รูปบล็อคนอก
Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2554
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
3 พฤศจิกายน 2554
 
All Blogs
 
อุปลมณี 09 สมณธรรม ตอนที่ 1




09 สมณธรรม


ชีวิตพรหมจรรย์



ครูบาอาจารย์บางรูปมีลูกศิษย์ฝ่ายสงฆ์จำนวนมาก แต่ลูกศิษย์ฝ่ายคฤหัสถ์มีจำนวนน้อย หลายรูปก็ตรงกันข้าม บางรูปก็มีลูกศิษย์มากทั้งสองฝ่าย หลวงพ่อเป็นรูปหนึ่งในกลุ่มสุดท้ายนี้ที่น่าสังเกตก็คือ ท่านให้ความสำคัญแก่ศิษย์นักบวชมากกว่าแก่ญาติโยมอยู่เสมอ ตลอด ๒๕ พรรษาที่ท่านได้บริหารวัดหนองป่าพงในฐานะเจ้าอาวาส หลวงพ่อได้ถือการฝึกสอนพระภิกษุสามเณรเป็นงานหลัก เพราะท่านตระหนักดีว่า ความเจริญของพระพุทธศาสนาอยู่ที่คุณธรรมในจิตใจของชาวพุทธมากกว่าอย่างอื่น ในเมื่อพระสงฆ์เป็นผู้ที่กล้าเสียสละความสุขทางโลก เพื่อแสวงหาธรรมด้วยความตั้งใจจริง หลวงพ่อจึงเห็นพระเณรเป็นผู้ที่ท่านควรเอาใจใส่เป็นพิเศษ อนึ่ง ท่านเห็นว่าการอบรมสั่งสอนคฆฟัสถ์เป็นหน้าที่ที่สำคัญของครูบาอาจารย์ก็จริง แต่ถ้าทุ่มเทมากไป เวลาที่อยู่กับสงฆ์ก็น้อยลง ทำให้พระภิกษุสามเณรที่บวชใหม่รู้สึกขาดความอบอุ่น ขาดการอบรม ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อการประพฤติปฏิบัติของหมู่สงฆ์ ฉะนั้น แม้ในสมัยหลัง ๆ เมื่อสังขารท่านชราแล้ว และหลวงพ่อให้เวลาแก่ญาติโยมค่อนข้างมาก ท่านก็ยังให้เกียรติและความสำคัญแก่นักบวชเป็นอันดับแรกอยู่นั่นเอง

จะขอเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการอบรมพระภิกษุสามเณรที่วัดหนองป่าพง เริ่มด้วยโอวาทที่หลวงพ่อให้แก่นาคผู้ขอเข้าหมู่สงฆ์

โอวาท – ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง

“เมื่อมีความเลื่อมใสมาบวชแล้วในวัดหนองป่าพงนี้ บวชยาก บวชลำบาก ก็ไม่ใช่ว่าอะไรหรอก คืออยากจะทำให้ดีน่ะแหละ ที่พวกเธอทั้งหลายมุ่งเข้ามาบวชนี้ ก็มุ่งอยากจะบวชดี ประพฤติดี ปฏิบัติดี ถ้ามีศรัทธาเราต้องใช้เวลา เวลานี้เป็นสิ่งสำคัญ เวลานี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า มันเป็นยังไงไหม บางทีก็อยากจะบวช แต่มันนานกว่าจะได้บวช ก็เลยไม่อยากจะบวช บางทีก็อยากจะบวช อยู่ที่นี่ก็อุตส่าห์ทน หรือบางทีก็หนีไปบวชที่อื่น เราก็ไม่ว่า เพราะเราพูดเสมอว่า การบวชนี้ไม่ใช่ว่าบวชเล่น ถึงแม้เราบวชเจ็ดวัน หรือเดือนหนึ่งก็ตามที หรือบวชเพื่ออุทิศต่อพระศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ไม่ใช่บวชแข่งขันกัน ไม่ใช่บวชเล่น

การบวชนี้ทำได้ง่าย เอาลูกมาแล้วก็เอามาเถอะ ทำกันง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่มีอะไร ฉะนั้นบางคนก็บางทีสองปีก็มีสามปีก็มี จึงจะได้บวชเป็นเณร บวชเป็นนาค แล้วก็เรียกว่า ต้องมาฝึก ฝึกบวช ผู้ที่ฝึกบวชก็ต้องมาอยู่กับพระ ดูแลพระ รู้จักถวายของพระ รู้จักเรื่องของพระว่าเป็นอยู่ด้วยวิธีใด ให้คุ้นเคย ให้รู้จักเสียก่อน ให้ฝึกหัดการเย็บผ้า การย้อมผ้า การรักษาผ้า การรักษาบาตร สารพัดอย่าง จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช ที่พระอาศัยน่ะท่านทำอย่างไร เป็นอย่างไร เมื่อเราเห็นชัดด้วยตนเองแล้ว เราก็ต้องใจชอบแล้ว จะบวชอยู่แล้ว อันนี้ก็เป็นเหตุ

เมื่ออะไร ๆ ก็เป็นแล้ว ก็มาบวชเข้าไปเป็นเณร จะได้เอาบาตรใส่มือให้ จะได้ห่มผ้าเรียบร้อย เข้าไปบิณฑบาตในบ้าน ผ้านี้เป็นของใช้ของพระพุทธเจ้า ลองซิ พรุ่งนี้จะห่มผ้าเข้าไปบิณฑบาต เรียกว่าเขาตักบาตรให้... ให้ข้าวสุกเราด้วย แล้วก็ไหว้เราด้วยสารพัดอย่าง คนเฒ่า ๆ แก่ ๆ น่ะ หัวหงอกหัวขาว จะต้องไหว้เพราะอะไร เพราะว่าอำนาจของผ้ากาสวพัสตร์นี้ ผ้ากาสาวพัสตร์นี้มีอำนาจที่สุด ถ้าหากเราใช้ไม่ถูกทางแล้ว เสียคน คนตามบ้านไปห่มผ้าเป็นบ้าเลย ใส่เข้าบ้านไหน เขาว่าบ้าทั้งนั้น

ทีนี้ถ้าเราบวชมีครูบาอาจารย์ เราก็ต้องเป็นคนดี เป็นผู้มีจรรยา เป็นผู้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า ถ้าเราห่มผ้าย้อมฝาดนี้แล้ว อะไร ๆ เขาบูชา เขาน้อมไหว้ทุกสิ่งสารพัด อันนี้เป็นอำนาจธงชัยของพระพุทธเจ้า ให้เรารู้จัก
ฉะนั้นเธอทั้งหลาย เมื่อบวชเข้ามาแล้ว ห่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้ว ให้สลดสังเวช ถึงแม้ว่าจะบวชคราวเดียว ๙ วัน ๑๐ วัน ๒๐ วันก็ตามทีเถอะ ให้ตั้งใจดี ๆ การบวชการบรรพชาในพุทธศาสนานี้ คำสอนอย่างอื่นนั้น มากมายหลายอย่าง แต่ว่าคำสอนในวันนี้ เฉพาะการบรรพชาในวันนี้นะไม่มาก ทำตามพระโบราณาจารย์ของเราที่ท่านทำไว้ ให้เราเรียนกรรมฐาน เช่นว่ากรรมฐานทั้งห้า คือ เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ฟังท่านพูดแล้วดูเป็นของเล่น ๆ แต่ถ้าเราพิจารณาให้ดีแล้ว มันเป็นของลึกซึ้งทีเดียว ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ทั้ง ๕ นี้ พระกรรมฐานที่เกิดแล้วพร้อม ที่เราเกิดมามีกรรมฐานแล้ว แต่เราไม่รู้จัก จำเป็นต้องเรียนมูลกรรมฐานนี้ เพื่อเป็นปากเป็นทางแห่งกรรมประพฤติปฏิบัติเดินตรงไปสู่นิพพาน นี่เป็นสัมมาทิฏฐิ ท่านให้เรียนมูลกรรมฐานนี้แล้วเอาไปพิจารณา

ฉะนั้นวันนี้พวกเธอจึงเรียนพระกรรมฐาน เป็นภาษามคธดังต่อไปนี้ ว่าตาม เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ บางคนเขาว่า เขามีแล้วเรียนไปทำไมใคร ๆ ก็รู้จัก แต่ความจริงมันไม่รู้จัก ไม่รู้จักผม ไม่รู้จักขน ไม่เห็นผมเจ้าของตามความเป็นจริง ไม่เห็นขนตามความเป็นจริง ไม่เห็นเล็บตามความเป็นจริง ไม่เห็นฟันตามความเป็นจริง ไม่เห็นหนังตามความเป็นจริง เรื่องเห็นนี้ผมนี่นะเกิดขึ้นมา ตามเป็นจริงมันก็น่าอุจาดเหมือนกันนะ มันเกิดมาจากไหน มันดูดกินน้ำเหลืองที่เกิดมาเป็นผมขนนี้ก็เหมือนกัน สิ่งทั้งห้าประการนี้ไม่น่าสดใสนะ แต่พวกเราไม่ค่อยเห็น ที่เขาแต่งกันทุกวันนี้มันแต่งที่มันบกพร่อง แต่งที่มันไม่สวย ก็เพราะมันสกปรกมากที่สุดแหละ เขาจึงไปแต่งเพื่อให้มันดี

ความเป็นจริง ผมมันจะสวยอะไรไหม ไม่มีเรื่องสวยหรอก มันจะสะอาดไหม ไม่มีเรื่องสะอาด จับผมมาขมวด ๆ แล้วทิ้งไว้ข้างทางใครจะหยิบเอาไหม หนังนี้ถลกมันขึ้นมาเอาทิ้งไว้ข้างถนน ไปบิณฑบาตพรุ่งนี้ใครจะหยิบเอาไหม นี่คือความจริงมันเป็นอย่างนี้ เรามาแต่งผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้มันสวยสะอาด พวกเราจึงเป็นคนหลง ไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริง ฉะนั้นเมื่อบวชเข้ามานี้ ก็ให้ยกสิ่งทั้งห้าอย่างนี้ขึ้นมา ผมนี่มันไม่สวย ขนก็ไม่สวย เล็บก็ไม่สวย ฟันมันก็ไม่สวย หนังมันก็ไม่สวย แต่ว่าเขาเอาแป้งเอาอะไรประให้มันสวยทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นเราจึงหลงกัน ไม่เห็นตามความเป็นจริง อะไรทั้งหลายที่ถูกปกปิดไว้ไม่ให้โผล่ขึ้นมา เราก็ไม่เห็น

ท่านจึงทำการสอนให้มันแจ้ง สาธิตให้มันแจ้ง ขาวสะอาด เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ มันเป็นอะไรยังไง ให้มันชัด ให้เอากรรมฐานทั้งห้านี้ไปพิจารณาดู หนังเป็นยังไง ที่มันหุ้มร่างกายของเราอยู่ที่นี่ ถ้าเราฉีกหนังออกเหลือแต่เนื้อหุ้มกระดูก มันจะสวยตรงไหนล่ะ ทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อดูไปถึงที่สุดของมันแล้ว มันไม่สวยอย่างนั้น ในก้อนนี้อาศัยผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันเป็นของไม่แน่นอนทั้งนั้น แต่เรานี้มันชอบหลงที่เขาตกแต่งผม ตกแต่งเล็บ ตกแต่งสารพัด คือของไม่สวยทำให้มันสวยขึ้นมา แล้วก็หลงกัน มันเห็นไม่ชัด มันก็หลง อย่าปลามันกินเบ็ดน่ะเห็นไหม ความเป็นจริงปลามันไม่กินเบ็ดหรอก มันกินเหยื่อ ถ้ามันเห็นเบ็ดจริง ๆ แล้ว มันไม่กินหรอกปลาน่ะ ไปเกี่ยวปากมันลองซิ เพราะมันไม่รู้นี่

พวกเราทั้งหลายก็เหมือนกัน ถ้าเห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่เอานะ จะแบกไปทำไม ไม่เอาแน่ คนที่ไปติดเพราะหลง หลงว่าไอ้ผม ไอ้ขน ไอ้เล็บ ไอ้ฟัน ไอ้หนังมันเป็นของเลิศ ของประเสริฐ เป็นของสวยทั้งนั้นแหละ เหมือนกับปลานะที่ว่ามันกินเบ็ด ความจริงมันกินเหยื่อ แต่ไม่รู้เรื่อง พอกินเข้าไปแล้วเบ็ดก็เกี่ยวปากมัน อยากจะออกขนาดไหนมันก็ออกไม่ได้ มันติดแล้วนี่ เราก็เหมือนกัน เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ เมื่อเห็นมัน ชอบมัน หลงเข้าไปติดเบ็ดอันนั้น เมื่อรู้สึกตัว มันก็เกาะปากแล้ว จะออกก็ออกยาก มันห่วงลูก ห่วงสมบัติ ห่วงอะไรสารพัดอย่าง เลยไม่ได้ไปไหน อยู่อย่างนั้นแหละจนตาย มันถูกเบ็ดเกี่ยว มันไม่รู้ เหมือนกับปลาที่มันหลงน่ะ ไม่รู้จักเหยื่อ ไม่รู้จักเบ็ด ถ้ามันรู้จักเบ็ดจริง ๆ แล้ว ก็ไม่กินเบ็ด เท่านั้นแหละ

อันนี้ก็เหมือนกัน เราไปติดในโลกเพราะเห็นทั้งห้าประการนี้ว่ามันสวย มันเลิศ มันประเสริฐ มันถึงอยู่กัน จึงไปชอบสิ่งที่สลดสังเวชสยดสยองทั้งหลายเท่านั้น ความจริงมันเป็นเรื่องนิดเดียว ไม่ใช่มาก เรื่องเบ็ดมันเกี่ยวปากปลาเท่านั้นแหละ ให้เอาไปคิดดูให้มันดี ๆ เมื่อพิจารณาย้ำไปย้ำมา เห็นชัดแล้วมันจะมีความสบายใจ ถึงแม้ว่าสึกไปเพราะความจำเป็น อันนี้มันก็จะระวัง ระวังว่ามันจะเกี่ยวปากเอา อันนี้จะได้ความสงบ เมื่อเราสึกไปก็ดี บวชต่อไปก็ดี ให้มีความสงบ เพราะเห็นธรรมอย่างแท้จริงว่ามันเป็นอย่างนี้ ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะมีเวลาน้อยก็ช่างมันเถออะ พยายามพิจารณา อย่าประมาท อันนี้เป็นกรรมฐานโดยย่อที่เธอทั้งหลายจะต้องเรียนให้รู้ ให้กลัว ถ้าคนไม่กลัวก็เพราะมันไม่รู้จักอะไร ๆ นั่นเอง

เมื่อเธอบวชเข้าในพุทธศาสนาแล้ว จงเชื่อฟังครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอน เคารพ คาระวะ กลัวพระพุทธเจ้า กลัวกฏของพระพุทธเจ้าของเรา คือศีล ศีลนี้เป็นกฎหมายของพระที่ท่านห้ามไว้ทุกอย่างแล้ว ของเณรท่านก็ห้ามไว้แล้ว จะต้องพยายามที่สุดให้กลัวอย่างนั้น กลัวความผิด กลัวบาป กลัวกฎของพระพุทธเจ้าที่ตรัสห้ามไว้ พวกเธอทั้งหลายจะอยู่ด้วยความสงบสุขอยู่ด้วยความไม่ประมาท ถ้าเราพิจารณาอยู่เสมออย่างนั้น ต่อนี้ไปจะมอบผ้าจีวร ผ้าย้อมฝาดให้ ซึ่งเป็นธงชัยของพระอรหันต์เจ้า ไปห่มข้างนอก ห่มเป็นปริมณฑล ทั้งสบง ทั้งจีวร ให้งดงาม”





09 สมณธรรม


บวชเพื่ออะไร






“เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า การครองเรือนคับแคบ
เป็นทางมาแห่งธุลี (กิเลส) บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง

การที่ฆราวาสจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์สมบูรณ์โดยส่วนเดียว
ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต”

สมัยก่อนชายไทยเมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปี พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะจัดการให้ได้อุปสมบทตามประเพณี ครอบครัวไหนมีลูกชายได้บวช พ่อแม่ก็ภาคภูมิใจ ถือว่าได้เกาะชายจีวรขึ้นสวรรค์ ลูกชายที่บวชก็ถือว่าได้ทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ นอกจากนั้นการบวชยังเป็นคุณวุฒิแถมพิเศษสำหรับผู้ชายที่ต้องการมีคู่ครองเป็นหลักเป็นฐานอีกด้วย จนดูเหมือนจะมีสูตรสำเร็จของการดำเนินชีวิตของผู้ชายไทยสมัยก่อนว่าจะต้องเรียนจบ มีงานการทำเป็นหลักแหล่ง บวชเรียนแล้วอีกด้วย จึงจะถือว่าเป็นผู้พร้อมที่จะก้าวไปสู่ชีวิตครอบครัว คนโบราณเขาเรียกผู้ที่ได้ผ่านการบวชแล้วว่าเป็นคน “สุก” ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้บวชแม้จะได้ผ่านขั้นตอนอื่น ๆ ของชีวิตมาครบเครื่องก็ยังถือว่าเป็นคน “ดิบ” อยู่นั่นเอง

ในปัจจุบันการปฏิบัติตามประเพณีการบวชของผู้ชายไทยนับว่าลดน้อยลงไปมากทีเดียว ทั้งนี้ อาจจะเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ แต่สาเหตุสำคัญอันหนึ่ง น่าจะมาจากการขาดความเข้าใจอย่างถ่อแท้มาตั้งแต่แรก ถึงจุดมุ่งหมาย หรือวัตถุประสงค์อันแท้จริงของการบวช ซึ่งไม่ใช่สักแต่ว่าทำตามประเพณี สมัยปัจจุบันจึงหาผู้มีความศรัทธาในการออกบวชเพื่อานิสงส์จริง ๆ ได้ยาก “บวชเพื่ออะไร” คนที่ยังไม่ได้บวชอาจจะสงสัย แม้คนที่บวชแล้วบางคนก็อาจจะยังไม่กระจ่าง มีคำตอบที่แจ่มแจ้งชัดเจนที่สุดในโอวาทสั้น ๆ ของหลวงพ่อดังนี้

“เราบวชเข้ามา ไม่ใช่ว่าจะมักใหญ่ใฝ่สูง ปฏิบัติเป็นนั้นเป็นนี้ บวชมาเพื่อให้หมดทุกข์ในใจของเรา ถ้าอยากเป็นนั้นเป็นนี้มันทุกข์ ไม่ให้เป็นอะไร พระนิพพานก็ไม่ต้องอยากไป ปฏิบัติอยากจะไปพระนิพพานมันก็เป็นทุกข์เข้าไปอีก คนเราไม่รู้จัก จะต้องฟังคำครูบาอาจารย์แล้วเอาไปพิจารณา ทำอยู่ในนี้มันไม่ไปไหนหรอก ฉะนั้นการบวชในที่นี้ก็เรียกว่า บวชกันให้มีเหตุผล จะบวชสามเดือน ก็ต้องมาปรึกษากันพอสมควร ว่าบวชอะไร เพื่ออะไร บวชเดี๋ยวนี้มันไม่ได้อะไร โง่ก็ไม่อยากทิ้งของชั่ว ชอบเอาความชั่วไว้ในใจ แต่ธรรมะช่วยเปิดได้ เปิดให้เห็นความชั่ว เห็นความผิด แต่ปุถุชนคนหนาเราช่วยปิดความชั่ว ช่วยปิดความชั่วของตัวไว้ไม่ให้ใครรู้ มันต่างกันอย่างนี้ คนมีกิเลสตัณหาอยู่ มันก็เป็นอย่างนั้น”

สำหรับการบวชนั้น หลวงพ่อมีหลักของท่านว่า “บวชง่ายสึกง่าย บวชยากสึกยาก” ฉะนั้น ที่วัดหนองป่าพงจึงระเบียบในการบวช และมีขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งทำหน้าที่คัดเลือกคนที่มีนิสัยปัจจัยพอที่จะอบรมให้เป็นนักบวชได้ คือก่อนจะบวชพระ จะต้องผ่านการฝึกหัดอบรมในฐานะเป็นปะขาวและเณรมาก่อนตามลำดับ เพื่อเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับการที่จะอยู่ในวัดอย่างนักบวช รู้เรื่องพระวินัยพอเป็นพื้นฐาน และขัดเกลานิสัยหยาบ ๆ ออกเสียบ้างก่อนที่จะห่มผ้าเหลือง ระยะเวลาในการฝึกหัดก็แล้วแต่บุคคล อาจจะหลายเดือนหรือเป็นปี พระอาจารย์จันดีพูดถึงตอนที่ท่านมาอยู่วัดหนองป่าพงใหม่ ๆ ว่า

“ตอนแรกก็นึกอยากบวชเร็ว ๆ แต่ท่านก็อธิบายให้ฟังถึงเรื่องการฝึกหัดสำหรับคนใหม่ แต่ว่าอันนี้คงจะเป็นอุปนิสัยของแต่ละบุคคลก็ไม่รู้ บางคนอาจจะฟังเข้าใจ บางคนก็ฟังไม่เข้าใจ แต่ช่วงนั้นผมรู้สึกว่าเข้าใจ ในขณะที่เพื่อน ๆ บางคนฟังไม่ค่อยเข้าใจทั้ง ๆ ที่ฟังด้วยกัน ท่านอธิบายถึงการบวช การปฏิบัติ แรก ๆ ท่านก็ดุหน่อยหนึ่งว่า พวกพ่อขาวกลุ่มนี้นะมันอยู่นานได้เท่าไร กี่เดือนแล้ว จะยังไม่บวชให้หรอก พวกนี้ต้องเอาไว้เหมือนทหาร ก็ท่านรู้นี่ ทหารเขาฝึกกันถึง ๖ เดือน มาเป็นทหารล้มลุกคลุกคลาน เรามาเป็นทหารของพระพุทธเจ้าก็ต้องมีการผ่านการฝึกเสียก่อน ฝึกหัดเสียก่อน ฝึกหัดหลายเดือนหรือาจจะเป็นปีก็ได้ถ้ามันไม่ดี ท่านพูดอย่างนี้ ถ้าคนอยากบวชมาก ก็กำลังใจไม่ค่อยดีเหมือนกัน คือแต่ก่อนท่านจะมุ่งเอาคุณภาพมากที่สุด ท่านไม่แคร์ใครทั้งนั้นที่มาอยู่ เพื่อหยั่งดูศรัทธาของผู้มาบวชด้วย

ผมมาอยู่ใหม่ ๆ ไม่มีใครพูดด้วย นี้เป็นลักษณะของการสอนอย่างหนึ่ง ที่จะบ่งให้รู้ว่าคนที่เข้ามานั้นมีความฉลาดหรือโง่ มันแสดงออกมาให้เห็นทันที ฉะนั้นตอนเข้ามาใหม่ ๆ ถึงมีเพื่อนหลายคน บางทีก็ทนไม่ได้ อยู่ได้สองวันก็เลยไป ท่านก็ไม่ได้สนใจใคร ใครจะไปก็ไป ใครจะอยู่ก็อยู่ ไม่ได้สนใจทั้งสิ้น ผมมาเป็นโยมอยู่ตั้งหลายวัน ร่วมสิบวันไม่มีใครพูด้วย พระเณรไม่บอก ไม่สอน ไม่ใช้อะไรทั้งสิ้น เราก็คิดว่าเอ๊ะ ทำไมท่านถึงปล่อยไว้อย่างนี้นะ ท่านปล่อยทิ้ง บางทีมันทุกข์ใจขึ้นมา คิดอยากจะกลับบ้านดีหรือไม่ดีนะ คิดว่าไม่มีใครสนใจเรา ดูจากท่าทีลักษณะภายนอกของท่าน ทีนี้ผมมาพิจารณาดูตัวเอง เออ ลักษณะการสอนอย่างนี้มันก็ดีเหมือนกัน มันจะรู้อุปนิสัยของคนได้ง่ายเร็วขึ้น ถ้าคนฉลาดสังเกตุดูครูบาอาจารย์หรือลูกศิษย์ปฏิบัติ อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ สังเกตดูสักสองสามวัน ก็อาจจะพยายามทำได้ แต่บางคนมันไม่เป็นเลยนี่ อยู่นานเท่าไรก็ยังไม่เป็น ดังนั้น หลวงพ่อถึงบอกว่าบางคนเข้ามาแล้วทไมท่านถึงไม่บวชให้ง่าย ๆ แต่บางคนมาทีหลังไม่นานเท่าไร ก็บวชให้ก็มีเหมือนกัน นี่ก็แสดงว่าคนฉลาดกับคนไม่ฉลาดมันต่างกัน ความรู้พื้นฐาน ภูมิปัญญามันต่างกัน ถ้าคนไหนฉลาดมันก็เร็วหน่อย มันคล่องตัว ทำอะไรได้เรียบร้อยหมด บางคนมาตั้งปีสองปีก็ยังไม่ได้บวชให้ เพราะมันยังไม่เป็น ไม่คล่องตัวนี่ ถ้าท่านได้ก็ทนไป ถ้าทนไม่ได้ก็แล้วไป ท่านไม่ง้องอนใครทั้งสิ้น ช่วงที่ผมมาอยู่ เพื่อนที่มารุ่นเดียวกันหลายคนที่จัดว่อายู่ในลักษณะเบื่อโลก อันนี้ผมเห็นมากับตัวเอง ผมก็เลยมานึกถึงว่าหลวงพ่อท่านเห็นมามากแล้ว ท่านก็เลยปล่อยไว้อย่างนี้เอง บางคนมาแรก ๆ บอกว่าผมนี้เบื่อโลก เบื่อ ไม่เอาแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง มาด้วยศรัทธา ก็จริงอยู่ แต่ว่าถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา พอเข้ามาแล้วมาเจอข้อวัตรระเบียบต่าง ๆ ได้วันเดียวเท่านั้น พอวันที่สองจิตใจเปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนออกไป บางคนก็ไม่ลาครูบาอาจารย์ หนีไปเลย บางคนมาอยู่หลายวัน โกนหัวให้เรียบร้อยแล้วก็ยังเปลี่ยนใจได้ หนีไปทั้งโกนหัวก็มีเยอะเลย ขนาดผมมาอยู่เจอเยอะแยะเหมือนกัน นี่มันทนไม่ได้”

สำหรับพระอาจารย์เรืองฤทธิ์ ซึ่งมุ่งหน้ามาที่วัดหนองป่าพงเพื่อขออุปสมบทกับหลวงพ่อ เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วก็ได้พบกับการตอนรับชนิด “ตัดไม้ข่มนาม” ที่ทำให้ท่านรู้สึกสะอึกตั้งแต่วันแรก เพราะหลวงพ่อปฏิสันถารกับท่านว่า
“หน้าจั่งซี่บ้อ สิมาบวช”
(หน้าอย่างนี้หรือจะมาบวช)

หลวงพ่อเคยเล่าถึงบางคนที่อยากบวชมา คอยถามอยู่เรื่อง “เมื่อไหร่จะบวชให้ผม” ถ้าอย่งานี้ท่านจะบอกว่า “เฮ้ย! อย่าบวชเลย” อยู่ไปอีกสี่ห้าวันก็ถามอีกแล้ว ท่านก็บอกว่า “เออ! อยู่นั้นแหละ” เลยไม่ได้บวชสักที แต่ถ้าคนไหนเฉย ๆ ถึงเวลาอันสมควรท่านก็จะจัดการบวชให้

ได้บวชสมปรารถนาแล้วทำอย่างไร จะเป็นพระที่มีคุณภาพนั้นแสนยาก สารพัดที่จะต้องเรียนต้องรู้ โอวาทที่หลวงพ่ออบรมผู้บวชใหม่ต่อไปนี้คงช่วยให้มองเห็นตามที่ท่านเคยพูดบ่อย ๆ ว่า
“การบวชนั้นไม่ยาก แต่บวชแล้วนี้ซิยาก”





09 สมณธรรม


โอวาท – จะเอาตามปรารถนาไม่ได้




โอวาท – จะเอาตามปรารถนาไม่ได้
(หลวงพ่อให้โอวาทแก่พระบวชใหม่)

“คนเราทุกคนชอบตามใจตัวเอง แต่ว่ามาบวชอยู่ที่นี่ จะทำอะไรตามใจเราไม่ได้ เรามาฝึก การเป็นพระก็ต้องทำตามสิ่งที่จะให้เป็นพระ ฉะนั้น การประพฤติปฏิบัตินี่ ต้องเริ่มตั้งแต่การบวชเข้ามาเป็นนาคแล้ว แต่บางคนก็หนีไปกลางคืนเลย ไม่บอก อย่างนี้ก็เต็มที แต่ว่ามันเต็มทีกับคนที่มีกำลังน้อย คนที่มีศรัทธามากไม่เต็มทีละ หนักก็ทน ทุกข์ยากลำบากก็ทน อยู่ด้วยการอดทน ไม่ใช่ว่าบวชเข้ามาทำตามใจเรา
การบรรพชาคือ การถือบวช เป็นอุบายเว้นจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ถ้าเรามาบวช จะพยายามให้ได้กินดี นั่งดี นอนดี ไม่ใช่แล้ว ตรงนี้ไม่ใช่ที่อย่างนั้น ถ้าต้องการเช่นนั้นก็อยู่ในเพศฆราวาส หากินเอาเองก็ได้ ที่เรามาอยู่ที่นี้อาศัยคนอื่นเขาเลี้ยง แม้กุฏิที่อยู่ก็อาศัยคนอื่นเขา ผ้านุ่งผ้มห่มก็อาศัยคนอื่นเขา อาหารการขบฉันก็อาศัยคนอื่นเขา เราจะเอาตามปรารถนาของเราไม่ได้

ฉะนั้น การพวกทั้งหลายก็เหมือนกัน สารพัดอย่าง สิ่งที่เป็นมานี้ ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อเราจะละมันจริง ๆ น่ะ มันเสียดายนะ ฉะนั้น ข้อวัตรอย่างดีที่พระพุทธเจ้าของเราสอนให้ปฏิบัตินั้น มันขัดเกลากิเลส แต่ว่าเราแยกกิเลสกับตัวเราออกไม่ได้ เอากิเลสมาเป็นเรา เอาเรามาเป็นกิเลส ไม่รู้เรื่อง่าจะลงตรงไหนจะทำอะไรกัน จะทรมานกิเลส มันก็มาถูกเรา เลยไม่ได้ทำกัน จึงตั้งตั้งข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมา ให้มีการทรมาน เพื่อบรรลุธรรม ทุก ๆ ปีก็จะอบรมกันอย่างนี้เรื่อยไป

นี่แหละการบวชไม่ใช่ของง่าย เป็นของยาก เราที่อยู่ข้างนอกพูดไม่ถูกคอเท่านั้น คนมาบวชเพราะความผิดหวังนี่ เดินเข้ามาเราก็รู้จัก ผิดหวังทำไม นึกว่าทางนี้มันจะสบาย เข้ามาบวชในวัดหนองป่าพง ยิ่งบีบเข้าไปอีก จนอยู่ไม่ได้ มันเป็นเรื่องอย่งานี้ ไม่ใช่ว่าทุกข์แต่คนอื่น ผมก็ทุกข์มาเหมือนกัน แต่ว่ามันมีจิตใจเด็ดเดี่ยว ทุกข์ก็ไม่ยอม ไม่รู้ว่ามันมีมาอย่างไรก็ไม่รู้ ทุกข์แสนทุกข์ แต่ว่าตัวที่ไม่ยอมนั่นมันมี เรื่องทุกข์น่ะคิดไปบางครั้งก็สนุกสนานไปด้วย ว่ามันทุกข์หลาย ลำบาก

ฉะนั้นเมื่อบวชมาแล้วก็ให้ปลูกศรัทธาดี ๆ ให้ปลูกศรัทธามาก ๆ เตรียมตัวไว้ แต่บวชเข้ามาแล้วศรัทธามันฟัง คือไม่รู้จักนั่นเองแหละ เราคิดว่ามันจะดี มันจะสงบระงับ ไม่นึกว่ามันจะเป็นอย่างนั้น เมื่อเข้ามาจริง ๆ แล้วนะ มันไม่สมปรารถนาของเราก็เลยไป ฉะนั้น รากฐานที่แท้จริงที่ดีนั้น จะต้องอยู่ด้วยความอดทน ความอดทนเป็นของที่สำคัญมาก ต้องฝืนจิตใจของเจ้าของ และเชื่อครูบาอาจารย์พูดแนะนำพร่ำสอน ตัวอย่างก็มีอยู่มาก ทำไมท่านถึงปฏิบัติอย่างนี้ คำสอนของพระพุทธเจ้าท่านว่า ทำอย่างนี้เป็นประโยชน์แก่พระศาสนา สร้างประโยชน์ตน สร้างประโยชน์คนอื่น จะต้องทำอย่างนี้

บวชเข้ามาแล้ว ก็ปฏิบัติตามข้อกติกาที่ท่านวางไว้ ที่ท่านทำตอนเช้า ตอนเย็น ท่านทำให้ดูแล้วเป็นของไม่ยาก ทำได้ไม่ยาก ที่มันจะยาก คือคนไม่พอใจที่จะทำอย่างนั้น ไม่เห็นด้วยนั่นเอง ความเป็นจริงท่านทำมาก่อนแล้ว เราไม่ต้องคิดอะไรมาก มาทำตามที่ท่านบอกเท่านั้น เป็นของง่าย ๆ ไม่ใช่เป็นของยาก แต่คนเรามีกิเลส มันก็เลยเป็นของยากลำบาก อันนี้ขอฝากไว้ให้นาคทั้งหลายไปพิจารณาดู

ในครั้งพุทธกาลท่านก็ฉันอย่างนี้ ท่านก็ทำอย่างนี้ ในสมัยนี้ไม่ค่อยมีฉันในบาตร ยิ่งไปดูที่เขาอยู่ธรรมดาเขาน่ะ บาตรเกิดสนิมทั้งนั้น บิณฑบาตแล้วก็ให้เด็กไปล้าง เสร็จแล้วก็เอาไปแขวนไว้ตามตะปูข้างฝานั่น ไม่ต้องเช็ดหรอก มหาก็คงจะเคยละมัง คงจะเห็น ไปแขวนไว้ตามข้างฝานั่นแหละ ตอนเช้ามาบางทีเดินไปชนตกลงมาเป้งจนบาตรยุบ คือบาตรจะต้องทิ้งอยู่แล้วล่ะ จะฉันในบาตรได้ยังไง เหม็น ไปบิณฑบาตมาแล้วก็รีบควักเอาข้าวออก โยนบาตรให้เด็กทำ บางทีก็ไม่ไปบิณฑบาตเสียด้วย ให้เด็กมันไปบิณฑบาต ถมไปอย่างนี้ แล้วเขาก็พูดกันว่า สมัยนี้มีภาชนะไม่อดกันแล้ว ไม่ต้องฉันในบาตรหรอก แน่ะ! เรียนสูง ๆ แล้วแก้ไปอย่างนั้น เออ! ใช่แล้วคนที่มักง่ายนั่งอยู่เต็มนั่น ไม่ต้องฉันในบาตรแล้ว

พระพุทธเจ้าก็เคยเทศน์โปรดไว้ว่า ศาสนาตถาคตไม่มีใครจะมาทำลายหรอก นอกจากลูกศิษย์ตถาคต ตัวเรานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น สิ่งที่จะทำลายตัวเรานี่ก็คือ ความคิดที่ไม่ถูกต้องนั่นเอง คือความอยากมันหนุนหลัง มันก็เป็นไป การที่เรามาปฏิบัติเช่นนี้ เพื่อปราบความอยากเท่านั้นแหละ อยากนี่คนก็ไม่รู้นะ บางคนก็นึกว่าอิ่มแล้วก็หยุดอยาก ไม่ใช่ อิ่มกับอยากนี้มันคนละทีคนละอย่างกัน คนก็เหมือนกันอิ่มแล้วก็ยังอยาก ห่อไว้อีก เก็บไว้ อย่าว่าแต่คนเลย ผมเคยเห็นสุนัขมันหิว ก็เอาข้าวให้กิน ให้จานหนึ่งสองจานกินหมด สามจานสี่จานอิ่มแล้ว ผลที่สุดก็กลับมานอนเฝ้าอยู่นั่นแหละ ตาหลับหรี่ ๆ อยู่นั่นแล้ว สุนัขตัวอื่นจะมากินมันขู่ โฮก ๆ สัญชาติสุนัขก็เหมือนกับคนเรา คนก็เหมือนกับสุขนัข สัญชาตญาณอันนี้ ย่อมเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านี้ จึงมีอำนาจหักหาญกันเลยทีเดียวกับกิเลสทั้งหลาย ถ้าทำอย่างนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่คนเราก็เห็นว่าสู้ไม่ไหว มีน้อยที่จะศรัทธาอย่างนั้น

ฉะนั้น พวกเราทั้งหลายที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานี้ ต้องมอบกายถวายชีวิต ไม่ต้องไปทำ ไม่ต้องไปคุยเรื่องที่มันสนุกสนาน ปล่อยทิ้งไป บางคนก็ไปคุย สึกแล้วจะไปทำโน่นทำนี่ เลี้ยงหมูบ้าง เลี้ยงไก่บ้าง อะไรต่ออะไรวุ่นวาย ยังไม่สึกเลี้ยงไก่เสียแล้ว เลี้ยงหมูเสียแล้ว ถึงเรามีเวลาบวชน้อยก็ช่างเถอะ เราทำให้ถูกต้องทุกอย่าง เมื่อเราจะทิ้งมันได้ เราก็ต้องพิจารณาเห็นแล้วว่าสิ่งนั้นควรจะทิ้ง เราถึงทิ้งมันได้ อะไรที่เราละมันได้ เพราะเราเห็นโทษในสิ่งทั้งหลายที่เราจะละมัน ที่เราปฏิบัติได้เช่นนั้น ก็เพราะเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย จึงทำประโยชน์นั้นได้อย่างนี้ทุกคน

คนเราที่บวชเข้ามาแล้ว ตั้งใจมาบวชเอาบุญ แต่ว่าเข้ามาแล้วมาเอาบาป เป็นคนหัวดื้อ อะไรต่ออะไรหลาย ๆ อย่าง ไม่อยู่ในโอวาทคำสอนของครูบาอาจารย์และไม่พิจารณา

ดังนั้น พวกเราทั้งหลายทุกรูปจงพากันตั้งอกตั้งใจ พระที่ตั้งใจจะจำพรรษากับผม ในวันนี้ที่ผมได้บอกไปนั้นก็คงเข้าใจกันแล้วและผมก็ขออภัยด้วย ผิดถูกอย่างไรก็เอาไปพิจารณากันดูเถอะ ให้ดูในใจของท่านทั้งหลายก่อนที่จะมาจำพรรษาที่นี่น่ะ โดยมากจวน ๆ จะเข้าพรรษาถึงจะไปกัน มันไม่ได้ ที่อื่นได้ แต่ที่นี่ไม่ได้ จะต้องมาฝึกกันให้รู้เรื่องเสียก่อนว่าเขาทำอะไรต่ออะไรกัน มันต้องมีความเปลี่ยนแปลงนะ ความเห็นของเรานั้น ที่เรามาดูกันมาประพฤติกันปฏิบัติกันนี้ เดือนอ้ายเดือนยี่มากัน มาอยู่ตามป่านี่แหละดูท่านทำอะไรกัน ท่านปฏิบัติอย่างไรกัน เราจะได้รู้จักว่า ผลที่สุดแล้วเราชอบไหมการปฏิบัติอย่างนี้ อาหารในวัดน่ะเราชอบไหม เราชอบข้อวัตรปฏิบัติกับท่านไหม เมื่อต่างคนก็ต่างชอบด้วยกันทุกคน อยู่ด้วยกันแล้วก็สบาย จึงต้องขอนิสัย ให้มันมีนิสัยเสียก่อน เข้าขอนิสัยเอาเป็นที่พึ่งที่พำนักของเรา เคารพคารวะ เรียนกรรมฐานต่อไป อันนี้ยังไม่รู้เรื่องมันก็ลำบากอยู่ เวลามันน้อย ทำไมถึงทำอย่างนี้ ผมเคยเป็นมาแล้ว เคยทำมาแล้ว เคยเป็นมาแล้วถึงทำอย่างนี้

การบวชนี้ไม่ยาก สำคัญที่บวชมาแล้ว บวชวันนี้ก็ได้ไม่ยาก แต่ว่าทำไมถึงไม่บวช ไม่ถึงกาลเวลาที่จะบวช ยังไม่สมควร และการบวชนั้น เท่าที่ทำมานี้น่ะ จะบวชเวลาไหนก็ได้ ในพรรษาก็ได้ ถ้ายังไม่เหมาะสม ผมไม่รีบบวชให้ บวชแล้วมาทำความชั่ว ทำความผิด บวชมาทำไม เรามาบวชเพื่อจะมาหาบุญหากุศลนี้ ถ้ายังไม่สมควรผมไม่บวชให้ ถ้าสมควรแล้วก็บวชให้ อายุ ๒๐ ปี ครบบริบูรณ์แล้วบวชเป็นสามเณร ถึงวันเข้าพรรษาบวชสมาทานพรรษาเลย อยู่ไปถึงเดือน ๙ เดือน ๑๐ นั่นก็ยังได้ บวชให้ก็เป็นพระได้ พรรษารับกฐินได้สมบูรณ์บริบูรณ์เหมือนกัน ยังดีกว่าที่บวชเข้ามาไม่รู้เรื่องอะไร ไม่ทำผิดทำบาปเสีย มันก็ไม่ค่อยดี อันนี้พูดให้ฟังให้เข้าใจ



เรื่องปฏิบัตินั้นบางคนก็อยากจะได้ คิดว่านั่งกรรมฐานมันจะสงบก็เลยมาบวช นึกว่ามันเป็นของง่าย ๆ บางทีมานั่งกัดฟันอยู่นี่ให้สงบ ก็ยิ่งไปกันใหญ่ หมดท่าหมดทางไม่มีที่จะสงบ เรื่องจิตของเรานี้ มันรู้สึกนึกคิดไปหลายอย่าง ทีนี้เราจะทำให้มันเป็นอารมณ์เดียว แต่พอไปนั่งมันก็หลายอารมณ์อีกแล้ว ก็เลยพยายามหาอารมณ์อันเดียวอยู่นั่นแหละ อารมณ์อันเดียวก็ไม่รู้จักนะ แต่อยากให้เป็นอารมณ์เดียว ความเป็นจริงจิตของเรานั้นมันเล่นกับอารมณ์นี้มาตั้งแต่เกิดแล้ว มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ ทีนี้ เราจะมาทำอารมณ์ทั้งหลายให้มันน้อยลง มาตัดมันออกเสีย มาภาวนากัน เอาอะไรมาแทนหลาย ๆ อารมณ์ให้มีอารมณ์เดียว บางทีมันก็มีแก้ว มีไห มีกล่อง มีอะไรหลาย ๆ อย่าง บัดนี้เราทิ้งมันไม่ต้องเอา เราจะเอาถ้วยใบเดียวเท่านั้น พวกขวดจานต่าง ๆ นี่ช่างมันเถอะ เรียกว่าภาวนา พุทโธ นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องทำอะไรมาก

เราภาวนานี่คล้าย ๆ เราจะทำอย่างนี้นะ แก้วใบนี้เอามาตั้งไว้ตรงนี้ ตั้งไว้ ๑ นาทีแล้ว ให้หยิบมาตั้งที่นี่ ๑ นาที ได้ ๑ นาทีแล้วก็หยิบมาตั้งตรงนั้นอีก ๑ นาที สมมุตินี่ ทำอยู่อย่างนี้ ท่านให้ทำเท่านี้ เรื่องอื่นท่านไม่ให้คิดไม่ให้รู้เรื่อง มันจะไปที่ไหนก็ช่างแก้วใบนี้ เพื่ออะไร เพื่อไม่ให้มีอารมณ์หลายอย่าง ให้มีเท่านี้ ตั้งนี่ ๑ นาทีแล้วยกมาตั้งนี่ ๑ นาที ธุระที่จะต้องทำให้จิตสงบมีธุระเท่านี้ ไม่ให้มาก จะทำไปทำไมหนอ อย่าคิดไป ทำไปมันเป็นอะไร อย่าคิดไป คิดไปก็ไม่ตามมัน นี่ก็เปรียบกับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าและก็หายใจออก ให้รู้จักว่ามันสั้น รู้จักว่ามันยาว วางไว้เฉพาะหน้า

การปฏิบัติกรรมฐานนี้ บางคนก็ทำเฉพาะเวลาขยัน เมื่อขี้เกียจแล้วก็ไม่ทำ อันนี้ก็ไม่ถูกต้อง เราไม่ต้องพูดถึงมันหละ เรื่องขยันเรื่องขี้เกียจนี้มันต้องมีอยู่เรื่อยไป ขยันก็ช่างมันเถอะ เกียจคร้านก็ช่างมันเถอะ จะต้องทำอย่างนี้เรื่อย ๆ ไป นี่เรียกว่าทำการตัดกิเลสไปเรื่อย ๆ ถ้าวันนี้ขยันก็ทำ ไม่ขยันก็เลิก มันก็ทำตามความคิดทำตามกิเลสของเราเท่านั้นแหละ มันจะตัดกระแสของกิเลสได้เมื่อไหร่?

ฉะนั้นท่านจึงให้มีสติอยู่ มีสัมปชัญญะอยู่ แล้วก็มีความรู้รอบอยู่เสมอ แล้วก็ทำไป ออกจากการนั่งสมาธิแล้วเห็นอะไรก็พิจารณาเรื่อย ๆ ให้มีสติสัมปชัญญะอยู่ มีปัญญาอยู่เรื่อยไม่ลืมตัว อันนี้มันจะเป็นนิสัย จะเป็นปัจจัย จะเป็นพลังอันหนึ่ง มันน้อยแล้วให้มันมากขึ้นมาได้ นี่ท่านเรียกว่าการเจริญ การเจริญภาวนานี่ก็ต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อเราอยากจะให้สงบ เมื่อไปนั่ง ไม่ได้ความสงบก็คิดว่าเราไม่มีบุญ แล้วก็สึกไป อะไรทั้งหลายเหล่านี้คิดไปอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะไปทำตามใจของเราได้ง่าย ๆ บังคับบัญชามันไม่ได้อันนี้ จะต้องทำใจเราให้เยือกเย็น จะต้องอดทนต่อการกระทำต่อธรรมะคำสอนอยู่เสมอ การปฏิบัตินี่ไม่ใช่วิบัตินะ ถ้าเรามาปฏิบัติก็ต้องทำทั้งกายทั้งจิตของเรา ถ้าวิบัติแล้วมันก็เสียหายเท่านั้นแหละคือ เกียจคร้านไม่กล้าทำ ไม่ทำตาม ไม่มีศรัทธา บางคนก็บวชเข้ามาด้วยศรัทธา แต่เข้ามาย่ำยีคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยไม่รู้ตัวเหมือนกันก็มี ฉะนั้นในกลุ่มปฏิบัติทุกวันนี้มันมีน้อย ที่ผมฝ่าฟันอุปสรรคมาครั้งแรกก็อย่างนี้แหละ

การปฏิบัตินะ ถ้าไม่รู้จะปฏิบัติยังไง มันก็ต้องรู้ปฏิบัติน่ะ มันรู้ยังไง มันก็รู้นั่นแหละ เช่นว่า โยมเอาผลไม้ผลหนึ่งมาถวาย เราไม่รู้จักชื่อมันหรอก แต่เรารู้ว่ารสมันหวานอร่อย มันรู้รสแต่เราไม่รู้ชื่อ รู้ว่ารสมันหวานไหม อร่อยไหม ก็พอแล้ว จะเป็นผลไม้อะไรนี่ไม่จำเป็นต้องรู้เท่าไหร่ ถ้ามีใครมาบอกก็จำไว้ก็ได้ ถ้าไม่รู้ชื่อก็ปล่อยทิ้งเสีย เพราะว่าถึงเรารู้ชื่อ มันจะมีรสหวานเพิ่มขึ้นก็ไม่ใช่ จะมีรสเปรี้ยวเพิ่มขึ้นอีกก็ไม่ใช่ จะรู้ชื่อหรือไม่รู้ชื่อมันก็แค่นั้นแหละ เหมือนกับเราฉันอาหารนี่ มันอร่อย เราก็รู้ว่ามันอร่อย ไม่จำเป็นจะต้องพูดว่าอร่อย ไม่ออกปากมันก็รู้อยู่แล้ว ความรู้อย่างนี้มันมีครับ ธรรมชาติมันมีแล้ว”





09 สมณธรรม


ผู้ใหม่


บวชเข้ามา ๕ พรรษาแรก ยังถือว่าเป็นผู้ใหม่ คือเป็นพระนวกะ ต้องอยู่กับครูอาจารย์ ถ้าไม่อยู่วัดหนองป่าพงกับหลวงพ่อ ก็ต้องไปอยู่ตามวัดสาขา หรืออาจติดตามพระที่มีอายุ ๕ พรรษาขึ้นไปออกธุดงค์ก็ได้ แต่ห้ามเด็ดขาดสำหรับการที่พระนวกะจะออกเที่ยวธุดงค์โดยไม่มีพระผู้ใหญ่เป็นผู้นำ สมัยก่อนที่พระเณรยังไม่มาก หลวงพ่อจะเป็นผู้ตัดสินว่าใครจะไปอยู่ที่ไหน บางทีท่านนั่งพระให้ไปอยู่ที่อื่นกระทันหัน ไม่บอกล่วงหน้า ต่อมาพระเณรมากขึ้น พระที่ไหนอยากย้ายสาขาต้องเดินทางไปวัดหนองป่าพงเพื่อขออนุญาตหลวงพ่อเสียก่อน






09 สมณธรรม


ปล่อยไว้ก่อน


เมื่อชื่อเสียงของหลวงพ่อเริ่มระบือลือเลื่อง ผู้ที่สนใจในปฏิปทาการปฏิบัติของวัดหนองป่าพงก็ทยอยกันบ่ายหน้ามาสู่สำนักเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ ทั้งนี้เป็นพระอาคันตุกะและฆราวาส สำหรับวิธีสอนผู้มาใหม่นั้น พระอาจารย์เที่ยงได้เล่าวิธีบางอย่างของหลวงพ่อให้ฟังว่า

“ผู้มุ่งเข้ามาประพฤติปฏิบัติในวัดหนองป่าพง มาใหม่ ๆ ท่านก็จะปล่อยให้อยู่ไปก่อน ไม่ได้พูดอะไรด้วย เพียงแต่ถามข่าวเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วก็อยู่ไปอย่างนั้น ผิดก็ไม่ว่า ถูกก็ไม่ว่า ปล่อยไว้สักอาทิตย์หนึ่ง หรือห้าวันหรือสามวันแล้วแต่กรณี แล้วท่านจึงจะพูด ข้อนี้ผมคิดว่าเป็นวิธีการของท่านที่ดีที่สุด คือต้องดูก่อนว่า คนนี้จะมีสติปัญญาไหม มีความฉลาดรอบตัวไหม รู้จักสังเกตไหมหรือเป็นคนโง่ ไม่สังเกตไม่รอบคอบ เมื่อจับจุดอ่อนจับนิสัยได้ รู้จักข้อบกพร่องของบุคคลนั้นแล้ว ท่านจึงจะอบรมสั่งสอน”






09 สมณธรรม


ศีลต้องบริสุทธิ์



ท่านพระครูบรรพตวรกิตได้เล่าประสบการณ์ของท่าน เมื่อเข้ามาอยู่วัดหนองป่าพงและได้รับการแนะนำสั่งสอนจากหลวงพ่อว่า

“ในการสอนครั้งแรกท่านก็สอนให้มีความบริสุทธิ์เป็นพื้นฐาน ถ้าไม่มีความบริสุทธิ์ ศีลไม่ดี มีลับลมคมในแล้ว ก็จะไปไม่รอด ถ้าผิดก็ต้องบอกว่าผิด ถูกต้องบอกว่าถูก วิชาความรู้ต่าง ๆ ท่านให้เก็บเข้าตู้ให้หมด เวทมนตร์คาถา เครื่องรางของขลังต่าง ๆ ทิ้งให้หมด ท่านจะสอนใหม่ ผิดถูกยังไงก็ให้เอาตามท่านไปก่อน แล้วค่อยมาว่ากันทีหลัง เมื่อท่านพิสูจน์ศรัทธา ความเคารพเชื่อถือของผม เห็นว่าผมเชื่อถือท่าน ทำตามท่านทั้งหมด ท่านจึงได้เริ่มสอน ผมบวชมา ๖ พรรษา ไม่เคยนั่งสมาธิเลย ท่านก็สอนวิธีนั่งสมาธิ เดินจงกรม ทางกายก็ให้รู้จักวางลม ตั้งสติ ผมก็ปฏิบัติตามท่านทุกอย่าง มุ่งมั่นจะเอาดีให้ได้ งานก่อสร้างซึ่งผมเคยทำมา เช่น ช่างอิฐ ช่างไม้ ช่างปูน ท่านก็ให้วางมือทั้งหมด”






09 สมณธรรม


พระอาคันตุกะ.




เมื่อปฏิปทาในการดำเนินข้อวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อโด่งดังออกไป นอกจากฆราวาส ญาติโยมจะมีศรัทธาหลั่งไหลมากราบนมัสการ และชื่นชมความงดงามในศีลาจารวัตรของพระสงฆ์วัดหนองป่าพงแล้ว ภิกษุจากต่างสำนักก็ทยอยกันเข้ามาขอโอกาสศึกษา และปฏิบัติธรรมด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าใครมาจากสำนักที่หลวงพ่อคุ้นเคย มีข้อวัตรปฏิบัติซึ่งคล้ายกับวัดหนองป่าพงก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นสำนักที่มีข้อวัตรปฏิบัติที่ไม่เสมอกัน โดยเฉพาะที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการรักษาพระวินัยมากนัก จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของพระอาคันตุกะที่หลวงพ่อตั้งไว้ กล่าวคือ ในขั้นแรก ให้พักได้ในเวลาจำกัดไม่เกินสามคืนเว้นแต่มีเหตุจำเป็น ถ้าพระรูปใดมีความประสงค์จะเข้ามาปฏิบัติร่วมหมู่คณะมองตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อ ต้องมีหนังสือรับรองจากอุปัฌาย์อาจารย์เดินมาแสดงเป็นหลักฐานด้วย





09 สมณธรรม


ทนได้ก็ได้ดี


ระหว่างพำนักอาศัยในฐานะพระอาคันตุกะที่ประสงค์จะเข้าร่วมเป็นศิษย์ในสำนักวัดหนองป่าพง พระจากต่างถิ่นต่างข้อวัตรปฏิบัติ จะต้องใช้ความอดทนมากในการพิสูจน์ตัวเองให้หลวงพ่อและคณะสงฆ์เห็นว่าเป็นผู้มีศรัทธามั่นคง และมุ่งมั่นมาเพื่อการประพฤติปฏิบัติตามแนวทางเดียวกันจริง ๆ เพราะระเบียบปฏิบัติตลอดจนท่าทีของพระเจ้าถิ่น ที่แสดงต่อพระอาคันตุกะในบางครั้งอาจดูคล้ายกับเป็นการตั้งข้อรังเกียจหรือดูถูก เช่นการไม่อนุญาตให้เข้าร่วมอุโบสถสังฆกรรม และในการบิณฑบาต การรับแจกอาหาร พระอาคันตุกะต้องเดินท้ายแถวหรือนั่งต่อจากพระพรรษาน้อยที่สุดของพระวัดหนองป่าพง แม้ว่าพระอาคันตุกะมีพรรษามากแค่ไหนก็ตาม ที่นั่งฉันอาหารและฉันน้ำปานะก็อยู่ท้ายแถว หรืออาจจัดไว้ต่างหาก กิจการงานของสงฆ์ทุกอย่างจะหนักหนาสาหัสแค่ไหน พระอาคันตุกะต้องเอาเป็นธุระโดยพร้อมเพรียงกัน จะหลีกเลี่ยงหรือบิดพริ้วไม่ได้ และต้องยอมปฏิบัติตามกฎระเบียบกติกาที่กำหนดไว้ เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของหมู่คณะทุกประการ เมื่อบกพร่องหรือผิดพลาด ก็ต้องอดทนต่อการตักเตือนหรือชี้โทษจากพระเจ้าถิ่นอย่างนี้เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปพอสมควร หากพระอาคันตุกะพอใจในข้อปฏิบัติของวัดหนองป่าพง มีความเคารพ ศรัทธาและเลื่อมใสในตัวหลวงพ่อ ตลอดจนมีความเชื่อถือและไว้วางใจในเพื่อนสหะรรมิกร่วมสำนัก และหลวงพ่อก็ได้เห็นว่าพระอาคันตุกะเป็นผู้มีความอดทน มีความศรัทธาแน่วแน่ มั่นคงต่อการประพฤติปฏิบัติ มีปกติอ่อนน้อม เชื่อฟังการว่ากล่าวสั่งสอนและพร้อมที่จะกระทำตามหมู่คณะ ก็ถึงเวลาอันสมควรที่พระอาคันตุกะจะรับนิมนต์เข้าหมู่สงฆ์ เริ่มแรกมีการเปลี่ยนบริขารต่าง ๆ ทั้งหลายให้ถูกต้องตามพระวินัย เพื่อสมาชิกใหม่ได้เป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดสำหรับการเข้าร่วมหมู่คณะ เป็นเพื่อนร่วมทางเดินเดียวกันอย่างอบอุ่นต่อไปโดยไม่มีการแบ่งแยก

สำหรับขั้นตอนการเปลี่ยนบริขารนั้นละเอียดลออมาก เริ่มจากการตรวจสอบบริขารทุกชิ้นทุกอันว่าได้มาอย่างไร ถูกต้องตามพุทธบัญญัติหรือไม่ (ตามพระวินัยที่มีมาในพระปาฏิโมกข์ ท่านบัญญัติห้ามภิกษุรับ หรือมีกรรมสิทธิ์ในเงินและทอง อีกทั้งห้ามซื้อหา แลกเปลี่ยนสิ่งของเครื่องใช้ด้วยเงินและทอง และปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์สำหรับผู้ล่วงละเมิด เมื่อต้องอาบัติแล้วต้องนำของนั้นมาสละท่ามกลางสงฆ์ จึงจะแสดงอาบัติตก) ถ้ามีบริขารส่วนใดที่ได้มาโดยไม่ถูกต้องก็จะถูกเปลี่ยนออกไป หรืออาจจะต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดก็ได้ เพราะบริขารที่ไม่บริสุทธิ์นี้เป็นเหตุให้เกิดนิวรณ์ในจิตใจของผู้ปฏิบัติ ดังเช่นที่หลวงพ่อเคยปรารภว่า

“เมื่อภาวนาไปจิตก็สงสัยวุ่นวายอยู่นั้นแหละ ถ้าได้ถอดออกอย่างนี้แล้ว ก็จะไม่มีข้อสงสัยเรื่องของใช้อีกต่อไป”

ต่อจากนั้น ก่อนที่จะอนุญาตให้ศิษย์ใหม่เข้าร่วมอุโบสถสังฆกรรมต่าง ๆ ได้ ก็จะต้องสอบถามเกี่ยวกับอาบัติหนัก ซึ่งบางรูปอาจมีติตดัวมา จำเป็นต้องชำระสะสางให้หมดสิ้นไปเสียก่อน จึงจะถือเป็นปกติภิกษุ คือความเป็นอยู่เสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีข้อประพฤติปฏิบัติเป็นอันเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นอันรับเข้าเป็นศิษย์ในสำนักวัดหนองป่าพงอย่างสมบูรณ์ แล้วจึงจะมีการขอนิสัย คือขออยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ต่อไป

พระเถระหลายรูปซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อ เช่น ท่านเจ้าคุณพระมงคลกิตติธาดา พระครูบรรพตวรกิจ พระอาจารย์มหาสุพงษ์ พระอาจารย์มหาบุญมีรวมทั้งพระอาจารย์เลี่ยม รักษาการเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพงในปัจจุบัน ล้วนแต่เคยเป็นพระอาคันตุกะ ได้ผ่านการทดสอบมาแล้วอย่างงดงามทั้งสิ้น ญาติโยมที่ไม่เข้าใจในอุบายของหลวงพ่อ เมื่อเห็นพระอาคันตุกะพรรษามากต้องไปนั่งท้ายแถว เคยกราบเรียนถาม

“แหม หลวงพ่อรูปนั้นท่านเป็นถึงมหา ทำไมเอาท่านไปไว้เสียไกล” หลวงพ่อตอบว่า “เออ! ช้างใหญ่ก็ต้องล่ามโซ่เส้นใหญ่เป็นธรรมดา”

เมื่อฟังครูบาอาจารย์ พระเถระ เล่าถึงความหลังครั้งกระโน้น จะช่วยให้เห็นภาพการรับพระอาคันตุกะของวัดหนองป่าพงได้ดีขึ้น ว่าเข้มงวดกวดขันเพียงใด








Create Date : 03 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2554 16:54:57 น. 0 comments
Counter : 349 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Jจุ้ย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


facebookฝากข้อความได้ครับ
Google

ฟังวิทยุออนไลครับ
ฟังวิทยุออนไลน์ กดที่รูปครับ




หลับฝันดี
๑ หลับคืนนี้ฝันดีนะที่รัก...
หลับตาพักหลับตาฝันถึงวันใหม่...
หลับคืนนี้คนดีฝันถึงใคร...
รู้บ้างไหมฉันตั้งใจฝันถึงเธอ...


Friends' blogs
[Add Jจุ้ย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.