คนเกิดวันพุธ ความทุกข์โถมทับทวี
หากโลกนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม... (2)

21 พ.ย. ยุคออร์โดวีเชียน (Ordovician period)
510 ล้านปีที่แล้ว


ถึงแม้บรรยากาศจะเริ่มมีก๊าซออกซิเจนแล้ว ก็ยังไม่มีสิ่งมีชีวิตอาจหาญขึ้นบก เนื่องจากผนังโอโซนที่ยังบางเบาไม่สามารถกรองรังสี UV ได้มากพอ ต้องรอไปถึงปลายยุคดีโวเนี่ยนนู่นเลยครับ กว่าจะมีสิ่งมีชีวิตที่ซ่าขึ้นตะลุยแผ่นดิน ดังนั้นทะเลก็ยังคงเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล

ต้นยุคออร์โดวีเชียนเกิดเหตุการณ์สำคัญคือการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกอันเนื่องมาจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นจนเกิดพื้นที่ตื้นเขินจำนวนมาก ซึ่งสิ่งมีชีวิตก็ไม่รอช้าที่จะแพร่ขยายไปครอบครองพื้นที่ดังกล่าว เกิดแนวปะการังทั่วทุกชายฝั่งทะเล

สัตว์จำพวกหนอนทะเลต่างพากันสูญพันธุ์ไปจนหมดสิ้น ขณะที่ตัวไทรโบไลต์ยังคงมีให้เห็นเต็มไปหมด และยังวิวัฒนาการเพิ่มขนาดตัวเองให้ใหญ่โตขึ้นอีกต่างหาก

ออร์โดวีเชียนเป็นยุคของหอยและปลาหมึก (Cephalopods) และสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลังครับ





วันที่ 27 พ.ย. ยุคไซลูเรียน (Silurian period)
439 ล้านปีที่แล้ว


ปลาไม่มีขากรรไกรและมีเกราะหุ้มหัว (ostracoderm) เกิดขึ้นครั้งแรกในยุคนี้ สัตว์อีกตัวที่น่าสนใจก็คือแมงป่องยักษ์แห่งท้องทะเล (Eurypterids) ซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง 2 เมตรและใช้ก้ามขนาดมหึมาในการล่าเหยื่อ นับเป็นฝันร้ายของปลาขนาดเล็กในยุคนั้น




ostracoderm ไม่มีขากรรไกรและมีเกราะหนา ปากที่ไม่มีขากรรไกรใช้วิธีดูดหาอาหารตามพื้นท้องทะเล





Eurypterids แมงป่องยักษ์นักล่าแห่งท้องทะเล



ปลาไม่มีขากรรไกรเป็นสัตว์ที่ดูเทอะทะ เนื่องจากมันต้องแบกเกราะหนักเหมือนนักรบติดตัวไปด้วย เพื่อประโยชน์ในการป้องกันแต่ก็เป็นข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ทำให้เคลื่อนที่ได้ช้ามาก อีกทั้งยังไม่มีครีบข้างด้วย (ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายล้านปีกว่าจะวิวัฒนาการมันขึ้นมา)





ในปลายยุคนี้ ปลามีขากรรไกร (placoderm) วิวัฒนาการขึ้นมาแทนที่ ขากรรไกรได้เปลี่ยนลักษณะการกินอาหารของปลาจากเดิมที่เคย “ดูด” ก็เปลี่ยนเป็น “งับ” แทน เกราะที่เคยหนาหนักก็เปลี่ยนเป็นเกราะเบาซึ่งจะเป็นต้นแบบของเกล็ดปลาในเวลาต่อมา

ที่น่าสนใจคือ ในยุคนี้พืชได้พัฒนาระบบท่อลำเลียง (psilopid) และรุกคืบไปบนบก ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของโลกในเวลาต่อมาครับ


วันที่ 30 พ.ย. ยุคดีโวเนี่ยน (Devonian period)
408 ล้านปีที่แล้ว


ยุคดีโวเนี่ยนคือยุคแห่งปลาอย่างแท้จริง เนื่องจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกทำให้พื้นทะเลถูกดันขึ้นสูงเป็นภูเขา ในขณะที่พื้นดินทรุดตัวกลายเป็นก้นทะเล พวกปลาจึงได้วิวัฒนาการแตกแขนงออกไปมากมายทั้งปลาน้ำจืดและน้ำเค็ม ปลามีขากรรไกรเข้ามาแทนที่ปลาไม่มีขากรรไกร และยังปรากฏปลากระดูกอ่อน (chondrichthyes) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของปลาฉลาม และปลากระดูกแข็ง (osteichthyes) ตามมาอีกด้วย

บรรยากาศโลกที่ร้อนมากขึ้นทำให้แม่น้ำบางแห่งเหือดแห้งลง ปลาบางชนิดพัฒนาถุงลมเพื่อช่วยในการหายใจและการลอยตัวในน้ำ ปลาบางชนิดพัฒนาครีบเพื่อเคลื่อนไหวบนพื้นดินซึ่งจะวิวัฒนาการเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในเวลาต่อมา

ขณะเดียวกัน ปริมาณรังสีที่ลดลงเนื่องจากชั้นโอโซนที่หนาแน่นมากขึ้น ทำให้เหล่าพืชเริ่มก้าวขึ้นไปบนบกตามเห็ดราที่ได้บุกเบิกไปก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่ใช่ของง่าย พวกมันต้องพัฒนาผนังเซลล์ที่หนาเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ พัฒนาระบบค้ำจุนเพื่อต้านทานแรงโน้มถ่วงของโลก พัฒนาใบเพื่อให้รับแสงแดดได้เต็มที่ พัฒนายุทธวิธีหายใจ (Stomata--รูปากใบ) เพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในโครงสร้าง และพัฒนาระบบรากที่สลับซับซ้อนเพื่อค้ำจุนและเจาะทะลุพื้นดินเพื่อหาแหล่งน้ำและแร่ธาตุ เหล่าพืชยุคบุกเบิกที่มีพลังชีวิตที่เข้มแข็งและผ่านการปรับตัวต่างๆนานาเท่านั้นที่จะผงาดยืนอยู่บนบกได้ อย่างไรก็ตาม พืชในยุคดีโวเนียนยังคงเป็นพืชโบราณที่แพร่พันธุ์โดยใช้สปอร์เป็นหลัก ขณะที่พืชมีเมล็ดก็พบได้บ้างและมีข้อได้เปรียบในการสืบพันธุ์มากกว่าครับ




ท้องทะเลในยุคดีโวเนี่ยนถูกครอบครองด้วยปลา



ขณะที่ในทะเลถูกเหล่าปลามีขากรรไกรยุคแรกยึดครอง ชายทะเลที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยเศษซากอินทรีย์ต่างๆก็เรียกให้เหล่าแมลง (Arthropods) หรือสัตว์ที่มีข้อปล้องรุกคืบขึ้นบนบก กิ้งกือ ตะขาบ ปู กุ้ง แมงดาทะเล เป็นสิ่งมีชีวิตทัพแรกที่อาจหาญขึ้นบก เก็บกินซากสวะที่ถูกพัดพามาด้วยลมทะเล ขยะที่เปียกชุ่มทำให้พวกมันไม่ต้องกลัวว่าผิวหนังจะหแง และค่อยๆวิวัฒนาการให้ร่างกายทนต่อความแห้งแล้งบนบกได้มากขึ้น ขาแบบข้อปล้องทำให้มันรับน้ำหนักของร่างกายได้โดยไม่ต้องอาศัยน้ำในการพยุงตัว

ในทะเลเต็มไปด้วยปลาที่แก่งแย่งอาหารกัน ส่วนบนบกเต็มไปด้วยแมลง กดดันให้เกิดสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำวิวัฒนาการขึ้นมาหาอาหารจำพวกแมลงบนบก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในยุคแรกยังคงมีร่องรอยของปลาเหลืออยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นช่องเหงือก ครีบหาง ขาที่พัฒนามาจากครีบข้าง


วันที่ 2 ธ.ค. ยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous period)
362 ล้านปีที่แล้ว


ยุคคาร์บอนิเฟอรัสรู้จักกันดีในชื่อ “ยุคถ่านหิน” เนื่องจากโลกในขณะนั้นเต็มไปด้วยป่าไม้สูงผงาด (lepidodendron สูงถึง 50 เมตร) เต็มไปหมด ซึ่งเป็นพวก คลับมอส (clubmoss) และแส้หางม้า (horse tail) เสียส่วนใหญ่ พืชเหล่านี้ยังคงขยายพันธุ์ด้วยวิธีโบราณคือใช้สปอร์

ในแต่ละครั้งที่เกิดพายุหรือแผ่นดินไหว พืชเหล่านี้จะโค่นล้มลงมาและถมทับ ย่อยสลายภายใต้แรงอัดจากพืชที่อยู่ด้านบนแปรสภาพเป็นถ่านหินและน้ำมันเชื้อเพลิงที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน





ขณะเดียวกัน เหล่าแมลงก็วิวัฒนาการขึ้นมากมายทั่วผืนป่าทั้ง แมงมุม แมงป่อง ตะขาบ ตั๊กแตน แมลงปอ (ใช่แล้ว แมลงเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่เอาชนะแรงโน้มถ่วงโลก มันบินได้) และแมลงสาป (สัตว์เลี้ยงแสนรักของห้องหว้ากอ) ที่น่าประหลาดคือแมลงเหล่านี้มีขนาดมหึมาเช่นเดียวกับเหล่าพืช แมลงสาปตัวยาวเป็นฟุต แมลงปอมีปีกกว้าง 2 ฟุต ตะขาบตัวยาวกว่า 2 เมตร

สมมติฐานที่เป็นไปได้คือ ยุคคาร์บอนิเฟอรัส บนบกมีความอุดมสมบูรณ์ ปราศจากสัตว์ที่จะมาแก่งแย่งอาหาร อีกทั้งบรรยากาศโลกในขณะนั้นน่าจะมีก๊าซออกซิเจนหนาแน่นกว่าปัจุบัน ทำให้เหล่าแมลงเผาผลาญพลังงานได้อย่างสมบูรณ์

เหล่าสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำก็ไม่ยอมแพ้ พวกมันวิวัฒนาการให้อยู่บนบกและทนต่อความแห้งแล้งมากขึ้น สุดท้ายก็แตกแขนงแยกสายวิวัฒนาการออกไปเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งมีชัยชนะอย่างสมบูรณ์ในการอาศัยบนบก การออกไข่เป็นฟองที่มีเปลือกหุ้มแข็งแรงเก็บกักความชื้นไว้ได้เป็นข้อได้เปรียบในการสืบพันธุ์บนบกเมื่อเทียบกับการกลับไปวางไข่บนแหล่งน้ำของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ


วันที่ 8 ธ.ค. ยุคเปอร์เมี่ยน (Permian period)
290 ล้านปีที่แล้ว

ยุคนี้มีความผันแปรทางกายภาพของโลกอย่างมาก มีทั้งความแห้งแล้ง และความหนาวเย็นเป็นช่วงๆ ผืนโลกเคลื่อนที่มาประกบกันเป็นแผ่นเดียวคือ แพนเจีย (Pangea) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ สัตว์กว่า 90 เปอร์เซ็นต์หายไปจากโลกนี้ ทั้งพืช สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเช่น ไทรโลไบต์ ดอกไม้ทะเล สัตว์มีกระดูกสันหลังเช่น ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอีกหลายชนิด

สิ่งมีชีวิตที่เหลือต้องปรับตัวให้เข้ากับความแปรปรวนของโลก แมลงปรับตัวให้มีขนาดที่เล็กลง มีวงจรชีวิตที่สั้นแต่ซับซ้อนเช่น metamorphosis สัตว์เลื้อยคลานวิวัฒนาการขึ้นหลากหลายมากในช่วงนี้





นักชีววิทยาได้แบ่งสัตว์เลื้อยคลานในยุคนี้ออกเป็น 4 กลุ่มคือ

(1) Anapsids เป็นพวกโบราณที่สุด ไม่มีช่องเปิดหลังดวงตา ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเต่า ตะพาบในปัจุบัน
(2) Synapsids มีช่องเปิดหลังดวงตาหนึ่งช่องและส่วนใหญ่มีแผงกระโดงที่หลัง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นต้นกำเนิดของสัตว์ที่มีขนปกคลุม (สัตว์เลือดอุ่น) ในเวลาต่อมา
(3) Diapsids มีช่องเปิดหลังดวงตาสองช่อง คือพวกจระเข้และไดโนเสาร์ซึ่งยึดครองโลกในมหายุคมีโซโซอิก
(4) Euryapsids มีช่องเปิดส่วนบนกะโหลกหนึ่งช่อง สูญพันธุ์ไปหมดสิ้นหลังจากเฟื่องฟูอย่างมากในยุคไทรแอสซิค



Create Date : 03 มกราคม 2552
Last Update : 3 มกราคม 2552 15:06:44 น. 1 comments
Counter : 6433 Pageviews.

 
ทะทะทะ ทำไม แต่ละตัว มานดูน่ากล้ัวจังอ่ะ


โดย: แม่ภูมิไทย (Artagold ) วันที่: 3 มกราคม 2552 เวลา:20:47:30 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มีชีวิตบนดาวอังคารหรือเปล่านะ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]






....โลกมนุษย์นี้ไม่มีที่แน่นอน
ประเดี๋ยวเย็นประเดี๋ยวร้อนช่างแปรผัน
โชคหมุนเวียนเปลี่ยนไปได้ทุกวัน
สารพันหาอะไรไม่แน่นอน
ชีวิตเหมือนเรือน้อยล่องลอยอยู่
ต้องต่อสู้แรงลมประสมคลื่น
ต้องทนทานหวานสู้อมขมสู้กลืน
ต้องจำฝืนสู้ภัยไปทุกวัน
เป็นการง่ายยิ้มได้ไม่ต้องฝืน
เมื่อชีพชื่นเหมือนบรรเลงเพลงสวรรค์
แต่คนที่ควรชมนิยมกัน
ต้องใจมั่นยิ้มได้เมื่อภัยมา


พันตรีหลวงวิจิตรวาทการ





เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา
จงเลือกเอาสิ่งที่ดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู
เรื่องที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
จะหาคนที่มีดีเพียงส่วนเดียว
อย่าเที่ยวเสาะหาสหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเล่าเอย
ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง

หลวงพุทธทาส





ชีวิตใกล้ปัจฉิมวัย ไม่เป็นไปตามแผนการเมื่อปฐมวัย อะไรที่ยิ่งใหญ่เมื่อเช้า เป็นของเล็กน้อยเมื่อเย็น อะไรที่เป็นสัจจะเมื่อแดดจ้า กลายเป็นมายาเมื่อยามพลบ

We cannot live the afternoon if life
according to the program on life’s morning; for what was great in the morning will be little at evening, and what in the morning was true will at evening have become a lie.



C.G. Jung.




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add มีชีวิตบนดาวอังคารหรือเปล่านะ's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.