1ปียูโดกับการไล่ล่าสายดำ6
เดือนที่3

เดือน3แล้วครับ และเป็นเดือนสุดท้ายของfutsu-ka จะผ่านและจบคอร์สแรกได้นั้นสุดท้ายแล้วจะมีการสอบด้วยครับ แต่ใครที่มาซ้อมครบตามวันที่กำหนดแล้วไม่น่าจะมีปัญหา

ตอนนี้การเข้าแถวรวมเรียกชื่อก็ได้ขยับเข้าไปอีกแถวนึง เรื่องการเรียนการสอนก็จะคล้ายๆกับเดือน2 เพราะว่าเดือน2กับเดือน3เรียนและซ้อมพร้อมกันตลอด จะมีบางโอกาสเท่านั้นที่เดือน3จะข้ามไปซ้อมและรันโดริกับนักเรียนคอร์สที่2 (ส่วนใหญ่โอกาสจะเกิดจากการที่อาจารย์หยุดไปคนนึง หรือว่านักเรียนหยุดไปเยอะจนต้องปรับclassกันเล็กน้อย)

วันนี้เริ่มต้นเดือน3 ด้วยความหมายของท่าทุ่มแต่ละท่า และคำถามจากอาจารย์ประจำชั้น เกี่ยวกับคำว่า gari และ harai แตกต่างกันอย่างไร ทำไมถึงเป็น osoto-gari, kosoto-gari หรือว่า de-ashibarai แล้วทำไมถึงไม่เป็น osoto-harai, kosoto-harai หรือว่า de-ashigari

คำว่า harai นั้นจะทำได้สมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ คู่ต่อสู้เกิดการเคลื่อนไหวอาจจะเป็นการขยับไปด้านหน้า ด้านซ้าย-ขวา หลัง ในจังหวะที่ขยับขานั้น คนทุ่มฉวยโอกาสตอนแรงและน้ำหนักเคลื่อนที่ในการตวัดขาหรือทุ่ม จึงเป็นที่มาของคำว่า harai ส่วนคำว่า gari จะเป็นการที่ขาของคู่ต่อสู้อยู่กับที่(ไม่เสมอไป) และคนทุ่มทำการดึงให้น้ำหนักไปตกอยู่ในตำแหน่งขาของคู่ต่อสู้ตามต้องการ จุดประสงค์มี2ข้อคือ หนึ่งเพื่อที่จะหยุดขาของคู่ต่อสู้ ไว้ก่อนที่จะทำการตวัดหรือทุ่ม และสองเพื่อให้ง่ายต่อการทุ่ม 2คำนี้ตัวอย่างง่ายๆที่เห็นได้ชัดคือท่า kosoto-gari กับท่า de-ashibarai ลักษณะจุดที่ทำการตวัดนั้นใกล้เคียงกัน ต่างกันเพียง ตรงที่การเคลื่อนไว้ของคนทุ่มและคนถูกทุ่ม

-Ko-uchigari + O-Uchigari เทคนิคพื้นๆแต่มากประโยชน์
ท่านี้เป็นการรวมของ2เทคนิคเข้าด้วยกัน เริ่มต้นด้วยการขยับขาซ้ายแล้วตามด้วยการตวัดขาขวาเข้าทำko-uchigariที่ขาขวาของคู่ต่อสู้ ส่วนใหญ่แล้วคู่ต่อสู้จะต้านไว้ได้ แต่ในการต้านนั้นจะทำให้เกิดจุดอ่อนกับความสมดุลของขาอีกฝั่งหนึ่ง(ขาซ้าย) จุดนี้ถ้าหากประสานกันของมือ-ขาที่ถูกต้องของท่าo-uchigariแล้วการจะล้มคู่ต่อสู้ทำได้ง่ายมากเพราะน้ำหนักเกือบทั้งหมดถ่ายไปอยู่ที่ขาซ้ายของคู่ต่อสู้แล้ว เพียงแค่ตวัดเบาๆก็เกิดแรงเหวี่ยงมหาศาลในการล้มคู่ต่อสู้

-Newaza kamishiho
เป็นเทคนิคใช้ในการสู้แนวนอน ใช้4จุดของร่างกาย(หน้าอก ไหล่2ข้าง และท้อง)ในการล๊อคคู่ต่อสู้ในท่านอน โดยการหงายมือดึงเข็มขัดคู่ต่อสู้เอาไว้ส่วนท้องกดอยู่บริเวณหน้าของคู่ต่อสู้ วิธีการปลดล๊อคทำได้โดยการเอามือทั้ง2ข้างดันที่หน้าอกของคู่ต่อสู้ให้สู้ขึ้น แล้วก็ใช้ท่ากุ้งงอตัวกลับด้าน(gyaku-ebi)หนีออกมา ส่วนวิธีที่ผมชอบใช้ในการปลดล๊อคคือการทำลายบาลานซ์ของคู่ต่อสู้ด้านหนึ่ง(จะซ้ายหรือขวาก็ได้แล้วแต่จังหวะพาไป) แล้วใช้บริจต์(สะพานโค้ง)ในการเหวี่ยงคู่ต่อสู้ออกไป เรื่องของการปลดล๊อคเนวาซะในท่าต่างๆ ผมว่าขึ้นอยู่กับการฝึกบ่อยๆแล้วจะรู้ว่าจังหวะไหนควรจะหมุนไปทางไหน หรือการจะทำให้เกิดจังหวะการเคลื่อนย้ายของคู่ต่อสู้กับแรงไปทิศทางไหนที่เราต้องการ

-แก้ท่า tai-otoshi ด้วยท่าo uchi gari
ตอนใส่ท่า tai-otoshi นั้นหากขาดหลักการใช้แขนดึงที่ถูกต้องแล้วทำให้คู่ต่อสู้ทรงตัวอยู่และหลุดออกมาจากขาที่เหยียดออกไปแล้วนั้น ไอ้ขาข้างนี้จะย้อยกลับมาทำร้ายคนที่ใช้เองจากท่าO uchi gariของคู่ต่อสู้ ในทางกลับกันหากเจอกับท่า tai-otoshi ก็ต้องหาทางหลุดออกมาเพื่อใส่ท่า O uchi gari กลับ ฝึกบ่อยๆครับแล้วจะรู้ว่าการใช้ทุ่มคู่ต่อสู้โดยใช้แรงคู่ต่อสู้มันเป็นอย่างไร

-newaza kuzure-kamishiho
หลักการแล้วคล้ายๆกับ kamishiho แต่ว่าจะใส่มือเดียวในการกดคู่ต่อสู้ ใช้แขนข้างหนึ่งในการวนรัดแขนคู่ต่อสู้สุดท้ายแล้วมือข้างนั้นจะไปจับอยู่บริเวณคอเสื้อของคู่ต่อสู้(ในกรณีใช้แขนขวาก็เอาแขนขวาไปวนรัดแขนขวาคู่ต่อสู้) เอาหน้าอกกดหน้าและตัวของคู่ต่อสู้ไว้ ส่วนแขนอีกข้างก็จับบริเวณลำตัวแถวเข็มขัดคู่ต่อสู้ ตามหลักการของ kamishiho ปกติ จุดสำคัญคือแขนข้างที่จับเข็มขัดคู่ต่อสู้แหละครับ เรื่องการจับดึงเข็มขัด จับได้ก็ดีไป จับไม่ได้ก็ไม่ต้องพยายามจับ เพราะว่ามันจะเป็นการเปิดช่องให้คู่ต่อสู้ดันตัวดิ้นหลุดออกมาได้ ที่อยากให้เน้นคือให้เอาข้อศอกของเราดันเข้าไปในบริเวณรักแร้ของคู่ต่อสู้เพื่อป้องกันในการยกตัวทำบริจต์ของคู่ต่อสู้แขนอีกข้างไม่น่าเป็นห่วงเพราะว่าวนรัดแขนคู่ต่อสู้อยู่และกดทับอีกครั้ง (เรื่องการเอามือรัดมือคู่ต่อสู้ ควรฝึกแต่ช้าๆให้ชำนาญก่อนเพราะถ้าผิดพลาดก็มีผลต่อข้อศอกของทั้งคู่ได้เช่นกัน)

-tsurigomi-koshi แล้วตามด้วยnewaza kuzure-kamishiho
จริงๆแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นท่าtsurigomi-koshi ก็ได้จะเป็นท่าไหนก็ได้ที่ใช้ทุ่มคู่ต่อสู้แต่ว่าไม่ได้ผลถึงขั้นippon ก็ใช้ kuzure-kamishiho ตามต่อไปเพื่อเอาคะแนน การทุ่มของยูโดส่วนใหญ่จะจบด้วยการดึงแขนคู่ต่อสู้ไว้ข้างนึงเพื่อช่วยเซฟในการทำอุเกมิ หากฝึกจนเป็นนิสัยแล้วตอนแข่งหรือว่าตอนรันโดริก็ยังดึงแขนคู่ต่อสู้ไว้ แล้วการดึงแขนคู่ต่อสู้อยู่นี้มันก็เข้าทางกับท่า kuzure-kamishiho พอดิบพอดี (ผมว่าท่านี้ถ้าฝึกบ่อยๆ ก็ช่วยเพิ่มเปอร์เซนต์ในการเก็บแต้มแบบนิ่มๆได้พอสมควร)

-o-kuri ashibarai
ท่านี้ไม่ต้องใช้แรงเท่าไรนัก เพียงแต่เป็นเรื่องของเวลา ต้องพยายามจับจังหวะเวลาให้ตรงกันกับขาคู่ต่อสู้เท่านั้นเอง ลักษณะของท่าจะคล้ายๆกับท่า de-ashibarai แต่เป็นการปัดขาคู่ต่อสู้ทั้ง2ขาในขณะเคลื่อนที่ไปทางด้านข้าง เคล็ด(ไม่)ลับมีอยู่3จุด จุดแรกคือมือทั้ง2ข้าง โดยเฉพาะฝั่งที่ดึงแขนเสื้อจะดึงให้คู่ต่อสู้เสียการทรงตัวเหมือนกับท่าde-ashibarai ส่วนฝั่งที่ดึงคอเสื้อจะดึงรัดคล้ายๆกับท่าo-uchigariในสเต็ปแรก จุดที่สองคือระยะห่างระหว่างผู้ทุ่ม(tori)กับผู้ถูกทุ่ม(uke)จะยืนชิดกันมากกว่าปกติโดยประมาณไม่ควรจะเกิน30เซน หากยืนห่างกันมากจะไม่สามารถปัดขาทั้ง2ข้างของคู่ต่อสู้ได้ หรือถ้าปัดได้ก็อาจจะทรงตัวอยู่ได้ (ปกติระยะห่างของ2คนในท่าอื่นๆจะประมาณ60เซน) จุดสุดท้ายคือเรื่องของขาคู่ต่อสู้กับเรื่องเวลา ท่า de-ashibaraiจะปัดขาในจังหวะที่ขากำลังเคลื่อนที่เกือบจะถึงพื้นส่วนท่า o-kuri ashibaraiจะปัดขาในจังหวะที่ขาของคู่ต่อสู้ทั้ง2ข้างเกือบจะชิดติดกันในขณะเคลื่อนที่ไปทางด้านข้าง

กลับมาทำการทบทวนท่าพื้นฐานอย่าง tsurigomi-koshi กันอีกรอบ จริงๆท่า tsurigomi-koshi เรียนกันมาตั้งแต่เดือนที่1แล้ว ในตอนนี้ทุกคนสามารถใช้ได้นี้ได้โดยเป็นไปอย่างลื่นไหล หากแต่อาจารย์ดูแล้วถ้าเต็มร้อยทุกคนจะได้ประมาณ80แต้มเท่านั้น เพราะขาดรายละเอียดจุดเล็กๆน้อยๆแต่สำคัญมากในการถ่ายน้ำหนักสำหรับการทุ่มไป แต่ก่อนที่จะจะทำให้ท่า tsurigomi-koshi นั้นสมบูรณ์100เต็มนั้น ก็ต้องกลับไปเริ่มทบทวนท่า o-goshi กันก่อน

อาจารย์ได้บอกไว้ว่า 2 ท่านี้มีความคล้ายกันอย่างมากในหลายๆจุด ดั้งเดิมท่า o-goshi ก็เป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่จะมีท่า tsurigomi-koshi ตามออกมา เหตุที่ทำให้ท่า o-goshi ถูกดัดแปลงมากลายเป็นท่าใหม่อย่าง tsurigomi-koshiก็เพราะว่า ในการแข่งขันหรือการรันโดริ การที่จะเอามือสอดเข้าไปด้านหลังของคู่ต่อสู้เพื่อใช้ท่า o-goshi มันไม่สามารถทำได้โดยง่ายเหมือนกับตอนอุจิโกมิ ดังนั้นจึงมีการดัดแปลงเพื่อให้สะดวกในการทุ่มคู่ต่อสู้ จึงเป็นที่มาของท่า tsurigomi-koshi นั้นเอง

ท่า o-goshiตอนนี้ทุกคนทุ่มได้อย่างไม่ขัดข้อง เพียงแต่มีจุดที่ต้องเน้นเพิ่มเติมในการทุ่มแต่ละครั้ง สำหรับการถ่ายโอนน้ำหนักให้การทุ่มทำได้ง่ายขึ้น จุดนั้นก็คือมือที่สอดเข้าไปด้านหลังคู่ต่อสู้ต้องสอดเข้าไปให้สุดเอวก่อนที่เราจะหมุนตัวดันสะโพกเพื่อทำการทุ่มคู่ต่อสู้ เมื่อคนทุ่มเอามือโอบเอวของคู่ต่อสู้เข้าไปจนสุดแล้วนั้นตัวและหลังของคนทุ่มนั้นจะเป็นเส้นตรงโดยอัตโนมัติ หากรายละเอียดในจุดนี้ทำได้ถูกต้องแล้ว แม้แต่เด็กตัวเล็กๆก็สามารถทุ่มคู่ต่อสู้ที่เป็นผู้ใหญ่ตัวโตๆได้อย่างไม่ลำบาก เพียงแต่จุดอ่อนของท่านี้คือ ในการแข่งขันจริงถ้าคู่ต่อสู้ระดับใกล้เคียงกันก็ไม่สามารถงัดออกมาใช้กันได้ง่ายๆ ทำให้ต้องปรับมาใช้เป็นท่า tsurigomi-koshi นั้นเอง

ท่า tsurigomi-koshi นั้น จะทำให้สมบูรณ์ได้ก็ต้องอาศัยหลักการพื้นฐานของท่าo-goshi คือต้องทำหลังในเป็นเส้นตรง ก่อนที่จะดันสะโพกทุ่มคู่ต่อสู้ จุดสำคัญอีกจุดคือการใช้แรงดึงหรือ kuzushi ต้องทำโดยการดึงให้ยกขึ้นสูง แต่การที่จะยกคู่ต่อสู้ในจังหวะแรกให้ขึ้นสูงโดยใช้แรงมือนั้นทำได้โดยยาก วิธีง่ายกว่านั้นก็คือคนทุ่มย่อตัวเองลงมาเล็กน้อยในจังหวะแรกประกอบกับการใช้แขนดึงคู่ต่อสู้ขึ้นสูง การจะฝึก ท่า tsurigomi-koshiให้สมบูรณ์ดีนั้น ยากกว่าการฝึกท่าo-goshiให้สมบูรณ์ หากแต่สามารถฝึกเป็นประจำจนชำนาญแล้ว การแข่งขันหรือการรันโดริจะสามารถใช้ประโยชน์จากที่นี้ได้มากกว่าท่าo-goshi ที่สำคัญท่า tsurigomi-koshiนี้ ยังเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับท่าอื่นๆอีกมากมาย สำหรับผมแล้วท่าแรกที่ผมได้เรียนรู้จากโคโดกังก็คือท่า tsurigomi-koshiนี้แหละครับก่อนที่จะแตกแขนงออกมาเป็นท่า uchimata, seoinage และอื่นๆ

-Ko-uchigari + seoinage หรือ Ko-uchigari + Hanegoshi
เป็นการประยุกต์ของเทคนิคขาเข้ากับท่าทุ่มอื่นๆ โดยส่วนตัวผมคิดว่าท่าที่ใช้ขาจำพวก ko-uchigari, o-uchigari, ko-sotogari, hizaguruma หรือ sasae tsurigomiashi ผมยังไม่ถึงขั้นเชี่ยวชาญที่จะล้มคู่ต่อสู้เพื่อเก็บอิปป้ง หรือ วาซาอาริได้ แต่ว่าเทคนิคขาต่างๆของผมส่วนใหญ่จะมีไว้ตัดจังหวะคู่ต่อสู้ หรือไม่ก็สร้างจังหวะการทุ่มให้กับผมเอง ดังนั้นเทคนิคขาต่างๆควรฝึกฝนเป็นประจำ การฝึกฝนเทคนิคขาส่วนใหญ่อาจารย์บอกว่า เป็นเรื่องของการจำจังหวะของทั้งขาเราเองกับขาคู่ต่อสู้ และการจับจังหวะเวลาให้ถูก ถ้าหากมองออกและเข้าทำในช่วงจังหวะเวลาที่ถูกต้องแล้ว เพียงปัดเบาๆไปในทิศทางที่ถูกต้องก็ทำให้ล้มได้แล้ว หรืออย่างน้อยก็เป็นการสร้างโอกาสสำหรับการทุ่มด้วยท่าอื่นในจังหวะถัดไป ท่าต่อจาก Ko-uchigari นั้นเป็นการใช้แรงต้านของคู่ต่อสู้ในการทุ่มคู่ต่อสู้ เพราะว่าพื้นฐานของ Ko-uchigari คือการดันคู่ต่อสู้ไปด้านหลังตามด้วยการเกี่ยวขา โดยธรรมชาติคู่ต่อสู้จะส่งแรงต้านโดยการดันกลับมาด้านหน้า เพื่อให้ทรงตัวอยู่ได้ ก็อาศัยแรงตรงนั้นแหละในการทุ่มด้วยท่าseoinage ส่วนการเอามาผสมกับท่า Hanegoshi ผมทำได้ไม่ดีเท่าไร เพราะว่าหลังจากหมุนตัวขาในจังหวะสุดท้ายเพื่อทำการตวัดขาคู่ต่อสู้การดึงด้วยแขนของผมยังไม่ประสานเข้ากันได้ดีนัก

-Newaza yokoshiho
ท่านอนสู้ท่านี้เป็นการเข้าล๊อคคู่ต่อสู้ในด้านข้าง แขนข้างนึงอ้อมคอไปเกาะคอเสื้อไว้บริเวณแถวๆช่วงไหล่คู่ต่อสู้ ส่วนแขนอีกข้างจะอ้อมต้นขาไปเกาะอยู่แถวๆสะโพก ควรจะเข้าจับทางต้นคอก่อนที่จะจับบริเวณขา เพราะว่าจุดสำคัญส่วนใหญ่ของเนวาซะคือการกดน้ำหนักไปบริเวณช่วงไหล่ของคู่ต่อสู้ (บริเวณหน้าอกก็ใช้ได้ แต่ว่าเพื่อให้ดิ้นหลุดยากขึ้น ควรกดน้ำหนักไปที่บริเวณไหล่คู่ต่อสู้ทั้ง2ข้าง) การล๊อคขาข้างที่อยู่ใกล้กับขาคู่ต่อสู้ (ขึ้นอยู่กับการเข้าล๊อคทางซ้าย หรือ ทางขวา) เพื่อป้องกันการไข้วขาของคู่ต่อสู้มาล๊อคขาของเรา ควรเก็บหัวเข่าดันเข้าไประหว่างต้นขากับเอวของคู่ต่อสู้

วิธีการแก้มีหลากหลาย ใช้มืออ้อมไปจับเข็มขัดด้านหลังคู่ต่อสู้ ส่วนมืออีกข้างดันตัวคู่ต่อสู้ขึ้น สามารถทำได้แต่ว่าหากเจอกับคู่ซ้อมที่มีฝีมือหรือแรงพอๆกันแล้วทำได้ยากมาก วิธีที่ง่ายกว่านี้คือการใช้ท่ากุ้ง (เอบิ) คือให้ใช้ขาฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกับคู่ต่อสู้เป็นตัวออกแรงดันให้เข่าอีกฝั่งสอดเข้าไปอยู่ใต้ตัวคู่ต่อสู้ ในขณะเดียวกันมือก็ดันบริเวณคอหรือคู่ต่อสู้ขึ้นด้วย หลังจากเข่าเข้าไปอยู่ใต้ตัวคู่ต่อสู้ได้แล้ว ก็แล้วแต่ความถนัดว่าจะจับพลิกขึ้นมา หรือว่าจะล๊อคแขนคู่ต่อสู้ก็ได้ ปัญหาหลักคือบริเวณเข่าที่จะทำยังไงให้เข้าไปอยู่ด้านล่างของคู่ต่อสู้ ผมลองใช้วิธีปลดล๊อคนี้ดูที่โคโดกัง การจะเอาเข่าเข้าไปทำได้ยากพอสมควร(เพราะต่างคนก็ต่างเรียนมาจากอาจารย์คนเดียวกัน) แต่ว่ามาลองกับชมรมที่มหาลัย(ตอนซ้อมร่วมกับเด็กม.ปลาย) วิธีนี้ใช้ได้ผมง่ายๆเลยครับ วิธีที่จากเอาเข่าเข้าไปให้ได้ง่ายขึ้นนั้นอาจต้องใช้การก่อกวนมือที่จับขาเล็กน้อย โดยการยกขาทั้งสองข้างขึ้นมาแล้วดึงแขนที่ล๊อคอยู่บริเวณต้นขาให้คลายออกเล็กน้อยก่อนตามด้วยท่าเอบิในการดันเข่าเข้าไปอยู่ใต้ตัวคู่ต่อสู้

-Hane goshi VS Uchimata
สองท่านี้กว่าจะทำความเข้าใจความหมายได้ก็ใช้เวลาพอสมควร หลักการหลักๆคือ Hane goshi เป็นท่าทุ่มด้วยสะโพกแล้วใช้ขาช่วย แต่ Uchimata เป็นท่าทุ่มด้วยการใช้เทคนิคขา ท่า Uchimata ผมว่าใส่ท่าได้ง่ายกว่าคงเป็นเพราะว่าเรื่องขาแค่สะบัดออกไป คล้ายๆกับ harai goshi แต่จริงๆแล้ว ท่า Uchimata หากไม่ชำนาญหรือว่าสมดุลย์ร่างกายยังไม่ลงตัวมันอันตรายทั้งคนทุ่ม(โทริ)และคนถูกทุ่ม(อุเก) ท่านี้ถ้าใช้ในการแข่งขันแล้วตอนทุ่มก้มหัวมากเกินไปจะผิดกติกาและถูกเตือนได้ ส่วนท่า Hane goshi การใช้ขาจะต้องทำมุมแปลกๆ (วิธีการกวาดขาควรฝึกกับกำแพงให้ชำนาญก่อนจะมาใส่ท่ากับคู่ซ้อม) เนื่องจาก Hane goshi เป็นท่าทุ่มด้วยสะโพก จังหวะแรกการก้าวขา หลังจากการดึงทำคูสึชิแล้ว ต้องใช้ความเร็วหน่อยนึงในการหมุนดันสะโพกเข้าไปติดกับตัวคู่ต่อสู้ก่อนที่จะทำการกวาดขา การฝึกซ้อมท่านี้ควรแบ่งเป็น2ส่วนก่อนที่จะเอามารวมกัน คือ การฝึกกวาดขากับกำแพง กับ การบิดสะโพกเข้าชิดตัวคู่ต่อสู้ก่อนการกวาดขา

-Shimewaza jujigatame
ท่านี้ได้มาโดยบังเอิญ กับการสอนนอกรอบของอาจารย์พิเศษจาก โคเซ็นยูโด (สายโคโดกังจะเด่นเรื่องท่าทุ่ม ส่วนสายโคเซ็นยูโดจะเด่นเรื่องของเนวาซะและการใส่ล๊อคต่างๆ) ที่ว่าบังเอิญก็คือว่า วันนี้หลังจากเลิกซ้อมแล้วอาจารย์ท่านที่สอนผมวันนี้สนใจเกี่ยวกับเรื่องว่าทำไมผมตัวดำขึ้นมากๆ เลยต้องอยู่คุยอธิบาย ว่าเมื่อวานผมไปทะเลกับเพื่อน ส่วนวันนี้ก่อนมาซ้อมยูโดผมไปสอนว่ายน้ำให้เพื่อนที่สระว่ายน้ำแถวบ้าน มันก็เลยดำเป็นพิเศษ ระหว่างนี้มีอาจารย์อีกคนนึง มาเปิดการสอนอยู่ใกล้ๆ อาจารย์คนนี้ผมรู้จักก็เพราะว่าผมเคยเห็นหนังสือ และในคลิปวิดิโอต่างๆ เกี่ยวกับการสอนท่าล๊อคต่างๆและเนวาซะ ผมกับเพื่อนก็ไม่รอช้าที่จะรีบไปฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ซะเลย ท่าที่ได้มาก็ไม่ผิดหวังครับ เป็นท่าล๊อค จูจิกาตาเม จากท่าเต่า จริงๆท่าล๊อคอันนี้ผมรู้วิธีการใส่จากท่าเต่ามาบ้างแล้ว เพียงแต่มันซับซ้อนถ้าไม่ฝึกให้ชำนาญก็จะใช้จริงลำบาก แต่อาจารย์ท่านนี้ได้สอนเทคนิคที่ใส่ท่าล๊อคได้ง่ายขึ้นและคู่ต่อสู้แก้ได้ยากกว่าที่ผมเคยรู้มา เทคนิคนี้ตัวแปรสำคัญคือมีการใช้เข่าเพิ่มเข้ามาดันสีข้างคู่ต่อสู้ ส่วนมืออีกข้างดึงเข็มขัดคู่ต่อสู้เอาไว้เพื่อไม่ให้ดิ้นหลุดออกจากท่าล๊อคอันนี้ ส่วนแขนที่ดึงแขนคู่ต่อสู้เพื่อให้เข้ามาอยู่ในท่าล๊อคนี้มือจะต้องจับบริเวณคอเสื้อของเราเอง แล้วค่อยๆรูดลงมา เรียกได้ว่าเป็นการใส่ล๊อคที่รัดกุมมากทีเดียว สมกับที่มาจากสายโคเซ็นยูโดจริงๆ

สำหรับช่วงท้ายๆของเดือน3 จะเป็นการทบทวนท่าทั้งหมดก่อนที่จะสอบในช่วงปลายเดือน ในแต่ละวันจะเป็นการไล่วนท่าที่เรียนมาตั้งแต่เดือน1 เพื่อแก้ไขเก็บจุดบกพร่องเล็กๆน้อยๆ เช่นการก้าวเท้า การวางมือ การดึง การวางคอ การใส่จังหวะของหลังให้ถูกต้อง หลังจากสอบก็จะจบคอร์สแรก และได้ประกาศนียบัตรมา2ใบ คือ ใบประกาศจบคอร์สแรก กับ ได้สายระดับ5คิว

จนถึงตอนนี้ ก็รู้สึกได้ว่า อาจารย์แต่ละคน นักกีฬายูโดแต่ละคน ท่าเดียวกันจะมีรายละเอียดที่ต่างกันไปบ้างเล็กๆน้อยๆแล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน จะว่าไปมันก็คงเหมือนกับการเขียนหนังสือหรือเขียนคำศัพท์อะไรซักตัว ที่มันมีความหมายเหมือนกัน แต่ว่าลายเส้น การกดของปากกา และความสวยงามไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็กลับไปที่พื้นฐาน3อย่างนั้นเอง คือ kuzushi, tsukuri, kake ที่จะต้องทำให้ถูกต้อง ส่วนรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ที่จะทำให้ได้เปรียบในการแข่งหรือว่าตอนรันโดรินั้น ต้องหมั่นขยันฝึกซ้อมอุจิโกมิหรือการเข้าท่า และพยายามเก็บเทคนิคต่างๆกับคู่ซ้อมตอนรันโดริ การสอบในวันพรุ่งนี้ ที่แน่ๆจะต้องมีอุเกมิ ต่อจากนั้นก็แล้วแต่ว่าอาจารย์จะเลือกท่าไหนมาให้นักเรียนทดสอบการทุ่มดู ฟังจากคนที่สอบผ่านไปแล้ว คะแนนที่ให้มีทั้งตอนที่เป็น โทริ(คนทุ่ม)-คะแนนสำหรับการใส่ท่าและการทุ่มรวมถึงการเซฟคู่ต่อสู้ในจังหวะสุดท้าย และตอนที่เป็น อุเก(คนถูกทุ่ม)-คะแนนสำหรับการรับท่า และการใช้อุเกมิในจังหวะสุดท้าย ที่สำคัญคงจะเป็นเรื่องของการใช้หลัง คนที่เป็นอุเกหลังต้องไม่โค้งงอ และไม่ออกแรงแขนหรือบริเวณลำตัวต้านคนที่เป็นโทริ

สรุปท่าหลักที่เรียนผ่านมาใน3เดือน และคงจะถูกหยิบยกมาใช้ในการทดสอบในวันพรุ่งนี้ซัก4-5ท่าอย่างแน่นอน

Ashi waza
-De-ashi-barai
-Hiza guruma
-Sasae-Tsurikomi-ashi
-Osotogari
-O-uchigari
-Ko-sotogari
-Ko-uchigari
-Okuri ashi barai
-Uchimata

Te waza
-Seoinage
-Ippon Seoinage
-Tai otoshi

Koshi waza
-Uki-goshi (ท่านี้อาจารย์คงสอนแค่ครั้งเดียว แล้วดันเป็นวันที่ผมหยุดไปหาหมอพอดี)
-O-goshi
-Tsurikomi goshi
-Harai goshi
-Hane goshi

Newaza (คาดว่าเนวาซะ คงไม่ถูกหยิบมาใช้ทดสอบ แต่เพื่อความแน่ใจก็ควรที่จะทบทวนอีกซักครั้ง)
-Kesa gatame
-Kuzure kesa gatame
-Kamishiho gatame
-Kuzure kamishiho gatame
-Yokoshiho gatame
-Kata gatame
-Tateshiho gatame (ท่านี้เป็นพื้นฐานที่คิดว่าต้องสอนอยู่ใน3เดือนแรก แต่อาจารย์คงลืมสอนไป เพราะเวลาไม่ทันจริงๆ ลักษณะจะคล้ายๆกับ คาตะกาตาเม แต่ว่าตอนใช้จะคล่อมอยู่บนตัวคู่ต่อสู้)



Create Date : 30 สิงหาคม 2554
Last Update : 30 สิงหาคม 2554 0:44:25 น.
Counter : 1509 Pageviews.

6 comments
วันนี้ไปหาหมอ ดูแลดี แต่..... เขียนประวัติเราลงคนอื่น.. newyorknurse
(13 มิ.ย. 2568 02:37:18 น.)
ทุกสิ่งเป็นเรื่องธรรมดา : หลวงพ่อปราโมชย์ ปาโมชโช newyorknurse
(8 มิ.ย. 2568 20:42:23 น.)
เปิดดีเทลมงกุฎ Miss World พร้อมส่องตำนานและความหมายสุดลึกซึ้ง newyorknurse
(4 มิ.ย. 2568 06:18:13 น.)
“เอาเกรดรอง”_ไม่ต้องจ่ายแพง! (Theenuch_Team money Talk 4) newyorknurse
(3 มิ.ย. 2568 04:20:00 น.)
  
แล้วยูโดใช้กับผู้ต่อสู้แบบว่าเจอกันแล้วมีเรื่อง เราสามารถนำยูโดใช้กับคนที่มีเรื่องได้หรือเปล่า
โดย: พร IP: 110.49.242.55 วันที่: 20 พฤศจิกายน 2554 เวลา:1:04:20 น.
  
ใช้ได้จริงครับ ใช้วิ่งหนีได้จริงๆ

จริงๆแล้วพอถ้าคู่ต่อสู้ไม่ได้ใส่ชุดยูโดแล้ว การจับทุ่มจะทำได้ยากกว่าปกติ แต่ถ้าเป็นสายดำระดับสูงๆแล้วไม่แตกต่างกันเท่าไรครับ (สอบเลื่อนสายของสายดำชั้นสูงๆ จะมีการรำท่าที่จะออกแนวธรรมชาติมากกว่าการทุ่มของยูโด) ส่วนถ้าเป็นการจับล๊อคหรือหักข้อต่อก็พอจะเอามาใช้ได้ครับ แต่ทางที่ดีวิ่งเถอะครับ
โดย: ablaze357 วันที่: 27 พฤศจิกายน 2554 เวลา:17:18:04 น.
  
เป็นท่าท่มมาตรฐานครับ ไม่ใช่ท่ารำ และแค่ 3 เดือนที่คุณเริ่มฝึก มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นครับ หนทางยังอีกยาวไกลนัก ผมเล่นมาตั้งแต่ปี 2538 ปัจจุบันก็ยังคงฝึกฝนต่อไป และตอนนี้เริ่มผันตัวเองมาฝึกวิชา Jujitsu แล้ว
ส่วนการใช้ยูโดในการป้องกันตัว สามารถใช้ได้จริงครับ ในระยะประชิด และไม่จำเป็นต้องจับเสื้อก็ทุ่มได้ครับ แต่ทางที่ดี เลี่ยงการใช้ความรุนแรงได้ก็ควรที่จะเลี่ยงครับ เพราะว่ายูโด หมายถึง หนทางแห่งความสุภาพ
โดย: สายดำชั้น2 IP: 202.29.6.95 วันที่: 4 ธันวาคม 2554 เวลา:10:00:30 น.
  
ขอบคุณครับ เท่าที่ผมสังเกตุคุณปู่สอบสายระดับ6-7ระดับ8มันไม่ใช่ท่าทุ่มมาตรฐานแล้วครับ ผมไม่รู้ว่าภาษาไทยเรียกว่าอะไรเหมือนกันครับ แต่ที่นี่เรียกกันว่า ยูโนะคาตะ 柔の形 มันเริ่มไม่มีท่าแล้วครับ ออกแนวเคลื่อนไหวตามธรรมชาติซะมากกว่าครับ (ได้แต่มองจริงๆ เพราะคงไปไม่ถึงขั้นนั้นครับ)

ตอนนี้ขอค่อยเป็นค่อยไปครับ ส่วนเรื่องมีเรื่องผมคงไม่มีหรอกครับหนีได้ก็หนี ยอมได้ก็ยอมมันก็จะผ่านไปด้วยดีครับ

เวลายิ่งฝึกไปนาน การเคลื่อนไหวจะเป็นธรรมชาติมากขึ้น (ในความคิดผม) ดังนั้นแค่ช่วงเวลาไม่กี่เดือนของผมยังเข้าไม่ถึงหลักหรอกครับ ขออีกซัก15ปีละกันครับ
โดย: ablaze357 วันที่: 6 ธันวาคม 2554 เวลา:13:07:06 น.
  
อยากสอบถามหน่อยนะครับ โคเซ็นยูโด ในเมืองไทยมีไหมครับ (พอจะทราบที่เรียนที่สอนหรือเปล่า?) หรือพอมีเวบที่พูดถึงมั้งไหมครับ.. น่าอิจฉาที่ได้ฝึกโคโดคังนะครับ
โดย: Tark IP: 27.55.2.244 วันที่: 29 มกราคม 2555 เวลา:20:19:13 น.
  
อย่าถามผมเรื่องยูโดที่เกี่ยวกับเมืองไทยเลยครับ ผมไม่รู้อะไรซักอย่างเลย ผมเพิ่มเริ่มต้นเล่นที่ญี่ปุ่นไม่นานเองครับ

ถ้าหากสนใจพวกล๊อคๆหักๆต่อๆ ลองหาพวกยูยิตสูเมืองไทยก็น่าจะสร้างความมันส์ได้ระดับนึงแล้วละครับ

โดย: ablaze357 วันที่: 29 มกราคม 2555 เวลา:22:32:54 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Ablaze357.BlogGang.com

ablaze357
Location :
Chiba  Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]

บทความทั้งหมด