มกราคม 2558

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
All Blog
การบ้านเขียนสารคดี
 วันนี้ไปลงคอร์สอบรมนัก (อยาก) เขียนมา และได้รับการบ้านมาให้เขียนสารคดีเกี่ยวกับคำ ก็อย่ากระนั้นเลย เขียนการบ้านมันใน blog นี่แหละ จะได้รู้สึกเหมือนนั่งเขียนบล็อกเล่นมากกว่าทำการบ้าน

================================

กริยาของการใส่ของเข้าปาก

"คำว่า 'กิน' กับ 'ดื่ม' ใช้ในภาษาไทยยังไง?"

ครั้งหนึ่ง เพื่อนต่างชาติเคยถามคำถามนี้ขึ้นมา แน่นอนว่าฉันตอบอย่างรวดเร็วว่า

"'กิน' ใช้กับอาหาร ส่วน 'ดื่ม' ใช้กับพวกน้ำไงล่ะ" ฉันค่อนข้างมั่นใจว่าคนไทยหลายคนที่อธิบายสองคำนี้เช่นเดียวกัน

"เฮ้! แต่ฉันเห็นคนไทยพูดว่า "กินน้ำ" นี่ สรุปว่าคนไทยใช้ยังไงกันแน่"

นั่นเป็นที่มาของอาการ 'ใบ้กิน' และคำถามนี้ทำให้นึกไปถึงใบหน้าของเพื่อนชาวลาตินอเมริกันซึ่งครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนเคยได้ยินคำถามลักษณะนี้จากฉัน

"ระหว่าง "tomar กับ "beber" ใช้ต่างกันยังไง"

ตอนนี้หน้าตาของฉันกับเพื่อนชาวลาตินคนนั้นคงไม่ต่างกันสักเท่าไรมั้ง เรื่องของเรื่องคือ ในภาษาสเปน "tomar" แปลตามภาษาอังกฤษคือ "to take" ซึ่งมีคำแปลจับฉ่ายมาก หนึ่งในนั้นก็คือ แปลว่า "กิน" ก็ได้ แปลว่า "ดื่ม" ก็ได้ แต่ในขณะเดียวกัน "beber" แปลว่าดื่มเท่านั้น ดังนั้นทั้งสองคำที่ฉันถามเพื่อนต่างแปลว่าดื่ม แล้วใช้ต่างกันยังไง

ใช่ว่าฉันไม่ทำการบ้านนะ ฉันพยายามจะอ่านคำแปลตามพจนานุกรมรวมไปถึงตัวอย่างการใช้แล้ว แต่ฉันก็ยังไม่เห็นความต่างเท่าไรนักกับคำสองคำนี้ ดังนั้นฉันจึงเชื่อว่าเพื่อนชาวต่างชาติของฉันคนนี้คงทำการบ้านมาแล้วเช่นกันก่อนจะมาถามเจ้าของภาษาอย่างฉัน

และช่างเป็นคำถามชวนหนักใจทีเดียวเพราะความหมายอย่างเป็นทางการในพจนานุกรมกับการใช้จริงมันไม่เหมือนกัน เรามาพูดถึงความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ กันก่อนเลยดีกว่า 


กิน ก. เคี้ยว เช่น กินหมาก, เคี้ยวกลืน เช่น กินข้าว, ดื่ม เช่น กินน้ำ,
ทําให้ล่วงลําคอลงไปสู่กระเพาะ; โดยปริยายหมายความว่า
เปลือง เช่น กินเงิน กินเวลา, ทําให้หมดเปลือง เช่น รถกินน้ำมัน
หลอดไฟชนิดนี้กินไฟมาก; รับเอา เช่น กินสินบน, หารายได้
โดยไม่สุจริต เช่น กินจอบกินเสียม; ชนะในการพนันบางอย่าง.

ดื่ม ก. กินของเหลวเช่นนํ้า.


ที่จริงมันในพจนานุกรมนับว่าครอบคลุมในระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้ามาเขียนเสียใหม่ให้เข้าใจได้ง่ายกว่าเดิม ก่อนอื่นเลยตามความหมายมันน่าจะแปลว่าแบบนี้ (ในความหมายเรื่องการโยนของเข้าปากเท่านั้น)

กิน = นำอะไรก็ตามใส่ทางปาก มีลักษณะกลืนลงสู่ลำคอ เช่น อาหาร และเครื่องดื่ม ยกเว้นการใช้กับคำว่า ‘หมาก’ ที่หมายถึงการเคี้ยวเท่านั้น ไม่กลืนลงลำคอ

ดื่ม = กินของเหลว

เท่านี้ครอบคลุมแล้วหรือ?

วิธีที่ฉันจะใช้คือการนำภาษาต่างประเทศที่มีบัญญัติเพื่อเรียกการกระทำแบบเดียวกันมาเปรียบเทียบ น่าจะช่วยให้เราสามารถเห็นการใช้คำสองคำนี้ในภาษาไทยได้ชัดเจนมากขึ้น และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ แม้แต่ภาษาต่างประเทศบางภาษา การใช้สองคำนี้ก็เป็นประเด็นถกเถียงสำหรับพวกเขาเช่นกัน

อย่างกรณีภาษาอังกฤษในเรื่องของการใช้คำว่า "eat" (กิน) และ "drink" (ดื่ม)

ที่จริงภาษาอังกฤษแบ่งแยกได้ชัดเจนกว่าภาษาไทยนิดหนึ่งนั่นคือ "eat" เขาจะใช้กับอาหาร และ "drink" ใช้กับเครื่องดื่มไปเลย แตกต่างจากภาษาไทยที่ ‘กิน’ สามารถใช้กับเครื่องดื่มได้ แต่ประเด็นที่กลายเป็นที่ถกเถียงกันในภาษาอังกฤษนั่นคือ แล้วอาหารที่เป็นของเหลว เช่น ซุปล่ะ ควรใช้คำว่า "eat" หรือ "drink" ดี 

ประเด็นนี้ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษเท่านั้น ยังมีภาษาอื่นอีก เช่น ภาษาฝรั่งเศสก็ประสบกับปัญหานี้เช่นกันว่าควรจะใช้คำว่า "manger" (กิน) ดี หรือจะใช้คำว่า "boire" (ดื่ม) ซุปดี ซึ่งบ้างก็อ้างว่าขึ้นอยู่กับภาชนะที่ใส่ หากเป็นจานก็จะใช้คำว่ากิน ถ้าเป็นถ้วยจะใช้คำว่าดื่ม แต่บางคนก็แย้งว่า มันสามารถใช้ได้ทั้งสองคำ

แต่เรื่องนี้ให้คนที่ใช้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเขาไปปวดหัวกันเองแล้วกัน เราย้อนกลับมาดูที่ภาษาไทยกันดีกว่า ในกรณีนี้เห็นชัดเจนอยู่ทีเดียวว่าคนไทยเราจะพูดว่า "กินซุป" หรือ "กินแกง" แต่จะไม่ใช้คำว่า "ดื่มซุป" หรือ "ดื่มแกง" ซึ่งซุปและแกงต่างเป็นของเหลวเสียด้วย เพราะฉะนั้น เราได้ตัวแปรที่ให้ความกระจ่างเพิ่มขึ้นในคำอธิบายของเราแล้วว่า


กิน = นำอะไรก็ตามใส่ทางปาก มีลักษณะกลืนลงสู่ลำคอ เช่น อาหาร และเครื่องดื่ม ยกเว้นการใช้กับคำว่า ‘หมาก’ ที่หมายถึงการเคี้ยวเท่านั้น ไม่กลืนลงลำคอ

ดื่ม = กินของเหลว เครื่องดื่ม

เท่านี้หมดแล้วหรือสำหรับการใช้งานจริงของสองคำนี้?  ฉันได้แต่คิดถึงความเป็นไปได้เรื่อยๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละภาษาที่จะสามารถเชื่อมโยงมาถึงคำภาษาไทย จนกระทั่งนึกขึ้นมาได้อีกอย่าง บางสิ่งที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มแต่เราต้องใส่มันเข้าปากแล้วกลืนในบางเวลา

ยานั่นเอง

ยามีวิธีใช้หลายอย่างในการรักษา หนึ่งในนั้นคือการโยนมันเข้าปากเหมือนกัน สำหรับภาษาอังกฤษ ภาษาสเปนและภาษาฝรั่งเศส ใช้แยกออกจากคำว่ากินและดื่มชัดเจน นั่นคือใช้กริยา "to take" "tomar" และ "prendre" ตามลำดับ ทั้ง 3 ภาษานั้นจึงรอดตัวไป ภาษาที่หยิบยกมาพิจารณาจึงเป็นภาษาจีนซึ่งคำว่า “吃” (กิน) และคำว่า “喝” (ดื่ม) ค่อนข้างชัดเจน ทั้งสองคำต่างใช้กับยาได้ทั้งคู่ แต่แยกประเภทกันอย่างชัดเจนว่า “吃” (กิน) จะใช้กับยาที่สถานะเป็นของแข็ง ส่วน “喝” (ดื่ม) จะใช้กับยาที่สถานะเป็นของเหลว ดังนั้นหากอ่านบทความภาษาจีนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก มักจะพบคำว่า “喝” (ดื่ม) ค่อนข้างบ่อยเพราะใช้ยาน้ำกับเด็กๆ อยู่

แล้วเด็กที่เมืองไทย “กิน” ยา หรือ “ดื่ม” ยา ล่ะ

หลังจากเปิด Google โดยเลือกจากกระทู้ที่คนเขียนใช้ภาษาพูดตามความเคยชินของตนเอง ส่วนมากจะใช้คำว่า “กิน” ยากันแม้ว่ายานั้นจะอยู่ในรูปแบบของของเหลวก็ตาม 


กิน = นำอะไรก็ตามใส่ทางปาก มีลักษณะกลืนลงสู่ลำคอ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และยา ยกเว้นการใช้กับคำว่า ‘หมาก’ ที่หมายถึงการเคี้ยวเท่านั้น ไม่กลืนลงลำคอ

ดื่ม = กินของเหลว เครื่องดื่ม

นอกจากคำอธิบายเหล่านี้ ฉันยังพบสิ่งที่น่าสนใจกับคำว่า “ดื่ม” อีก และเป็นลักษณะพิเศษที่แม้แต่คำว่า “กิน” ก็ไม่มี

ตามปกติ “ดื่ม” จะใช้เป็นสกรรมกริยา (กริยาที่ต้องการกรรม) แต่เมื่อไรที่เราใช้คำว่า “ดื่ม” เป็นอกรรมกริยา (กริยาที่ไม่ต้องการกรรม) เมื่อนั้น ความหมายเป็นนัยของคำว่า “ดื่ม” จะหมายถึงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปทันที เช่น

‘คืนนี้เราไปดื่มกัน’

คำว่า “ดื่ม” ตามตัวอย่างไม่มีกรรมต่อท้าย แต่ผู้ฟังจะรู้ทันทีว่าเป็นคำชักชวนที่หมายถึงไปในสถานที่ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริการ

ย้อนกลับมาที่การใช้คำว่า “กิน” และ “ดื่ม” ในคำอธิบายกันอีกรอบหนึ่ง

กิน = (สก. และ อก.) นำอะไรก็ตามใส่ทางปาก มีลักษณะกลืนลงสู่ลำคอ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และยา ยกเว้นการใช้กับคำว่า ‘หมาก’ ที่หมายถึงการเคี้ยวเท่านั้น ไม่กลืนลงลำคอ

ดื่ม = (สก.) กินของเหลว เครื่องดื่ม, (อก.)การกินเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การใช้คำว่า "กิน" และ "ดื่ม" ที่ลองเขียนขึ้นเพื่ออธิบายการใช้ทั้งสองคำนี้ในภาษาไทยน่าจะครอบคลุมเพียงพอแล้ว แต่แน่นอนว่าเพื่อนชาวต่างชาติไม่มารอให้ฉันมานั่งเขียนสมการเหล่านี้ให้ดูหรอก มันเสียเวลาเกินไป สุดท้ายเขาก็เลือกใช้คำว่า “กิน” กับของเหลวตามที่เคยได้ยินมา เหมือนกับที่ฉันชอบใช้คำว่า “tomar” แทนคำว่า “beber” ในภาษาสเปนซึ่งเป็นคำที่คนท้องถิ่นใช้กันจริงๆ

ภาษาคือวิถีชีวิตของมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ภาษาย่อมเปลี่ยนไปตามนั้นเช่นกัน บางทีเพราะการกินและการดื่มเป็นกิจกรรมหลักของมนุษย์ เป็นไปได้ว่าความเปลี่ยนแปลงของการใช้คำเกิดขึ้นเพื่อความสะดวกกับคนใช้ ฉะนั้น เมื่อฉันลองพิจารณาการอนุมานในความหมายและการใช้ของคำว่า “กิน” และ “ดื่ม” ในสมการข้างต้นแล้ว ดูเหมือนว่าแค่เราใช้คำว่า "กิน" คำเดียว ก็สามารถหมายรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เราใส่เข้าปากและกลืน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม ยา ของแข็งหรือของเหลวอยู่แล้วไม่ใช่หรือ

 พูดง่ายๆ แค่ใช้คำว่า "กิน" ก็ครอบคลุมทุกครอบคลุมจักรวาลที่สามารถใส่ลงไปในท้องของมนุษย์แล้ว 

ถึงแม้ว่าเราจะยังมีคำว่า "ดื่ม" ใช้กันอยู่บ้าง แต่มีความเป็นไปได้สูงทีเดียวที่จะลดน้อยถอยลงไป เราอาจไม่ได้ใช้คำว่า "ดื่ม" ในภาษาพูดอีกต่อไปในอนาคต และสุดท้ายคำนี้จะปรากฏแค่เพียงในพจนานุกรมเท่านั้น หรือไม่บางทีคำว่า “ดื่ม” อาจจะยังใช้ต่อไปจนแม้แต่ฉันแก่ตัวลง ก็ยังพบคนใช้คำว่า “ดื่ม” อยู่อีกก็เป็นได้

กริยาของการใส่ของเข้าปากในภาษาไทย มันน่าสนใจตรงนี้นี่แหละ

==========================

ไม่ค่อยได้เขียนสารคดี แต่ถือว่าทำการบ้านเสร็จแล้วละกันนะ ^^"



Create Date : 10 มกราคม 2558
Last Update : 17 มกราคม 2558 21:27:49 น.
Counter : 1222 Pageviews.

3 comments
  

มาเยี่ยมชม มาทักทาย

มาตามอ่านครับ

อิอิ

โดย: อาคุงกล่อง วันที่: 10 มกราคม 2558 เวลา:22:08:11 น.
  
ขอบคุณมากๆค่ะ
ได้ความรู้เยอะเลยค่ะ
โดย: lovereason วันที่: 11 มกราคม 2558 เวลา:20:18:00 น.
  
คุณอาคุงกล่อง -- ขอบคุณที่เข้ามาทักทายค่า

คุณ lovereason -- ขอบคุณที่มาเยี่ยมกันนะคะ หนิงไม่ค่อยได้หยิบนู่นนั่นนี่มาโยงเท่าไร เป็นการบ้านที่ให้ประสบการณ์การเขียนที่ดีค่ะ
โดย: peiNing วันที่: 17 มกราคม 2558 เวลา:21:29:33 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

peiNing
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]



เป็นเด็กกรุงเทพแท้ๆ แต่อยู่บ้านนอกของกรุงเทพน่ะนะ ไม่ได้ชอบอะไรเป็นพิเศษนอกจากแกล้งสัตว์เลี้ยงที่บ้าน นั่นคือนกฮู้ผู้มีอายุ 10 ปีได้ (นกแก่มีหนวด) (แต่ตอนนี้ในที่สุดนกฮู้ก็จากไปอย่างสงบ ไม่รู้อายุรวมเท่าไรแต่มาอยู่ที่บ้านได้ 11 ปี ขอไว้อาลัยปู่ฮู้ ขอให้ไปสู่สุขคตินะ T^T)

ขอชี้แจงอีกอย่าง ชื่อ peiNing นี้ เป็นชื่อที่พี่กะน้องใช้ร่วมกันสองคน ดังนั้นอย่างงว่าเดี๋ยวก็แทนตัวว่ารุ้งบ้างหนิงบ้าง ก็มันคนละคนนิ (รุ้งน่ะคนพี่ หนิงน่ะคนน้อง)

FB สำหรับคนชอบงานเขียน peiNing ค่ะ

FB สำหรับคนชอบบทความสอนห้องเรียนนิยายค่ะ

  •  Bloggang.com