1ปียูโดกับการไล่ล่าสายดำ4.5 SHOCHUGEIKO mid-summer training at japan SHOCHUGEIKO mid-summer training at japan ตอนเด็กๆเคยอ่านโดราเอมอนแล้วมีบางตอนที่เป็นฤดูร้อน โนบีตะนอนเอาขาก่ายหน้าผากข้างๆตัวมีพัดลม เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความร้อนของฤดูร้อนในญี่ปุ่น และด้วยอากาศที่ร้อนมากๆ(แต่ผมว่าเมืองไทยหน้าร้อน ร้อนกว่าครับ) คนญี่ปุ่นถึงได้จัดกิจกรรมท้าทายความร้อนขึ้นโดยเฉพาะกีฬาที่ต้องใข้ความแข็งแรงและอดทนของร่างกายเป็นหลักเช่นพวกศิลปะการต่อสู้ เคนโด้ และยูโด จึงเป็นที่มาของ shochugeiko การฝึกพิเศษภาคฤดูร้อน เป็นธรรมเนียมดั้งเดิมของโคโดกัง(ตั้งแต่ตั้งสถาบันโคโดกังมาก็ประมาณ100กว่าปี) จะมีการฝึกภาคพิเศษปีละ2ครั้ง คือ ฤดูร้อน กับ ฤดูหนาว สำหรับฤดูร้อนโคโดกังจะเลือกเอาประมาณกลางเดือน7 10วันเพื่อฝึกซ้อม การซ้อมจะเริ่มตั้งแต่16.00 ถึง 20.00 ส่วนฤดูหนาวจะเป็นเวลาช่วงต้นเดือนมกราคมของทุกปี การซ้อมจะเริ่มตั้งแต่เวลาตี5.30 ถึง 7.30 จุดประสงค์คือการเพิ่มพื้นฐานทางร่างกายและความอดทนที่ต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่หนาวหรือร้อนเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทั้งทางร่างกายและจิตใจ วันนี้เป็นวันแรก ตอน18.00 มีพิธีเปิดโดยประธานโคโดกัง Haruki Uemura คนเข้าร่วมการฝึกมีประมาณ200กว่าคน วันนี้อาจารย์มากันครบ นอกเหนือจากนั้นก็ยังมีพวกระดับ9-10ดั้งมาเป็นสักขีพยานด้วย แต่ละคนผมว่าอายุอย่างต่ำก็ต้อง60ชัวร์ๆ (มีคนนึงผมว่าน่าจะเกิน80ด้วยซ้ำ) สำหรับสายคาดเอวของคนระดับ9-10ดั้งนั้นสังเกตุง่ายครับ สายคาดเอวจะเป็นสีแดงสด อย่างที่บอกเพื่อไม่เป็นการแบ่งชนชั้นจนเกินไป ปกติแล้วโคโดกังจะใช้สายคาดเอวแค่2สายคือ สายดำ กับ สายขาว ส่วนพวกสายสีแดงนั้นจะใช้เฉพาะงานอย่างเป็นทางการเช่นพิธีเปิด-ปิดต่างๆ หรือว่าการแสดงคาตะก่อนการแข่งขัน ก่อนจะมีพิธีเปิด ผมเพิ่งรู้ว่ากลองที่ตั้งอยู่ตรงด้านหน้า ไม่ได้มีไว้ตั้งโชว์แต่ว่า มีไว้ใช้สำหรับเรียกรวมพลตั้งแถวสำหรับงานสำคัญต่างๆ ก็ถือว่าดูเป็นแบบแนวคลาสสิคดั้งเดิมดีครับ พอเรียกรวมแล้ว สิ่งแรกและที่สำคัญที่สุดคือการเช็คชื่อ กติการคือภายใน10วัน ทุกวันจะมีการเช็คชื่อ2รอบ คือรอบ17.30 กับ รอบ 19.00 (เวลาจะเหมือนกับการเรียนปกติทั่วไป) หากเช็คชื่อรอบเดียวแล้วก็เป็นใช้ได้ ที่สำคัญคือต้องมาให้ได้9ครั้ง ถึงจะมีใบประกาศนียบัตรให้ ต่อจากนี้ท่านประธานก็กล่าวเปิดงานโดยไม่ติดขัด ภาษาที่ใช้ก็เร็วพอสมควร คาดว่าคงท่องจำมาดี หรือไม่ก็ต้องกล่าวเปิดงานลักษณะนี้ ปีละ2ครั้งเป็นประจำทุกปี ก็เลยพูดได้อย่างคล่องแคล่ว การเรียนการสอนก็เป็นเหมือนปกติทุกๆวันแหละครับ เพียงแต่คนจะเยอะหน่อยแต่ไม่เกี่ยวกับตรงที่ผมเรียนอยู่ครับ คือว่าเวลาเรียนตอน17.30 19.00 ก็ยังเหมือนเดิม มีเพิ่มเติมมาหน่อยนึงก็คือจะมีตีกลองเรียกรวมตอน18.00 เพื่อเช็คชื่อ แล้วก็ตอน19.00 (ถ้าใครไม่ทันเช็ครอบแรกก็ให้เช็ครอบสอง) ผมแอบสังเกตุเห็นคนที่เช็ครอบแรกจะได้วงกลม ส่วนคนที่เช็ครอบสองจะได้เป็นขีดเฉียงๆ ถือว่าเป็นมาสายแต่ก็ไม่มีผลแตกต่างอะไรมากนัก คงจะทำไว้เพื่อเก็บเป็นสถิติเฉยๆ บางวันผมสังเกตุเห็นว่าอาจารย์ที่สอนบางคนจะสอนดีขึ้นหรือว่าอธิบายละเอียดขึ้น คงเป็นเพราะว่ามีพวกนักยูโดระดับสูงๆหรือพวกผู้บริหารโคโดกังมาอยู่ในบริเวณนี้ เลยทำให้ทุ่มเทมากขึ้นกับการสอน เท่าที่ผมสังเกตุดูผมพอจะจับจุดประสงค์ของการฝึกภาคฤดูร้อนนี้ได้นิดหน่อย คือว่านอกเหนือจากการเพิ่มพื้นฐานทางร่างกายและความอดทนที่ต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่หนาวหรือร้อนเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทั้งทางร่างกายและจิตใจแล้วนั้น หากใครที่รู้จักฉวยโอกาสใช้การฝึกนี้ก็สามารถที่จะก้าวหน้าขึ้นได้พอสมควร การฝึกภาคฤดูร้อนจะเริ่ม16.00-20.00 ในวันปกติ หลังจากเลิกเรียนยูโดปกติคือ19.00 หากใครจะอยู่ต่อจนถึง20.00 ก็ไม่มีใครว่า ช่วง19.00-20.00 เพียงแค่วันละชั่วโมงเดียวก็มากพอที่จะฝึกหรือสอบถามจากรุ่นพี่สายดำหรืออาจารย์ต่างๆในท่าที่ตัวเองต้องการจะฝึกให้คมขึ้น หรือจะขอทดสอบของจริงกับพวกสายดำระดับสูงในรันโดริ เนวาซะ หรือว่าเอาแค่เบาะๆแค่ขออุจิโกมิด้วย เพียงแค่นิดหน่อยก็สามารถเก็บรายละเอียดของท่าต่างๆได้มากมายแล้วครับ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้รู้จักกับนักยูโดคนอื่นๆอีกด้วย เพราะว่าจุดเด่นของนักกีฬายูโดคือแต่ละคนจะมีท่าเด่นๆ(เรียกว่าท่าไม้ตาย) กันคนละอย่างน้อย2-3ท่า หากพยายามเรียนรู้แล้วก็จะได้เทคนิคต่างๆที่สามารถปรับนำมาใช้เป็นท่าของตนเองได้ เริ่มต้นเล่นยูโดใหม่ๆแต่ละคนอาจจะยังไม่รู้ว่าตนเองถนัดท่าไหนแต่ว่าหากได้ซ้อมบ่อยๆ ได้คำแนะนำต่างๆก็จะพอเข้าใจว่าตนเองถนัดท่าไหน จุดเด่นของท่าที่ตนเองถนัดอยู่ตรงไหน เวลารันโดริหรือแข่งขันจริงจะได้ออกอาวุธได้อย่างมั่นใจมากขึ้น สำหรับการรันโดริ จากประสบการณ์ของผม แนะนำว่าควรจะเลือกคู่ซ้อมที่มีอายุหน่อยด้วยเหตุผล2ประการ ข้อแรกคือได้เปรียบเรื่องแรงคนมีอายุแรงจะสูงคนอายุ20กว่าไม่ได้ ข้อสองคือคนมีอายุส่วนใหญ่เน้นเทคนิคและการเข้าท่า พูดง่ายๆคือต่อให้ผมแรงเยอะกว่าเค้า2เท่าการจะทุ่มนั้นก็ยังยากอยู่ดี จากเหตุผล2ข้อการรันโดริกับคนมีอายุจะไม่ถึงขั้นดุเดือดมากแต่สำหรับเรื่องความก้าวหน้าในการเข้าท่าหรือเทคนิคปลีกย่อยจะได้เยอะพอสมควร สำหรับการฝึกภาคฤดูร้อนก็มีเปิดโอกาสให้คนที่สนใจจะรันโดริกับคู่ซ้อมต่างเพศ(ผู้หญิง) ดูเหมือนอาจจะเป็นการรังแกผู้หญิงแต่เอาเข้าจริง ผมว่าน่าจะกลับกันซะมากกว่า ฝ่ายชายจะโดนทุ่มยับเยินครับ ผมเคยลองอุจิโกมิกับผู้หญิงดูครั้งนึง แรงดึงแรงเหวี่ยงแรงทุ่ม เยอะกว่าผู้ชายทุกคนที่ผมเคยอุจิโกมิด้วย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผมไม่กล้าที่จะลองของกับสาวยูโดอีกเลย ผ่านมาจนถึงวันสุดท้าย รู้สึกว่าซ้อมยูโดกับคนเยอะๆมันก็สนุกไปอีกแบบ ดูวุ่นวายดี แถมต้องคอยมองหาที่ว่างก่อนทุ่มจะได้ไม่ทับกัน อากาศที่ร้อนกับทำให้ผมสนุกกว่าปกติ เพราะว่าผมมีเป้าหมายในการลดน้ำหนักจาก80ไปให้ถึงการแข่งในรุ่น 66 กิโลกรัมก่อนเดือนกันยายน อากาศร้อนๆยิ่งทำให้การลดน้ำหนักทำได้เร็วขึ้น วันนี้พิธีปิดเริ่มตอน19.00 ประธานคนเดิมกล่าวปิดงานพร้อมแจกประกาศนียบัตรให้กับคนที่ผ่านการฝึก แรกๆผมคิดว่ามันก็ง่ายๆใครๆก็ผ่านแค่มาให้ครบ9-10ครั้งก็พอ แต่เอาเข้าจริงๆ คนผ่านมีไม่ถึง15เปอร์เซนต์จากที่ลงทะเบียนไว้ตอนแรก ส่วนใหญ่ที่ผ่านจะเป็นนักเรียนระดับประถมกับมัธยมซะมากกว่า เพราะว่าช่วงนี้โรงเรียนปิดเทอมแล้ว เลยมีเวลาว่างมาได้ครบตามกำหนด อากาศวันนี้เย็นสบาย เพราะ2วันก่อนมีไต้ฝุ่นเข้า(หน้าร้อนก็กลับกลายเป็นหน้าหนาว) วันนี้มีพิธีปิดทำให้การเวลาซ้อมน้อยลงไปกว่าปกติ เหงื่อก็แทบไม่ออก หลังจากที่ได้ใบประกาศเรียบร้อยแล้ว พิธีปิดก็ผ่านไปแล้ว ผมกับเพื่อนๆก็อยู่ซ้อมกันต่ออีกนิดหน่อย แล้วก็ได้อาจารย์พิเศษมาสอนเทคนิคการก้าวขาให้2ท่า คือท่าKo-uchigari กับท่าO-sotogari อาจารย์พิเศษที่ว่าก็คือ คุณHaruki Uemura ประธานโคโดกังนั้นเอง คนๆนี้แรกๆผมคิดว่าคงเพราะตำแหน่งเป็นประธานถึงทำให้สายคาดเอวขึ้นไปถึงระดับสูงสุด แต่จริงๆแล้วคนๆนี้ในอดีตกวาดแชมป์ต่างๆมามากมาย รวมถึงเหรียญทองโอลิมปิคเมื่อตอนอายุ25ปี สำหรับ2ท่านี้จังหวะการก้าวขาต่างจากที่ผมเคยรู้มานิดหน่อย เพราะมีการใช้งานทั้ง4ส่วนคือ เข่า เอว หน้าอก หลัง ในการเสริมแรงดึงและเหวี่ยงคู่ต่อสู้ ท่าเดียวกันเทียบกับจังหวะการก้าวขาที่ผมใช้ปกติ แรงดึงต่างกันมากทีเดียว แต่ปัญหาคือการก้าวให้ถูกจังหวะนั้นทำได้ยากพอสมควร การแก้ไขไม่มีวิธีอื่นนอกจากซ้อมอุจิโกมิบ่อยๆนั้นเอง อาจารย์Uemuraบอกเป็นภาษาญี่ปุ่นจับใจความได้ว่า เพราะว่ายูโดใช้ร่างกายที่เป็นของตัวเราเอง ไม่มีทางลัด หากไม่ซ้อมบ่อยๆ ลองผิดลองถูกก็ไม่มีทางเก่งขึ้น แล้วคุณประธานก็เดินจากไปอย่างเท่ห์โดยมีคนรอบข้างโค้งคำนับไปตลอดทั้งทาง นอกจากใบประกาศที่ได้จากการฝึกฤดูร้อนแล้วการก้าวขาของ2ท่าที่ว่านี้ก็ถือว่าเป็นของแถมชิ้นสำคัญสำหรับการฝึกภาคฤดูร้อน มีความมุ่งมันดีจังค่ะ อยากให้ลูกสาวไปเรียนบ้าง จะได้ฝึกความแข็งแรงของร่างกายและจิตใจ
โดย: วันสดใส
![]() เมื่อวานตัวแทนรับใบประกาศของเด็กประถม-มัธยม เป็นเด็กผู้หญิงอายุผมว่าไม่น่าเกิน6-7ขวบ (น่าจะเป็นการจงใจของอาจารย์ในการเลือกตัวแทนไปรับใบประกาศ)
![]() โดย: ablaze357
![]() ยินดีกับประสบการณ์ที่ได้รับมาเพิ่มเติมนะคะ ทึ่งกับผู้สูงวัยกับสายบ่งบอกความสามารถของจริง ไม่เหมือนกับบางแห่งที่ได้โน่นนี่มาเพราะตำแหน่ง หาใช่เพราะความสามารถจริงๆไม่
ในพิธีการต่างๆ ถ้ารวมอายุแล้วส่วนมากเค้าจะให้เด็กจิ๋วๆเป็นตัวแทนไปรับใบประกาศ น่าจะเป็นการให้ความสำคัญและให้กำลังใจเด็กกระมังคะ เพราะเด็กในวันนี้จะเติบโตเป็นกำลังในวันหน้า โดย: ป้าโซ
![]() เค้าแบ่งรุ่นเหมือนประเทศไทยมั๊ยครับ เพราะสมัยก่อนตอนที่เล่นเยาวชนแห่งชาติลงรุ่น 65-71 ตอนหลังเปลี่ยนกฎเป็น 67-73 ตอนนี้ไม่ได้ตามแล้ว แล้วโคโดกันกับโคโดกังนี่สมาคมเดียวกันรึป่าว ขอความรู้หน่อยครับ ด้วยความเคารพ
![]() โดย: สถาปน๊อต
![]() แบ่งตามน้ำหนักครับ รุ่น55กิโล 60, 66, 73, 81, 90, 100 กับเกิน100กิโล เป้าหมายของผมคือ66กิโล แต่ถ้าลดไม่ทันจริงๆก็คงต้องไปรุ่น73กิโล ถ้าเกินกว่านี้ผมไม่แข่งครับ เพราะตอนปกติรันโดริ เจอพวกน้ำหนัก80อัพ แล้วรู้สึกว่าเหนื่อยจะดึงก็ดึงยาก เหมือนกำลังยกหินที่เกะกะอยู่ตามข้างทาง
สำหรับญี่ปุ่นน่าจะมีแค่โคโดกังนะครับ อาจจะมีการอ่านออกเสียงเพี้ยนไปหน่อยเลยกลายเป็นโคโดกันก็เป็นได้ (ไม่ชัวร์ครับ แต่ถ้ามีสมาคมโคโดกันอีกแห่งนึง ผมยังคิดไม่ออกว่าเค้าจะใช้คันจิตัวไหนเขียนให้มันเป็นความหมายของยูโดแล้วอ่านออกมาเป็นคำว่ากัน) สำหรับกฏกติกาตอนแข่ง กฏของโคโดกังจะมีส่วนที่แตกต่างกับกฏสากลทั่วไปอยู่เล็กน้อย ที่เห็นชัดๆก็ตอนนับเวลาเนวาซะ สำหรับการทำแต้มได้จะนานกว่ากฏสากลทั่วไปอีก5วินาที เห็นเด็กตัวเล็กๆ ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ซ้อมแล้วก็ดูน่ารักดี อาทิตย์ก่อนมีเด็กประมาณ7-8ขวบ ท่าจะมาเป็นวันแรก(แต่มาคนเดียวได้ไง ผู้ปกครองคงไปนั่งรออยู่ชั้นแปดแล้ว) เด็กคนนั้นใส่กางเกงยูโดยังไม่เป็นเลยว่าจะผูกเชือกกางเกงยังไง ไม่มีคนอื่นอยู่ซะด้วย ก็ต้องเป็นผมซิที่ต้องสอน(คล้ายๆกับเป็นพ่อเด็กเลย) สุดท้ายก็สอนวิธีผูกเข็มขัดให้ด้วยซะเลย ![]() โดย: ablaze357
![]() ขอบคุณครับ สำหรับข้อมูลขอให้ไปได้ถึงฝันไวๆนะครับ ยูโดเป็นกีฬาที่ผมรักเป็นกีฬาที่ใช้ร่างกายหนัก ฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง เป็นวิถีแห่งความสุภาพ จะติดตามอ่านนะครับ
![]() โดย: สถาปน๊อต
![]() |
บทความทั้งหมด
|