ความทรงจำเก่า ๆ ก่อนจะลืมเลือนหายไปกับกาลเวลา
Group Blog
 
<<
มกราคม 2558
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
16 มกราคม 2558
 
All Blogs
 

ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-เงินฝากสัจจะออมทรัพย์

วันนี้ได้นั่งคุยกับปราชญ์ชาวบ้านคลองหวะ
เกี่ยวกับเรื่องเงินสัจจะออมทรัพย์ของหมู่บ้านคลองหวะ

(กองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคลองหวะ)
แรกเริ่มตั้งวันที่ 1 มกราคม 2520
มีสมาชิกแรกเริ่มจำนวน 47 คนฝากขั้นต่ำคนละ 50.-บาท
ปรากฏว่าเงินเริ่มต้นมีเพียง 2,500.-บาท
กำลังตกลงกันว่าจะนำเงินทั้งหมดไปฝากธนาคาร

แต่มีสมาชิกคนหนึ่งแย้งว่า เงินก้อนนี้มีเพื่อช่วยเหลือสมาชิก
ถ้าไปฝากที่ธนาคารทั้งหมดก็ไม่ได้ช่วยเหลือสมาชิกแต่อย่างใด
ที่ประชุมเลยถามว่า  แล้วจะให้ช่วยเหลืออะไรบ้าง
แกบอกว่ากำลังจะจัดงานแต่งงานลูกสาวขาดเงินอยู่ราว 2,000.-บาท
ที่ประชุมเลยอนุมัติให้แกยืมเงินไปก่อน 2,000.-บาท
แล้วค่อยผ่อนส่งคืนในภายหลัง
เงินเหลืออีก 500.-บาทจึงนำไปฝากที่ธนาคารเอเซีย จำกัด สาขาหาดใหญ่
(ตอนนี้เลิกกิจการแล้วเป็นธนาคารยูโอบี จำกัด ตรงสายหนึ่ง)

ส่วนเงินฝากทั้งหมดไปฝากที่สหกรณ์ออมทรัพย์หาดใหญ่
มีจำนวนเงินฝากรวม 15.6 ล้านบาท ได้ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี

ในช่วงแรก ๆ ยังมีสมาชิกเข้าร่วมน้อยมาก
เงินฝากเริ่มต้นจาก 2,500  5,000 7,000 8,000 บาท
กว่าจะได้หลักแสนต่อเดือนเหมือนตอนนี้ใช้เวลาหลายปี
สมาชิกตอนนี้จำกัดไว้เพียง 400 คนเท่านั้นไม่รับเพิ่มอีก
ไม่ตาย ไม่(ลา)ออก ไม่รับ
มีคนรอคิวอยากเข้ามาเป็นสมาชิกหลายร้อยคนแล้ว
แต่น่าจะไม่ได้เป็นเพราะลูกหลานสมาชิกต่างรอคิวเสียบ
มีสมาชิกที่เป็นคนนอกหมู่บ้านคลองหวะ

เหลือเพียงคนเดียวเป็นคนบ้านคลองเรียน
คืออดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านคลองหวะ ครูคลาย เท่านั้น
การรวมกลุ่มนี้จึงเหนียวแน่นมาก
ไม่เหมือนบางกลุ่มแบบ มะรึงออก กะรูถอน
หรือกรรมการลาออกหรือไม่ได้รับเลือกตั้งอีก
สมาชิกถอนเงินฝากออกไปตั้งวงใหม่เหมือนอีกหลายกลุ่ม
ทำให้ล้มลุกคลุกคลานกันไม่ตายไม่โต

แต่เดิมมีปัญหามากในเรื่องการเงิน
เพราะธรรมชาติของคนขอกู้เงินมากกว่าออมเงิน
เรียกว่าหาเงินมาให้กู้เท่าไรก็ไม่พอ
สมัยลุงเคลือบ เป็นประธานครั้งหนึ่ง
มีคนขอกู้เงินจำนวน 25,000.-บาท
น่าจะไม่เพียงพอต่อเงินที่มีคนมารอคิวขอกู้เงินอยู่

หลักการของกลุ่มคือไม่อยากกู้เงินจากภายนอก

จึงมีการเรียกคนรอคิวขอกู้เงินมาพูดคุย

เช่นขอลดเงินกู้ลงเช่น เหลือ 800 จากขอกู้เงิน 1,000
ขอกู้  1,500 บาทก็บอกไม่เป็นไรเป็นเดือนหน้าก็ได้ ไม่แคบ(รีบร้อน)

มีบางรายขอกู้ 1,200 บาทแต่บอกซื้อลูกหมู 800 บาทก็เอาแค่นี้ก็แล้วกัน
(ความเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกันและนับถือเป็นเครือญาติจึงออมชอมกันง่าย)


ต่อมาจึงเริ่มมีนโยบายออมเงินมากกว่ากู้เงิน
ไม่ส่งเสริมและสนับสนุนการกู้เงิน
ยินดีให้สมาชิกถอนเงินฝากที่ออมไว้จำนวนมากออกไป

หรือบางรายต้องขอให้ช่วยกู้เงินเพื่อมีเงินช่วยเหลือสมาชิกบ้าง
แต่มีการกู้เงินกันน้อยมากเพราะสิ้นปีที่แล้ว
มียอดเงินกู้ค้างในบัญชีเพียง 5.9 ล้านบาท

จากเงินฝากในบัญชี 15.7 ล้านบาท

รายรับจากดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้รวม 1.4 ล้านบาท
มีบางรายขอถอนเงินฝากไป 2 แสนบาท

จะไปซื้อรถยนต์ราคาร 2.4 แสนบาทให้ลูกสาว
ก็รีบให้ถอนไปเลยแล้วค่อยฝากใหม่วันหลัง

มีหมู่บ้านหลายแห่งในสงขลาที่มีปัญหา
คือ พอชาวบ้านตรวจสอบเงินที่ฝากในสัจจะออมทรัพย์
ตามที่ปรึกษาพัฒนาชุมชนปรากฎว่ามียอดเงินหายไปนับสิบล้านบาท

ข้อสรุปที่พูดคุยกันเบื้องต้นคือ
ในแต่ก่อนเงินจากสัจจะออมทรัพย์จะมาลงทุนได้ 3 อย่าง

1. เอาเงินฝากไปซื้อรถจักรยานยนต์ผ่อนส่ง
สมัยก่อนคันละ 25,000.-บาท ได้กำไรคันละ 5,000.-บาท
ไม่ต้องมีเงินดาวน์เหมือนกับการซื้อผ่อนส่งผู้ขายรถจักรยานยนต์ในสมัยก่อน
แต่ให้ชาวบ้านผ่อนรวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเดือนละ 800.-บาท
รวม 3 ปีเศษพอผ่อนหมดก็โอนกรรมสิทธิ์ให้ไป
ดอกเบี้ยที่ผ่อนก็จะมีปันผลจ่ายให้ตอนปลายปี
หรือดอกเบี้ยที่แต่ละคนจ่ายไป 2,000.-บาทต่อปี
มีปันผลคืนให้ร้อยละ 2.00 บาทเป็นต้น
แต่ต้องรอคิวมีเงินเหลือก็ไปซื้อสดมาผ่อนต่อ
ทำอยู่ได้ราว 10 คันก็ยุติโครงการ

เพราะเงินไม่พอกับคนมาขอกู้เงินส่วนหนึ่ง

(การซื้อแบบนี้ต้องมีเงินฝากค้ำเต็มวงเงิน

ถ้าไม่พอต้องมีคนค้ำประกันที่มีเงินฝากพอด้วย)

ต่อมาผู้ค้าจักรยานยนต์เข้ามาแข่งขันเอง
ในตลาดรถจักรยานยนต์ไม่ต้องรอคิวเหมือนชาวบ้าน
ธุรกิจเลยต้องยุติไปโดยปริยาย

2. นำเงินมาซื้อขายสินค้าในชุมชน
แต่เดิมสั่งเฉพาะสินค้าที่จำเป็น
มีคนไปสอบถามว่าต้องการ ข้าวสาร แฟ๊บ น้ำปลา น้ำมันพืช
โดยเริ่มถามร้านค้าในชุมชนก่อน
แล้วไปติดต่อกับยี่ปั้วในตลาดให้มาส่ง
โดยมาเก็บเงินที่กองทุน ฯ โดยตรง
ส่วนคนของกองทุน ฯ จะไปเก็บเงินจากร้านค้าในชุมชนอีกต่อหนึ่ง
แรกเริ่มก็กำไรดี ได้ส่วนลดจากยี่ปั้วมาก
เพราะมาส่งครั้งเดียวได้เป็นกอบเป็นกำ
และไม่ต้องปวดหัวในเรื่องการเก็บหนี้ตามหนี้

ต่อมากรรมการชาวบ้านคิดการใหญ่
ตั้งร้านค้าแบบสหกรณ์ในชุมชนขึ้นเอง
ต้องมีการจ้างคนขับรถยนต์ พนักงานขนส่งอีก 2 คน
ขายหมดทุกอย่าง ทั้งเข็มกลัด กระดาษ ปากกา ฯลฯ
ผลสุดท้ายภายในหนึ่งปี  สรุปว่าเท่าทุน
เพราะเงินจมในสินค้า  ค่าแรงงาน ค่ารถยนต์ ค่าน้ำมัน
เป็นรายจ่ายที่ต้องจ่ายไปไม่เกิดรายได้มากกว่ารายจ่ายมากนัก
รวมทั้งคนในชุมชนเข้าไปซื้อสินค้าในเมืองหมด
สิ้นปีจึงต้องเลิกกิจการไปในที่สุด
ดีที่ไม่ขาดทุนในเรื่องนี้

แต่โมเดลนี้มีการนำไปใช้ที่สัจจะออมทรัพย์แห่งหนึ่งในสงขลา
ให้ชาวบ้านสั่งสินค้าจำเป็นหลัก ๆ เช่น 
ข้าวสาร น้ำตาล น้ำปลา แฟ็บ น้ำมันพืช
ให้สั่งสินค้าก่อนจะมาฝากเงินและกู้เงินในวันเดียวกัน
ใครต้องการอะไรแจ้งล่วงหน้ากับหัวหน้ากลุ่มย่อยหนึ่งสัปดาห์
แล้วจะมาสรุปรวบรวมจำนวนไว้ล่วงหน้าหนึ่งวัน
ก่อนสั่งยี่ปั้วในเมืองให้มาส่งที่สำนักงานสัจจะออมทรัพย์
พร้อมกับรวมรวมเงินจากชาวบ้านชำระเงินตามราคาขายส่งให้
ได้ส่วนต่างกำไรเป็นเงินทุนหมุนเวียนกับปล่อยกู้ชาวบ้านต่อไป
โดยตั้งเป็นกองทุนอีกกองทุนให้กู้ยืมเงินมีเงินหมุนหลักล้านบาทในตอนนี้

เรื่องการลงทุนสินทรัพย์ประจำประเภทรถยนต์
มีธนาคารไทยแห่งหนึ่งหลังจากการขายหุ้นให้ต่างชาติเข้ามาบริหาร
สิ่งแรกที่ฝาหรั่งถามมีไว้ทำไม  ทำไมต้องมี  กำไรหรือขาดทุนจากการนี้
สรุปรวมทุกสาขาในประเทศไทยมีรถยนต์ที่ธนาคารเป็นเจ้าของ
รถยนต์ รถกะบะ รถตู้ ตามสาขาต่าง ๆ แล้ว 4,000 กว่าคัน
คิดเป็นราคาซื้อขายเฉลี่ยคันละ 700,000 บาท
เป็นเงินจมไปแล้ว 2,800,000,000 บาท แทนที่จะทำประโยชน์เรื่องอื่น
รองลงมาต้องจ้างพนักงานฝ่ายธุรการบริหารจัดการเรื่องรถยนต์อีก 40 คน
เงินเดือนเฉลี่ยคนละ 20,000 บาทหรือเดือนละ 800,000 บาท ปีละ 9,600,000 บาท
ต้องยุ่งกับการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี  ทำ พรบ. ประกันรถยนต์
เวลารถยนต์ธนาคารไปชนหรือถูกชน  ต้องรอซ่อมรอเคลม  วุ่นวายขายปลาช่อน
สรุป  ฝาหรั่งบอกเลิกให้หมด  ขายรถยนต์คืนบริษัท หรือพนักงานในราคาทุนหรือราคาถูก
แล้วทำสัญญาเช่าจากบริษัทภายนอกแทน  พร้อมกับแช่แข็งจำนวนรถยนต์ในสาขา
ให้แต่ละสาขามีรถยนต์ใช้ไม่เกิน 1 ค้น เว้นแต่สาขาขนาดใหญ่ก็ไม่เกิน 2 คัน
มีตัวเลขกำไรขึ้นมาทันที  ลดความวุ่นวายภายในไปมากทีเดียว

3. การหารายได้จากสัจจะออมทรัพย์มาจากเงินกู้
จะมีหลักการคือ การฝากเงินที่ตกลงว่าฝากเดือนละ 100 หรือ 1,000 บาททุก ๆ เดือน
ฝากน้อยกว่าก็ไม่ได้ มากกว่าก็ไม่รับโดยเด็ดขาด
ต้องรอปีหน้าจึงฝากได้ในอัตราเพิ่มหรือลด
การกู้เงินต้องไม่เกินยอดเงินฝาก 
ถ้าขอกู้เงินเกินต้องมีเงินฝากผู้อื่นค้ำประกันเต็มวงเงินกู้
สมมุติมีเงินฝาก 100,000 บาท ขอกู้เงิน 70,000 บาท ปล่อยกู้ได้เลย
แต่ถ้าขอกุ้เงิน 200,000 บาท เงินฝากตนเองค้ำ 100,000 บาทเต็มยอด
ต้องมีเงินฝากคนอื่นอีก 100,000 บาทค้ำเต็มยอดเช่นกัน จึงจะปล่อยกู้
หรือเท่ากับเอาเงินตนเองกู้เงินตนเอง 
หนี้เสียไม่มีจะใช้วิธีการหักกลบลบหนี้ไป

ดอกเบี้ยเงินกู้แต่เดิมจะคิดในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของยอดเงินกู้
หรือ 18% ต่อปี ชำระแบบชาวบ้าน คิดเลขแบบง่าย ๆ
เช่นกู้ 10,000 บาท เดือนแรกจ่ายดอกเบี้ย 150 บาท
(ร้อยละ 1.50 บาท พันละ 15 บาท หมื่นละ 150 บาท)
จ่ายเงินต้น 1,000 บาท เหลือเงินกู้ 9,000 บาท
เดือนถัดไปก็เป็น ดอกเบี้ย 135 บาท เงินต้น 1,000 บาท
(ไม่เอาจำนวนวัน 28,29,30,31 วันแบบธนาคารมาคิดดอกเบี้ย)
พอสิ้นปีก็เอาจำนวนดอกเบี้ยรับทั้งหมดมารวมไว้
แล้วไปนำยอดเงินฝากสัจจะออมทรัพย์ที่ไปฝากสหกรณ์ไว้
เพราะที่นี่ไม่ค่อยมีคนกู้เงินจนต้องบังคับแกมขอร้องให้คนฐานะดีกู้เงินซะบ้าง
เพราะเงินฝากมากกว่ายอดเงินกู้มาก  และบางคนไม่ยอมค้ำประกันเงินกู้ให้ใครด้วย

หมายเหตุ
ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1.25 ต่อเดือนหรือ 15% ต่อปี
แม้ว่าจะเป็นการกู้ภายในชาวบ้านและชาวบ้านยินยอม
แต่ไม่อยากผิดกฎหมายบ้านเมือง และควรเป็นตัวอย่างที่ดี

สัจจะออมทรัพย์กลุ่มชาวบ้านจะทำกันง่ายมาก

มีการออมเงินกับกู้เงินภายในวันเดียวกัน
ใช้เวลาทุกเย็นวันที่ 5 ของแต่ละเดือน

ไม่เกิน  3  ชั่วโมงก็แล้วเสร็จสรุปยอดฝาก/ยอดกู้ได้เลย
เพราะทุกคนต่างรู้หน้าที่มาฝากมาถอนตั้งแต่ 5 โมงเย็น
ณ ที่ทำการชั่วคราวของกองทุนดังกล่าว
ไม่เกิน 3 ทุ่มก็แล้วเสร็จแล้ว (มีขาประจำที่ต้องตามต้องเตือนอยู่ไม่เกิน 3 รายใน 400 คน)

เพราะคนกู้เงินจะแจ้งล่วงหน้าก่อน
และมีค่าทำสัญญากู้เงินฉบับละ 30 บาท
เก็บไว้จ่ายเป็นค่ารักษาความปลอดภัยวันละ 200 บาท
ทำไม่เกิน 3 ชั่วโมงก็กลับบ้านได้แล้ว

แกเป็นคนบ้านคลองหวะเป็นยามที่ธนาคารชาติด้วย
เงินเหลือจากค่าทำสัญญาก็เก็บไว้คราวต่อไป

หลังจากนำยอดดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารมารวมกัน
หักค่าใช้จ่ายภายในก่อน มีเงินตอบแทนกรรมการปีละ 90,000 บาท
ประธาน 6,000 บาท กรรมการ 4,500 บาท(10 คน)
คนทำบัญชี 5,500 บาท ผู้ตรวจสอบบัญชี 7,000 บาท
ค่าเลี้ยงรับรองปีละ 2,000 บาท
ยังมีสวัสดิการภายในคือ
ค่าทุนการศึกษาบุตรรายละ 2,000 บาท
จ่ายน้อยลงเพราะตอนนี้สมาชิกส่วนใหญ่ลูก ๆ จบการศึกษาทำงานกันแล้ว

ค่างานศพคนตายศพละ 1,000 บาท

ลูกหลานคนตายไม่มีใครอยากใช้เงินก้อนนี้มากนัก
ค่าช่วยคนป่วยปีละ 500 บาทไม่เกิน 1 ครั้ง
เงินส่วนนี้ส่วนหนึ่งมาจากการตั้งกองทุนสมทบไว้ 1 ล้านบาท

ดอกเบี้ยจากเงินกู้นี้นำดอกเบี้ยเป็นสวัสดิการข้างต้นด้วย

เช่น คนป่วยปีละไม่เกิน 1 ครั้ง ๆ ละ 500 บาท
(จริง ๆ คนไม่ป่วยน่าจะให้มากกว่า 
สุขภาพใครสุขภาพตนเองควรดูแลกันเอง)

เงินเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายจึงจะนำมาปันผล
ที่ผ่านมาเฉลี่ยเงินฝากคืนร้อยละ 7 ของยอดเงินฝาก
ทุกคนต้องมีเงินฝากทุกเดือน (กู้ส่วนกู้ ฝากส่วนฝาก
)
ปีที่ผ่านมามีการเฉลี่ยคืนเงินฝาก 1.3 ล้านบาท
เงินกู้มีการคืนให้ร้อยะ 2 ของยอดเงินกู้ยอด
เฉลี่ยคืนเงินให้คนกู้เงินรวม 2 หมื่น 6 พันบาท


ปัญหาที่เกิดขึ้นในสัจจะออมทรัพย์บางแห่งในสงขลา
มีสมาชิกนับเป็นพันคนในสัจจะออมทรัพย์บางกลุ่ม เช่น  คลองเปรี๊ยะ นาหว้า
แต่ตัวอย่างที่ยกมาไม่มีปัญหาการบริหารจัดการ
เป็นกลุ่มตัวอย่าง/แกนนำในเรื่องสัจจะออมทรัพย์
กลุ่มที่มีปัญหาชาวบ้านโวยวายกันว่า
เงินหายไปไหนจากเงินฝากที่ควรมีเป็นสิบล้านบาทแล้ว
กลุ่มชาวบ้านบางแห่งประกาศปันผลร้อยละ 12 ของเงินฝาก
แต่ลืมคิดถึงรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ ก่อนหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

ดังนั้นเรื่องที่เกิดขึ้นคือ
วันประกาศปันผลเงินฝากสัจจะออมทรัพย์ร้อยละ 12
กลายเป็นวันหยุดโลกหรือหยุดเงินหรือวันเงินหาย
เพราะกลายเป็นว่ากู้ส่วนกู้ ฝากส่วนฝาก
สมมุติวันนั้นมียอดเงินฝากรวมทั้งปี 10 ล้านบาท
ต้องจ่ายเงินปันผล 1,200,000 บาท
หรือเรียกว่ากินจากเงินทุนที่ชาวบ้านฝากเอง
ไหนจะต้องจ่ายค่าตอบแทนกรรมการ  
จ่ายคืนเงินกู้ที่ผ่อนส่งอีกจำนวนหนึ่ง
หรือเรียกว่า 10 ปี 12 ล้านบาทเรื่องธรรมดา

มีสัจจะออมทรัพย์แห่งประกาศจะจ่าย 12% ต่อปี
แต่เมื่อมีการอธิบายถึงหลักการที่ประสบความสำเร็จ
ต้องรวมดอกเบี้ยกู้ เงินฝาก หัก ค่าใช้จ่าย
เหลือสุทธิเท่าไรจึงจะจ่ายปันผล
แน่นอนต้องน้อยกว่าร้อยละ 12 อยู่แล้ว
ชาวบ้านที่เข้าใจเรื่องนี้จึงยุติการจ่ายปันผล 12% ต่อปี
แต่จะจ่ายเงินตามผลประกอบการในแต่ละปี

เขียนขึ้นจากความทรงจำร่วมกัน
ก่อนที่จะลืมเลือนหายไปเหมือนธนบัตรรุ่นเก่า ๆ


หมายเหตุ  เรื่องเล่าในตำนานประเทศสารขัณฑ์

เงินฝากสร้างเงินกู้  เงินกู้สร้างเงินฝาก

กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว
มีอดีตเจ้าของธนาคารใหญ่รายหนึ่ง
ธุรกิจเกิดล้มละลายต้องหนีไปตั้งหลักอยู่ที่ลาว
ต่อมากลับมาเคลียร์หนี้สินได้แล้ว
เลยระดมทุนกับพรรคพวกตั้งตัวเป็นนายธนาคาร
แล้วเรียกพรรคพวกเพื่อนฝูงเก่าแก่
ที่เคยช่วยเหลือตอนแกล้มละลาย
ให้มาทำงานกับแกที่ธนาคารแห่งนั้น
แม้เพื่อนบางคนบอกทำงานไม่เป็น
บางคนบอกไม่รู้หนังสืออะไรเลย
แกบอกไม่เป็นไรมานั่งเฉย ๆ ในห้องนี้
ดื่มน้ำชา อ่านหนังสือพิมพ์ นั่งคุยกัน
แล้วอั้วจะจ่ายตังค์ให้ ตอบแทนที่ลื้อเคยช่วยเหลืออั้ว
แต่ที่แกได้กลับมามากมายคือ
ภาพลักษณ์คนกตัญญูรู้คุณคน
ซึ่งเป็นคติธรรมที่คนจีนชอบ ๆ จริง ๆ (แบบขนมปักกิ่ง)
ทำให้ธนาคารของแกขยายกิจการใหญ่โตไปอีก

ต่อมาแกไปทับเส้นนายทหารใหญ่รายหนึ่ง
ที่ต่อมาก่อการรัฐประหารจนได้เป็นอัครเสนาบดี
เลยทำให้แกต้องหนีไปอยู่ที่ฮ่องกง
แล้วจ่ายเงิน/ค่าคุ้มครองให้ลูกน้องนายทหารใหญ่คนนั้น
มานั่งเป็นประธานกรรมการธนาคาร
พร้อมกับจ้างลูกจีนเกิดในไทยจบบัญชีจากธรรมศาสตร์
มีชื่อเชย ๆ แบบหนังไทยที่มาฉายที่ประเทศสารขัณฑ์ว่า บุญชู

บุญชูมาเป็นกรรมการผู้จัดการแทนแกตอนลี้ภัย
นักบัญชีเลยเริ่มขยายกิจการใหญ่
ด้วยสมการบัญชี เดบิต = เครดิต
การให้ลูกค้าฝากเงินแล้วนำเงินฝากมาค้ำเงินกู้
พร้อมกับปล่อย Clean เกินวงเงินเพิ่มให้อีก
เป็นน้ำจิ้มแถมให้เพื่อให้มาฝากเงินเพิ่มอีกมาก ๆ
สินเชื่อเลยขยายตัวไปมาก
พอบางรายก็ให้กู้เงินก่อนโดยใช้หลักทรัพย์จำนอง
แล้วให้นำมาฝากเงินก้อนหนึ่ง
แล้วนำเงินฝากมาค้ำประกันเงินกู้
ปล่อยกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชี
ด้วยการนี้ทำให้ยอดเงินฝาก ยอดสินเชื่อ
ของธนาคารแห่งนี้เติบโตเร็วมากจนขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง

หมายเหตุ
ธนาคารแห่งนี้จะมีระบบล้างไพ่บัญชีเกินวงเงิน
หรือการปล่อย clean ในทุกสิ้นครึ่งปี ปลายปี
ก่อนปิดงบการเงินของธนาคารในสมัยก่อนนั้น
โดยลูกค้าต้องนำเงินมาปิดยอดหนี้ที่เกินวงเงินหรือ clean
เป็นการวัดกำลังภายในลูกค้าและทำยอดให้สมดุล
กับหลักกฎหมายเรื่องบัญชีเดินสะพัดที่ยอดหนี้
ของผู้ค้าทั้งสองฝ่ายต้องสมดุลกันหรือเป็นศูนย์
แบบการค้าที่จ่ายเงินกันไม่เป็นหนี้กันแล้ว

ทำให้ในช่วงก่อนมิถุนายน ธันวาคม ของทุกปี
ลูกหนี้ธนาคารแห่งนี้ต้องวิ่งกันวุ่น
หายืมเงินกันหรือตั้งวงแชร์ไปปิดยอดหนี้ที่เกิน
เป็นวัฏจักรวงจรอุบาทว์ทุกปียาวนานมาตลอด
บางปีธนาคารได้เงินกลับมาแล้วไม่ปล่อย clean
ทำให้ลูกหนี้บางรายเช็คเด้ง ธุรกิจเสียหายไร้เครดิต
เสียผู้เสียคนเพราะเช็คเด้งไม่มีเงินจ่ายค่าแชร์กับผู้ค้า
ถูกฟ้องร้องคดีอาญาต้องหนีกันหัวซุกหัวซุนไปตั้งหลักกันก่อน
เพราะธุรกิจบางคนโตด้วยหนี้/เงินยืมจากคนอื่น
มากกว่าเติบโตด้วยกำไรหรือเงินออมของตนเอง

วัฏจักรวงจรอุบาทว์นำจำนวนเงินหนี้เก่าพร้อมดอกเบี้ย
ไปปิดบัญชีหนี้เก่าก่อนจึงจะปล่อยหนี้ก้อนใหม่
ตามนโยบายของธนาคารเพื่อชาวนาแห่งหนึ่ง
ทั้ง ๆ ที่ลูกหนี้เกษตรหลายรายไม่มีปัญญาหรือความสามารถ
ทำให้เกิดการกู้ยืมหนี้นอกระบบขึ้นมากมาย
บางรายต้องไปกู้ยืมจากนักการเมืองรายใหญ่
ทำให้ต้องเป็นลูกหนี้ติดหนี้บุญคุณกันอีก
เวลาเลือกตั้งจึงต้องลงคะแนนเสียงให้แก
หรือเครือญาติลูกหลานเพื่อนแกทุกครั้ง
จนได้เป็น สส.ผูกขาดของจังหวัด

แต่พอมายุคที่มีอัครเสนาบดีชื่อภาคใต้แต่เกิดภาคเหนือ
หาเสียงเลือกตั้งชูสโลแกน พักหนี้ชาวนา 3 ปี
พอแกได้เป็นแกทำจริงทั้งบีบทั้งสั่งทั้งบังคับ
ให้ธนาคารชาวนาทำตามที่แกหาเสียงไว้
ใครไม่ทำไล่มันออกถีบไปไกล ๆ ตัว
ผลที่ได้คือ ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ส่วนหนึ่ง
ทำลายวงจรอุบาทว์และฐานเสียงนักการเมืองได้
หนี้บุญคุณชาวนาเทกลับมาที่พรรคของอัครเสนาบดี
ทำให้อดีตนักการเมืองที่เคยปล่อยกู้ชาวนา
ต้องสูญเสียเก้าอี้ สส. ไปตลอดกาลเลย

ต่อมานายธนาคารแกกลับประเทศสารขัณฑ์ได้
มานั่งเป็นประธานกรรมการธนาคารแล้ว
หลังจากพวกทหารเก๊กเหม็ง(รัฐประหาร)
อยากมาเป็นพวกประชาธิปไตยแล้ว
แกเลยดันลูกชายคนโตแกเข้ามาทำงานธนาคาร
ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่
เพื่อเรียนรู้ดูงานรอสืบทอดทายาทธุรกิจ
วันนั้นกรรมการผู้จัดการใหญ่เจอกับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่
เสือพบสิงห์ในลิฟท์ธนาคารขึ้นไปที่ทำงาน
บุญชูเลยแซวว่า  ใครดีใครได้  ของแบบนี้ต้องวัดกำลังกันก่อน

ไม่นานนักคติว่า เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ ครี่ย่อมดีกว่าไส้
สั่งสมสมบัติเพื่อตนเองกับเพื่อลูกเพิ่อหลาน
การฆ่ากันในยุทธจักรทุนนิยมจึงโหดเหี้ยมนัก
เช็คของกรรมการผู้จัดการยอดเงิน 8 แสนบาทเด้งดึ๋งดั๋ง
ภาพลักษณ์ชื่อเสียงล้มมลายดับสลายไปพริบตา
คนระดับกรรมการผู้จัดการธนาคาร
จ่ายเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชี
ทั้งยังเป็นกรรมการของธนาคาร
จึงเป็นข่าวดังข่าวลือกระฉ่อนไปทั่วประเทศ
และข้ามไปไกลถึงต่างแดนดินทั่วโลก
เพราะตัวอย่างลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามธนาคาร
สมัยก่อนต้องพิมพ์แจกทุกธนาคารใตประเทศ
กับต่างประเทศที่มีการทำการค้าเปิด L/C กัน

ความละอายครั้งนี้แม้ไม่ฆ่าตัวตายก็ต้องลาออก
ลูกชายเจ้าของธนาคารจึงได้ขึ้นครองอำนาจ
และเริ่มเข้ามาล้างบางยอดเงินกู้ที่สร้างเงินฝาก
ทำให้ยอดเงินหายไปจากระบบ
ในธนาคารร่วม ๆ หลายหมื่นล้านบาท
แต่ก็ไม่ทำให้ขนาดเงินฝากเงินกู้ธนาคารเล็กลง
เพราะมีการปั้มให้โตไปล่วงหน้ามากกว่าธนาคารอื่นแล้ว

มีกติกาและกฎระเบียบว่า การใช้เงินกู้สร้างเงินฝาก
บางแห่งใช้คำว่า สินเชื่อสร้างเงินฝาก
ถ้าธนาคารชาติตรวจสอบพบ
จะมีโทษปรับคิดเป็นครั้งละ หนึ่งแสนบาท
สาขาธนาคารไหนทำ ผู้จัดการสาขาต้องชดใช้เอง

เงินฝากสร้างเงินกู้
เคยมีเรื่องที่สาขาธนาคารแห่งหนึ่งแถวป่าตอง
ลูกค้ารายหนึ่งขายที่ดินได้ 100 กว่าล้านบาท
นำเงินมาฝากกับสาขาธนาคาร
ต่อมาอยากหมุนเงินทำธุรกิจขนส่ง
เลยนำเงินฝากมาค้ำเงินกู้ที่ธนาคารก็ได้เงินกู้ 100 ล้านบาท
พร้อมกับปล่อยเกินวงเงิน O/D ไปบางส่วน
ปีวิกฤติหายนะมาเยือนประเทศสารขัณฑ์ 2540
ธูรกิจซวนเซล้มละลายไปหลายแห่ง
เจ้าของเงินฝากและเงินกู้รายนี้ก็ไปไม่รอด
สุดท้ายธนาคารต้องนำเงินฝากมาลบหนี้เงินกู้
ยังมีเงินคงค้างเป็นหนี้เสียที่ปล่อยเกินไปอีกร่วม 10 ล้านบาท
สรุป หายจ๋อยไป 2 ด้านคือ เงินฝาก 100 ล้านบาท เงินกู้ 100 ล้านบาท
ทำให้พนักงานสาขากับผู้จัดการสาขา
ต้องระดมกันหาเงินฝากและสินเชื่อกันหืดขึ้นคอ
และเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีไว้เตือนใจสาขาอื่น ๆ
เวลาประชุมคราใดหรืออบรมคราใด
จะถูกยกเป็น case study ทุกครั้ง




 

Create Date : 16 มกราคม 2558
0 comments
Last Update : 1 มีนาคม 2559 21:02:23 น.
Counter : 2578 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ravio
Location :
สงขลา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 32 คน [?]




เกิดหาดใหญ่ วัยเด็กเรียนหนังสือโรงเรียน Catholic คณะ Salesian มีนักบุญประจำโรงเรียน Saint Bosco, Saint Savio ชอบอ่านหนังสือ godfather เกี่ยวกับ Mafio ของพวกซิซีเลียน เคยเล่นเกมส์ Mario แล้วได้คะแนนนำเลยนำสระโอมาต่อท้ายชื่อเป็น Ravio ได้กลิ่นอายแบบ Italino เคยเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนวิชาชีพทำมาหากิน แต่ไม่ใช่วิชาที่ชื่นชอบมากนัก เรียนอยู่กว่าเจ็ดปี ต้องกลับมาทำงานเป็นกรรมกรที่บ้านเกิด จนเริ่มเกิดความหลงรักชีวิตบ้านนอก และวิถีชิวิตชุมชนท้องถิ่นที่ตนอยู่และไปร่วมวงเสวนา

เกิดเดือนมีนาคม แต่ลัคนาราศรีตุลย์ ชอบไปทุกเรื่อง สุดท้ายทำอะไรที่ได้เรื่องไม่กี่เรื่อง แต่ส่วนมากมักไม่ได้เรื่อง

ชอบขับรถยนต์ท่องเที่ยวชมภูเขา ป่าไม้ น้ำตก แต่ไม่ชอบทะเลหรือชายหาด เพราะรู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว เมื่อคิดถึงชีวิตตนเองที่มาเปรียบเทียบกับสองสิ่งสองอย่างนี้ รู้สึกว่ามนุษย์เป็นเพียงชีวิตที่เล็กน้อยมากที่มาอยู่อาศัยในโลกใบนี้

ชอบอ่านหนังสือ ท่องเที่ยวใน Internet ชอบเดินทางท่องเที่ยวแถว ในละแวกท้องถิ่นบ้านเกิด นาน ๆ ครั้งจะขึ้นไปเยี่ยมเพื่อนที่กรุงเทพฯ หรือไปหาซื้อหนังสือแถวสยามสแควร์ ถิ่นเก่าที่อยู่และที่เรียน






Friends' blogs
[Add ravio's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.