Hero : ผู้ชนะ (ตอนที่หนึ่ง) ศิลปะแห่งภูมิปัญญาโดยแท้ คงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินเลยไปสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ของ จางอี้โหมว หลังจากสำรวจความคิดตัวเองมาหลายปี จางอี้โหมวก็ถึงเวลาของการเข้าสู่ภาวะที่เรียกได้ว่า เข้าใจชีวิต อย่างแท้จริง หลังจากเป็นผู้กำกับที่นิยมชมชอบตัวละครหัวแข็งดื้อด้านมาเป็นเวลาช้านาน ( หากสังเกตจะเห็นได้ว่าตัวละครหลักทุกเรื่องของจางอี้โหมวจะเป็นผู้มีความคิดแหกขนบธรรมเนียมและปฏิเสธที่จะเชื่อฟังเสมอ ) ใน Hero นี้ผู้กำกับได้แนะนำตัวละครซึ่งมีลักษณะแปลกใหม่ให้กับผู้ชมแฟนพันธุ์แท้ได้รู้จัก นั่นคือตัวละครผู้ซึ่งเคยมีความคิดอะไรบางอย่างฝังหัวอยู่อย่างรุนแรง แต่ในเวลาต่อมา กลับประนีประนอมยอมเปลี่ยนแปลงความคิดเดิม เพื่อรับฟังมุมมองที่แตกต่างออกไป แม้ว่ามุมมองนั้นจะขัดกับพื้นฐานความเชื่อเดิมๆ ของตนเองก็ตามที วิธีการเล่าเรื่องของจางอี้โหมวใน Hero นี้หยิบยืมรูปแบบมาจากภาพยนตร์เรื่อง Rashomon ของ อาคิระ คูโรซาว่า ผู้กำกับอันเลื่องชื่อชาวญี่ปุ่นในส่วนของโครงเรื่องเพื่อใช้ในการถ่ายทอดเนื้อหาและเดินตามแนวทางการใช้สีจากภาพยนตร์เรื่อง Ran ซึ่งเป็นงานของผู้กำกับคนเดียวกันนั้น ในส่วนของรายละเอียดงานสร้าง จางอี้โหมวนำเข้านักออกแบบเสื้อผ้าชาวญี่ปุ่น เอมิ วาดะซึ่งเคยร่วมงานกับ อาคิระ คูโรซาว่า มาก่อน งานกำกับศิลป์โดยรวม Hero ได้อาศัยภูมิปัญญาแห่งศิลปะญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นงานศิลป์ที่มักให้ความสำคัญกับพื้นที่ว่างหรือความว่าง (Space) มากเป็นพิเศษ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงออกมาในแบบนิทานเซ็น (Zen) ที่เน้นความเรียบง่ายไม่รกรุงรัง ไม่เต็มไปด้วยเครื่องทรงเหมือนเช่นภาพยนตร์จีนย้อนยุคเรื่องก่อนๆ แต่ในความเรียบง่ายนี้เองได้แฝงความลึกซึ้งให้ผู้ชมต้องค้นหาอยู่ตลอดเวลาถึงอลังการแห่งคมความคิดที่ซ่อนอยู่ มองดูผิวเผินแล้วเหมือนจางอี้โหมวเลียนแบบ แต่แท้จริงเป็นความจงใจของผู้กำกับ ความจงใจที่จะใช้ภาพยนตร์เรื่องนี้สื่อให้นึกถึงประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นศัตรูคู่อาฆาตของประเทศจีน ( ความเป็นอริกันของสองชาตินี้ในทัศนะของจางอี้โหมวปรากฏชัดจากภาพยนตร์เรื่อง Red Sorghum ซึ่งกล่าวถึงความดิบเถื่อนของทหารญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกที่ทารุณกรรมชาวจีนอย่างโหดเหี้ยม อาทิเช่นการถลกหนังหัวชาวบ้านในชนบท เป็นต้น ) หากแต่การสื่อถึงประเทศญี่ปุ่นในภาพยนตร์เรื่องนี้กลับเป็นไปในแง่บวกและมีลักษณะเป็นการคารวะเสียมากกว่า Hero กล่าวถึงประวัติศาสตร์จีนในช่วงที่เรียกกันว่า รณยุค ( ภาษาอังกฤษเรียก Waring-Statess Period ส่วนภาษาจีนเรียกว่า ยุคเลียดก๊ก ) การสู้รบระหว่างรัฐทั้งเจ็ดเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะยุติ รัฐฉินซึ่งปกครองโดยท่านอ๋องนามว่าจิ๋นซี เป็นรัฐที่เข้มแข็งและยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น เนื่องจากรัฐฉินคือผู้กำชัยชนะเสมอในสงครามระหว่างรัฐ อีกทั้งยังมีเจตนารมณ์อันสูงส่งที่จะรวมทุกรัฐทุกแว่นแคว้นใหญ่น้อยเข้าเป็นหนึ่งเดียว ด้วยหวังว่าจะทำให้ศึกสงครามระหว่างกันที่ยืดเยื้อมายาวนานนี้จบสิ้นลง เพื่อเข้าสู่ยุคแห่งความสุขสงบและสันติภาพต่อไป จิ๋นซีผู้นำรัฐฉินเป็นคนที่ได้ชื่อว่าเหี้ยมโหดอำมหิต ด้วยเพราะเคยเข่นฆ่าประชาชนในรัฐอื่นอย่างไม่ปราณี ผู้คนในรัฐต่างๆจึงพากันโกรธแค้นและปรารถนาให้จิ๋นซีผู้นี้ถึงแก่ความตายในเร็ววัน ( เป็นภาพลักษณ์เดียวกันกับที่ผู้ชมรู้จักจิ๋นซีฮ่องเต้ในฐานะของจักรพรรดิผู้โหดเหี้ยมทารุณ ) บรรดานักฆ่า (Assassins) จากรัฐต่างๆ มีความพยายามอย่างแรงกล้าในการสังหารฉินอ๋องผู้นี้ให้จงได้ แต่ภารกิจ การสังหารครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ต้องพบกับความล้มเหลว เรื่องราวใน Hero ได้กล่าวถึงบรรดานักฆ่าเหล่านี้ในแง่มุมที่หลากหลายและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์จีนสืบมาจวบจนปัจจุบัน Hero ประกอบไปด้วยหกตัวละครหลัก อันได้แก่ ไร้นาม (Nameless) , ฟ้าเวิ้ง (sky) , กระบี่หัก (Broken Sword) ,หิมะเหิน (Flying Snow), ปานเดือน (Moon) และตัวฉินอ๋อง ตัวละครเหล่านี้ให้ภาพที่กระจัดกระจายออกไป เพราะล้วนแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละคน รูปแบบความสัมพันธ์ของคนทั้งหกที่ปรากฏอยู่ในมุมมองต่างๆของภาพยนตร์เรื่องนี้สื่อได้กับยุคแห่งการแตกแยกนี้ของจีนที่มีความหลากหลายทางความคิด ( บางความสัมพันธ์ก็เป็นไปในทางลบคือ สู้รบกันเองจนภารกิจล้มเหลว บางความสัมพันธ์ก็เป็นไปในทางบวกคือเสียสละสมานฉันท์กันจนภารกิจสำเร็จลุล่วง ) จางอี้โหมวเปิดเรื่องมากับการแนะนำตัวละคร ไร้นาม ให้ผู้ชมได้รู้จักกันก่อนในฐานะของผู้กล้าซึ่งกำราบเหล่านักฆ่าที่ลอบสังหารฉินอ๋องได้สำเร็จ ไร้นามมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฉินอ๋อง ณ พระราชวังหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจสำคัญชิ้นนี้ นั่นคือสังหารฟ้าเวิ้ง กระบี่หัก และหิมะเหิน นักฆ่า ผู้เลื่องชื่อตามป้ายประกาศจับของทางการได้ ผู้กำกับสร้างฉากนี้ในโทนสีดำ ในระยะยี่สิบก้าวที่ไร้นามนั่งสนทนากับฉินอ๋องถึงรายละเอียดในภารกิจอยู่นี่เอง ได้บังเกิดเรื่องเล่าแทรกเข้ามาอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือเรื่องของฟ้าเวิ้งที่เกิดขึ้นในบ้านหมากล้อม ภาพการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในบ้านหมากล้อมนี้ถือว่าสร้างออกมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจเป็นอันมาก เพราะได้นำเสนอรูปแบบการต่อสู้ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้โดยใช้กำลังยุทธ การเล่นหมากล้อมหรือหมากรุกซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ต้องขับเคี่ยวกันด้วยปัญญา ตลอดไปถึงการต่อสู้ภายในจิตใจตามแนวคิดทางพุทธศาสนาที่ลึกซึ้ง (ประเด็นเรื่องธรรมาธรรมะสงคราม) ภาพที่ถ่ายออกมาในฉากนี้สื่อให้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่ว เปรียบได้กับสีขาวและสีดำที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน ( แบ่งขั้วเด็ดขาดโดยไม่เหลือที่ว่างให้กับพื้นที่สีเทา อันเป็นวิธีคิดแบบตะวันออกที่มักสร้างตำนานเทพปกรณัมป์เช่นเรื่องรามายณะ ด้วยการมีตัวละครที่ แยกฝักฝ่ายคนดี-คนชั่วออกจากกันอย่างชัดเจน ลักษณะแบนราบของมิติตัวละครนี้ในละครช่องเจ็ดสี ก็ยังปรากฏอยู่ ) ในทางเนื้อเรื่องแล้วบทภาพยนตร์จัดให้ไร้นามเป็นฝั่งของคนดีและจัดให้ฟ้าเวิ้งเป็นฝั่งของคนชั่ว กระดานหมากล้อมจึงเป็นเสมือนภาพจำลองสมรภูมิรบของจอมยุทธทั้งสอง กล่าวคือ พื้นกระเบื้องในบ้านดังกล่าวมีลักษณะเป็นแผ่นตารางคล้ายกับตารางหมากล้อม ไร้นามและฟ้าเวิ้งเป็นเสมือนตัวหมากล้อมสีขาวและสีดำที่เล่นค้างอยู่บนกระดาน ซึ่งทั้งสองฝั่งได้ต่อสู้ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด (ระหว่างความดีและความชั่ว) นอกจากนั้นผู้กำกับยังใช้ภาพ ขาว-ดำ แทนการต่อสู้ภายในจิตใจของ ทั้งสองคน กล่าวคือเป็นการต่อสู้ระหว่างอารมณ์แห่งกิเลส ( สีดำ ) กับเหตุผลที่ถูกต้อง ( สีขาว ) โดยสรุป ฉากนี้นำเสนอรูปแบบการต่อสู้ในลักษณะต่างๆ ระหว่างขาวและดำ ไล่ระดับไปตั้งแต่ขั้นที่หยาบที่สุด (การใช้กำลังภายนอก) จนถึงขั้นที่ละเอียดลึกซึ้งที่สุด (การใช้กำลังภายใน) ไร้นามเปรียบเทียบการต่อสู้กับการบรรเลงดนตรีว่ามีลักษณะที่เหมือนกัน ในระหว่างที่ทั้งสองกำลังต่อสู้กันภายในจิตใจนั้น ผู้เฒ่าตาบอดก็บรรเลงเพลงพิณประกอบคลอไปด้วยทุกขณะ ผู้ชมอาจตีความต่ออีกได้ว่า เสียงเพลงที่พลิ้วไหวไพเราะนั้นคือท่วงท่าการต่อสู้ภายในจิตใจที่สง่าและงดงาม แต่เมื่อยามที่เสียงเพลงนั้นถูกรุกเร้าอารมณ์ให้ดุดันและเคร่งเครียดขึ้นจนสายพิณขาด การต่อสู้ภายในจิตใจที่ดำเนินอยู่ก็ถึงคราวต้องขาดสะบั้นลงด้วยในเวลาเดียวกัน ( ลุแก่โทสะหรือพ่ายแพ้ต่อความโกรธในจิตใจนั่นเอง ) และกลับคืนสู่การห้ำหั่นโดยใช้กำลังความรุนแรงในโลกแห่งความเป็นจริงแทน อธิบายให้เข้าใจง่ายเข้าก็เช่นในเวลาที่เรากำลังโกรธจัดแต่ก็ยังพยายามระงับอารมณ์โกรธนั้นไว้ภายในแต่ผู้เดียวไม่แสดงออกให้บุคคลอื่นได้รับรู้ หากอารมณ์โกรธถูกเพิ่มระดับให้มากขึ้นจนเกินอดกลั้น ( ภาษาชาวบ้านเรียกว่าฟิวส์ขาด ) แรงแค้นอาฆาตก็พร้อมจะพุ่งพรวดออกมาอย่างรุนแรงเฉกเช่นกัน ในระยะสิบก้าวที่ขยับใกล้เข้ามาอีกช่วงหนึ่ง ไร้นามนั่งสนทนากับฉินอ๋องถึงรายละเอียดในการสังหารกระบี่หักและหิมะเหิน เรื่องเล่าอันร้อนแรงฉูดฉาดในโทนสีแดงของทั้งสองก็เริ่มต้นขึ้น กระบี่หักและหิมะเหินแอบปลอมตัวไปอาศัยอยู่ในโรงเรียนประดิษฐ์อักษรแห่งหนึ่งโดยใช้ชื่อปลอมเพื่อเรียกขานกัน เนื่องจากกระบี่หักมีความเชี่ยวชาญในการเขียนอักษร ไร้นามจึงเดินทางไปยัง โรงเรียนประดิษฐ์อักษรดังกล่าวเพื่อให้กระบี่หักเขียนอักษรคำว่า กระบี่ให้กับตน จุดประสงค์ที่แท้จริงของไร้นามนั้นคือหวังที่จะเปิดขุมความลับในทักษะการใช้อาวุธของกระบี่หักนั่นเอง กระบี่หักเขียนอักษรคำนี้โดยใช้หมึกสีแดงอันสื่อได้ถึงเลือดที่ต้องหลั่งไหลเมื่อสิ่งที่เรียกว่ากระบี่นี้ปรากฏขึ้น ไร้นามเปรียบการใช้อาวุธกับการเขียนอักษรว่าเป็นสิ่งที่มาจากรากฐานเดียวกัน อันสะท้อนถึงแนวคิดทางปรัชญาที่ว่า อาวุธที่ทรงอานุภาพที่สุดของมนุษย์คือปัญญา ในเวลาเดียวกันนั้น กองกำลังเกาทัณฑ์ของฉินอ๋องได้ยกทัพมาประจันหน้าโรงเรียนประดิษฐ์อักษรในรัฐจ้าวนี้ด้วย ภายใต้การบังคับบัญชาของแม่ทัพที่เชี่ยวชาญการศึก กองกำลังเกาทัณฑ์นี้จึง เข้มแข็งพร้อมรบอยู่ตลอดเวลา ศัตรูในศึกครั้งนี้ของฉินอ๋องเป็นเหล่าบัณฑิตและอาจารย์ในโรงเรียน ซึ่งบทภาพยนตร์ถือว่าเดินตามเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างดี เนื่องจากในยุคสมัยของจิ๋นซีฮ๋องเต้ จักรพรรดิพระองค์นี้ดำรินโยบายในการทำลายภูมิปัญญาเก่าแก่ของชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นตำราอันทรงคุณค่าของขงจื๊อหรือตำราเรียนของสำนักคิดใดๆ เพื่อไม่ให้ความคิดก้าวหน้าได้บังเกิดขึ้นกับประชาชน ซึ่งความคิดก้าวหน้าที่แตกต่างหลากหลายนี่เองจะนำมาซึ่งการปฏิวัติอันเป็นเสมือนอุปสรรคของการปกครองในระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราช เนื้อหาในส่วนนี้ของภาพยนตร์ยังสะท้อนไปถึงยุคของจีนในสมัยของท่านผู้นำเหมาเจ๋อตุงอีกด้วย ผู้นำประเทศที่มีความพยายามในการปฏิวัติวัฒนธรรมโดยทำลายล้างวัฒนธรรมเดิมในยุคเก่าที่แสดงถึงความมีอยู่ของระบบศักดินาและระบบกษัตริย์ และกลับให้การยกย่องชนชั้นกรรมาชีพหรือชาวนาว่าเป็นผู้ที่มีเกียรติอย่างแท้จริงในสังคมตามแนวความคิดของระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ และจากนโยบายนี้เองที่ทำร้ายระบบการศึกษาในยุคนั้นของประเทศจีนอย่างรุนแรง การสู้ศึกครั้งนี้ของโรงเรียนประดิษฐ์อักษรซึ่งปราดเปรื่องในเชิงบุ๋นนั้นไม่อาจต่อกรหรือเทียบชั้นได้เลยกับกองทัพที่เชี่ยวชาญในเชิงบู๊ของฉินอ๋อง นักเรียนในโรงเรียนดังกล่าวจึงล้มตายลงเป็นจำนวนมาก แต่ถึงกระนั้นอาจารย์ผู้เฒ่าแห่งสำนักนี้ก็ได้แสดงให้ลูกศิษย์ให้ประจักษ์ถึงแก่นแท้แห่งจิตวิญญาณของตัวอักษร ( อักษรเป็นสัญลักษณ์แทนภูมิปัญญาหรือความรู้ ) ว่าแม้เกาทัณฑ์ของฉินอ๋องนั้น จะดุดันหรือร้ายกาจเพียงใด แม้จะทำลายล้างได้แทบทุกสิ่งทั้งบ้านเมืองและโคตรก๊กต่างๆในแผ่นดิน แต่อาวุธเหล่านั้นก็ไม่อาจกลืนภูมิปัญญาอันเป็นเสมือนจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่นี้ลงได้ เพราะภูมิปัญญา คือสัจธรรมความจริง (The Truth) ที่เป็นอมตะ ( Immortal ) ไม่อาจถูกทำลายหรือลบทิ้งได้ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ อาจารย์ผู้เฒ่านั่งเขียนตัวอักษรโดยหันหน้าเข้าหาลูกเกาทัณฑ์ที่แหลมคมซึ่งโหมกระหน่ำลงมาเหมือนห่าฝน ภาวะจิตที่แน่วนิ่งไม่สั่นคลอนนี้แสดงถึงสัจจะที่ยิ่งใหญ่ว่าภูมิปัญญาแห่งวัฒนธรรมไม่อาจถูกทำลายลงไปได้ (ผู้กำกับสื่อความคิดนี้ด้วยการให้ลูกเกาทัณฑ์ยิงไปไม่ถูกตัวอาจารย์) นอกจากความต้องการในอักษรประดิษฐ์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ไร้นามยังนำข่าวการตายของฟ้าเวิ้งมาบอกแก่หิมะเหินเพื่อสร้างความแตกแยกให้กับกระบี่หัก เนื่องจากหิมะเหินกับกระบี่หักเป็นคู่รักกัน ข่าวการตายของฟ้าเวิ้งซึ่งเป็นอดีตคนรักของหิมะเหิน ทำให้ความรักของทั้งสองที่เริ่มระหองระแหงอยู่แล้วต้องถึงคราวแตกหักลงอย่างยับเยิน ผู้กำกับใช้วิธีในการจับอารมณ์ตัวละครในฉากนี้ ด้วยการถ่ายภาพที่เอนกล้องไปมาเพื่อสื่อให้เห็นถึงความไม่มั่นคง ความเคลือบแคลงสงสัยและความโอนเอนแห่งภาวะจิต แรงหึงหวงและอารมณ์ประชดประชันหิมะเหินของกระบี่หัก ถูกปลดปล่อยออกมาโดยมีปานเดือนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กระบี่หักระบายอารมณ์ฟุ้งซ่านสับสนของตนออกมากับปานเดือนในรูปของสัมพันธ์สวาทชั่วข้ามคืน โดยตัวหิมะเหินเองก็ล่วงรู้ถึงการกระทำนี้อยู่เต็มอก สีแดงฉานของผืนแพรที่รองร่างชู้รักยามสมสู่กัน ส่งกลิ่นความรัญจวนแห่งอารมณ์เพศออกมาอย่างชัดเจน เป็นการปลดปล่อยกายให้ไหลล่วงดำดิ่งลงสู่กระแสแห่งอารมณ์ไร้ซึ่งเหตุผลและไม่ยี่หระต่อความรู้สึกของผู้ใด จากน้ำตาของความเสียใจกลายสภาพเป็นความเคียดแค้นเดือดดาล หิมะเหินฆ่ากระบี่หักตาย ความรู้สึกผิดที่พลาดพลั้งทำไปโดยขาดสตินี้ทำให้หิมะเหินต้องตกอยู่ในภาวะสับสนฟุ้งซ่านเสมือนกำลังหลงทางอยู่ในเขาวงกต ความตายของกระบี่หักนำไปสู่ฉากการต่อสู้ระหว่างหิมะเหินกับปานเดือน ผู้กำกับสร้างฉากต่อสู้นี้ได้งดงามจับใจเสมือนหนึ่งจิตรกรตวัดปลายพู่กันจีนเขียนงานศิลป์ที่พริ้วไหวแผ่วเบาแต่ก็แฝงไว้ซึ่งความหนักแน่นดุดัน ฉากต่อสู้ในทัศนียภาพของหมู่แมกไม้ใบเหลืองที่กระพือพัดตามแรงพายุ ปรากฏสีเหลืองจัดของใบไม้รวมเข้ากับชุดสีแดงของทั้งสองคน ให้ภาพที่ร้อนแรงตามโทนที่ผู้กำกับต้องการและในฉากนี้ยังสื่อนัยยะทางความคิดได้อย่างคมคาย ในการต่อสู้ของสตรีที่มีอารมณ์ร้อนแรงและจัดจ้านทั้งสอง หิมะเหินมีวรยุทธสูงส่งกว่าปานเดือนอย่างเทียบกันไม่ได้ ผู้กำกับให้ภาพหิมะเหินในฉากนี้เป็นเสมือนดวงอาทิตย์ที่ทรงอำนาจ (โดยย้อมสีชุดที่สวมอยู่ให้เป็นสีแดงเข้มและแต่งหน้าทาปากด้วยสีแดงฉูดฉาด ) ในขณะที่ให้ภาพปานเดือนเป็นเสมือนดวงจันทร์ที่ซีดจาง (ชุดที่สวมเป็นสีแดงซีดและปานเดือนในฉากนี้ไม่ได้แต่งหน้า ) การถ่ายภาพในฉากนี้ใช้วิธีการถ่ายย้อนแสงหรือโดยการเอากล้องไปสู้กับแสงอาทิตย์ตรงๆ จนมองดูแสบตา ( เทคนิคนี้เคยใช้มาแล้วในภาพยนตร์เรื่อง Red Sorghum โดยให้แสงอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์แทนประเทศญี่ปุ่น และการต่อสู้จนตัวตายของประชาชนชาวจีนเป็นเสมือนปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่พยายามบดบังแสงที่ทรงอานุภาพนั้น ) การถ่ายภาพด้วยวิธีนี้สื่อถึงข้อความคิดที่กล่าวมาแล้วข้างต้นในเรื่องของดวงจันทร์ที่ย่อมต้องพ่ายแพ้ต่อแสงแห่งดวงอาทิตย์อยู่วันยังค่ำ การจัดแบ่งสีเข้มและสีอ่อนสื่อถึงการต่อสู้ในทางกำลังกายภาพที่ปานเดือนไม่มีทางชนะหิมะเหินได้ซึ่งในท้ายที่สุดปานเดือนก็ต้องปราชัยจบชีวิตลง หากแต่เป็นการตายที่แสนฉลาด เพราะว่าก่อนที่ปานเดือนจะสิ้นใจเธอได้ปล่อยอาวุธเด็ดออกมาเป็นคำพูดที่เชือดเฉือนเฉียบคมว่า การที่หิมะเหินฆ่ากระบี่หักนั้นเป็น การกระทำที่โง่เง่า จากที่หิมะเหินเคยเป็นต่ออยู่ในทุกกระบวนยุทธ แต่กับคำพูดเพียงหนึ่งวลีนี้กลับเสียดแทงได้อย่างตรงเป้าและสร้างความเจ็บปวดได้ยิ่งกว่าคมกระบี่วงจันทร์ของปานเดือนหลายเท่านัก หัวใจของหิมะเหินพ่ายแพ้ต่อคำพูดนี้อย่างสิ้นท่า ในขณะนี้เองที่ฉากสีเหลืองของมวลไม้ซึ่งปลิวว่อนตามแรงลม ( และตามแรงของอารมณ์ ) ได้กลายสภาพเป็นสีแดงเลือดที่แปดเปื้อนไปไม่รู้จบ การต่อสู้ระหว่างไร้นามและหิมะเหินในวันต่อมา จบลงอย่างรวดเร็วโดยหิมะเหินเป็นผู้พ่ายแพ้ (ติดตามอ่านตอนที่สอง) ชอบครับหนังเรื่องนี้
แนะนำหนังสือ สามก๊กฉบับคนกันเอง ภาคสอง น่าอ่านครับ โดย: คนขับช้า วันที่: 11 กรกฎาคม 2551 เวลา:17:38:49 น.
เรื่องนี้นำเสนอมุมมองทางด้านประวัติศาสตร์อย่างไรค่ะอยากรู้
โดย: ศิริพร IP: 110.170.47.2 วันที่: 24 มีนาคม 2557 เวลา:17:32:21 น.
|
บทความทั้งหมด
|
เหตุผลแรกคือ ผมยังไม่ได้ดู -*-
เหตุผลที่ 2 คือ HERO ในสายตาของคุณท่าจะน่าสนใจกว่ามาก
และเหตุผลสุดท้าย หนังเรื่องนี้มีคุณค่าทางใจสำหรับผมนิดๆ
ตรงที่มันเป็นหนังที่คุณเคยเขียนบทความถึงสมัยอาศัยอยู่เว็บบอร์ดด้วยกัน ^^
จากบรรทัดนนี้ผมขอ อ่านไปเขียนเม้นต์ไปตอบโต้ระหว่างบรรทัดนนะครับ
จังหวะแรกของบทความนี้ผมชอบเรื่องประเด็นของเสื้อผ้ามาก
คือเรื่องนี้นี่ ไม่ได้เน้นให้เสื้อผ้าตระการตาจริงๆ
แต่ภาพที่ได้กลับสวย ไม่รกตา กว่าหนังย้อนเวลาหลายๆเรื่อง
แถม ลม กับบรรยากาศในหนังยังพัดให้เสื้อผ้าของตัวละครดูดีผิดหูผิดตาเอามากๆ
เห็นด้วยจริงๆว่า ความเรียบง่ายในหนังเรื่องนี้ มันให้ความรู้สึกเหมือนใครสักคนกำลังยืนคิดอะไรอยู่จริงๆ
แอบถาม วันไหนว่างๆ ช่วยบรรยายถึงเรื่อง ธรรมาธรรมะสงคราม ให้ฟังบ้างนะครับ
ได้ยินมานานแต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร
แอบขำ...ที่เสียดสีละครช่อง 7 555+
พ่ายแพ้ความโกรธ นี่เข้าประเด็นของกระบี่หักและหิมะเหินมากกว่าฟ้าเวิ้งนะ
หมายในในแง่ตอนสีแดงนะ
ผมเคยอ่านเจอว่าในยุคที่จิ๋นอ๋องออกนโยบายทำลายโรงเรียน เผาตำรา และฆ่าบัญฑิต
ตอนนั้นมีกวีชื่อ จังเจี๋ย ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปลายราชวงค์ถังได้แต่งกลอนออกมาพูดถึงนโยบายนี้ว่า
จักรวรรดิมลายสูญพร้อมหมอกควันจากซี่ไผ่
ป้อมปราการไม่อาจรั้งแผ่นดินแม่ เถ้าถ่านมิทันมอดดับดินแดนซางตง
แปลแบบถากถางตามเจตนารมณ์ของกวีผู้เขียนคือ
การที่จิ๋นซีเอาแต่เกณฑ์แรงงานคนไปสร้างพระราชวัง กำแพงเมืองจีน
จะก่อผลร้ายในภายภาคหน้าอันใกล้ไม่ทันที่ไฟที่เผาตำราจะดับด้วยซ้ำ
...ที่ตลกคืออาณาจักรจิ๋นต้องล้มสลาย
กลายเปลี่ยนเป็น ฮั่น ก็ด้วยน้ำมือของเล่าปังและเซี่ยงอวี่ผู้ที่ไม่อ่านตำรา
แต่ทำการใหญ่สำเร็จ ล้มล้างจิ๋นก่อร่างฮั่นได้ด้วยเพราะมีเหล่าบัญฑิตที่จิ๋นจงชังเข้าช่วยเหลือ
แอบมึน ฉากที่เกาทันณ์ไม่ถูกตัวอาจารย์เฒ่า ตอนดูนี่ผมลุ้นมาก 555+
ทั้งๆที่แค่ไม่กี่วิ แต่ลุ้นว่าเมื่อไหร่มันจะโดน !!! เก่งกว่านีโออีกตาลุงนี่ นั่งเฉยๆก็พลิ้วแล้ว
เรื่องปานเดือนไม่แต่งหน้านี่ อ่านกี่รอบก็ทึ่งแฮะ
คือดูกี่รอบก็คงคิดเองไม่ได้แน่ ประเด็นนี้ -*-
ต่อตอน 2...