The Social network : หมอนี่ติด F วิชาสังคม


หนังชีวิต มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก มหาเศรษฐีหนุ่มผู้ก่อตั้ง Facebook ผ่านวิสัยทัศน์ผู้กำกับเดวิด ฟินเชอร์ เกาะกระแส Facebook ฟีเวอร์คล้ายหนังที่สร้างจากนิยายดัง หน้าหนังชวนให้เราอยากรู้จักชีวิตที่น่าสนใจของเค้าผู้นี้ เหมือนที่เค้าเคยทำให้เราอยากสนใจในรายละเอียดชีวิตคนอื่นผ่านสังคมออนไลน์ที่เค้าสร้างขึ้น

หนังสำรวจการเกิดขึ้นของ Facebook เริ่มจากการเผยให้เห็นนิสัยใจคอของวัยรุ่นทั่วไป การนั่งคุยกันในร้านเล็กๆ ที่มีเพื่อนโต๊ะข้างๆ อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน การอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเฉพาะกลุ่มอย่างการคัดตัวเข้าชมรมดังๆ ในฮาร์วาร์ด ความอยากรู้อยากเห็นข้อมูลของคนที่เราสนใจ รวมถึงบทบาทของอินเตอร์เน็ตที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะมนุษย์ ตอบสนองและแสดงออกซึ่ง รัก โลภ โกรธ หลง ให้สังคมได้รับรู้ความเป็นไปของตัวตน

หนังค่อยๆ ทำให้เราเห็นว่าสังคมในเรื่องมีสังคมยิบย่อยซ้อนทับกันอยู่อย่างสลับซับซ้อน ความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตต่างมหาวิทยาลัยที่ต่างก็มีกลุ่มเพื่อนเป็นของตัวเอง ความสัมพันธ์ของเพื่อนต่างบ้าน ต่างคณะ ในฮาร์วาร์ด การสืบสาวเพื่อทำความรู้จักเพื่อนของเพื่อน ภาพสังคมดังกล่าวกำลังถูกวิเคราะห์และเขียนใหม่เป็นรหัส ผ่านสายตาเนิร์ดๆ ของมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก

หนังให้ข้อมูลผู้ชมว่าความคิดตั้งต้นไม่ได้เป็นของเค้า เงินทุนตั้งต้นในการพัฒนาโปรแกรมก็ไม่ใช่ การผลักดันความสำเร็จเล็กๆ ออกสู่ตลาดโลกก็เป็นฝีมือคนอื่น แต่สุดท้าย มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก คือผู้ครอบครอง Facebook แต่เพียงผู้เดียว

หนังออกจะมอง มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ในแง่ลบ คล้ายตัวละครที่ถอดแบบมาจากแอนนา วินทัวร์ใน The Devil Wears Prada แม้จะสงสารในความเหงาลึกๆ ที่ไม่ได้แสดงออกชัดแต่ก็สัมผัสได้ (โดยเฉพาะฉากจบ) แต่เราก็ไม่อาจเข้าอกเข้าใจความคิดของเค้าได้อย่างทะลุปรุโปร่งนัก

Facebook ในนามมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ถูกให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงด้วยปัจจัยต่างๆ โดยบุคคลรอบข้างไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ หนังไม่ได้แสดงภูมิหลังหรือปมในใจให้เห็นว่าเค้าเติบโตมาเช่นไร แต่อัตลักษณ์หนึ่งที่เราพอจะจับทางได้ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก แสดงความเป็นเจ้าของความสำเร็จในชีวิตเค้าโดยไม่เคยแบ่งปันความดีงามเหล่านั้นให้แก่ใคร เราคงเคยเห็นการกล่าวขอบคุณในเวทีประกาศรางวัล ที่ผู้ชนะจะเอ่ยนามเพื่อให้เกียรติผู้มีส่วนร่วมอย่างยาวเหยียด ตรงข้ามกับ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เค้าผู้นี้ไม่เคยรู้จักความหมายของคำว่า “รู้คุณ” หรือ “กตัญญู”

เดวิด ฟินเชอร์ ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้สนุกและน่าติดตาม บทสนทนาที่รัวและเร็วบวกจังหวะตัดต่อที่เร่งเครื่องตลอดเวลา ทำให้หนังดูกระตือรือร้นและว่องไวเหมือนประสาทในสมองพระเอก มอบความรู้สึกร่วมแบบวัยรุ่นใจร้อนได้ดี งานภาพดูดีมีระดับ ข่มสีแบบทึมๆ ให้บรรยากาศดูขรึมและขึงขัง นักแสดงทั้งหมดทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม ดูฉลาด ไว้ตัว และเป็นฮาร์วาร์ดมากๆ ตามอุดมคติของผู้ชม

ในเรื่อง ยิ่งสมาชิกเครือข่าย Facebook เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เพื่อนข้างตัวของมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ก็ยิ่งลดน้อยลงจนไม่เหลือใคร สวนทางกันแบบ The Curious Case of Benjamin Button ภาพที่ปรากฏในฉากจบเลยคลุมเครือว่าสิ่งที่เค้ากำลังเป็นคือความสำเร็จหรือความล้มเหลวกันแน่

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเค้าคือมหาเศรษฐีที่มีอายุน้อยที่สุด แต่การที่ต้องเหลือชีวิตอีกยาวนานบนโลกโดยไม่มีเพื่อน ฟังแล้วเศร้าอย่างบอกไม่ถูกในฐานะที่เกิดมาเป็นสัตว์สังคม



Create Date : 06 ธันวาคม 2553
Last Update : 6 ธันวาคม 2553 19:12:54 น.
Counter : 1085 Pageviews.

3 comments
  
เป็นหนังอีกเรื่องที่รู้สึกว่า ดูแล้วได้ขบคิด
มีนัยอะไร และเร่งเร้าให้ติดตามดูตลอดเวลา~.
โดย: มะเขือเทศเดินดิน. IP: 27.130.177.247 วันที่: 6 ธันวาคม 2553 เวลา:21:33:27 น.
  
ชอบฉากสุดท้าย กด Add แฟนเก่าเป็น Friend คุณว่าเธอจะรับ Add ไหม?
โดย: คนขับช้า วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:22:52:51 น.
  
ยังไม่ได้ดูเลยครับ 555 เชยจริง
แต่อยากดูตั้งนานแล้วแต่ยังไม่มีโอกาส ..ข้ออ้าง55
แต่เท่าที่อ่านมาถ้าผมเป็นมาร์คผมคงไม่ปลื้มหนังเรื่องนี้เท่าไหร่นัก ฮา
โดย: PRIVATE IP: 223.205.148.58 วันที่: 24 มีนาคม 2554 เวลา:14:16:48 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Beerled.BlogGang.com

beerled
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]

บทความทั้งหมด