รูปบล็อคนอก
Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
27 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 
อุปลมณี 07 ศีลของสงฆ์ ตอนที่ 3



๒. ข้อวัตรปฏิบัติ


กิจวัตรในชีวิตประจำวัน




ตะแกรงร่อนพระเณร
ข้างในตื่น ข้างนอกเต็ม
ตื่นแต่ดึก ลุกแต่เช้า
ระวังเปรตหลอก
เตือนด้วยเสียงกระแอม
กิจวัตรตอนบ่าย
งานอย่างนี้หาได้ที่ไหน
โยมเขามองอยู่
ทำวัตรเย็น...
ไม่ยอมยก (เว้น) วัตร
ไม้สีฟัน...





กิจวัตรในชีวิตประจำวัน


ตะแกรงร่อนพระเณร


การหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิก พร้อมเพรียงกันทำกิจของสงฆ์ เป็นหัวข้อธรรมหนึ่งในอปริหานิยธรรม ๗ ประการ ที่หลวงพ่อได้ใช้เป็นหลักการเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีในคณะสงฆ์วัดหนองป่าพง การทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิ ร่วมกันทั้งเช้าและเย็นก็ดี การร่วมกันทำกิจส่วนรวมก็ดี เป็นข้อวัตรที่ฝึกการเสียสละทั้งเวลา และทิฐิมานะ หลวงพ่อได้ถือเอากิจวัตรประจำวันเป็นเครื่องสอบอารมณ์ วัดความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจของตน เช่น ความรู้สึกเมื่อได้ยินเสียงระฆังทำวัตรเช้าตอนตีสาม กับเสียงระฆังฉันน้ำปานะตอนเย็นเหมือนกันหรือไม่ กิจวัตรประจำวันช่วยให้เห็นความกระตือรือร้น ความเบื่อหน่าย ความสงบ ความไม่สงบ ว่าเป็นแค่อารมณ์ที่เกิดแล้วดับไปเท่านั้น ไม่ควรหลงเชื่อว่าเป็นตนหรือของตน ทั้งช่วยให้การปฏิบัติมีอยู่สม่ำเสมอทุกอิริยาบถ การปฏิบัติกรรมฐานเช่นนี้ จึงไม่จำเป็นต้องให้ครูบาอาจารย์มาคอยสั่งสอบอารมณ์ลูกศิษย์อยู่ร่ำไป เพราะกิจวัตรข้อวัตรคือ “ตะแกรงร่อนพระเณร” เป็นเสมือนกระบวนการกลั่นกรองเลือกเฟ้น เฉพาะพระเณรผู้ฝักใฝ่ในสัมมาปฏิบัติ ผู้มีจิตใจปรารภความเพียรอย่างไม่หวั่นไหวในอารมณ์ต่าง ๆ เท่านั้นจึงจะทนอยู่ได้ และจะประจักษ์ผลของความเพียรในที่สุด หลวงพ่อได้กล่าวถึงอานิสงส์ของการปฏิบัติข้อวัตร จากประสบการณ์ของท่านว่า

“สมัยก่อนผมไปอยู่เมืองเหนือได้ไปอยู่กับพระแก่ ๆ พระหลวงตาเพิ่งจะบวชกันพรรษา ๒ พรรษา ผม ๑๐ พรรษาแล้วไปอยู่กับพวกคนแก่ ผมตั้งใจปฏิบัติข้อวัตรมาก ช่วยท่านเหล่านั้นรับบาตร รับจีวร เทกระโถน ทำอะไรต่อมิอะไรสารพัดอย่าง ไม่ได้คิด ว่าทำให้องค์นั้นองค์นี้ แต่คิดว่าเราทำข้อปฏิบัติของเรา ใครไม่ทำเราก็ทำ เป็นกำไรของเรา เป็นเรื่องที่สบายใจ ภูมิใจ พอถึงวันอุโบสถเราก็เข้าไปปัดกวาดในโบสถ์ ตั้งน้ำใช้ น้ำฉัน พวกที่ไม่รู้เรื่องมันก็เฉย แต่เราก็ไม่ว่าเขา เพราะเขาไม่รู้จัก อันนี้ก็ถือเป็นการปฏิบัติได้ เราทำไปตัวเราก็ภูมิใจ ถึงเวลาเดินจงกรมสบาย ภาวนาก็สบาย มันดีมีกำลัง เพราะข้อวัตรของเรามันมีกำลังมากหนุนส่งมา”





กิจวัตรในชีวิตประจำวัน


ข้างในตื่น ข้างนอกเต็ม


ในระหว่างการทำกิจวัตร ข้อวัตรต่าง ๆ หลวงพ่อสอนให้สำรวมกิริยาอาการภายนอก ส่วนในใจนั้นก็ให้เจริญภาวนา ท่านบอกว่าทุกสิ่งที่เราทำ มันจะไหลออกมาจากส่วนลึกภายใน ถ้าภายในตื่นอยู่ ทำอะไรก็จะไม่มีการขาดตกบกพร่อง

“ที่ไหนเราทำได้ควรทำ ที่วัดของเรา ที่กุฏิคนอื่นก็ดี กุฏิเราก็ดี ที่สกปรกรกรุงรังให้รีบทำเลย ไม่ต้องทำเพื่อใคร ไม่ต้องทำเอาหน้าเอาตาหรอก ทำเพื่อข้อวัตรปฏิบัติของเรา ถ้าเราทำได้เช่นนั้น ก็เหมือนกับว่าได้กวาดของสกปรกออกจากใจของเราอย่างนั้น เพราะเราเป็นผู้ปฏิบัติ อันนี้ให้มีอยู่ประจำใจของเราทุก ๆ คน แล้วความสามัคคีไม่ต้องให้มาร้องเรียกกันให้มาก อะไรที่เป็นงานหนักงานหนาให้มาช่วยกันทำ อะไรที่ช่วยกันก็ไม่นานหรอกเดี๋ยวก็แล้ว ผมเคยได้พบเรื่องการเอารัดเอาเปรียบเหมือนกัน แต่ผมกลับได้กำไร ไปอยู่ด้วยกันมาก ๆ เอ้า! วันนี้ย้อมผ้ากันนะ เราก็ไปฟันแก่นขนุน ต้มน้ำ พระเณรบางองค์พอต้มเสร็จก็เอาผ้าของตัวมาซักมาย้อม แล้วก็หนีเลย เอาผ้าตาก ไปกุฏินอนสบาย ไม่คอยช่วยเก็บช่วยล้าง เขาคิดว่าเขาสบายแล้ว แต่อันนั้นมันโง่ที่สุด เพื่อนเขาทำแล้วเราไปชุบมือเปิบ ดูเถิดอันนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย กิจที่ควรทำไม่ทำ หลบได้เป็นดีที่สุด อย่างนี้ก็อยู่ร่วมกันไม่ได้”





กิจวัตรในชีวิตประจำวัน


ตื่นแต่ดึก ลุกแต่เช้า


เหง่ง! เหง่ง! เหง่ง!
ตีสามแล้ว นกกายังละเมอหลับไหลอยู่ แต่พระเณรที่วัดหนองป่าพงต้องรีบกระวีกระวาดลุกขึ้นทันทีที่เสียงระฆังแรกในวันนั้นดังขึ้น บางรูปก็ตื่นก่อนด้วยซ้ำ ขืนนอนบิดซ้ายบิดขวา คงไม่แคล้วเสียท่ากิเลส ถูกมันฉุดให้นอนต่อจนตีสี่ ตีห้า แล้วก็พลาดการประชุมในตอนเช้าแน่ ๆ สัญญาระฆังจึงมีความหมายสำหรับชีวิตในวัดป่า ซึ่งกิจส่วนรวมทุกอย่างถูกกำหนดด้วยเสียงระฆัง พระหนุ่มเณรน้อยที่มีปัญหาในการตื่นตอนเช้าบางรูปหาอุบายแก้ไขตนเอง โดยไปขออนุญาตเป็นคนตีระฆังเสียเลย

“กิจวัตรภายในเราอย่าให้มันผิด การตีระฆังนี่ก็สำคัญ เขาตีให้คนได้ยิน รู้จักไหม? ตีระฆังทำไม? ตีให้ผีบ่? เขาตีให้พระเณรในวัดนี้ได้ยิน ทุกคนให้คิดอย่างนั้น ระฆังนี่เป็นสิ่งที่สำคัญ ผู้ที่อยู่ใกล้กันที่ไหนใครขัดข้องไม่ได้มา เจ็บไข้ก็ให้บอก วันนี้ผมไม่ได้บิณฑบาตผมเป้นไข้ แน่ะ! จะได้รู้ จะได้จัดอาหารจัดหยูกจัดยาให้ มันไข้ขนาดไหน ถ้าไม่บอกใคร มันก็ไม่รู้จักหรือตายแล้วก็ไม่รู้ จนเน่านั่นแหละจึงจะเห็นกัน ให้มันรอบคอบ อาศัยกันได้ในเรื่องอย่างนี้”

การประชุมเนืองนิตย์เป็นหลักสำคัญของวัดหนองป่าพง เป็นวิธีเสริมสร้างความสามัคคีในคณะสงฆ์ การประชุมแรกของวันใหม่เริ่มตั้งแต่ตีสาม ด้วยการทำวัตรสวดมนต์ และนั่งสมาธิ ซึ่งหลวงพ่อเห็นว่าเป็นอุบายที่ดีในการฝึกผู้ใหม่

“เราจะต้องตื่นมาให้ทันภิกษุสามเณรลงมารวมทำวัตร เพื่อระงับนิวรณ์ทั้งหลาย ความง่วงเหงาหาวนอน ความขี้เกียจขี้คร้านมักง่ายต่าง ๆ ก็จะได้ฝืนมัน มาก็พอดีได้ทำวัตร ทำวัตรสวดมนต์เสร็จแล้ว ก็นั่งชำระนิวรณ์ จากนั้นก็ทำความสะอาด จัดอาสนะ แล้วจึงไปเที่ยวบิณฑบาต ได้บุญมาก การทำวัตรนี่ และจะเป็นเหตุให้เราได้มารวมกัน ได้มาประชุมกัน ได้มาพร้อมเพรียงกัน กำจัดความขี้เกียจทั้งหลายออก การทำวัตรประชุมกันนี้ อย่าได้ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ทุกวันนี้ลองดูซิ ถ้าเลิกการทำวัตรนี่ อ้าว! ผมว่ามันจะเสื่อมเร็ว ๆ นี้แหละ”





กิจวัตรในชีวิตประจำวัน


ระวังเปรตหลอก


พระอาจารย์สุริยนต์ได้ปรารภถึงการทำวัตรสวดมนต์ให้ฟังว่า

“ทำวัตรสวดมนต์นี้เป็นกิจวัตรที่สำคัญ หลวงพ่อท่านให้เอาใจใส่ไม่ให้ขาดประชุม พอระฆังดังขึ้น ให้รีบไปก่อนเคาะระฆังเสร็จ ถ้าไปถึงขณะที่เพื่อนกำลังนั่งทำสมาธิอยู่ ให้ระวัง อย่าให้มีเสียงสวบ ๆ สาบ ๆ ของที่อยู่ในย่ามเช่นแก้วน้ำ ช้อน มีด เวลาสะพายเข้าไปในศาลาให้เอาผ้าเช็ดหน้าพันไว้ อย่าให้มีเสียงดังก๊อกแก๊ก ถ้าไม่ระวัง หลวงพ่อท่านจะดุเอา ท่านว่ามันเป็นเปรตแล้วหลอกเพื่อนทั้งกลายคืนทั้งตอนเช้า เวลาเดินเข้าศาลาต้องเงียบและเบาจนกระทั่งเพื่อนที่นั่งอยู่ก่อนไม่รู้ว่าเราเข้าไป หลวงพ่อท่านสอนเรื่องการปฏิบัติอยู่เสมอว่า ให้ตื่นตัวให้ว่องไวไม่ให้เฉื่อยชา ไม่ใช่ว่าได้ยินเสียงระฆังดังแล้วก็นอนเลยไปจนถึงตี ๔ ตี ๕ ข้อนี้ท่านตำหนิมากจริง ๆ บางองค์กลับมาจากบิณฑบาตแล้วจึงไปเอากาน้ำเชิงบาตรที่กุฏิของตน ถ้าท่านเห็นจะถูกดุใหญ่ทันทีว่า ขี้เหร่มาก เหลวเละเฉื่อยชามาก ไม่ได้ความเลย ขนาดทำวัตรก็ไม่มากับเพื่อนแล้วจะได้เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาหรืออย่างนี้ กลางคืนเอาแต่นอน หลวงพ่อท่านตำหนิมากทีเดียว พระเณรก็พยายามระวังกัน

ทำวัตรสวดมนต์แล้วพระภิกษุสามเณรนั่งสมาธิ จนกระทั่งได้เวลาประมาณตี ๔ ไหว้พระแล้วร่วมกันทำความสะอาดหอฉัน จัดอาสนะฉัน เตรียมตัวออกบิณฑบาต โดยที่พระผู้มีพรรษาน้อยหรือสามเณร คอยช่วยครูบาอาจารย์ครองผ้าเพื่อออกบิณฑบาต คือห่มจีวร ห่มซ้อนด้วยสังฆาฏิ และกลัดรังดุมให้เรียบร้อย จากนั้นนำบาตรของท่านออกไปรออยู่ที่ทางเข้าหมู่บ้าน เมื่อจะเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้านจึงค่อยส่งบาตรให้ท่านด้วยความเคารพ เสร็จจากการบิณฑบาตก็เข้าไปขอโอกาสรับบาตรจากท่าน แล้วรีบกลับวัดโดยไม่ชักช้า เพื่อเตรียมถวายการล้างเท้า เช็ดเท้า และพับผ้าสังฆาฏิให้ท่าน ถ้าจีวรมีเหงื่อมากก็นำออกไปตากให้แห้ง จากนั้นก็คอยรับประเคนบาตร จากผ้าขาวหรือสามเณร แล้วถ่ายเอาข้าวและอาหารที่บิณฑบาตได้ส่งไปโรงครัว เพื่อทางโรงครัวพิจารณาจัดนำมาถวายใหม่ รวมกับอาหารที่ทำเพิ่มเติม”





กิจวัตรในชีวิตประจำวัน


เตือนด้วยเสียงกระแอม


ก่อนถึงเวลาฉัน พระภัตตุเทศก์ คือพระซึ่งทำหน้าที่แจกอาหารก็จะมาตักอาหารทุกชนิดทั้งคาวหวาน ใส่ลงในบาตรของแต่ละรูป เมื่อได้ยินสัญญาณระฆังจากหลวงพ่อแล้วจึงเริ่มฉัน พระอาจารย์สุพรได้เล่าบรรยากาศในโรงฉันสมัยนั้นให้ฟังว่า

“เมื่อพระเณรเข้ามาในโรงฉันแล้วจะไม่ได้ยินเสียงพูดคุยกันเลย ถ้าใครพูดคุยส่งเสียงท่านจะเตือน เวลาเตือนท่านไม่พูด ใช้การกระแอมแทน เสียงกระแอมของท่านมีอำนาจมากเหมือนเสียงเสือร้อน พระเณรกลัวมาก เวลารับนิมนต์ไปฉันนอกวัดก็เหมือนกัน

ถ้าเห็นความไม่เรียบร้อยท่านจะกระแอมทันที ถ้าท่านไม่ถามอะไรขึ้นมาแล้วจะไม่มีการพูดคุยกันเลย มีบ้างนาน ๆ สักครั้งหนึ่ง บางองค์เผลอเรอพูดเสียงดังออกมา ท่านได้ยินแล้วจะดุทันที เว้นแต่เป็นพระอาคันตุกะหลวงพ่อจะไม่ดุ แต่ถ้าเขาไปแล้ว หลวงพ่อก็จะหยิบยกขึ้นมาชี้ให้พระเณรดูเป็นตัวอย่างว่า พระที่ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน ไม่ได้ผ่านการประพฤติปฏิบัติมามีลักษณะเป็นอย่างนี้ เมื่อถึงเวลาฉัน แม้การเคี้ยวก็ต้องคอยระวัง ไม่ให้มีเสียบจู๊บ ๆ จ๊าบ ๆ เสียงช้อนกระทบกับบาตรก็ไม่ให้มี จะเก็บกระโถน เก็บกาน้ำ ก็ต้องระวังไม่ให้มีเสียงกระทบกัน

เวลาฉันท่านยังสอนให้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร กะว่ายังเหลืออีกประมาณ ๓ คำจะอิ่ม ให้หยุด แล้วฉันน้ำตามลงไปจะพอดี ถ้าอิ่มมากจะเกิดความง่วงซึมเซา พาให้ขี้เกียจทำความเพียร ก็จริงของท่าน ถ้าอิ่มมากแล้วอืดอาด ขี้เกียจเดินจงกรม บางทีกลับยังไม่ถึงกุฏิก็อยากจะนอนแล้ว มันจะล้มตั้งแต่นั่งอยู่ในหอฉันด้วยซ้ำ

ถึงเวลาอันควร พระอุปัฏฐากจะหยุดฉัน เพื่อรีบถวายไม้สีฟัน และช่วยล้างมือพระเถระ นำบาตร แก้วน้ำ กระโถนของท่านมาด้วย เพื่อเตรียมไปล้าง เมื่อได้ยินสัญญาณระฆังอีกครั้งจึบกราบพระพร้อมกัน จากนั้นก็ออกไปล้างบาตร เช็ดให้แห้งผึ่งแดดสักครู่จึงใส่ถลก เมื่อเรียบร้อยแล้วก็เข้ามารวมพร้อมกันในหอฉันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อรับฟังโอวาท หรือการมอบหมายภารกิจที่จะต้องทำในวันนั้น จากนั้นก็แยกย้ายกันกลับกุฏิ กลับไปถึงกุฏิ ให้เก็บบริขารและตากผ้า แล้วหลวงพ่อจะสั่งว่า “เดินจงกรม อย่าไปนอนล่ะ”





กิจวัตรในชีวิตประจำวัน


กิจวัตรตอนบ่าย


ครั้นถึงเวลาบ่าย ๓ โมง พระภิกษุสามเณรออกทำความสะอาดบริเวณวัด ปัดกวาดเช็ดถูศาลา หอฉัน โบสถ์ บางวันหลวงพ่อพาพระเณรทำงานก่อสร้าง หรือซ่อมแซมบูรณะเสนาสนะ แต่โดยปกติงานหลักคือ การตักน้ำ หามน้ำ และการกวาดลานวัด

“ปฏิบัติทำความเพียรต่างพร้อมเพรียงกัน กิจวัตรตักน้ำหามน้ำก็รีบช่วยกัน แล้วการกวาดตาดนี่ ไม้กวาดต้องหาใครหามัน เตรียมไว้ของใครของมัน มัดให้ดีเก็บไว้ที่กุฏิใครกุฏิมัน รักษาเอาไว้ พอตีระฆังปุ๊บ วันนี้กวาดตาดกันนะ เท่านั้นแหละ มีไม้กวาดติดมือมา ไม้กวาดนี่ท่านจะมัดให้ดี และเก็บไว้ที่กุฏิอย่างเรียบร้อย เก็บรักษาอย่างดีไม่ให้เปียกฝน”






กิจวัตรในชีวิตประจำวัน


งานอย่างนี้หาได้ที่ไหน


พระอาจารย์รูปหนึ่ง ได้เล่าถึงคำสอนของหลวงพ่อเรื่องกิจวัตรประจำวันให้ฟังเพิ่มเติมดังนี้

“ถึงเวลาบ่าย ๓ โมงก็เคาระระฆัง ร่วมกันทำกิจวัตร ตักน้ำใส่ตุ่มทั้งน้ำใช้น้ำฉัน ตักใส่ห้องน้ำห้องส้วม ที่กุฏิหลวงพ่อ แล้วก็ตามกุฏิพระเณร ตักใส่ตุ่มไว้ล้างบาตรบ้าง ตักใส่ห้องน้ำห้องส้วมที่โยมใช้บ้าง ทั้งยังต้องคอยดูแลรักษาความสะอาดด้วย นอกจากนี้ก็มีการปัดกวาดเช็ดถูศาลาโรงธรรม หอฉันอีกด้วย หลวงพ่อท่านสอนว่า ให้ทำไปเถิด นี่เป็นกิจที่เราพึงกระทำ งานเช่นนี้หาทำยาก เราจะไปหาทำที่ไหนคงไม่ค่อยจะมี ท่านจะไปรังเกียจทำไมกับแค่งานล้างส้วมนี่ ถ้าโยมเขาไม่ทำความสะอาด ก็ต้องเป็นหน้าที่พระเณรเราที่อยู่ที่นี่แหละ จะต้องเป็นผู้ดูแลรักษา โยมเขามาใช้เดี๋ยวเดียวเขาก็กลับ มันเป็นงานที่หายากนะ อีกทั้งเราจะได้ปฏิบัติธรรมด้วย ได้ฝึกหัดฝึกฝืนทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ เป็นการขัดเกลากิเลสออกจากใจของเรา”





กิจวัตรในชีวิตประจำวัน


โยมเขามองอยู่


วันหนึ่งหลวงพ่อได้อบรมศิษย์ว่า

“ทำการทำงาน ทำกิจวัตร อย่าไปมีชั้นมีเชิง มีไหวมีพริบ ตัวไม่ได้ทำมากมันดี อย่าไปคิดอย่างนั้น อันนั้นแหละกิเลสละ จิตใจพระเณรไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ควรแก้มัน ให้รู้จักมัน ให้ทันจิตของเรา มันจึงจะไม่เกิดโทษ เราอยู่ไปจึงจะเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาทั้งภายนอกภายในดูให้มันคุ้ม ญาติโยมเขาก็จะเพ่งพระเพ่งเจ้าสารพัดอย่างทุกวันนี้ ให้ทุกคนพากันดู ไม่เช่นนั้นมันจะพากันเป็นไปหมดทุกอย่างถ้าเราไม่ช่วยกัน

เรื่องกิจส่วนรวมคือเรื่องกิจวัตรโดยตรงของเรา ถ้าไปทำอะไรส่วนตัวแล้ว อย่าให้มันมาขัดกิจวัตรเรา ให้หาเวลา ถึงเวลาตีระฆังทำกิจวัตรแล้วให้มาแสดงความสามัคคี กายสามัคคีกันอยู่ในที่นี้ ให้เห็น ให้รู้จัก ธรรมดาผู้เป็นผู้ใหญ่ให้ช่วยกันดู ถ้าผู้ใหญ่ปล่อย มันก็ปล่อยเท่านั้นแหละ เด็กน้อยมันจะรู้เรื่องอะไร พวกนี้จะเอาใครเป็นตัวอย่างได้ล่ะ มันยิ่งขี้เกียจมันยิ่งขี้คร้านถ้าต้องทำแล้วไม่ได้ทำ การทำกิจวัตรนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ”

หลังจากทำงานเสร็จแล้ว บางวันประมาณ ๕ โมงเย็น ก็มีน้ำปานะให้ฉัน ซึ่งอาจมีสมอหรือมะขามป้อมด้วยเป็นบางครั้ง เพื่อช่วยแก้อาการท้องผูก หลวงพ่อเคยเตือนพระเณรเรื่องการฉันยาชนิดต่าง ๆ ว่า ต้องรู้จักเวลา

“ถ้าจะฉันสมอมะขามป้อมก็อย่าไปฉันที่กุฏิ ให้นำมาฉันที่เดียวกัน มารวมกันต้มน้ำร้อนแล้วก็ให้มาฉันรวมกันที่ศาลานี่ ถ้ามีญาติโยมพ่อแม่ของพระเณรองค์ไหนมาเยี่ยม เอาอาหารของขบฉันมาถวาย เอายามาถวาย เอามาเข้าโรงครัวนี่ รวมเลย ฉันด้วยกันทั้งหมดเลย ฉันให้เป็นกาลเป็นเวลา ไม่ใช่ว่าจะไปชวนกันฉันอยู่ที่กุฏิหลังโน้น ไปฉันที่กุฏิหลังนี้ รวมเป็นกลุ่มเป็นก้อนคุยกัน มีน้ำอ้อยน้ำตาล จะนำมาฉันเป็นกลุ่มเป็นก้อนไม่ได้ มันไม่ได้อย่างนั้น ไม่ใช่ว่าหวงแหน ขี้เหนียวหรือไม่อยากให้ฉันหรอกนะ แต่พวกเราน่ะยังไม่รู้เรื่องอะไรนั่น สมอก็ฉันน้ำอ้อยก็ฉัน น้ำตาลก็ฉัน ฉันไปฉันมา ก็เลยคุยกันไปปรัมปราเตลิดเปิดเปิงไปทั่วโลก คุยกันไปหาเรื่องโลกโลกา ชวนกันสึกไปทำอย่างนั้น สึกไปทำอย่างนี้ เสียงดังเอิกเริกเฮฮาจนลืมหน้าที่ของตัวเอง โอ๊ย! มันร้ายเหลือเกิน มันออกนอกลู่นอกทางเกินขอบเขตไปแล้ว จะกลับมาปฏิบัติเอาก็ไม่ทัน แล้วคราวนี้ ฉันพร้อมกัน เลิกพร้อมกัน มันเป็นระเบียบดี ฉันแล้วก็เลิก ช่วยกันเก็บ มันเป็นกิจลักษณะถ้าทำอย่างนั้น”





กิจวัตรในชีวิตประจำวัน


ทำวัตรเย็น...




เมื่อเสร็จจากฉันน้ำปานะแล้ว พระภิกษุสามเณรแยกย้ายกันไปสรงน้ำ และเตรียมตัวไปประชุมทำวัตรสวดมนต์เย็น นั่งสมาธิและฟังเทศน์ ซึ่งในสมัยแรกของวัดหนองป่าพง หลวงพ่อเทศน์บ่อยเกือบทุกวัน แต่ในสมัยต่อมาเนื่องจากสุขภาพไม่อำนวย ท่านเทศน์น้อยลง การสวดมนต์ก็สวดคำแปลด้วย บทที่สวดประจำคือบททำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น บทแผ่เมตตา บทอิมินา ปุญญกัมเมนะ บทอาการ ๓๒ และอภิณหปัจจเวกขณ์ บางวันสวดบทยาว เช่น ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อริยมรรค ๘ หรือปฏิจจสมุปบาท

พระอาจารย์สุขชัยเล่าว่า “บทสวดพวกนี้หลวงพ่อท่านย้ำจริง ๆ เพราะต้องการให้เราเอาไปภาวนา ตอนกลางคืนก็จะมีการอบรมพระเณร ดูแล้วรู้สึกว่าท่านมีความกระตือรือร้นมาก อยากจะให้พวกเราได้ดิบได้ดีจริง ๆ สมมุติว่าเป็นเหล็กอย่างนี้ท่านก็จะใช้ทั่งตีให้แผ่ออก ถ้าเป็นไม้ท่านก็จะถากออกให้ได้ขนาดเสียก่อนถึงจะเลื่อย ท่านเอาใจใส่จริง ๆ คนที่ทนไม่ได้ก็หนีไป ท่านจะไม่ตามใจใคร เพราะท่านต้องการฝึกให้ดีจริง ๆ
สำหรับตอนกลางวันท่านก็ไม่ให้เอาหนังสืออื่นมาดู หนังสือพิมพ์ก็ไม่ให้ดู ท่านให้ท่องเฉพาะที่กำหนด ท่องได้แล้วก็เอาไปเจริญภาวนา เดินจงกรม นั่งสมาธิ ไม่ให้คลุกคลีกัน คุยกันเอิกเกริกเฮฮา”

เลิกประชุมประมาณ ๓ หรือ ๔ ทุ่ม บางทีก็ ๕ ทุ่ม พระเณรกลับกุฏิทำความเพียรต่อ หลวงพ่อสอนว่า ไม่ควรนอนก่อน ๕ ทุ่ม ทุกวันพระก็สมาทานเนสัชิกวัตร คือไม่นอนตลอดทั้งคืน โดยร่วมกันทำความเพียรที่ศาลาไปจนถึงตี ๓ จากนั้น จึงทำวัตรเช้าต่อไปเลย มีชาวบ้านอุบาสกอุบาสิการักษาศีล ๘ ร่วมภาวนาอยู่ด้วย





กิจวัตรในชีวิตประจำวัน


ไม่ยอมยก (เว้น) วัตร


พระครูบรรพตฯ ได้เล่าให้ฟังถึงสมัยที่บรรดาลูกศิษย์ขอยกวัตรให้หลวงพ่อ แต่ท่านไม่ตกลง “การทำกิจวัตรต่าง ๆ เช่นการหามน้ำ ตักน้ำ ท่านช่วยทำหมดทุกอย่าง ถึงจะบอกให้ท่านเลิกทำ โดยลูกศิษย์จะขอยกวัตรให้เพราะสงสารท่าน จะช่วยท่าน แต่ท่านก็ไม่ยอม ได้มีการประชุมสงฆ์เพื่อขอยกวัตรให้ท่าน โดยพวกกระผมทำเองให้หลวงพ่อทำงานเบา ๆ ท่านก็บอก ไม่เป็นไร ผมยังหนุ่มยังแน่น ยังพอทำได้ ทำอย่างนี้แหละ ยังไม่ถึงกาลถึงเวลาอย่างนั้นหรอก เอาไว้ก่อน ไม่ต้องห่วงผม ท่านให้โอวาทอย่างนี้ ท่านก็ทำของท่านไปเสมอต้นเสมอปลาย”

พระอาจารย์สุเมโธผู้เป็นลูกศิษย์ชาวต่างชาติคนแรก เมื่อครั้งมาอยู่ในสำนักวัดหนองป่าพงใหม่ ๆ หลวงพ่อก็ได้ตั้งข้อแม้เอาไว้อย่างแข็งขันว่า จะไม่มีการลดหย่อนข้อวัตรให้ ท่านต้องปฏิบัติตามหมู่คณะทุกอย่าง”
“ผมเคยเล่าให้ฟังอยู่เรื่อย ๆ ในสมัยนั้นพระสุเมโธมา ชาวฝรั่งมา เราก็ไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จักท่าน ได้ยินแต่ว่าบ้านเมืองท่าน แหม! มันช่างสนุกสนานเหลือเกิน แต่เราก็ไม่เคยเห็น เรานึกไป บัดนี้เขาได้มาอาศัยเราอยู่ด้วยกัน ผมรู้สึกชักจะไม่สบายขึ้นแล้ว กลัวนะ กลัวทำไม เพราะท่านเคยสะดวกสบายมาก่อน จะมาทนลำบากลำบนอย่างงี้ได้อย่างไร ท่านตอบว่า อยู่ได้ ผมจึงตั้งเงื่อนไขว่า ผมจะไม่บำรุงท่าน อยู่บ้านท่านเคยกินขนมนมเนยสมบูรณ์ มาอยู่ในป่าผมจะไม่บำรุงท่านถึงขนาดนั้น ทำไม เพราะผมออกจากบ้านมาแล้ว จีวรบิณฑบาต เสนาสนะนั้น อาศัยคนอื่นเขาทั้งนั้น เขาให้อย่างไรก็ให้เป็นไปตามเรื่อง ตัวผมเองยังไม่ได้ตามปรารถนาเลย อย่างงั้นผมจึงไม่บำรุงท่าน จะมาอยู่ด้วยกันก็ได้ ลำบากสักหน่อย แต่ผมจะไม่บำรุงท่าน ทำไม กลัวท่านจะโง่ เข้ามาในเมืองไทยนี่ทำไม ก็ท่านมาศึกษาพุทธศาสนา มาศึกษาวัฒนธรรมของไทย อยู่เมืองไทย เขาอยู่อย่างไร เขากินอย่างไร เขาทำอะไรอย่างไร ท่านก็ควรจะต้องรู้จัก ถ้าผมไปบำรุงเรอท่านทุกอย่าง ท่านก็จะโง่เท่านั้นแหละ จะฉันแต่ขนมปังอยู่เรื่อย ท่านจะมีดีอะไรไหม บ้านเมืองไทยเขาปฏิบัติตัวกันอย่างไรไม่รู้เรื่อง เป็นเหตุให้ท่านโง่อย่างนี้ ตกลงก็อยู่กันไป ท่านก็ลำบากเหมือนกันนะ”





กิจวัตรในชีวิตประจำวัน


ไม้สีฟัน...




ไม้สีฟัน ทำจากไม้ที่มีคุณสมบัติเป็นยา เช่น ไม้โกทา สมัด ดีคน ข่อย ฯลฯ ใช้สำหรับชำระฟัน ลิ้น ปาก ให้สะอาดปราศจากกลิ่นและเศษอาหาร รวมทั้งช่วยให้ฟันแข็งแรง ลิ้นรับรสได้ดี และขจัดเสมหะ หลวงพ่อให้พระเณรฝึกทำไม้สีฟันเพื่อเป็นเครื่องสักการะบูชาครูบาอาจารย์ ในวาระสำคัญเช่น การขอนิสัย

ไม้สีฟัน เป็นเครื่องแสดงถึงความเคารพบูชาของศิษย์ต่อครูอาจารย์ จึงต้องทำอย่างประณีต ซึ่งต้องอาศัยความพากเพียร ความอดทน และใช้เวลาพอสมควร

วิธีทำโดยสังเขป

ตัดไม้เป็นท่อนขาว ๔-๘ นิ้ว ผึ่งแดดพอหมาด ๆ ถ้าแดดจัดผึ่ง ๒-๓ ชั่วโมง หากตากแดดแห้งเกินไปเมื่อทุบไม้จะแตก

การทุบใช้ไม้ใหญ่ ๆ ทุบที่ปลายให้แตกเป็นฝอยยาวสุดเล็บมือ ถ้าทุบช้า ๆ ไม้จะแตกเป็นฝอยและนุ่มละเอียดกว่าการทุบเร็ว ๆ

สางฝอยด้วยเข็มให้เรียบร้อย แล้วใช้มีดตอกเหลาด้ามให้เรียบสวย เอาฝอยที่เหลาออกจากด้ามมาขัดไม้สีฟันให้ขึ้นเงา นำไปตากแดดให้แห้งสนิทแล้วเก็บใส่ถุงพลาสติกป้องกันความชื้น (ปลายด้ามที่ทุบแตกเป็นฝอยใช้สำหรับถูฟันหรือเคี้ยว ปลายด้านที่เหลาให้แหลมใช้แคะเศษอาหารที่ติดตามไรฟัน ส่วนกลางของไม้ใช้สำหรับขูดลิ้น)






Create Date : 27 ตุลาคม 2554
Last Update : 31 ตุลาคม 2554 20:01:41 น. 0 comments
Counter : 778 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Jจุ้ย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


facebookฝากข้อความได้ครับ
Google

ฟังวิทยุออนไลครับ
ฟังวิทยุออนไลน์ กดที่รูปครับ




หลับฝันดี
๑ หลับคืนนี้ฝันดีนะที่รัก...
หลับตาพักหลับตาฝันถึงวันใหม่...
หลับคืนนี้คนดีฝันถึงใคร...
รู้บ้างไหมฉันตั้งใจฝันถึงเธอ...


Friends' blogs
[Add Jจุ้ย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.