The Mist : เมื่อ “หมอก” บังตา
(งานเขียนชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญในเรื่อง)




ผู้เขียนเคยดูหนังสารคดีเรื่อง The Fog of War ประเด็นว่าด้วยประวัติศาสตร์สงครามอเมริกาที่ล้วนแต่มีเหตุตั้งต้นมาจากความคลุมเครือของสถานการณ์ ความไม่รู้ทำให้เราฟุ้งซ่านและโต้ตอบกับสิ่งที่คิดว่าเป็นอันตรายนั้นด้วยความโง่เขลา ความไม่รู้ที่ต่อยอดเป็นความหวาดระแวงส่งผลสืบเนื่องเข้าสู่สงครามเย็นกับชาติมหาอำนาจ เหตุการณ์ประเภทนี้ไม่ใช่ของแปลกใหม่ เพราะก่อนที่โลกจะรู้จักคำว่า “สงคราม” การตอบโต้กับสิ่งที่ไม่รู้จริงก็เคยเป็นไปอย่างไร้ซึ่งเหตุผล ( ความเกรงกลัวต่อปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นที่มาของการบูชายัญ หรือการทรงเจ้าเข้าผีตามลัทธิต่างๆ ) แต่จะว่าไปก็ไม่ใช่เหตุการณ์เก่าเก็บในอดีตซะทีเดียว ทุกวันนี้โลกเรายังดูเหมือนไม่เคยเรียนรู้ความผิดพลาดในอดีต อย่างที่เห็นๆ กัน การรับมือกับสิ่งที่ไม่รู้จริงหรือสถานการณ์ที่คลุมเครือ ยังคงเป็นไปอย่างฟุ้งซ่านสะเปะสะปะ ไม่มีทิศทางที่แน่นอนและขาดจุดยืนที่มั่นคง



The Mist คือหนังเรื่องใหม่ของผู้กำกับแฟรงก์ ดาราบองต์แห่ง The Shawshank Redemption และ The Green mile เช่นเคย ดาราบองต์มาพร้อมบทภาพยนตร์ซึ่งดัดแปลงมาจากงานเขียนของสตีเฟน คิง หัวใจของเรื่องมีประเด็นเดียวกันกับ The Fog of War ว่าด้วยหมอก ความคลุมเครือ และความสูญเสียที่เกิดมาจากความไม่รู้

หมอกควันประหลาดเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งหลังจากพายุลูกใหญ่ได้พัดผ่าน เดวิด เดรย์ตัน (โธมัส เจน) พร้อมลูกชายและเพื่อนบ้านผิวสีที่ไม่กินเส้นกัน ขับรถมุ่งหน้าเข้าเมืองเพื่อหาซื้อเสบียงมาตุนไว้ระหว่างรับมือกับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกรี้ยวกราดนี้

ไฟฟ้าดับ โทรศัพท์ใช้การไม่ได้ การคมนาคมหยุดชะงัก ชาวเมืองหลายสิบคนติดอยู่ในซุปเปอร์มาเก็ตหลังจากหมอกควันที่หนาทึบเข้าครองเมืองจนมองอะไรไม่เห็น ชีวิตแห่งโลกยุคโลกาภิวัตน์ถูกต้อนเข้าสู่สถานการณ์จำลองของยุคปฐมกาลประหนึ่งการทดลองของพระเจ้าเพื่อยืนยันถึงสัจธรรมอะไรบางอย่าง มนุษย์จะรับมือกับปัญหานี้ได้ดีแค่ไหนเมื่อต้องตกอยู่ในยุคสมัยแห่งอวิชชา มนุษย์ในโลกไอทีผู้ฉลาดล้ำจะกลับคืนสู่แสงสว่างแห่งปัญญา (enlightenment)ได้หรือไม่ ? หากต้องดำรงชีวิตอยู่ในยุคมืดแห่งอารยธรรมอีกครั้ง



ท่ามกลางหมอกที่ทึบทึมปรากฏเสียงร้องประหลาดของบางสิ่ง ชายชราคนหนึ่งวิ่งเข้ามาในซุปเปอร์มาเก็ตพร้อมบอกเล่าถึงหายนะที่แฝงตัวอยู่ในหมอก ทุกคนตกอยู่ในความหวาดกลัวและไม่กล้าพอที่จะเดินออกไปข้างนอก

ประตูร้านถูกปิดเพื่อปฏิเสธสิ่งที่จะเข้ามาขณะเดียวกันก็เพื่อปฏิเสธการก้าวออกไปของคนในกลุ่ม ทว่าหญิงวัยกลางคนผู้หนึ่งก็ยังยืนยันที่จะกลับไปหาลูก เธอวิงวอนขอความช่วยเหลือในขณะที่ประตูความเมตตาของทุกคนถูกปิดตาย ( เพื่อเอาตัวรอดและผู้ชมส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับการตัดสินใจปฏิเสธให้ความช่วยเหลือนั้น) ด้วยความผิดหวังในมนุษยธรรมที่หดหายเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัว เธอสาปช่างให้ทุกคนตกนรก ( ผู้ชมที่เห็นดีด้วยในตอนแรกจึงถูกสาปแช่งไปด้วยโดยปริยาย ) ก่อนที่จะเดินออกไปหาลูกของตนด้วยอาวุธป้องกันตัวเพียงหนึ่งเดียวนั่นคือ “ความหวัง”



สงครามทางความคิดเกิดขึ้นเป็นระยะในทางรอดที่เต็มไปด้วยเสบียงเลี้ยงชีพนี้ การแบ่งแยกกลุ่มชนด้วยพรมแดนทางสีผิว ( ชนวนสงครามกลางเมืองของสหรัฐในอดีต) ฐานะทางสังคม (ระหว่างชนชั้นแรงงานและผู้รากมากดีมีหน้ามีตาในสังคม) ความเชื่อทางศาสนา (ระหว่างการอธิบายโลกด้วยความเชื่อและการค้นพบเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ในยุคมืด) ในที่สุดผู้คนก็ถูกแบ่งให้แตกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า เมื่อสังคมเล็กๆ นี้เรียนรู้ว่าอำนาจที่มั่นคงต้องมาจากเสียงส่วนใหญ่ (ยุคประชาธิปไตยครองโลก) การแบ่งแยกฝักฝ่ายชัดเจนมากขึ้น สงครามแย่งชิงมวลชนก็เริ่มต้นปรากฏ (เหมือนประเทศไทยขณะนี้ที่อำนาจในสังคมมักอ้างประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการแย่งชิงมวลชน ทั้งๆ ที่ความจริงล้วนแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว)

ตลอดเวลาที่หมอกหนายังคงปกคลุมเมือง ความร้ายกาจของสัตว์ประหลาดปรากฏอยู่เพียงไม่กี่ครั้ง แต่น่าแปลกที่บ่อยครั้งหายนะมักเกิดขึ้นจากพฤติกรรมประหลาดๆ ของมนุษย์เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางความหวาดระแวง สังคมในซุปเปอร์มาเก็ตตึงเครียดขึ้นทุกขณะ จนท้ายที่สุดเดวิด เดรย์ตัน พระเอกของเรื่องก็รวบรวมคนในกลุ่มเดียวกันจำนวน 5 คนหนีขึ้นรถเพื่อไปให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้ายและเริ่มมองไม่เห็นทางรอดนี้



เดวิดขับรถไปจนสุดกำลังเครื่องยนต์แต่หมอกที่ปกคลุมเมืองก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจางหาย ความหวังถึงทางรอดเริ่มริบหรี่เมื่อปรากฏเสียงกรีดร้องของบางสิ่งดังเสียดแทงออกมาจากไอหมอก ทุกคนในรถซึ่งล้วนแต่เป็นที่รักของผู้ชมตลอดเวลาการฉาย (เราย่อมรู้สึกว่าพวกเขาคือกลุ่มคนที่ใช้ได้และพร้อมต้อนรับเข้ามาเป็นพวกได้อย่างสนิทใจ) ฟากหนึ่งของผู้หญิงคือปัญญาความรู้ (หนังให้รายละเอียดว่าเธอทั้งสองมีอาชีพเป็นครูและแก้สถานการณ์ด้วยเหตุผลเสมอ) ฟากหนึ่งของผู้ชายคือกำลังกายและสติที่มั่นคง ทว่าฉากจบของเรื่องกลับเป็นการตบหน้าผู้ชมแรงๆ เพื่อสั่งสอนให้เรียนรู้ถึงสัจธรรมบางอย่างร่วมกัน เป็นความจริงซึ่งหญิงวัยกลางคนตอนต้นเรื่องได้เรียนรู้มาแล้วก่อนนั้น

เดวิดเก็บปืนที่บรรจุกระสุนซึ่งเหลืออยู่ 4 นัดติดตัวมาด้วยหวังใช้เป็นอาวุธเมื่อต้องผจญกับภัยร้าย อาวุธที่ทุกคนเห็นตรงกันว่ามันคือทางรอด ( อย่างน้อยก็ตอนที่คุณนายคาร์โมตี้ถูกยิง ผู้ชมรู้สึกรักปืนกระบอกนั้นอย่างบอกไม่ถูก) ทว่าหนังเรื่องนี้กลับยืนยันที่จะเดินออกไปในทางที่ทุกคนคิดไม่ถึง เป็นฉากจบที่รุนแรงในความรู้สึกและประทับรอยลอยฟุ้งอยู่ในความคิดของผู้ชมได้อย่างยาวนาน



เมื่อความกลัวเริ่มหลอกหลอนรุกเร้าให้สติและปัญญาที่เคยทำงานได้ดีต้องฟุ้งซ่าน เมื่อThe Mist ทิ้งทางออกอันเป็นฉากจบของเรื่องเพื่อเตือนให้ผู้ชมได้ตระหนักว่าเมื่อหมอกเริ่มบังตาจนมองไม่เห็นทาง ประตูสุดท้ายที่จำเป็นต้องเปิดอยู่เสมอนั่นคือ “ความหวัง”

The Mist อาศัยวิธีการถ่ายทำเพื่อช่วยบอกเล่าประเด็นของเรื่อง เน้นการปรับโฟกัสจากเบลอจนชัดให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ สอดรับกับเรื่องที่ว่าด้วยความคลุมเครือและความชัดเจนได้เป็นอย่างดี หนังแสดงให้เห็นว่าความคลุมเครือเป็นที่มาของปัญหาซึ่งปรากฏอยู่ในหลายๆฉากของเรื่อง ตัวอย่างเช่น หมอกอันเป็นสัญลักษณ์หลัก การคาดเดาไปต่างๆนานาของผู้คนถึงสาเหตุการเกิดขึ้นของหมอกประหลาดแต่ก็ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ข้อพิพาทที่โต้แย้งกันในทางคดีก่อนที่จะถูกชี้ชัดออกมาเป็นคำพิพากษา (ผ่านบุคลิกทนายความผิวสีเพื่อนบ้านของเดวิดที่มักอ้างกฎหมายเป็นที่ตั้งและไม่เชื่ออะไรเด็ดขาดหากไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่รับฟังได้) ภรรยาของเดวิดที่จดรายการสินค้าด้วยลายมือหวัดจนอ่านไม่ออก (เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความคลุมเครือ) ข้อถกเถียงถึงเสียงแปลกๆ ที่เดวิดได้ยินแต่ไม่มีใครเชื่อ เดวิดเดินชนสะเปะสะปะอยู่ในความมืดเมื่อเครื่องปั่นไฟหลังร้านดับลง ความลังเลสงสัยของผู้จัดการร้านถึงความสามารถในการยิงปืนของพนักงานร้านร่างแคระ หรือแม้แต่การเล็งปืนก่อนยิงแต่ละครั้งที่จะต้องมองเป้าให้ชัดเจนแน่นอน รวมไปถึงความรักของหนุ่มสาวที่ไม่กล้าเปิดใจกันและกันเนื่องจากความสัมพันธ์ยังคงคลุมเครือไม่ชัดเจน เป็นต้น




ในสถานการณ์ที่สับสนคลุมเครือ ทุกคนเรียกร้องหาทางออกหรือต้องการการชี้นำไปสู่ทางรอด หนังแสดงให้เห็นว่าทางรอดมีอยู่เสมอในแต่ละปัญหา (แม้แต่แมลงก็ยังบินไปตามลำแสง) ทางรอดระดับกายภาพซึ่งถือได้ว่าหยาบที่สุด นั่นคือการตุนเสบียงเลี้ยงชีพท่ามกลางสภาพอากาศที่แปรปรวน ซุปเปอร์มาเก็ตคือจุดหมายหลักที่รวมคนหลากหลายประเภทเข้าไว้ด้วยกันก่อนที่จะถูกคัดออกด้วยอุปสรรคในระดับถัดไป

ทางรอดในระดับที่ละเอียดลงมาคือสติและปัญญา หนังสื่อผ่านพนักงานร้านร่างแคระผู้มีสติดีเยี่ยมซึ่งสามารถควบคุมสถานการณ์ที่วุ่นวายให้สงบลงได้ และอาจารย์หญิงวัยชราที่มีปัญญาความรู้ประหนึ่งลำแสงนำทางอยู่เสมอ ( ผู้เขียนชอบฉากที่เธอกล่าววิจารณ์ถึงงบประมาณอันน้อยนิดที่รัฐบาลจัดสรรให้การศึกษา ในขณะที่ทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาอาวุธสงคราม อีกฉากหนึ่งที่ชอบมากคือตอนเธอจุดไฟใส่สเปรย์เพื่อฆ่าแมลงยักษ์ เห็นอย่างชัดเจนถึงพลังความรู้ที่เป็นดังอาวุธในตัวเธอ) หลายคนตายเพราะขาดสติ ในขณะที่หลายคนตายเพราะความโง่เขลา สำหรับกลุ่มคนที่ยังรอด พวกเขาเคลื่อนรถออกไปจากซุปเปอร์มาเก็ตแห่งนี้ที่เป็นเสียยิ่งกว่านรก ลำแสงของไฟตัดหมอกพุ่งตรงไปข้างหน้าสู่ความหวังในชีวิต ทุกคนที่ติดอยู่ในซุปเปอร์มาเก็ตมองรถคันนั้นด้วยความอิจฉาประหนึ่งพาหนะที่ฉุดดึงผู้มีบุญขึ้นสู่สวรรค์ ทว่าการคัดกรองในระดับที่ลึกซึ้งที่สุดยังคงรออยู่



เมื่อความรู้สึกมืดแปดด้านแลไม่เห็นทางออกใดๆ เริ่มย่างกรายเข้ามาปกคลุมปริมณฑลแห่งชีวิต หลายคนเลือกที่จะหนีปัญหาด้วยการฆ่าตัวตายเพราะสำคัญผิดว่านั่นคือทางออกเพียงหนึ่งเดียว The Mist แสดงให้เห็นว่าตัวละครหลายคนที่มีจิตใจอ่อนแอเลือกที่จะตายแทนการต่อสู้ คนกลุ่มนั้นยอมแพ้การต่อสู้ที่ไม่มีแม้กระทั้งการออกแรงกำลัง ยอมแพ้ให้กับการงัดข้อในหัวใจและปล่อยให้ความสิ้นหวังของตนมีชัยชนะ

เดวิดเดินทางเอาตัวรอดมาได้จนถึงบททดสอบสุดท้าย เมื่อรถหยุดลงเพราะน้ำมันหมด แรงขับเคลื่อนในชีวิตก็หยุดลงด้วยเช่นกัน เสียงประหลาดนำพาความกลัวมาสู่หัวใจของทุกคนที่ยังรอด หมอกทึบยังคงบังตาให้มองไม่เห็นทางไปต่อ ความไม่รู้หรืออวิชชาบดบังสติและปัญญาที่เคยมีจนหมดสิ้น ความฟุ้งซ่านของเดวิดนำมาซึ่งฉากจบอันเป็นตลกร้ายที่ขมขื่นเกินบรรยาย ฉากจบที่ผู้ชมได้แต่กล่าวคำว่า “เสียดาย”

เสียดายที่เดวิดมองไม่เห็นแสงของความหวังซึ่งหลบเร้นอยู่ในหมอกมืด เขาพลาดบททดสอบสุดท้ายของพระเจ้า และต้องโทษถูกจองจำให้มีชีวิตอยู่กับความรู้สึกผิดบาปนั้นตลอดไป หนังเผยให้เห็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในฉากจบ ไม่ใช่สัตว์ประหลาดจากมิติอื่น ไม่ใช่เพื่อนร่วมโลกที่วิปริต หากแต่มันคือสัตว์นรกที่อาศัยอยู่ในหัวใจของมนุษย์



เช่นเดียวกับ The Shawshank Redemption หนังเรื่อง The Mist ชี้ให้เห็นพลังของความหวัง ความหวังที่นำมาซึ่งทางออกได้เสมอ (หนังเรื่อง The Shawshank Redemption กล่าวถึงทางออกในการแหกคุกชอร์แชงค์ของแอนดี้และทางออกจากความผิดบาปสู่อิสรภาพในใจของเรด ) และเช่นเดียวกับ The Green mile หนังเรื่อง The Mist ชี้ให้เห็นว่าคุกที่น่ากลัวที่สุดคือการถูกจองจำอยู่ในความมีชีวิต

The Mist จบลงอย่างหดหู่ทว่าฝากแง่คิดที่ทรงพลังถึงผู้ชมว่าอย่าได้ละทิ้งความหวังแม้เพียงเสี้ยววินาที

ปัจจุบันโลกของเราก็เสมือนติดอยู่ในซุปเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ยักษ์เช่นกัน ของกินของใช้ช่างพร้อมสรรพตามกระแสการไหลบ่าของโลกทุนนิยม โลกแห่งวัตถุที่ปัจจัยสี่ยังคงถือว่าหยาบเกินไปแก่ความอยู่รอดหากสติปัญญาและความหวังเริ่มจางหายจากจิตใจของมนุษย์ นี่คือสาเหตุว่าทำไมสงครามร้อยพันประเภทถึงได้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา มนุษย์เราเลือกที่จะฆ่าฟันกันเองอย่างไร้ซึ่งเหตุผล ขณะที่อุกกาบาตยังไม่ได้ถล่มโลก เอเลี่ยนจากดาวอื่นก็ยังไม่ได้บุก น่าแปลกที่โลกเรากลับรีบร้อนเข้าสู่ปัญหาก่อนที่ปัญหาจริงๆ จะเริ่มต้นเกิดขึ้นซะอีก



น่าคิดเหมือนกันว่าเหตุการณ์ร้ายในฉากจบของ The Mist เกิดขึ้นหลังจากล้อรถของเดวิดหยุดหมุนเนื่องจากน้ำมันหมด หากวันหนึ่งโลกของเราหมุนมาถึงจุดที่น้ำมันในแผ่นดินหมดลง สงครามแย่งชิงความอยู่รอดคงจะลุกลามร้ายแรงอย่างมหาศาล

และท่ามกลางหมอกควันแห่งปัญหาที่เหมือนว่าจะไม่มีทางออก ณ จุดนั้นมนุษย์จะยังคงเหลือความหวังอยู่ไหมหนอ ?




Create Date : 14 มีนาคม 2551
Last Update : 21 มีนาคม 2552 9:55:49 น.
Counter : 1717 Pageviews.

5 comments
  
ไม่ผิดหวังครับที่ได้อ่านงานชิ้นนี้ ตีความได้ละเอียดทีเดียว (โดยเฉพาะช่วงท้ายบทความ) และที่ชอบอีกอย่างคือ ไม่ยึดติดอยู่กับตัวเรื่องมากจนเกินไป (ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมกำลังเป็นอยู่ 5555)

ส่วนตอนจบ ผมอ่านบทความนี้จบแล้ว ผมไพล่นึกถึงนิทานว่าด้วยบาทหลวงที่รอการช่วยเหลือจากพระเจ้า จนปฏิเสธเด็กหนุ่มที่พายเรือวนมารับถึงสามครั้งสามครา ก่อนที่จะถูกตอกหน้าจากพระเจ้าเมื่อเขาตายไปแล้วว่า "ข้าส่งคนไปช่วยตั้งสามหน เจ้ากลับไม่สนใจเอง"
โดย: nanoguy IP: 125.24.74.85 วันที่: 14 มีนาคม 2551 เวลา:14:32:33 น.
  
ชัดเจนแจ่มแจ้งครับ
ชอบที่พูดถึง "การคัดกรอง"

สำหรับเรื่องนี้อย่างที่ผมเขียนความเห็นไว้ที่บล็อก
ประเด็นดีมาก ติดที่องค์รวมของหนังยังไม่โอเค
ผมเลยชอบในระดับปานกลาง
โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 14 มีนาคม 2551 เวลา:16:38:41 น.
  
รู้สึกดีใจจริงๆ เลยที่เปิดมาเจอบล็อกนี้
เพราะไม่ใช่แค่ให้ความกระจ่างเรื่องหนังอย่างเดียว
แต่ยังได้แง่คิดในการมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกด้วย

ขออนุญาตแอดไว้เลยนะครับ
โดย: บุรุษพเนจร วันที่: 14 มีนาคม 2551 เวลา:17:08:41 น.
  
ตามมาจากในกระทู้นะคะชอบบทความนี้มากๆ แล้วจะมาอ่านบ่อยๆ ค่ะ
โดย: moonlike IP: 203.158.118.14 วันที่: 15 มีนาคม 2551 เวลา:23:32:03 น.
  
ตามฟอร์มคือยังไม่ได้ดู อยากดูใจจะขาดแต่รอบมันไม่เอื้ออำนวย

แต่ก็พอจะเดาเนื้อหาจากตัวอย่างได้ว่างานนี้ผู้ร้ายไม่ใช่แมลงฝูงที่เอามาโชว์ให้ดู
แต่เป็นมนุษย์ด้วยกันที่ติดอยู่ภายในหมอก

ชอบประโยคที่บอกว่าความหวังเป็นประตูที่ต้องเปิดเอาไว้เสมอ
อ่านแล้วตบหัวเข่าไปหนึ่งฉาด 555+

ประเด็นเกี่ยวกับ The Fog of War หรือความคลุมเครือแล้วตีกันในสังคมมนุษย์ก็ชัดเจนมาก
เรียกว่าพอหยิบมาเขียนก็แทบไม่ต้องยกตัวอย่างเลย
เพราะหนังสือพิมพ์ ทีวี และสื่อต่างๆ พากันยกตัวอย่างให้หมดแล้ว

แล้วก็ชอบย่อหน้าจบที่บอกว่าโลกคือซุปเปอร์ขนาดใหญ่...
การกัดจิกบางทีก็ชัดเจน การเสียดสีบางทีก็แอบซ่อน
แต่มนุษย์เราก็แบบนี้ อะไรที่มันโดนเข้าตัวก็ทำเป็นมองไม่เห็น เราเลยงมโข่งกันต่อไป

ที่เด็ดสุดคือการเปรียบเทียบน้ำมันรถที่หมดกับน้ำมันที่โลกกำลังต่อสู้แย่งชิงกัน
น่าคิดตามเสียด้วยนะ ว่าถ้าน้ำมันหมดโลก คนเราจะพบจุดจบแบบตัวละครในหนังที่น้ำมันรถหมดไหม
(ไม่ได้ดูแต่เท่าที่อ่าน ดูถ้าจะจบไม่สวย)

ผมว่า ณ จุดนั้น
(ที่ถ้าเป็นหนัง เราคงมีนายกโลก คนๆเดียวที่ปกครองมนุษย์ที่เหลือรอดจากสงครามแย่งชิงทรัพยากร)
แล้วปกครองผู้คนด้วยการหลอกให้ความหวัง และควบคุมทุกความคิดด้วยความกลัว

ถ้าคำถามคือ ถึงตอนนั้นความหวังจะยังมีเหลือไหม
คำตอบคงจะเหมือนกับที่การ์ตูนเรื่องนึงพูดถึงความหวังเอาไว้ว่า
“ถึงตอนนั้นความหวังคงจะเป็นแค่หน้ากากที่แปะทับอยู่บนความสิ้นหวังเท่านั้น”

ผู้คนก็คงก้มหน้าก้มตามีความหวังกันไป แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้วิ่งไปหาความหวัง
หรือกระตือรือร้นจะทำให้ความหวังกลายเป็นความจริง
ดีไม่ดีจะกลัวด้วยซ้ำไปว่า ถ้าความหวังเป็นจริงขึ้นมากลัวว่าโลกมันจะน่าอยู่เกินไป!
คืออยู่แบบหดหู่ๆมานานจนเคยตัวไง...บ่นไรเนี่ยผม 555+


พี่ beerled นี่ก็เหลือเกิน ชอบหาคำถามชวนหดหู่มาชวนให้คิดอยู่เรื่อย
ผมดูจากบทความนี้ ถ้าได้ดูหนังด้วย ผมว่าดีไม่ดีตอนที่เดินออกจากโรงมาคงรู้สึกผิดนิดๆ
ที่ชาตินี้เราดันเกิดมาเป็นมนุษย์ ...“สิ่งมีชีวิตที่โง่ เห็นแก่ตัว และน่ารังเกียจที่สุดในโลก”

บทความนี้ไม่น่าจะเตือนหรอกว่ามีสปอยเนื้อหา
แต่ต้องบอกว่า “คำเตือน - อ่านแล้วอาจจะเกลียดเผ่าพันธุ์ตัวเองได้” 555+

ปล. ขออุทานหยาบๆนิดนึงนะครับ
“แม่ง!! ดีใจที่ได้กลับมาอ่านบล็อกจริงๆ พับผ่าสิ! 555+”
โดย: ขอรบกวนทั้งชุดนอน วันที่: 21 มีนาคม 2551 เวลา:17:53:19 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Beerled.BlogGang.com

beerled
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]

บทความทั้งหมด