Hancock มหาอำนาจถ่อย ผลงานการแสดงล่าสุดของ วิลล์ สมิธ (Will Smith) เรื่องนี้คงต้อนแขกเข้าโรงได้ไม่น้อยโดยเฉพาะวันฉายช่วงแรกๆ แต่คิดว่ากระแสปากต่อปากในช่วงถัดไปคงไม่สวยนัก Hancock เป็นหนังที่เหมือนว่าจะสนุก (?) ด้วยองค์ประกอบทุกอย่างซึ่งพร้อมจะประกอบรวมกันเป็นหนังดีมีคุณภาพเรื่องหนึ่ง แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับสวนทางศักยภาพที่มีอยู่อย่างน่าเสียดาย แผลใหญ่ของเรื่องนี้อยู่ที่บทภาพยนตร์ ไม่ใช่ว่าโครงเรื่องไม่น่าสนใจ แต่รายละเอียดที่ปรากฏในหนังทำให้ประเด็นหลักกลับดูเลือน ไม่คมชัด ปัญหาที่คิดว่าทุกคนคงเห็นตรงกัน คือการเปิดประเด็นใหม่ตอนกลางเรื่อง ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยและไร้วี่แวว ( เล่าขนานไปพร้อมๆ กันกับประเด็นแรกที่ยังไม่คลี่คลาย ) ในความเห็นส่วนตัวของผม Hancock สามารถแบ่งสร้างออกได้เป็น 2 เรื่องด้วยซ้ำ (ประมาณสามก๊กตอนศึกผาแดง) เรื่องราวว่าด้วย Superhero ชื่อเดียวกับชื่อเรื่องที่ทำตัวถ่อยเหมือนอันธพาล แม้มีพลังอำนาจเหนือมนุษย์ธรรมดาแต่ภารกิจในการช่วยผู้ประสบภัยแต่ละครั้งกลับไม่เคยเป็นไปอย่างมีกิจจะลักษณะ ช่วยส่วนหนึ่งให้ปลอดภัยแต่ส่วนใหญ่เดือดร้อน แฮนค็อคบ่มเพาะพฤติกรรมเช่นนี้จนกลายเป็นอัตลักษณ์หรือ concept ประจำตัว ด้วยความช่วยเหลือของแฮนค๊อค นักประชาสัมพันธ์หนุ่มชื่อ เรย์ (เจสัน แบตแมน) รอดตายอย่างหวุดหวิดจากเหตุการณ์รถไฟพุ่งชน เรย์เป็นหนี้บุญคุณแฮนค็อคและต้องการตอบแทนน้ำใจด้วยการแก้ไขภาพลักษณ์ในแง่ลบที่สังคมต่างรุมประณามให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าหากสังคมนี้ขาดแฮนค็อคแล้วจะเดือดร้อนกันขนาดไหน (สำคัญตนซะ) กระบวนการแก้ไขภาพลักษณ์ของแฮนค็อคกำลังเริ่มต้นและเหมือนจะไปได้ดี ทั้งที่ประเด็นนี้ควรจะเป็นเส้นเรื่องหลักตลอดเวลาฉาย ด้วยการเจาะลึกลงไปให้ถึงก้นบึ้งหัวใจบุรุษผู้ทรงพลังคนนี้ ทั้งส่วนของความกร่างในพลังจนหมิ่นเหม่กลายเป็นเกเร สาเหตุที่ทำให้แฮนค็อคเบื่อหน่ายกับสังคมรอบข้าง ความเหงา หรือแม้แต่อารมณ์ของคนที่ไร้ญาติขาดมิตร แต่หนังก็ไม่ได้เดินไปในทิศทางนั้นและในทันใดประเด็นใหม่ได้ถูกเปิดขึ้น สมาชิกในครอบครัวของเรย์คือตัวแปรสำคัญต่อประเด็นใหม่นี้ (เล่าได้ไหมนี่ ไม่ดีกว่าเดี๋ยวเป็นมลพิษ) แฮนค็อดค้นพบอดีตของตนซึ่งต่อมากลายเป็นปัญหาใหม่ประกอบกับศัตรูคู่แค้นมากมายที่รอเห็นความพ่ายแพ้ของเขา พลังอันยิ่งใหญ่นี้ของแฮนค็อคไม่ได้สมบูรณ์ไร้ตำหนิ แฮนค็อคเริ่มมองเห็นจุดอ่อนของตนเอง หนังเรื่อง Hancock มีเจตนาชัดเจนในการเปรียบเทียบบุคลิกของแฮนค็อคกับพฤติกรรมของสหรัฐอเมริกา ( สื่อผ่านนกอินทรีย์โลโก้ประจำชาติ ) ความเสียหาย ( หรือจะเรียกว่าฉิบหายดี ) ที่เกิดขึ้นในโลกซึ่งนานาประเทศต่างรุมประณามว่าสหรัฐอเมริกาเป็นต้นเหตุ หนัง Hancock กำลังสื่อว่าสหรัฐอเมริกาเขามีเจตนาดีในการช่วยแก้วิกฤติโลกแต่อาจจะเถรตรงและไม่ค่อยสร้างภาพเท่าไหร่ ผลลัพธ์เลยออกมาอีหรอบนี้คือไม่มีใครเข้าใจหรือมองเห็นในเจตนาดีนั้น ( อย่าลืมหลักกาลามสูตรด้วยนะครับในระหว่างที่อ่านย่อหน้านี้ ) Hancock ยังกล่าวถึงความจำเป็นของการมี Hero คนเดียว ทั้งในระดับครอบครัว (ผู้นำครอบครัว) และในสังคมระหว่างประเทศ ตราบใดที่โลกยังมี Hero สองคน สงครามโลก สงครามเย็นและนานาสงครามระหว่างขั้วย่อมไม่มีวันยุติ (ในระดับโลกยังสงสัยอยู่แต่ในระดับครอบครัวเห็นชัดว่าเมื่อพ่อและแม่พยายามวางอำนาจให้เท่าเทียมกันในทุกเรื่อง สถาบันครอบครัวย่อมล่มสลายลงอย่างแน่นอน) โครงการการกุศลของเรย์ที่รณรงค์ให้กลุ่มมหาอำนาจด้านต่างๆ เช่นองค์กรเจ้าของสิทธิบัตรยา อาหาร หรือนวัตกรรมที่จำเป็นต่อสังคม รู้จักแบ่งปันทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่เดือดร้อน โครงการนี้เป็นเสมือนข้อความสำคัญที่สหรัฐอเมริกากำลังบอกโลกเนื่องในวาระวันชาติ 4 กรกฎาคม ปีนี้โดยใช้ Hancock เป็นเครื่องมือ ภาพโลโก้หัวใจดวงน้อยที่โดดเด่นอยู่บนดวงจันทร์วันเพ็ญตอนจบ ( ด้วยฝีมือการสร้างสรรค์ของแฮนค็อค ) แสดงให้เห็นถึงก้าวแรกของสหรัฐอเมริกาในการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่มีต่อสังคมโลกให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น หวังว่าภาพลักษณ์นี้คงจะไม่เฟคเหมือนก้าวแรกบนดวงจันทร์ในอดีต โดย: CrackyDong วันที่: 7 กรกฎาคม 2551 เวลา:18:42:55 น.
agree
โดย: takky IP: 58.8.99.157 วันที่: 9 กรกฎาคม 2551 เวลา:11:51:05 น.
|
บทความทั้งหมด
|