ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

cartoonthai
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 237 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add cartoonthai's blog to your web]
Links
 

 
คืนขวัญหาย


"นายว่าน" เล่าเรื่องน่าขนหัวลุกจากท่าน้ำวัดเทพนารี

สมัยหนุ่มผมเคยอยู่บ้านเพื่อนที่บางพลัด จรัญสนิทวงศ์ 68 ใกล้ๆ กับวัดเทพนารี เราทำงานอยู่แถวปิ่นเกล้าด้วยกัน เจ้าจอมเห็นผมเช่าห้องอยู่คนเดียวเหงาๆ ก็เลยชวนผมมาอยู่ด้วย ที่บ้านมีแต่ลุงกับป้าที่อยู่ในซอยนั้นมานานแล้ว

เจ้าจอมเล่าว่ามันกำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เด็กๆ ได้อาศัยลุงกับป้านี่แหละที่เลี้ยงดู ส่งเสียให้เล่าเรียนจนจบ มีการงานทำเลี้ยงตัวได้เอง หรือ "รอดปากเหยี่ยวปากกา" ได้สำเร็จ

ลุงเจิมกับป้ามะลิมีบุญคุณเหมือนพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดแท้ๆ

เรายังโสดเหมือนกัน ลุงกับป้าเพิ่งจะเกษียณอายุ ไม่มีลูกเต้าแม้แต่คนเดียว จึงรักใคร่เจ้าจอมเหมือนลูกแท้ๆ และพลอยเผื่อแผ่มาถึงผมด้วยประสาคนใจดี

ลุงเจิมเล่าว่าเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อนยังมีบ้านเรือนไม่กี่สิบหลัง ขนาดเดินลัดเลาะไปออกถนนใหญ่แล้วยังดูเปล่าเปลี่ยวแม้จะเป็นกลางวันแสกๆ เพราะรถรายังมีน้อย สองข้างทางมีแต่เรือกสวนแทบทั้งนั้น

เรื่องพระกับเรื่องผีมักจะเป็นของคู่กับวัดทุกแห่งนะครับ วัดไหนก็วัดนั้น!

เรื่องผียิ่งมีมากมายแทบไม่น่าเชื่อ! ไหนจะผีที่ป่าช้า ไหนจะผีที่ผูกคอตายในสวน คนแถวนั้นไม่ค่อยอยากเดินผ่านตอนกลางคืน เพราะบรรยากาศมันเยือกเย็น วังเวงใจน่ากลัว เล่นเอาหลังเย็นวาบๆ ไปตามๆ กัน

ไหนจะผีตกน้ำตาย ลอยอืดผ่านมาตอนหน้าน้ำ บางทีก็ "มาแพะ" หรือเกยฝั่งแถววัด มองเห็นก็สุดสยองแล้วครับ!

ลุงเจิมเล่าว่าตอนที่ยังไม่มีสะพานกรุงธน ชาวบ้านมักจะลงเรือไอข้ามฟากไปฝั่งสามเสน ไม่ว่าทำงานหรือไปเรียนหนังสือ ตอนเย็นๆ ก็นั่งเรือกลับ ค่าเรือตั้งแต่หนึ่งสลึงมาถึงสองสลึงนับว่าแพงเอาการใน สมัยนั้น

ใครจำเป็นต้องกลับบ้านดึก ต้องอาศัยเรือจ้างข้ามฟากเพราะเรือเมล์เลิกบริการตอนสองทุ่ม ค่าเรือจ้างคนละหนึ่งบาท ถ้าหัวค่ำก็รอหลายคน แต่ถ้าดึกหน่อยคนเดียวก็ไปแล้ว

คืนไหนคนมาก เรือจ้างก็แจวสวนกันหลายลำ แต่คืนไหนคนน้อยก็จะจอดรอผู้โดยสารทั้งสองฝั่ง คนแจวเรือส่วนมากมักจะวัยกลางคนไปถึงวัยชราทั้งนั้น

ผูกเชือกเรือไว้กับเสา คนแจวก็นั่งพักสูบยาแดงวาบๆ พอเห็นคนเดินมาที่โป๊ะ หรือแม้แต่ลงสะพานจากท่าน้ำก็รีบเหวี่ยงก้นยาทิ้ง แก้เชือก แจวเรือเข้ามารับอย่างรวดเร็วทันใจ

เขาว่าส่วนมากมักจะติดใบกระท่อมกันแทบทุกคน!

คนแจวเรือตอนกลางวันเจอแดดร้อนๆ ก็สู้ไม่ไหว ไหนจะเหนื่อยไหนจะร้อน แต่ถ้าเคี้ยวใบกระท่อมเข้าไปทำให้สู้แดดได้สบายมาก...ถึงแม้จะมาหากินตอนกลางคืนก็ติดใบกระท่อมจนถอนตัวไม่ขึ้นเสียแล้ว

บางคนก็ต้องดวดเหล้าโรงตอนเย็นๆ ที่ท่าสามเสน ไม่งั้นไม่มีแรงแจวเรือครับ แต่ถ้าได้เหล้าเข้าไปร้อนๆ ท้องจะกระปรี้กระเปร่า บอกว่าจะให้ไปส่งใกล้ไกลแค่ไหนก็สบายมาก

ที่ท่าน้ำมีขนมจีนไหหลำเจ้าอร่อย มีน้ำชากาแฟและสุราพร้อม คนแจวเรือบางคนเมาขนาดตกน้ำตกท่าก็มี แต่เคราะห์ดีที่มีคนช่วยชีวิตเอาไว้ได้ทัน

ลุงเจิมกับป้ามะลิเคยประสบกับเหตุการณ์น่าขนหัวลุก เมื่อไปเยี่ยมญาติที่นอนป่วยอยู่โรงพยาบาลวชิระ ว่าจะกลับบ้านตอนหัวค่ำแล้วเชียว แต่ญาติเกิดอาการหนักเข้าขั้นโคม่า เลยต้องอยู่กับพวกญาติคนอื่นๆ จนเกือบสามทุ่ม...

คนเจ็บก็สิ้นลมในคืนนั้นเอง!

ทั้งอ่อนเพลียและหิวโหย ทั้งเป็นห่วงเจ้าจอมที่ยังเล็กอยู่ ออกมาหาอะไรกินที่โรงพักสามเสน ก่อนจะเดินไปที่ท่าน้ำเปล่าเปลี่ยว เงียบเชียบ มีแสงไฟเยือกเย็นชวนให้วังเวงใจสิ้นดี

เรือไอหยุดแล่นไปนานแล้ว พอไปถึงโป๊ะก็เห็นคนแจวเรือชื่อลุงชุ่มสูบยาแดงวาบๆ ก่อนจะแก้เชือก วาดหัวเรือเข้ามาเทียบ แสงไฟสองฟากฝั่งดูเยือกเย็นน่าหนาวใจ...จนกระทั่งเรือจ้างมาเทียบโป๊ะวัดเทพนารี ลุงเจิมกับป้ามะลิขึ้นมาแล้วจึงส่งเงินสองบาทให้ลุงชุ่ม

ครั้นก้าวขึ้นสะพานที่ลาดชันเพราะน้ำลง ไปยังศาลาอันสูงเด่น ลมดึกพัดวูบจนขนลุกซ่า ลุงเจิม หันหลังไปมองคล้ายมีอะไรดลใจ แล้วก็ต้องตกตะลึง ตัวแข็งทื่ออยู่กับที่...

ไม่มีเรือจ้างที่เพิ่งมาส่งหยกๆ เสียแล้ว!

ตอนแรกคิดว่าตัวเองตาฝาด บอกให้ป้ามะลิช่วยดู แต่ทั่วท้องน้ำมืดสลัวก็ไม่ปรากฏเรือจ้างเลยแม้แต่ลำเดียว เล่นเอาเดินขาสั่นกลับบ้าน...รุ่งขึ้นถึงได้ข่าวว่าลุงชุ่มหิ้วเหล้าลงไปกินในเรือ ตกน้ำตายตั้งแต่ตอนหัวค่ำ...ไม่รู้ว่าผีแกแจวเรือมาถึงท่าวัดเทพนารีได้ยังไงกัน?! บรื๋อออ...


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ข่าวสด



Create Date : 15 มีนาคม 2556
Last Update : 15 มีนาคม 2556 8:29:36 น. 0 comments
Counter : 1680 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.