คนเกิดวันพุธ ความทุกข์โถมทับทวี

Neuroscience of free will: ฤาเจตจำนงเสรีไม่มีอยู่จริง

เจตจำนงเสรี (Free will) คือ คุณสมบัติของสิ่งที่มีสติสำนึกอันสามารถเลือกกระทำสิ่งใดๆจากความต้องการแท้จริงของตนเอง โดยปราศจากปัจจัยแวดล้อมเป็นเครื่องชี้นำ แนวคิดเรื่องเจตจำนงเสรีนั้นมีการถกเถียงกันมาช้านานในเชิงปรัชญาว่าดำรงอยู่จริงหรือไม่ หรือทุกการกระทำของเราเป็นผลมาจากปัจจัยแวดล้อมอันหลากหลายทั้งภายในและภายนอก กำหนดให้เรามีให้เราเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความรู้อันก้าวหน้าทางประสาทวิทยาอาจให้คำตอบข้อถกเถียงทางปรัชญาอันมาแต่ช้านานนี้ได้ การศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Neuroscience (Soon CS., 2008) นักวิทยาศาสตร์ได้จัดการทดลองให้อาสาสมัครเลือกกดปุ่มระหว่างซ้าย-ขวา และทำการวัดการทำงานของสมองในขณะนั้น ผลการทดลองที่ได้นั้นน่าตะลึง เมื่อพบสัญญาณของสมองที่คาดการณ์ผลลัพธ์ในการเลือกล่วงหน้าก่อนอาสาสมัครทำการเลือกด้วยสติสัมปัญชัญญะถึง 7 วินาที การทดลองดังกล่าวอาจบอกเป็นนัยยะว่า เจตจำนงเสรีที่เราเชื่อโดยสามัญนั้นอาจไม่มีอยู่จริงและเป็นเพียงภาพลวงตา

การเคลื่อนไหวโดยสำนึกของคนเรานั้นเกิดจากวงจรประสาทหลักในบริเวณ motor cortex ของสมองส่วนหน้า ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ primary motor area (M1) เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวที่เป็นไปโดยสำนึก, supplementary motor area (SMA) และ pre-supplementary motor area (preSMA) เกี่ยวข้องกับการวางแผนกล้ามเนื้อสำหรับการเคลื่อนไหวโดยสำนึก จากการศึกษาหนึ่ง (Libet B., 1983) พบว่าสมองส่วน preSMA ให้สัญญาณของการเคลื่อนไหว 'ก่อน' ที่ผู้ถูกทดลอง 'ตัดสินใจ' ที่จะเคลื่อนไหวมากกว่า 1 วินาทีขึ้นไป (Readiness potential) การศึกษาดังกล่าวอาจเป็นงานวิจัยแรกๆที่พิสูจน์ว่าเจตจำนงเสรีนั้นไม่มีจริง แม้ว่าจะมีการถกเถียงกันอย่างมากในวิธีการทดลองก็ตาม



วงจรการทำงานสมองที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวโดยสำนึก




Readiness potential จากการศึกษาโดย Libet B., 1983


การศึกษาล่าสุดโดย Soon และคณะแสดงให้เห็นว่านอกจากสมองส่วนที่เกี่ยวกับเคลื่อนไหว motor cortex แล้ว ยังมีสมองส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆที่มีส่วนร่วมในการกำหนดผลลัพท์ของการเคลื่อนไหวก่อนที่จะมีการตัดสินใจใดๆ เป็นผลให้ระยะเวลาของการเลือกอย่าง 'ไร้จิตสำนึก' ยาวนานขึ้นเกือบ 10 วินาที

ในการศึกษาดังกล่าว อาสาสมัครถูกวัดการทำงานของสมองด้วยเครื่อง fMRI (functional magnetic resonance imaging) และถูกขอให้เลือกกดปุ่มซ้ายหรือขวาตามความต้องการของตนเองในเวลาใดก็ได้(ตามต้องการเช่นกัน) ในขณะเดียวหน้าจอที่ปรากฏเบื้องหน้าอาสาสมัครจะมีตัวอักษรเปลี่ยนไปเรื่อยๆทุกครึ่งวินาที อาสาสมัครต้องจำตัวอักษรที่ปรากฏบนหน้าจอในขณะที่ตนเอง 'รู้สึก' ต้องการกดปุ่มซ้าย-ขวาอย่างใดอย่างหนึ่ง จากการทดสอบด้วยตัวอักษรจะทำให้ผู้ทดลองตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าอาสาสมัครเกิดสำนึกที่จะเลือกกดปุ่มที่เวลาใดก่อนกดปุ่มจริง (ค่าเฉลี่ยของผลที่ได้คือประมาณ 1 วินาที)



Behavioral paradigm ในการศึกษาโดย Soon CS., 2008


หากแต่ผลการทดลองที่น่าตกใจกว่า นอกจากสมองส่วน SMA และ preSMA ที่ทำงานล่วงหน้าก่อนการตัดสินใจราว 5 วินาที สมองส่วน frontopolor cortex (Broadmann area 10) และ precuneus/posterior cingulate cortex ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผนและการประมวลความรู้สึกตามลำดับ มีสัญญาณของการทำงานก่อนหน้าที่อาสาสมัครเกิดสำนึกที่จะเลือกกดปุ่มอย่างจำเพาะเจาะจงว่าซ้ายหรือขวาถึง 7 วินาที ซึ่งหากนับรวมความล่าช้าทางเมทาบอลิสมโดยหลักการของการตรวจวัดด้วย fMRI แล้ว นับว่าสัญญาณดังกล่าวเกิดล่วงหน้าจิตสำนึกถึง 10 วินาที

สิ่งที่แสดงให้เห็นคือ การตัดสินใจโดยสำนึกแท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงผลลัพท์ของสัญญาณไร้สำนึกอันเป็นลำดับของสมอง ซึ่งมีสมองหลายส่วนหลายบริเวณทำหน้าที่เกี่ยวข้อง การตัดสินใจใดๆแท้จริงแล้วล้วนเกิดขึ้นในระดับไร้สำนึก จากนั้นสมองจึงใส่สำนึกตามมาทีหลัง ประหนึ่งการให้เหตุผลกับการกระทำไร้ความหมายที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมายว่า เพราะเหตุใด? สมองจึงต้องหลอกเราว่าเจตจำนงเสรีนั้นมีอยู่ ทั้งที่จริงการกระทำถูกกำหนดไว้แล้วก่อนหน้าที่เราจะตัดสินใจเลือก?

อย่างไรก็ดี การตอบคำถามว่าเจตจำนงเสรีนั้นมีจริงหรือไม่อาจยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากการศึกษาเกี่ยวกับจิตสำนึกของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อนและถูกรบกวนได้ง่ายจากวิธีการทดลองนั้นเอง สักวันในอนาคตเมื่อคำตอบของปริศนานั้นมาถึง อาจทำให้เราเข้าใจในธรรมชาติของตัวเรามากขึ้น และอาจเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมเราอย่างสิ้นเชิง อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อเจตจำนงเสรีไม่มีจริง และหากเป็นเช่นนั้นความรับผิดชอบเชิงจริยธรรมจะมีความหมายหรือไม่?*





*หมายเหตุ ความรับผิดชอบเชิงจริยธรรม (moral responsiveness) ตั้งอยู่ในพ์้นฐานของการกระทำ (actus reus) และสำนึกของการกระทำนั้น (mens rea) หากการกระทำใดที่ปราศจากสำนึก ผู้กระทำย่อมไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำนั้น (มีข้อยกเว้นในบางกรณี) หลักการดังกล่าวเป็นแนวคิดพื้นฐานในการตัดสินพิพากษาทางกฎหมาย



Reference

Libet B, Gleason CA, Wright EW, Pearl DK. Time of conscious intention to act in relation to onset of cerebral activity (readiness-potential). The unconscious initiation of a freely voluntary act. Brain. 1983 Sep;106 (Pt 3):623-42.

Haggard P. Human volition: towards a neuroscience of will. Nat Rev Neurosci. 2008 Dec;9(12):934-46. Review.

Soon CS, Brass M, Heinze HJ, Haynes JD. Unconscious determinants of free decisions in the human brain. Nat Neurosci. 2008 May;11(5):543-5.




 

Create Date : 29 ธันวาคม 2553    
Last Update : 29 ธันวาคม 2553 18:15:33 น.
Counter : 6255 Pageviews.  

Bioethics : ชีวิตอันยืนยาวทำให้มนุษย์มีความสุขมากขึ้นหรือไม่

มนุษย์ต่างปรารถนาชีวิตอันยืนยาวมาช้านาน การมีชีวิตยืนยาวหมายความว่าเราจะมีประสบการณ์ในโลกมากขึ้น ย่อมเพิ่มโอกาสที่จะไขว่คว้าหาความสุขตามลัทธิสุขนิยม (hedonism) หรือมีเวลายาวนานมากขึ้นในการค้นคว้าแก่นสารในชีวิตปัจเจกชน มุ่งมั่นทำสิ่งที่ใฝ่ฝันอย่างอัตถิภาวะนิยม (existentialism) หรือใช้เวลาครุ่นคิดหาความจริงแท้ของชีวิตตามหลักศานตินิยม (non-hedonism)

ไม่ว่าจะดำรงชีวิตโดยหลักปรัชญาใด ชีวิตอันยืนยาวก็คงเป็นสิ่งพึงปรารถนา และมนุษย์ต่างทำทุกวิถีทางให้อยู่บนโลกนี้ได้ยาวนานยิ่งขึ้น นับแต่อดีตกาลก่อนประวัติศาสตร์ อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์มีค่าประมาณ 25-40 ปี ด้วยความก้าวหน้าทางอารยธรรม ปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับต่อวันจึงเพิ่มขึ้น สวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้ ณ ปัจจุบันมนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้นถึงประมาณ 80 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆในอนาคต





อนาคตที่มนุษย์จะมีอายุขัยเฉลี่ยเกินร้อยปีหรือมากยิ่งขึ้นไปกว่านั้นเป็นอนาคตที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความก้าวหน้าทางการแพทย์จะช่วยขจัดโรคร้ายที่คุกคามเมื่อเราชราภาพ อวัยวะที่เสื่อมตามกาลจะถูกปลูกถ่ายแทนที่ เทคโนโลยีทางชีวภาพและทางเภสัชกรรมจะช่วยให้เราสามารถหยุดยั้งหรือชะลอความแก่ชราของเซลล์ หรือแม้แต่เทคโนโลยีทางวิศวกรรมในการทดแทนอวัยวะของมนุษย์ด้วยจักรกล (Bionics) ดังนั้นคำถามเกี่ยวกับวิทยาการเพิ่มอายุขัยของมนุษย์จึงไม่ใช่ มันจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เป็น จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น และเป็นคำถามสำคัญทางชีวจริยศาสตร์ข้อหนึ่งในปัจจุบัน

ดังที่กล่าวข้างต้น การมีชีวิตยืนยาวดูเหมือนจะเป็นสิ่งพึงปรารถนา เมื่อเรามีเวลาเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์บนโลกได้ยาวนานขึ้น แก้ไขสิ่งผิดพลาดในอดีตได้มากยิ่งขึ้น แต่แท้จริงแล้ว การมีชีวิตที่ยืนยาวจะทำให้สังคมมนุษย์โดยรวมมีความสุขมากขึ้นหรือไม่ เป็นคำถามที่ควรค่าแก่การหาคำตอบ และแน่นอนว่ารูปแบบสังคมมนุษย์ย่อมเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

การมีชีวิตอันยืนยาวอาจเป็นสวรรค์ของนักปราชญ์ เมื่อเวลาอีกมากมายมหาศาลให้ค้นคว้าหาความรู้ บุคคลหนึ่งๆอาจเลือกที่จะศึกษาหาความรู้ในหลายด้านหลากมิติ นักกรีฑา-พ่อครัว-นักดนตรี-ศาสตราจารย์ด้านวรรณคดี ทั้งหมดนี้อาจเป็นบุคคลเดียวในต่างช่วงเวลาของชีวิต หรือบุคคลหนึ่งอาจเลือกศึกษาความรู้ในเรื่องหนึ่งเรื่องเดียวอย่างลึกซึ้ง จนเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างที่สุดในรายละเอียดปลีกย่อยของสาขาที่ตนศึกษา การศึกษาค้นพบสิ่งใหม่ๆอาจเป็นไปอย่างก้าวกระโดด

นิยามของความรักจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ บุคคลหนึ่งจะสามารถครองคู่กับคู่รักของตนได้ยาวนานสักเพียงไหน... 80 ปี... 100 ปี... 200 ปี เมื่อมนุษย์รู้ว่าเวลาในชีวิตของตนเองเหลืออีกมากมายนัก ระยะเวลาในการสมรสอาจสั้นลงไปกว่าปัจจุบันเสียอีก เนื่องจากเราไม่ต้องอดทนอยู่ร่วมกันจนตายจาก ไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาอยู่กับความเบื่อหน่าย เมื่อรู้ว่ายังมีเวลาอีกมากในชีวิตเพื่อลองสิ่งแปลกใหม่ การหย่าร้างจักเป็นสิ่งธรรมดาสามัญเสียยิ่งกว่าก่อน นักจิตวิทยาเชื่อว่าในสถานการณ์ดังกล่าว รูปแบบการแต่งงานจะเปลี่ยนจากสิ่งยืนยาวเป็นสิ่งชั่วคราว

หากการมีชีวิตอันยืนยาวนั้นเกิดควบคู่กับการชะลอความเสื่อมความสามารถในการสืบพันธุ์ (โดยเฉพาะในเพศหญิง) อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อพ่อ-แม่-ลูกมีอายุต่างกันมาก เป็นต้นว่า 70-80 ปี หรือพี่น้องร่วมสายเลือดที่อายุต่างกันกว่า 50 ปี หรือพี่น้องต่างพ่อแม่อันไม่รู้จบที่เกิดจากการสมรสใหม่-ซ้ำแล้วซ้ำเล่า-ของบุพการี ความสัมพันธ์ทางเครือญาติคงซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้ ความแตกต่างระหว่างวัยจะทำให้เกิดความเหินห่าง ความขัดแย้งในวงศาคณาญาติ...เมื่อทุกการตัดสินใจในตระกูลมีการตัดสินใจก่อนหน้า และคำเสนอแนะอันไม่รู้จบระหว่างเครือญาติ

ในด้านการงาน บริษัทต่างๆจะมีที่ว่างให้บัณฑิตจบใหม่ไฟแรงหรือไม่ เมื่อมีตัวเลือกของผู้สมัครที่อายุมากกว่าแต่มีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่า 50 ปี หรือพนักงานเก่าที่ครองตำแหน่งในที่ทำงานมากว่า 100 ปี โลกนี้อาจหมุนไปด้วยบุคคลเพียงไม่กี่คน เนื่องจากผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ลงจากตำแหน่งหรือตายจากไป ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาในแต่ละคณะของมหาวิทยาลัยไม่เกษียณให้ใครเข้ามาแทนที่ ผู้นำศาสนาครองตำแหน่งยาวนานไม่มีใครสืบทอด นักสังคมวิทยาต่างเชื่อว่าสังคมที่ผูกติดกับบุคคลเพียงหนึ่งเดียว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแทนที่ เป็นสัญญาณของความเสื่อมถอยของสังคมนั้น

การมีชีวิตอันยืนยาวอาจไม่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมที่สำคัญใดๆ ตัวอย่างเช่นสงคราม ความขัดแย้งระหว่างบุคคลนั้นไม่ถูกกำจัด หรืออาจยิ่งขยายภาพลักษณ์มากขึ้น เมื่อบุคคลที่เป็นอริกันไม่ตายจากกันไป และยังคงแพร่ขยายความเกลียดชังในระหว่างผู้มีชีวิต หรือปัญหาความยากจนและคุณภาพชีวิต การมีชีวิตอันยืนยาวอาจยิ่งขยายช่องว่างทางฐานะของปัจเจกชนยิ่งขึ้น เมื่อผู้มีฐานะมีอายุยืนยาว สะสมสินทรัพย์ทิ้งห่างผู้อื่นไปอย่างไม่รู้จบสิ้น

ณ เวลาปัจจุบัน เราอาจมองไม่เห็นภาพของปัญหาดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากอนาคตนั้นยังอีกไกลนักกว่าจะถึง และเมื่อเวลานั้นเราอาจไม่อยู่ทันเห็นปัญหา เพราะเราอาจจัดเป็นมนุษย์ยุคเก่าที่มีอายุขัยสั้น ขณะที่คนที่ประสบปัญหาคือทายาทของเรา มนุษย์ยุคใหม่ที่อายุขัยยืนยาว บางทีอาจเป็นหน้าที่ของทายาทของเราเหล่านั้นที่จักต้องแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง



เนื้อหาบางส่วนเรียบเรียงจาก Ker Than. Toward Immortality: The Social Burden of Longer Lives. LiveScience. 2006




 

Create Date : 06 ธันวาคม 2553    
Last Update : 6 ธันวาคม 2553 19:05:49 น.
Counter : 2966 Pageviews.  

Neurocosmetics - การปรับแต่งอารมณ์: ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและประเด็นทางจริยธรรม

ในนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง Do Androids Dream of Electric Sheep? (หรือเป็นที่คุ้นเคยกว่าในฉบับภาพยนตร์ไซไฟที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง Blade Runner เมื่อประมาณยี่สิบปีที่แล้ว) เล่าเรื่องของโลกอนาคต มนุษย์มีวิทยาการก้าวหน้าถึงขั้นประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่เหมือนสิ่งมีชีวิตแทบจะทุกประการ ทุกครัวเรือนมี"เครื่องปรับอารมณ์"ส่วนบุคคล แต่โลกกำลังล่มสลาย เต็มไปด้วยกัมมันตภาพรังสี มนุษย์ส่วนใหญ่อพยพไปอยู่ดาวเคราะห์อื่นและหลงเหลือประชากรส่วนหนึ่งบนโลก ในบทแรกพระเอกของเรื่องซึ่งเป็นนักล่ามนุษย์หุ่นยนต์มีปากเสียงเล็กน้อยกับภรรยาเกี่ยวกับภาวะความแปรปรวนทางอารมณ์ของเธอ เขาพยายามเกลี้ยกล่อมให้ภรรยาใช้เครื่องปรับอารมณ์"ปรุงแต่ง"อารมณ์ให้เธอรู้สึกดี ไม่เบื่อหน่าย หรืออารมณ์เสียง่าย ในการ"ปรุงแต่ง"อารมณ์ที่ว่าก็ทำได้แสนง่ายแค่หมุนเครื่องไปยังช่องสัญญาณที่ต้องการเหมือนปรับคลื่นวิทยุ และผู้ใช้ก็จะได้สัมผัสกับอารมณ์ตามที่ตนเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์สนุกสนาน รื่นเริง ตื่นเต้น สงบนิ่ง หรือแม้แต่เร่าร้อนไปด้วยอารมณ์ทางเพศ

เครื่องมือในนิยายวิทยาศาสตร์ดังกล่าวอาจฟังดูน่าเหลือเชื่อเกินจินตนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ฟิลิป เค ดิค ผู้แต่งนิยายดังกล่าวเขียนเรื่องนี้ขึ้นเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่มนุษย์จะสามารถปรุงแต่งอารมณ์ ความรู้สึกของตนได้ตามต้องการ หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ พฤติกรรมของบุคคลหนึ่งๆไปโดยสิ้นเชิง (ซึ่งมักปรากฏในนิยายวิทยาศาสตร์อีกหลายเรื่องเช่นกัน เช่นชุดหุ่นยนต์ของไอแซค อาสิมอฟ) ด้วยความรู้ทางประสาทวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าในเวลาปัจจุบัน คงไม่ผิดที่กล่าวว่าเป็นไปได้อย่างมาก

นักประสาทวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษามาช้านานแล้วเกี่ยวกับบริเวณของสมองที่เกี่ยวข้องอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ อาจกล่าวได้ว่าอารมณ์และความรู้สึกแต่ละชนิดเกิดจากการทำงานของสมองในบริเวณที่เฉพาะเจาะจง สารสื่อประสาทในกลุ่มที่แตกต่าง และวงจรกระแสประสาทที่เป็นระบบ ด้วยความรู้ที่ก้าวหน้า การปรับเปลี่ยน ปรุงแต่งอารมณ์จึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป อันที่จริงแล้ว มันไม่ใช่สิ่งใหม่โดยสิ้นเชิง ในอดีตที่ผ่านมา มีวิทยาการสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคระบบประสาทเช่นโรคพาร์กินสัน ลมชัก หรือแม้แต่โรคทางจิตเวชอย่างเช่นโรคย้ำคิดย้ำทำ ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Deep Brain Stimulation (DBS) ซึ่งคือการฝังแท่งอิเล็คโทรดเข้าไปในเนื้อสมองเพื่อใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นสมองในบริเวณที่เฉพาะเจาะจงและระงับอาการของโรคที่เป็นอยู่ ผลข้างเคียงที่พบระหว่างการรักษาคือ การเปลี่ยนแปลงอารมณ์หรือแม้แต่บุคลิกภาพของผู้ป่วย ด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้าขึ้น เราอาจเลือกกระตุ้นสมองส่วนที่เฉพาะเจาะจงเพื่อให้ได้อารมณ์และความรู้สึกที่ต้องการ ด้วยวิธีการที่เจ็บตัวน้อยลง สะดวกสบายและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น




ภาพสแกนสมองในภาวะอารมณ์แตกต่าง แสดงการทำงานของสมองในบริเวณที่แตกต่างกัน (Moser E. et al., J Neuro Met, 2006.)



จากแนวคิดดังกล่าวทำให้เกิดศาสตร์ความรู้ใหม่ที่มีแนวโน้มจะเติบโตในอนาคตกาลข้างหน้าคือ Neurocosmetics มนุษย์รู้จักการปรุงแต่งตนเองให้สวยงามเป็นเวลาช้านานมาแล้ว เราปรับเปลี่ยน ปรุงแต่งร่างกายภายนอกให้เป็นไปตามที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องสำอาง การทำศัลยกรรม การใช้ยาและสารเคมีเพื่อปรับเปลี่ยนการทำงานของร่างกาย แล้วการปรับเปลี่ยนอารมณ์และความรู้สึกเล่า? ทำไมเราถึงจะทำไม่ได้ หากเราสามารถปรับเปลี่ยนความรู้สึกให้อารมณ์ดีอย่างสม่ำเสมอ ร่าเริงแจ่มใส บุคลิกน่าคบหา ไม่มีความคิดในแง่ลบ จะเป็นไปได้หรือไม่

ในนิยายเรื่องข้างต้น เครื่องปรับแต่งอารมณ์ดูเหมือนจะมีกลไกที่ง่ายไม่ซับซ้อน โดยอาศัยหลักการของคลื่นไฟฟ้า(?)ในรูปแบบสัญญาณต่างๆเพื่อปรับเปลี่ยนอารมณ์ของบุคคล แต่ในความเป็นจริงอาจไม่ง่ายอย่างนั้น สมองของมนุษย์ไม่มีตัวรับคลื่นสัญญาณไฟฟ้าเพื่อแปลงเป็นข้อมูลโดยตรง เหมือนการมองเห็น การรับกลิ่น การรับรส การได้ยิน และการสัมผัส หากเราจะกระตุ้นสมองให้สามารถทำงานได้จากคลื่นไฟฟ้าจากภายนอก หนทางที่อาจเป็นไปได้คือการผ่าตัดฝังไมโครชิปเข้าไปในสมองบริเวณต่างๆเพื่อรับสัญญาณไฟฟ้าดังกล่าว แต่ถ้าวิธีดังกล่าวฟังดูน่าเจ็บตัวไปหน่อย อีกหนทางที่น่าจะเป็นไปได้คือ นาโนแมชชีน ที่เมื่อรับเข้าสู่ร่างกายแล้วสามารถเดินทางไปยังบริเวณที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งเราอาจได้รับมันเข้าไปโดยการฉีดหรือแม้แต่การกิน ไมโครชิปหรือนาโนแมชชีนที่ฝังตัวอยู่ในเนื้อสมอง (ถึงตอนนี้เราอาจจะมองข้ามเรื่องผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น โดยตีความเสียว่าในอนาคตข้างหน้า อุปสรรคความเข้ากันไม่ได้ของเนื้อเยื่อและวัสดุแปลกปลอมล้ำยุคจะถูกพิชิตในที่สุด) จะทำหน้าที่เป็นตัวรับสัญญาณไฟฟ้าจากภายนอกที่เข้ารหัสไว้ และตอบสนองโดยการกระตุ้นการทำงานของสมองในบริเวณที่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่นรหัส A สำหรับอารมณ์สนุกสนานในวันปีใหม่ รหัส U สำหรับความรู้สึกอยากดูรายการตลกอย่างแรงกล้า หรือรหัส Y สำหรับความรู้สึกสงบราวกับนั่งสมาธิในป่าลึก เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างเป็นระบบยังทำให้เกิดบุคลิกภาพหลากหลายที่เราสามารถเลือกได้

คำตอบสำหรับความเป็นไปได้สำหรับเทคโนโลยีการปรับแต่งคือใช่ คำถามต่อมาคือแล้วเราควรจะทำมันหรือไม่? เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ ประเด็นทางจริยธรรมและปรัชญาจะเข้ามาเกี่ยวข้อง

พิจารณาถึงการปรุงแต่งร่างกายแต่ภายนอก สังคมมนุษย์ได้ยอมรับการกระทำดังกล่าวมาตั้งแต่อดีตกาล การปรุงแต่งร่างกายให้สวยงามเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว ทำไมเล่า? มนุษย์ทุกคนก็อยากเห็นแต่สิ่งสวยงาม ทั้งยังอยากให้ตัวเองสวยงาม ดูดี มีสเน่ห์ ความสวยงามของร่างกายภายนอกทำให้เกิดประโยชน์ของมนุษย์ในเชิงสังคม ถึงแม้การกระทำบางกรณีจะดูน่ากังขาและควรถามถึงความเหมาะสมอย่างเช่นการผ่าตัด (เช่นศัลยกรรมใบหน้า ผ่าตัดแปลงเพศ) การใช้ยาหรือสารเคมี (เช่นฉีดฮอร์โมน โบท็อกซ์) แต่หากเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ไม่ก่อให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพ ทั้งสังคมก็ยอมรับได้ (เฉกเช่นเรายอมรับการศัลยกรรมใบหน้าของดาราเกาหลี) ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ผิด

หากพิจารณาด้วยตรรกะเดียวกัน ก็ไม่น่าจะมีเหตุผลใดที่จะทำให้การปรุงแต่งอารมณ์และความรู้สึกเป็นเรื่องไม่น่าอภิรมย์ หากเรามีความรู้สึกที่ดี อารมณ์ดี ปราศจากความคิดในแง่ลบตลอดเวลาก็น่าจะดีไม่ใช่หรือ? แม้แต่ดาไล ลามะองค์ปัจจุบันก็ยังเห็นด้วยในข้อนี้(1) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวน่าจะเป็นผลดีต่อบุคคลนั้นๆเอง และสังคม เมื่อสังคมเต็มไปด้วยคนที่ปราศจากความรู้สึกในแง่ลบ ปัญหาสังคม ปัญหาอาชญากรรมต่างๆอาจจะลดลงอย่างมากก็เป็นไปได้ และคุณภาพชีวิตมนุษย์ก็คงสูงขึ้นมากเมื่อถึงเวลานั้นปัญหาก็คือ การปรับเปลี่ยน ปรุงแต่งอารมณ์และความรู้สึกที่ว่าจะลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเราหรือไม่? นับแต่อดีตกาล เราเชื่อว่าบุคลิกภาพ อารมณ์และความรู้สึกที่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมทำให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ผู้ที่เจริญคือผู้ที่สามารถควบคุมความรู้สึกและอารมณ์ให้ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม บุคลิกภาพทำให้เราเป็นตัวของตัวเอง ทำให้เรามีเอกลักษณ์ที่แตกต่างไปจากผู้อื่น แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราสามารถ"ประดิษฐ์"อารมณ์ตามต้องการได้โดยไม่จำเป็นว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เราสามารถร่าเริงได้อย่างสุดขีดในงานศพที่คนที่เรารัก หรือตื่นเต้นอย่างขีดสุดในภาวะที่ร่างกายเหน็ดเหนื่อยไม่พร้อมจะทำสิ่งใด หรือเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพไปเรื่อยๆทุกครั้งที่เปลี่ยนงานใหม่

เทคโนโลยี Neurocosmetics จะทำให้แก่นสารความเป็นมนุษย์ของเราลดลงหรือไม่

อีกคำถามหนึ่งคือ Neurocosmetics ทำให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดี และลดปัญหาสังคมได้จริงหรือไม่ เมื่อถึงวันหนึ่งที่เทคโนโลยีนี้เป็นความจริง คำถามคือใครบ้างที่มีสิทธิเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ วิทยาการดังกล่าวอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากจนกระทั่งเฉพาะชนชั้นสูงและอภิมหาเศรษฐีเท่านั้นที่มีสิทธิได้รับบริการ ขณะที่คนชนชั้นล่างก็ยังคงต้องผจญกับความรู้สึกในแง่ลบ อารมณ์ที่แปรปรวนในชีวิตประจำวัน ความไม่เท่าเทียมทางสังคมคงยิ่งขยายกว้างขึ้นกว่าเดิม (นอกจากชนชั้นสูงจะได้รับบริการทางวัตถุที่ดี พวกเขายังมีคุณภาพทางจิตที่ดีกว่า) และหากแม้เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถเข้าถึงทุกคน เรามีสิทธิหรือไม่ที่จะ"ไม่เลือก"ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว และการ"ไม่เลือก"ของเราจะส่งผลกับเราหรือไม่ เราจะถูกกีดกันเป็นคนนอกคอก ถูกจัดกลุ่มเป็นผู้มีความเสี่ยงที่จะมีความคิดในแง่ลบและพร้อมจะก่ออาชญากรรมหรือไม่ ดูเหมือนเป็นปัญหาทางศีลธรรมที่ดูไกลตัว และเราไม่มีทางรู้ว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่จนกว่าเทคโนโลยีนี้จะมาถึง...

...ผู้เขียนขอทิ้งท้ายบทความนี้โดยย้อนกลับไปยังนิยายวิทยาศาสตร์ต้นเรื่อง การถกเถียงในประเด็นเล็กๆน้อยๆของตัวเอกในเรื่องกับภรรยาจบลงที่ฝ่ายชายเสนอให้ฝ่ายหญิงปรับแต่งอารมณ์ของตนเองให้ดีขึ้น โดยเริ่มต้นจากการปรับแต่งอารมณ์ให้อยากดูโทรทัศน์แก้เบื่อ ภรรยาของเขากล่าวอย่างเหนื่อยหน่ายว่าเธอไม่มีความปรารถนาจะตั้งเครื่องให้เกิดอารมณ์ใดๆเลย ตัวเอกจึงย้อนกลับไปว่าถ้าอย่างนั้นก็ตั้งเครื่องปรับอารมณ์ให้เกิดความรู้สึก"อยากปรับอารมณ์"สิ เธอก็ย้อนกลับไปอีกว่า

"ฉันไม่ต้องการตั้งเครื่องให้สมองของฉันเกิดความอยากที่จะตั้งเครื่องหรอก! ถ้าฉันไม่เกิดความรู้สึกที่จะตั้งเครื่อง ฉันก็ไม่ต้องการตั้งเครื่องไปที่เลขนั้นมากที่สุด เพราะถ้าฉันทำ ฉันก็จะเกิดความต้องการที่จะตั้งเครื่องอีก และความรู้สึกแบบนั้นสำหรับฉันแล้วนับว่าเป็นแรงกระตุ้นที่ประหลาดที่สุดเท่าที่ฉันนึกได้ ฉันเพียงแต่อยากนั่งบนเตียงและจ้องมองพื้นห้อง"(2)






หมายเหตุ

(1)If it were possible to become free of negative emotion by a riskless implantation of an electrode - without impairing intelligence and the critical mind - I would be the first patient. -The Dalai Lama, address, "On the Neuroscience of Meditation," 2005 Society of Neuroscience Annual Meeting.

(2)จากหนังสือ หุ่นสังหาร, ฟิลิป เค ดิค เขียน, ฤดีดวง แปลและเรียบเรียง, พิมพ์ครั้งที่สอง 2540, สำนักพิมพ์เพื่อนหนังสือ.




 

Create Date : 04 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2553 20:54:32 น.
Counter : 3744 Pageviews.  

ยีนที่เห็นแก่ตัวและอาณาจักรมด

ไม่นานมานี้ อ่านหนังสือ The selfish gene มาถึงบทที่ 10 ซึ่งอธิบายพฤติกรรมการอยู่ร่วมเป็นกลุ่มหรือสังคมของสิ่งมีชีวิตด้วยทฤษฎียีนที่เห็นแก่ตัว มีการยกตัวอย่างที่สำคัญคืออาณาจักรมดแล้ว รู้สึกว่ามันน่าสนใจมากๆ จึงอยากเรียบเรียงเอาไว้ให้เป็นความทรงจำระยะยาวสำหรับตนเองและแบ่งให้คนอื่นๆลองอ่านดู

ก่อนที่จะพูดถึงอาณาจักรมด คงต้องกล่าวถึงทฤษฎียีนที่เห็นแก่ตัวเสียก่อน Richard Dawkins ผู้แต่งหนังสือ The selfish gene ได้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับยีนที่เห็นแก่ตัวอันมีชื่อเสียงอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็ถูกต่อต้านเช่นเดียวกัน ยีน(ในความหมายรวมทั้งเอกพจน์และพหูพจน์)ในมุมมองของดอว์กิ้นคือสิ่งที่ดำรงอยู่โดยเพิ่มจำนวนสำเนาของตนเอง และมีวัตถุประสงค์ในการดำรงอยู่เพื่อการณ์นั้น เพื่อเป้าหมายดังกล่าว ยีนจะกระทำทุกสิ่งอย่างให้ได้มาโดยมีคู่แข่งเป็นจำนวนมาก(ซึ่งก็คือยีนอื่นๆที่ไม่เหมือนกัน) โดยยีนอาศัยร่างกายของสิ่งมีชีวิตเป็นเครื่องมือในการเพิ่มสำเนาของตนเอง ยีนเปรียบเสมือนผู้ออกคำสั่งให้ร่างกายมีชีวิต หาอาหาร สืบพันธุ์ เพื่อตนเอง ดังนั้นจึงอาจกล่าวว่ายีนนั้นเห็นแก่ตัว (แน่นอนว่าคำว่า เห็นแก่ตัว อาจฟังดู anthropomorphic แต่ดอว์กิ้นก็ย้ำหลายรอบในหนังสือของเขาว่า การใช้คำว่าเห็นแก่ตัวไม่ได้หมายความว่ายีนนั้นมีสำนึก ความรู้สึก แต่เป็นการใช้คำเพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจง่ายที่สุดสำหรับการสื่อสารระหว่างมนุษย์)

ด้วยเหตุที่ยีนเห็นแก่ตัว ความรักของพ่อแม่ พี่น้อง เครือญาติจึงถูกตีความหมายเป็นความเห็นแก่ตัวของยีน ที่ต้องการปกป้อง รักษาสำเนาที่คล้ายกับตนเองมากที่สุดให้ดำรงอยู่ต่อไปและเพิ่มจำนวนถัดไปจากรุ่นสู่รุ่น แม่ห่วงใยลูก เพราะลูกมีพันธุกรรมที่เหมือนกับแม่ 50% แต่ห่วงมากกว่าที่ห่วงใยหลาน ที่มีพันธุกรรมเหมือนกับตนเอง 25% เป็นต้น

ในบทที่ 10 ผู้เขียนได้พยายามอธิบายโครงสร้างสังคมมดด้วยทฤษฎียีนที่เห็นแก่ตัว สังคมมดอันซับซ้อนดำรงอยู่ด้วยกันได้โดยไม่ต้องอาศัยสำนึกระดับสูงเพราะอะไร ก็เพราะว่ามดทุกตัวในสังคมมีความเกี่ยวข้องพันธุกรรมกันอย่างมาก มดทุกตัวเกิดมาจากนางพญาตัวเดียวกัน แต่ระดับความสัมพันธ์ของมดนั้นไม่ได้เรียบง่ายอย่างที่คิด

มดมีระบบเพศและรูปแบบพันธุกรรมที่ไม่เหมือนกับสิ่งมีชีวิตชั้นสูง นางพญาหนึ่งตัวเกิดจากมดเพศเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์จากเพศผู้หนึ่งตัว เมื่อมันกลายสภาพเป็นนางพญา มันเก็บอสุจิของมดเพศผู้ไว้ในร่างกายเพื่อปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ไว้ได้นานถึงสิบปี แต่กระนั้น นางพญาจะออกไข่สองชนิด ชนิดที่ได้รับการปฏิสนธิและชนิดที่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิจะเจริญเป็นมดเพศเมีย มดเพศเมียส่วนใหญ่จะเป็นหมันและเป็นมดงาน มดเพศเมียที่ไม่เป็นหมันไม่ได้ถูกกำหนดโดยพันธุกรรมแต่โดยการเลี้ยงดูโดยเฉพาะอาหารที่ได้รับ ส่วนไข่ที่ไม่ได้รับการปฏิสนธิจะเจริญเป็นมดเพศผู้

ดังนั้นมดเพศผู้จึงมีโครโมโซมครึ่งเดียวเมื่อเทียบกับเพศเมีย แถมโครโมโซมดังกล่าวยังมาจากนางพญาหรือแม่ของมันล้วนๆ หากมดเพศผู้มียีน A แน่นอนว่ายีน A นั้นมาจากแม่ของมัน 100% จึงอาจกล่าวได้ว่ามดเพศผู้มีความสัมพันธ์กับนางพญา 100% ขณะที่นางพญาสัมพันธ์กับลูกเพศผู้ 50% (เพราะเกิดจากเซลล์ไข่ที่แบ่งตัวแบบ meiosis) และมดเพศผู้สัมพันธ์กันระหว่างพี่น้อง 50%

ความประหลาดดังกล่าวส่งผลให้ทุกเซลล์อสุจิของมดเพศผู้หนึ่งตัวมียีนเหมือนกันทุกประการ กลับมาที่มดเพศเมียซึ่งเกิดจากไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ มดเพศเมียจึงมียีนครึ่งหนึ่งได้จากแม่และอีกครึ่งได้จากพ่อ ดังนั้นมดเพศแม่จึงสัมพันธ์กับนางพญาเช่นเดียวกับนางพญาสัมพันธ์กับลูกเพศเมียคือ 50% แต่เมื่อเราพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องเพศเมีย...สมมติว่ามดเพศเมียตัวหนึ่งมียีน B หากยีนดังกล่าวมาจากแม่ พี่น้องเพศเมียของมันมีโอกาสที่จะมียีน B อยู่ 50% แต่หากยีนดังกล่าวมาจากพ่อ พี่น้องของมันมีโอกาสครอบครองยีนดังกล่าว 100% เมื่อเฉลี่ยแล้ว มดเพศเมียจึงสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องเพศเดียวกันถึง 75% มากกว่าที่สัมพันธ์กับนางพญาหรือพี่น้องเพศผู้ด้วยกัน!!



ดังนั้น ในมุมมองของมดงาน ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอาณาจักร ย่อม"อยาก"ให้มีพี่น้องเพศเดียวกันมากที่สุด (เนื่องจากมีสำเนายีนเหมือนกัน 75%) มดงานเสมือนว่าไม่ได้มีชีวิตเพื่อตนเองแต่เพื่อราชินี เป็นเพราะว่าตัวมันนั้นเป็นหมัน ไม่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มจำนวนสำเนายีนที่ครอบครองโดยตรง แต่นางพญาต่างหากสำคัญเพราะเป็นเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสำเนาที่เหมือนกับตัวมัน และสำเนาดังกล่าวมีโอกาสเป็นราชินีตัวต่อไป ส่วนมุมมองของนางพญา เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นลูกเพศผู้หรือเพศเมียก็ต่างสัมพันธ์กับมัน 50% เท่ากัน ดังนั้นมันจึง"อยาก"ได้ลูกทั้งสองเพศในอัตราส่วนเท่าๆกัน

ดังนั้นจึงเกิด conflict of interest ระหว่างมดนางพญาและมดงาน (เราละเลยมดเพศผู้และมดเพศเมียที่ไม่เป็นหมันเนื่องจากมีบทบาทควบคุมอาณาจักรน้อยกว่า) จากคำนวณ มดนางพญาควรจะต้องการลูกเพศผู้และเพศเมียในสัดส่วน 1:1 ในขณะที่มดงานจะต้องการพี่น้องเพศผู้และเพศเมียในอัตราส่วน 1:3 และเนื่องจากมดงานมีบทบาทเหนือกว่าในแง่ที่ว่ามันทำหน้าที่เลี้ยงดู คัดเลือกตัวอ่อนตั้งแต่นางพญาออกไข่ มันจึงสามารถกำหนดเพศประชากรในอาณาจักรได้ ถึงแม้ว่ามดนางพญาจะพยายามออกไข่ในสัดส่วนที่เท่ากัน มดงานเป็นฝ่ายชนะ และสัดส่วนเพศในอาณาจักรมดจึงเป็น 1:3 และจากการสำรวจมดมากกว่า 20 สปีชี่ส์พบว่าสัดส่วนเพศใกล้เคียงกับตามทฤษฎีอย่างมาก

สำหรับมุมมองของมดงานนั้นมีหลักฐานเชิงประจักษ์ แล้วเราจะพิสูจน์มุมมองของนางพญาได้อย่างไร? ดอว์กิ้นขยายการอธิบายต่อด้วยอาณาจักรแบบใช้งานทาส ในกรณีดังกล่าว มดเพศเมียที่เป็นหมันส่วนใหญ่จะเป็นมดทหาร ทำหน้าที่บุกเข้าไปยังอาณาจักรอื่นแล้วขโมยตัวอ่อนกลับมาที่รังเพื่อเป็นทาสมดงาน ตัวอ่อนที่ถูกลักพาจะเป็นทาสด้วยความยินยอมเนื่องจากมันถูกเลี้ยงดูในอาณาจักรใหม่ตั้งแต่เกิด เสมือนหนึ่งว่ามันเกิดจากอาณาจักรนั้นๆ มันดำรงสัญชาตญาณเดียวกับมดงานทั่วไปคือต้องการเพิ่มประชากรเพศเมียให้มากที่สุด ทั้งที่มันไม่รู้(และไม่มีโอกาสรู้)ว่าประชากรที่มันเลี้ยงดูนั้นแทบไม่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมต่อกัน



สำหรับนางพญา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเพิ่มประชากรเพศผู้และเพศเมียในอัตราส่วนเท่ากัน นางพญาจะมีการใช้กลยุทธต่างๆเพื่อหลอกลวงมดงานเช่น ออกไข่มดเพศผู้ให้มีกลิ่นคล้ายมดเพศเมีย ในกรณีของอาณาจักรที่มีมดงานของตนเอง มดงานก็จะหากลยุทธในการจับผิดนางพญาและเอาชนะได้ในที่สุด ยีนของการแข่งขันระหว่างนางพญาและมดงานจะดำเนินไปจากรุ่นสู่รุ่น ในกรณีของอาณาจักรที่ใช้มดทาส เนื่องจากมดทาสทำงานฟรี ไม่สามารถถ่ายทอดยีนของตนจากรุ่นสู่รุ่นได้ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ดังนั้นมดทาสจึงไม่สามารถแข่งขันกลยุทธกับนางพญาได้ นางพญาเป็นฝ่ายชนะ และสัดส่วนเพศผู้:เพศเมียในอาณาจักรดังกล่าวจะเป็น 1:1 ซึ่งจากการสำรวจมดที่มีการใช้แรงงานทาสอย่างน้อย 2 สปีชี่ส์ พบว่าสัดส่วนใกล้เคียงกับ 1:1 จริงๆ

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างหนึ่งในการพยายามอธิบายระบบสิ่งมีชีวิตด้วยทฤษฎียีนที่เห็นแก่ตัว ซึ่งยังคงมีข้อโต้แย้งอย่างมาก และต้องการหลักฐานสนับสนุนครับ

เรียบเรียงจากบท You scratch my back, I'll ride on yours, Richard Dawkins, The selfish gene, 2009.




 

Create Date : 13 ตุลาคม 2553    
Last Update : 13 ตุลาคม 2553 18:32:38 น.
Counter : 7013 Pageviews.  

รวบรวม April fool's day ฉบับวิทยาศาสตร์ในปีก่อนๆที่ผ่านมา

เป็นบทความสาระบันเทิงที่เขียนไว้เมื่อปีที่แล้ว (2552) ครับ แต่ลืมเก็บไว้ในบล็อก ทีนี้จะเก็บหลังวันที่ 1 เมษาหน้าโง่ ก็รู้สึกว่าจะเสียอรรถรส จึงรอให้มันผ่านพ้นไปอีกปีแล้วเอามาลงบล็อกครับ มาเริ่มกันเลยดีกว่า ไม่เรียงลำดับเวลานะครับ









1957: The Swiss Spaghetti Harvest BBC ออกข่าวว่าชาวไร่ปลูกต้นสปาเกตตี้สำเร็จ ใช่แล้วครับ ต้นไม้ที่ให้ผลเป็นเส้นสปาเก็ตตี้และเหมาะที่จะกินกับซอสมะเขือเทศเป็นที่สุด!




1962: Instant Color TV เมื่อห้าสิบปี ที่แล้ว ทีวียังเป็นข่าวดำอยู่ และประเทศสวีเดนก็มีทีวีเพียงช่องเดียว Kjell Stensson แห่งสถานีดังกล่าวประกาศว่า ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ผู้ชมทีวีสามารถเห็นภาพสีได้ด้วยการเอาถุงน่องไนล่อนสวมครอบทีวี! มีผู้ชมทีวีกว่าพันคนหลงเชื่อและทำตาม


1998: Alabama Changes the Value of Pi หนังสือพิมพ์ New Mexicans for Science and Reason ลงข่าวว่ารัฐ Alabama มีผลโหวตให้เปลี่ยนแปลงค่า Pi จาก 3.14157 เป็น 3.0 ตามคัมภีร์ไบเบิล

จุดเริ่มต้นของโกหกนี้มาจากอินเตอร์เน็ตและ fw แพร่สะบัดไปทั่วในเวลาอันสั้น ไม่นานนัก รัฐ Abalama ก็ถูกกระหน่ำประท้วงโดยโทรศัพท์เป็นร้อยๆสาย ก่อนที่จะทราบในที่สุดว่า เป็นแค่เรื่องโอละพ่อวันเอพริลฟูล โดยมาจากมุกของนักฟิสิกส์คนหนึ่งที่ ชื่อว่า Mark Boslough


1998: The Left-Handed Whopper เบอร์เกอร์คิงออกเมนูใหม่ชื่อว่า "The Left-Handed Whopper" หรือเบอร์เกอร์สำหรับคนถนัดซ้าย!เพื่อชาวอเมริกันกว่า 32 ล้านคนในประเทศที่ถนัดซ้าย

เบอร์เกอร์มีองค์ประกอบเหมือนเดิมทุกอย่าง ยกเว้นเพียงแต่เติมเครื่องปรุงที่มีประโยชน์สำหรับคนถนัดซ้ายเท่านั้น

ผลที่ตามมาคือ มีลูกค้าถามหาเมนูนี้เป็นจำนวนมากแถมยังเรียกร้องเมนูสำหรับคนถนัดขวาบ้างอีกต่างหาก!


1995: Hotheaded Naked Ice Borers นิตยสาร Discover รายงานการค้นพบสัตว์สปีชี่ใหม่ในทวีปแอนตาร์กติก Hotheaded Naked Ice Borers เป็นสัตว์ประหลาดที่มีกระโหลกศีรษะคล้ายแผ่นจานที่มีความร้อนสูงมากเนื่องจากมีเส้นเลือดไปไหลเวียนจำนวนมาก ความร้อนจากศรีษะสามารถทำให้มันขุดเจาะ หลอมหลายหิมะหรือน้ำแข็งได้อย่างสบายๆ

Hotheaded Naked Ice Borers เป็นสัตว์ที่ดุร้ายและกินนกเพนกวินเป็นอาหาร Dr. Aprile Pazzo ยังกล่าวอีกว่าสัตว์ประหลาดชนิดนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปอย่างลึกลับของนักสำรวจทวีปแอนตาร์กติก Philippe Poisson ในปี 1837

"มันอาจจะคิดว่าเขาเป็นนกเพนกวิน" (อืม คิดได้เนอะ)




1976: Planetary Alignment Decreases Gravity นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ Patrick Moore ออกมาประกาศผ่านข่าว BBC ถึงปรากฏการณ์หายากทางดาราศาสตร์ที่ทุกคนสามารถสัมผัสกับปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ด้วยตนเองที่บ้าน ผลจากการที่ดาวพลูโตโคจรไปอยู่ด้านหลังดาวพฤหัสชั่วระยะเวลาหนึ่งจะทำให้แรงดึงดูดโลกถูกหักล้าง ดังนั้นแรงโน้มถ่วงของโลกจึงลดลง!

ผู้ชมทางบ้านสามารถพิสูจน์ได้ด้วยกระโดดสูงๆในช่วงเวลาดังกล่าว มีโทรศัพท์มาที่ BBC จากผู้ชมทางบ้าน... บางคนอ้างว่าตนเองหมดความรู้สึกเรื่องโน้มถ่วงไปเลย

ผู้หญิงคนหนึ่งอ้าง ว่าเพื่อน 11 คนของเธอล่องลอยไปทั่วห้อง!


1989: UFO Lands in London

ผู้คนบนถนนไฮเวย์นับพันต่างเห็นปรากฏการณ์นี้ร่วมกัน จานบินลำหนึ่งค่อยๆร่อนลงจอดบนพื้นอย่างช้าๆ ตำรวจถูกเรียกมารักษาการกันเต็มท้องถนน

เมื่อตำรวจพากันมาถึงแล้ว นายตำรวจผู้กล้าที่สุดเดินนำหน้าเผชิญกับจานบินดังกล่าว แต่เมื่อประตูจานบินนั้นเปิดขึ้น และมีร่างในชุดสีเงินเดินออกมา ทุกคนก็ต่างผงะถอยหลังไปพร้อมๆกัน

ปรากฏว่าจานบินนั้นค่อยๆแฟบลงและทุกคนก็ได้รู้ว่ามันเป็นเพียงบอลลูน!

และร่างในชุดสีเงินคือกระทาชายหนุ่มคนหนึ่งนามว่า Richard Branson
อันที่จริงเขาตั้งใจจะร่อนจานบินลวงโลกนี้ที่ Hyde park แต่คงคำนวณแรงลมไม่ดี ก็เลยพลาดหวัง


แต่ผมว่ามัน เป็นเอพริลฟูลที่ cool! มากนะ อันนี้




2008: Flying Penguins ตะลึง!!! นักวิทย์เมืองผู้ดีเผย โลกร้อนมีผลให้นกเพนกวินบินได้

ถ้าโลกร้อนแล้วทำให้น้องเพนกวินบินได้ ก็น่าดูนะ




1972: The Body of Nessie Found นักสัตววิทยาจากสวนสัตว์ Yorkshire's Flamingo Park พบหลักฐานการมีอยู่ของสัตว์ประหลาดเนสซีแห่งทะเลสาปล็อคเนสเมื่อพบซากศพของสัตว์ประหลาดดังกล่าวลอยอยู่ในทะเลสาปซึ่งหนักตันครึ่งและยาว 15 ฟุตครึ่ง

ทีมงานจากสวนสัตว์แบกซากศพดังกล่าวใส่รถตู้เพื่อกลับไปตรวจสอบที่สวนสัตว์แต่ดันเจอตำรวจระหว่างทางและถูกสงสัยถึงสิ่งที่ขนส่งมา ซากศพถูกส่งไปพิสูจน์ที่อื่นและพบว่าเป็นเพียงซากช้างน้ำขนาดใหญ่

วันถัดมา เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ John Shields ออกมาสารภาพว่าเป็นฝีมือของเขาที่จะแกล้งเพื่อนร่วมงานวันเอพริลฟูล โดยการนำซากช้างน้ำที่ตายแล้วกว่าสัปดาห์จากสวนสัตว์อื่น ตัดหนวดและขนของมันเสีย ยัดก้อนหินให้ตัวหนักขึ้น และแช่แข็งเอาไว้เป็นสัปดาห์ เมื่อถึงเวลาก็หย่อนลงไปในทะเลสาป และให้ชัวร์ขึ้นโดยการโทรศัพท์ลึกลับแจ้งเหตุ

แต่ที่ไม่ได้อยู่ในแผนคือ การเจอตำรวจระหว่างทาง


1975: Metric Time This Day Tonight รายการข่าวออสเตรเลียประกาศให้ทราบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบมาตรเวลา เปลี่ยนแปลงจากเดิมเป็น 100 วินาทีเท่ากับ 1 นาที 100 นาทีเท่ากับ 1 ชั่วโมง และ 20 ชั่วโมงเท่ากับ 1 วัน แถมชื่อก็เปลี่ยนอีกด้วย

วินาทีเปลี่ยน เป็นมิลลิเดย์ (millidays)
นาทีเป็นเซนตริเดย์ (centridays)
และ ชั่วโมงเป็นเดซิเดย์ (decidays)

นอกจากนี้ทางรายการยังโชว์นาฬิกาแบบ ใหม่ที่มีหน้าปัด 10 ชั่วโมง

แต่ผู้ชมส่วนใหญ่จับได้ว่าเป็นเรื่อง โกหกนะ




1934: Man Flies By Own Lung Power หนังสือพิมพ์อเมริกันหลายฉบับลงข่าวชายผู้สามารถบินได้ด้วยลมจากปอดตนเองร่วมกับเครื่องมือที่เก็บลมที่เขาเป่าออก

ชายคนดังกล่าวเป็นนักบินชาวเยอรมัณผู้สามารถเก็บลมหายใจใส่ในกล่องที่ติดกับหน้าอกซึ่งจะกระตุ้นให้เครื่องยนต์ทำงานและยกตัวเขาลอยเหนือพื้นดินได้




1978: The Sydney Iceberg เรือขนส่งลำหนึ่งลากเอาก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่มายังซิดนีย์ Dick Smith มหาเศรษฐีนักเดินทางภาคภูมิใจที่จะกล่าวว่า เป็นฝีมือของเขาเองที่ลากก้อนน้ำแข็งดังกล่าวมาจากทวีปแอนตาร์กติก นายสมิธกล่าวว่าเขาจะบดน้ำแข็งให้เป็นก้อนสี่เหลี่ยมแล้วขายประชาชนในราคาก้อนละ 10 เซ็นต์

เขาอ้างว่าน้ำแข็งจากแอนตาร์กติกนั้นเป็นน้ำแข็งที่บริสุทธิ์และจะช่วยทำให้รสชาติของเครื่องดื่มที่ใส่มันลงไปดีขึ้น

ความมันแตกเอาตอนฝนตก ชะล้างเอาเศษโฟมและครีมโกนหนวดออกไปแล้วทำให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว ก้อนน้ำแข็งดังกล่าวเป็นแค่ขยะพลาสติกชิ้นหนึ่งดีๆนี่เอง




1915: Bombs Away! ช่วงกลางของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
นาวาอังกฤษหย่อนลูกระเบิดลงกลางแคมป์ทหารเยอรมัณ ทหารเยอรมัณต่างกระจัดกระจายกันไปคนละทิศละทาง

แต่ระเบิดนั้นไม่ทำงาน

ทหารเยอรมัณนำระเบิดดังกล่าวไปตรวจสอบอย่างระมัดระวัง

ผลปรากฏว่ามันเป็น แค่ลูกฟุตบอลขนาดใหญ่ที่เขียนเอาไว้ว่า...
"April fool!"



อัน นี้ก็ cool! ฮะ


2002: Whistling Carrots ห้างสรรพสินค้าของอังกฤษนาม Tesco (เอ...ชื่อคุ้นๆนะ 555) ประกาศว่ามีสินค้าใหม่ ซึ่งเกิดจากเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม 'Whistling Carrots' คือแครอทที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้เจริญเติบโตโดยเกิดโพรงอากาศภายใน

ขณะที่คุณแม่บ้านประกอบอาหารจากแครอทดังกล่าว (เข้าใจว่า ผัด/ทอด/ให้ความร้อน) โพรงอากาศที่อยู่ภายในจะทำให้เกิดเสียงเหมือนผิวปาก


2007: The Derbyshire Fairy ภาพนี้คงเห็นกันบ่อยเลยนะครับ จุดกำเนิดมาจากสองปีที่แล้ว ภาพแฟรี่ลึกลับระบาดไปทั่วอินเตอร์เนต

เว็บมาสเตอร์ของ Lebanon Circle website ออกมาประกาศว่าเป็นฝีมือของเขาเองที่ทำหลอกเล่นๆเนื่องในโอกาสเอพริลฟูล

กระนั้น ยังมีคนอีกมากไม่ยอมรับคำสารภาพดังกล่าว และส่งอีเมล์บอกให้เขายืนยันว่ามันเป็นของจริง!




1980: Big Ben Goes Digital BBC ประกาศว่า เพื่อรักษาความเที่ยงตรงของเวลา หอนาฬิกาบิ๊กเบนจะเปลี่ยนเป็นแบบดิจิตอล ประชาชนจำนวนมากช็อคกับข่าวนี้ครับ




1973: Dutch Elm Disease Infects Redheads BBC ประกาศข่าวโรคระบาดชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า Dutch Elm Disease โรคระบาดดังกล่าวเดิมเป็นโรคที่ีเกิดขึ้นกับต้นไม้ แต่สำหรับคนจะก่อให้เกิดอาการคล้ายหวัด หากแต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนอกจากอาการคล้ายหวัดแล้วคือ คนที่มีผมสีแดง ผมจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แล้วค่อยๆร่วงออก และเมื่อตรวจเลือดของคนที่ติดเชื้อ ก็จะพบองค์ประกอบคล้ายๆกับที่พบในดินของพืชที่ติดเชื้อ

BBC แนะนำให้ผู้มีผมสีแดงหลีกเลี่ยงการท่องป่าในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อป้องกันผม เปลี่ยนสีและร่วง


1979: Operation Parallax สำนักข่าววิทยุแห่งลอนดอนประกาศให้ประชาชนทราบว่า ประเทศอังกฤษมีปฏิทินล่วงหน้า ประเทศอื่นๆทั่วโลกไปถึง 48 ชั่วโมงนับตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา! (แล้วทำไมเพิ่งมารู้ฟะ)

เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ราชการอังกฤษขอประกาศยกเลิกวันที่ 5 และ 12 เมษายนของปี 1979 เสีย!

ทางวิทยุได้รับโทรศัพท์ร้องเรียนเป็นจำนวนมากจากการประกาศดังกล่าว
นายจ้างคนหนึ่งสงสัยว่าเธอจะต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างสำหรับวันที่หายไปหรือไม่ หญิงสาวคนหนึ่งถามว่าเธอจะต้องทำอย่างไรกับวันเกิดของเธอปีนี้ที่หายไป!


1965: Dogs to be painted white นสพ.เดนมาร์ก ประกาศให้ทราบถึงกฎหมายใหม่ กล่าวคือประชาชนทุกคนที่เลี้ยงสุนัข ต้องทาขนสุนัขของตนเองให้เป็นสีขาว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนที่อาจ เกิดขึ้นยามค่ำคืน




1997: Internet Spring Cleaning มีอีเมล์แพร่สะพัดไปทั่วประกาศให้นักท่องเน็ตห้ามใช้อินเตอร์เนตในวันเอพริลฟูล เนื่องจากจะมีการกวาดล้าง ทำความสะอาดระบบอินเตอร์เนตทั้งหมด กำจัดขยะทั้งหลาย เว็บไซต์ที่ตายแล้วในระบบ

มุกนี้ถูกนำมาใช้อีกครั้งในเวลาต่อมา แต่เปลี่ยนจากการทำความสะอาดเน็ตเวิร์กอินเตอร์เนตเป็นระบบสายโทรศัพท์


1984: Tasmanian Mock Walrus Orlando Sentinel ลงข่าวเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงชนิดใหม่ Tasmanian Mock Walrus (TMW) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในฟลอริดา

TMW ตัวจิ๋วมีขนาดเพียง 4 นิ้ว รูปร่างเหมือนวอลรัส ขนเหมือนแมว อุปนิสัยเหมือนแฮมสเตอร์ กินแมลงสาปเป็นอาหาร และสามารถเลี้ยงได้ในกล่องเล็กๆ ในข่าวยังเสนออีก ว่า TMW เหมาะสำหรับช่วยกำจัดแมลงสาบภายในบ้าน

อย่างไรก็ตาม มีการลักลอบนำเข้า TMW จากทาสมาเนียอย่างผิดกฎหมาย
และรัฐบาลก็เป็นห่วง ว่าการนำเข้าสัตว์เลี้ยงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจกำจัดแมลงสาบ




1993: Don’t Disturb the Squirrels สำนักข่าววิทยุเยอรมัณประกาศกฏหมายใหม่ห้ามนักวิ่งจ็อกกิ้งวิ่งเร็วเกิน 6 เมตรต่อชั่วโมงเพื่อไม่ให้เกิดเสียงรบกวนกระรอกในฤดูผสมพันธุ์


2007: The Sheep Albedo Hypothesis RealClimate.org เสนอข่าวเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนนอกจากจะเกิดจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศแล้ว ยังเกิดจากการลดลงของประชากรแกะด้วย

นักอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า เนื่องจากแกะมีขนสีขาวและชอบอยู่กันเป็นกลุ่ม พวกมันจึงช่วยสะท้อนแสงแดดที่ตกกระทบสู่ผิวโลก เรียกว่า Albedo feedback effect แต่เนื่องจาก ปัจจุบัน จำนวนแกะบนโลกนี้ลดลง จึงทำให้แสงแดดตกกระทบพื้นผิวโลกมากขึ้น และเป็นสาเหตุทำให้โลกร้อน




2003: Assassination of Bill Gates CNN ร้ายมากที่เล่นข่าวนี้
ข่าวบิลล์ เกตส์ถูกลอบสังหารทำให้ตลาดหุ้นเกาหลีดร็อปลงถึง 1.5%!

โทษใครได้ ล่ะทีนี้




2005: Water on Mars

ขอโทษเถอะครับ...นี่คือมุกของนาซ่า ย้ำ...นาซ่า

ภาพล่าสุด! ค้นพบน้ำบนดาวอังคาร



















Water on Mars




1965, 2007: Smell-o-vision BBC กล่าวถึงเทคโนโลยีใหม่ที่ผู้ชมรายการ BBC สามารถ"ได้กลิ่น"จากจอทีวี โดยเพียงใช้มือสัมผัสทีวี ทางรายการได้สาธิตด้วยกลิ่นหัวหอมและกลิ่นกาแฟ ปรากฏว่ามีผู้ชมทางบ้านบางรายโทรมายืน ยันว่าได้กลิ่นดังกล่าวจริงๆ

ในปี 2007 มุกนี้ถูกนำมาเล่นอีกครั้งในเวอร์ชั่น internet




แต่ในรูปประกอบคือเทคโนโลยีของจริง ที่มีการพัฒนามาตั้งแต่กลางศตวรรษที่แล้ว




1984: Daylight Savings Contest Eldorado Daily Journal รัฐอิลลินอยส์ จัดงานแข่งขัน "เก็บแสงแดดยามกลางวัน" กติกาคือผู้เข้าแข่งขันเริ่มต้นเก็บแสงในวันที่กำหนด ใครเก็บได้มากที่สุดคนนั้นชนะ แสงที่เก็บต้องเป็นแสงกลางวันบริสุทธิ์ เท่านั้น แสงสนธยา แสงจันทร์ไม่นับ (แต่แสงใต้ร่มเงายอมรับได้) แสงแดดที่เก็บได้จะใส่ในภาชนะใดก็ได้

แค่โจ๊กขำๆที่ดูก็น่าจะรู้ว่าโกหก แต่ปรากฏว่ามีคนสนใจเข้าแข่งขันเยอะมากทั่วทั้งประเทศ!


1981: Michigan Shark Experiment นสพ. Herald-News รัฐมิชิแกนได้เลือกทะเลสาบสามแห่งเพื่อทำการทดลอง "การศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับการอาศัยและการสืบพันธุ์ของปลาฉลามน้ำจืดหลายชนิด"

จากหัวข้อทดลองดังกล่าว ปลาฉลามสองพันตัวจะถูกปล่อยลงในทะเลสาบ ปลาฉลามดังกล่าวนั้นมีทั้ง ปลาฉลามหัวฆ้อน ปลาฉลามสีน้ำเงิน ปลาฉลามขาว เพื่อพิสูจน์ว่าปลาฉลามสามารถรอดชีวิตอยู่ได้ในน้ำเย็นในเขตรัฐมิชิแกน (พิสูจน์ทำไม?)

มีการกล่าวว่ารัฐบาลลงทุนไปกับโปรเจ็คนี้ถึง 1.3 ล้านเหรียญ

นอกจากนี้ยังมีนักชีววิทยาออกมาแสดงความกังวลถึงระบบ นิเวศน์ในทะเลสาบที่จะถูกปลาฉลามรบกวน ท่ามกลางความหวาดผวาของนักตกปลา และนักว่ายน้ำในทะเลสาบดังกล่าว อ้อ! รัฐยังออกกฎห้ามไม่ให้นักตกปลาจับปลาฉลามในทะเลสาบด้วยนะ (ห้ามทำไม?)


1940: World to End Tomorrow

อันนี้ เล่นแรงครับ แต่ส่วนตัวเห็นว่าไม่ cool อ่ะ

March 31, 1940 the Franklin Institute;

"Your worst fears that the world will end are confirmed by astronomers of Franklin Institute, Philadelphia. Scientists predict that the world will end at 3 P.M. Eastern Standard Time tomorrow. This is no April Fool joke. Confirmation can be obtained from Wagner Schlesinger, director of the Fels Planetarium of this city."


1998: MITkey Mouse the Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT ประกาศในเว็ปไซต์องค์กรว่า บริษัท Walt Disney Co. ได้ถูก MIT ซื้อกิจการแล้วด้วยมูลค่า 9.6 พันล้านเหรียญ

MIT ยังโชว์รูปโดมของมหาวิทยาลัยที่ครอบด้วยหูมิคกี้เม้าส์ด้วย
(น่ารักเสียไม่มีล่ะ)

สิ่งที่ cool ของเรื่องนี้คือ...










MIT ไม่ได้เป็นคนประกาศข่าวนี้จริงเสียหน่อย แต่เป็นฝีมือของนักศึกษาตัวแสบ ที่แฮกเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยตนเอง!

MIT นะเฟ้ย!




2000: PETA’s Tournament of Sleeping Fish องค์กร PETA (the People for the Ethical Treatment of Animals) ที่น่าจะเป็นที่รู้จักกันดีถึงความรักสัตว์จนเพี้ยน บ้าบอเกินมนุษย์ไปแล้ว (ที่ล่าสุด รณรงค์ให้ประชาชนยกเลิกดื่มนมวัวแล้วหันมาดื่มนมคนแทน!)

ออกมาประกาศว่า ข้าจะวางยาสลบให้ปลาในทะเลสาบหลับให้หมด งานแข่งขันจับปลาในรัฐเท็กซัสปีนี้จะได้ถูกยกเลิก!
"this year, the fish will be napping, not nibbling."

ทางรัฐเท็กซัสวิตกกังวล อย่างมากจนต้องจัดสายตรวจคุ้มกันชายฝั่งทะเลสาบ แม้องค์กร PETA จะยืนยันว่าเป็นแค่เอพริลฟูลก็ตาม


สุดท้าย รวบรวม Google's hoaxes ณ วันเอพริลฟูล

2000: google ออกระบบใหม่ MentalPlex ที่สามารถอ่านใจผู้ใช้ได้ว่าต้องการ search อะไร ไม่ต้องเสียเวลาพิมพ์

2002: ระบบ PigeonRank ที่ตามหลังระบบ PageRank มา ด้วย PigeonRank ผู้ใช้บริการจะแน่ใจได้ว่า ในกระบวนการ ranking เว็บเพจที่ท่านสนใจจะไม่มีการทรมาณสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง (ล้อเลียน PETA หรือเปล่าเนี่ย )

2004: google ตั้งสถานีที่ดวงจันทร์เพื่อศูนย์วิจัย Google Copernicus Center และพัฒนา operating system ใหม่ที่มีชื่อว่า Luna/X ได้ ณ ที่นั่น (Luna/X มาจาก Linux + Windows XP visual style และ Mac OS X)

2005: google ออกเครื่องดื่มชนิดใหม่ Google Gulp ที่ผู้ที่ดื่มไปแล้วจะฉลาดขึ้น เนื่องจากเครื่องดื่มดังกล่าวจะมีผลต่อ DNA และสารสื่อประสาทในสมองของผู้ดื่ม โดยมีทั้งหมด 4 รส ได้แก่ Glutamate Grape (glutamic acid), Sugar-Free Radical (free radicals), Beta Carroty (beta carotene), and Sero-Tonic Water (serotonin)

2006: feature ใหม่ครับ Google Romance ที่เอาไว้ search หาคู่แท้ ก๊าก...อยากใช้บ้างอ่ะ



2007: Gmail Paper ไม่ว่าคุณจะส่งเมล์ยาวแค่ไหน มีรูปมากมายเพียงใด ผู้รับอยู่ที่ใดก็ตาม gmail จะพิมพ์เมล์ของคุณออกมาเป็นเอกสารในรูปกระดาษส่งไปให้ผู้รับ ที่สำคัญคือฟรี

2008: gDay สามารถ search เว็บเพจก่อนที่มันจะถูก สร้าง 24 ชั่วโมง

2009: Google Chrome 3D; web browser ของ google เป็นรูปแบบสามมิติ เพียงแค่ลง google chrome 3D แล้วโหลดวิธีทำแว่นสามมิติมาใช้เอง ก็สามารถท่องเวปแบบสามมิติได้แล้ว

...น่ารอดูว่า google ปีนี้จะเล่นตลกอะไรกับเรา






ทิ้งท้าย

...April's fool เป็นประเพณี การเล่นสนุกตลกขบขันของพวกฝรั่งมังค่า บางครั้งอาจไม่เหมาะกับสภาพสังคมไทย ที่ไม่แบ่งแยกเรื่องเล่น-เรื่องจริงชัดเจนนัก และบางคนก็อาจไม่ชอบ ไม่เห็นด้วยกับการโกหก

ก็นานาจิตตังครับ อย่างไรก็ตาม การโกหกเล่นๆใดๆก็ควรพิจารณาว่ามีคนเดือดร้อนกับการกระทำของเราหรือเปล่า? เช่นการโกหกเรื่องความเป็นความตาย ก็ฝากไว้พิจารณาครับ

สุขสันต์วันเมษาหน้าโง่ครับ...




 

Create Date : 01 เมษายน 2553    
Last Update : 1 เมษายน 2553 11:19:01 น.
Counter : 3461 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

มีชีวิตบนดาวอังคารหรือเปล่านะ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]






....โลกมนุษย์นี้ไม่มีที่แน่นอน
ประเดี๋ยวเย็นประเดี๋ยวร้อนช่างแปรผัน
โชคหมุนเวียนเปลี่ยนไปได้ทุกวัน
สารพันหาอะไรไม่แน่นอน
ชีวิตเหมือนเรือน้อยล่องลอยอยู่
ต้องต่อสู้แรงลมประสมคลื่น
ต้องทนทานหวานสู้อมขมสู้กลืน
ต้องจำฝืนสู้ภัยไปทุกวัน
เป็นการง่ายยิ้มได้ไม่ต้องฝืน
เมื่อชีพชื่นเหมือนบรรเลงเพลงสวรรค์
แต่คนที่ควรชมนิยมกัน
ต้องใจมั่นยิ้มได้เมื่อภัยมา


พันตรีหลวงวิจิตรวาทการ





เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา
จงเลือกเอาสิ่งที่ดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู
เรื่องที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
จะหาคนที่มีดีเพียงส่วนเดียว
อย่าเที่ยวเสาะหาสหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเล่าเอย
ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง

หลวงพุทธทาส





ชีวิตใกล้ปัจฉิมวัย ไม่เป็นไปตามแผนการเมื่อปฐมวัย อะไรที่ยิ่งใหญ่เมื่อเช้า เป็นของเล็กน้อยเมื่อเย็น อะไรที่เป็นสัจจะเมื่อแดดจ้า กลายเป็นมายาเมื่อยามพลบ

We cannot live the afternoon if life
according to the program on life’s morning; for what was great in the morning will be little at evening, and what in the morning was true will at evening have become a lie.



C.G. Jung.




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add มีชีวิตบนดาวอังคารหรือเปล่านะ's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.