บริหาร การจัดการ การตลาด พัฒนาตนเอง พัฒนาความคิด กลยุทธ์ ธรรมะ จักรราศี ฯลฯ
จัดตั้งธุรกิจ ปรับปรุงกิจการ | ไขความลับสมองเงินล้าน | การเขียนแผนธุรกิจ | บริหารคน บริหารงาน | พัฒนาความคิด
พระไตรปิฎกฉบับหลวง | แด่องค์กรที่แสนรัก | สุขใจกับเด็กสมาธิสั้น
Group Blog
 
 
มกราคม 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
11 มกราคม 2551
 
All Blogs
 
สุขใจกับเด็กสมาธิสั้น - การรักษาด้วยยา

บทที่ 15 การรักษาด้วยยา



ยาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรคสมาธิสั้น ควบคู่ไปกับการฝึกต่างๆในบทที่ผ่านมา การใช้ยานอกจากจะลดอาการสมาธิสั้น อาการซนอยู่ไม่นิ่งได้แล้ว ยังช่วยให้เด็กควบคุมตนเองได้ดีขึ้น รู้จักยั้งคิด รู้จักฟัง ทำให้การฝึกนิสัยต่างๆง่ายขึ้นอย่างมาก


ยาออกฤทธิ์อย่างไร


ยาที่ใช้ในโรคสมาธิสั้น ออกฤทธิ์ทำให้สมองของเด็กสมาธิสั้นส่วนที่ทำหน้าที่ต่างๆน้อย กลับมาทำหน้าที่ได้เหมือนเด็กทั่วไป ทำให้เด็กสมาธิสั้นมีอาการดีขึ้น ควบคุมสมาธิได้ดีขึ้น ตั้งใจทำงาน ทำงานเสร็จ เรียนรู้เรื่อง เรียนสนุก อยากเรียน ผลการเรียนดีขึ้น มีทัศนคติด้านบวกต่อการเรียน มีความมั่นใจในการเรียน รู้สึกตนเองทำอะไรประสบผลสำเร็จดีกว่าเดิม ความรู้สึกต่อตนเองดีขึ้น ควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น อาการซนอยู่ไม่นิ่งลดลง

สมองของเด็กสมาธิสั้น ส่วนที่หน้าที่น้อย ได้แก่
  • สมองส่วนกลาง ที่ทำหน้าที่คัดกรองสิ่งกระตุ้นที่อยู่รอบๆตัวเด็ก ปกติเด็กจะคัดกรองสิ่งกระตุ้นให้เป็นระบบ ไม่เข้าไปแย่งความสนใจกันในสมองมากเกินไป สิ่งกระตุ้นที่เข้าไปพร้อมๆกันโดยไม่คัดกรอง ทำให้เด็กไม่สามารถจดจ่อกับการเรียน(ซึ่งไม่สนุก)ได้ ไม่สามารถตั้งใจทำงานที่ยากจนจบได้


  • สมองส่วนหน้า ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการ สร้างความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ คิดวิเคราะห์ วางแผน และควบคุมตนเอง ให้สงบนิ่ง ไม่ทำตามใจตนเอง หยุดยั้งคิดไตร่ตรอง



ยามีกี่ประเภท


ยาที่ใช้รักษาอาการโรคสมาธิสั้น ที่ใช้บ่อยมีดังนี้

1. เมธิลเฟนิเดต (Methylphenidate) เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด รักษาได้ผลประมาณร้อยละ 80 เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มยากระตุ้นประสาท ในประเทศไทยขณะนี้มี 2 รูปแบบ คือ

แบบออกฤทธิ์สั้น (ชื่อการค้า Ritalin และ Rubifen) ออกฤทธิ์ประมาณ 30 นาทีหลังรับประทาน ฤทธิ์ยาอยู่นานประมาณ 3-4 ชั่วโมง ต้องให้ยาวันละ 2-3 ครั้ง (เช้า-เที่ยง หรือ เช้า-เที่ยง-บ่าย ขึ้นกับอาการ) ขนาดเริ่มต้นในการรักษา 5 มิลลิกรัม หลังอาหาร เช้า-เที่ยง หรือ เช้า-เที่ยง-บ่าย และเพิ่มได้มื้อละ 2.5-5 มิลลิกรัม จนกระทั่งเด็กอาการดีขึ้น

แบบออกฤทธิ์ยาว (ชื่อการค้า Concerta) ออกฤทธิ์นานประมาณ 12 ชั่วโมง เป็นยาใหม่ที่ใช้ในการรักษาโรคสมาธิสั้น เนื่องจากการใช้ยาแบบออกฤทธิ์สั้นมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น เด็กลืมกินยามื้อเที่ยง เบื่อกินยา อาย ไม่อยากให้เพื่อนเห็นว่าต้องกินยาที่โรงเรียน รู้สึกกลัวเพื่อนรู้ว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวช ยาหมดฤทธิ์เร็วทำให้อาการอาจมีลักษณะ “ขึ้น-ลง”ตามระดับของยาในร่างกาย โอกาสเกิดอาการขาดยา ดื้อยา มีมากกว่า

ยาใหม่ที่มีการออกฤทธิ์ยาวจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ คือ

  1. เด็กกินยาเพียงวันละครั้ง สะดวก ไม่ต้องกังวลว่าจะลืมกินยามื้อกลางวัน


  2. เพิ่มความร่วมมือต่อการกินยา


  3. ไม่พบลักษณะ “ขึ้น-ลง” ของอาการ และลดโอกาสเกิดอาการขาดยา หรืออาการแกว่ง(มีอาการมากตอนยาลดระดับ เช่นตอนเย็นอยู่ที่บ้านจะซนกว่าเดิม) เนื่องจากระดับยาในร่างกายจะค่อยๆลดระดับลง


  4. โอกาสเกิดการดื้อยาน้อยกว่า


  5. เด็กยังคงมีสมาธิดีขณะทำการบ้านในตอนเย็น เนื่องจากยายังไม่หมดฤทธิ์


  6. โอกาสที่ผู้ป่วยนำยาไปใช้เป็นยาเสพติดมีน้อย เนื่องจากรูปแบบของเม็ดยา Concerta ไม่สามารถทำให้แตก หรือปริได้โดยง่าย เด็กจึงไม่สามารถนำตัวยามาเสพสู่ร่างกายโดยวิธีอื่นได้ หากเด็กกินก็จะไม่ได้ความรู้สึก “เป็นสุข” เนื่องจากระดับยาไม่ได้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วพอที่จะทำให้เกิดความรู้สึกนั้นได้ แต่ระดับยาจะค่อยๆไต่ระดับสูงขึ้นอย่างช้าๆ ข้อดีนี้อาจช่วยลดความกังวลของพ่อแม่ที่เกรงว่า เด็กจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดยาหากรับประทานยาที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับยากระตุ้นประสาท


เม็ดยา Concerta เป็นแคปซูล ที่มีลักษณะเป็นให้น้ำซึมผ่านเข้าได้ โดยด้านนอกเคลือบด้วยยาที่ถูกดูดซึมและออกฤทธิ์ภายใน 20-30 นาทีหลังจากรับประทาน ส่วนภายในถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่บรรจุด้วยยา 2 ส่วน อีกหนึ่งส่วนเป็นส่วนดันยา ที่จะทำงานเมื่อน้ำซึมผ่านเข้ามาในเม็ดยา กลไกนี้เองที่ทำให้ Concerta มีระยะเวลาการออกฤทธิ์นานถึง 12 ชั่วโมง


2. อโทม็อกซิทีน atomoxetine (ชื่อการค้า Strattera) เป็นยาในกลุ่ม Selective Norepinephrine Reuptake Inhibitor (SNRI)เป็นยาใหม่ที่อยู่ในขั้นตอนนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย ข้อดีของยานี้ คือ ไม่ใช่ยาในกลุ่มกระตุ้นระบบประสาท



3. ยาต้านโรคซึมเศร้า ได้แก่

  • ยาต้านโรคซึมเศร้าไทรไซคลิค (Tricyclic antidepressant) ชื่อImipramine(ชื่อการค้า Tofranil) และ Nortriptyline(ชื่อการค้า Nortrilen)


  • ยาต้านโรคซึมเศร้าอื่นๆ ได้แก่ Buproprion (ชื่อการค้า Quomem SR) หรือ Venlafaxine (ชื่อการค้า Efexor XR/)



4. ยาลดความดันโลหิต (Antihypertensives) ได้แก่ Clonidine (ชื่อการค้า Catapres)

5. ยาต้านโรคจิต Antipsychotics ได้แก่ยาในกลุ่ม atypical antipsychotics เช่น Risperidone (ชื่อการค้า Risperdal)



ต้องกินยานานเท่าใด


ยานี้เมื่อได้ผลดี แพทย์จะให้กินทุกวัน ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี ส่วนใหญ่จะหยุดยาได้ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้นแล้ว เด็กที่ได้รับการฝึกพฤติกรรมดี จะหยุดยาได้เร็ว แต่มีบางคนที่ยังกินยาต่อไปจนเป็นผู้ใหญ่ หรือใช้ยาบางครั้งบางสถานการณ์ที่ต้องการสมาธิมากๆ


ยานี้กินนานๆจะติดไหม มีผลต่อร่างกายระยะยาวหรือไม่


ยาที่ใช้ทุกตัวไม่ทำให้ติด แม้จะกินติดต่อกันนาน เนื่องจากฤทธิ์ของยาไม่ทำให้เกิดความพอใจเหมือนยาเสพติด แพทย์มีข้อมูลยืนยันได้จากการรักษาเด็กจำนวนมาก เป็นเวลานานหลายปีแล้ว พบว่ายานี้ปลอดภัย ไม่ติดยา ไม่มีผลต่ออวัยวะต่างๆของร่างกาย(ตับ ไต หัวใจ ปอด สมอง ฯลฯ) ในระยะยาว



ผลข้างเคียงมีอะไรบ้าง


เมธิลเฟนิเดต(Methylphenidate) มีผลข้างเคียงดังนี้

  • เบื่ออาหาร ในมื้อต่อมา แต่จะกินชดเชยในมื้ออื่นๆ ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตในระยะยาว


  • ปวดศีรษะ อาจเกิดในมื้อแรกๆ เมื่อให้กินยาต่อไป จะดีขึ้นและหายปวดหัวได้เอง ร่างกายมีการปรับตัวต่อยาได้ ไม่มีอันตราย ไม่ต้องหยุดยา


  • นอนไม่หลับ โดยเฉพาะเมื่อกินยาหลังเวลา 17.00 น. ถ้าแพทย์ให้กินยามื้อบ่ายหรือเย็น ควรกินก่อนเวลา 17.00 น.


อาการข้างเคียงของยานี้ ไม่ได้เกิดทุกคน แพทย์มักแนะนำก่อนการให้ยา และวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดผลข้างเคียง ถ้าสงสัยให้รีบติดต่อแพทย์ผู้รักษาโดยเร็ว



อธิบายให้เด็กยอมรับการกินยาได้อย่างไร


  1. เด็กวัยเรียนมักเข้าใจเหตุผลของการกินยา แพทย์และพ่อแม่ควรอธิบายให้เด็กเข้าใจตรงกันว่า ยาช่วยให้เขาควบคุมสมาธิและตั้งใจเรียนได้ดีขึ้น ควรแนะนำด้วยว่าโรคที่เป็นนี้ไม่ใช่โรคจิตโรคประสาท เขาเป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งรักษาได้ ยาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาร่วมกับการฝึกพฤติกรรมต่างๆ เพื่อให้เขาเป็นคนเก่งขึ้น ตั้งใจทำงานหรือเรียนได้ดีขึ้น


  2. อธิบายว่ายานี้ไม่มีผลต่อร่างกายระยะยาว ไม่ติดยา ไม่ต้องกลัว ถ้าสงสัยให้ปรึกษาแพทย์ ทันที


  3. อธิบายว่ายานี้ไม่ใช่ยาระงับประสาท ไม่กดประสาท ไม่ง่วงไม่งง แต่จะทำให้นิ่งขึ้น ไม่ใช่อาการซึม เมื่ออยู่นิ่ง ควรให้เด็กเรียน หรือทำงาน เพราะเวลาที่นิ่งๆนั้นจะควบคุมสมาธิได้ดี


  4. ควรพยายามให้เด็กมีส่วนร่วมในการกินยาเอง เป็นการฝึกความรับผิดชอบ และมีทัศนคติดีต่อการกินยา


  5. พ่อแม่ และครูไม่ควรพูดถึงการกินยา หรือการเป็นโรคนี้ทางด้านลบ หรือล้อเลียนให้เด็กอาย



เด็กควรบอกเรื่องการกินยาแก่เพื่อนและครูอย่างไร


พ่อแม่ควรสอนให้เด็กให้สามารถบอกเพื่อน หรือครูได้ ว่าเขาเป็นอะไร ทำไมถึงต้องกินยา ควรให้เด็กเตรียมคำพูดเหล่านี้

“ผมกินยาสมาธิสั้น หมอให้กินยาเพื่อให้มีสมาธิดีขึ้น ตั้งใจเรียน และทำงานเสร็จ”

“โรคสมาธิสั้นไม่ใช่โรคจิตโรคประสาท รักษาได้”

“อาการซนอยู่ไม่นิ่งเป็นจากโรคสมาธิสั้นนี้”

“โรคสมาธิสั้นพบได้บ่อยๆ ในนักเรียนพบ ประมาณ ร้อยละ 5”

“หลังจากกินยาแล้วประมาณ ครึ่งชั่วโมง จะควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น”



ครูมีส่วนช่วยเหลือในการกินยาอย่างไร


  1. ในเด็กอายุน้อย มักลืมกินยามื้อเที่ยง ครูอาจช่วยเตือน(เป็นการส่วนตัว ไม่จำเป็นต้องให้เด็กอื่นรับทราบ หรือประกาศให้มากินยาต่อหน้าเด็กอื่น)


  2. ครูอาจช่วยจัดยาให้เด็ก โดยพ่อแม่ฝากยาไว้กับครู เมื่อถึงเวลา ให้เด็กมาพบครูเพื่อรับยา ถ้าเด็กลืมค่อยเรียกให้มารับยา ดูให้เด็กกินต่อหน้า โดยเฉพาะในเด็กที่มีแนวโน้มจะหลีกเลี่ยงการกินยา


  3. ชมเมื่อเด็กรับผิดชอบการกินยา ตามที่ตกลงกันไว้


  4. กำกับให้กินยา โดยไม่ต้องพูดมากสอนมาก


  5. ให้ความมั่นใจกับเด็กว่า การกินยาในความดูแลของแพทย์มีความปลอดภัย ได้ประโยชน์ เช่น ครุเห็นชัดเจนว่าตั้งใจเรียนขึ้น ทำงานเสร็จ เรียบร้อย อารมณ์ดี เป็นต้น


  6. ชมเมื่อเด็กมีพฤติกรรมดีขึ้น ให้เด็กเข้าใจว่า ดีขึ้นเนื่องจาก “ครึ่งหนึ่งจากยา อีกครึ่งหนึ่งจากการควบคุมตัวเอง”


  7. พยายามให้เด็กรับผิดชอบกินยาเอง เตือนตัวเอง ให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ


  8. ไม่หงุดหงิดกับการลืมกินยา เพราะเป็นอาการของโรคสมาธิสั้นนั่นเอง


  9. ให้ความมั่นใจกับพ่อแม่ เมื่อพฤติกรรมหลังการกินยาดีขึ้น เนื่องจากพ่อแม่ไม่เห็นพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้มากเท่าที่คุณครูเห็น (ตอนเย็น ยาหมดฤทธิ์แล้ว ที่บ้านจึงเห็นซนเหมือนเดิม)



ไม่กินยาได้หรือไม่


การศึกษาติดตามระยะยาวพบว่า ถ้าไม่กินยามีโอกาสเกิดปัญหาต่างๆตามมามากกว่า การเลี้ยงดูฝึกนิสัยต่างๆ ทำได้ยากมาก และที่สำคัญคือ เด็กขาดการเรียนรู้เรียนไม่สนุก ไม่อยากเรียน เบื่อเรียน จนเกิดทัศนคติด้านลบต่อการเรียน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขเมื่อโตขึ้น

ปัจจุบันนี้ แพทย์จึงแนะนำให้กินยาต่อเนื่องกันทุกวัน แม้ในวันที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะฤทธิ์ของยาจะช่วยด้านพฤติกรรมอื่นๆด้วย

การหยุดยาเป็นระยะๆอาจพิจารณาในบางราย เช่น หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงปิดเทอม แต่ในรายที่เป็นมาก มักแนะนำให้กินทุกวัน ประโยชน์ที่ได้จะคุ้มค่ากว่าการไม่กินยาอย่างมาก


เมื่อเด็กไม่กินยา


  1. พูดคุยสอบถามเด็ก เรื่อง ผลข้างเคียงของยา อายเพื่อน ลืม เบื่อ ไม่มีน้ำกิน ยาหาย รับฟังความไม่สบายใจอย่างสงบ อย่าเพิ่งสอน เตือน ดุ ก่อนจะฟังจนจบ


  2. ชวนเด็กคิดว่า จะแก้ปัญหานั้นอย่างไร ชมการคิดแก้ปัญหาที่ดี ชี้แนะ หรือ แนะนำตรงในประเด็นที่เด็กคิดไม่ออก แต่สร้างความรู้สึกว่า ถึงอย่างไรคงต้องกินยา แต่จะให้เกิดปัญหาตามมาน้อยที่สุดอย่างไร


  3. ให้ความมั่นใจในผลของการใช้ยา ประโยชน์ในเรื่องสมาธิ และการช่วยควบคุมตนเอง ซึ่งเด็กอาจไม่ทราบว่าตนเองดีขึ้น


  4. ช่วยกันหาวิธีป้องกันการ “ลืม” เช่น มีการเขียนเตือนไว้ที่กล่องอาหารกลางวัน ใส่ยาไว้ในกล่องในกระเป๋า จะมีเสียงดังเวลาขยับตัว เตือนให้เด็กคิดถึงการกินยา


  5. เขียนตารางกิจกรรมส่วนตัว ทุกวัน กำหนดการกินยา


  6. เมื่อเด็กลืมกินยา อย่าดุหรือลงโทษ ควรชมที่มาเปิดเผยความจริง และชวนคุยต่อ ว่าจะป้องกันปัญหานี้อย่างไร (การดุ ทำโทษ ในกรณีนี้จะทำให้เด็กหลีกเลี่ยง ปกปิดเวลาลืม หรือแอบทิ้งยา เพราะกลัวถูกจับได้ว่าลืม)


ประโยคเด็ด เกี่ยวกับการกินยา


คำพูดของพ่อแม่ และครู มีความหมายต่อความคิดและพฤติกรรมการกินยาเด็กอย่างมาก ประโยคต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ควรเปลี่ยนแปลง ได้แก่

“ซนอีกแล้วใช่ไหม ลืมกินยาหรือเปล่า” ควรเปลี่ยนแปลงเป็น “ไหนพ่อขอดูยาที่เหลือหน่อย เกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า”

“อย่าลืมกินยานะ” ควรเปลี่ยนแปลงเป็น “ลูกจะเตือนตัวเองอะไรดี”

“ทำไมถึงลืมกินยา” ควรเปลี่ยนแปลงเป็น “เกิดอะไรขึ้น ลูกจึงไม่ได้กินยา”

“ทำไมพูดไม่จำนะ ว่าต้องกินยาทุกวัน” ควรเปลี่ยนแปลงเป็น “ลูกจะเตือนตัวเองเรื่องยา อย่างไร”

“เบื่อจริงๆเลย ต้องให้บอกทุกวัน” ควรเปลี่ยนแปลงเป็น “แม่เป็นห่วง เรื่องการได้รับยาสม่ำเสมอ ตามที่หมอแนะนำ"

“ไม่ได้เรื่องเลย อย่างนี้ยาก็ช่วยไม่ได้” ควรเปลี่ยนแปลงเป็น “บางทีการฝึกนิสัยต่างๆก็ต้องใช้เวลานะ พยายามอีกหน่อย ยาคงช่วยได้เพียงครึ่งเดียว ที่เหลือเป็นความพยายามของลูกนะ”

“ยากันแสบอยู่ไหน กำเริบอีกแล้ว” ควรเปลี่ยนแปลงเป็น “พ่อเห็นว่าลูกไม่ค่อยนิ่ง สงสัยว่าจะลืมกินยา”

คำพูดที่ดี คือคำพูดที่ไม่สร้างความรู้สึก”ลบ” กับการเป็นโรคสมาธิสั้นนี้ หรือด้าน”ลบ” ต่อการกินยา


สรุป


พ่อแม่และคุณครู สามารถช่วยให้เด็กสมาธิสั้นเข้าใจตนเอง เห็นประโยชน์ของการกินยาอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการฝึกพฤติกรรมต่างๆ


เอกสารอ้างอิง


1. Barkley RA. Attention deficit hyperactivity disorder : a handbook for diagnosis and treatment. The Guilford Press:New York, 1990.
2. Hersen M Van Hasselt VB. Behavior therapy with children and adolescents: a clinical approach. John Wiley&Son,Inc. :New York, 1987.
3. Matson JL ed. Handbook of hyperactivity disorder in children. Allyn and Bacon:Boston, 1993.
4. Taylor EA ed. The overactive child. Mac Keith Press:Sufffolk,1986.

หนังสือและเอกสารที่น่าอ่านเพิ่มเติม


1. วินัดดา ปิยะศิลป์ คู่มือสำหรับพ่อแม่ ตอน เด็กสมาธิสั้น บริษัท โฮลิสติก พับลิชชิ่ง จำกัด กรุงเทพฯ 2537 ISBN 974-7803-45-3

2. ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เพื่อความเข้าใจเด็กสมาธิสั้น/ซน สำหรับผู้ปกครองและครู แจนเซ่น ซีแลค กรุงเทพฯ

3. ชาญวิทย์ พรนภดล มารู้จักและช่วยเด็กสมาธิสั้นกันเถอะ แจนเซ่น ซีแลค กรุงเทพฯ 2546

4. ธัญญา ผลอนันต์ ใช้หัวคิด แปลและแปลงเป็นไทย พิมพ์ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์ขวัญข้าว กรุงเทพฯ 2544 ISBN 974-87775-2-9

5. พัชรีวัลย์ เกตุแก่นจันทร์ เด็กสมาธิสั้น คลินิคส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ ภาควิชาการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรุงเทพฯ



หน่วยงานที่ช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้น


  • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล


  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย


  • คณะแพทยศาสตร์ของรัฐและเอกชนทุกแห่ง


  • สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


  • โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข


  • โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ที่มีบริการจิตเวชศาสตร์ หรือจิตเวชเด็กและวัยรุ่น



ผู้นิพนธ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ พนม เกตุมาน
หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

การศึกษา
  • แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล


  • วุฒิบัตรจิตเวชศาสตร์ หนังสืออนุมัติจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล


  • Diploma of Child and Adolescent Psychiatry Institute of Psychiatry London 1993


Websites //www.psyclin.co.th


Create Date : 11 มกราคม 2551
Last Update : 27 ธันวาคม 2551 21:54:32 น. 20 comments
Counter : 7329 Pageviews.

 
เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ขอบคุณค่ะ


โดย: รัตตมณี (kulratt ) วันที่: 11 มกราคม 2551 เวลา:16:05:41 น.  

 
ขอบคุณมากค่ะ คุณ wbj ข้อมูลเป็นประโยชน์มาก ๆ สำหรับพ่อแม่ที่เป็นกังวลเรื่องลูกอยู่ ขอเป็นกำลังใจให้ทำสิ่งดี ๆ นี้ต่อไปนาน ๆ นะคะ

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ


โดย: จิตตา IP: 124.121.80.50 วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:14:02:06 น.  

 
สนทนา


โดย: ปัด IP: 58.8.155.241 วันที่: 1 มีนาคม 2551 เวลา:10:15:21 น.  

 
ได้รับข้อมูลเรื่องเด็กสมาธิสั้น จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับเด็ก ๆ และเผยแพร่แก่คณะครูและพ่อแม่ค่ะ ขอกราบขอบพระคุณกับผู้0yfทำ wbj นะคะ


โดยสุดสวาท วันที่ 16 เมษายน 2551


โดย: สุดสวาท IP: 124.157.160.191 วันที่: 16 เมษายน 2551 เวลา:7:40:13 น.  

 
คุณหมอจิตเวชที่ ร.พ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พร. ดูแลเด็กสมาธิสั้นได้ดีมากค่ะ


โดย: นางราตรี IP: 202.149.24.129 วันที่: 19 มิถุนายน 2551 เวลา:13:01:38 น.  

 
ทำอย่างไร ? ครูที่อยู่ใกล้ชิดเด็กจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กสมาธิสั้นให้มากกว่านี้ พ่อแม่พยายามดูแลเอาใจใส่ไม่ให้ลูกรู้สึกไร้ค่าไร้ความสามารถ แต่ครูที่โรงเรียนกลับไม่มีความรู้ และเป็นผู้ทำร้ายจิตใจเด็กเสียเอง ทั้งที่เป็นครู ซึ่งน่าจะมีความรู้ในเรื่องนี้มากกว่าพ่อแม่เสียอีก ที่สำคัญโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนมีชื่อเสียงมายาวนาน


โดย: แม่..ลูก ADHA+LD IP: 202.44.7.81 วันที่: 25 กรกฎาคม 2551 เวลา:15:58:45 น.  

 
ทำไมต้องย้ายโรงเรียนให้ลูกถึง 3 ครั้ง
1. เพื่อน ๆ ล้อว่าเป็นเป็นออทิสติกเมื่อครั้งที่เขาแค่อายุ 3 ปี เด็กๆ เอาคำนี้มาจากไหน ถ้าไม่ใช่คุณครู?
2. ลูกกลับจากโรงเรียนพบว่ามีรอยฟกช้ำ สอบถาม ครูตีเพราะอึ รดกางเกง
3. ครู พยามยามที่จะให้ลูกย้ายโรงเรียน เพียงเพราะกลัวทำให้เพื่อน ๆ ไม่มีสมาธิเรียนหนังสือ


โดย: หัวอกเดียวกัน IP: 125.24.117.117 วันที่: 6 มิถุนายน 2552 เวลา:10:05:35 น.  

 
วันนี้ได้อ่านข่าวผลกระทบจากการใช้ยา Concerta และRitalin จากรายงานในวารสารทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา เผยผลการศึกษา พบว่า การใช้ยาสมาธิสั้นอาจสัมพันธ์กับสาเหตุของการตายอย่างเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุในเด็ก (Sudden Death) รู้สึกกังวลใจมากค่ะ เพราะลูกใช้ยา Concerta มาประมาณ เกือบ 2 ปี แล้ว ตอนนี้ลูก อายุ 8 ปี เรียนชั้น ป. 2 รักษากับจิตแพทย์เด็ก ที่โรงพยาบาลระยอง บอกตามตรงค่ะ ว่าจะให้ลูกทานยาเฉพาะวันจันทร์-ศุกร์เท่านั้น เสาร์-อาทิตย์และวั้นปิดเทอม จะไม่ให้ทานเลย เพราะถึงแม้ก่อนจะมีข่าวนะค่ะ ไม่ว่าคุณหมอ หรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้ จะบอกว่ายาไม่เป็นอันตราย และยาจะไม่สะสมในร่างกาย แต่ก็รู้สึกว่ามันอันตรายอยู่ดี จะขอเล่าประสบการณ์การใช้ยาให้ฟังนะค่ะ ว่าปกติก็ไม่พบปัญหาเลยค่ะ ลูกมีสมาธิดีขึ้นมากหลังจากทานยา แต่เนื่องจากระบบการจัดการยาของพ่อ-แม่ไม่ดีค่ะ คือว่า ไปหาหมอครั้งหนึ่งจะซื้อยามาสต๊อกไว้ 3 ขวด
แล้วไปทานยาที่จะหมดอายุที่หลังเสียก่อน ดังนั้นยาที่เหลือขวดสุดท้าย จะหมดอายุในอีก 1 เดือน ก็เพราะเห็นว่าอีกตั้ง 1 เดือนแหนะ และประกอบกับราคายาที่แสนแพง จึงให้ลูกทานยาต่อ ปรากฏว่า ลูกมีอาการตากระตุก คือลูกตา ทั้ง 2 ช้างจะกลิ้งจากข้างขวาไปซ้าย โดยเริ่มค่อยๆกระตุก อย่างช้าๆก่อนค่ะ จนเริ่มกระตุกเร็วและถี่ขึ้น ตอนแรกคิดว่าลูกแกล้ง แล้วลูกเริ่มอาฃ่านหนังสือ หรือดูทีวี ต้องเอียงหน้าประมาณ 45 องศา ตอนนั้นเริ่มกังวลใจแล้วค่ะ ว่าลูกต้องผิดปกติแน่ ๆ จึงสอถามไปยังคุณครูที่โรงเรียน คุณครูก็สังเกตุเห็นเช่นกันค่ะ ก็สงสัยว่าน่าจะเป็นที่ตัวยา Concerta แน่นอน เป็นแค่ประมาร 3-4 วันเท่านั้น ก็เลยไปหาหมอตาก่อนค่ะ ให้เช็คให้ว่า ระบบตาเมีปัญหาหรือเปล่า คุณหมอเองก็สงสัยค่ะ และบอกว่า จะส่งไปให้อาจารย์หมอที่กรุงเทพตรวจให้ละเอียดอีกครั้ง และก็เลยเล่าให้หมอฟังค่ะว่า ลูกเป็นเด็กสมาธิสั้น คุณหมอแก้ฃก็เลยให้กลับไปพบกับจิตรแพทย์ที่ดูแลก่อน แต่ก่อนไปพบจิตรแพทย์ ก็ให้ลูกหยุดทานยาไปเลยค่ะ ประมาณ 1-12 วัน อาการก็ดีขึ้นไม่เกิด ตากระตุกอีกเลย พอไปพบจิตรแพทย์ แกก็งงค่ะว่าไม่เคยเจอ case แบบนี้เลย ส่วนมากจะเป็นตาติ๊ก หมายถึงขยิบตาบ่อยๆ ซึ่งแกว่า ถ้าพ่อ-แม่ รำคาญตาติ๊กของลูกคุณหมอก็มียากินแก้ตาติ๊กค่ะ แต่ก็บอกว่า ไม่ค่ะ แค่ยา Concerta ตัวเดียวก็ไม่อยากให้กินแล้ว นี่ก็เยอะเกินแล้ว อยากทราบข้อมูลมากค่ะ ว่ามีทางไหนบ้างที่จะดูแลเด็กสมาธิสั้นโดยไม่ใช้ยา บำบัด ช่วยรบกวนแจ้งที่ Mail :onoum641@hotmail.com ด้วยค่ะ ขอขอบพระคุณอย่างมากค่ะ
ขนิษฐา


โดย: ขนิษฐา IP: 222.123.114.126 วันที่: 30 พฤศจิกายน 2552 เวลา:20:31:42 น.  

 
เดี๋ยวนี้ไปหาหมอ ทีไร เด็กเป็นสมาธิสั้นทุกที ไม่รู้มั่วหรือเปล่า เด็กกินเสพติด ติดยาแย่เลย ได้ยินว่ายาตัวนี้คล้ายยาบ้า กินแล้วติดเลิกไม่ได้ซะด้วย


โดย: แก้วใจ IP: 124.121.115.132 วันที่: 1 ธันวาคม 2552 เวลา:7:07:59 น.  

 
เป็นบทความที่ดีมากๆค่ะ ขอบพระคุณมากๆที่นำบทความรู้มาลงบนเวปบอร์ดนี้


โดย: ทรรศิกา IP: 125.25.248.207 วันที่: 6 มิถุนายน 2553 เวลา:2:43:07 น.  

 
ลูกเข้าข่ายเป็นสมาธิส้นค่ะไม่รู้จะไปรักษาที่ไหนค่ะอยู่สุพรรณบุรีแล้วค่ารักษาแพงไหมค่ะ


โดย: กัลยากร IP: 49.230.13.161 วันที่: 11 เมษายน 2554 เวลา:21:57:02 น.  

 
การที่มีสมาธิสั้นไม่ใช่เรื่องแย่ หรือ โชคร้ายนะ
แต่จริงๆแล้ว คุณกำลังเลี้ยงเด็กอัจฉริยะ คนหนึ่ง
ซึ่งต้องหาจุดของเขาให้เจอ ถึงจะสามารถพัฒนาเขาได้
และเมื่อพัฒนาเขาได้ถูกจุด
คุณจะพบว่า เขาเป็นอัจฉริยะในทางนั้นจริงๆ
ต้องสังเกตุลูกน้อย บ่อยๆ และ อย่างละเอียดนะ


โดย: wbj วันที่: 16 เมษายน 2554 เวลา:23:14:20 น.  

 
เห็นด้วยกลับความคิดที่12 ค่ะ
เพราะเด็กสมาธิสั้นเป็นเด็กฉลาดกว่าเด็กๆๆทั่วไปค่ะ
เพียงแต่ขาดสมาธิและการควบคุมตัวเองค่ะ


โดย: แม่โอ๋ IP: 58.10.12.72 วันที่: 17 สิงหาคม 2554 เวลา:14:42:13 น.  

 
คุณหมอชอบสั่งให้ทดลองกินยาสมาธิสั้นเสียจริง แน่ละผลลัพธ์ไม่ได้ตกอยู่ที่หมอ แต่ตกอยู่ที่คนกินและคนดูแลคนกินยา


โดย: แม่จ๋า IP: 119.42.127.51 วันที่: 30 พฤศจิกายน 2554 เวลา:22:07:24 น.  

 
- อยากทราบผลข้างเคียงขอยา Strattera
- คุณหมอต้องการปรับยา ซึ่งเดิมกิน Concerta 18 มก. และ Ritalin 5 มก. แต่เมื่อปรับยาคุณหมอสั่งให้กิน Concerta 18 มก. และ Strattera 10 มก. ในสัปดาห์แรก
และสัปดาห์ที่ 2-4 คุณหมอสั่งให้กิน Concerta 18 มก. และ Strattera 25 มก. และสัปดาห์ที่ 5 สั่งให้กินStrattera 25 มก. เท่านั้น ทำไมจึงลดยาฮวบฮาบจังเลย ใครทราบช่วยตอบคำถามให้คลายกังวลด้วย ขอบคุณมากเลยค่ะ


โดย: แม่ของลูก IP: 119.42.127.51 วันที่: 30 พฤศจิกายน 2554 เวลา:22:20:54 น.  

 
มีใครทราบบ้างไหมค่ะว่า คุณหมอที่รักษาโรคสมาธิสั้นที่เก่งๆอยู่ที่ร.พ.ใดบ้างค่ะ โดยที่ไม่ต้องให้ยาทาน แต่ใช้วิธีพาลูกบำบัดโดยใช้กิจกรรมทำแทนที่จะใช้ยา ใครทราบช่วยกรุณา บอกต่อที่ mail phattira588@hotmail.comนี้บ้างนะค่ะ ขอบพระคุณอย่างยิ่งค่ะ...คุณแม่ผู้ทุกข์ใจ


โดย: Phattira IP: 58.9.91.11 วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:0:46:49 น.  

 
หลังจากได้เข้าไปปรึกษาคุณหมอที่สถาบันโรคจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ตอนนั้นลูกชายอายุ 7 ขวบ เรียน ป.2 จนปัจจุบัน เรียน ป.3 หมอบอกว่าลูกเป็นสมาธิสั้น ยาจะช่วยให้ลูกมีสมาธิดีขึ้น หลังจากนั้นก็จัดยา 10 มก. มาให้ทาน วันละ 1 เม็ด แบ่งเป็นหลังอาหารเช้าครึ่งเม็ด หลังอาหารกลางวันครึ่งเม็ด ก็จะทานยามาอย่างนี้โดยตลอด วันที่มีเรียน แต่วันนี้ด้วยความอยากรู้รายละเอียดยาRitalinเองเพิ่มขึ้น จึงลองหาข้อมูลจากGoogleดู พบข้อมูลบอกว่าลูกของครอบครัวหนึ่งเสียชีวิตเนื่องจากยาตัวนี้www.RitalinDeath.com เลยเริ่มไม่แน่ใจที่จะให้ลูกชายทานยาตัวนี้ เลยอยากขอข้อมูลจากผู้รู้ช่วยแนะนำด้วยค่ะ แต่ก็สงสัยมากว่า ในเมื่อยานี้อันตรายทำไมหมอถึงให้เด็กทาน ขอบพระคุณมาล่วงหน้านะคะถ้าช่วยแนะนำ


โดย: krp IP: 115.87.8.37 วันที่: 25 เมษายน 2555 เวลา:19:52:10 น.  

 
เท่าที่ปรึกษากับคุณหมอ และ ข้อมูล ค่อนข้างมั่นใจได้ โอกาสของคนที่จะแพ้ยาตัวนี้ น้อยมากๆครับ และเข้าใช้มานานกว่า 30 ปี ก็น่าที่จะเชื่อถือได้ เพราะถ้ายามี Effect มาก ก็คงแสดงผลมาให้เห็นกับคนกลุ่มแรกๆแล้วครับ


โดย: wbj วันที่: 3 พฤษภาคม 2555 เวลา:23:24:02 น.  

 
อยากทราบว่ายายี่ห้อ Risperidol มีผลกระทบกับเด็กอายุ6ขวบไหม และถ้าทานแล้วจะมีอาการเป็นไงบ้างค่ะ
รบกรนผู้รู้หรือเคยให้เด็กทานแล้วช่วยบอกขอมูลด้วยค่ะ
ขอขอบคุณพระคุณมาล่วงหน้านะค่ะถ้าช่วยแนะนำ ส่งขอมูลม่ทางเมล์ sudsawad_2523@hotmail.com


โดย: สุดสวาท IP: 124.121.250.179 วันที่: 25 กันยายน 2555 เวลา:13:45:45 น.  

 
ได้พาลูกอายุ 5 ขวบไปพบหมอสมาธิสั้น แล้วให้ยา concerta 18mg สงสารลูกไม่กล้าให้ลูกทานยา เหมือนสมองของลูกไม่ได้เป็นอิสระ คนโตก็สมาธิสั้นแต่เอาไปฝึกพฤติกรรม ประมาณ 1 ปี เดียวนี้อยู่ ป 4 เรียนปกติแต่คุณแม่ต้องใกล้ชิดมากๆ ไม่ได้ทานยาคะ คุณหมอบอกว่ายังเด็ก(ตอนนั้น 3 ขวบ)


โดย: sp IP: 27.55.10.145 วันที่: 30 กันยายน 2555 เวลา:22:41:02 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

wbj
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 210 คน [?]




ต้องการสอบถาม กรุณาติดต่อทางเมล์ที่ wbjoong@gmail.com หรือ 062 641 5992, 062 826 1544

วิทยากรเชิงกิจกรรม

วิทยากรกระบวนการ

ที่ปรึกษาธุรกิจ

ด้านการบริหารจัดการ

การตลาดและการประชาสัมพันธ์

การบริหารทรัพยากรมนุษย์

การวางแผนกลยุทธ์

วิจัยธุรกิจ

IT Dashboard



ไม่ได้ ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้...
ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องง่าย
และ ทำให้ดีกว่าดีที่สุด



<< Main Menu >>



ดวงถาวร


ดวงตามวันเกิด



ดวงตามปีเกิด






;b[^]pN 06' ไรินนื ่นนืเ "รินนื ๋นนืเ c:j06'

ต้องการสอบถาม โทร 062-641-5992, 062-826-1544
ติดต่อทางเมล์ที่ wbjoong@gmail.com
Line ID : wbjoong

ที่ปรึกษาธุรกิจ ด้านการบริหารจัดการ การตลาดและการประชาสัมพันธ์ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และ การวางแผนกลยุทธ์ วิทยากรเชิงกิจกรรม, วิทยากรกระบวนการ นักวิจัยการดำเนินงานธุรกิจ Executive & Management Coach

ไม่ได้ ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้... ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องง่าย และ ทำให้ดีกว่าดีที่สุด
<< Main Menu >>
Friends' blogs
[Add wbj's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friends


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.