“ในฐานะนักทำหนังคนหนึ่ง ผมปฏิบัติกับหนังของผมประดุจลูกชายและลูกสาว เมื่อผมให้กำเนิดเขา พวกเขาก็มีชีวิตเป็นของตนเอง ผมไม่ใส่ใจว่าผู้คนจะรักหรือเกลียดลูกของผม ตราบใดที่ผมสร้างเขาขึ้นมาด้วยความตั้งใจและความพยายามอย่างสูงสุด ถ้าลูกๆ ของผมไม่สามารถอาศัยอยู่ในประเทศของเขาเองไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอันใดก็ตาม ก็ปล่อยเขาเป็นอิสระเถิด เพราะมันยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่ต้อนรับเขาอย่างอบอุ่นในแบบอย่างที่เขาเป็น มันไม่มีเหตุผลเลยที่ต้องทำให้พวกเขาพิกลพิการจากระบบแห่งความกลัวหรือความละโมบ มิฉะนั้นแล้วมันก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่คนสักคนหนึ่งจะสร้างงานศิลปะต่อไป”
-- อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
(คำปรารภหลังจาก "แสงศตวรรษ" ผลงานภาพยนตร์จากผู้กำกับคนไทย พูดภาษาไทย ใช้ดาราคนไทย ถูกกองเซนเซ่อประเทศไทยบังคับให้ตัดฉากสำคัญ 4 ฉากออกหากต้องการฉายในโรงภาพยนตร์ของประเทศไทย)




“ผมคิดว่าพระกลุ่มนี้โดนจี้จุดจึงร้อนตัวเกินไป หรือเป็นพวกอยากดัง จึงต้องทำตัวเป็นข่าว อยากถามว่าทำไมไม่ไปเรียกร้องหรือแก้ปัญหาพระที่ออกมาแก้ผ้า มั่วสีกา หรือใช้มีดกรีดร่างกาย หลอกลวงประชาชน ทั้งนี้หากจะฟ้องก็ยินดีให้ฟ้องได้ทุกศาล หรือว่าจะไปฟ้องจตุคาม ศาลเจ้าแม่กวนอิม พระอินทร์ พระอิศวร ก็เชิญ ผมไม่สนใจ แต่เห็นว่าพระกลุ่มนี้ไม่เหมาะสมในสมณะ และเป็นพระหน้าเดิมที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องการบรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”
-- ถวัลย์ ดัชนี
(คำตอบโต้ภายหลังกลุ่มพระสงฆ์ที่ชุมนุมประท้วง ขู่ฟ้องคดีอาญาต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร นายอนุพงษ์ผู้วาดภาพภิกษุสันดานกาและหมานุษย์ และคณะกรรมการที่ตัดสินรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ ในข้อหาหมิ่นศาสนา)
Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
15 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
รวม Review ภาพยนตร์ขนาดยาวประจำเดือน สิงหาคม 2550 (2)


Kung Fu Hustle
(จีน+ฮ่องกง, Stephen Chow, 2004, เกือบ A-)


เรื่องราวป่วนจิตของอพาร์ตเมนต์ซอมซ่อค่าเช่ามหาโหดแห่งหนึ่ง ที่กำลังจะถูกแก๊งมาเฟียประจำเมืองเข้ามาไล่ที่ เพราะพระเอก(โจวซิงฉือ) ดันไปแอบอ้างชื่อของมาเฟียเจ้านี้เพื่อรีดไถชาวบ้าน ทำให้ชาวอพาร์ตเมนต์ต้องหัวมารวมตัวกันเพื่อต้านอำนาจของมาเฟีย แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้วคนในอพาร์ตเมนต์นี้คือเหล่าชาวยุทธวรยุทธสูงผู้เหนื่อยหน่ายกับชีวิตในยุทธภพทั้งสิ้น!!

จริงๆ Kung Fu Hustle กำลังจะประสบความสำเร็จกับการเป็นหนังแอ็คชั่นคอมเมดี้กำลังภายในเปี่ยมเทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเนียนๆ ที่เน้นความเหนือจริง เสียแค่ว่าเนื้อเรื่องในตอน 15 นาทีสุดท้ายกลับแผ่วปลายอย่างไม่น่าเชื่อและทำให้อารมณ์หนังถูก pause ไปอย่างไม่น่าให้อภัย...



Hotel
(สหราชอาณาจักร+อิตาลี, Mike Figgis, 2001, A)


หนังเรื่องนี้ว่าด้วยโรงแรมประหลาดแห่งหนึ่งในประเทศอิตาลี ที่รับแขกจำนวนมากมายในแต่ละวัน โดยเรื่องราวตามติดกองถ่ายหนัง "อินดี้" เรื่องหนึ่งที่เข้ามาพักในโรงแรมแห่งนี้ ก่อนที่เหตุการณ์สยองจะค่อยๆคืบคลานเข้าหาพวกเขาทีละน้อยๆ เพราะที่นี่คือโรงแรมที่เต็มไปด้วย "มนุษย์กินคน"!!

Hotel เวอร์ชั่นนี่ไม่จำเป็นต้องติดตามเนื้อเรื่อง เพราะสิ่งที่คนดูจะได้จากมันคือความเฮี้ยน ทั้งภาพเกรนแตกๆ noise เยอะๆ ของกล้องดิจิตอลที่ถ่าย การเล่าเรื่องแบบแบ่งจอเป็น 4 ส่วนในบางเวลา การประชันบทบาทของ Lucy Liu กับ Salma Hayek และกองถ่ายหนังอินดี้ที่พยายามจะถ่ายหนังที่ดัดแปลงมาจากนิยายของ Shakespeare ในยุคศตวรรษที่ 15 โดยใช้ฉากในปัจจุบัน..... (บ้าไปแล้ว 555)

สิ่งที่เฮี้ยนที่สุดในหนังเรื่องนี้คือฉาก Lucy Liu ตบกับ Salma Hayek และฉาก Salma Hayek แอ๊บแบ๊วก่อนโดนจับกิน...



The Day I Became a Woman aka Roozi ke zan shodam
(อิหร่าน, Marzieh Meshkini, 2000, A+)


หนังเฟมินิสต์เรียกร้องสิทธิสตรีของอิหร่าน ประเทศที่ลากเอาศาสนามาข้องแวะกับการเมืองตั้งแต่สมัยอยาโตเลาะห์ โคไมนี่ ทำให้ผู้หญิงทุกคนในประเทศต้องปฏิบัติตามกฎของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดในทุกอิริยาบถ ยิ่งกอปรเข้ากับความคิดอนุรักษ์นิยมของชาวมุสลิมที่อายุมากเข้าไป ยิ่งทำให้สภาพของสตรีในประเทศนี้แทบจะถูกตัดขาดจากคำว่า "เสรีภาพ" โดยสิ้นเชิง

ในประเทศอื่นๆที่ไม่ได้เอากฎศาสนาอิสลามมาเป็นกฎหมายของประเทศ การใส่ผ้าคลุมผม หรือการแต่งตัวที่คลุมทั้งตัว ถืออยู่บนความสมัครใจและความเคร่งต่อศาสนาที่แต่ละคนยึดถือ แต่ในอิหร่านไม่เป็นอย่างนั้น ในองก์แรกหนังจึงพูดถึง "ฮาวา" เด็กหญิงที่อายุกำลังจะครบ 9 ขวบ ซึ่งตามธรรมเนียมอิสลามเธอต้องสวมผ้าคลุมผม และเลิกเล่นใกล้ชิดกับเด็กผู้ชายเพราะไม่สมควร วันเกิดของเธอจึงเป็นวันที่น่าเศร้า เพราะเธอจะไม่ได้ออกมาเล่นกับเพื่อนสนิทของเธอที่เป็นผู้ชายได้เหมือนเดิมอีกตลอดชีวิต องก์นี้สร้างความรู้สึกให้คนดูได้ดีโดยไม่ต้องบิวต์อารมณ์ให้ฟูมฟายมากมาย

ในองก์ที่สองคือเรื่องราวของ "อาฮู" หญิงสาววัยรุ่นตอนปลายที่ออกมาปั่นจักรยานแข่งกับผู้หญิงมุสลิมคนอื่นๆ ก่อนที่สามีของเธอจะขี่ม้าไล่ตามมาและเอ่ยปากบังคับเธอให้เลิกขี่จักรยาน แล้วมาอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนให้เหมือนธรรมเนียมโบราณกับชาวบ้านเขาเสียที เมื่อเธอไม่ยอมเขาเลยเอ่ยปากหย่าขาดกับเธอ เหมือนเรื่องจะจบแต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ทั้งพี่ชาย พ่อ ลามไปจนถึงผู้ชายคนอื่นในหมู่บ้านที่ไม่ได้เกี่ยวกับครอบครัวนี้ ต่างพากันขี่ม้าไล่ตามและรุมด่าว่าเธอ ว่าสร้างความอับอายและรอยด่างพร้อยให้กับศาสนาและธรรมเนียมปฏิบัติโบราณ ทั้งการไม่เป็นแม่บ้านแม่เรือนและการหย่ากับสามี

องก์ที่สองนี้หนังไม่ได้บิวต์อะไรมากมายหรอกครับ แต่การที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ มีเพียงแต่จักรยานไว้ปั่นหนีผู้ชายทั้งหมู่บ้านที่ขี่ม้ามารุมเธอ มันก็เศร้ากรีดใจเหลือเกินแล้ว... เพราะท้ายที่สุดเธอก็ไม่อาจใช้กำลังขาหนีกำลังม้าได้อีกต่อไป ในขณะที่หญิงสาวคนอื่นก็ได้แค่ขี่จักรยานหนีเธอออกไปไกลแสนไกล และไม่สนใจอะไรเธอเลย...

องก์สุดท้ายคือเรื่องราวของหญิงชราชื่อ "ฮูรา" ที่เพิ่งกลับมาจากที่ไหนซักที่ ก่อนจะจ้างเด็กๆ ให้ช่วยซื้อเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน เสื้อผ้า เครื่องครัว แบบยกชุด รวมไปถึงชุดแต่งงาน เพื่อไปขึ้นเรือที่ริมหาด ราวกับจะไปสร้างบ้านในฝัน ณ ที่ใดที่หนึ่ง ราวกับว่าทั้งชีวิตเธอไม่เคยได้อะไรที่เธอต้องการเลยแม้แต่อย่างเดียว

ที่น่าเศร้าจริงๆก็คือ ท้ายที่สุดแล้วเธอก็ไม่สามารถซื้อของที่เธอต้องการได้ครบทุกอย่าง แม้ว่าจะอยู่ในบั้นปลายชีวิตขนาดนี้แล้ว....

ท้ายที่สุด ความหวังยังคงมีเพียงแสงที่ใกล้จะมอดดับ ...



My Life without Me aka Mi Vida sin Mí
(สเปน+แคนาดา, Isabel Coixet, 2003, A เกือบบวก)


เมื่อ Ann หญิงสาววัยรุ่นตอนปลายผู้มีชีวิตแต่งงานที่เป็นสุขพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เธอจึงร่างสิ่งที่เธอต้องการทำก่อนตาย และลงมือปฏิบัติการทั้งหมดด้วยความตั้งใจ ทั้งเพื่อครอบครัวและตัวเธอเอง ทั้งการหาเมียใหม่ให้สามีตัวเอง อัดเสียงอวยพรวันเกิดลูกจนอายุสิบแปด และลองนอกใจสามีดูสักครั้งในชีวิต

สิ่งที่ดีที่สุดในเรื่องนี้คือการแสดงระดับเทพของ Sarah Polley (ที่ตอนนี้อัพเกรดตัวเองเป็นผู้กำกับแล้ว) ที่คุมหนังทั้งเรื่องได้อยู่หมัดกับอารมณ์ของคนที่ต้องเก็บอารมณ์โศก ด้วยความที่รู้วันตายของตัวเอง น่าเสียดายที่หนังทำเรื่องความรักของนางเอกกับคนใหม่ไม่ค่อยอินเท่าไหร่ เลยยังไม่ได้ชอบแบบโดนใจสุดๆ



The Simpsons Movie
(สหรัฐอเมริกา, David Silverman, 2007, A)


ปฏิบัติการครั้งใหม่ของครอบครัวซิมป์สัน เมื่อเมือง Springfield ต้องเกิดวิกฤติถูกเอาโดมแก้วขนาดใหญ่มาครอบเมืองไว้เพราะข้อหาก่อมลพิษให้ประเทศชาติ ด้วยความงี่เง่าของโฮเมอร์ ซิมป์สัน ที่ดันเอาขี้หมูไปทิ้งในทะเลสาบจนเกิดมลพิษขั้นร้ายแรง เพียงเพราะอยากไปซื้อโดนัทลดราคา!!

หลังจากนั้นเรื่องราวบ้าบอ ตลกสาด ก็ดำเนินต่อไปท่ามกลางเสียงหัวเราะของผู้ชม ท่ามกลางการระดมล้อเลียนสังคมอเมริกัน หนัง เพลง ดารา และไม่เว้นแม้แต่การหลอกด่าคนดู (ที่เสียเงินมาดูการ์ตูนทีวีเรื่องนี้ในโรงหนัง 555+) มุขที่ฮามากๆ ได้แก่มุข "จุดจบของ Green Day" (ในแบบเดียวกับเรือไททานิค) และมุข An Irritating Truth (ล้อเรื่องอะไรคงไม่ต้องบอกนะ)

เสียดายที่ตอนจบมันง่ายไปหน่อย เลยยังไม่ค่อยโดน...



The Bourne Ultimatum
(สหรัฐอเมริกา, Paul Greengrass, 2007, A เกือบบวก)


ก่อนจะดูภาคสามของซีรี่ส์สายลับชุดนี้ อย่างน้อยทุกคนควรดู The Bourne Identity เพื่อปูพื้นเรื่องราวมาก่อนเป็นอย่างน้อย ส่วนภาคสองนั้นมาเก็บเอาทีหลังได้ เพราะในภาคสามก็จะพูดถึงภาคสองอยู่เป็นระยะๆ อยู่แล้ว (อ้อ.. ส่วนดีวีดี Triple Set ที่มันออกมาเนี่ยยังมีแค่สองภาคนะ ระวังโดนกลยุทธทางการตลาดหลอกเอาเชียว) แต่ถ้าใครลืมดูภาคหนึ่งคงเข้าไปนั่งเอ๋อว่า "แม่งจะไล่กันทำห่าอะไรเนี่ย"

Jason Bourne ยังคงปฏิบัติการตามล้างตามเช็ดซีไอเอที่คิดจะเด็ดหัวเขาต่อไป โดยในภาคนี้เขาเริ่มเขยิบตัวเข้าใกล้ตัวการมากขึ้น และเริ่มรู้ถึงความทรงจำในส่วนที่ลึกที่สุดอย่าง "ตัวจริง" ของเขา รวมไปถึงทำไมเขาถึงเข้ามาพัวพันกับเรื่องราวของซีไอเอจนต้องโดนตามฆ่ามาถึงสามภาคแบบนี้

Matt Damon เล่นหนังเรื่องนี้ได้ดีจนน่าใจหาย (และน่าตกใจยิ่งกว่าที่เขาเล่น The Departed ได้ห่วยจับใจ!) รวมถึงดาราสมทบอีกหลายคนที่ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีทั้ง David Strathairn, Joan Allen และ Julia Stiles (แต่ก็มีบางบทที่ไม่รู้จะใส่มาทำเบื๊อกอะไรเช่นบทน้องชายของมาเรียน ของ Daniel Br?hl)

Paul Greengrass ยังคงฝีมือในการกำกับที่เด็ดขาด ขึ้นหิ้งผู้กำกับที่ไว้ใจผลงานได้ที่สุดคนหนึ่ง ณ ตอนนี้สำหรับผม (หลังจากผลงานยอดเยี่ยมอย่าง United 93) ด้วยสไตล์การดำเนินเรื่องและการตัดต่อที่ลุ้นระทึกตลอดเวลา เรียกว่าเวลาชั่วโมงแรกของหนังนั้นไม่มีแม้แต่วินาทีเดียวที่หนังผ่อนแรงกระตุ้นต่อคนดูลงไปเลย จะติก็แค่สไตล์การถ่ายทำแบบ "เหวี่ยง" และ "หมุน" กันสุดชีวิตจนเกิดอาการคล้ายคนเมารถอยู่ในโรงหนัง ขอเรียกการถ่ายทำแบบนี้ว่า Hand-HELL ก็แล้วกัน...

เห็นคนบ่นถึงความ hell ของการถ่ายภาพใน The Bourne Supremacy ไว้เยอะ แต่ก็คงต้องหาเวลามาพิสูจน์หน่อย

ปล. วันนี้เพิ่งอ่านเจอใน Starpics ว่าที่อเมริกามีคนนั่งดูเรื่องนี้ในโรง IMAX แล้วถึงขั้น "เมาหนัง" แล้วอ้วกออกมา ณ บัดนั้นกันเลยทีเดียว



Bear Cub aka Cachorro
(สเปน, Miguel Albaladejo, 2004, B+)


หนังพูดถึงเด็กชายคนหนึ่งที่ถูกแม่เอามาฝากไว้กับลุงซึ่งเป็นเกย์ระหว่างทริปอันยาวนานของแม่ในอินเดีย แต่ไปๆมาๆ แม่ของเด็กน้อยกลับถูกจับขังคุกอินเดีย ลุงซึ่งเป็นเกย์ก็พยายามทุกวิถีทางที่จะดูแลหลานชายคนนี้ให้ดีที่สุด แถมยังต้องฟาดฟันกับย่าของเด็กที่พยายามแย่งสิทธิ์ในการเลี้ยงดูเด็กอย่างสุดชีวิต ทั้งด้วยเล่ห์และด้วยกล

หนังไม่มีอะไรมาก พอดูได้เพลินๆ



Mysterious Skin
(สหรัฐอเมริกา+ฮอลแลนด์, Gregg Araki, 2004, A+)


Brian... สูญเสียความทรงจำในวัยเด็กไป 5 ชั่วโมง เขาเชื่อว่าถูกมนุษย์ต่างดาวนำตัวไปทดลอง และกลายเป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องสิ่งมีชีวิตจากนอกโลก เพื่อตามหาห้าชั่วโมงที่หายไป หลังจากผจญกับฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนและเลือดกำเดาที่ทะลักออกมาทุกครั้งที่ฝัน...

Neil... ดำเนินชีวิตเป็นผู้ชายขายตัว อันเป็นผลพวงจากความทรงจำในวัยเด็กที่เขาไม่อาจลบมันออกไปจากใจ

นี่คือเรื่องราวของคนสองคน ผู้ถูกกักขังไว้ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า "ความทรงจำ" และไม่อาจปลดล็อกมันออกไปได้แม้เวลาจะผ่านไปนับสิบปี และที่น่าเศร้าก็คือ ความทรงจำที่ติดตัวทั้งคู่นั้น เป็นเหมือนสีดำที่ถูกทาทับซ้ำแล้วซ้ำอีกลงบน "ผ้าขาว" สองผืนผู้ยังไม่ประสีประสาใดๆ สำหรับผู้กระทำมันอาจเหมือนแค่เหตุการณ์หนึ่งๆ แต่หารู้ไม่ว่าสีดำที่เขาสาดซัดลงมานั้นมันลบยากเพียงใด



You I Love aka Ya Lyublyu Tebya
(รัสเซีย, Olga Stolpovskaja+Dmitry Troitsky, 2004, A+++++++)


ถ้าจำไม่ผิด นี่คือหนังรัสเซียเรื่องแรกในชีวิตที่ผมมีโอกาสได้สัมผัส แล้วก็เจอดีเข้าให้กับหนังพล็อตหลุดโลก อันว่าด้วยผู้ชายคนหนึ่งที่มีแฟนสาวเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว แต่ก็ดันไปหลงรักผู้ชายอีกคนอย่างหัวปักหัวปำ

ที่น่าประหลาดไปกว่าคือหนังเรื่องนี้ดันทำออกมาดูดีซะงั้น!!! เพราะหนังไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องรักร่วมเพศ แต่หนังยังก้าวไปถึงการพูดถึงสังคมรัสเซียในปัจจุบัน (ที่เต็มไปด้วยเกย์ที่ไม่เปิดเผย และผู้อพยพเชื้อสายมองโกล) พร้อมกับตอนจบที่ "เกินจะบรรยาย"

ไม่รู้จะอธิบายยังไงจริงๆนะเนี่ย เอาเป็นว่าแผ่นมันออกแล้วล่ะ ไปลองหาๆกันมาดูละกัน

ปล. คุณพี่เตเต้-ไกรวุฒิ จุลพงศธร แกบอกว่าดูเรื่องนี้แล้วเหมือนดู "ตุ๊ดอีสานเข้ากรุง" (5555+)



Clean
(แคนาดา+ฝรั่งเศส+สหราชอาณาจักร, Olivier Assayas, 2004, A-)


เอมิลี่ หว่อง เป็นนักร้องขี้ยาที่ดูท่าทางไร้อนาคต เธอติดคุกไปหกเดือนในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองหลังการตายของสามีของเธอ เมื่อเธอพ้นโทษเธอจึงพยายามกลับไปหาลูกของเธอที่อยู่ในการดูแลของพ่อแม่สามี โดยพ่อสามีนั้นเห็นใจเธอ ในขณะที่แม่สามีนั้นรังแต่จะพูดถึงแม่ในทางที่ไม่ดีให้หลานฟัง จนลูกเกิดอคติกับแม่แท้ๆของตัวเอง และเธอต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเอง "Clean" ในสายตาของทุกคน ให้ทุกคนเห็นว่าเธอยังดูแลลูกได้ และในขณะเดียวกันก็ยังโลดแล่นในเส้นทางสายบันเทิงได้เช่นกัน!!

การแสดงของจางมั่นอี้ในเรื่องนี้เป็นอะไรที่มหัศจรรย์มาก รางวัลนักแสดงหญิงจากเมืองคานส์ไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อ เพราะคงหายากที่นักแสดงคนไหนจะพูดภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน ได้คล่องแคล่วราวกับเรียนทั้งสามภาษามาตั้งแต่เกิดได้เหมือนเธอ



My Summer of Love
(สหราชอาณาจักร, Pawel Pawlikowski, 2004, A+++++++)


Mona สาววัยรุ่นธรรมดาที่อาศัยอยู่กับพี่ชายอดีตนักโทษในชนบทบ้านนอกของอังกฤษ ได้พบกับ Tamsin เด็กสาวไฮโซผู้ปิดเทอมฤดูร้อนแล้วกลับมาอยู่บ้านตากอากาศชานเมือง ทั้งสองเริ่มทำความรู้จักกัน เป็นเพื่อนกัน และสุดท้ายก็รักกัน ทั้งที่คนทั้งคู่แทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลยทั้งชาติกำเนิด ชาติตระกูล และนิสัยใจคอ

ทั้งสองคนใช้เวลาอยู่ร่วมกันเกือบตลอดเวลา ไม่ว่าจะยามกิน ยามเล่น ยามนอน ราวกับโลกนี้มีเพียงพวกเธอสองคน ต่างฝ่ายต่างเล่าเรื่องราวให้อีกฝ่ายฟัง ทั้งเรื่องของพี่ชายขี้คุกที่พยายามกลับใจของโมน่า และเรื่องพี่สาวคนโตที่ตายด้วยโรคอะนอเร็กเซียของแทมมี่ จนทั้งคู่ไว้ใจกันและให้สัญญากันว่าจะไม่พรากจากกัน... แต่ใครจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?

Nathalie Press และ Emily Blunt แสดงได้ดีตีบทแตกทั้งคู่ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงรักเบ่งบาน หรือในช่วงท้ายของเรื่องที่อารมณ์เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง และตัวเอกอีกเรื่องคือเพลงประกอบและการกำกับภาพที่เข้าถึงอารมณ์ ฉากหนึ่งที่ทรงพลังมากคือหลังจากเรื่องราวทั้งหมดดำเนินมาถึงตอนจบ เพลงของ Edith Piaf ก็บรรเลงขึ้น ช่างเข้ากับบรรยากาศ ณ ตอนนั้นดีจนขนลุก!!

ซับพล็อตอีกส่วนที่ชอบคือเรื่องพี่ชายขี้คุกของโมน่า ผู้พยายามเปลี่ยนผับของตัวเองให้เป็นที่รวมตัวของเหล่าสาวกพระคริสต์ พร้อมกับทำกางเขนยักษ์เพื่อไปประดิษฐานบนยอดเขาใกล้ชุมชน ก่อนที่เขาจะสติแตกเมื่อรู้ว่าน้องสาวตัวเองเป็นเลสเบี้ยน (ส่วนตัวจะรู้สึกดีที่เห็นคนพวกนี้มาอยู่ในหนัง คือพวกบ้าคัมภีร์ บ้าลัทธิ บ้าพระเจ้า บ้ากษัตริย์ บ้า ฯลฯ มันดูน่าสมเพชดี ดูแล้วเราก็คิดอยู่ในใจว่า "มันงี่เง่าดีว่ะ" 55555)



Dirty Pretty Things
(สหราชอาณาจักร, Stephen Frears, 2002, A+)


นับถึงตอนนี้รู้สึกว่า Stephen Frears จะเป็นผู้กำกับที่มีผลงานผ่านสายตาผมมากที่สุดในปีนี้แล้วครับ โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สามซึ่งตอนเข้าโรงรอบปกติที่ลิโด้ก็ไม่ได้เคยจะสนใจอะไรเลยเพราะ Amelie ก็ไม่เคยดู แถมหน้าหนังยังออกมืดๆ ทึมๆ ดำๆ ห่วยๆ นิดๆ อีกตะหาก แถมตอนนั้นยังไม่เข้าขั้น Cinephile อะไรขนาดนี้ เลยพลาดหนังดีเรื่องนี้ไปแบบน่าตบหัวซักสองที ถือว่าโชคดีมากที่ได้มาดูหนังเรื่องนี้ในโรง

หนังเล่าเรื่องราวของ Okwe (รับบทโดย Chiwetel Ejiofor) ชายผิวดำผู้มีชาติกำเนิดลึกลับ ทำงานเป็นคนขับแท็กซี่และ concierge ของโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน เขาอาศัยอยู่อย่างลับๆกับแม่บ้านสาวชาวตุรกี (รับบทโดย Audrey Tautou) เพราะว่าทั้งคู่ต่างก็เป็นแรงงานเถื่อนที่หลบหนีเข้าเมืองมา และต้องคอยระแวดระวังตัวให้รอดพ้นจากการตามล่าของตำรวจอังกฤษ

วันหนึ่ง เขาไปตรวจสอบความผิดปกติของส้วมในห้องหนึ่งของโรงแรม แต่เขากลับต้องเจอกับ "หัวใจมนุษย์" ที่ไปอุดตันท่อระบายของส้วมในห้องนั้น และเริ่มรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล และธุรกิจสกปรกที่แอบแฝงอยู่ในโรงแรมแห่งนี้ พร้อมกันนั้นเขาก็ถูกเพ่งเล็งจากผู้จัดการโรงแรมชาวสเปน (รับบทโดย Sergi Lopez กัปตันบีดาลจาก Pan's Labyrinth)

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชอบหนังเรื่องนี้ เพราะมันพูดถึงคนชายขอบอย่างแรงงานเถื่อนได้ดี โดยเฉพาะการที่พวกเขาต้องดิ้นรนมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก ตั้งแต่ระดับซอฟต์อย่างการเช่าห้องอยู่กันอย่างเบียดเสียด ไปจนถึงการรักษาอาการเจ็บป่วยกับหมอเถื่อนเพราะพวกเขาเข้าโรงพยาบาลไม่ได้ และบางครั้งก็ต้องยอมเสียชีวิต เพื่อแลกอวัยวะภายในบางชิ้น กับพาสปอร์ตเถื่อนที่จะช่วยให้พวกเขาหลุดจากนรกแห่งนี้ ไปสู่สวรรค์(?)แห่งใหม่ หรือไม่ก็กลับบ้านเกิดของตัวเองเสียที....

ที่จี๊ดที่สุดคือหนังเรื่องนี้เหตุการณ์เกิดในกรุงลอนดอน แต่ไม่มีตัวละครหลักตัวไหนเป็นคนอังกฤษเลย!!!



Welcome to Dongmakgol
(เกาหลีใต้, Park Kwang-hyun, 2005, A เกือบบวก)


หมู่บ้าน ทงมึคกุล ตั้งอยู่กลางป่าลึกบนยอดเขาแห่งหนึ่งกลางประเทศเกาหลี ผู้คนใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย สมถะ และตัดขาดจากโลกภายนอกแบบสิ้นเชิง แม้ว่าสงครามเกาหลีจะปะทุขึ้น แต่หมู่บ้านนี้ก็ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด... จนกระทั่งเครื่องบินของทหารอเมริกันลำหนึ่งจะพุ่งตกลงมาใกล้หมู่บ้าน และได้นำพาทหารฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ที่พลัดจากกองทัพมาเจอกัน!

ด้วยวีรเวรของทหารทั้งสองฝ่ายที่ทะเลาะกันจนได้เรื่อง ทำให้เสบียงอาหารที่ชาวบ้านสะสมไว้กินตลอดหน้าหนาวต้องเสียหาย ทหารเหนือและใต้จึงต้องทำงานชดใช้ให้ชาวบ้าน พร้อมกับนายทหารอเมริกันที่ต้องอยู่รักษาตัวให้หายดี นอกจากอาการบาดเจ็บแล้ว สิ่งที่ได้รับการรักษาอีกอย่างก็คือจิตใจที่เต็มไปด้วยบาดแผลแห่งอคติของทหารทั้งสองฝ่ายที่มีสายเลือดเกาหลีเหมือนกัน

หมู่บ้านทงมึคกุลในหนังเรื่องนี้ เปรียบเหมือนภาพซ้อนของสังคมยูโทเปียที่ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีความรุนแรง แม้ว่าจะต่างอุดมการณ์ ต่างความคิด ต่างชาติต่างภาษา เป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่อยากจะเห็นเป็นบุญตาสักครั้งในชีวิต ในช่วงครึ่งเรื่องแรกนั้นคนดูจะมีความสุขกับสังคมยูโทเปียแห่งนี้มาก เมื่อทหารสองฝ่ายกลับมาร่วมมือร่วมใจกัน ละเลิกอคติต่อกัน และอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านแห่งนี้อย่างมีความสุข ในขณะที่ตัวหนังเองก็ได้พูดถึงเบื้องหลังของนายทหารบางนายว่าแท้จริงแล้วเขาไม่ได้มีความเกลียดชังต่อเพื่อนร่วมชาติต่างอุดมการณ์เลยแม้แต่น้อย หากแต่ทุกอย่างเกิดจากมายาคติที่ครอบงำพวกเขาไว้ทั้งนั้น

แต่แล้วความสุขก็อยู่กับเราไม่ได้นาน เพราะหนังจะค่อยๆให้เราเห็นภาพทหารฝ่ายใต้ (ซึ่งส่วนใหญ่ในกองบัญชาการเป็นคนอเมริกัน ส่วนคนเกาหลีก็ออกไปตายห่าในสนามรบ) ต่างพากันตีความถึงสาเหตุการตกของเครื่องบินลำนั้นไปต่างๆนานา โดยทหารอเมริกันก็ยืนยันแต่ความคิดว่า ณ ที่แห่งนั้นต้องมีหน่วยต่อสู้อากาศยานตั้งอยู่เป็นแน่ ทั้งที่แผนที่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นป่าลึกที่แทบฝ่าเข้าไปไม่ได้ แม้ว่าทหารเกาหลีที่มีจำนวนน้อยนิด (ในหนังให้เราเห็นเพียงคนเดียวด้วยซ้ำถ้าจำไม่ผิด) จะพยายามแย้งอย่างไรแต่ก็ขัดไม่ได้ ทั้งๆที่นี่คือสนามรบบนแผ่นดินเกาหลี แต่คนที่มีอำนาจตัดสินใจกลับเป็นคนอเมริกัน และท้ายที่สุด ยูโทเปียทงมึคกุลก็ถูกรุกรานจากภายนอก โดยที่พวกเขาไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเลย เพียงเพราะความคิดแบบโลกแคบของอเมริกันชนชั้นปกครองไม่กี่คน

เขียนมายาวเหยียดขนาดนี้ แต่หนังเรื่องนี้เป็นหนังตลาด หนังคอมเมดี้เกาหลีที่น่ารักที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่ผู้เขียนเคยดูมา แถมยังแฝงแนวคิดและสาระเข้ามาแบบไม่ยัดเยียดเหมือนที่หนังไทยชอบทำได้อย่างแนบเนียนและลุ่มลึก น่าเสียดายว่ามันเป็นหนังตลาดและตลก ทำให้ตอนจบสว่างกว่าที่อยากให้เป็นไปหน่อย แต่ก็ไม่ได้แย่อะไรมากมายเหมือนกับหนังไทยหลายๆเรื่องที่พยายามจะอินดี้ชอบทำ



Downfall aka Der Untergang
(เยอรมนี+อิตาลี+ออสเตรีย, Oliver Hirschbiegel, 2004, A)


หนังพูดถึงช่วงเวลาสุดท้ายของ Adolf Hitler และสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านสายตาการเล่าเรื่องของเลขานุการินีในบังเกอร์บัญชาการนาม Traudl Junge ท่ามกลางสถานการณ์ที่กองทัพแดงของโซเวียตค่อยๆรุกคืบเข้ามาในกรุงเบอร์ลินใกล้เข้ามาเรื่อยๆ และสถานการณ์ที่สิ้นหวังของกองทัพเยอรมนี ภายใต้การนำของผู้นำบ้าอำนาจ และบ้าศักดิ์ศรีจนเกินตัวอย่างฮิตเลอร์

สิ่งที่พิเศษที่สุดในหนังเรื่องนี้ก็คือ การนำเสนอภาพของผู้นำเผด็จการอย่างฮิตเลอร์ในรูปแบบที่ดูเป็น "ปกติชน" มากที่สุดครั้งหนึ่งในโลกภาพยนตร์ (ภาพยนตร์ propaganda ของนาซีน่าจะนำเสนอออกมาแบบ "ดีเกินจริง" ไปมากโข ส่วนภาพยนตร์ยุคหลังสงครามโลกก็ต้องนำเสนอภาพฮิตเลอร์ราวกับปีศาจร้ายไร้หัวจิตหัวใจ เพราะยังไงฮิตเลอร์ก็ลุกขึ้นมาทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว) กับทหารที่ดูแก่ก่อนวัย ตัวเตี้ย หลังค่อม แถมยังเป็นโรคพาร์กินสันมือสั่นตลอดเวลา อารมณ์ร้อนขั้นพีค ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ และที่สำคัญคือติดอยู่กับกรอบความคิดที่ครอบตัวเองกับคนใกล้ชิดเอาไว้จนไม่อาจขยับตัวไปไหนได้อีก แม้ว่ากองทัพโซเวียตจะรุกคืบเข้ามาตลอดเวลาก็ตาม

ประโยคหนึ่งที่กระแทกใจผมมากกลับเป็นคำพูดของทหารที่ admire ฮิตเลอร์แบบสุดโต่ง หลังจากที่มีนายทหารบางส่วนแย้งว่ากองกำลังนาซีควรช่วยเหลือให้ประชาชนอพยพออกนอกกรุงเบอร์ลิน นายทหารคนนี้ก็พูดออกมาว่า "เราไม่ได้บังคับคนเยอรมันนะ คนเยอรมันเลือกเรามาเอง ก็ต้องยอมรับชะตากรรมไปสิ!!"

ประโยคนี้แม้จะดูเห็นแก่ตัว ปัดสวะ และเลวชาติเหลือแสน แต่เหนือไปกว่านั้น ประโยคนี้แหละที่พูดถึงสภาพจริงของประเทศเยอรมนีในช่วงใกล้แพ้สงคราม เมื่อฮิตเลอร์ และสาวกพรรคนาซีที่ศรัทธาพรรคอย่างสุดโต่ง ต่างก็ไม่ยอมดำเนินการอพยพ หลบหนี หรือทำอะไรก็ตามที่ควรจะทำในสภาวะของ "คนจนตรอก" หากแต่ยังยึดติดกับศักดิ์ศรีและอุดมการณ์ที่กินไม่ได้ รังแต่จะพาให้เยอรมนีดำดิ่งลงสู่หายนะ ทั้งหมดนี้ไม่ได้จำกัดแค่ในบังเกอร์บัญชาการของพรรคนาซี แต่ชาวเยอรมนีอีกหลายล้านคนที่ลงคะแนนเสียงให้ฮิตเลอร์ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ ก็ต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน!!

อีกจุดที่กระแทกใจมากคือความยึดติดของคนเยอรมนีที่ศรัทธาในพรรคนาซี ซึ่งมีทั้งคนที่ยึดติดในตัวของฮิตเลอร์ และคนที่ยึดติดในระบอบเผด็จการชาตินิยมฟาสซิสต์ คนเหล่านี้ยึดติดจนถึงขั้นที่หากขาดฮิตเลอร์หรือฟาสซิสต์ไป พวกเขาก็ไม่เหลือกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ต่อไป นายทหารหลายคนเอ่ยปากปรารภว่าถ้าท่านผู้นำฆ่าตัวตายจริง เขาก็จะตายตาม หรือภรรยาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาการ (Propaganda) ที่กรอกยาพิษลูกของเธอทีละคน ด้วยความคิดของเธอและสามีที่ว่า "โลกที่ไร้ระบอบฟาสซิสต์ มันไม่สวยงามพอสำหรับลูกของเรา"

และทั้งหมดทั้งมวลนั้นคือที่มาของ "ความหายนะ" (Downfall, Der Untergang)



คนหิ้วหัว
(ไทย, ภูพิงค์ พังสะอาด, 2550, B)


พิง ลำพระเพลิง ยังคงติดนิสัยเดิมจากสมัยที่กำกับ "โคตรรักเอ็งเลย" ด้วยนิสัยการโชว์พาวในการกำกับ และยัดทุกอย่างที่ตัวเองต้องการลงมาในหนัง มองในแง่หนึ่งมันก็คืออัตลักษณ์ของพิง ลำพระเพลิง ซึ่งจะสร้าง trademark ให้กับตัวเขาเองได้อย่างดี (ในแนวทางคล้ายๆกับ "หนังของเป็นเอก" และ "หนังของเจ้ย") เพราะเนื้อเรื่องของเขามักจะเกี่ยวโยงกับชีวิตครอบครัวที่มีลูกชายวัยกำลังกินกำลังนอน ชีวิตครอบครัวที่แตกร้าว และการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งเชื่อมโยงมาจากชีวิตจริงของพิงที่เล่าออกรายการและทอล์คโชว์สู่หูประชาชนไปนับล้านรอบได้

ในทางกลับกัน อัตลักษณ์ของพิง ลำพระเพลิงที่นำเสนอในหนังทั้ง "โคตรรักเอ็งเลย" กับ "คนหิ้วหัว" นั้นกลับไม่ได้ช่วยเสริมตัวหนังให้ดูดีขึ้น หรือแม้แต่ดูดีอย่างที่มันควรจะเป็นได้มากนัก เพราะสิ่งที่พิงใส่เข้ามานั้นกลับทำให้หนังทั้งสองเรื่อง "ล้น" และ "เสียศูนย์" ไปอย่างน่าเสียดายและน่าเจ็บใจ(คนดู)

ในส่วนของคนหิ้วหัวนั้น ปริมาณของบทเทไปในเรื่องราวดราม่าของพ่อกับลูกและผัวกับเมียอย่างมาก แต่พิง ลำพระเพลิงกลับทำหนังออกมาเป็นหนังตลกมุขสถุล พยายามอย่างมากกับการขายนักแสดงอีกสองคนนั่นคือ ภูริ กับ กระแต และการพรีเซนต์ six-packed ของตัวเองแทบตลอดเวลาที่ตัวละคร "ไอ้เตี้ย" ปรากฎอยู่บนจอภาพยนตร์ แม้ว่าจะมีหัวหรือไม่มีหัวก็ตาม

หากหนังตั้งใจทำออกมาเป็นดราม่า นี่จะเป็นหนังดราม่าน้ำดีที่น่าชื่นชมมากอีกเรื่องแน่นอน แต่ที่พูดไม่ได้หมายความว่าอคติกับหนังตลก หากแต่ว่ามุขตลกในหนังเรื่องนี้มันล้วนแล้วแต่ทำให้หนังเสียศูนย์ และดูเป๋ไปมาก โดยเฉพาะมุข "พัดลม" ที่แหวะเข้าขั้นน้องๆ American Pie

อีกจุดหนึ่งที่น่าชื่นชมมาก แต่ก็ถูก degrade ลงอย่างน่าเสียดายคือความสามารถในการเล่าเรื่องของผู้กำกับ เพราะถ้าจำไม่ผิดนี่เป็นหนังไทยในระดับสตูดิโอใหญ่เรื่องแรกๆ ในช่วงหลังๆ ที่หาญกล้าใช้การเล่าเรื่องแบบเหลื่อมเวลา และไม่ลำดับเวลา ซึ่งจุดนี้เสริมกับพล็อตดราม่าของเรื่องได้ดีมาก ถ้าหากไม่มีมุขตลกที่ไม่จำเป็น และตัวละครที่ไม่จำเป็นเหล่านั้นเข้ามาแทรกจนเสียกระบวน



The Place without Limits aka El Lugar sin Límites
(เม็กซิโก, Arturo Ripstein, 1978, A)


มานวยล่า กะเทยดาวดังในซ่องแห่งหนึ่งในเม็กซิโก กับลูกสาวของเขาคาโปเนสสิต้า กำลังพบกับวิกฤติชีวิต เมื่อดอน อเลโฆ นายกเทศมนตรีของเมืองได้วางแผนฮุบเมืองด้วยการตัดไฟทั้งเมือง เพื่อเอาเมืองไปขายให้บรรษัทเงินทุนยักษ์ใหญ่ เข้ากระเป๋าตัวเอง นอกจากเรื่องนี้แล้วเมื่อ ปานโช ชายหนุ่มผู้เคยมีความหลังฝังใจกับมานวยล่าก็กลับมาที่เมืองนี้ สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับมานวยล่าและผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง

แม้ว่าหนังจะไม่ได้พูดไว้ตรงๆ แต่หนังก็บอกบุคลิกของ Pancho ว่าเป็นคนที่อารมณ์ร้อน ใช้กำลังเข้าตัดสินปัญหาตลอดเวลา (ในช่วงเวลาที่หนัง flashback กลับไปในช่วงแรกๆ ที่ดอน อเลโฆ เข้ามาเป็นนายกเทศมนตรี และเมืองนี้ได้จัดพิธีต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่) แต่เมื่อเขากลับมาที่เมืองนี้อีกครั้ง (ด้วยรถบรรทุกสภาพบุโรทั่งสีแดงสด) เราจะเริ่มเห็นแง่มุมลึกๆของผู้ชายคนนี้มากยิ่งขึ้น เมื่อเขากลัวลนลานทุกครั้งที่เจอกับนายกเทศมนตรี เพื่อทวงเงินที่ให้เขากู้ไปตั้งตัวลงทุนทำธุรกิจ ฉากที่ชัดที่สุดฉากหนึ่งก็คือตอนที่เขาแอบไปร้องไห้แล้วคาโปเนสสิต้า ลูกสาวของมานวยล่าเข้ามาเจอ เขาหันกลับไปกระชากคอเสื้อเธอแล้วขู่ว่าถ้าไปบอกชาวบ้านว่าเห็นเขาร้องไห้ เธอตายแน่

หนังทำให้ผมนึกถึงมายาคติอย่างหนึ่งที่สังคมไทยเองก็เป็นเหมือนสังคมเม็กซิโก (อย่างน้อยก็ในยุค 1978 เท่ากับหนัง) ก็คือ "ความเป็นชายต้องไม่กลัวอะไร และไม่ร้องไห้ให้ใครเห็น" หรือที่ในหนังเน้นย้ำอยู่หลายครั้งด้วยคำว่า Macho แต่ในขณะเดียวกันหนังก็ค่อยกะเทาะเปลือกของปานโชออกทีละน้อยๆ และยิ่งก่อความสงสัยให้เราว่า ตกลงแล้วผู้ชายคนนี้ "แมน" อย่างที่แสดงออกหรือเปล่า?

แม้ว่าปานโชจะแสดงอาการสนอกสนใจในตัวของคาโปเนสสิต้า แต่เมื่อเขาไปที่อดีตซ่อง เขากลับเอ่ยปากถามหาแต่มานวยล่า และได้ลวนลามรุกล้ำลูกสาวของมานวยล่ามากขึ้นทีละน้อยๆ จนท้ายที่สุดแล้วมานวยล่าที่ซ่อนตัวอยู่นานก็ปรากฏตัวออกมา ถึงสายตาหลายคู่ในซ่องนั้นจะมองด้วยความระอาประมาณว่า "มึงไม่รู้จักเข็ด" แต่ในสายตาของผม นี่คือความพยายามที่ดีที่สุดของพ่อที่จะช่วยไม่ให้ลูกสาวต้องถูกลิดรอนสิทธิไปมากกว่านี้

มานวยล่าเต้นรำยั่วยวนปานโชจนในที่สุดเขาก็เคลิบเคลิ้มและจูบเธอ แต่การณ์ก็กลับตาลปัตร เมื่อเขาหันมาทำร้ายร่างกายเธออย่างรุนแรงเมื่อพี่เขยของปานโชเดินออกมาโวยวายว่าทำไมเขาถึงมายืนจูบกับกะเทยต่อหน้าสาธารณชน และความ "แมน" ของคนทั้งคู่คือการไล่ทำร้ายมานวยล่าจนตายเหมือนหมูเหมือนหมา!!!

ในยุค 1978 (หรือแม้แต่ 2008 หรือ 2028) คนที่เป็นรักร่วมเพศนั้นมักถูกมองเป็นตัวประหลาดในสังคม เป็นคนชายขอบของสังคมเพราะความผิดปกติของคนเหล่านั้น แน่นอนว่าความ "แมน" ในมายาคติแบบเดิมๆมันก็คือภาพของผู้ชายคนหนึ่งที่แข็งแกร่ง ไม่กลัวใคร และที่สำคัญที่สุดก็คือรักกับผู้หญิงให้เหมือนคนปกติธรรมดาสามัญชน หากลองพิจารณาบริบทของฉากในผับให้ดีแล้ว ถ้าเกิดว่าปานโชไม่ต้องอยู่หรือพึ่งพาเงินทองของพี่เขย เขาอาจจะเปิดเผยตัวออกมานานแล้วก็ได้ว่าเป็นพวกรักร่วมเพศ แต่ในเมื่อสภาพแวดล้อมบังคับ สิ่งที่เขาแสดงออกก็คืออาการของพวก Homophobia ซึ่งโดยมากมักเป็นพวกที่มีแนวโน้มเป็นรักร่วมเพศ แต่ไม่ยอมรับตัวเอง เพราะมายาคติทางสังคมที่ครอบความคิดและจิตใจจนเกือบสมบูรณ์แบบ


Create Date : 15 กันยายน 2550
Last Update : 16 กันยายน 2550 1:30:09 น. 12 comments
Counter : 1309 Pageviews.

 
ชอบ down fall มันดุดันดี
Bear Club ก็น่ารัก น้าๆเกย์ทั้งหลายเอ็นดูเด็กชาย น่ารักดี
Hotel ดูที่ลิโด้สมัยโน้น จำได้ว่า ดูไม่รู้เรื่อง (ฮา)
หนังตาโจวซิงฉือ ก็ฮาเป็นพักๆ ทั้งๆกะว่าคงฮาทั้งเรื่อง


โดย: renton_renton วันที่: 16 กันยายน 2550 เวลา:9:19:11 น.  

 
อยากดู hotel เคยพลาดตอนฉายรอบแรกมาแล้ว นึกว่าจะได้ดูคราวนี้ ก็ดันไม่ว่างซะอีก

ชอบ เจสัน บอร์น ภาคนี้ และเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า แมตต์ เดม่อน ใน departed ช่างห่วยซะเหลือเกิน (ผิดความคาดหมายไปแยะ)


โดย: jimkong วันที่: 16 กันยายน 2550 เวลา:12:29:24 น.  

 
อ้าว....นึกว่าจะ 100 กว่าเรื่อง...



โดย: คำห้วน-lopzang-เฉือนคำรัก วันที่: 16 กันยายน 2550 เวลา:17:15:09 น.  

 
มายไลฟ์ วิทเอาท์มี

ผัวหล่อน่ารักอย่างนั้น ทำไมไปเอามาร์ค รัฟฟาโล่วะ

แต่ถึงกระนั้น ก็เป็นสิ่งที่เราอยากทำก่อนตายเหมือนกันว่ะ 55

ซิมป์สัน

หนังเรื่องนี้มันบ้า!!! 55555

มิสทีเรียสสกิน

โจเซฟกอดอน ทำให้เราลืมไปเลยว่าคือไอ้เด็กจาก เทนติง ไอ เฮท อะเบ้าท์ ยู

เรื่องนี้ดูแล้วกลัวขวดจอนสัน แอนด์ จอนสัน เป็นที่สุด

คนหิ้วหัว

หะมอย พิงลำพระเพลิง .......ดูแล้วอยากวิ่งไปอ้วก

แต่เราดูเรื่องนี้แล้วร้องไห้อ่ะ 555



โดย: เพอร์รี่ IP: 58.9.141.252 วันที่: 17 กันยายน 2550 เวลา:0:22:19 น.  

 
ดูหนังเยอะมากมาย เหอๆๆ อ่านซะเบลอ เลย


โดย: Mel IP: 125.27.7.13 วันที่: 17 กันยายน 2550 เวลา:10:00:51 น.  

 
+ เจ้าเติ้ง - นอกจากไม่เขียนเม้นต์เรื่องหนัง แล้วยังมีการขบหัว จขบ. อีกน้า เหอๆๆ

+ Kung Fu Hustle - ไม่ได้ดูอ่ะครับ

+ Hotel - 555 เพิ่งรู้นะเนี่ยว่าหนังเรื่องนี้ 'เฮี้ยน' ขนาดนี้ เสียดายที่พลาดตอนเข้าที่เฮาส์รอบนี้ ... ไว้จะไปหามาดูครับ

+ The Day I Became a Woman - ชอบองก์แรก น่ารักดีและมีแง่คิดเกี่ยวกับการ 'ก้าวข้ามวัย' สอดแทรกอยู่ด้วย, องก์ที่ 2 ถึงจะดูเป็น 'สัญลักษณ์' ไปหน่อย แต่มันทั้งขำปนเศร้า กับภาพประหลาดที่ผู้ชายจาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 จนสุดท้ายเป็นคนทั้งตระกูลที่มาขี่ม้าไล่ตามด่าผู้หญิงตัวเล็กๆ ให้กลับไปสู่ 'ขนบ' เดิมๆ แบบนั้น, องก์สุดท้ายนี่ 'เหวอ' ไปนิด แต่ก็ดูประหลาดหลุดโลกดี

+ My Life without Me - ดูเรื่องนี้ตอนงานฟิล์มบุฟเฟ่ต์รอบแรก จำได้ว่าอยากดูถึงขนาดลางานตอน 4 โมงเย็น เพื่อจะไปให้ทันรอบฉายเลยทีเดียว ... ชอบตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่อง, คอนเซ็ปต์ของเรื่อง และการแสดงระดับเทพของซาร่า พอลลี่ย์ ... และก็รู้สึกเช่นกันว่าไม่ค่อยอินกับความรักกับอีตามาร์ค รัฟฟาโล่นั่นแหละ

+ The Simpsons Movie - บ้าบอได้ใจโคตรๆ ขำอุนจิแตก ฮาสาด เอิ๊กๆๆ

+ The Bourne Ultimatum - กร๊ากกก เพิ่งอ่านมาเหมือนกันครับ รู้สึกเค้าจะบัญญัติศัพท์ไว้ว่า "Motion sickness" ซึ่งพี่ก็ไม่ค่อยถูกกับกล้องสไตล์นี้ซักเท่าไหร่ แต่รู้สึกเกลียดจับใจก็ตอนไปดูThe blair witch project ในโรงอ่ะจิ ... เจอเมากล้องแทบทั้งเรื่องยังไม่พอ ยังเจือกจบแบบนั้นอีก เลยด่ามันในใจว่า "แมร่ง หลอกกรูมาดูเห้อะไรวะเนี่ย ดูรายการพวกตามไปดูบ้านผีสิงในทีวีไทย ยังน่ากลัวกว่าอีก" เหอๆๆ
... อ้าว หลุดจากบอร์นไปซะไกล นอกจากเรื่องกล้อง มีอีกเรื่องก็คือบทสรุปบางอย่างที่ดูจะหาทางออกง่ายไปหน่อย นอกนั้นแล้วสิ่งอื่นๆ ก็ไม่มีอะไรที่น่าจะต้องตำหนิกัน
... ว่าแต่ตี้ยังไม่ได้ดู Supremacy แล้วข้ามมาดู Ultimatum เลยเนี่ยนะครับ?!?

+ Mysterious Skin - จริงๆ พล็อตเรื่องนี้เศร้ามาก และ ผกก. เกรก อารากิ ก็ใส่ 'สัญลักษณ์' ต่างๆ เข้าไปเยอะพอสมควร ... โจเซฟ กอร์ดอน เลวิตต์ ก้าวจากเด็กชายแบ๊วๆ ใน 10 things I hate about U มาเป็นเด็กผู้ชายขายตัวได้ไกลเหลือเกิน (อีกเรื่องที่ฉีกไปรับบทอีกแนวคือ Brick) ... และเป็นดาราวัยรุ่นอีกคนที่น่าจับตาในการเลือกรับบทแปลกๆ ฉีกไปจากบทเดิมๆ หรือบทคนปกติ ตามอย่าง อีไลจาห์ วูด

+ You I Love - ดูที่เฮาส์ตั้งแต่ตอนมันเข้ารอบปกติ ... เหมือนมันจะเป็น A home at the end of the world (หนังแนว 'เรา 3 คน' เหมือนกัน) ฉบับหลุดโลกยังไงมะรุ

+ Clean - ตอนดูเรื่องนี้พี่รู้สึกง่วงนอนอ่ะครับ เหอๆๆ ... คงมีแต่การแสดงของจางม่านอี้เท่านั้นแหละ ที่ช่วยตรึงม่านตาให้เปิดขยายอยู่ได้จนหนังจบ

+ My Summer of Love - หนังมันร้าวรานก็อีตอนจบเนี่ยแหละ ทำเอาอึ้งไปเลย ... แพ้ดดี้ คอนซิไดน์ พลิกบทจากคุณพ่อผู้อบอุ่นใน In America มาเป็นพี่ชายผู้ 'พยายาม' จะเป็นคนดีได้สติแตกดี ... ส่วนเอมิลี่ บลันต์ เธอได้รับรางวัลไปแล้วจากการกระโดดไปรับบทที่ใหญ่กว่าใน The devil wears Prada

+ Dirty Pretty Things - หนังกล้าที่จะเล่นกับประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครกล้าแตะมากนัก ... ออเดรย์ โตตูโทรมไปถนัดใจ (เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศตามท้องเรื่อง) และชิวเอเทล เอจิโอฟอร์แสดงเรื่องนี้แล้วแจ้งเกิดได้เลย ... เสียนิดเดียว ตอนพระเอกพลิกสถานการณ์ ไม่ถึงกับเหนือความคิดหมายสำหรับพี่ เลยรู้สึกเซอร์ไพรซ์ไม่ค่อยสุดเท่าไหร่

+ Welcome to Dongmakgol - อย่างที่เคยเขียนไว้ว่าเนื่องจากมันจบแบบ feel good พี่เลยกลับชอบหนังเรื่องนี้มากมาย (ติดอันดับท็อปเท็นปลายปีของปีที่แล้วด้วย) ... คือชอบไอเดีย 'ยูโทเปีย' ที่อยู่ระหว่างเขาควาย 2 ฝ่ายระหว่างสงครามที่หนังพูดถึง กับการเสียดสีเมกาและความไร้สาระของสงคราม ... เป็นหนังสงครามที่ดูแล้วไม่เครียดดีครับ

+ Downfall - ว่าถ้ามีโอกาส จะหามาดูเหมือนกันครับ

+ คนหิ้วหัว - ขอบายครับ


โดย: บลูยอชท์ วันที่: 17 กันยายน 2550 เวลา:15:24:33 น.  

 
*Hotel / Dirty Pretty Things น่าดูมาก

*เคยได้ดู Bear Club ด้วย ... ก็ ใช้ได้ แต่แบบ งงๆ

*เกลียด พิง ลำพระเพลิง

ฮ่าฮ่า


โดย: Hammer IP: 202.57.176.134 วันที่: 17 กันยายน 2550 เวลา:16:28:56 น.  

 
ตามมาแปะเม้นท์....คิดว่าตี้ยังเหลือหนังในสต๊อกอีกนะ หึๆ

- Kung Fu Hustle สนุกกับมันมาก...เป็นหนังที่ฮาได้ใจพี่มาก ช่วงท้ายก็รู้สึกคล้าย ๆกันครับ แต่น้องนางเอก นี่ไปเอามาจากไหนนะ ทำไมงามได้ใจเช่นนี้...(ก่อนหน้านี้หนังเฮียโจวทีไร นางเอกสวยๆ ต้องเอามาทำให้ขี้เหร่ทุกครั้งไม่รู้ทำไม โชคดีที่เรื่องนี้ น้องนางเอกของเราชวยสวยแอพพีล อย่างไม่บันยะบันยัง หุๆ ถูกใจ

- The Day I Became a Woman พี่ได้ดูไม่ครบค้าบ เหอๆ ได้ดูแค่ช่วงสุดท้าย ที่เป็นตอนจบเลย - - - - อยากจับเธอนั้นไปลอยทะเลอ่ะ - - - - - เป็นหนังที่น่าสนใจครับ นักแสดงที่เล่นเป็นหญิงชรา เธอก็เปรี้ยวมาก

- My Life without Me พี่ไม่ชอบหนังเรื่องนี้ครับ!!! ใครจะว่าจี๊ดยังไงก็ช่าง แต่พี่ไม่ชอบเอาเสียเลย มันธรรมดามากเกินไป และที่สำคัญไม่ค่อยเชื่อสิ่งที่ตัวนางเอกอยากจะทำก่อนตายเท่าไหร่นัก
สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการแสดงของ ซาร่า พอลลี่ย์ นั่นแลครับ

- The Simpsons Movie

- The Bourne Ultimatum ชอบภาค Supremacy มากกว่า ภาคนี้มันเริ่มเฝือๆ ตันๆ แล้ว .....

- Mysterious Skin มีแผ่นดองไว้ที่บ้านอ่ะครับ รอให้เค็มได้ที่ก่อนเดี๋ยวแกะดู หุๆ

- Downfall เออดี ได้เห็นฮิตเล่อร์อีกแง่มุมหนึ่งมั่ง เป็นหนังที่พี่รู้สึกว่าอารมณ์ร่วมมันน้อยยังไงชอบกลครับ อาจเป็นเพราะแผ่นของแปฯ ภาพดีวีดีไม่ชัดอย่างแรงและไม่รู้ว่าโดนตัดไปด้วยหรือเปล่า...


โดย: คำห้วน-lopzang-เฉือนคำรัก วันที่: 18 กันยายน 2550 เวลา:2:09:16 น.  

 
พาร์ทนี้เราแอบดูน้อยวะ เสียดาย The Day I Became a Woman วันนั้นติดอะไรสักอย่างไม่รู้เลยไปดูไม่ได้


ขอพูดถึงแค่เรื่องเดียวแล้วกัน
The Bourne Ultimatum
เป็นภาคที่เยี่ยมมาก เยี่ยมที่สุดเลยอะ การแสดงของพี่แมทก็ทำเอาโคตรชอบเลย ที่เค้าบอกว่ากล้องเหวี่ยงอะไรนั้น เรารู้สึกว่าเนี้ยเหวี่ยงน้อยกว่าภาคสองเยอะเลยเหอะ ภาคสองเนี้ยแบบ...มึงจะอะไรกันนักกันหนา แล้วเราอะดูกับคอมที่บ้านอีกต่างหาก มืดๆเหวี่ยงๆ จะอ้วกเอาให้ได้เลยทีเดียว แต่ภาคนี้แบบโคตรชอบ ชอบกว่าภาคหนึ่งอีก ส่วนภาคสองเนี้ยไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ออกแนวผิดหวังในภาคสองเลยอะ


โดย: cheatoneself IP: 125.24.73.195 วันที่: 18 กันยายน 2550 เวลา:23:24:43 น.  

 
Mysterious Skin ---- เหมี่ยวเคยเล่าให้ฟัง
You I Love ---- เชื่อไหม นี่เป็นหนังที่เราเคยหลงไปดูที่ house RCA เมื่อนานมาแล้ว


โดย: 125 66 IP: 58.11.121.115 วันที่: 23 กันยายน 2550 เวลา:23:05:41 น.  

 
Mysterious Skin
ตีความคล้ายๆกัน
คนทั้งคู่วิ่งหาความทรงจำช่วงนั้น คนหนึ่งมีสติเต็มเปี่ยมและไขว่คว้า กับอีกคนเห็นเพียงเงาลางๆแต่ก็ไข่คว้าเช่นกันแม้สุดท้ายจะเสียใจ
อะไรก็ตามที่เราไม่มีหรือไม่เห็นเป็นสิ่งที่ปราถนาเสมอแหละ แต่พอได้มาแล้วก็หึหึ


โดย: poomeeeeeeeeeee IP: 58.9.162.53 วันที่: 23 กันยายน 2550 เวลา:23:40:34 น.  

 
Kung Fu Hustle
ผมชอบที่เขาคารวะหนังกังฟูเก่าๆ ได้อย่างน่ารักน่าชัง แถมมุขของเขาหลุดโลกดี
แต่เห็นด้วยว่ายังบ้าไม่สุด เหมือน Shaolin Soccer. ทำให้เรื่องนี้ดูสนุกสู้เรื่องก่อนของเขาไม่ได้

Hotel
ผมไม่เข้าใจหนังเรื่องนี้อย่างมาก
เข้าใจเนื้อเรื่อง แต่ไม่เข้าใจว่า เพื่ออะไรฟะ...

The Day I Became a Woman
ไม่เคยดูครับ
หนังอิหร่านเคยดูแต่ Taste of Cherry กับ The White Balloon
ชอบมากทั้ง 2 เรื่อง

My Life without Me
ไม่เคยดู แต่ชอบตอนของผกก.คนนี้ใน Paris Je'Taime นะครับ

The Simpsons Movie
หนังโดนผมมากครับ ฮาขี้แตกเลย
ผมเป็นชอบตลกเสียดสีแบบนี้อยู่ด้วย
ดูจบก็อดชื่นชมนิสัยเปิดกว้างของเขาไม่ได้ นี่ถ้ามาเสียดสีแถวเมืองไทย(ที่มีอะไรให้เสียดสีเยอะ)นี่ ถ้าไม่โดนยิงตายก็โดนประท้วงไม่ให้ฉายกันล่ะครับ

The Bourne Ultimatum
สนุกตามสไตล์ แต่ทำไมผมรู้สึกเฉยๆ ยังไงไม่รู้
ออกจากโรงด้วยอาการมึนหัว

My Summer of Love
ปกซีดีของหนังเรื่องนี้ฝีมือ EVS ทำได้นรกแตกมากๆ จนไม่กล้าหยิบมาดู

Mysterious Skin
ชอบเรื่องนี้มากจนอุตส่าห์ไปขวนขวายหาหนังเรื่อง The Doom Gereration ของผกก.คนเดียวกันมาดู ก่อนที่จะพบว่า มันวายป่วงไม่แพ้กันเลย

Dirty Pretty Things
ก่อนดูตั้งความหวังไว้ที่ศูนย์ ดูจบความประทับใจเลยพุ่งสุดขีดไปที่ร้อย
เป็นหนังที่รวมทั้งสะท้อนสังคม โรแมนติค เขย่าขวัญไว้ด้วยกันได้ดี
เป็นหนังเรื่องเดียวที่ผมว่าคุณออเดรย์ ทาทูเล่นได้เป็นธรรมชาติ (เรื่องอื่นเธอแอ๊บแบ๊วตลอด) คุณ Sergi Lopez ที่เล่นได้น่ากลัวไม่แพ้บทใน Pan's Labyrinthและพระเอกที่เล่นได้เด็ดขาดหมากจนแทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นหน้าใหม่
ชอบที่มันเอาเรื่องของคนชายขอบมาทำเป็นหนัง ดูจบแล้ว อดคิดไม่ได้ว่า พวกแรงงานต่างด้าวที่อาศัยในเมืองไทยจะประสบชะตากรรมแบบนี้หรือเปล่าหนอ

Bear Cub,You I Love, Clean, Welcome to Dongmakgol, The Place without Limits, Downfall, คนหิ้วหัว
ยังไม่ดู


โดย: ฟ้าดิน วันที่: 26 กันยายน 2550 เวลา:4:25:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nanoguy
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




คนในสังคมจารีตที่มีความคิดทางเวลาแบบไตรภูมิจะไม่ให้ความสำคัญแก่เวลาตามประสบการณ์ กล่าวคือไม่ให้ความสำคัญแก่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริงของชีวิตและสังคมว่าดำเนินมาและดำเนินไปอย่างไร เชื่อในการคลี่คลายเปลี่ยนแปลงของชีวิตและสังคมซึ่งจะต้องเป็นเช่นนั้นตามกฎแห่งเวลาของพุทธศาสนา

- อรรถจักร สัตยานุรักษ์
(จากบทความ "ความเปลี่ยนแปลงความคิดทางเวลาในสังคมไทย" วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง 4 ตุลาคม 2531)




Let this song rhyme our souls
when your voice and mine become one and whole.

Let it carry us high above
When we recite our poetry of love
that when there's love then there's hope.

Your love is my light,
and it'll get us through this lonely night.

- รักแห่งสยาม (ซับไตเติ้ลอังกฤษเพลง กันและกัน ท่อนฮุค)









Friends' blogs
[Add nanoguy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.