บริษัท ฟาร์มาคอสเม็ท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวจากธรรมชาติที ทรี ร่วมกับ มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) (FEED) และ ทรูมิวสิค เดินหน้าต่อยอดกิจกรรมดีๆ โครงการ Tea Tree Heart ปี 2 ซึ่งเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังทัศนคติรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ซึ่งจะส่งผลให้การดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตจิตใจ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่พร้อมลงมือปฏิบัติตลอดเวลาไม่ว่าอยู่ที่ไหนเวลาใด
โครงการนี้ได้เริ่มต้นเมื่อปีที่แล้วเป็นปีแรก โดยได้จัดทริปพลิกฟื้นชีวิตธรรมชาติในประเทศ 3 ทริป คือ ทริปสร้างบ้านให้สิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ด้วยการปลูกปะการังเทียม ที่ สัตหีบ จ.ชลบุรี ทริปทำฝายชะลอน้ำตามรอยพ่อ ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทริปเรียนรู้และสัมผัสความเป็นอยู่ของธรรมชาติ เข้าใจความรู้สึกที่ธรรมชาติกำลังบอกเรา ด้วยหลากหลายกิจกรรมธรรมชาติศึกษา ที่เขาอ่างฤาไน ฉะเชิงเทรา และปิดท้ายด้วยทริปพาอาสาสมัคร 10 คน ไปเรียนรู้งานด้านอนุรักษ์ที่ประเทศออสเตรเลีย
อาสาสมัครหัวใจสีเขียวพร้อมออกเดินทาง
ในปีนี้ Tea Tree Heart ปี 2 ได้เริ่มต้นอีกครั้ง ด้วยทริป รู้วิถีคนปลายน้ำ...ปลูกฝังและเปลี่ยนแปลงสู่หัวใจสีเขียว ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) ฯ จ.สมุทรปราการ โดยมีเป้าหมายเพื่อสะท้อนให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศที่มีความเชื่อมโยงต่อกันและเกี่ยวเนื่องมาถึงมนุษย์ หากมนุษย์ทำร้ายและทำลายธรรมชาติ ผลกระทบก็จะกลับมาสู่ตัวมนุษย์เองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นกิจกรรมหลักในทริปนี้จึงแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนของการให้ความรู้ความเข้าใจถึงแนวคิดดังกล่าว และส่วนของการลงแรงร่วมใจฟื้นฟูระบบนิเวศคืนชีวิตให้ธรรมชาติ ผ่านการให้หนุ่มสาวหัวใจสีเขียวไปเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเองที่ป่าชายเลนซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงระบบนิเวศทั้งบนบกและทะเล
พี่ๆ Feed แนะนำสถานที่บางปูและนำเข้าสู่กิจกรรม
ที่นี่นายธีรยุทธ ลออพันธ์พล รองผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมศึกษา FEED (ประเทศไทย) พาหนุ่มสาวหัวใจสีเขียวเข้าสู่ห้องเรียนธรรมชาติ โดยการเดินเข้าสู่เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ พร้อมกับอธิบายถึงความสำคัญของป่าชายเลน ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระบบนิเวศบนบกและทะเล ป่าชายเลนเป็นเหมือนเกราะป้องกันภัยธรรมชาติ เป็นตัวป้องกันพื้นที่ชายฝั่งทะเลจากลมพายุและคลื่นลมแรง บรรเทาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ช่วยรักษามวลดินและหน้าดินไม่ให้ถูกพัดพาออกจากขอบฝั่งและริมตลิ่ง นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ช่วยเก็บกักตะกอนและเป็นแหล่งดักจับขยะและมลพิษต่างๆ ที่มาจากกิจกรรมบนบก ทั้งนี้เพราะรากของพันธุ์ไม้พวกโกงกาง ที่มีลักษณะเป็นรากค้ำยัน หรือรากของไม้แสมในป่าชายเลน ที่มีลักษณะของรากจะแทงขึ้นจากใต้ดินเพื่อมารับออกซิเจน โดยเป็นการแทงรากขึ้นมาตรงๆ เป็นสันแบนบริเวณโคนต้นและทอดยาวคดเคี้ยวออกไป รากของต้นไม้ที่งอกเหนือพื้นดินจะทำหน้าที่คอยกรองหรือดักตะกอนสิ่งปฏิกูล สารพิษต่างๆรวมถึงคราบน้ำมัน
คุณตรีรัช ภูคชสารศีล ผู้อำนวยการ FEED (ประเทศไทย) กล่าววัตถุประสงค์โครงการ
พ.อ.ณรงค์ฤทธิ์ จันทรกุล รองผู้อำนวยการกองสถานพักผ่อนตากอากาศบางปู
จำลองชุมชนที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำ
วิเคราะห์ผลกระทบจากการก่อสร้างสิ่งต่างๆ ริมแม่น้ำ
ระหว่างทางหนุ่มสาวหัวใจสีเขียวได้ศึกษาถึงความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากพันธุ์ไม้ชายเลนแล้ว ยังรวมถึงกลุ่มสัตว์หน้าดิน ปลาตีน หรือนกประจำถิ่นต่างๆ และยังได้ช่วยกันปรับพื้นที่อยู่อาศัยให้นกอพยพ ที่จะมาบินมาจากแดนไกลในช่วงฤดูหนาวของแต่ละปีอีกด้วย นอกจากนั้นยังมองเห็นถึงขยะหลากหลายชนิดจำนวนมหาศาลที่ถูกน้ำพัดเข้ามา มีทั้งที่ค้างอยู่บนหาดชายเลน และติดอยู่บนต้นโกงกาง ข้อคิดที่หนุ่มสาวหัวใจสีเขียวถูกฝากไว้คือ ขยะทุกชิ้นล้วนมาจากมือมนุษย์ทั้งสิ้น ดังนั้นขยะจะลดลงได้มากน้อยแค่ไหนก็อยู่ที่เราเอง... เมื่อไหร่ที่เรากำลังจะสร้างขยะชิ้นใหม่ ให้ถามตัวเองว่าขยะชิ้นใหม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นหรือเปล่า.... ถ้าจำเป็น แล้วเราจะจัดการกับขยะชิ้นนั้นอย่างไร แต่ถ้าไม่จำเป็นเรามาช่วยกันเป็นคนหนึ่งที่ลดปริมาณขยะกันจะดีกว่าหรือไม่
การเรียนรู้ในห้องเรียนธรรมชาติยังไม่ได้หมดเท่านั้น Tea Tree Heart ยังพาหนุ่มสาวหัวใจสีเขียวไปที่ โรงเรียนนอกกะลา ชุมชนคลองเสาธง เครือข่ายอนุรักษ์อ่าวไทยรูปตัว ก จ.สมุทรปราการ ที่นี่ปราชญ์ท้องถิ่น นายบรรเจิด อุดมสมุทรหิรัญ ประธานชุมชนคลองเสาธง จ.สมุทรปราการ หรือ พี่มะโหนก ได้มาตอกย้ำความสำคัญของธรรมชาติที่มีต่อชีวิตคนปลายน้ำ และแบ่งปันแนวคิดของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างมีความสุขในแบบวิถีชีวิตคนปลายน้ำ โดยพี่มะโหนกได้กล่าวว่า สภาพแวดล้อมทั่วไปของชุมชนคลองเสาธง เป็นระบบนิเวศหาดโคลน ธรรมชาติที่นี่มีความสำคัญต่อพวกเราทุกคน เพราะเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์น้ำมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้คนในพื้นที่มีอาชีพประมงน้ำตื้น มีรายได้ และมีแหล่งอาหารที่เพียงพอในการดำรงชีวิต แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากภัยธรรมชาติ หรือจากฝีมือมนุษย์ก็ตาม มีผลทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และแหล่งทำมาหากินของคนในชุมชนที่นี่เปลี่ยนไป ดังนั้นคนในชุมชนทุกคนจึงพยายามช่วยกันรักษาทรัพยากรและความสมดุลของธรรมชาติที่นี่ให้มากที่สุด
เรียนรู้ในโรงเรียนนอกกะลากับพี่มะโหนก - บรรเจิด อุดมสมุทรหิรัญ ประธานชุมชนคลองเสาธง
ท้ายที่สุด พี่มะโหนกยังฝากข้อคิดไว้กับอาสาสมัครหัวใจสีเขียวทุกคนว่า เมื่อธรรมชาติดูแลเรา เราก็ต้องดูแลธรรมชาติกลับคืน เชื่อว่าธรรมชาติดูแลพวกเราทุกคนมากกว่าที่เราดูแลธรรมชาติอย่างแน่นอน
ช่วยทำบ้านให้นกอาศัย
เมื่อหนุ่มสาวหัวใจสีเขียวได้เรียนรู้ และทำความเข้าใจคุณค่าที่ธรรมชาติให้เรามา ก็ได้เวลาลงมือปฏิบัติภารกิจพลิกฟื้นชีวิตธรรมชาติที่ทั้งสนุกและเป็นประโยชน์ เริ่มที่กิจกรรมสร้างบ้านนก หรือการปรับพื้นที่เพื่อรองรับนกอพยพจำนวนมาก ที่บินหนีหนาวมาจากที่ไกลมาใช้บางปู เป็นบ้านที่อบอุ่นและอุดมสมบูรณ์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคมของทุกปี ดังนั้นก่อนจะถึงฤดูที่นกมา จำเป็นต้องปรับพื้นที่ให้เป็นที่โล่งกว้าง เพื่อให้มีพื้นที่ให้นกลง และหาอาหารได้ ซึ่งงานนี้อาสาสมัครต้องเดินลุยป่าชายเลน ไปตัด และถอนต้นแสมทะเล เพื่อปรับให้เป็นพื้นที่โล่งกว้าง เตรียมรองรับนกที่หนีหนาวมาอาศัยบางปูเป็นที่อยู่ ที่กิน จำนวนกว่า 10,000 20,000 ตัว
หนุ่มหัวใจสีเขียวช่วยกันตัดต้นแสมเพื่อปรับพื้นที่รองรับนกอพยพ
ไม่เพียงเท่านี้ ทุกคนยังได้ร่วมแรง ร่วมใจ กันสร้างบ้านให้ปลา หรือ ทำซั้ง เพื่ออนุรักษ์สัตว์ทะเลตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยนำวัสดุเหลือใช้ หาได้จากท้องถิ่นและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อาทิ ไม้ไผ่ และอวน มาประกอบกัน แล้วนำไปปล่อยกลางทะเล ให้เป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่หลบภัย เป็นแหล่งอาศัยของปลาและสัตว์ทะเล ป้องกันสัตว์น้ำขนาดเล็กถูกจับก่อนถึงเวลาอันสมควร และเติบโตไปสู่ระบบนิเวศทางทะเลต่อไป
เรียนรู้วิธีทำอวน
อาสาสมัครช่วยกันทำซั้งปลา
นำซั้งปลาปล่อยลงทะเล
นางสาวอธิจิต วาจาสุวิมล (ฉัน) อายุ 21 ปี คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อาสาสมัคร ที ทรี ฮาร์ท ได้แบ่งปันสิ่งที่ได้รับว่า ทริปนี้ได้เรียนรู้มุมมองที่ไม่ค่อยได้เห็น โดยเฉพาะวิถีชีวิตของชาวประมงที่คลองเสาธง ที่สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล มีการสร้างซั้งเพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำ และที่ประทับใจที่สุดคือการปรับพื้นที่อาศัยให้นกอพยพ ทุกคนได้ออกแรงกันอย่างเต็มที่ ทั้งตัด และถอนต้นแสมทะเล เป็นกิจกรรมที่สวนทางกับการอนุรักษ์ แต่ทำให้ระบบนิเวศน์เกิดความสมดุล สุดท้ายอยากฝากบอกเพื่อนๆว่าแนวทางการอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่จำเป็นว่าเราต้องออกมาทำกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติเท่านั้น เพียงแค่เรา ไม่ใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองในทุกๆวัน เราก็สามารถช่วยโลกให้กลับมาเขียวดังเดิมได้แล้ว
นางสาวนิภาพร แสงแก้ว (ยุ้ย) อายุ 21 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ทริปนี้เน้นให้เรามีหัวใจสีเขียว เป็นหัวใจที่รักธรรมชาติ สอนให้เรามีใจที่ผูกพันกับธรรมชาติ ได้เข้าไปสัมผัสป่าชายเลน ได้ไปตัดต้นแสมทะเลเพื่อปรับพื้นที่สร้างแหล่งอาศัยให้นก เห็นประโยชน์ว่าถ้าเราไม่ทำ นกที่อพยพก็จะไม่มีที่อยู่อาศัยและก็จะหายไปในที่สุด ทุกกิจกรรมทำให้เราเข้าใจว่า เราควรดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่กับเราไปนานๆ เริ่มลงมือตั้งแต่วันนี้ เพราะยิ่งถ้าเราทำลายสิ่งแวดล้อม ผลกระทบก็จะย้อนกลับมาหาเราแน่นอน
นางสาวพรทิพย์ เชน (ลี่เฟ่ย) อายุ 22 ปี คณะวิศวกรรมเคมี (เอสไอไอที) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งทริปนี้ได้ทำให้เราเรียนรู้และเข้าใจว่าทุกครั้งที่ธรรมชาติถูกทำลายไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ผลที่ย้อนกลับมาย่อมจะกระทบกับเราทั้งสิ้น ได้เห็นว่าป่าชายเลนเป็นถังขยะใบโต ที่คอยดักจับขยะที่น้ำและทะเลพัดพามา ทำให้คิดว่าวันนี้เราต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วรักษาโลก ไม่ทำร้ายหรือบุกรุกธรรมชาติ ไม่ทิ้งของเสียในแม่น้ำลำคลอง อยากให้พวกเรามาช่วยกัน เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเท่านั้นแต่ทำเพื่อคนอื่นด้วย
นางสาวสุริย์ฉาย วงศา (สปาย) อายุ 20 ปี ปวส. ปี 2 คณะบริหารธุรกิจ วิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์ บอกว่า ก่อนเข้าร่วมทริปนี้รู้ว่าธรรมชาติถูกทำลายไปมาก แต่ไม่เคยลงมือช่วยรักษา เมื่อได้เข้าร่วมทริปนี้ได้เห็นว่าแม่น้ำ ทะเล ป่าชายเลนเป็นสิ่งที่สำคัญ ควรช่วยกัน ไม่ทิ้งขยะหรือของเสีย จะนำสิ่งที่ได้รู้และเห็นจากทริปนี้มาปรับใช้ จะประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ และในฐานะที่เป็นประธานคณะบริหารธุรกิจ มีแผนจัดตั้งธนาคารขยะขึ้นในวิทยาลัย เพื่อช่วยลดปัญหาขยะที่เกิดขึ้น
ความประทับใจที่มีต่อโครงการทีทรีฮาร์ท
ทริปนี้เป็นอีกทริปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ อาสาสมัคร ที ทรี ฮาร์ท ได้มาร่วมเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และพร้อมลงแรง ลงใจ ตอบแทนธรรมชาติ แต่วันนี้ธรรมชาติจะคงอยู่ไม่ได้หากมีแค่คนเพียงกลุ่มเดียวที่ลงมือ เพราะโลกไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นของทุกคนที่ต้องช่วยกัน ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะช่วยฟื้นชีวิตธรรมชาติให้กลับสู่สภาพดีดังเดิม
ตัวแทนคนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว
ตอบคำถามเรื่องระบบนิเวศของป่าชายเลน
ระดมความคิดสร้างสิ่งก่อสร้างริมแม่น้ำ
กิจกรรมสี่ห้องดวงใจ
ท่าประกอบเพลงเป็นหนึ่งเดียวกัน
มอบของที่ระลึกให้กับหัวหน้าทีมอาสา