Apple has lost a visionary and creative genius, and the world has lost an amazing human being.

But his spirit will forever be the foundation of Apple. 6 October 2011

<<
มิถุนายน 2566
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
16 มิถุนายน 2566

นกแขกเต้า : วัดอุทธยาน

 
 
 
ถ้าอยากถ่ายภาพนกแขกเต้า คนก็มักจะนึกถึงวัดเฉลิมพระเกียรติ
แต่ความจริงก็สามารถพบนกแขกเต้าได้อีกที่วัดสวนใหญ่
โดยจะอยู่ปนกับนกแก้วโม่ง
แต่ยังมีอีกหนึ่งวัดที่พบนกแขกเต้าก็คือที่วัดนี้
 
บ่ายวันหนึ่งในเดือนเมษายน ผมก็ได้เดินทางไปที่วัดอุทธยาน
วัดเงียบๆ อีกหนึ่งวัดที่อยู่ริมคลองอ้อมนนท์
เคยเห็นมีคนถ่ายกระเต็นใหญ่ได้
จากสายไฟที่พาดอยู่ตามแนวคลองด้วย

จากที่จอดรถ ผมจึงมุ่งหน้าไปที่ริมคลองนี้ หวังจะโชคดีได้เห็นนกที่ว่า
แต่ก็นะ เดาได้ว่าน่าจะยาก เพราะเวลาที่คนถ่ายกระเต็นใหญ่ได้
มักจะเป็นช่วงเวลาเช้าๆ และเย็นๆ เสมอ ไมรู้เหมือนกันว่า
ตอนกลางวัน พวกมันไปหลบไปอยู่ที่ไหน
 
เป้าหมายแรกพลาด ก็มองหาเป้าหมายต่อไป ได้ยินแต่เสียงเซ็งแซ่
เหมือนมีคนคุยกันตลอดเวลา นั่นล่ะเสียงนกแขกเต้า แต่ไม่รู้ว่า
พวกมันอยู่ที่ตรงไหนเดินย้อนกลับไปทางเดิม
จนจะพ้นโบสถ์ถึงที่จอดรถ ก็ยังหาที่มาของเสียงนั้นไม่ได้อยู่ดี
 
เดินวนกลับไปทางท่าน้ำ มองขึ้นไปยังต้นยางสูงที่อยู่ติดริมน้ำ
ที่ในตอนแรกนั้นมองข้ามไป เพราะนึกว่าอยู่ในเขตที่ดินชาวบ้าน
ก็ได้พบกับนกแขกเต้ากลุ่มหนึ่งอยู่บนกิ่งก้านของต้นไม้นั้น
แม้จะผ่านการถ่ายนกพวกนี้มาแล้วหลายวัด

แต่การได้เห็นพวกเค้าผ่านเลนส์ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่งดงามเสมอ
 

 
แม้ว่าวัดนี้จะไม่ค่อยมีคนรู้ว่ามีนกแขกเต้า แต่ผมก็ไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่
เพราะอย่างที่บอกไป พวกเค้าอยู่บนต้นไม้สูง ซึ่งขึ้นติดอยู่กับบ้านคน
และที่สำคัญนกแขกเต้านั้นเป็น least concern กว่านกแก้วโม่ง
ในเรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับเมืองที่เจริญขึ้นทุกวัน
 
นกแขกเต้ากินอาหารได้หลากหลายกว่า พวกมันกินธัญพืชได้
นกแขกเต้าตัวเล็กว่า พวกมันออกลูกในโพรงต้นไม้ขนาดเล็กได้
ดังนั้นในบางพื้นที่ จึงมีข่าวนกแขกเต้าเป็นศัตรูกับเกษตรกร
เมื่อพวกมันเพิ่มจำนวนจนเป็นฝูงเข้ามารุมกินเม็ดทานตะวัน

และนั่นก็เป็นวัดสุดท้ายในซีรีย์นกแก้วฝูงสุดท้ายแห่งนนทบุรี
แต่ไม่ได้หมายความว่า นกแก้วพวกนี้มีที่จังหวัดนี้เพียงแห่งเดียว
เพียงแต่นนทบุรี คงเป็นสถานที่ที่ใกล้กับกรุงเทพ
มีวัดมากมายให้ทำบุญ มีร้านอาหารร้านกาแฟให้แวะถ่ายรูป
ถือว่าครบจบสูตรของการท่องเที่ยว
 
 สำหรับคนที่หัดถ่ายนกก็คิดว่าเป็นตัวเลือกที่ดีเช่นกัน
เพราะพวกมันอยู่ในจุดที่ไม่ต้องตามหา และทราบเวลาที่จะพบได้
ที่สำคัญอย่างสุดท้าย คือเค้าคุ้นชินกับคน เราจึงไม่ต้องระมัดระวังมาก
 
สุดท้ายนี้หวังคงเป็นการนำเสนอข้อมูลดีๆ ที่ทำให้ทุกคนตะหนักว่า
ท่ามกลางถนนนครอินทร์ที่วิ่งผ่ากลางเกาะของเมืองนนทบุรีเก่า
นอกเหนือไปจากโบราณวัตถุ ยังคงมีอดีตที่มีชีวิตหลบซ่อนอยู่
ในสวนที่เคยหล่อเลี้ยงกรุงศรีอยุธยา เมืองท่าที่ร่ำรวยแห่งหนึ่งในอดีต

ทำไมผมจึงเรียกที่นี่ว่า เมืองนนทบุรีเก่า เราจะย้อนเวลากลับไปกัน
 

 
วัดปรางค์หลวง ที่อยู่กึ่งกลางโค้งเกือกม้าของอดีตสายน้ำเจ้าพระยา
ก่อนที่บริเวณนี้จะถูกขุดลัด ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์จนกลายเป็นเกาะ
มีร่องรอยของเจดีย์ ที่ย้อนกลับไปได้ถึงในสมัยอยุธยาตอนต้น
ที่ผู้คนอาจจะหยุดพักการเดินทาง กลางโค้งน้ำนี้
พัฒนาขึ้นเป็นชุมชน จนมีการสร้างพระปรางค์นี้ไว้เป็นหลักชัย
 

53  เยียมาพิเศศพี้ บางพลู
ถนัดเหมือนพลูทางเสวอย พี่ดิ้น
รยมรักษเมื่อไขดู กระหนยก นางนา
รศรำเพอยต้องมลิ้น ล่นนใจ ลานใจ
 
54 เรือมาจยรจยดใกล้ ฉมงงราย
ฉมงงนอกฉมงงใน อกช้ำ
ชาวขุนสรมุทรหลาย เหลือย่าน
อวนหย่อนยงงท่าน้ำ ถูกปลา ฯ
 
55 กล้วยอ้อยเหลืออ่านอ้าง ผักนาง
จรหลาดเลขคนหนา ฝ่งงเฝ้า
เยียมาลุดลบาง รมาต
ถนัดรมาตเต้นเต้า ไถ่ฉนยร

 
 จากคำศัพท์และชื่อบ้านนามเมืองในกำสรวลสมุทร
ชี้ชัดว่าถูกเขียนขึ้นก่อนการขุดคลองลัด ในสมัยพระชัยราชา
เพราะการล่องเรือนั้น ยังต้องมีการผ่านบางระมาดอยู่
ไล่ย้อนคำกลับมาจะมีคำว่า ฉมงราย

ซึ่งหากถอดเสียงมาถึงปัจจุบัน เป็นสมอรายแล้วละก็
นั่นคือชื่อเดิมของวัดราชาธิวาส นั่นก็อาจจะเป็นชื่อย่านในสมัยนั้นด้วยก็ได้
โดยสิ่งที่ยืนยันว่าสมอรายคือ ฉมงงรายนั่นก็คือ ถิ่นนี้เป็นที่ที่มีปลาชุกชุม

ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อสยามถอยทัพจากแหลมญวน
มีชาวเวียดนามที่เป็นคริสตังขอติดตามทัพสยามกลับมาด้วย
เพราะการนับถือศาสนาต่างชาตินั้น ถูกบังคับกดขี่จากกษัตริย์อันนัม



เมื่อญวนมาถึงกรุุงเทพ ขุนนางสยามเข้าใจว่า พวกนี้มีอาชีพทำนา
รัชกาลที่ 3 จึงพระราชทานที่ดิน ให้ไปทำกินที่ดอนเมือง
ต่อมาญวนเหล่านี้ ก็ทยอยหนีกลับไปบ้านเดิม
ความทราบถึงรัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้หาว่า เพราะเหตุใด

สืบถ้อยสวนความได้ว่า จริงๆ แล้วชาวญวนพวกนี้ เดิมมีอาชีพทำประมง
พระองค์จึงทรงโปรดให้ไปอยู่ที่ สามเสนแทน
นั่นเองจึงเป็นที่มา ของบ้านญวนสามเสนจนถึงปัจจุบัน
ที่มีบันทึกต่อมาในสมัยหลังว่า เมื่อผ่านมายังย่านสามเสนนี้

ก็จะเห็นเรือนแพชาวญวนที่เลี้ยงจรเข้ไว้
แตกต่างไปจากแพของชาวบ้านสยาม
ย้อนคำกลับมาอีกจะพบคำว่า บางพลู
ซึ่งหากดูระยะห่างแต่ละจุดที่เขียนไว้

แล้วจินตนาการถึงลำน้ำเจ้าพระยาสายเก่า 
บางระมาดคือคุ้งน้ำเกือกม้า ลากขึ้นมาโค้งบนที่สามเสน
เมื่อลากเส้นทางการเดินเรือย้อนไป ที่นั้นก็ต้องเป็นคุ้งน้ำก่อนหน้า
ซึ่งควรเป็นบริเวณวัดปรางค์หลวงนี่เอง

และหากใครเคยขับรถแล้วละก็ คงเคยได้ยินชื่อแยกบางพลู
หรือถ้าเคยนั่งรถไฟฟ้าสายสีม่วง ก็อาจจะเคยได้ยินชื่อสถานีบางพลู
หรือว่า บางพลู ในนิราศกำสรวลสมุทรนี้ คือชื่อย่านนามเมืองเดิม
อยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น ที่เจิ้งเหออาจเคยแวะมาพักกองเรือก็เป็นไปได้

ก่อนที่บริเวณนี้จะถูกลดความสำคัญลง เมื่อมีการตั้งเมืองนนทบุรีที่ตลาดขวัญ
ในสมัยพระมหาจักรพรรดิ เพื่อใช้รวบรวมผู้คนที่หลบหนีไป
ในคราวสงครามเสียช้างเผือก ให้กลับขึ้นมาคึกคักรุ่งเรือง
จนสามารถยกขึ้นเป็นเมือง ก็เป็นไปได้
 


แล้วชื่อที่มาของ บางพลูนั้น สำคัญไฉน
เด็กประถมก็คงตอบได้ว่า ก็เป็นย่านปลูกต้นพลูนะสิ
แล้วพลูนั้นสำคัญไฉน ตรงนี้เด็กอาจจะตอบไม่ได้
เพราะอาจเกิดไม่ทัน เมื่อ จอมพล ป ประกาศใช้รัฐนิยม
หนึ่งในนั้น คือห้ามไม่ให้คนไทยกินหมาก เพราะดูแล้วไม่ใช่ชนชาติที่เจริญ

พลูเป็นใบไม้ที่ใช้ห่อหมาก ก่อนที่จะป้ายปูนแดงลงไปแล้วเคี้ยว
เป็นการรักษาฟันของคนโบราณ และทำให้เกิดความสดชื่นตื่นตัว
เป็นวัฒนธรรมร่วมของคนในเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้
ที่ยังหลงเหลือมาถึงในปัจจุบัน เช่น อินเดีย พม่า อินโดนีเซีย
และที่โด่งดังที่สุดน่าจะเป็น สาวขายหมากที่ไต้หวัน
 
ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีย่านตลาดพลู ในสมัยอยุธยา มีคลองสวนพลู
ชื่อย่านที่เกี่ยวของการการปลูกพลู ที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน
คำถามสำคัญคือ แล้วบางพลูที่เมืองนนทบุรีในสมัยนั้นสำคัญอย่างไร
เพราะพลูที่ใช้ในการกินหมากนั้นเป็นใบสด แปลว่า กว่าจะเก็บไปขาย
ที่กรุงศรีอยุธยานั้น มันก็เป็นใบพลูเหี่ยวไป ไม่น่ากินแล้วนะสิ ??
 
อาจจะต้องย้อนไปในวัยเด็ก ที่บางคนอาจเคยช่วยคุณยายทำหมาก
อาจจะได้ยินว่าช่วงนี้พลูสดขาด ต้องใช้ใบพลูแห้งที่เรียกว่า พลูนาบ
มันคือการถนอมใบพลูสดให้มีอายุยาวนาน สามารถขนส่งไปที่ไกลๆ ได้
โดยการนำใบพลูเขียวมานาบ กับโลหะร้อนๆ แบบรวดเร็วให้มันสลบ
 
ก็จะกลายเป็นใบพลูสีน้ำตาล ที่เก็บได้ยาวนานกว่าใบพลูสดนั่นเอง
และนั่นอาจจะเป็นที่มาว่า ทำไมถึงมีชื่อย่านบางพลูอยู่ไกลถึงนนทบุรีได้
เพราะกรุงศรีอยุธยาอาจจะมีช่วงเวลาที่น้ำท่วมยาวนาน
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คนกรุงศรีอยุธยาจะต้องเลิกกินหมาก
 
และนี่เองอาจจะเป็นการเรื่องราวของพื้นบ้านย่านสวนแห่งนนทบุรี
ที่อาจไม่ได้มีดีแค่ความเป็นสวนผลไม้แต่เพียงอย่างเดียวก็เป็นไปได้



Create Date : 16 มิถุนายน 2566
Last Update : 23 มิถุนายน 2566 15:42:12 น. 3 comments
Counter : 782 Pageviews.  

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณnewyorknurse, คุณอุ้มสี, คุณNoppamas Bee


 
พูดแล้วจะหาว่าแก่แน่ะๆ ... เห็นนกแขกเต้า นึกถึงภาพยนต์เรื่องปลาบู่ทองครับ ในเรื่องมีนกแขกเต้าพูดได้เป็นเพื่อนกับนางเอื้อยครับ อิอิอิ


โดย: ทนายอ้วน วันที่: 16 มิถุนายน 2566 เวลา:21:34:18 น.  

 
มาดูนกแขกเต้าค่ะ


โดย: อุ้มสี วันที่: 22 มิถุนายน 2566 เวลา:14:46:43 น.  

 
สวยงามคร้า


โดย: Noppamas Bee วันที่: 23 มิถุนายน 2566 เวลา:0:30:07 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ผู้ชายในสายลมหนาว
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]




New Comments
[Add ผู้ชายในสายลมหนาว's blog to your web]