ฝัน หวาน อาย จูบ


คาดว่าช่วงนี้หนังสั้นคงกำลังฮิต จะด้วยเหตุผลกลใดมิทราบได้ ขนาดตำแหน่งนายกฯ ยังเลียนแบบ “สี่แพร่ง” ในปีก่อน ข้อดีอย่างหนึ่งที่ผมคาดหวังได้อยู่เสมอจากซีรี่หนังสั้นซึ่งต้องตีตั๋วราคาเท่าหนังยาวสองชั่วโมง คือหากเราไม่ชอบตอนไหนก็ยังเหลือความหวังถึงตอนอื่นให้ได้ลุ้น ไม่ใช่แค่รู้สึกปิติกับเพลงสรรเสริญฯ แล้วต้องจำทนกับเผด็จการณ์หนังห่วยตั้งแต่นาทีแรกจนกระทั่งหนังจบ



ไม่น่าเชื่อว่าข้อดีของหนังสั้นจะเหมือนกับระบอบประชาธิปไตยซึ่งประชาชนยังคาดหวังได้ถึงการเปลี่ยนแปลง แม้ตอนนี้จะเต็มไปด้วยความคิดเห็นที่ขัดแย้งรุนแรง แต่เราก็ต้องไม่หลงลืมว่าเจ้าประชาธิปไตยนี่แหละที่ยังเปิดโอกาสให้เราได้คิด ได้พูด หรือจะแดกดันกันหน่อยว่ายังมอบโอกาสให้เราได้ทะเลาะกัน ให้ประเทศได้เห็นภาพสะท้อนของตัวเองยามขาดสติ เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ทางสังคมเพื่อร่วมกันก้าวสู่สิ่งที่ดีกว่า ผมกลัวเหลือเกินหากคนไทยเริ่มรังเกียจวิถีแห่งประชาธิปไตยและเผลอเห็นดีไปกับระบอบคิดแบบอื่น แม้เราจะไร้เดียงสาและล้มลุกคลุกคลานอยู่กับมันครั้งแล้วครั้งเล่าก็อย่าเพิ่งเบื่อหน่ายและสิ้นหวัง ทุกสิ่งล้วนต้องการเวลาเพื่อเติบโต นี่ถือเป็นการคิดเชิงบวกสุดๆ แล้วสำหรับระบอบการปกครองที่ได้ชื่อว่าเลวร้ายน้อยที่สุด



อย่าถือสากันนะครับสำหรับการเกริ่นวิจารณ์หนังรักที่น่าจะเครียดที่สุดแห่งปี 52
ฝัน หวาน อาย จูบ หนังสั้นสี่ตอนที่มีจุดเกาะเกี่ยวร้อยเรียงเข้าเป็นหนึ่งเดียวด้วยเส้นหยิกหย็องของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อมาม่า เปิดฉากมาก็ตกใจกับลำดับเรื่องที่ไม่ยักกะสอดคล้องกับชื่อหนัง เริ่มจากจูบ อาย หวานและฝัน แหม...จะลำดับเรื่องแบบถอยหลังก็ไม่บอกกันก่อน ว่าแต่เรื่องการ “ถอยหลัง” ช่วงต้นปีนี่ดูจะไม่ค่อยมงคลซักเท่าไหร่นะผมว่า



โดยส่วนตัวผมอยากให้ซีรี่ชุดนี้เรียงเรื่องตามลำดับวุฒิภาวะแห่งวัย เริ่มต้นจาก “ฝัน” เรื่องราวของเด็กๆ วัยช่างจินตนาการ “จูบ” ฮอร์โมนช่วงวัยรุ่นที่เริ่มมีปฏิกิริยากับความรัก “อาย” ปัจจัยของความรักที่เริ่มซับซ้อนในวัยหนุ่มสาว และจบด้วยเรื่อง “หวาน” ความเข้าใจความรักระดับตกผลึกจากมุมมองของผู้ซึ่งผ่านมาแล้วทั้งชีวิต คล้ายๆ กับการลำดับอารมณ์เพลงในอัลบัม หรือลำดับการเสิร์ฟอาหาร ที่แม้จะแยกเพลงหรือแยกจานเป็นเอกเทศจากกันแต่ภาพรวมก็ยังสามารถเรียงร้อยอรรถรสให้ผู้ชมสัมผัสได้อย่างมีจังหวะ มีลีลา

ดังนั้น งานเขียนชิ้นนี้จึงขอลำดับการเล่าเรื่องตามช่วงวัยอย่างที่กล่าวมาข้างต้น



เรื่อง “ฝัน” ของมะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับรักแห่งสยาม ชื่อเรื่องถอดเสียงเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Fun (เหมือนหนังแนวยุคแจ้งเกิดของเป็นเอกฯ เรื่อง “ฝัน บ้า คาราโอเกะ” ที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Fun-Bar-Karaoke) ฝันเรื่องนี้สร้างออกมาได้ค่อนข้าง fun และบ้าหลุดโลก ยอมรับครับกับความกล้าของผู้กำกับที่ครั้งหนึ่งเคยแช่กล้องฉากจูบจนลือลั่นสนั่นสยามมาแล้ว แต่กระนั้นความกล้าที่ว่าก็ต้องยืนอยู่บนความพอดีด้วย ฝันของมะเดี่ยวแทรกด้วยการ์ตูนแอนนิเมชั่นที่ใช้เวลานานเกินไปและอึกทึกครึกโครมเกินจำเป็น (แถมสร้างด้วยกรรมวิธี “ลวก ” ที่ไม่ต่างจากการปรุงมาม่าคัพ) วิ่งหนีคอนเซปต์ความโรแมนติกไปแบบไม่เห็นฝุ่น เข้าใจว่าเป็นงานในทางเดียวกับหนังสั้นประกอบเพลงจับฉ่ายเรื่อง “Dopamine” ที่เคยร่วมงานกับน้องพีชมาก่อนหน้านี้ (หาดูได้จากเว็บ youtube)



อย่างไรก็ตามหากมองแบบแยกส่วนโดยไม่ติดว่าอยู่ในซีรี่ของหนังรัก ฝันถือว่ามีโครงเรื่องที่ดีทีเดียว ว่าด้วยความคลั่งไคล้ที่มีต่อบุคคลในอุดมคติหรือ idol อย่างไม่ลืมหูลืมตาจนมองเมินบุคคลในโลกแห่งความเป็นจริงที่รักเรา หนังพยายามปลุกเราให้ตื่นขึ้นจากภาพฝันเกินจริงที่มีต่อ idol และมองพวกเค้าเหล่านั้นอย่างที่เป็นอยู่ในฐานะของมนุษย์ธรรมดา ตัวละครของต้นข้าวในเรื่องคล้ายกับหญิงใน “รักแห่งสยาม” ที่คอยพร่ำเพ้อถึงมิวอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง นึกฝันจินตนาการไปไกลกว่าความเป็นจริง กรณียังคล้ายกับโอ่เล็กและตี่ตี๊จากซีรี่หนังสั้นที่ค่อนข้างลงตัวและน่าพอใจเรื่อง “ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น” ในแง่ความลึก อารมณ์และความเข้มข้น น้องโอ่เล็กชนะขาดน้องต้นข้าวในเรื่องนี้



ตอนจบของฝันมีมุขตลกเล็กๆ เกี่ยวกับป๋าเบิร์ดซุปเปอร์สตาร์ผู้โด่งดัง (คิดเหมือนผมหรือเปล่าสำหรับสัญลักษณ์ต่างค่ายรายนี้) จุดแข็งอีกอย่างของมะเดี่ยวที่ลืมไม่ได้เลยนั่นคือเพลงประกอบที่ไพเราะและเพลง “หลับตา” จากวงออกัสในเรื่องนี้ก็น่าจะทำให้หลายๆ คนหลงเคลิ้มเอาได้ไม่ยากนัก



เรื่อง “จูบ” งานกำกับของราเชนทร์ ลิ้มตระกูลที่มาพร้อมสีสด แรงจัดและดูดิบ ถือว่าเหมาะมากกับหนังวัยรุ่นแรงๆ ซักเรื่อง จูบใช้เวลาเล่าเรื่องสั้นมาก (ยังไม่ทันจะดูดดื่มก็จบซะแล้ว... โถ่) เหมือนผู้กำกับรีบมารีบไปยังไงไม่รู้ ทำให้หนังขาดรายละเอียดและความลึกอย่างน่าเสียดาย (หรือผู้กำกับกำลังบอกเราว่าช่วงวัยนี้ของชีวิตแค่อะไรตื้นๆ ก็พอแล้ว ?)



จูบว่าด้วยเรื่องของไอ้เป็ด นักเรียนนิสัยเสียที่ชอบขโมยจูบแรกของแฟนเพื่อน และแล้วก็ถึงคราวเคราะห์ของเจ้าหมีซึ่งมีแฟนชื่อว่ากาก้า กาก้าถูกเพื่อนชายถามหาแฟนตนด้วยประโยคที่ผวนได้ว่า “เห็น...มาริโอ้...ไหม๊?” (ในความคิดของผมถือเป็นมุขที่ค่อนข้างถ่อย) กาก้าต้องการให้หมีเปลี่ยนชื่อและด้วยเหตุนี้ก็ทำให้ทั้งคู่ต้องทะเลาะกัน (ดูดีมีเหตุผลสำหรับปัญญาชน ?) หมีไม่อยากเสียกาก้าไปจึงตกลงต่อรองกับไอ้เป็ดว่าหากเขาทนหมัดไอ้เป็ดซึ่งเป็นนักมวยได้เกิน 3 เกมไอ้เป็ดจะเลิกราวีกับริมฝีปากของกาก้า หมีต้องการจะสงวนจูบแรกของคนที่รักไว้ให้นานที่สุดด้วยการทนฤทธิ์มือแรงตีนของไอ้เป็ดจนสุดกำลัง



คอนเซปต์ของเรื่องถือว่าโอเค กล่าวถึงความอดทนของฝ่ายชายที่อดเปรี้ยวเพื่อรอลิ้มรสหวานแห่งจูบแรกของฝ่ายหญิง แต่ว่าพระเอกนางเอกเรื่องนี้เล่นกันแข็ง (ไม่ค่อย) น่าดู ยกเว้นไอ้เป็ดที่พริ้วเป็นธรรมชาติมากๆ ประกอบกับหน้าตายียวนกวนประสาทที่เหมาะและเข้ากันดีกับบท หนังจบลงที่เส้นเหลืองของสนามพร้อมคำเตือนถึงชายหนุ่มให้ทุ่มเทเพื่อหญิงคนรักก่อนที่จะเสียเธอให้คนอื่น ถือเป็นหนังสั้นที่แค่สอบผ่าน แม้สีสันจะเจ็บแต่เรื่องมันแค่ถากๆ ยังไม่จี๊ด



“อาย” ของบัณฑิต ทองดี ถือว่าประสบความสำเร็จที่สุดทั้งตรงคอนเซปต์ของซีรี่ว่าด้วยความโรแมนติกที่สัมผัสได้และน่าจะถูกใจผู้ชมมากที่สุด ว่าด้วยเรื่องราวแบบเรเนซองส์ (Renaissance) หรือภาวะการซ่อมแซมเพื่อฟื้นคืนสภาพ ตองและทุเรียนคู่รักที่เคยผิดใจกันมาเมื่อสองปีก่อนกลับมาเจอกันอีกครั้งบนเกาะแสนสวยหลังการฟื้นตัวจากภัยซึนามิ



หนังกล่าวถึงการซ่อมแซมความเข้าใจที่เคยคลาดเคลื่อนของทั้งสองผ่านทัศนคติที่ค่อยๆ ปรับจูนเข้าหากัน หนังยังมีประเด็นแฝงว่าการรักษาดุลยภาพของธรรมชาติระหว่างการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมและคุณค่าของบางอย่างที่ควรแก่การสงวนรักษาไว้ หนังไม่วายที่จะกล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่ชอบเอารัดเอาเปรียบ (เห็นชัดในฉากเจ้าของเรือเช่าที่รีดไถเงินจากตอง) รวมไปถึงการเอาเปรียบและแสวงหากำไรจากธรรมชาติอย่างที่พ่อของตองมีโครงการจะเปิดรีสอร์ทเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในเกาะนี้ ทุเรียนเคยรู้สึกต่ำต้อยและเปรียบตัวเองเป็นปลาตีนในขณะที่ตองเป็นเสมือนดอกฟ้าผู้สูงส่ง (ฉากที่ทุเรียนซ่อมรองเท้าให้ตองถือว่าใส่เข้ามาได้อย่างตรงประเด็นทั้งเรื่องความต่ำต้อยของตีนและการซ่อมแซม)



ทุเรียนอายเกินไปที่จะครอบครองผู้หญิงอย่างตองในฐานะคู่รัก เหมือนที่เขาพยายามต่อต้านการเข้ามาของนายทุนเพื่อที่จะครอบครองเกาะแสนงามแห่งนี้ ไม่ใช่ว่าไม่รัก แต่ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งที่รักนั้นกลับมากเกินกว่าที่จะกล้าเป็นเจ้าของ หนังตั้งชื่อภาษาอังกฤษได้น่ารักว่า “Sun Shy” เดินเรื่องพร้อมดนตรีประกอบแนวเร็กเก้ (Reggae ) ที่มีเสียงของคุณจ๊อบ บรรจบร้องเพลงประกอบซึ่งเข้ากันได้ดีกับบรรยากาศของทะเลและอารมณ์เชิงอนุรักษ์



“หวาน” ของปรัชญา ปิ่นแก้วเป็นหนังที่โตและมีวุฒิภาวะกว่าใครเพื่อน และแน่นอนว่าหวานคือตอนที่ผมชอบที่สุด (แม้เนื้อเรื่องจะไม่โรแมนติกแบบที่ตลาดคาดหมายและอาจหลุดคอนเซปต์ออกไปบ้าง) ผมพยายามมองหามาม่าในตอนนี้แต่ก็ไม่ยักกะเห็นเด่นชัดเหมือนตอนอื่น (ใครเห็นช่วยบอกด้วยจักเป็นพระคุณยิ่ง) หวานเป็นโศกนาฏกรรมผสมแฟนตาซีของชีวิตหลังการสมรสซึ่งความรักเริ่มจะหมดความหวานลงไปทุกวัน แม้จะไม่ถึงกับสุดสลดแบบ American Beauty แต่ก็ถือว่าหนักอยู่มิใช่เล็กสำหรับหนังสั้นซักเรื่องที่กล้าบรรจุสารระดับชีวิต



ผมถือเป็น The Curious Case of Benjamin Burton ฉบับเมืองไทยเลยทีเดียวสำหรับเรื่องราวว่าด้วยความบ้าของคนหลงเวลา ระหว่างหวานและเชน หวานเป็นแม่บ้าน เธอมีสุนัขคู่ใจเป็นเพื่อนคลายเหงายามเชนไม่อยู่ ส่วนเชนเป็นสถาปนิกผู้เคร่งเครียดกับงานจนไม่มีเวลาให้ครอบครัว หลังการทะเลาะครั้งใหญ่ของทั้งคู่ประกอบกับการตายของสุนัขเพื่อนยาก หวานมีอาการผิดปกติไม่รู้สึกถึงเวลาปัจจุบันและทำตัวเพ้อเหมือนอยู่ในภวังค์แห่งอดีต เชนทำทุกทางเพื่อให้หวานกลับมามีสติ หนังตอนนี้เล่าเรื่องได้ลื่นไหลเหมือนสายน้ำที่มีใบไม้แห้งเป็นตัวละครของหวานกำลังว่ายทวนกระแส หนังวางบุคลิกของเชนให้เป็นคนบ้างาน รักและดูแลงานออกแบบบ้านของคนอื่นให้สมบูรณ์ไร้ที่ติทว่าไม่เคยสร้างบ้านหรือครอบครัวของตัวเองให้อบอุ่น เชนเหมือนถูกรัดรึงอยู่ด้วยบ่วงโซ่บางอย่าง (chain) ที่ไม่อาจสลัดทิ้งหรือปล่อยวาง ในขณะที่เชนมองเห็นแต่อนาคต หวานหลับมองเห็นแต่อดีต ความขัดแย้งนี้ปะทะเข้าหากันจนกลายเป็นปมปัญหาชวนคิด



หนังใช้สัญลักษณ์ของเค้กวันเกิดแทนความหวานและนาฬิกาตายแทนช่วงเวลาแสนหวานในอดีต ภาพผังองค์กรที่เชนได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ต่อมาก็ถูกลดตำแหน่งกระทั่งถูกไล่ออกในตอนท้ายสะท้อนให้เห็นผลตอบแทนของการทุ่มเทที่เสียเปล่าในชีวิต เวลาทั้งหมดที่หายไปของเชนทำลายครอบครัวจนไม่อาจเยียวยา เชนตระหนักในตอนท้ายว่าคนที่บ้าและเลอะเลือนแท้จริงแล้วไม่ใช่หวานหากแต่เป็นตัวเค้าเอง

ฝัน หวาน อาย จูบ ไม่ถือว่าขี้เหร่สำหรับผมหลังจากฟังเสียงโขกสับมาซะไม่เหลือดีก่อนการตัดสินใจเดินไปพิสูจน์ด้วยตาตนเอง เป็นซีรี่หนังรักที่มอบสติให้ผู้ชมมากกว่าสร้างอารมณ์หวานชวนเคลิบเคลิ้ม น่าเสียดายไม่ใช่น้อยหากเราจะมองแบบเหมารวมว่ามันแย่ซะหมดและไม่คิดจะแสวงหาอะไรดีๆ จากเวลาสองชั่วโมงที่ต้องเสียเงินซื้อ “นานาจิตตัง” ครับ ความคุ้มค่าของเงินและเวลาขึ้นอยู่กับการประเมินค่าของแต่ละคนซึ่งแน่นอนว่าไม่เคยเท่ากัน










Create Date : 04 มกราคม 2552
Last Update : 6 มกราคม 2552 2:48:46 น.
Counter : 2343 Pageviews.

6 comments
  


โดย: pet.sp วันที่: 4 มกราคม 2552 เวลา:15:35:50 น.
  
ขอบคุณสำหรับคำวิจารณ์นะคะ มีส่วนช่วยในการตัดสินใจว่าจะดูหนังเรื่องนี้ดีหรือไม่ได้มากเลยทีเดียวค่ะ
โดย: กระจิบหญ้าสีเรียบ วันที่: 4 มกราคม 2552 เวลา:22:52:00 น.
  
พายบลูเบอร์รี่ & หยินหยาง
น่าสนใจมากๆ ครับ ผมไม่เคยคิดมาก่อน


ส่วนฝันหวานฯเป็นหนังที่ผมไม่รู้สึกอยากดูเลย
โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 6 มกราคม 2552 เวลา:15:50:34 น.
  
ชอบเป็ด
โดย: คน IP: 203.172.213.75 วันที่: 9 มกราคม 2552 เวลา:14:36:20 น.
  
ชอบเป็ด
โดย: คน IP: 203.172.213.75 วันที่: 12 มกราคม 2552 เวลา:12:06:27 น.
  
อยากได้เพลงหลับตาของออกัส
โดย: เบส IP: 114.128.248.28 วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:18:51:16 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Beerled.BlogGang.com

beerled
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]

บทความทั้งหมด