Slumdog Millionaire : เกมยาจก (เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ) "Who Wants To Be A Millionaire?" คงเป็นคำถามที่ตอบง่ายที่สุดหากถูกใช้ในรายการ ควิซโชว์ (Quiz Show) เพราะคงไม่มีใครในโลกที่ไม่อยากเป็นเศรษฐี ทว่าคำถามสำหรับจามาล มาลิค ผู้เข้าแข่งขันคนล่าสุดของรายการเกมเศรษฐีเวอร์ชั่นอินเดียกลับไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น คำถามแรกไม่ได้เริ่มต้นขึ้น ณ เวทีอาบสปอตไลท์แห่งนี้ เกมรีลลิตี้ชีวิตจริงของจามาลได้เริ่มต้นมาก่อนแล้วในสลัมบอมเบย์เมื่อหลายปีก่อน จามาลคือเด็กด้อยโอกาสตามมาตรฐานสังคมที่พัฒนาแล้ว ความสนุกสนานในวัยเด็กถูกแวดล้อมอยู่ด้วยความเสื่อมโทรมและสกปรก เนื้อตัวที่เปื้อนดำปรากฏความบริสุทธิ์เดียวที่สัมผัสได้คือแววตาไร้เดียงสาของจามาล จุดเปลี่ยนในชีวิตเริ่มต้นจากความตายของแม่ในเหตุการณ์ความรุนแรงซึ่งชุมชนชาวมุสลิมถูกไล่ที่โดยชาวฮินดูหัวรุนแรง จามาลต้องใช้ชีวิตจรจัดร่วมกับพี่ชายชื่อว่าซาลิม ซาลิมเป็นเด็กหัวแข็ง ดื้อรั้น ทว่าก็ยังคงหลงเหลือความปรารถนาดีให้แก่น้องชาย ในระหว่างการเร่ร่อนอย่างไร้จุดหมาย ทั้งคู่พบเจอเพื่อนร่วมทางอีกคนเป็นเด็กหญิงชื่อว่าลาติกา ในความคิดของจามาล ลาติกาคือหนึ่งในสามทหารเสือคนสุดท้ายที่เขากำลังเฝ้ารอ เด็กๆทั้งสามถูกล่อลวงโดยกลุ่มค้ามนุษย์ให้ต้องทำงานเป็นขอทานเพื่อแลกอาหารและที่พัก ซาลิมพาจามาลหนีออกมาได้หลังจากพบเจอเหตุการณ์สุดสยองซึ่งนายใหญ่ของแก็งค์กระทำให้เด็กชายคนหนึ่งต้องตาบอด ลาติกาจำทนอยู่กับความโหดร้ายนั้นต่อไปจนกระทั่งก้าวเข้าสู่วัยสาวและกลายเป็นโสเภณี ลาติกาได้พบเจอกับจามาลอีกครั้งและถือเป็นจุดแตกหักระหว่างเขากับพี่ชายซึ่งปรารถนาในตัวลาติกาด้วยเช่นกัน จามาลในวัย 18 ปีทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟชาในบริษัทคอลเซ็นเตอร์แห่งหนึ่ง ส่วนซาลิมกลายเป็นมือขวาของเจ้าพ่อผู้กุมอิทธิพลใหญ่ในย่านมุมไบ เพื่อให้ได้พบเจอกับลาติกาอีกครั้งจามาลสมัครเข้าร่วมแข่งขันเกมเศรษฐีเพราะคิดว่าเธออาจกำลังดูอยู่ โครงเรื่องคร่าวๆ ของ Slumdog Millionaire เปิดโอกาสให้แดนนี่ บอยล์ (ซึ่งมีโลเวลีน ทันดัน เป็นผู้กำกับร่วมชาวอินเดีย) ได้เติมเต็มรายละเอียดที่น่าสนใจรวมถึงลูกเล่นในการเล่าเรื่องที่แพรวพราวตามสไตล์ ความจี๊ดในอารมณ์ของผู้กำกับมากฝีมือรายนี้ยังไม่จางหายและถือเป็นงานในทางเดียว Trainspotting ผลงานสร้างชื่อในอดีต ลีลาความสดในการเล่าเรื่องผ่านงานด้านภาพสีแสบและซาวน์ดนตรีที่มอบความกระปรี้กระเปร่าให้ผู้ชม โดยเฉพาะเพลงประกอบที่ถูกใส่เข้ามาในหนังเรียกได้ว่าติดหูทุกเพลงจนคล้ายจะเป็นพระเอกตัวจริงของ Slumdog Millionaire ไปโดยปริยาย เหมือนแดนนี่ บอยล์จะหลีกเลี่ยงทุกวิธีในการเล่าเรื่องที่ธรรมดาและโชว์ความแปลกเป็นสำคัญซึ่งอาจถือเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วสำหรับเค้า Slumdog Millionaire เหวี่ยงกล้องถ่ายภาพแบบฉวัดเฉวียนแต่เก็บความเคลื่อนไหวของตัวละครได้คมชัดและงดงามมีสไตล์ประกอบรวมกับการตัดต่อแบบฉับไวแต่มีจังหวะ ทำให้หากไม่ทราบมาก่อนว่านี่คืองานใหม่ของผู้กำกับแดนนี่ บอยล์ ผมก็คงไม่อาจคิดเป็นอื่นได้นอกจากจะสรุปว่านี่คือหนังของวัยรุ่นไฟแรงที่กำลังโชว์พลัง Slumdog Millionaire เปิดประเด็นจิกกัดสังคมได้เจ็บแสบ โดยเฉพาะเรื่องของการ สร้างภาพ เพื่อปกปิดความจริงอันไม่พึงประสงค์ หนังทำหน้าที่ตีแผ่ความเสื่อมโทรมซึ่งหลบเร้นอยู่ในสังคมอินเดียแบบหมดเปลือก ไม่ใช่การใส่ร้ายหรือมองแบบแฝงอคติโดยสายตาคนนอกของผู้กำกับ แต่ Slumdog Millionaire คือเสียงสะท้อนจากหนังสือเรื่อง Q and A ของวิกาส สวารัปนักการทูตและนักเขียนชาวอินเดียที่กล้าวิพากษ์แผ่นดินมาตุภูมิตนเอง ดูผิวเผินเหมือนจะเป็นการตำหนิแต่เจตนารมณ์ก็เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและต้องการให้สังคมเดินไปข้างหน้าอย่างถูกทิศถูกทาง เป็นการวิจัยเพื่อค้นหาความสุขแท้จริงของชาวอินเดีย หนังกล่าวถึงภาพลักษณ์ที่ชาวต่างชาติรู้จักอินเดียผ่านทางสถาปัตยกรรมทัชมาฮาลอันยิ่งใหญ่ กลายเป็นสูตรสำเร็จว่าการมาถึงอินเดียคือการได้มาท่องเที่ยว ณ สิ่งมหัศจรรย์แห่งนี้ Slumdog Millionaire มองในมุมกลับว่าทัชมาฮาลเป็นเพียง ภาพ ที่อินเดียสร้างขึ้นเพื่อให้โลกภายนอกได้ซึมซับจดจำถึงความเป็นชนชาติอันยิ่งใหญ่ ทัชมาฮาลไม่เคยสะท้อนความเจ็บปวดหรือความแร้นแค้นของชนชาวอินเดียให้สังคมโลกได้รับรู้ในขณะที่ย่านสลัมอันเสื่อมโทรมกลับทำหน้าที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิตแบบอินเดียได้ ถึง และ จริง กว่าแบบเทียบกันไม่ได้ ประเด็นเรื่อง การสร้างภาพ ยังปรากฏอยู่ในรายละเอียดของหลายๆ ฉาก เช่นการที่หัวหน้าแก็งค์ค้ามนุษย์แสร้งทำเป็นใจดีเพื่อหลอกเด็กไปเป็นขอทาน (การเอาโค้กเย็นๆ มาเป็นเหยื่อล่อเด็กอาจตีความได้ถึงระบบทุนนิยมที่กำลังยั่วเย้าต่อระบบคิดในสังคมของประเทศโลกที่สาม) การที่นักท่องเที่ยวถ่ายภาพทัชมาฮาลซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอินเดีย การสร้างภาพของพิธีกรรายการเกมเศรษฐีซึ่งธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงตกต่ำ การที่จามาลและซาลิมปลอมตัวเป็นไกด์นำเที่ยวแบบมั่วนิ่มทั้งที่ไม่มีความรู้ การเอาน้ำก็อกใส่ขวดน้ำแร่เพื่อหลอกขายในร้านฟาสต์ฟู้ด หรือแม้แต่การสวมแว่นดำของลาติกาเพื่อปกปิดรอยช้ำจากการถูกทำร้าย เป็นต้น หนังเหน็บแนมสังคมอินเดียที่บูชาเงินเสมือนการบูชาเทพเจ้าและแอบพาดพิงไปถึงวิธีคิดแบบอเมริกันอยู่ในที (แก้ปัญหาต่างๆ ด้วยเงิน) แต่ละคนพร้อมมองข้ามเส้นแบ่งหรือขอบเขตทางศีลธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน เป็นผลให้อาชีพสกปรกยังปรากฏเกลื่อนกลาดอยู่ในสังคมเสมือนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ไม่มีการชำระหรือกวาดล้างอย่างจริงจังไม่ว่าจะเป็นปัญหาการค้ามนุษย์ (ที่ไม่ต่างไปจากประเทศไทยของเรา) ปัญหาโสเภณีเด็ก กลุ่มผู้มีอิทธิพลนอกกฎหมาย ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา (โดยเฉพาะมุสลิมและฮินดู) และการเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆ ซึ่งมีเงินเป็นอุปสรรคสำคัญ รวมถึงปัญหาการพัฒนาประเทศสู่ความเจริญแบบฟองสบู่จนอาจหลงลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรม Slumdog Millionaire ใช้วิธีการถ่ายภาพแบบเอียงกล้องตลอดการเล่าเรื่องเหมือนจะแสดงถึงความไม่มีดุลยภาพ ความลำเอียงหรือความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ถือเป็นการถ่ายทอดที่รับใช้เรื่องราวหลักได้เป็นอย่างดี อีกจุดหนึ่งที่ผมชอบคือเพลงประกอบที่ชื่อ Paper plane โดยเฉพาะตรงท่อนฮุคที่ปรากฏเสียงปืนและเสียงกริ๊ง...ของ เครื่องคิดเงิน ฟังแล้วเท่ห์ได้ใจและคมคายไม่ใช่เล่น บทของจามาลและซาลิมเดินเรื่องในลักษณะของขั้วตรงข้าม อย่างเช่นตอนเด็กที่จามาลมุดส้วมหลุมเพื่อวิ่งออกไปขอลายเซ็นอามิตาบห์ บาจจานดาราชื่อดังของอินเดีย (ฉากนี้ทำให้นึกถึงยวน แม็กเกรเกอร์ใน Trainspotting ขึ้นมาทันที) เรียกได้ว่าเพราะ รัก จึงยอมทุกอย่างจริงๆ แต่ท้ายที่สุดซาลิมก็ขโมยลายเซ็นเอาไปขายได้เงินมาแค่ไม่กี่รูปี ฉากที่จามาลได้แบงค์หนึ่งร้อยดอลล่าร์จากผัวเมียอเมริกันแทนค่าทำขวัญที่ถูกกระทืบ ต่อมาก็นำเงินจำนวนนี้ไปให้เพื่อนขอทานตาบอดโดยไม่ได้นึกเสียดายแม้แต่น้อย หรือตอนที่จามาลซึ่งรักลาติกาสุดใจและพยายามตามหาเพื่อช่วยเหลือให้เธอออกมาจากวงจรอันโสมมของแก็งค์ค้ามนุษย์แต่ซาลิมก็ชุบมือเปิบเอาไปครอบครองเพียงเพราะหลงใหลในรสเพศ รวมถึงฉากไคลแม็กซ์ของเรื่องตอนจบที่สะท้อน ผลของทางเลือก ได้อย่างชัดเจนที่สุดระหว่างจามาลซึ่งเลือกที่จะเดินทางตามหาความรักในขณะที่ซาลิมเลือกที่จะเดินทางตามหาความร่ำรวยเยี่ยงเศรษฐี (ชอบฉากนอนอาบเงินของซาลิมจริงๆ) เมื่อพิธีกรตะโกนสุดเสียงว่ามันคือคำตอบที่ถูกต้อง...ผู้ชมคงทราบได้ในทันทีว่านั่นไม่ได้หมายถึงแค่ความถูกต้องของคำตอบสุดท้ายซึ่งจามาลเพิ่งเดามั่วพูดออกไป หากแต่มันคือความถูกต้องของมนุษย์ผู้หนึ่งซึ่งเลือกที่จะบูชาความรักเหนือสิ่งใด หลายฉากในหนังประเมินค่าว่าเงินเป็นสิ่งสกปรก โดยเฉพาะฉากที่ซาลิมนอนอาบน้ำเงินอยู่ในอ่างเมื่อเทียบกับการมุดส้วมของจามาลเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่รัก Slumdog Millionaire เปรียบอุปสรรคในชีวิตเสมือนคำถามล่ารางวัล การแก้ปัญหาหรือการกระโดดข้ามวิบากในแต่ละจุดคงกลายเป็นเรื่องสนุกและท้าทายมิใช่น้อยหากเรามองชีวิตเป็นเพียงเกมเกมหนึ่ง ผมคงไม่อาจเรียกจามาลได้ว่าเป็น เด็กด้อยโอกาส เพราะความเจ็บปวดในชีวิตที่เค้าต้องประสบนั่นแหละคือโอกาสที่มีค่าที่สุดในการหล่อหลอมให้กลายเป็นคนเข้มแข็งและเรียนรู้ที่จะสู้ชีวิตอย่างมีความสุข ฉากที่จามาลจุมพิตรอยแผลเป็นบนใบหน้าของลาติกาตอนจบจึงเป็นดังคำขอบคุณต่อความเจ็บปวดในอดีตซึ่งคอยสะสมความมี "คุณค่า" ให้กับชีวิต เพราะสำหรับเด็กที่ไม่มีการศึกษาอย่างจามาล มาลิค วิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตหรือ ส.ป.ช. ดูจะเป็นแบบฝึกหัดที่สำคัญที่สุดในการเอาตัวรอดท่ามกลางสังคมที่แสนดงดิบและวุ่นวายนี้ Paper Planes - Blaqstarr Remix feat. Rye Rye & Afrikan Boy - M.I.A. เก็บรายละเอียดได้น่าสนใจเช่นเคยครับ
เกี่ยวกับแผลเป็น ตอนที่ดูก็คิดว่าน่าจะมีความหมายถึงอะไรบางอย่าง แต่ก็ไม่ได้คิดต่อและลืมไปเลย โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 11 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:8:13:19 น.
โอ้ อ่านแล้วผมรู้สึกดีกับหนังไปเลยครับทั้งๆที่ผมดูจบแล้วเฉยๆกับหนังเรื่องนี้ เว้นเสียแต่สไตร์ที่เจ๋งมาก
หลายๆประเด็นผมแทบมองไม่เห็นเลยด้วยซ้ำ คงต้องลองดูอีกซักรอบแล้วดูซิมันคู่ควรกับรางวัลต่างๆแค่ไหม ขอบคุณครับ โดย: Seam - C IP: 58.9.220.101 วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:9:28:00 น.
Slumdog Millionaire : โอ้ว จามาล นายแน่มาก
โดย: คนขับช้า วันที่: 20 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:20:35:28 น.
พี่เบียร์เคยมีความรักไหมครับ?
ตั้งแต่เรียนจบมานี่ผมก็ได้แต่ดูหนังตัวคนเดียวแทบจะตลอดเวลา 5 ปีเข้าไปแล้วที่แอบหนีงานไปดูหนังรอบดึกเพียงลำพัง แต่อินเตอร์เน็ตก็ทำให้การดูหนังของผม...ไม่เดียวดายอย่างที่ในทางปฏิบัตินั้นมันลำพัง เวลาไปเจอหนังบ๊องๆมาก็มี msn ไว้คอยให้ได้ไปบ่นกับนาโนกาย รวมไปถึงได้ไว้ใช้เป็นช่องทางในการเตือนปอให้อย่าหลงไปดูตาม แต่เวลาที่เจอหนังดีๆ ก็มีเว็บบอร์ด + บล็อกไว้ค่อยให้ได้ลุ้นว่าจะอ่านการตีความดีๆจากพี่เบียร์ ^^ Slumdog Millionaire นี่ดีหน่อยที่ไม่ต้องลุ้น เพราะพี่เขียนก่อนที่ผมจะได้ดู แต่ตอนนี้ได้ดูแล้วครับ พูดกันตามหลักหนังรางวัล...Slumdog Millionaire นี่ถือว่าเป็นหนังที่ "ดูง่าย" กว่าหนังรางวัลทั่วไปเอามากๆ คือขนาดผมที่เป็นพวกดูหนังลึกๆไม่เป็น ดูแล้วยังสนุกได้แม้จะรู้ว่าตัวเองจับประเด็นแฝงของหนังไม่ทันก็ตาม แล้วก็เหมือนทุกทีที่ดูหนังแล้วรู้สึกว่าได้สารไม่ครบ ผมก็มาหาอ่านเอาแถวนี้ 555+ ประเด็นเรื่องการสร้างภาพนี่ ขณะที่ดูผมตามไม่ทันจริงๆ รวมไปถึงการโจมตีสังคมอินเดียในแง่ต่างๆ งานทัวร์แบบหลอกๆ รวมไปถึงการตีความให้เงินดูชั่วร้ายด้วยเช่นกัน อ่า...โลกกว้างขึ้นเยอะ เหนือสิ่งอื่นใด ผมจำได้ติดหู(?)เลย เพราะตอนที่พี่เบียยร์อัพบล็อกเรื่องนี้(แต่ตอนนั้นยังมีแต่รูป) ผมเลยกดนั่งฟังเพลงประกอบไปเรื่อยๆ โหย....เพลงอะไรไอเดียสุดยอด 555+ พอได้ไปเจอในหนัง ภาพกับเพลงเข้ากันดีเหลือเกิน (เด็กนับเงินคลอเสียงเหรียญดัง) แต่โดยส่วนตัวผมชอบเพลงตอนเปิดเรื่องมากกว่า เพลงที่เปิดตอนเด็กๆวิ่งหนีตำรวจไปตามสลัมน่ะครับ แถมตอนจบตรงเครดิตมีเต้นแบบอินเดียๆให้ได้ดูด้วย 555+ คือถ้าไม่ได้วิ่งข้ามเขา ขอเต้นเอาหน้าสถานีก็ยังดี ลั่นล้าปาจิโกะเอามากๆ กลับมาที่คำถามที่ผมถามไว้ในบรรทัดแรก คือที่ผมถามแบบนั้นเพราะผมชอบประเด็นเรื่องของการได้เงินรางวัล 20 ล้านในหนังน่ะครับ ประเด็นที่ว่าคือ ปกติพี่คิดว่าอะไรที่ดลบันดาลให้ผู้เข้าแข่งขันได้รับเงินรางวัลใหญ่? ความรู้? ความใจถึง? โชคช่วย? โชคชะตา?... ใน Slumdog Millionaire บอกกับผมว่าเป็นความรักครับที่ดลใจให้จามาลได้เงิน 20 ล้าน... คือมันเหมือนเวลาเราคุยโทรศัทพ์กับแฟน หรือไปเที่ยวกับคนรัก เราจะไม่อยากให้วันเวลามันผ่านไปเร็วนัก เราอยากจะอยู่ ณ เวลานั้นตลอดไป หรืออย่างน้อยๆให้เนิ่นนานที่สุด นั่นทำให้เวลามีความรัก ใครบางคนก็ไม่ขึ้นรถ แต่กลับเดินไปส่งแฟนแทน (เพราะอยากเดินด้วยกันนานๆ) อะไรประมาณนั้น ซึ่งสำหรับจามาล การได้อยู่ในรายงานเกมโชว์นั้น...คือหนทางเดียวที่เขาจะได้เชื่อมโยงกับลาติกา ว่าแล้วเขาก็เลยสมัครเข้าร่วมแข่งและตะบี้ตะบันตอบไปเรื่อยทั้งๆที่ไม่มีความรู้อะไรในหัว ได้เงินเท่าไหร่เขาก็ไม่ค่อยจะทำตาโต และมุ่งหวังแต่จะขออยู่บนจอต่อไปเพื่อสัมผัสกับคนรักในแง่มุมของการถูกจ้องมองไปนานๆ รายการเกมโชว์มาโรแมนติกก็คราวนี้เอง แถมหนังยังแอบโรแมนติกขึ้นไปอีกนิด เมื่อแกล้งให้จามาลโทรไปหาพี่แต่ติดไปเจอกับลาติกาแทน โดยก่อนสายจะถูกตัดลาติกายังย้ำให้เราฟังอีกด้วยว่า เธอไม่แคร์ว่าจามาลจะชนะได้เงินไหม แล้วจามาลก็ย้ำซ้ำอีกรอบว่าการออกเกมโชว์ของเขานั้น เพราะเชื่อว่าลาติกาต้องกำลังดูอยู่แน่ๆ จวบจนเป็นตัวหนังเอง ที่ย้ำว่าเกมโชว์คราวนี้โรแมนติกเป็นรอบสุดท้ายด้วยการไม่พูดถึงเงินเลยหลังจากที่จามาลชนะ... จนก่อเกิดเป็นอีกประเด็น นั่นคือ "การตอบคำถามในชีวิต" หรือที่เรามักจะเรียกมันว่า "ทางเลือกของชีวิต"(ที่จะตัดสินใจทำอะไร สอบเข้าที่ไหน กินอะไร แต่งกันดีไหม ทำงานกับใคร ฯลฯ) ตอนที่ตำรวจบอกว่าที่จามาลเล่าเรื่องชีวิตมามันเล่าเยอะไปนะ เล่าแบบจามาลจะลำบากนะ(เพราะเขามีส่วนในเรื่องผิดกฏหมาย) แต่จามาลกับบอกว่า "เวลามีใครถามคำถามเขาเยอะๆ เขาก็จะให้คำตอบ" ใช่เลย ถ้าเราไม่ตั้งคำถามกับชีวิต...เราก็จะไม่มีวันได้รับคำตอบ แล้วชีวิตก็จะล่องลอย รวมไปหากเราไม่ตั้งคำถาม โลกมันก็จะตั้งคำถามให้เราอยู่ดี เพราะงั้นทางที่ดีเราชิงตั้งก่อนคงจะเหมาะกว่า อย่างน้อยๆ เราก็จะได้สร้างตัวเลือกด้วยตัวเอง ในขณะเดียวกัน ในช่วงของชีวิตเราก้มักจะได้พบเจบกับคำถามที่ยากสุดๆตอบไม่ถูกตัดสินใจไม่ได้เอาเสียเลย โดย Slumdog Millionaire บอกกับเราว่า "ประสบการณ์" จะช่วยเราเอง เหมือนที่คำถามวิชาการต่างๆถูกจามาลตอบได้แม้เขาจะไม่เคยแตะตำรา เขารู้เรื่องเพลงจากเพื่อนผู้ตาบอดและวงการชั่วหลอกเด็ก เขารู้เรื่องเงินจากการโดนกระทืบวัยเด็ก เขารู้เรื่องดาราจากกองอึ และเขารู้ว่าสมาชิกคนที่ 3 ของทหารเสือคือใคร...เมื่อเขารู้อยู่เสมอว่าคนที่ 3 นั้นคือคนรักของเขา เวลาที่เรารับมือกับคำถามไม่ได้ บางครั้งก็ต้องอาศัยเวลาในการบ่มชีวิตให้เรามือกับคำถามด้วยเหมือนกัน ชีวิตผม 27 แล้วพี่ 555+ ได้แต่แอบหวังว่า หากชีวิตในส่วนที่เหลือจะมาถามคำถามอะไรยากๆกับผม ก็ขอให้ประสบการณ์ 27 ที่ผ่านมาของผมมีคำตอบให้ได้หยิบมาคาดเดาได้บ้าง คงจะดีถ้าชีวิตถามผมเรื่องภาพยนตร์...ผมจะได้เอามา(โทร)ปรึกษาพี่ 555+ โดย: ข้าวหวาน IP: 124.122.226.237 วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:22:40:53 น.
ใครแวะมาเยี่ยม blog ช่วงนี้ แนะนำให้อ่านนี่หน่อยครับ
โดย: beerled วันที่: 13 มีนาคม 2552 เวลา:19:55:58 น.
หวัดดีครับจขบ.
ผมเองก็เคยโดนหน้าข่าวบันเทิงของมติชนรายวันลอกบทความวิจารณ์หนังไปเหมือนกันครับ เมื่อหลายปีก่อน อยากจะขออีเมล์แอดเดรสของบรรณาธิการหรือผู้เกี่ยวข้องที่คุณติดต่อเรื่องนี้ครับ ผมจะส่งกรณีของผมไปฟ้องด้วย ไม่ยอมเหมือนกันครับ โดย: หวัดดีครับ IP: 118.174.72.208 วันที่: 17 มีนาคม 2552 เวลา:21:41:35 น.
หาดูได้ตามเว็บ
โดย: beerled IP: 203.150.245.177 วันที่: 19 มีนาคม 2552 เวลา:16:04:59 น.
ประทับใจมากเลย วิเคาะห์ลึกจนเราเองยังมองผ่านๆ
ขอบคุณสำหรับ บทความดีๆ จ้า ^^ โดย: ่j IP: 114.128.112.124 วันที่: 13 ตุลาคม 2552 เวลา:15:53:55 น.
ขอบคุณสำหรับบทความค่ะ ไม่ได้สังเกตมุมกล้องเอียงเลย
โดย: pp IP: 58.9.76.90 วันที่: 19 มกราคม 2554 เวลา:21:28:37 น.
|
บทความทั้งหมด
|
แต่เวลา + สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย
เลยลงไว้แค่ภาพ + ตัวอย่าง และเพลง
ผมเข้าใจเลย วัตถุดิบมันน่าดู ประเด็นมันน่าเขียนขนาดนี้
เห็นแล้วมันคันมืออยากจะเอานิ้วจิ้มคีย์บอร์ดให้สะใจ 555+
ใจเย็นๆพี่ แล้วเวลาของเราจะมาถึงครับ
พระเจ้าแห่งตัวหนังสือไม่เคยทอดทิ้งบุตรของพระองค์หรอก
เรื่องลิ้งค์ข้อความผมส่งเข้าเมล์ให้แล้วนะครับ ^^