Black Swan : อิสรภาพสีดำ (เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ) เคยอ่านเจอในนิตยสารว่าผู้กำกับ ดาเรน อโรนอฟกี้ ต้องการให้ Black Swan เป็นหนังคู่แฝดกะ The wrestler ดูจบแล้วก็เห็นตามนั้นจริงๆ ทั้งสองเรื่องมี DNA คล้ายกันอย่างเห็นถึงความตั้งใจ (และอิทธิพลบางส่วนจากผลงานก่อนๆ) เช่น การนำผู้ชมมาทำความรู้จักกับวงในวิชาชีพของมวยปล้ำและบัลเล่ต์ (อย่าง Pi ก็วิชาชีพของนักคณิตศาสตร์) การมุ่งสำรวจเบื้องลึกจิตใจตัวละคร อาการหมกมุ่นที่เข้าข่ายเสพติดจนจิตหลอน เทคนิคการถ่ายทำที่ให้ความรู้สึกคล้ายสารคดีเพื่อเสริมความสมจริง (ใช้ภาพแตกเกรนเล็กน้อย เน้นเดินถ่ายซึ่งให้ภาพสั่นและหยาบ การเดินถ่ายตามหลังตัวละครคล้ายรายการ reality) การเคี่ยวกรำของผู้กำกับเพื่อดึงขุมศักยภาพจากดารานำกระทั่งคว้ารางวัลออสการ์ได้สำเร็จ รวมถึงจากจบในเรื่อง ที่ความตายนำมาซึ่งความปิติสุข (กระโดดจากที่สูงเหมือนกัน) เหมือนกระจกของกันและกัน The wrestler นำเสนอความป่าเถื่อนบนสังเวียนเปื้อนเลือด หลายฉากหวาดเสียวถึงขั้วหัวใจ อย่างการเอาลวดเย็บกระดาษมายิงใส่กัน ก่อนที่จะเผยด้านอ่อนแอและเปราะบางให้ผู้ชมร่วมรู้สึก จากปมขัดแย้งกับลูกสาว (และน่าเชื่อว่าจะเป็นเลสเบี้ยนด้วย) และอาการรับไม่ได้กับช่วงขาลงของฮีโร่ผู้ชรา (ใน Black Swan ก็กล่าวถึงวิกฤตินี้ ผ่านการแสดงของ วิโนน่า ไรเดอร์ ) ในขณะที่ Black Swan นำเสนอการแสดงศิลปะชั้นสูง ดูมีวัฒนธรรม แต่ก็เผยเบื้องหลังอันเจ็บปวดให้เห็น ทั้งการฝึกฝนที่เครียดและกดดัน (ซ้อมหมุนตัวจนเล็บเท้าแตก) รวมถึงความอิจฉาริษยาในวงการที่ทั้งร้ายและแรง Black Swan วิเคราะห์ปฏิกิริยาของสองขั้วที่เป็นปฏิปักษ์กัน ระหว่างความดี-ความชั่ว ความบริสุทธิ์-บาป ความกดดัน-การปลดปล่อย ผ่านโทนสีขาว-สีดำ พ้องกับท้องเรื่อง Swan Lake ที่มีทั้งหงส์ขาวและหงส์ดำ ประเด็นคลาสสิกที่ดูเชยในยุคนี้ ถูกคิดสร้างสรรค์และนำเสนออย่างถึงรส ดูสนุก เข้าถึงง่าย และไม่ละเลยคุณค่าเชิงศิลปะ โดยเฉพาะการเหลือพื้นที่ว่างให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการค้นหาและตีความ เพื่อสนับสนุนการเล่าเรื่อง กระจก ถือเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งที่ถูกใช้บ่อยอย่างมีนัยยะสำคัญ มีบทบาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการแสดงที่ยอดเยี่ยมของดารานำอย่าง นาตาลี พอร์ตแมน เช่น ฉากกระจกหน้าตุ๊กตาไขลาน กระจกโต๊ะเครื่องแป้ง กระจกในห้องฝึกซ้อม กระจกในห้องตัดชุดที่สะท้อนภาพอนันต์ เป็นต้น รวมถึงการใช้เศษกระจกเป็นอาวุธเพื่อฆ่าหงส์ดำในตัวนีน่า เครดิตเปิดกะปิดเรื่องก็เก๋ดี ตอนต้นใช้อักษรขาวพื้นดำ ตอนจบใช้อักษรดำพื้นขาว สลับบทบาทกัน คุณสมบัติของกระจกยังสะท้อนถึงธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งมีสองด้าน การที่หนังบ่มเพาะปมทางจิตให้นีน่าต้องเคร่งครัดกับภาพลักษณ์และบทบาทของหญิงสาวผู้แสนดี (หงส์ขาว) ส่งผลเป็นการกระตุ้นตัวตนด้านมืดให้ลุกขึ้นมาปฏิวัติ (หงส์ดำ) และทำลายล้างตัวตนเดิมในฐานะของศัตรู ในฉากที่นีน่าแปลงร่าง หนังเปรียบเปรยโดยการแสดงภาพ (เชิงจิต) ให้เห็นประจักษ์ ว่าในตัวตนเราทุกคนมีพลังด้านมืดที่จำเป็นต้องได้รับการปลดปล่อย ขนที่แทงพุ่งออกมาทุกรอบที่หมุนตัว กระทั่งสยายปีกอย่างยิ่งใหญ่ คล้ายการประกาศอิสรภาพจากกรอบกรงที่เคยถูกครองงำ ฉากนี้หนังถ่ายทอดออกมาได้ดีมาก ครบเนื้อหา ตรึงตา และถึงใจ ทว่าการทะลักของพลังด้านมืดโดยไม่เคยมีโอกาสได้เรียนรู้การควบคุม (เหมือนเขื่อนแตก) กลับส่งผลร้ายต่อเธอ ปมทางจิตที่สะสมมายาวนานโดยเฉพาะจากแม่ หล่อหลอมให้นีน่าทำได้ทุกอย่าง แม้ต้องเป็นฆาตกรฆ่าคนบริสุทธิ์อย่างเลือดเย็น เพื่อสนองความทะเยอทะยานของตนเอง สงครามภายในจิตของนีน่าที่จบลงด้วยการแทงตัวเอง พ้องกับบทหงส์ขาวใน Swan Lake ที่ต้องฆ่าตัวตายเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ นีน่าเข้าถึงจิตวิญญาณการแสดงโดยสมบูรณ์ เพราะเธอได้สัมผัสช่วงเวลาแห่งการหลุดพ้นจากคำสาปอย่างแท้จริง ในความเห็นของผม ชีวิตของนีน่าต้องคำสาปมาตลอด เธอต้องแสดงบทบาทเพื่อเอาใจผู้ชมแม้แต่ตอนที่ไม่ได้อยู่บนเวที ด้วยการเป็นลูกสาวแสนดีของแม่และการเป็นนักแสดงผู้เข้าถึงบทของครู การถูกจับจ้องอยู่ตลอดเวลา (เหมือนในโรงละคร) ทำให้จิตวิญญาณของเธอถูกคุกคามแม้แต่ในพื้นที่ส่วนตัวที่สุดอย่างความฝัน นีน่าสูญเสียตัวตนให้กับกระบวนการนี้ กระทั่งได้สัมผัสวินาทีแห่งอิสรภาพอันเป็นนิรันดร์ Black Swan สะท้อนความรุนแรงของระบบคิดสุดโต่ง ทั้งการควบคุมเบ็ดเสร็จเผด็จการและอิสรภาพที่ไร้ความรับผิดชอบ เป็นหน้าที่ของผู้ชมครับ ที่จะต้องมองหาความพอดีในตัวเอง หนังเรื่องนี้มีตัวละครดีๆหลายตัวดีนะครับ ... เป็นอีกเรื่องที่ดูแล้วลุ้นดี สำหรับผม ขอบคุณสำหรับรีวิวนะครับ
โดย: loveengland วันที่: 13 มีนาคม 2554 เวลา:8:39:08 น.
|
บทความทั้งหมด
|
สัญชาติญาณแห่งความตาย ,, มุ่งเข้าสู่อารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง หรือทำร้ายตัวเองเพื่อปลดปล่อยเข้าสู่อิสรภาพ
,,,,,,,,,
ชีวิตคนเรานี่ ถ้าegoปรับสมดุลไม่ได้ก็พังหมด