กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
มกราคม 2565
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
space
space
14 มกราคม 2565
space
space
space

???

เสริมให้เคลียร์

เกณฑ์ตัดสิน ความดี - ความชั่ว

ก. ปัญหาเกี่ยวกับความดี - ความชั่ว

   กรรมเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความดี และความชั่วโดยตรง เมื่อพูดถึงกรรม จึงควรพูดถึงเรื่องความดี และความชั่วไว้ด้วย เพื่อช่วยให้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมชัดเจนขึ้น

เรื่องความดี และความชั่ว มักมีปัญหาเกี่ยวกับความหมาย และหลักเกณฑ์ที่จะวินิจฉัย เช่นว่า อะไรและอย่างไร จึงจะเรียกว่า ดี อะไรและอย่างไรจึงจะเรียกว่า ชั่ว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเช่นนี้ มีมากเฉพาะในภาษาไทยเท่านั้น

ส่วนในทางธรรม ที่ใช้คำบัญญัติจากภาษาบาลี ความหมาย และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้นับได้ว่าชัดเจน ดังจะได้กล่าวต่อไป

คำว่า "ดี" ว่า "ชั่ว" ในภาษาไทย มีความหมายกว้างขวางมาก โดยเฉพาะคำว่าดี มีความหมายกว้างยิ่งกว่าคำว่า ชั่ว

คนประพฤติดีมีศีลธรรม ก็เรียกว่า คน ดี

อาหารอร่อยถูกใจ ผู้ที่กินก็อาจพูด ว่า อาหารมื้อนี้ ดี หรืออาหารร้านนี้ ดี

เครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพ หรือทำงานเรียบร้อย คนก็เรียกว่า เครื่องยนต์ ดี

ไม้ค้อนที่ใช้ได้สำเร็จประโยชน์สมประสงค์ คนก็ว่า ค้อนนี้ ดี

ภาพยนตร์ที่สนุกสนาน ถูกใจ คนที่ชอบ ก็ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ ดี

ภาพเขียนสวยงาม คนก็ว่า ภาพนี้ ดี หรือ ถ้าภาพนั้นอาจขายได้ราคาสูง คนก็ว่าภาพนั้น ดี

เช่นเดียวกัน โรงเรียนที่บริหารงาน และมีการสอนได้ผล นักเรียนเก่ง ก็เรียกกัน ว่า โรงเรียน ดี

โต๊ะตัวเดียวกัน คนสามคนบอกว่า ดี แต่ความหมายที่ว่า ดี นั้น อาจไม่เหมือนกันเลย

คนหนึ่งว่า ดี เพราะสวยงามถูกใจเขา

อีกคนหนึ่งว่า ดี เพราะเหมาะแก่การใช้งานของเขา

อีกคนหนึ่งว่า ดี เพราะเขาจะขายได้กำไรมาก

ในทำนองเดียวกัน ของที่คนหนึ่งว่า ดี อีกหลายคนอาจบอกว่า ไม่ดี  ของบางอย่างมองในแง่หนึ่งว่า ดี มองในแง่อื่นอาจว่าไม่ดี
ความประพฤติ หรือการแสดงออกบางอย่างในถิ่นหนึ่ง หรือสังคมหนึ่งว่า ดี  อีกถิ่นหนึ่งหรืออีกสังคมหนึ่งว่า ไม่ดี  ดังนี้ เป็นต้น  หาที่ยุติไม่ได้ หรืออย่างน้อยไม่ชัดเจน อาจต้องจำแนกเป็นดีในทางจริยธรรม ดีในแง่สุนทรียภาพ ดีในแง่เศรษฐกิจ เป็นต้น

เหตุที่มีความยุ่งยากสับสนเช่นนี้  ก็เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณค่า และคำว่า “ดี” หรือ “ไม่ดี” ในภาษาไทย  ใช้กับเรื่องที่เกี่ยวกับคุณค่าได้ทั่วไปหมด  ความหมายจึงกว้างขวางและผันแปรได้มากเกินไป

เพื่อตัดปัญหาเกี่ยวกับความยุ่งยากสับสนนี้  จึงจะไม่ใช้คำว่าดี ไม่ดีหรือชั่ว ในภาษาไทย

   ในการศึกษาเรื่องความดีความชั่วที่เกี่ยวกับกรรม มีข้อควรทราบ ดังนี้

   ก. ความดีและความชั่ว ณ ที่นี้ เป็นการศึกษาในแง่ของกรรมนิยาม และมีคำเรียกโดยเฉพาะว่า กุศล และ อกุศลตามลำดับ คำทั้งสองนี้ มีความหมายและหลักเกณฑ์วินิจฉัยที่นับได้ว่า ชัดเจน

   ข. การศึกษาเรื่องกุศล และอกุศลนั้น มองในแง่จริยธรรมของพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของกรรมนิยามจึงเป็น การศึกษาในแง่สภาวะ หาใช่เป็นการศึกษาในแง่คุณค่าอย่างที่มักเข้าใจกันไม่ การศึกษาในแง่คุณค่า เป็นเรื่องในระดับสมมตินิยามหรือสังคมบัญญัติ ซึ่งมีขอบเขตที่แยกจากกรรมนิยามได้ชัดเจน

  ค. ความเป็นไปของกรรมนิยาม ย่อมสัมพันธ์กับนิยามและนิยามอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะที่พึงใส่ใจพิเศษ คือ ในด้านภายในบุคคล กรรมนิยาม อิงอยู่กับจิตนิยาม ในด้านภายนอก กรรมนิยาม สัมพันธ์ กับ สมมตินิยาม หรือสังคมบัญญัติ ข้อที่พึงเน้นก็คือ ในด้านความสัมพันธ์ระหว่าง กรรมนิยามกับสมมตินิยาม จะต้องแยกขอบเขต ระหว่างกันให้ชัด และจุดเชื่อมต่อ ซึ่งเป็นทั้งที่แยก และที่สัมพันธ์ระหว่างขอบเขตทั้งสองนั้น ก็มีอยู่



ข. ความหมายของกุศล และอกุศล

   กุศล และอกุศล แปลกันโดยทั่วไปว่า ดี และชั่ว หรือไม่ดี ก็จริง แต่แท้จริงแล้ว หาตรงกันทีเดียวไม่ สภาวะบางอย่างเป็นกุศล แต่อาจจะไม่เรียก ว่า ดี ในภาษาไทย

สภาวะบางอย่าง อาจเป็นอกุศล แต่ในภาษาไทยก็ไม่เรียก ว่า ชั่ว ดังจะเห็นต่อไป

กุศล และ อกุศล เป็นสภาวะ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ และมีผลต่อจิตใจก่อน แล้วจึงมีผลต่อบุคลิกภาพ และแสดงผลนั้นออกมาภายนอก
ความหมายของกุศล และ อกุศล จึงเพ่งไปที่พื้นฐาน คือ เนื้อหาสาระ และความเป็นไปภายในจิตใจเป็นหลัก

กุศล แปลตามศัพท์ว่า ฉลาด ชำนาญ สบาย เอื้อ หรือเกื้อกูล เหมาะ ดีงาม เป็นบุญ คล่องแคล่ว ตัดโรค หรือตัดสิ่งชั่วร้ายที่น่ารังเกียจ

ส่วนอกุศล ก็แปลว่า สภาวะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกุศล หรือตรงข้ามกับกุศล เช่นว่า ไม่ฉลาด ไม่สบาย เป็นต้น

   ความหมายเชิงอธิบายในทางธรรมของกุศล ที่ถือได้ว่าเป็นหลักมี ๔ อย่าง คือ

   ๑. อาโรคยะ ความไม่มีโรค คือสภาพจิตที่ไม่มีโรค อย่างที่นิยมเรียกกันบัดนี้ว่าสุขภาพจิต หมายถึง สภาวะ หรือองค์ประกอบที่เกื้อกูลแก่สุขภาพจิต ทำให้จิตไม่ป่วยไข้ ไม่ถูกบีบคั้น ไม่กระสับกระส่าย เป็นจิตแข็งแรง คล่องแคล่ว สบาย ใช้งานได้ดี เป็นต้น

   ๒. อนวัชชะ ไม่มีโทษหรือไร้ตำหนิ แสดงถึงภาวะที่จิตสมบูรณ์ ไม่บกพร่อง ไม่เสียหาย หรือไม่มีของเสีย ไม่มัวหมอง ไม่ขุ่นมัว สะอาด เกลี้ยงเกลา เอี่ยมอ่อง ผ่องแผ้ว เป็นต้น

   ๓.โกศลสัมภูต  เกิดจากปัญญาหรือเกิดจากความฉลาด หมายถึง ภาวะที่จิตประกอบอยู่ด้วยปัญญา หรือมีคุณสมบัติต่างๆ ซึ่งเกิดจากความรู้ความเข้าใจ สว่าง มองเห็น หรือรู้เท่าทันความเป็นจริง สอดคล้องกับหลักที่ว่า กุศลธรรมมีโยนิโสมนสิการ คือความรู้จักคิดแยบคาย หรือรู้จักทำใจอย่างฉลาดเป็นปทัฏฐาน

   ๔. สุขวิบาก   มีสุขเป็นวิบาก คือเป็นสภาพที่ทำให้มีความสุข เมื่อกุศลธรรมเกิดขึ้นในใจ ย่อมเกิดความสุข สบายคล่องใจในทันทีนั้นเอง ไม่ต้องรอว่า จะมีผลตอบแทนภายนอกหรือไม่ เหมือนกับว่า เมื่อร่างกายแข็งแรงไม่มีโรคเบียดเบียน (อโรค) ไม่มีสิ่งสกปรกเสียหาย มลทิน หรือของที่เป็นพิษภัยมาพ้องพาน (อนวัชชะ) และรู้ตัวว่า อยู่ในที่มั่นคงปลอดภัยถูกต้องเหมาะสม (โกศลสัมภูต) ถึงจะไม่ได้เสพเสวย สิ่งใดพิเศษออกไป ก็ย่อมมีความสบาย ได้เสวยความสุขอยู่แล้วในตัว

    นอกจากความหมายทั้ง ๔ นี้แล้ว คัมภีร์บางแห่งกล่าวถึงความหมายอื่นอีก ๓ อย่าง คือ เฉกะ แปลว่า ฉลาด และเขมะ แปลว่า เกษม คือปลอดโปร่ง มั่นคง ปลอดภัย และนิททรถะ แปลว่า ไม่มีความกระวนกระวาย    แต่พอเห็นได้ว่า ความหมาย ๓ อย่างนี้  รวมลงได้ในความหมาย ๔ อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างบน และในบรรดาความหมาย ๔ อย่างนั้น ความหมายที่ ๓ คือ โกศลสัมภูต เป็นความหมายแกน


    ความหมายของอกุศล ก็พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามจากที่กล่าวมานั้น คือ เป็นสภาพจิตที่มีโรค ไร้สุขภาพ มีโทษ มีตำหนิ มีข้อเสียหาย เกิดจากอวิชชา และมีทุกข์เป็นผล (วิบาก)   พูดสั้นๆ อีกนัยหนึ่งว่า เป็นสภาพที่ทำให้จิตเสียคุณภาพ และเสื่อมสมรรถภาพ ตรงข้าม กับ กุศล ซึ่งส่งเสริมคุณภาพ และสมรรถภาพของจิต




 



Create Date : 14 มกราคม 2565
Last Update : 14 มกราคม 2565 20:15:14 น. 0 comments
Counter : 226 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space