รูปบล็อคนอก
Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2554
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
3 พฤศจิกายน 2554
 
All Blogs
 
อุปลมณี 09 สมณธรรม ตอนที่ 6




09 สมณธรรม


การปกครองหมู่สงฆ์




ในยุคที่ประชาธิปไตยเฟื่องฟู ใคร ๆ ก็มักเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่เหมาะสมที่สุดและยุติธรรมที่สุด อาจจะเป็นระบบที่สามารถประสานผลประโยชน์ของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมได้ดีกว่าระบบอื่น ๆ แต่สำหรับชุมชนนักบวชที่เรียกว่า สงฆ์ นั้น มีความแตก่างจากชุมชนอื่น ๆ ในสังคมมนุษย์อยู่หลายประการ ด้วยเหตุที่เป็นชุมชนอิสระไม่ขึ้นกับระบบและทั้งไม่ยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคม ทั้งสมาชิกของชุมชนไม่รับผลประโยชน์จากการทำงานของตน แต่เป็นอยู่ด้วยปัจจัยเฉพาะที่เกื้อกูลแก่การประพฤติปฏิบัติ ที่คนในสังคมอุทิศถวายด้วยศรัทธาเท่านั้น ฉะนั้นในวัดหรือในชุมชนสงฆ์จึงไม่มีกลุ่มผลประโยชน์ และที่สำคัญสมาชิกทุกคนของชุมชนอยู่ด้วยความสมัครใจ ด้วยเห็นอานิสงส์และด้วยจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน คือการปฏิบัติเพื่อพ้นจากความทุกข์ ทุกคนเต็มใจประพฤติตามกฎระเบียบของสงฆ์ด้วยความพอใจ และมีสิทธิทที่จะออกจากการเป็นสมาชิกของชุมชน (ลาสิกขา) เมื่อไรก็ได้

เมื่อโครงสร้างของสงฆ์อยู่ในลักษณะนี้ ตราบใดที่ผู้บริหารปกครองหมู่คณะตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในพระวินัย เรียกว่าปกครองโดยชอบธรรมหรือด้วยระบบธรรมาธิปไตยแล้ว ท่านก็ไม่จำเป็นต้องฟังเสียงข้างมากเสมอไป และการที่ลูกศิษย์มาขออาศัยในอาวาสก็ได้มอบฉันทะไว้กับท่านเจ้าอาวาสด้วยศรัทธาในสติปัญญา จึงต้องยอมรับการตัดสินของท่านเสมือนหนึ่งลูกยอมอยู่ในโอวาทของพ่อแม่ฉันนั้น

อย่างไรก็ตามพระเณรทุก ๆ รูปรวมทั้งเจ้าอาวาส ต้องปวารณาตัวไว้กับสงฆ์ว่า ถ้ามีการกระทำที่ไม่เหมาะสมด้วยประการใดก็ตาม ทุกรูปพร้อมที่จะรับฟังคำตักเตือนว่ากล่าวอยู่เสมอ และการประชุมสงฆ์อยู่เนืองนิตย์ก็เป็นโอกาสที่พระทุกรูป จะได้ยกปัญหาที่เกิดขึ้นมาปรึกษาพระสงฆ์

สำหรับการปกครองที่วัดหนองป่าพงนั้น หลวงพ่อเป็นผู้ตัดสินเองเกือบทุกกรณี แต่ท่านก็คอยฟังความเห็นของสานุศิษย์อยู่เป็นประจำ พระอาจารย์สุริยนต์ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของหลวงพ่อว่า

“ท่านจะทำอะไร ท่านจะคิดเป็นหลักไว้ก่อน เมื่อคิดได้แล้วท่านจะขอความเห็นพระเณรญาติโยมทุกคนทั้งหญิงและชาย ท่านจะถามความเห็นไปเรื่อย ถ้าท่านจะทำจริง ๆ หลักที่ท่านคิดไว้บางทีมันอาจยังบกพร่อง ท่านก็ได้ปัญญา หรือบางทีท่านก็คิดไว้มั่นคง ฟังคนอื่นพูด ท่านก็ประเมินได้ว่าท่านควรทำอย่างไร ท่านก็ทำของท่านไป การแก้ปัญหาทุกอย่างทั้งภายในและภายนอกวัด ท่านทำได้ละมุนละม่อมจริง ๆ”

แม้พระเณรแต่ละรูปจะมีความเห็นแตกต่างกันไป แต่ทุกรูปก็ยอมรับและเชื่อฟังการตัดสินของหลวงพ่อ ด้วยเคารพในคุณธรรมและสติปัญญาของท่าน

หลวงพ่อปกครองลูกศิษย์ด้วยความเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิดและทั่วถึง บางครั้งก็จ้ำจี้จ้ำไชเหมือนพ่อปกครองลูกจริง ๆ ขณะเดียวกันท่านก็พิจารณาอยู่เสมอถึงแนวทางที่จะวางรากฐานให้พระสงฆ์ที่วัดหนองป่พาง เป็นสถาบันที่มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น และสามัคคีกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่เฉพาะแต่ในเวลาที่ท่านยังอยู่เป็นหลักเท่านั้น ดังที่ท่านเคยปรารภอยู่บ่อย ๆ ว่า วัดส่วนมากที่ท่านเคยเห็นมาจะเจริญรุ่งเรืองก็ในสมัยที่ผู้ก่อกำเนิดยังมีชีวิตอยู่ พอหมดสมัยเจ้าของเดิมเท่านั้นวัดก็เสื่อมจนตั้งอยู่ไม่ได้ ดังนั้นท่านจึงคอยกำชับเตือนพระเณรอยู่เสมอไม่ให้ประมาทในขณะที่ครูบาอาจารย์ยังอยู่ มิฉะนั้นต่อไปสำนักอาจจะเสื่อมสลายไป และเพื่อให้สงฆ์มั่นคงยิ่งขึ้นหลวงพ่อจึงได้ฝึกลูกศิษย์ให้รับผิดชอบในหลาย ๆ ด้าน เช่น ส่งพระเถระออกไปรับหน้าที่ประธานสงฆ์ในสำนักสาขาต่าง ๆ เพื่อให้ท่านเหล่านั้นได้มีประสบการณ์ในงานบริหาร เป็นต้น แม้แต่ที่วัดหนองป่าพงเอง เมื่อหลวงพ่อเข้าสู่วัยชราท่านก็มอบหมายหน้าที่ต่าง ๆ ในวัดให้แก่ลูกศิษย์อาวุโสช่วยกันรับผิดชอบเช่นเดียวกัน เมื่อหลวงพ่ออาพาธหนัก การบริหารวัดจึงดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น





09 สมณธรรม


เคารพสงฆ์




ดังที่ได้กล่าวมาแล้วหลวงพ่อให้ความเคารพและให้เกียรติแก่สงฆ์อยู่เสมอ เปิดโอกาสให้พระภิกษุทุกรูปได้แสดงความคิดเห็นซึ่งท่านรับฟังด้วยความเคารพ และเป็นผู้ตัดสินเองในที่สุด การบริหารด้วยวิธีการเปิดเผยเช่นนี้ช่วยป้องกันข้อครหา หรือความแตกร้าวในภายหลังถ้าเกิดปัญหาตามมา และบางทีหลวงพ่อก็ใช้วิธีการอันนี้เป็นอุบายในการสอนลูกศิษย์ ซึ่งได้ผลอย่างชะงัดอีกด้วย คือ เมื่อท่านเล็งเห็นว่า พระภิกษุสามเณรทั้งหลายมีความคิดผิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นอันหนึ่งเหมือนกันทุกรูป ท่านจะประชุมสงฆ์ แต่ตัวท่านเองยังไม่แสดงความคิดเห็น จะนิมนต์ลูกศิษย์ที่เป็นพระเถระแสดงความเห็นก่อน บางครั้งพระทุกรูปเข้าใจว่าหลวงพ่อเห็นด้วย ต่อเมื่อหลวงพ่อพูดคัดค้านออกมาจึงมีผลกระทบมากที่สุด เหมือนนักโทษประหารติดเป้าไว้ที่หน้าอกตัวเองโดยไม่รู้สึกตัว ตัวอย่างของเรื่องนี้ได้แก่ เหตุการณ์ที่มีโยมมาขอถวายรถยนต์แก่วัด ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่า...

วันนั้นเป็นวันอุโบสถ หลังจากประชุมสวดปาฏิโมกข์แล้ว ก็เป็นโอกาสที่ได้พูดคุยปรึกษาหารือกันตามธรรมเนียม หลวงพ่อได้เล่าเรื่องที่มีโยมมาขอถวายรถยนต์ ซึ่งท่านยังมิได้ให้คำตอบแก่เขาว่าจะรับหรือไม่ และได้ถามความเห็นที่ประชุมสงฆ์ พระสงฆ์ทุกรูปต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าควรจะรับ ด้วยเหตุผลที่ว่าจะสะดวกเวลาที่หลวงพ่อจะไปเยี่ยมสำนักสาขาต่าง ๆ ซึ่งมีมากมายกว่า ๔๐ สาขา อีกทั้งเวลาพระเณรอาพาธ เจ็บป่วยก็จะได้นำส่งหมอได้ทันท่วงที หลวงพ่อรับฟังข้อเสนอของบรรดาสานุศิษย์อย่างสงบ ในที่สุดท่านก็ได้ให้โอวาทที่มีรสชาติเหมือน น้ำกรดแช่เย็นแก่ที่ประชุมว่า...

สำหรับผมมีความเห็นไม่เหมือนกับพวกท่าน ผมเห็นว่าเราเป็นพระ เป็นสมณะ คือผู้สงบระงับ เราต้องเป็นคนมักน้อย สันโดษ เวลาเช้าเราอุ้มบาตรออกไปเที่ยวบิณฑบาตรับอาหารจากชาวบ้านมาเลี้ยงชีวิตเพื่อยังอัตภาพนี้ให้เป็นไป ชาวบ้านสว่นมากเขาเป็นคนยากจน เรารับอาหารมาจากเขา เรามีรถยนต์ แต่เขาไม่มี นี่ลองคิดดูซิว่า มันจะเป็นอย่างไร เราอยู่ในฐานะอย่างไร เราต้องรู้จักตัวเอง เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าไม่มีรถ เราก็อย่ามีเลยดีกว่า ถ้ามี สักวันหนึ่งก็จะมีข่าวว่ารถวัดนั้นคว่ำที่นั่น รถวันนี้ไปชนคนที่นี่...อะไรวุ่นวาย เป็นภาระยุ่งยากในการรักษา

เมื่อก่อนนี้จะไปไหนแต่ละทีมีแต่เดินไปทั้งนั้น ไปธุดงค์สมัยก่อนไม่ได้นั่งรถไปเหมือนทุกวันนี้ ถ้าไปธุดงค์ก็ธุดงค์กันจริง ๆ ขึ้นเขาลงห้วยมีแต่เดินทั้งนั้น เดินกันจนเท้าพอทีเดียว แต่ทุกวันนี้พระเณรเขาไปธุดงค์มีแต่นั่งรถกันทั้งนั้น เขาไปเที่ยวดูบ้านนั้นเมืองนี้กันผมเรียกว่า ทะลุดง ไม่ใช่ธุดงค์ เพราะดงที่ไหนมีทะลุกันไปหมด นั่งรถทะลุมันเลย ไม่มีรถก็ช่างมันเถอะ ขอแต่ให้เราประพฤติปฏิบัติให้ดีเข้าไว้ก็แล้วกัน เทวดาเห็นเข้าก็เลื่อมใสศรัทธาเองหรอก ผมไม่รับรถยนตร์ที่เขาจะเอามาถวายก็เพราะเหตุนี้ ยิ่งสบายเสียอีก ไม่ต้องเช็ดไม่ต้องล้างให้เหนื่อย ขอให้ท่านทั้งหลายจงจำไว้ อย่าเห็นแก่ความสะดวกสบายกันนักเลย”

การบริหารแบบนี้ก็ราบรื่นมาตลอด เพราะศรัทธาที่พระภิกษุสามเณรมีต่อความยุติธรรมและสติปัญญาของหลวงพ่อ ทำให้ไม่ค่อยมีใครคัดค้านท่าน ถ้าหลวงพ่อยากปกครองสงฆ์อย่างเผด็จการก็คงไม่ยาก แต่ถึงแม้ว่าท่านเป็นผู้ชี้ขาด ท่านก็พยายามทำทุกอย่างด้วยความเห็นชอบของสงฆ์อยู่เสมอ ลูกศิษย์ลูกหาจึงได้ข้อคิด ความรู้และความภูมิใจที่ได้มีบทบาทร่วม





09 สมณธรรม


ความสามัคคีคือความสุข


หลวงพ่อเคยสอนว่า
“การเทศนาว่ากล่าวแก่พระเจ้าพระสงฆ์ แก่ญาติโยมทั้งหลายนั้นก็ให้พากันเข้าใจตระหนักเข้าไว้ อย่าให้เป็นโลกาธิปไตยหรือเป็นอัตตาธิปไตย แต่ให้เป็นธรรมาธิปไตย ให้พูดโดยธรรมะให้เป็นธรรมะ พูดธรรมะให้เป็นธรรมไม่กระทบกระทั่ง เป็นต้น แบบที่ว่าบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น คือปฏิบัติธรรมะอย่างพวกเราทั้งหลายที่อยู่ร่วมกันนี้ก็ไม่มีความสามัคคี เช่นวัดนี้อาวาสที่เราอยู่นี้เป็นอาวาสที่อยู่ในป่า ถ้าเราไม่สามัคคีพร้อมเพรียงกันเราก็จะมีความลำบาก ความผาสุกก็เกิดขึ้นไม่ได้ ธรรมาธิปไตยนั้นไม่ได้อยู่กับผู้ใด ไปตามธรรมะไปตามสัจธรรมไปตามความจริง เราจึงมีความสบาย ความสบายเกิดขึ้นมาได้ เพราะการปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ได้เอาจิตของเราเป็นประมาณ ถึงแม้จิตใจเราไม่ชอบที่จะทำอันนั้น เราก็ต้องผลักดันอัตตาของเราออกเสีย ผลักดันความรู้สึกที่เป็นโลกออกไปจากใจของเรา”





09 สมณธรรม


อธิกรณ์


“มีไม่มากนัก” พระอาจารย์เอนกเริ่มต้นพูดถึงอธิกรณ์ของวัดหนองป่าพงให้ฟังก่อนที่จะเล่าถึงวิธีพิจารณาอธิการของหลวงพ่อ “นาน ๆ จึงจะมีสักครั้งหนึ่ง เพราะส่วนมากก็เป็นผู้มีศรัทธามาบวชกันทั้งนั้น ก็พูดกันง่าย ๆ โดยเฉพาะลูกศิษย์ก็มีความเคารพและศรัทธาในหลวงพ่อมากอยู่แล้ว เมื่อหลวงพ่อพูดก็ยิ่งง่ายขึ้นอีก โดยทั่วไปเมื่อมีอธิกรณ์เกิดขึ้นท่านก็มีวิธีแก้ไขหลายวิธี แต่ก็สรุปลงในอธิกรณ์สมถะ ๗ ประการตามพระวินัยนั่นเอง แต่ท่านก็ปรับปรุงวิธีแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นกรณี ๆ ไป

มีอยู่ปีหนึ่งพระเณรมีมาก เกิดของหายขึ้นสอบถามอย่างไรก็ไม่ได้ความ ท่านก็เลยว่าจะทำพิธีกินน้ำสาบานกันทุกรูป ซึ่งเป็นพิธีที่ถือกันมาแต่โบราณว่าศักดิ์สิทธิ์มาก จะแช่งให้ตายถึงเจ็ดชั่วโครตด้วย ไม่ใช่ตายเฉพาะคนขโมยเท่านั้น แต่ก่อนจะทำพิธีก็อนุโลมให้ทุกรูปไปห่อของมาวางไว้ในที่มืดให้ครบ ของที่โดนขโมยก็มารวมกันอยู่ในนั้นด้วย ปัญหาอย่างนี้ท่านก็แก้ของท่านได้โดยที่เราคิดไม่ถึง”

พระอาจารย์สุริยนต์ได้ยกตัวอย่างการตัดสินอธิกรณ์ของหลวงพ่อให้ฟังสองเรื่องดังนี้
ถ้ามีพระทะเลาะกันท่านจะบอกว่า “พอกัน ไม่มีใครดีกว่าใคร ถ้ารูปหนึ่งดีกว่าจะไม่มีการทะเลาะวิวาทกันเลย ถ้าจะอยู่ก็อยู่กันหมด จะไปก็ไปกันหมด” นี่ท่านตัดสินอย่างนี้

“และมีอยู่ปีหนึ่งพระทะเลาะวิวาทกัน รู้สึกจะเป็นปีที่ผมมาอยู่ครั้งแรก ถึงขนาดถือมีดไล่แทงกัน หลวงพ่อไม่ได้แสดงอาการสะทกสะท้านหรือตกอกตกใจอะไร ท่านก็ยังคงพูดอยู่กับที่ของท่านนั้นเอง ผลสุดท้ายพระรูปนั้นก็กลับมา วางมีดร้องไห้เลย ท่านก็สามารถระงับด้วยดี ระยะหลัง ๆ ไม่มีอะไรมากอาจจะด้วยอำนาจธรรมะ คุณธรรมดีที่ได้สร้างไว้ ถึงมีเหตุก็ไม่มีโทษ ไม่มีพิษไม่มีภัยเป็นอันตรายสักครั้ง หลวงพ่อท่านพูดได้ ก็เลิกไปเลย วางไปเลย ท่านก็วางหมดเหมือนกัน ไม่ให้เอาเรื่องเก่ามาเล่า”

พระอาจารย์สุพรได้เคยเห็นการตัดสินอธิกรณ์อันเฉียบขาดของหลวงพ่อ ในกรณีเณรต่อยกัน ซึ่งท่านได้เล่าให้ฟังดังนี้

“สมัยนั้นผมเป็นพระที่บวชใหม่พรรษาแรก คืนวันอุโบสถหลวงพ่อก็เทศน์ พวกแม่ชีก็ออกมาฟังเทศน์ด้วย พอหลวงพ่อเทศน์จบแล้ว ขณะที่กำลังเดินกลับพอดีเณรไม่รู้มาจากไหน ออกมาตั้งแต่เมื่อไร มาต่อยกันตรงทางหอฉันที่ตรงประตูที่จะเข้าศาลา เอาไฟฉายตีกัน รุ่งเช้าแม่ชีก็มากราบเรียนหลวงพ่อในช่วงที่หลวงพ่อไปบิณฑบาต พอตอนเย็น ขณะกำลังทำวัตรอยู่ หลวงพ่อก็ให้สามเณรที่อุปัฏฐากมาสั่งว่า ให้พระเณรทุกรูปไปที่กุฏิหลวงพ่อหลังจากที่ทำวัตรเสร็จ ก็พากันไป ท่านก็เทศน์อบรมหลายอย่าง จนกระทั่งจบแล้วท่านก็เรียกเณรทั้ง ๒ รูปไปนั่งข้างหน้า ทำอะไรกันเมื่อคืน ท่านได้ไต่ถามแล้วบอกว่า ฉันสร้างวัดนี้ขึ้นมา ๒๕ ปี เพิ่งมีเณรต่อยกันเป็นคู่แรกนี่แหละ ท่านก็พูดสั้น ๆ ว่าการมาชกต่อยกันนี่ เป็นสิ่งที่ไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี่ แล้วพูดกับสงฆ์ว่า

ผมพิจารณาเห็นว่าเณร ๒ รูปนี้อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ เณรรูปหนึ่งก็บวชใหม่ นี่ก็ยังจะให้อภัยได้ เณรอีกรูปหนึ่งนั้นบวชมาตั้ง ๒ พรรษาแล้ว ก็ยังเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เขาไม่ได้ ยังมาประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ดี ผมคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะอยู่ หรือคณะสงฆ์เห็นเป็นอย่างไร

ก็ไม่มีใครกล้าพูดอะไร เมื่อหลวงพ่อพูดอย่างนั้น คิดว่าถ้าหากมีใครเห็นประโยชน์ของเณรทั้ง ๒ รูปนี้ก็อาจจะไม่ได้สึก แต่เมื่อไม่มีใครกล้าพูด ต่างฝ่ายต่างเงียบกันหมด ท่านก็เลยถามอาจารย์วีรพล อาจารย์วีรพลก็คงคิดเห็นตรงกับคำพูดของหลวงพ่อ ผลที่สุดก็เลยให้สึกในตอนเช้า ตอนแรกหลวงพ่อท่านจะพูดขู่หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ว่าจะให้สึกคืนนั้นเลย ให้นุ่งผ้าสรงน้ำเอา แต่ก็ไม่ได้สึกคืนนั้นหรอก รุ่งเช้าค่อยสึกทั้งคู่ นี่คือการตัดสินอธิกรณ์เกี่ยวกับเณรตีกัน

บางครั้งหลวงพ่อก็ใช้วิธีเผด็จการ คือตัดสินเด็ดขาดไปเลย เช่น

ในระยะหลัง ๆ นี้ ถ้ามีพระรูปไหนทำผิดทำไม่ดีมา ท่านอาจจะไล่เลย ไป! ถ้าท่านจะมาทำอย่างนี้ อย่าอยู่เลย ไปเสียอย่ามาอยู่กับผม หากางเกงมาใส่

เมื่อท่านเอ่ยปากเด็ดขาดอย่างนี้ ก็จะมีแต่ท่านอาจารย์เลี่ยมเท่านั้นที่กล้าขอร้องเอาไว้

เรื่องที่หลวงพ่อเข้มงวดที่สุดคือพระวินัย เคยมีพระต้องอาบัติหนัก และท่านเห็นว่ายังไม่เข็ดหลาบ ท่านเลยให้อยู่ปริวาส (คล้ายนักโทษ) ไปเรื่อย ๆ บางทีหลายเดือนทั้ง ๆ ที่ตามหลักพระวินัยอาจกำหนดไม่กี่วัน จนกระทั่งพระรูปนั้นยอม”

สรุปแล้ว การบริหารของหลวงพ่อทั้งเฉียบขาดและนิ่มนวล ไม่ลำเอียง ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง แต่เอาพระธรรมวินัยเป็นใหญ่ เอาประโยชน์สุขอันแท้จริงของลูกศิษย์เป็นสำคัญ





09 สมณธรรม


มอบหมาย





นอกจากการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ เพื่อให้มีปัญญาสามารถพาตัวเองพ้นจากความทุกข์ได้ตามสมควรแล้ว หลวงพ่อยังตั้งใจฝึกสอนเพื่อให้ลูกศิษย์ได้เป็นกำลังแทนท่านอีกด้วย โดยในระยะหลัง ๆ ท่านได้มอบหมายหน้าที่ในการบริหารต่าง ๆ ให้ลูกศิษย์ที่มีอายุโสในคณะสงฆ์ รับหน้าที่แทนท่าน เช่นในปี พ.ศ.๒๕๒๒ และ พ.ศ.๒๕๒๔ หลวงพ่อก็ได้จากวัดหนองป่าพงไปจำพรรษาที่อื่น เพื่อให้พระอาจารย์เลี่ยม และพระเถระรูปอื่น ได้ทำหน้าที่ในการบริหารวัดหนองป่าพง

“อย่างอาจารย์บุญชู อาจารย์เลี่ยม ผู้ท่านอาวุโสก็มอบให้ท่านปกครองคณะสงฆ์ทั้งหมด ให้ปรึกษาหารือกัน ไม่ใช่ว่ามอบให้องค์ใดองค์หนึ่งแต่ผู้เดียว แต่ส่วนใหญ่ให้ท่านช่วยกันคุ้มครอง ถ้าท่านบอกท่านเตรียมอะไร ๆ ก็ให้พิจารณาทำตามท่าน ถ้าสงสัยอะไรจะพูดกันให้มันน่าฟัง ให้มันรู้เรื่อง มีเรื่องที่ปรึกษาหารือกันก็มอบให้ท่าน พระอาคันตุกะจะไปจะมาก็มอบให้ท่านปกครอง ให้ปรึกษาหารือกันเป็นเรื่องพระเถระ คุณวีรพลก้แยกไปในเรื่องงาน เกี่ยวกับารติดต่อทางราชการ เรื่องเขียนหนังสือก็ให้รับเอาเสีย รับเอาแล้วก็ให้เพื่อนดูด้วย ไม่ใช่ว่าเอาไปคนเดียว ให้ปรึกษากันได้ด้วย อย่าให้มันขัดกัน ให้ช่วยเหลือกัน การปกครองก็เหมือนกัน อาจารย์บุญชู อาจารย์เลี่ยม จะทำอะไรก็ให้ปรึกษาคุณข่องด้วย ต่างฝ่ายต่างปรึกษาหารือกันได้ ให้เข้ากันได้ไม่ขัดข้องกัน ทีนี้เมื่อมีไฟฟ้า หรือน้ำประปาอย่างนี้ ภาระอันนี้ก็มอบให้คุณบุญมากับคุณคำพัน ให้ปรึกษากันพูดกันได้ จึงจะมีความสะดวกสบายในการงานที่ทำ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่วัดหนองป่าพงมีประโยชน์หมดทุกต้นนั่นแหละ ต้นเล็ก ต้นใหญ่ ต้นสั้น ต้นยาว ต้นคด ๆ งอ ๆ ก็มีประโยชน์ทั้งนั้น ถ้าเรารู้จักเลือกใช้ ทีนี้ถ้ามีนาคที่ต้องการเข้ามาบวชอย่างนี้ ก็มอบให้อาจารย์เลี่ยม อาจารย์บุญชูเป็นผู้ปกครองดูแล ไม่ใช่ว่าทิ้งให้องค์เดียว ถ้าเห็นไม่ดีไม่งาม ผิดพลาดอะไรก็ช่วยกันบอกเตือนได้ จะทำอะไรก็ดูให้ดี อย่าตัดหน้าตัดหลัง ถ้ามีความสงสัยในความบกพร่องของผู้ใหญ่ ก็ขอโอกาสเรียนถามได้ โดยธรรมวินัย ในสิ่งที่เหมาะสมที่ถูกที่ควร”





09 สมณธรรม


อธิวาสนา


เนื้อเรื่องในหัวข้อนี้ มาจากข้อเขียนของพระเถระรูปหนึ่งซึ่งใช้นามปากกาว่า หลวงปู่ เขียนจากประสบการณ์ของท่าน ในโอกาสที่ได้ไปจำพรรษา อยู่ในความปกครองของหลวงพ่อที่วัดหนองป่าพง

มีอยู่วันหนึ่งผู้เขียนเดินผ่านพระอาจารย์รูปหนึ่ง ซึ่งบวชมาหลายพรราแล้ว ท่านมีหน้าที่ตีระฆัง สังเกตดูสีหน้าท่านเศร้าหมอง สอบถามได้ความว่า เมื่อการประชุมสงฆ์ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหลวงพ่อ และผู้เขียนก็มิได้อยู่ในที่ประชุมด้วยนั้น คณะสงฆ์ได้ปรับอาบัติพระอาจารย์รูปนี้ที่ทำผิดระเบียบของวัดหนองป่าพงหลายครั้งหลายครา ความผิดที่พระรูปนี้ทำซ้ำซากก็คือ การที่ท่านออกปากทักญาติโยมก่อน พระอาจารย์รูปนี้ก็ทราบว่า ท่านได้ทำผิดระเบียบของคณะสงฆ์วัดหนองป่าพงจริง แต่ท่านได้ปรับทุกข์กับผู้เขียนว่าท่านมิได้ตั้งใจเลย เป็นเรื่องที่ท่านเผลอสติทุกครั้ง ซึ่งท่านเสียใจมาก และยอมให้คณะสงฆ์ปรับโทษ เพียงแต่ว่า คืนนี้คณะสงฆ์จะรอฟังคำชี้ขาดจากหลวงพ่ออีกทีหนึ่ง เนื่องจากการชี้โทษนั้นเป็นเสียงของสงฆ์หมู่มาก หลวงพ่อยังมิได้รับรู้ ท่านอาจารย์ผู้นี้ได้บอกกับผู้เขียนว่า ถ้าหลวงพ่อจะให้ผมสึก ผมก็จะสึก

หลังจากนั้น พระเณรก็ไปรวมกันที่กุฏิหลวงพ่อ ซึ่งตอนนี้ท่านก็ทราบความเห็นของคณะสงฆ์ที่มีต่อพระอาจารย์รูปนั้นแล้ว เมื่อทุกองค์กราบนมัสการท่านแล้วก็ตั้งใจฟังว่า ท่านจะตัดสินอย่างไร ผู้เขียนเองสังเกตว่าหลวงพ่อท่านเฉย ๆ เมื่อทุกรูปพร้อมกันแล้ว ท่านก็ให้โอวาทเหมือนกับเป็นเรื่องปรารภธรรมโดยปกติ โดยมิได้เอ่ยถามเรื่องราวหรือซักถามพระองค์ใดเลย ท่านเทศน์เรื่องอธิวาสนาซึ่งผู้เขียนซึ้งใจมาก จำความได้ดังต่อไปนี้

...คนเรานั้นเป็นคนเหมือนกันจริง แต่ก็ไม่เหมือนกันทั้งหมด ในด้านของพฤติกรรม เพราะเหตุปัจจัยที่ผ่านเข้ามาสร้างเป็นจริตนิสัยนั้นต่างกัน เมื่อทำอะไรบ่อย ๆ เข้า รวมเป็นนิสัย ทำซ้ำ ๆ บ่อยมากขึ้นกลายเป็นอุปนิสัย (นิสัยที่แน่นอนหรือสันดาน) อุปนิสัยก็ยิ่งพอกพูน กลายเป็นเรื่องอธิวาสนา คือเป็นพฤติกรรมประจำตัวที่แก้ไม่ได้ ผู้ที่จะแก้อธิวาสนาได้ มีเพียงพระพุทธเจ้าเท่านั้น แม้พระอรหันต์ก็ไม่สามารถแก้อธิวาสนาได้ เช่น พระสารีบุตรนั้น ท่านมีอธิวาสนาคล้ายลิง เชื่อกันว่าอดีตชาติท่านเคยเป็นลิงมาหลายชาติ ทำให้ท่านชอบกระโดด โยมที่ยังติดรูปแบบเคยนึกตำหนิความไม่สำรวมของท่าน ซึ่งน่ากลัวมาก เพราะพระสารีบุตร เป็นพระอรหันต์ที่มีปัญญามาก เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า (ผู้ใดตำหนิพระอรหันต์ บาปก็จะเข้าตัวเองเพราะพระอรหันต์เป็นผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์แล้ว) ในขณะที่พระอานนท์แม้ยังมิได้บรรลุอรหันต์ก็ยังมีกิริยานอบน้อม มีวาจาไพเราะ มีความสำรวม และความเป็นระเบียบยิ่ง สิ่งเหล่านี้ทำให้พระอรหันต์ของพระพุทธศาสนามีบุคลิกที่แตกต่างกันไป แล้วแต่อธิวาสนา แต่ทุกข์จะเหมือนกันที่ความบริสุทธิ์

สำหรับพวกเรา ซึ่งยังต้องการชำระจิตให้บริสุทธิ์อยู่ จะเห็นว่าจริตนิสัยของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนค่อนไปทางราคจริต ชอบของสวยของงาม ชอบการประดิษฐ์ปรุงแต่ง ก็จะต้องใช้ความไม่สวยไม่งามไปแก้ บางคนมีจริตค่อนไปทางโทสจริต ทำอะไรรวดเร็ว อยากได้อะไรต้องได้ดังใจอยาก เช่นนี้ก็ต้องแก้โดยการทำให้ช้าลง ส่วนโมหจริตนั้นเป็นพวกที่ไม่สามารถเข้าใจธรรมขั้นละเอียดได้ ส่วนศรัทธาจริตที่ค่อนข้างจะเป็นโมหะมาก ๆ ก็มักจะเชื่อง่าย ชอบอภินิหาร ชอบการลองของ พุทธิจริตหรือมีจิตมีปัญญาจะชอบสอน พบใครเห็นเป็นเด็กนักเรียนจะแนะนำด้วยความหวังดีเสมอ จริตทั้งหลายนี้แม้ผิวเผินจะต่างกันแต่โดยสัจธรรมจะเหมือนกันในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตา ความที่ไม่อาจยึดมั่นหมายมั่นได้ เปรียบได้กับมะนาว พริก อ้อย บอระเพ็ด ทุกอย่างเกิดจากดิน แต่รสจะต่างกัน มะนาวมีรสเปรี้ยว พริกมีรสเผ็ด อ้อยมีรสหวาน ส่วนบอระเพ็ดมีรสขม สิ่งเหล่านี้เหมือนกันคือ เกิดมาจากดิน แล้วมันยังต้องตายเหมือนกัน เราจะหารสเผ็ดจากมะนาวก็ไม่ได้ จะหารสขมจากน้ำตาลอ้อยก็ไม่ได้ กินเปรี้ยวเกินไปก็ถ่ายท้อง กินหวานเกินก้ปวดตามข้อ กินบอระเพ็ดมากเกินก็มีลมออกหู เช่นเดียวกับพระสารีบุตรมีปัญญามาก พระโมคคัลลานะมีฤทธิ์มาก พระสิวลีมีลาภมาก แต่ละองค์มีเอตทัคคะแตกต่างกัน แต่เหมือนกันในแง่ของความบริสุทธิ์

อย่างพระอาจารย์ทองรัตน์ คนไม่ค่อยจะชอบท่าน แต่เมื่อผมไปกราบนมัสการท่าน ท่านทักว่า “ชามาแล้วหรือ” ด้วยสำเนียงอ่อนโยน ผมก็แปลกเหมือนกัน บางทีท่านทำแผลง ๆ พระจะปรับอาบัติท่าน ท่านรู้ล่วงหน้าบอกว่า “เอาเลยมาปรับอาบัติผม” วันหนึ่งกำลังเดินแถวบิณฑบาตอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ปรากฏว่า ท่านโดดออกนอกแถว ไปเตะแพะตัวหนึ่งบอกว่า “นี่...มึงสิขวิดพ่อกูเบาะ” (นี่...มึงจะขวิดพ่อกู) ปฏิปทาของท่านเป็นเช่นนี้ คนธรรมดาเข้าใจยาก

คราวหนึ่ง ชาวบ้านคิดจะแกล้งท่านหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ บอกถวายปลาเป็น ๆ ที่เพิ่งตกได้ ปากยังร้อยด้วยหวายอยู่เลย ปรากฏว่าท่านรับบาตรและเอาไปปล่อย ท่านพูดกับปลาว่า “ดีนะลูกที่เขายังไม่ฆ่าเจ้า” เวลาท่านมรณภาพ ในย่ามของท่านมีมีดโกนเล่มเดียว นอกนั้นไม่มีสมบัติอื่น เมื่อตอนเผาเกิดลมพายุฝนตกอย่างหนัก ครูหนึ่งแล้วหายไป พอให้เห็นเป็นอัศจรรย์

ที่ยกเรื่องเหล่านี้มาก็เพื่อให้พวกท่านเห็นความแปลกบางทีก็ไม่แปลก เป็นเรื่องธรรมดา เพราะทุกชีวิตก็ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทุกคน ดังนั้นเราจงอย่าเก็บอะไร ให้เป็นการหนักอกหนักใจตนเองเลย ปฏิบัติธรรมแล้วต้องทำให้เกิดเบาใจ อะไรผิดก็แก้กันไป ผิดไปแล้วก็แล้วไป ให้เห็นว่าเป็นมายาที่ผ่านไป ให้ท่านมีสติปัญญาพิจารณาทุกอย่างให้เห็นเป็นธรรมดาอยู่เช่นนี้ ทุกอย่างแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัยของมันเช่นนั้น อะไรที่แก้ไขไม่ได้ ก็ขอให้คิดว่าเป็นเรื่องของอธิวาสนา แม้ผมเองบวชมานี่ ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมาเป็นครูบาอาจารย์ของใคร แล้วอธิวาสนาก็ผลักพามาให้เป็นครูสอนพวกท่าน มาร่วมปฏิบัตะรรมกับท่าน เราก็จะปฏิบัติไปอย่างนี้แหละ คือปฏิบัติให้เป็นศีลวัตร สมาธิวัตร ปัญญาธิกวัตร และเคารพพระวินัยให้มากที่สุด ส่วนเรื่องปลีกย่อยขาดเกินบกพร่องไปบ้าง ก็ต้องถือว่าเป็นธรรมดา แม้แต่สบงจีวรที่นุ่งห่มกันอยู่ ก็มีที่ยาวไป สั้นไป เมื่อมาใช้กับตัวเรา ความจริงจีวรนั้นไม่ยาวไม่สั้น แต่มันจะยาวไป สั้นไป ก็เมื่อเราครองจีวรเท่านั้น แต่เราก็มีปัญญาปรับให้พอดีกับตัวเราได้ เราจะไปยึดว่าจีวรต้องเข้ากับตัวเราพอดีก็ไม่ได้ ต้องปล่อย ต้องปลงไป เพราะเป็นเรื่องที่ต้องควรปล่อย แต่ถ้าบางเรื่องต้องถือ ก็ถือให้ถูกต้องตามธรรมวินัย อย่าใช้อารมณ์พอใจหรือไม่พอใจของเราเข้าไปตัดสิน กลายเป็นอารมณ์อยู่เหนือธรรมะไป ทำอะไรจึงต้องรอบคอบ ต้องใช้ปัญญา เล็กไปบ้างใหญ่ไปบ้าง ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง แต่ถ้ายังถูกต้องตามพระวินัย ก็น่าจะปล่อยไป

พระเซน ๒ รูปเถียงกันเรื่องธงไหว องค์หนึ่งว่าลมเป็นปัจจัยทำให้ธงไหว อีกองค์ว่าธงต่างหากทำให้เกิดการเคลื่อนไหว เถียงกันไปเถียงกันมา ตกลงกันไม่ได้ ต้องร้อนถึงอาจารย์ตัดสิน ซึ่งอาจารย์ก็กล่าวว่าจิตของท่านต่างหากที่ไหว ไม่ใช่ลมหรือธงอย่างที่พระเซน ๒ รูปเถียงกัน

พระอาทิตย์อยู่ใกล้โลกที่สุดตอนไหนของวัน องค์หนึ่งว่าตอนเช้าซิ เพราะดวงโตที่สุด อีกองค์ว่าตอนกลางวัน เพราะร้อนที่สุด เถียงกันไม่มีแพ้ไม่มีชนะ ต้องร้อนไปถึงอาจารย์ให้ช่วยตัดสินอีก อาจารย์ถามว่า ท่านฉันหรือยัง ให้ไปฉันข้าวดีกว่า เช่นนี้เป็นต้น

พวกเราก็เหมือนกัน อย่าพยายามตั้งเรื่องอะไรที่มันต้องลำบากใจตนเอง ให้พอใจกับการปฏิบัติ พอใจกับธรรมะ อย่าพอใจกับการสอดสู่ดูความบกพร่องของผู้อื่น นั่นเป็นเรื่องของกิเลส อะไรเกิดก็ให้รู้ รู้แล้วละเสีย ธรรมชาติก็เป็นเช่นนี้เอง อย่าคิดให้เกินเลย ต้องคิดให้พอดี ดีแล้วนะที่พวกเราเอาใจใส่หมู่พวก ดูแลชี้ข้อบกพร่องกันตลอดเวลา เพราะเราอยู่ด้วยความรัก ความเมตตา อยู่กันด้วยกายกรรมเคารพนับถือกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง พูดกันก็มีเมตตาชี้แจงกันด้วยความปรารถนาดี สาธารณูปโภคก็แบ่งกันตามมีตามได้ ให้ใช้ประโยชน์ใช้สอยร่วมกัน นี่แหละจึงจะเรียกว่า พวกเรามีศีลสามัญญตา มีทิฏฐิสามัญญตา ยึดถืออุดมการณ์ อุดมธรรมที่จะพ้นทุกข์ร่วมกัน ขออนุโมทนาทุก ๆ องค์ที่ใช้สติปัญญาตรองตามนี้

จากนั้นท่านก็ทักทายพระรูปนั้นรูปนี้เป็นการส่วนตัว แล้วก็เลิกประชุมไปตามปกติ เมื่ออกมาจากที่ประชุม พระอาจารย์รูปนั้น มีสีหน้าสดชื่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผู้เขียนเข้าไปทัก ท่านบอกว่า รู้สึกเคารพรักหลวงพ่อมากขึ้น ที่ตนไม่สบายใจ ก็เพราะคิดว่าตนเองเป็นสาเหตุที่จะทำให้หลวงพ่อไม่สบายใจ แต่ก็ไม่เห็นท่านผิดปกติอะไร ทุกอย่างปกติและมีเมตตาเหมือนเดิม ผมก็เลยสบายใจ พระรูปนั้นกล่าว





09 สมณธรรม


สังฆทานสูงกว่า


เป็นธรรรมดาที่ศรัทธาของญาติโยม มักเป็นศรัทธาในตัวบุคคล ชาวบ้านเลื่อมใสครูบาอาจารย์ผู้มีคุณธรรมสูงก็หลั่งไหลไปถวายไทยทานแก่ท่าน แต่ไม่ค่อยสนใจพระภิกษุสามเณรบวชใหม่ สำหรับที่วัดหนองป่าพงก็เช่นเดียวกัน แต่หลวงพ่อไม่เคยสนับสนุนศรัทธาประเภทนั้น ท่านไม่มีความต้องการในเรื่องบริษัทบริวารเลย แต่ท่านพยายามโน้มน้าวศรัทธาของโยมให้ตั้งอยู่ในพระสงฆ์ เพราะท่านตระหนักว่า การยึดติดในตัวบุคคลเป็นอุปสรรคต่อการประพฤติปฏิบัติ นอกจากเป็นนโยบายในการสอนญาติโยมแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นความเคารพที่หลวงพ่อมีต่อสงฆ์ และช่วยทำให้พระภิกษุสามเณรสำนึกถึงความสำคัญของสถาบันที่ตนเองเป็นส่วนประกอบ พระอาจารย์รูปหนึ่งได้เล่าถึงปฏิปทาในเรื่องนี้ของหลวงพ่อว่า

“บางครั้งญาติพี่น้องของท่าน เอาสิ่งของหรืออาหารมาถวายท่านโดยเฉพาะอย่างนี้ บางทีท่านก็รับเอาบ้าง บางทีก็สละให้สงฆ์ไปเลย ท่านพูดว่า

ผมเคยอยู่กับเขามานานแล้ว เคยกินเคยใช้ของพ่อแม่พี่น้องมาตั้งแต่เล็ก ๆ แล้ว เขาเอามาให้ผม ๆ ก็ถวายให้สงฆ์ไป เพื่ออนุเคราะห์แก่เขา เขาจะได้รับประโยชน์อานิสงส์จากการถวายทานสงฆ์มากกว่าที่จะถวายเฉพาะผม”

ท่านเจ้าคุณพระมงคลกิตติธาดาได้เล่าเรื่องแปลกเรื่องหนึ่งให้ฟังดังนี้
“ผมไปอยู่กับท่านในปี ๒๕๑๒ ปีนั้น เกิดมีตัวด้วงตัวหนอนลงกินข้าวในนาแถวอำเภอพิบูลฯ อำเภอเดชฯ ชาวนาเขาก็เลยแห่กันมาขอน้ำมนต์จากหลวงพ่อ ท่านบอกว่า

โอ๊ย มาขอกับอาตมา คนเดียวไม่ดีหรอก โน่น! ไปเอากับสงฆ์โน่นดีกว่า สงฆ์มีอำนาจมากกว่าอาตมาอีก

แล้วท่านก็บอกให้พวกเขาหาตุ่มใส่น้ำมนต์ไปตั้งไว้หน้าพระประธานที่จะจุดธูปเทียน โยงด้ายสายสิญจน์จากพระประธานไปที่ตุ่มให้พระสวดมนต์ก่อนค่อยมาเอาน้ำมนต์ ถึงเวลาพวกผมก็พากันทำวัตรสวดมนต์แผ่เมตตาไป วันหลังเมื่อชาวนาจากอำเภอพิบูลฯ มารับน้ำมนต์ ท่านก็สั่งว่า

อย่าไปแช่งไปด่านะ พูดี ๆ บอกว่า เออ! ขยับขยายหนีเสีย ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ได้กินก็ลำบาก ข้าพเจ้าหากินเลี้ยงชีพ ทำทานถวายพระเจ้าพระสงฆ์ด้วย

มีชาวนาคนหนึ่งฐานะดีหน่อย หัวเราะเยาะพวกไปขอน้ำมนต์จากวัด พร้อมกับบอกว่า

น้ำมนต์ขวดเดียวจะประสาอะไร กูเอาโฟลิดอลฉีดยังไม่หนีเลย
ต่อมาอีกคืนหนึ่ง พวกตัวด้วงตัวหนอนก็ออกจากนาข้าวของผู้พรมน้ำมนต์ แต่ไปลงกินข้าวในนาของอีตาคนนั้นหมดเลย เป็นเรื่องแปลกเหมือนกัน ไม่น่าเชื่อแต่มันก็เป็นไปแล้ว เพราะเขามาเล่าให้หลวงพ่อฟัง ท่านก็ยิ้มบอกว่า มันอยากประมาทก็ยังงั้นแหละ...”

หลวงพ่อบริหารสงฆ์โดยให้ความเอาใจใส่ดูแลลูกศิษย์อย่างใกล้ชิดและทั่วถึง เหมือนพ่อที่คอยจ้ำจี้จ้ำไชลูก แม้พระจะอยู่ที่วัดหนองป่าพง จะไปอยู่ตามสาขา หรือจะออกธุดงค์ หลวงพ่อเป็นผู้ตัดสิน ทุกสิ่งทุกอย่างในวัดขึ้นอยู่กับหลวงพ่อ

ในระยะหลัง ๆ หลวงพ่อคอยฝึกให้ลูกศิษย์รับผิดชอบในเรื่องการบริหารมากขึ้น เพื่อให้มีประสบการณ์ในการช่วยตัวเอง ไม่ให้พึ่งหลวงพ่อจนเกินไป แต่ตลอดเวลาที่ท่านทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง หลวงพ่อเป็นเหมือนเสาเอกของสถาบันสงฆ์ การบริหารวัดก็ตรงตามหลักพระธรรมวินัยไม่มีผิดเพี้ยน และทุกรูปที่มีความคิดเห็นต่าง ๆ ซึ่งเป็นธรรมดา ก็ยอมรับและเชื่อฟังท่าน









Create Date : 03 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2554 17:29:48 น. 0 comments
Counter : 540 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Jจุ้ย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


facebookฝากข้อความได้ครับ
Google

ฟังวิทยุออนไลครับ
ฟังวิทยุออนไลน์ กดที่รูปครับ




หลับฝันดี
๑ หลับคืนนี้ฝันดีนะที่รัก...
หลับตาพักหลับตาฝันถึงวันใหม่...
หลับคืนนี้คนดีฝันถึงใคร...
รู้บ้างไหมฉันตั้งใจฝันถึงเธอ...


Friends' blogs
[Add Jจุ้ย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.