bloggang.com mainmenu search

1. เรียน "คณิตศาสตร์" ไปทำไม? 



          สุดยอดคำถาม เรียนคณิตฯ ไปทำไม เรียนไปไม่ได้ใช้ จะใช้ชีวิตเราก็ไม่ต้องอินทิเกรต ดิฟ แล้วก็แก้ลอกการิทึมป่ะ ? หรือถ้าเราไปตลาดก็ไม่ได้ต้องใช้ ตรีโกณ มาหาขนาด พื้นที่ บลาๆ แก้สมการ อสมการป่ะ!! จริงๆ แล้วเราไม่ได้เรียนเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันซะทั้งหมดหรอกค่ะ เพราะชีวิตจริง บวก ลบ คุณ หาร ครบก็หรูละ แต่ในเรื่องที่ซับซ้อนขึ้น เราเรียนเพื่อใช้เรียนต่อ และทำงานสายเฉพาะทาง เช่น วิศวะ หมอ บัญชี นักเคมี นักธรณีวิทยา ฯลฯ วิชาที่ต้องใช้ความรู้ลึกๆ ของคณิตศาสตร์มีเยอะมาก แล้วแต่ว่าวิชาชีพนั้น ต้องใช้อะไรเยอะเป็นพิเศษ เช่น วิศวะ อาจจะใช้ตรีโกณเยอะเป็นพิเศษ อีกเหตุผลคือ เรียนเพื่อจัดระบบความคิด เพราะการคิดที่ซับซ้อนในวิทยาศาสตร์ ทำให้น้องๆ ได้พัฒนาสมอง และการคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น ส่งผลต่อการนำมาตัดสินใจโดยที่น้องอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้นะ

2. เรียน "วิทยาศาสตร์" ไปทำไม



           เรื่องของวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่อยุ่รอบตัวเราค่ะ แต่เราอาจจะไม่รู้ตัวว่าเนี่ย มันคือวิทยาศาสตร์นะ การเรียนวิทยาศาสตร์จึงทำให้น้อง ได้เข้าใจเรื่องรอบๆ ตัว เหมือนคำที่บอกว่า รู้ไว้ใช่ว่านั่นแหละ ในชีวิตจริง วิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเราไปหมด เราจะไม่รู้เลยว่าเราหายใจยังไงนะ ถ้าไม่ได้เรียน เราจะไม่รู้เลยว่าเรามองเห็นได้ยังไง สมมติวันนึงตาพร่าเลือนขึ้นมา ถ้าไม่รู้มาก่อนว่ามาจากส่วนไหนของดวงตา ม่านตา กระจกตา เราจะแก้ยังไงละ หรือ ถ้าเราปวดท้อง เราก็พอจะระบุสาเหตุได้ว่า เอ๊ะ อันนี้ปวดไส้ติ่ง อันนี้ปวดกระเพาะ จะได้รักษาได้ถูกที่ หรือแม้กระทั่ง วันนึงที่เราอยากแกล้งเพื่อน อยากโยนกระดาษใส่หัวเพื่อน เราก็ใช้เรื่องแรง เรื่องมวล โมเมนตัม จริงมั้ยละ? ,,, ไหนจะชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ ฯลฯ แทบทุกอย่างอยู่ใกล้ตัวหมดเลย ในวันที่จำเป็นต้องใช้ เราก็มีความรู้มากพอจะใช้มันให้เกิดประโยชน์ อีกอย่าง วิทยาศาสตร์สอนระบบการคิด ให้เราคิดอย่างมีเหตุผล สอนให้เราหาความจริงผ่านการทดลองก่อน อย่างเพิ่งเชื่ออะไรง่ายๆ... นี่แหละค่ะ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ล้วนๆ เราได้ระบบคิดดีๆ ไว้ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

3. เรียน "ภาษาไทย" ไปทำไม? 



             พูดก็พูดเถอะ ภาษาไทยเราก็พูดได้กันอยู่แล้ว แล้วเรียนไปทำไม แต่น้องๆ ลืมอะไรไปรึเปล่า ภาษาไทยมีความซับซ้อนมาก เขียนผิดนิดเดียว วรรคผิดนิดหน่อย ความหมายเปลี่ยนเลยนะ นี่ยังไม่รวมนัยยะของภาษา ระดับของภาษาที่เหมาะสม รูปประโยคที่ส่งผลต่อการสื่อสารอีก นอกจากนี้ยังมีวรรณคดี ซึ่งถือเป็นสมบัติของชาติ หากเราไม่เรียน ไม่มีคนเรียน ผลงานชิ้นสำคัญๆ ที่สะท้อนสภาพสังคม และแสดงถึงความสวยงามของภาษา ก็คงไม่มีให้คนรุ่นหลังได้ชมกัน

4. เรียน "ภาษาที่ 2,3,4 ..ฯลฯ" ไปทำไม? 




               เพราะเราไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางของโลกค่ะ และอีกหลายชนชาติก็มีภาษาเป็นของตัวเอง ทำให้มีภาษาเกิดขึ้นมากมาย แต่คนต่างชาติต่างภาษามาคุยกัน ย่อมไม่รู้เรื่องแน่นอน ดังนั้นถ้าเราอยากจะคุยกับคนชาติอื่น "ภาษา" จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูล ฉะนั้นการเรียนภาษากลางของโลกจึงเป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียว แต่ต่อไปในอนาคตภาษาที่สาม (หมายถึงภาษาชาติอื่นๆ) ก็จะสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก เพราะไม่ใช่แค่เรื่องการติดต่อสื่อสารแล้ว แต่ยังรวมไปถึงการเจรจาธุรกิจ การช่วยเหลือระหว่างประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การได้เรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ทำให้เรารู้วัฒนธรรมของชาตินั้นๆ ทำให้เราอยู่ร่วมโลกกันอย่างมีความสุขด้วย

5. เรียน "สังคม ศาสนา และวัฒนธรรม" ไปทำไม? 



                เคยได้ยินข่าวเรื่องการปะทะกันที่ฉนวนกาซา ข่าวเรื่องการเหยียดผิวจนถึงขั้นก่อจลาจลในอเมริกา ข่าวเรื่องความบาดหมางระหว่างประเทศเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อ รวมถึงอีกหลายๆข่าวที่เกิดความขัดแย้งจากความไม่เข้าใจกัน นี่แหละค่ะ เหตุผลหนึ่งที่เราต้องเรียนวิชาสังคมฯ เราไม่ได้เรียนเพื่อไปแก้ปัญหาเหล่านั้นทันทีหรอก แต่เราเรียนเพื่อที่จะเข้าใจ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับคนในสังคมโลก เพราะทุกคนมีความเป็นปัจเจก แตกต่าง แต่ในเมื่อเราต้องอยู่ร่วมกัน มันก็สำคัญที่ทำให้เราต้องปรับตัวตาม และเพื่อให้เราอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เอื้อเฟื้อ และเข้าใจความแตกต่างค่ะ อีกอย่างหากคนเราไม่รู้แม้แต่ชื่อตัวเอง มันคงแย่น่าดูเลยเนอะ นี่แหละเป็นเหตุผลให้เราต้องเรียนวิชาที่เกี่ยวกับความเป็นมาและรากเหง้าของชาติ อย่างประวัติศาสตร์ด้วย จริงๆ แล้วเค้าต้องการให้เรารู้ที่มาที่ไปของตัวเอง เรียนรู้จากความผิดพลาด และความสำเร็จในอดีต เพื่อใช้เป็นบทเรียนในปัจจุบัน จะได้ไม่ทำผิดพลาดแบบในอดีต หรือถ้าอะไรที่ดีอยู่แล้ว เราก็จะได้ทำต่อไปไงคะ

6. เรียน "กิจกรรม" ไปทำไม?



               ทั้งลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด บำเพ็ญประโยชน์ นักศึกษาวิชาทหาร รวมถึงกิจกรรมชมรมต่างๆ เราเรียนเพื่อทักษะการใช้ชีวิตค่ะ ถามจริงๆ ว่าเราจะหลงป่ากันง่ายๆ เหรอ หรือเราต้องผูกเงื่อนทุกวันมั้ย? มันก็ไม่หรอก แต่ถ้าวันนึงจวนตัว ต้องเจอเหตุการณ์แบบนั้นจริงๆ เราจะรอดเพราะวิชานี้แหละค่ะ!!ลองถามตัวเองกลับสิว่าถ้าน้องๆ ไม่ได้เรียนวิชาพวกนี้ ถามจริงๆ จะก่อไฟเป็นมั้ย? จะทำกับข้าวเป็นรึเปล่า? จะหุงข้าวกับฟืนเป็นมั้ย อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เราก็ได้อะไรจากวิชากิจกรรมเนอะ แถมเรายังได้เรียนรู้เรื่องการเสียสละ การทำงานเป็นทีม การแบ่งปัน การสามัคคี จากวิชานี้ด้วยถูกมั้ยละ อ่อ นี่ยังไม่นับรวมภาวะผู้นำ และการตัดสินใจนะคะ เพราะเวลาเราเจอสถานการณ์เวลาเข้าค่าย เราก็เรียนรู้มากอีกเพียบ ได้เพื่อนสนิทเยอะด้วย

7. เรียน "สุขศึกษาและพลศึกษา" ไปทำไม? 



              การเรียนพละคือวิชาเดียวที่ให้เวลาออกกำลังกาย อีกอย่างในวัยของน้องๆ การออกกำลังกายจำเป็นมากต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการ รวมถึงสุขภาพ ได้ผ่อนคลายอารมณ์จากวิชาหนักๆ ในห้องเรียนบ้าง ก็ดีนี่คะ ส่วนวิชาสุขศึกษา มันก็จำเป็นนะ เป็นเรื่องของสุขอนามัย และที่สำคัญเป็นวิชาที่จะทำให้ได้เรียนรู้เรื่องเพศอย่างเปิดเผย เพราะเอาจริงๆ วัยรุ่นทุกคนอยากรู้ อยากลอง ถ้าไม่ได้เรียนรู้มาเลย อาจจะพลาดได้จริงมั้ยล่ะคะ ขอแค่อย่าอายที่จะถาม มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เรียนไว้ก็จะได้รู้จักดูแลตัวเอง และเข้าใจตัวเองมากขึ้นไง

8. เรียน "ศิลปะ" ไปทำไม?



        การเรียนศิลปะ เป็นการเรียนเพื่อจรรโลงจิตใจค่ะ แถมยังสะท้อนภาพในความคิดของน้องๆ ออกมาโดยไม่รู้ตัว ไม่อย่างนั้น คุณหมอที่รักษาเด็กเล็กคงไม่ให้เด็กๆ วาดรูปหรอกค่ะ เพราะรูปภาพ สามารถสะท้อนว่าเค้าคิดอะไรอยู่ เช่นเดียวกัน การวาดในวัยมัธยมก็เป็นการปลดปล่อยอารมณ์ของน้องๆ และเพิ่มจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ด้วย นอกจากนี้ศิลปะยังเยียวยาคนได้ ถ้าใช้ให้ถูกทาง เพราะสีแต่ละสีมีความหมาย ส่งผลถึงอารมณ์และสุขภาพจิตได้ด้วยนะ 



ที่มา: //www.ssballthai.in.th/boards/topic/1176297
ขอบคุณเนื้อหาดีๆ จากเว็บ //www.dek-d.com/education/36130/
Create Date :12 มกราคม 2558 Last Update :12 มกราคม 2558 21:09:17 น. Counter : 4326 Pageviews. Comments :0