space
space
space
<<
สิงหาคม 2565
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
space
space
10 สิงหาคม 2565
space
space
space

ล้างแอร์ เปลี่ยน cabin air filter สำหรับ tesla model 3 รักษากลิ่นเหม็นอับ

Aug 10, 2022

หลังจากอบโอโซนกันไปหลายต่อหลายรอบ สูดลมหายใจไร้กลิ่นอับกันได้สัก 2-3 สัปดาห์ กลิ่นอับก็จะกลับมาอีก เราเองก็ไม่ได้เดือดร้อนมาก แต่คุณคนขับเรานี่สิ เดือดร้อนจัง หลัง ๆ ต้องใช้วิธีเปิดแอร์ผ่านแอพก่อนออกจากบ้านประมาณ 3-5 นาที ปัญหาคือหลาย ๆ ทีมันสั่งเปิดผ่านแอพไม่ได้เพราะน้องโบลต์เค้าหลับอยู่ ปลุกไม่ได้ ไม่มี premium connectivity แล้ว ไม่สามารถส่ง SMS ไปปลุกนางได้ (สมัยตอนมี บางทีก็ปลุกไม่ตื่นอะ) ถ้าสามารถเปิดแอร์ได้ก่อนขึ้นรถ เธอขึ้นมาก็จะไม่บ่น แต่ถ้าไม่ได้ทำ เปิดแอร์ครั้งแรกลมโชยออกมาเค้าก็จะต้องบ่น เคยถึงกะต้องพยายามทำให้น้องโบลต์เค้าตื่นอยู่ตอนช่วงก่อนออกจากบ้าน โดยวิธีสั่งชาร์จให้เสร็จเวลาหลังออกจากบ้านจริง เช่น ออกจากบ้าน 7:00 แต่สั่งให้เค้าชาร์จเสร็จก่อน 7:30 ประมาณนี้ ยอมเสี่ยงชาร์จได้น้อยกว่าที่ตั้ง (ทุกทีเค้าจะแอบเสร็จก่อนเวลาที่สั่งทุกที)

เท่าที่สอบถามคุณเกด การนำรถเข้าศูนย์ปีแรกก็จะมีบริการเปลี่ยน cabin air filter ให้อยู่แล้ว ทางวสุธาคิดค่าฟิลเตอร์ 4,000 บาท แต่เราได้เคยซื้อ filter มาเก็บไว้ (ครบปีแล้ว) ตั้งนานแล้วซื้อมาจาก https://www.tesmanian.com ราคาตั้ง $49.99 ซึ่งถือว่าแพงเพราะตอนนี้เค้ามีขายกันตรึม ราคาไม่ถึง 20 USD (บน amazon) ขนาดบน shopee/lazada ก็ยังมีขาย  ราคาถูกเป็นอึ สนนราคาคู่ละไม่เกิน 1 พันบาท เห็นบางเจ้าขายราคาไม่ถึง 500 บาทด้วยซ้ำ ข้อดีของการเป็นรถโหล (รถโหล ที่เมกา) ก็ดีฉะนี้ การเปลี่ยนแอร์ filter ด้วยตัวเองก็เป็นสิ่งที่ทาง Tesla เค้าถือว่าเป็นหนึ่งในหลาย ๆ สิ่งที่เจ้าของรถสามารถทำเองได้ - DIY (Do-It-Yourself) มีรายละเอียดโพสต์ไว้บนเว็บไซต์เค้าตามนี้ แต่ไม่ได้พูดถึงการล้างแอร์ ทำความสะอาดคอยล์เย็น ถ้าไปจ้างวาน Tesla USA ให้บริการล้างแอร์ ได้ยินมาว่าจะโดนชาร์จ $75 (ประมาณ 2,600 บาท) สำหรับเมืองไทย ราคาอ้างอิงจากร้านบีควิก มี 2 ราคา รถญี่ปุ่น 1,990  รถยุโรป 3,200 บาท สำหรับบริการล้างแอร์+อบโอโซน Air Klean ไม่แน่ใจว่ารถญี่ปุ่นคันหญ่าย ๆ กับรถยุโรปคันเล็ก ๆ อย่างมินิ มันต่างกันยังไง เหตุใดถึงต้องราคารถญี่ปุ่นตะหาก ราคารถยุโรปตะหาก โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับขนาดรถ  ที่น่าสงสัยไปกว่านั้นอีกก็คือบริการ Flushing ระบบแอร์ อธิบายว่าเป็นการดูดน้ำยาต่าง ๆ ที่เป็นของเก่าออกและเติมของใหม่เข้าไป สงสัยเป็นที่สุดว่าทำไมต้องดูดออกแล้วเติมใหม่ เพราะเท่าที่ทราบน้ำยาแอร์ ไม่ว่าจะ R134A (รถปัจจุบัน) หรือ R1234yf (หลังปี 2021) หรือ R12 (รถคลาสสิก) ถ้ามันมีการรั่วหายไป ก้อหายรอยรั่ว ซ่อม แล้วก็เติมน้ำยาใหม่ก็พอ ไม่เห็นมีความจำเป็นต้องดูดออกแล้วเติมใหม่ เพราะการดูดออกแล้วไม่เอาไปทำลายให้เหมาะสม น้ำยาก็จะระเหยขึ้นไปก็กลายเป็น green house gas ทำลายชั้นโอโซนนั่นแหละ เรียกว่าเสียโง่เพราะไม่รู้และยังเสียเงินเพื่อทำร้ายโลกจริง ๆ ค่า flushing ของบีควิกคิด 3,700 บาท สำหรับรถญี่ปุ่น (อีกแระ) สำหรับรถยุโรป โดน 4,800 บาท ไม่แน่ใจว่าน้องโบลต์เราหากเอาไปรับบริการ ตี๋น้อยโบลต์เธอเชื้อชาติอเมริกันแต่เกินในเซี่ยงไฮ้เมืองจีน จะต้องจ่ายเรตไหน จะยังไงก็ตามวันนี้เราไม่จ่าย ต่อไปนี้คงจะไม่จ่ายเพราะคงจะทำเองไปเรื่อย ๆ



เรื่องกลิ่นอับที่มากับรถ Tesla model 3 ก็เป็นที่รู้กันในบรรดาเจ้าของเทสล่า Model 3 ว่ารถคันนี้หลังจากใช้ไปพักนึงจะมีกลิ่นอับ มีโพสต์บ่นทั้งในฟอรั่มและ youtuber ผู้ใช้ต่างลงความเห็นว่าเป็น design flaw ของระบบ และหลังจากเราได้ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเราก็ชักจะเห็นด้วย 

เคยเล่าให้ฟังในบล็อกก่อนว่าตอนใช้ lexus (น้องเล็ก) เคยมีกลิ่นเหม็น มาก เหม็นเปรี้ยวเลย หลังน้องเล็กไปลุยน้ำท่วมปี 54 มา ตอนนั้นก็เอาไปเข้าศูนย์ล้างแอร์ อบโอโซนกันหลายรอบ ดูเหมือนอาการดีขึ้นแต่ไม่เคยจะหายไปซะทั้งหมด

ดูฝรั่งบนทั้งในยูทูป ใน google ในฟอรั่ม เค้าบ่นกันแรงกว่าเราอีก ถึงขั้นด่าเลยล่ะ แถมในยูทูปที่ดูแต่ละอัน filter ที่ดึงออกมานี่ดูไม่ได้ บางคนดึง filter เก่าออกมา มีทั้งฝุ่น ทราย ใบใม้ ละออง เกสร เศษขยะ ขนนก อ้วกแตก

อาจจะเป็นไปได้ไหมว่าเราสองคนรู้ปัญหาเรื่องน้ำเข้าใต้ฝากระโปรงและแอบลงไปในรูที่นำอากาศภายนอกเข้าระบบ HVAC ของรถ แล้วพวกเราสองคนก็ระวังกันมาตลอด ทุกครั้งก่อนล้างรถ จะต้องเปิดฝาขึ้นมาเพื่อวางผ้ากั้นเขื่อนไว้ มีการวางแผ่น filter กระจอก ๆ ข้างนอกอันนึงเพื่อกันตรงนี้ ท้ายสุด ก็ไปหาซื้ออุปกรณ์ติดใต้ฝากระโปรงเพื่อกันน้ำเข้าดังที่รายงานไปในบล็อกนี้ ตอนนี้ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าไม่มีน้ำเข้าเวลาล้างรถแน่ ๆ แต่เวลาขับรถลุยฝนตกหนัก ๆ มันจะเข้าไปรึเปล่า อันนี้ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ถึงจะมีแผ่นกรองราคาถูก กระจอก ๆ (อันละ 20-30 บาท) วางไว้ ถ้าน้ำมันเข้าเยอะจริง ๆ ไอ้แผ่นนี้มันก็เปียกได้ทั้งแผ่นเหมือนกัน  ตอนที่เรารื้อด้านหน้าใต้ฝากระโปรงออกมา ก็เคยเห็นรูที่เค้าไว้ระบายน้ำในปล่อง air intake เราก็คิดว่าถ้าน้ำมันเข้ามาเยอะ ๆ น้ำส่วนใหญ่มันก็คงจะไหลออกรูระบายตรงนี้แหละ แต่ต้องยอมรับว่าถ้าน้ำมันเยอะจริงๆ และมันมี airflow in ตลอดเวลา มันก็จะมีน้ำ ละอองน้ำ ความชื้นส่วนหนึ่ง มันก็ปลิวบินไปตาม airflow เข้าไปในระบบอยู่แล้ว  ไปแล้วไปอยู่ที่ไหน สุดท้ายเค้าก็จะไปติดอยู่ตรง air cabin filter แหละคับ  ต่อให้ไม่มีส่วนนี้ ทุกครั้งเวลาเปิดทำความเย็น มันก็จะมีไอน้ำเกาะตามครีบ evaporator และน้ำบนครีบหรือความชื้นที่มันสะสม มันก็จะทำให้แผ่น cabin air filter เค้าชื้นตามได้ โดยเฉพาะกรณีของ Tesla model 3 ซึ่งเค้าดันออกแบบ cabin air filter วางไว้ติดกับส่วนของ evaporator เลย

 
รูปซ้ายเป็นรูปฝากระโปรงหน้าน้องโบลต์หลังจากติดตั้งครีบปกป้องน้ำเข้าจากช่องระหว่างฝากระโปรงกับแผ่นพลาสติกซึ่งก็ช่วยได้เยอะ ถึงจะไม่สามารถกั้นได้ 100% ก็ตาม  ส่วนรูปขวาเป็นรูปที่เราถ่ายโดยการยื่นโทรศัพท์เข้าไปในช่อง air plenum ทางเข้าอากาศจากภายนอก จะสังเกตุเห็นรูปสี่เหลี่ยมเป็นที่สำหรับให้น้ำไหลออกได้กรณีน้ำเข้ามาปริมาณมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าละอองน้ำเล็ก ๆ หรือ ไอความชื้น เช่น กรณีรถวิ่งลุยฝนตกหนัก  จะไม่สามารถเข้าไปได้ ซึ่งเราว่าตรงนี้เป็น design flaw จุดหนึ่ง ถ้าได้แผ่นกรองยักษ์ Bio-weapon HEPA filter แบบ modell S/X/Y (รุ่นใหม่) น่าจะดีกว่านี้เยอะเลย

จะเห็นว่าใน model S/X และ model Y รุ่นใหม่ ตัว bio-weapon defense HEPA filter อยู่นอกสุดเลย อยู่ใต้ฝากระโปรง ไกลจากส่วนครีบคอยล์เย็น (evaporator) มาก ก็จะจบปัญหาเรื่องการระบายความชื้นจากคอล์ยเย็นไป อีกเรื่องหนึ่งที่เรารู้สึกรับไม่ได้ก็คือรูระบายน้ำ  ทุกคนคงทราบดีว่าเวลาแอร์ทำความเย็น มันจะมีหยดน้ำติ๋ง ๆ หยดออกมาอันเกิดจากการ condensation เวลาแอร์ทำงาน หยดน้ำเย็น ๆ ที่เกาะบนครีบทำความเย็น (evaparator) ตามแอร์บ้านทั่วไปที่เป็นแอร์ split type ก็จะมีท่อต่อระบายน้ำออกไปทิ้งข้างนอก หรือถ้าเป็นแอร์แบบหน้าต่าง ก็หยดติ๋ง ๆ กันตรงก้นเครื่องที่ยื่นออกมาจากหน้าต่างเลยแหละ ส่วนของเทสล่า เราก็เพิ่งสังเกตเห็นว่ารูหยดน้ำเค้าออกตรงนี้  เห็นแล้วเซ็งเลย ไม่รู้ว่าทำไมไม่ทำท่อต่อระบายออกไปให้มันดี ๆ มันหยดลงไปบนสายไฟ high voltage ที่ทอดผ่านด้านล่างแล้วก็ลงบนแผ่นเหล็กที่เป็นพื้นใต้ท้องรถตรงส่วนแบตเตอรี่ มิน่า ไอ้เจ้าแผ่นอลู skid plate ที่เราซื้อมาเปลี่ยนแทนแผ่นพลาสติก skid plate ที่เราเล่าให้ฟังไปในบล็อกก่อนหน้านี้เค้าทำช่องเอาไว้ตรงนี้พอดี เจ้ากรรมว่ามันไม่หยดลงตรงช่องนี้หรอกเพราะมันไม่ได้พุ่งออกมา แต่มันหยดติ๋ง ๆ ลงบนสายไฟนั่นแหละ



น่าเสียดายที่ระบบ HVAC ของ Tesla ที่ดูดี ล้ำสมัย ใช้ heat pump ในการผลิตความร้อนแทน ceramic heater ระบบช่องเป่าแอร์ใช้ระบบ air wave ไม่มีความจำเป็นต้องปรับ louver fins เพื่อที่จะปรับทิศทางลม จะมีปัญหาในการใช้งานจริงแบบนี้ แต่เรายังมีความหวังต่อไปว่าเทสล่าจะปรับปรุงแก้ไขในจุดนี้ อย่างที่เห็นได้ชัดก็คือใน Model Y ซึ่งตอนนี้เลียนแบบ Model S/X คือมี giant bio-weapon defense HEPA filter ขนาดยักษ์วางไว้ด้านนอกใต้ฝากระโปรงหน้าดักไว้ตั้งแต่ทางเข้าอากาศจากด้านนอกเลย หวังว่า Model Y รุ่นใหม่ ๆ จะไม่มีกลิ่นเหม็นอับเหมือนใน Model 3 และก็หวังว่า feature นี้จะมาถึงใน Model 3 ในที่สุด (มันรู้จะหาที่ยัดลงได้รึเปล่า)

เรื่องที่จะต้องขอบ่นเรื่องที่สองก็คือการเข้าถึงส่วนที่จะต้องทำการเปลี่ยน air filter

เรารู้ว่าตรงที่ที่ต้องเปลี่ยน air filter มันอยู่ตรงไหน เราดูคลิปยูทูปฝรั่งเยอะแยะ ก็เห็นว่าเปลี่ยนไม่ยาก มันอยู่ตรงคอนโซลกลาง ด้านขวามือ ซึ่งในรถฝรั่งที่เป็นพวงมาลัยซ้าย (LHD -Left hand drive) มันก็ทำงานสะดวก เพราะด้านขวามือคือด้าน passenger ซึ่งโล่ง ไม่มีอะไรมาบัง แต่สำหรับเมืองไทย หรือรถจากอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ใช้พวงมาลัยขวา (RHD) ไอ้เจ้าฝาช่องที่จะเข้าไปเปลี่ยนแผ่น filter มันก็ยังอยู่ด้านขวาเหมือนเดิมแต่มันดันเจือกเป็นด้านคนขับ แล้วมันก็มีทั้งที่เหยียบเบรกกับที่เหยียบคันเร่งเกะกะ แค่ที่เหยียบสองอัน เราไม่ได้เดือนร้อนเท่าไอ้ก้อนโฟม foot rest ที่เค้าวางไว้ด้านซ้ายสุดซึ่งมันแปะพอดีและก็ขวางทางสุด ๆ ในการเข้าถึงช่องที่ต้องเปลี่ยนฟิลเตอร์  คือถ้าเห็นใจกันสักนิด ก็ควรจะสลับให้ช่องนี้มันไปเปิดด้านซ้ายในรถ RHD หรือเทสล่าอาจจะคิดว่าเป็นช่างหรือเทคนิเชียนทำ ไม่ใช่เจ้าของรถทำเอง (แต่อนุญาตให้ DIY ได้นินา) บังเอิญว่าเราอยากจะล้างแอร์ด้วย ก็เลยทำซะเองไม่ได้ไปส่งให้วสุธาทำให้ ขนาดของฝรั่งที่เค้าเป็น LHD เค้ายังด่าว่าให้ไอ้เจ้าสกรูที่ขันล็อกปิดฝานี้อยู่ด้านบนสุดซึ่งเข้าถึงยาก ถอดยาก ถึงกับขนาดมีคนทำฝาเป็นแม่เหล็กมาขาย (www.abstractocean.com) ซึ่งตรงส่วนนี้ตอนหลังมีเจ้าของ Tesla ซึ่งรับรถไปตั้งแต่ Sep 2021 เค้ารายงานว่าฝาปิดช่องนี้ของเค้ามีการย้ายสกรูขันปิดลงมาด้านล่างเรียบร้อย ก็น่าเสียดาย เพราะของเรารับรถมาก่อนเค้าแต่ไตรมาสเดียว น้องโบลต์เรายังมีสกรูอยู่ด้านบนอยู่ แต่ก็แสดงให้เห็นว่า tesla เค้าก็ฟังเสียงบ่นและมีการแก้ไขปัญหาอยู่เรื่อย ๆ ก็หวังว่าจะได้ยินเสียงบ่นเราและสลับเอาช่องปิดฝาเปลี่ยนฟิลเตอร์ไปอยู่ด้านซ้าย หรือด้าน passenger side ในรถพวงมาลัยขวา RHD

  
รูปซ้ายเป็นฝาปิดช่องเปลี่ยน cabin air filter ของ Tesla model 3 รุ่นก่อน September 2021 เดิมทีจะมีสกรูล็อกฝานี้อยู่ข้างบน ส่วนด้านล่างจะเป็น latch ของรุ่นใหม่ (รูปกลาง) เทสล่าสลับกันเอาสกรูลงมาไว้ด้านล่างหลังจากโดนคนด่าเยอะ ส่วนตัว latch ย้ายไปข้างบนแทน ทำให้แกะฝาออกง่ายขึ้น  ส่วนรูปขวาสุดเป็นฝาปิดแบบ magnetic ซึ่งต้องใช้ประกับกับฝาเก่า ราคา $29.95 ขายอยู่ที่ abstractocean.com เราก็แอบเล็ง ๆ อยู่ ไม่ได้อยากได้ magnetic function อะไรหรอก แต่กำลังเล็งว่าจะเราจะไปเจาะช่องด้านซ้ายดีไหม แล้วเอาฝานี้ปิดแทน เอาฝาเก่าไปปิดที่ช่องที่เจาะใหม่ด้านซ้าย เด้วต้องรอดูก่อนว่าต้องเข้าไปยุ่งกับมันบ่อยแค่ไหน

ก็งานนี้ เริ่มแรกก็ต้องไปสั่งซื้อ AC evaporator foam cleaner มาก่อน ที่เมกาเค้าใช้ยี่ห้อ Kool-it กันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเค้ามีสายฉีดมาด้วยพร้อมสเปรย์ แต่ยี่ห้อนี้ไม่มีขายที่เมืองไทย ถ้าสั่งซื้อมาก็คงโดนค่าส่งไปอีกหลาย เราก็เลยไปหาเอาแถว ๆ ช็อปปี ลาซาด้า ก็มีหลายยี่ห้ออยู่ ตอนสั่งซื้อก็ไม่ดูตาม้าตาเรือ ที่บ้านก็มีอยู่แล้ว 2-3 กระป๋องแต่สิ่งที่สำคัญคือต้องมี hose/สายยางสำหรับฉีด เราก็ดัดแปลงเอาสาย PVC ขนาด 3/8 มาเสียบได้พอดี  ถ้าปลายสายแข็งกว่านี้ (คราวหน้าจะเอาไม้ดาม) มันก็จะบังคับตำแหน่งปลายสายที่จะฉีดโฟมได้ดีกว่านี้ 

ความที่เราไม่เคยรื้อรถส่วนนี้เพื่อเปลี่ยนฟิลเตอร์มาก่อน เคยแต่รื้อด้านหน้ามาบ้างตอนเดินสายไฟสำหรับระบบประตูดูดได้กับ auto-present door handle และก็บวกกับความอยากจะถ่ายรูปมาลงบล็อกด้วย ก็เลยต้องรื้อใหญ่เพื่องานนี้ จริง ๆ แอบเห็นฝรั่ง (ไม่แน่ใจว่า UK/Australia) เค้าเปิดช่องนี้เพื่อเปลี่ยนฟิลเตอร์แบบไม่ได้รื้อใหญ่เหมือนเรา ดูเหมือนก็จะทำได้อยู่ แต่ก็คงลำบากพอควร ขอเล่าเรื่องด้วยรูปภาพไปเรื่อย ๆ ละกันคับ

 
อันดับแรกก็เลื่อนเบาะนั่งคนขับไปหลังสุดเพื่อเปิดพื้นที่ทำงานและต้องแงะแผ่นนี้จ้า แผ่นปิดคอนโซลตรงกลางรถด้านซ้าย แผ่นนี้สามารถแงะออกได้ง่าย ๆ เริ่มด้วยการสอดนิ้วชี้เข้าไปตรงมุมบนสุดด้านหน้า แล้วก็ออกแรงดึง เข้าหาตัว จะมีเสียง pop, pop, pop, pop แล้วเค้าก็จะหลุดออกมาทั้งแผ่น น่าจะเป็นแผ่นที่เอาออกง่ายสุดไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไร

 
แผ่นปิดคอนโซลเค้าติดอยู่ได้ด้วยคลิปตัวเล็ก ๆ สีขาวจำนวน 9 ชิ้น 9 ตำแหน่ง ซึ่งมีเงี่ยงเล็ก ๆ ที่หักได้ง่ายมากบนตัวคลิป พอเงี่ยงหักแล้วตัวคลิปเค้าจะติดอยู่ในเบ้าไม่ตามแผ่นออกมา ก็สำรวจดูว่ามีกี่อันยังติดอยู่ในเบ้า ให้ไปตามเก็บออกมาจากเบ้าแล้วเอามาเสียบคืนบนแผ่นให้เรียบร้อย อย่าร้องไห้หากมีอันใดอันหนึ่งหักไป เพราะมันอาจจะหักมาก่อนถึงมือเราแล้วก็เป็นได้ ของเราก็ติดคาอยู่ข้างใน 2 ตัว น่าจะเป็นอันเดิมที่เคยมีหักมาก่อน (เคยถอดมาแล้ว) ไอ้เจ้าคลิปพลาสติกสีขาวอันนี้หาซื้อได้ง่ายไม่ยาก เรายังซื้อมาสำรองไว้ 2 ถุง ระวังอย่าทำหล่นไปที่พื้นที่เอื้อมเก็บไม่ถึง  รูปขวาแสดงให้ดูอุปกรณ์ จะเปลี่ยนฟิลเตอร์ก็ต้องมีของใหม่เตรียมไว้ จะล้างแอร์ก็ต้องมีสเปรย์ฉีดโฟมกระป๋อง อยากจะใช้ยี่ห้อไหนก็ได้หมด ขอให้มีสายยางฉีดได้เป็นดี ก้านเล็ก ๆ ของยี่ห้อ 3M นี่ไม่เวิ้ค ฉีดไม่ถึง ฉีดไม่มัน เล็กเกินไป แล้วก็ต้องมีซากูไร (screwdriver) torx bit no 20 ไว้หมุนน็อตตัวแสบด้านบน (ถ้ารถของท่านใหม่กว่า Sep 2021 จะอยู่ด้านล่าง ของฝรั่งไขง่าย ของพี่ไทยอาจจะไขยากเพราะติดก้อนโฟม foot rest) พวกฟิลเตอร์แอร์ที่ขาย ๆ กันถ้ายอมซื้อแพงหน่อยเค้ามักจะมีตัวงัดคลิปพลาสติกสีส้ม และ ประแจ torx 20 มาให้พร้อม (ไม่ได้โชว์ให้ดูในรูป)

 
 
หลังจากแกะฝาด้านข้างคอนโซลออก ต่อไปก็ต้องแกะ panel ที่ประกอบกันเป็นเพดานของ footwell ของด้านคนขับเค้ามีด้วยกัน 2 แผ่น เป็นแผ่นด้านนอกกับแผ่นด้านใน ซึ่งทั้ง 2 แผ่นนี้เค้าจะยึดอยู่กับท่อ air duct อีกอันนึง ทั้งหมดยึดกันด้วยคลิป (push pin) กับ screw 1 ตัว โดยสกรูตัวเดี่ยวอยู่ด้านขวาสุด (รูปซ้ายมือที่เห็นรูขาว ๆ ข้างใน) สำหรับแผ่นด้านนอกไม่มีสายอะไรห้อยติด แต่แผ่นในจะมีสายไฟ footwell 1 อัน (สายคู่) กับสายสัญญาณสำหรับเสียบ OBD connector เวลาช่างเค้าทำการตรวจเช็ค เราเคยเห็นคลิปฝรั่งอันนึง พวกพวงมาลัย RHD เหมือนเรา เห็นเค้าแกะ เฉพาะแผ่นหลังออกมา เหลือแผ่นหน้ากับท่อพ่นลมแอร์ไว้ก็พอทำงานได้ แต่คนส่วนใหญ่จะแกะออกหมดทั้ง 3 ชิ้น ของเรานี่จะถ่ายรูปมาลงบล็อกด้วย เลยแกะหมดเลย ยุ่งหน่อย แกะหมดยังไม่พอ ยังต้องตลบพรมด้วย (กล่าวต่อไป)

 
 
รูปซ้ายบนก็แสดงให้เห็นแผ่นหลังคา footwell ซึ่งเค้าแยกเป็นสองส่วนสำหรับด้านคนขับ (ด้านซ้ายมีแผ่นเดียว) รูปบนขวาก็คือท่อแอร์เป่าลมลงเท้าคนขับ ซึ่งเค้าก็ยึดอยู่ด้วย push pin แล้วเจ้าท่อลมนี้มันก็ยึดติดอยู่กับแผ่นสองแผ่นที่กล่าวมันเรียกว่ารวมตัวกันเป็น complex 3 ชิ้น ทั้งหมดยึดกันด้วย push pin 4 ตัวและสกรูบ้าน ๆ อีก 1 ตัวดูรูปซ้ายล่าง  ต่อให้แก่แผ่นหลังคาออกแล้ว สามารถเข้าถึงสกรูยึดปิดฝาปิดช่องเปลี่ยนฟิลเตอร์ด้านบนได้แล้ว แต่ก็ยังจะเจอก้อนวางเท้า foot rest ขวางไว้ดังในรูปขวาล่าง จะเห็นว่าไอ้เจ้าก้อนนี้มันบล็อกแผ่นฝานี่ไปครึ่งนึงเลยทีเดียว

 
คยเห็นคลิปฝรั่งออสซี่คนนึงเค้าเปลี่ยนฟิลเตอร์รถ RHD ให้ดูโดยที่ไม่ต้องรื้อ foot rest นี้ออก (ไม่ได้ง่ายนักหรอก เค้าก็ต้องฉีก แหก พับ ลำบาก ทุลักทุเลพอควร) เราก็พยาย๊าม พยายาม แต่ไอ้เจ้า foot rest นี่มันเกะกะจริง ๆ อีกอย่าง เราไม่ได้จะเปลี่ยนเฉพาะ filter เราอยากจะล้างแอร์ด้วย และก็ยังไม่เคยทำงานนี้มาก่อน สุดท้ายหลังจากพยายามแหก (รูปขวา) แล้วมันก็ยังเกะกะ จะถ่ายรูปมาให้ดูก็ไม่ถนัด สรุปว่าต้อง go big งานนี้ ไอ้ก้อนดำ ๆ ที่อยู่ใต้ไฟฉาย ก็คือก้อนโฟมที่เค้าวางไว้ใต้พรมให้คนขับวางเท้าซ้าย มันติดกาวแน่นกะพรม แงะไม่ออก ถ้าเกะกะมาก ก็ต้องตลบพรมรถ + ก้อนนี้พับไปด้านหลัง

  
การจะตลบพรมที่วางแประอยู่บน firewall หลัง/ใต้ต่อคันเหยียบเร่งและคันเบรกได้ มันต้องแงะชิ้นส่วนเบอร์ 3 ในรูปขวามือออก แต่ก่อนจะแงะเบอร์ 3 ได้ ก็ต้องแงะเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ออกก่อน ก็แงะตามลำดับ สำหรับเบอร์ 1 ใช้มือเปล่าแงะพอไหว แต่เบอร์ 2 อาจจะแน่นหรือไม่มีซอกพอจะให้นิ้วหรือเล็บเกี่ยว หรือระวังเล็บหัก ทั้งสองอันแงะได้ง่ายถ้ามีชะแลงพลาสติกสำหรับแงะ panel รถ ซึ่งแอร์ฟิลเตอร์บางยี่ห้อเค้าให้มาด้วย (อันสีส้มอะ)

   
เบอร์ 3 นี่เอาออกไม่ยาก (ใส่คืนเข้าไปยากกว่า) เค้ายึดอยู่ด้วย push pin 1 ตัว (ลูกศรชี้รูปซ้าย) บนเสา Pillar A ส่วนหลังสุดของชิ้นนี้ที่เป็นแนวนอนมีเดือย 1 อัน (รูปกลาง - วงกลม) ยึดกับกาบกระไดขึ้นรถ ด้านหน้าเป็นเดือยแบน ๆ 2 อันเสียบอยู่กับช่องเค้าด้านหน้าเฉย ๆ เวลาถอดก็ต้องแง้มยางขอบประตูและแงะส่วนหลังก่อนโดยยกแผ่นขึ้นบนให้เดือยหลุดจากเบ้า แล้วค่อยดึงส่วนหน้าของชิ้นหน้าไปยังทิศทางด้านหลังรถ แล้วเค้าก็จะหลุดออกมาง่าย ๆ แผ่นนี้เกะกะหน่อยเพราะชิ้นใหญ่ เป็นรูปตัว L

 
หลังจากแผ่นที่ 3 หลุดออกไป ก็แงะหมุดยึดตรงนี้ (ลูกศร รูปซ้าย) ที่พื้นที่ยึดพื้นพรมรถกับคอนโซลตรงกลางออก แล้วก็จะสามารถตลบพื้นพรมพร้อมก้อนโฟม foot rest ให้พับไปด้านหลังให้พ้นทางแบบนี้ได้เลย (รูปขวา)

 
พอตลบพื้นพรมและก้อนโฟมออกไปก็จะเห็นฝาปิดช่องสำหรับเปลี่ยน filter เหน่ง ๆ จะไขสกรูตัวบน (หรือด้านล่าง) ก็ง่าย ๆ  ผนังตรง firewall ด้านหลังแป้นเหยียบเบรกเหยียบคันเร่งก็มี imprint คำว่า RHD หราอยู่  สงสัยกลัวคนงานที่โรงงานจะร้อยสายไฟผิดด้าน

 
ไม่น่าเชื่อว่าแค่แผ่นกรองอากาศแค่นี้ยังต้อง Made in Germany โรงงาน giga shanghai ก็อยู่ที่จีน (ของเรามาจาก Giga Shanghi) น่าจะใช้ของในประเทศเพราะเราเชื่อว่าฟิลเตอร์ aftermarket ทั้งหลายนี่น่าจะ Made in China ทั้งหมด ฟิลเตอร์อันเดิมของเราที่ดึงออกมานี่ดูดีมาก (ถ้าไม่จับขึ้นมาดม) จำได้ว่าของสโนว์ (Mercedes C350-e) พอครบปีเปลี่ยนออกมา ดูดำชะ  ของฝรั่งที่เราดูในคลิปบางคนดึงออกมามีขี้ดิน ขี้ทราย ขนนก เศษใบไม้ อ้วกแตก ของเราอาจจะได้อานิสสงค์จากแผ่นกรองที่เราแปะไว้ตรง air plenum ทางเข้าอากาศใต้ฝากระโปรง อะไรจะเข้ามามันก็ติดตรงนั้นก่อนล่ะ 1 ชั้น เหลือแต่ความชื้นกับละอองน้ำเท่านั้น

 
 
พอเทียบ side by side ระหว่าง filter ของเทสล่าซี่ง made in Germany กับ Tesmanian's filter ซึ่ง made in China ต้องขอบอกเลยว่าของเทสล่าดูดีกว่าจมเลย มันมีน้ำหนัก ตัวแผ่นกรองมันดูหนาบึ้กบักและและดูมีหลายชั้น (แต่ไม่ได้เกรดเป็น HEPA) จับขึ้นมาก็รู้เลยว่ามันหนักกว่า ชั่งน้ำหนักก็หนักกว่า แต่ของจีนที่เราซื้อมาโม้ว่าเป็น HEPA แต่ดีไซน์เค้าแชร์ความหนากับ activated charcoal อีกด้าน (ที่เป็นรวงผึ้ง) ทำให้ pleated filter sheet มันก็คงได้ absolute surface area ไม่เท่ากับพับให้มันเต็มความหนาของแผ่นไส้กรอง แต่จะเห็นว่าของใหม่มันพับถี่กว่า เราก็ไม่รู้ว่าถ้าคลี่ออกมาใครจะกว้างกว่ากัน โอกาสจะกักเก็บความชื้นหรือความเหม็น ของใหม่น่าจะน้อยกว่า เพราะดูแผ่นกรองไม่ได้หนาเท่าไหร่ 

 
ก่อนจะฉีดโฟมล้างคอยล์เย็นเราก็สอดกล้องงูเราเค้าไปแอบดูข้างใดว่าหน้าตาเป็นยังไง ก็จะเห็นรวงผึ้งคอยล์เย็นหน้าตาอลู๊อลูมิเนียมอยู่แประติดกับ filter เลย แต่เค้าก็ดูสะอาดสะอ้านดีนะ จะไม่สะอาดได้ไง ก็ filter มันดักไว้หมดแล้ว ด้านล่าง (รูปขวา) ก็เห็นช่องระบายน้ำชัดเจน

 
เราก็พยายามสอดส่องดูว่าจะฉีดโฟมตรงไหนบ้างไรบ้าง แอบมองดูผนังด้านนู้น (ด้านตรงข้าม) เผื่อจะมาเจาะย้ายช่องทาง access ไปด้านนู้น จะได้ทำงานสะดวก แอบส่องไปด้านหน้าหรือด้านบนหาว่าอากาศเข้ามาจากทางไหน เพราะเราไม่สามารถสอดอะไรลอดรวงผึ้งคอยล์เย็นออกไปได้ เค้าวางเต็มพื้นที่ รูปขวา อาจจะแอบมองเห็นตะแกรง ๆ ด้านบน อันนั้นน่าจะเป็นที่อากาศเข้ามาก่อนจะกรองผ่าน filter

 
เราก็พยายามจะเอากล้องงูสอดช่องมุดรูสำหรับ drain น้ำ ปรากฎมันยัดลงไปไม่ได้ไกล ดูก็ไม่รู้เรื่อง ก็เลยถ่ายรูระบายน้ำแบบใกล้ ๆ (รูปซ้าย) จะสังเกตว่าเค้าทำเป็น slope จากด้านหน้ารถไปหลังรถ (ด้านคอยล์เย็น) ตรงส่วนนี้คือส่วนที่ filter มันวางแประอยู่ แถมใน slope ยังทำเป็น channel ให้น้ำเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา แอบขำ  ส่วนรูปขวาคือ blower อันนี้ถ่ายจากปล่องเป่าลมแอร์ใส่เท้าคนขับ ซึ่งเป็นช่องที่เราถอดเอา air duct ออกไป อันนี้น่าจะเป็น blower หลังฟิลเตอร์ และหลังคอยล์เย็น

 
 
พอส่องดูจนสาแก่ใจก็ถึงเวลาฉีดโฟม  สาย hose เราประดิษฐ์เองต่อกับสเปรย์โฟมของจีนราคากระป๋องละ 35 บาท ใช้งานได้ดีแต่นิ่มไปหน่อย คราวหน้าต้องดามไม้ปักลูกชิ้นหรือเข็มนิตต้ิง แต่เราก็สามารถกวาดพ่นไปได้ทั่ว เดิมทีกระบะพลาสติกสีขาวจะเอามารองน้ำข้างล่างแต่มันดันสอดไม่เข้า (ท้องรถมันเตี้ยอยู่สูงจากพื้นไม่มาก) ถ้ารองน้ำล้างมาดูได้ก็จะได้เห็นว่าน้ำมันดำแค่ไหน ถ้าดำมากจะได้พ่นกระป๋องที่สอง ตอนพ่นใหม่ ๆ ก็โฟมฟองฟอด เกือบจะล้นฝาช่องออกมา หลังจากผ่านไปสัก10 นาที+ เค้าก็เร่ิมจะยุบลง สลายตัวแต่ก็ยังไม่ยอมหมดซะที สุดท้ายก็เลยต้องเปิดระบบปรับอากาศแต่เปิดเฉพาะพัดลมเป่า (เบอร์ 10 เลย) สักประมาณ 10 นาที แล้วก็ส่องเข้าไปดูอีกทีก็ไม่เห็นคราบโฟมเหลือ (รูปขวาล่าง) วิธีคอนเฟิร์มอีกทางก็คือดูใต้ท้องรถว่าไม่มีน้ำหยดแล้ว

 
 
จุดน้ำหยดกลับไม่อยู่บนแผ่น skid plate มันไหลรินลงบนแผ่นปะใต้ท้องแบตเตอรี่เลย เสียดายไม่ได้รองน้ำหยดมาดูว่าดำแค่ไหน เราก็ใส่ filter ที่ซื้อมาเข้าไป ทำตามลูกศรชี้ซึ่งเค้าให้หันเอาด้าน charchoal ไว้ด้านหน้ารถ ซึ่งก็แปลก เห็นญี่ห้ออื่นเค้าจะผ่านแผ่นกรองก่อนแล้วค่อยผ่าน charcoal เพื่อดูดกลิ่น พอเสร็จทุกอย่างก็แปะแผ่น panel และ air duct คืนลงไป เรียงลำดับ reverse ให้ดี เนื่องจากเราเคยแกะตรงนี้มาก่อน ก็ไม่ยากเย็นมาก แต่จำได้ว่าครั้งแรกที่แกะแล้วใส่กลับนี่งงมาก ๆ 3 ชิ้นเนี้ยะ

  
ในบรรดา panel ที่แกะทั้งหมด เราว่าไอ้เจ้าแผ่นเนี้ย inner pillar -A panel ติดคืนเข้าไปยากที่สุดเพราะเธอมีส่วนแนวนอนซึ่งต้องอยู่ใต้ยางขอบประตู แต่ก็อีก ตรงเนี้ย เคยแกะหลายรอบตอนทำประตูดูดได้ เราก็พบเคล็ดลับว่า ก็แงะขอบยางประตูขึ้นมาก่อน ไม่ต้องรอบวง แค่ส่วนที่เค้าจะต้องทับกับแผ่นนี้ แล้วก็จะเข้าได้ง่ายขึ้น ชิ้นนี้ต้องดันไปข้างหน้าให้เงี่ยงสองอัน (รูปก่อนหน้านี้) ตรงช่องของเค้า แล้วถึงจะกดเงี่ยงด้านแนวนอนที่ปลายหลังสุดให้ลงล็อก แล้วก็เสียบขอบยางประตูคืนไป


แล้วเราก็ได้อากาศบริสุทธิ์คืนมา ปราศจากกลิ่นเหม็น ไม่ต้องมาอบโอโซนบ่อย ๆ อีก เด้วรอหน้าฤดูฝุ่นมาจะทดสอบ HEPA filter อีกที วัดตอนนี้ก็ได้ 0 แต่ข้างนอกเค้าก็ไม่ได้เยอะมากเท่าไหร่ ที่ต้องลุ้นต่อไปก็คือ จะหายเหม็นไปได้อีกนานแค่ไหน เมื่อไหร่มันจะกลับมาเหม็นอีก




 

Create Date : 10 สิงหาคม 2565
0 comments
Last Update : 21 สิงหาคม 2565 21:54:28 น.
Counter : 1746 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

gollygui
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]






space
space
[Add gollygui's blog to your web]
space
space
space
space
space