดแรงบันดาลใจบางประการ และสุดท้ายบันทึกคำให้การของซอนมี-451 ก็กลายเป็น"วัตถุพลังฉลาด"ที่หลงเหลืออยู่ในยุคหลังอารยธรรม

เนื้อเรื่องแต่ละยุคสมัยมีเหตุต้องก้าวกระโดดไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากแต่ละตัวละครมีเหตุที่ทำให้อ่าน/รับรู้เนื้อหาชีวิตของบุคคลในยุคก่อนหน้าไม่จบ ดังนั้นหากเราอ่านตาม"หน้ากระดาษ"ก็จะเริ่มต้นที่ บันทึกท่องแปซิฟิกของอดัม อีวิง ต่อด้วย จดหมายจากเซเดลเกม, ครึ่งชีวิต-เรื่องลึกลับครั้งแรกของหลุยซา เรย์, วิบากกรรมสยองของทิโมธี คาเวนดิช, คำให้การของซอนมี-451, ช่องสลูชาและเรื่องต่อมาหลังจากนั้น เฉพาะเรื่องสุดท้ายเท่านั้นที่เนื้อหาจบครบถ้วนในตอน จากนั้นจึงเติมเนื้อหาของตอนที่แล้วมาให้ครบถ้วน คำให้การของซอนมี-451, วิบากกรรมสยองของทิโมธี คาเวนดิช, ครึ่งชีวิต-เรื่องลึกลับครั้งแรกของหลุยซา เรย์, จดหมายจากเซเดลเกม และบันทึกท่องแปซิฟิกของอดัม อีวิง ตามลำดับ


อย่างไรก็ดี มีวิธีอ่านอีกแบบหนึ่งคือ การอ่านให้จบๆเป็นยุคไป ซึ่งต้องอาศัยการอ่านกระโดดข้ามหน้ากระดาษไปมา อันเป็นวิธีที่จขบ.เลือกใช้ครับ




 

Create Date : 13 เมษายน 2553    
Last Update : 13 เมษายน 2553 22:10:10 น.
Counter : 8940 Pageviews.  

The Martian Chronicles: จดหมายเหตุจากชาวอังคาร



ผู้คนจากพิภพมาสู่ดาวอังคาร-เขาพากันมาสู่ดวงดาวนี้เพราะเกิดความหวาดกลัว หรือเพราะความไม่รู้จักกลัว มาเพราะมีความสุขหรือเพราะไร้ความสุข ทุกคนล้วนมีเหตุผลของตนเอง อาจจะมาเพื่อสลัดทิ้งเรื่องราวบางประการหรือมาเสาะหาอะไรบางอย่าง มาขุดค้นเรื่องราวบางประการหรือไม่ก็เอาเรื่องราวบางอย่างมาฝังเสียบนนี้ บางคนอาจมาพร้อมกับความฝันหรือไม่ก็มากันเรื่อยๆเปื่อยๆไปอย่างนั้นเอง

The Martian Chronicles เป็นหนึ่งในสองนิยายวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดของโดย Ray Bradbury นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์แนวเสียดสีสังคมนามอุโฆษ ผู้เขียน Farienhite 451 (อีกหนึ่งที่เหลือ)

Farienhite 451 ฉบับแปลไทยยังพอหาซื้ออ่านได้บ้าง แต่ The Martian Chronicles นี่หายากมากครับ ผมสอยเล่มนี้ได้จากร้านหนังสือเก่าด้วยราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ (เจ้าของร้านคงไม่รู้ว่ามันเป็นหนังสือที่หาได้ยากมาก)

The Martian Chronicles: จดหมายเหตุจากชาวอังคาร กล่าวถึงเรื่องของมนุษย์ชาวดาวอังคาร--ผู้มีผิวกายสีน้ำตาล ใช้หน้ากากแสดงความรู้สึกแทนใบหน้า มีพลังจิต มีสังคม มีอารยธรรมเช่นเดียวกันกับชาวพิภพ--มนุษย์โลก นิยายกล่าวถึงการเสื่อมสลายของอารยธรรมดาวอังคารที่เกิดขึ้นอย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไปโดยการแทรกแซงด้วยอารยธรรมจากพิภพที่ขึ้นมายึดครอง

ที่ชอบมากคือกลวิธีนำเสนอเรื่อง--ในนิยายเล่มนี้ประกอบด้วยเรื่องสั้นย่อยๆหลายเรื่อง แต่ละเรื่องมีตัวละครที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เป็นอิสระต่อซึ่งกันและกัน แต่เมื่อนำมาร้อยเรียงต่อกันแล้วกลับทำให้เราเข้าใจความเป็นไปทั้งหมดของชาวดาวอังคาร

ตอนที่ผมชอบมากคือ ปี 2000: การเดินทางครั้งที่สาม เมื่อยานอวกาศจากพิภพลงจอดบนดาวอังคาร นักบินอวกาศลูกเรือกลับพบว่าดาวอังคารมีสภาพเหมือนรัฐไอโอวา--บ้านเกิดของพวกเขาในค.ศ. 1950 ไม่มีผิดเพี้ยน พวกเขาได้เดินทางย้อนเวลากลับมา... หรือพวกเขาตายแล้วและที่นี่คือสวรรค์หาใช่ดาวอังคาร... หรือที่นี่คือดาวอังคารและมีมหันตภัยบางอย่างที่รอพวกเขาอยู่...

ปี 2001: ชาวอังคารคนสุดท้าย เมื่อยานอวกาศลำที่สี่มาเยือนดาวอังคารที่อารยธรรมล่มสลายเนื่องจากชาวดาวอังคารต่างล้มตายด้วยโรคระบาดจากมนุษย์ไปหมดแล้ว พวกเขาพากันสำรวจ บันทึก ร้องรำทำเพลงบนซากอารยธรรมเหล่านั้น...ที่ไม่มีความหมายอีกต่อไป...อีกไม่กี่ปีผ่านไป ดาวอังคารจะเป็นของพิภพ...ชาวพิภพจะมายึดครองดาวอังคาร แต่พวกเขาไม่รู้ว่ายังมีชาวดาวอังคารคนสุดท้ายอยู่--อยู่ในคราบของพวกเขาคนหนึ่ง...

ปี 2002: ตั๊กแตน การเผชิญหน้ากันยามค่ำคืนของชาวพิภพและชาวดาวอังคารบนถนนสายหนึ่งที่ปลายด้านหนึ่งทอดไปสู่แสงสีของเมืองชาวพิภพและอีกด้านหนึ่งทอดสู่ความรุ่งเรืองของชาวดาวอังคารที่เคยดำรงอยู่ในอดีต และคำถามเชิงปรัชญาว่าปัจจุบันของใครกันเล่าที่มีอยู่จริง

เรย์เขียนนิยายนี้ได้งามจับใจ ประเด็นทางวิทยาศาสตร์อาจไม่มากเท่าประเด็นทางปรัชญาที่แฝงอยู่ เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ เราจะรู้ถึงธาตุแท้--สันดานของชาวพิภพ และเกิดความเห็นอกเห็นใจชาวดาวอังคารอยู่ลึกๆ

...เมื่อวันที่ยานอวกาศไวกิ้งถูกส่งจากโลกขึ้นไปร่อนลงบนดาวอังคารสำเร็จ เรย์ถูกนักข่าวสัมภาษณ์ในฐานะที่เขาเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับเรื่องดาวอังคารว่า

"คุณแบรดเบอรี่ คุณเป็นคนเขียนเรื่องชีวิตบนดาวอังคารมาตลอดเวลา บัดนี้ ภาพถ่ายภาพแรกจากดาวอังคารปรากฏออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีชีวิตอยู่บนดาวอังคารอย่างแน่นอน อยากถามว่าคุณมีความรู้สึกอย่างไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้"

...เขาตอบผู้สัมภาษณ์ว่า

"โง่ไปได้ มีซิคุณ ชีวิตบนดาวอังคารก็คือชีวิตพวกเราๆนี่แหละ" ...




 

Create Date : 31 มกราคม 2552    
Last Update : 31 มกราคม 2552 13:39:24 น.
Counter : 1416 Pageviews.  

Path of Fujiko F. Fujio #1-2

Path of Fujiko F. Fujio เป็นหนังสือการ์ตูนรวบรวมผลงาน Sci-fi ของนักเขียนการ์ตูนชื่อดัง อ. Fujiko F. Fujio (ปัจจุบันวางตลาดแล้ว 2 เล่ม) หาก Doraemon เป็นการ์ตูนสนุกสนาน วัยสดใส หนังสือเล่มนี้ก็เป็นด้านตรงข้าม เพราะแสดงให้เห็นถึงด้านมืดของจินตนาการที่แสดงออกด้วยลายเส้นน่ารักแบบเดียวกับที่เราเห็นใน Doraemon ไม่มีผิดเพี้ยน

Path of Fujiko F. Fujio ประกอบด้วยการ์ตูนสั้นๆแนว fantasy/sci-fi ซึ่งแต่ละตอนเป็นเอกเทศต่อกัน เนื้อหาบางตอนเข้าใจยากและแฝงประเด็นทางปรัชญาลึกซึ้ง อีกทั้งแฝงความรุนแรงและเสียดสีประเด็นทางสังคมอย่างชัดเจน จึงไม่เหมาะกับเด็กเล็กเท่าไรนัก




(รูปจากเว็บ //www.siamintercomics.net)



คุณซูเปอร์ เด็กหญิงคนหนึ่งได้รับพลังซูเปอร์แมนมา ด้วยความสับสนและไม่เป็นตัวของตนเอง เธอไม่รู้จะทำตัวอย่างไร ได้แต่ให้คนอื่นคอยชี้แนะถึงภาระหน้าที่ที่ซูเปอร์แมน(เกิร์ล)ต้องทำ กับตอนจบที่แฝงนัยยะของการตกเป็นเหยื่อระบอบทุนนิยมของหนุ่มสาวสมัยใหม่

จานมิโนทาวรอส ตอนนี้เย้ยหยันหลักทางศีลธรรมของมนุษย์อย่างเลือดเย็น ว่าด้วยนักบินอวกาศนายหนึ่งตกไปอยู่บนดาวที่มีวัวเป็นผู้ปกครอง คนกลายเป็นข้าทาสบริวารรวมถึงเป็น “อาหาร” ด้วย เขาตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่งที่กำลังจะถูกบูชายันเป็นอาหารเลี้ยงชนชั้นปกครองในงานเทศกาลประจำปี เขาพยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยหญิงสาวที่รัก...แต่ทว่า ทุกคนในดาวนี้มองเป็นเรื่องธรรมดา และเจ้าหล่อนก็ “เต็มใจ” ที่จะเป็น “ผู้ถูกกิน” ตอนที่ตบหน้าผู้อ่านอย่างจังก็เมื่อ โคแมนพูดกับมนุษย์อวกาศว่า “แล้วดาวของท่านไม่กินวัวหรอกหรือ...”

คุณโขะอิเขะ นักแก้ปัญหา ชายผู้รักความยุติธรรม และความถูกต้องเหนือสิ่งอื่นใดได้อำนาจที่จะทำสิ่งใดๆก็ได้ในโลกนี้เหมือนเป็นยอดมนุษย์ แต่ก็ต้องต่อสู้กับกิเลส และโทสะในใจตน ดูแล้วเหมือนคิระในเดธโน้ตอย่างไรไม่รู้

เชือดนิ่มๆ ผมค่อนข้างชอบตอนนี้นะ เพราะเสียดสีหลักศีลธรรม (อีกแล้ว) ได้ดีมาก อันที่จริงดี-เลวมีจริงหรือมนุษย์กำหนดขึ้นเองเล่า ...ชายคนหนึ่งปรึกษากับจิตแพทย์เกี่ยวกับภาพหลอนที่เขาคิดว่าตนเองสร้างขึ้น เมื่อเขาตื่นขึ้นมาพบว่าโลกนี้ การกินอาหารเป็นเรื่องน่าอับอายแต่เพศสัมพันธ์กลับเป็นเรื่องเปิดเผย และการ “ฆ่า” ใครสักคนไม่ใช่เรื่องผิดบาป หากแต่เป็นสิทธิ์ที่โอนกันได้ระหว่างบุคคล....

มีหลักฐานหลายครั้งที่แสดงให้เห็นว่าอ. Fujiko F. Fujio มองอนาคตของโลกเป็นแบบ Dystopia (อนาคตของโลกมนุษย์แบบเลวร้าย) กล่าวคือ ประชากรล้นโลก ผู้คนขาดศีลธรรม อาหารขาดแคลน ซึ่งหนึ่งในหลักฐานนั้นคือเรื่องสั้น เกษียณอายุการกิน เมื่อผู้ที่อยู่ในวัยชราจะถูกจำกัดสิทธิการรับประทานอาหาร หักล้าง การควบคุมประชากรโลกโดยการฆาตกรรมกันเอง...

ผลงานบางชิ้นของอ. Fujiko F. Fujio อยู่ในขั้นที่เรียกว่าก้าวพ้นขอบเขตของการ์ตูน กล่าวคือ เราสามารถดัดแปลงมันนิยายหรือหนังสั้นดีๆเรื่องหนึ่งได้เลย รากไม้ล้ม เป็นการ์ตูนแนวตลกร้ายและชวนให้นึกถึงนิยายแนวฆาตกรรมของ Agatha Christie ขณะที่ อะไรบางอย่าง เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของภาพยนตร์เรื่อง Matrix ได้ทีเดียว ว่าด้วยชายคนหนึ่งผู้สงสัยการดำรงอยู่ของตนเอง ทุกสิ่งที่เขาเห็นรอบกายเป็นสสารที่มีจริงหรือแท้จริงแล้วแค่ภาพมายาที่สร้างขึ้นจากจิตใจเขาเอง

ผลงานของอ. Fujiko F. Fujio มีลักษณะเป็นผลงานคลาสสิค กล่าวคือ แม้เวลาผ่านไปนานแล้วก็ยังไม่ล้าสมัย ผู้ที่เป็นแฟนตัวยงของผู้เขียน Doraemon และยอมรับได้ที่จะเห็นด้านมืดของนักเขียนผู้นี้ จึงไม่น่าพลาดการ์ตูนเล่มนี้ด้วยประการทั้งปวงครับ





 

Create Date : 05 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 5 พฤษภาคม 2551 20:33:54 น.
Counter : 3161 Pageviews.  

His dark materials trilogy: The Golden Compass ว่าด้วยฝุ่นธุลี

หมายเหตุ บทความนี้สปอยแบบเต็มๆ หากไม่ต้องการรู้เนื้อเรื่อง ข้ามไปอ่านบทความอื่นๆดีกว่าครับ ^^



ฝุ่นธุลี (The dust) เป็นวัตถุหนึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่สุดในนิยายไตรภาคเรื่องนี้ ฝุ่นธุลีในโลกไลรารู้จักกันในนามของอนุภาครูซาคอฟ (Rusakov particles) หรือซราฟ (sraf) ในโลกของมูเลฟา และอนุภาคเงา/สสารมืด (Dark matter)ในโลกของเรา

ในโลกแห่งความจริง...นักฟิสิกส์ในโลกของเราค้นพบว่าในจักรวาลของเราไม่ได้ประกอบขึ้นมาจากวัตถุที่เรามองเห็นอย่างเดียว...ในบรรดาสสารที่เรารู้จักและมองเห็นนั้นเป็นองค์ประกอบไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสสารทั้งหมดในจักรวาล จักรวาลประกอบด้วยสสารมืดเป็นจำนวนมาก สสารมืดไม่ปลดปล่อยและ/หรือสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าใดๆ ทำให้เราไม่อาจ"มองเห็น"สสารเหล่านี้ได้ แต่รับรู้การมีอยู่ของมันได้จากแรงดึงดูดของมันที่ยึดเหนี่ยวสสารอื่นๆในจักรวาลไม่ให้ขยายตัวไปอย่างรวดเร็วตามสมการที่นักฟิสิกส์เคยทำนายไว้ (gravitational effects)

นักฟิสิกส์อธิบายกำเนิดของสสารมืดว่ามีจุดเริ่มต้นเดียวกับสสารที่มองเห็น (visible matter) ในตอนกำเนิดจักรวาล (Big bang) แต่ความรู้ส่วนใหญ่เกี่ยวกับสสารมืดยังเป็นปริศนา...

ในโลกของไลรา ศาสนจักรรับรู้เรื่องราวของสสารมืดในนามของ "ฝุ่นธุลี" จากพระคัมภีร์และตำนานโบราณ นักเทววิทยาเชิงทดลอง (หรือเทียบเคียงกับนักวิทยาศาสตร์ในโลกของเรา) ค้นพบอนุภาค "ฝุ่นธุลี" และสามารถมองเห็นมันได้จากการถ่ายรูปโดยใช้สารเคมีชนิดหนึ่งล้างฟิล์ม

นักเทววิทยาเชิงทดลองอธิบายว่าฝุ่นธุลีเป็นอนุภาคมูลฐานชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับ อิเล็คตรอน โพรซิตรอน โปรตอน... ฝุ่นธุลีมีอยู่ในทุกๆที่ ไหลลงมาจากท้องฟ้าเบื้องบน และลอร์ดเอสเรียล (Lord Asriel) อ้างว่ามันไหลมาจากโลกคู่ขนานอื่นๆอีกด้วย

ฝุ่นธุลีจะเกาะเหนี่ยวแน่นกับสิ่งมีชีวิตที่มีสำนึกรู้ในวัยผู้ใหญ่และเชื่อมโยงระหว่างภูติกับเจ้าของ ขณะที่ไม่เกาะติดกับเด็ก ด้วยเหตุนี้...ศาสนจักร (ในภาพยนตร์พยายามเลี่ยงใช้คำนี้โดยเปลี่ยนเป็น "คณะปกครอง"-คปค. แทน) จึงมองฝุ่นธุลีเป็นสิ่งชั่วร้ายโดยประกอบกับข้อความในพระคัมภีร์...อาดัมและอีวาถูกล่อลวงด้วยฝุ่นธุลี ทำให้พระเจ้าเนรเทศออกจากสรวงสวรรค์...ฝุ่นธุลีเป็นตัวแทนของบาป เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเด็กที่มีจิตใจบริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นผู้ใหญ่ที่คิดและกระทำสิ่งชั่วร้าย...

ฉะนั้น ไม่น่าแปลกใจที่ศาสนจักรจะกระทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดฝุ่นธุลี

แต่แท้จริงแล้ว ฝุ่นธุลีในนิยายไตรภาคนี้สื่อถึงอะไร? ฝุ่นธุลีเป็นตัวแทนของ สำนึก ปัญญา ของสิ่งมีชีวิตในทุกจักรวาล เมื่อไลราเข้ามาในโลกของวิล-โลกของเรา และพบกับแมรี่ มาโลน (Mary Malone-อดีตแม่ชี นักฟิสิกส์อนุภาค) เธอได้อธิบายให้ไลราฟังการค้นพบของเธอเกี่ยวกับอนุภาคเงา...อนุภาคเหล่านี้จะเกาะติดกับวัตถุทุกชนิดที่ประดิษฐ์คิดค้นโดยมนุษย์เป็นต้นว่า "ไม้บรรทัด"เต็มไปด้วยอนุภาคเงาแต่"เนื้อไม้"ไม่มีอนุภาคเงาเกาะติด

ฝุ่นธุลี/อนุภาคเงา/สสารมืดแท้จริงเป็นชื่อเรียกของ สสารที่เรียนรู้ตนเอง สสารรู้สสารและรักสสาร กำเนิดเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญา...สิ่งมีชีวิตที่รู้จักแยกแยะความดีงาม-ความชั่วร้าย สิ่งที่ควรกระทำ-ไม่ควรกระทำ รู้จักตั้งคำถาม...และค้นหาคำตอบ สิ่งมีชีวิตที่มีอิสระในความคิด มีเจตจำนงเสรีที่จะกระทำสิ่งต่างๆที่เจริญและดีงาม

ศาสนจักรมุ่งกระทำตามเจตจำนงเดียวกับผู้สร้าง (The Authority-เทวทูตองค์แรกหรือสิ่งมีชีวิตที่มีสติสำนึกรู้ตนแรกของมหจักรวาลที่ถือกำเนิดจากการควบแน่นของฝุ่นธุลี...ผู้ซึ่งอ้างตนแก่สิ่งมีชีวิตอื่นที่เกิดตามมาว่าเป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง) คือการทำลายฝุ่นธุลี เพื่อให้สิ่งมีชีวิตทั้งหมดหมดสิ้นสติปัญญา ไร้เรี่ยวแรงที่จะขัดขืน...ใช้ชีวิตตามโชคชะตาที่กำหนดโดยบุคคลเดียวโดยไม่มีข้อโต้แย้ง...

หากแต่ชะตากรรมของฝุ่นธุลียังไม่สิ้นหวัง เนื่องจาก ไลราและวิล ตัวแทนจากสองโลก ตัวแทนของสิ่งมีชีวิตที่มีสติสำนึกรู้ทั้งหมด...เด็กทั้งสองจะปกป้องฝุ่นธุลี!!




 

Create Date : 16 ธันวาคม 2550    
Last Update : 16 ธันวาคม 2550 13:24:55 น.
Counter : 1028 Pageviews.  

1  2  

มีชีวิตบนดาวอังคารหรือเปล่านะ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]






....โลกมนุษย์นี้ไม่มีที่แน่นอน
ประเดี๋ยวเย็นประเดี๋ยวร้อนช่างแปรผัน
โชคหมุนเวียนเปลี่ยนไปได้ทุกวัน
สารพันหาอะไรไม่แน่นอน
ชีวิตเหมือนเรือน้อยล่องลอยอยู่
ต้องต่อสู้แรงลมประสมคลื่น
ต้องทนทานหวานสู้อมขมสู้กลืน
ต้องจำฝืนสู้ภัยไปทุกวัน
เป็นการง่ายยิ้มได้ไม่ต้องฝืน
เมื่อชีพชื่นเหมือนบรรเลงเพลงสวรรค์
แต่คนที่ควรชมนิยมกัน
ต้องใจมั่นยิ้มได้เมื่อภัยมา


พันตรีหลวงวิจิตรวาทการ





เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา
จงเลือกเอาสิ่งที่ดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู
เรื่องที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
จะหาคนที่มีดีเพียงส่วนเดียว
อย่าเที่ยวเสาะหาสหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเล่าเอย
ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง

หลวงพุทธทาส





ชีวิตใกล้ปัจฉิมวัย ไม่เป็นไปตามแผนการเมื่อปฐมวัย อะไรที่ยิ่งใหญ่เมื่อเช้า เป็นของเล็กน้อยเมื่อเย็น อะไรที่เป็นสัจจะเมื่อแดดจ้า กลายเป็นมายาเมื่อยามพลบ

We cannot live the afternoon if life
according to the program on life’s morning; for what was great in the morning will be little at evening, and what in the morning was true will at evening have become a lie.



C.G. Jung.




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add มีชีวิตบนดาวอังคารหรือเปล่านะ's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.