รูปบล็อคนอก
Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2554
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
3 พฤศจิกายน 2554
 
All Blogs
 
อุปลมณี 09 สมณธรรม ตอนที่ 5




09 สมณธรรม


การทรมาน




ครั้งหนึ่งหลวงพ่อสอนว่า
“ถ้ามันคิดอะไรยุ่งขึ้นมาก็ให้เข้าใจว่า ความที่ไม่ยุ่งก็อยู่ตรงนั้นแหละ มันกสปรกตรงนี้ที่สะอาดก็อยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ที่อื่น ล้างสกปรกออกก็จะสะอาดเท่านั้นเอง ธรรมของพระพุทธเจ้าของเรามันตรงอยู่อย่างนั้น อนิจจัง เป็นของไม่เที่ยงแท้ บทเดียวเท่านั้นแหละ เห็นพระพุทฌจ้าแล้ว ใครเห็นอนิจจังอย่างแท้จริงก็เห็นพระพุทธเจ้า ให้นั่งใกล้ ๆ ท่านทุกที ๆ เดี๋ยวก็เจอท่านหรอก”

แต่โดยปกติปุถุชนเราจะไม่ชอบดูความทุกข์ ไม่ยอมพิจารณา รู้สึกแต่ว่าตัวเองเป็นทุกข์ แต่ไม่พยายามทำความรู้จักทุกข์ จะใช้วิธีหนีหรือกลบเกลื่อนความทุกข์เสียมากกว่า การหนีหรือกลบเกลื่อนความทุกข์สำหรับชีวิตฆราวาสก็ทำได้หลายวิธี ตั้งแต่วิธีหยาบไปถึงละเอียด แต่สำหรับชีวิตนักบวชวิธีการหนีทุกข์มีไม่มากนัก โดยปกติก็ไม่พ้นเรื่องอาหาร การพูดคุยและการนอนหลับ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวิธีการอย่างหยาบ เพราะฉะนั้นหลวงพ่อจึงให้คติธรรมเตือนใจลูกศิษย์เสมอว่า
“กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย คือนักปฏิบัติ”
กินมาก นอนมาก พูดมาก คือคนโง่”

วิธีฝึกเพื่อขัดเกลากิเลสที่หลวงพ่อใช้เป็นประจำวิธีหนึ่งก็คือการทรมาน การทรมานในความหมายของพระวัดป่า หมายถึงการที่ครูบาอาจารย์วางข้อวัตรปฏิบัติให้ขัดกับความอยากของลูกศิษย์ เช่น ให้อยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ ให้พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบ หรือไม่ให้สิ่งที่อยากได้ เป็นต้น เป็นวิธีตรงไปตรงมาที่เปิดเผยกิเลสของลูกศิษย์ ให้เจ้าตัวเผชิญหน้ากับความทุกข์ และให้เห็นประจักษ์ว่า ความทุกข์นั้นเกิดจากความอยากและความยึดติดของตัวเอง นอกจากนั้นก็เป็นการฝึกให้ลูกศิษย์มีความอดทน ทำสิ่งที่ไม่เคยทำหรือคิดว่าจะทำไม่ได้ ให้อยู่ด้วยความอยาก จนกระทั่งหมดอยากและจิตยอม เห็นตัณหาความอยากตามหลักไตรลักษณ์ ถ้าเอาชนะได้ครั้งเดียว ก็ไม่เชื่อกิเลสอีกเหมือนแต่ก่อน เป็นการดัดนิสัยเก่า การทรมานนี้ก็เพื่อให้พระไม่ประมาท มีความระวังตัวอยู่ตลอดเวลา

การฝึกหัดขัดเกลาด้วยวิธีทรมานนี้ หลวงพ่อเคยพูดเหมือนจะให้กำลังใจว่า
“ทรมานกิเลสจะไม่ใช่ทรมานคน”
และท่านก็มีกลเม็ดหลาย ๆ อย่างซึ่งกิเลสน่าจะเข็ดขยายเหมือนกัน เป็นต้นว่า

อยากมากไม่ให้ฉัน
ร้อนนัก ห่มผ้าเสีย
ต้องทนฟัง
อยากมากไม่ให้เสียเลย
ดุ!


09 สมณธรรม


อยากมากไม่ให้ฉัน


วันไหนญาติโยมนำภัตตาหารมาถวายมาก หรือมีของประณีตน่าอร่อยเป็นพิเศษ หลวงพ่อท่านจะไม่ยอมให้พระฉันง่าย ๆ แต่จะทำเป็นคุยกับญาติโยมนานกว่าปกติ แล้วก็แกล้งทำเสียงกระแอมขึ้นเหมือนกับว่าจะตั้งต้นให้พระก่อนลงมือฉัน พระบางรูปซึ่งทำท่านั่งสมาธิแต่ความจริงกำลังอยากฉันก็เผลอประนมมือเตรียมสวดมนต์ แต่หลวงพ่อกลับคุยต่อ อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน

หลวงพ่อเคยเล่าถึงลูกศิษย์รูปหนึ่งซึ่งท่านสังเกตุเห็นว่า ในระหว่างที่รูปอื่น ๆ กำลังฉันอาหาร พระรูปนั้นก็เอาแต่นั่งจ้องบาตรอยู่อย่างนั้นแหละ เดี๋ยวก็เลื่อนบาตรเข้าหาตัว ทำท่าจะฉัน แต่แล้วก็ผลักบาตรออกไปไม่ยอมฉัน บางครั้งฉันไปได้สองสามคำก็ผลักบาตรออก ทำอยู่อย่างนั้นหลายครั้งหลายหน เมื่อหลวงพ่อถามไถ่ขึ้นมา พระรูปนั้นกราบเรียนว่า “มันอยากฉันมาก ผมเลยไม่ยอมให้มันฉันครับ” หลวงพ่อก็เลยอุทานด้วยความพอใจ

“เออ! ทำอย่างนี้กิเลสก็คงยอมแพ้ละ อยู่กับท่านไม่ได้แล้ว”





09 สมณธรรม


ร้อนนัก ห่มผ้าเสีย


หน้าร้อน หลังฉันเสร็จแล้ว บางทีหลวงพ่อก็สั่งให้พระเณรเข้าไปนั่งสมาธิในโบสถ์เก่า โดยกำชับให้ปิดประตูหน้าต่างอย่างมิดชิดแล้วครองจีวรให้เรียบร้อย ไม่นานทุกรูปในห้องเตาอบสำเร็จรูปของหลวงพ่อก็สุกพอดี ผ้าอังสะจีวรก็เปียกโชกด้วยน้ำเหงื่อ ใครกล้าบ่นหลวงพ่อก็ดุ
“อยู่ในท้องแหม่ตั้งเก้าเดือนยังอยู่ได้ ส่ำนี่สิเป็นอิหยัง”
(อยู่ในท้องแม่ตั้งเก้าเดือน ยังอยู่ได้ แค่นี้จะเป็นอะไรไป)

ช่วงหน้าหนาวก็ตรงกันข้าม หลวงพ่อให้เปิดประตูหน้าต่างทุกบาน เพื่อให้ได้รับสายลมอันเย็นเฉียบ พระรูปใดมองในแง่ก็เห็นว่าอย่างน้อย เรานี่นั่งหนาวตัวสั่นยังกับลูกนกตกน้ำดีเหมือนกันไม่ง่วง เพราะมัวแต่หนาวเลยไม่มีเวลาง่วง

หน้าหนาวของทุกปี หลวงพ่อให้พระเณรทุกรูปลงจากกุฏิปักกลดอยู่ในป่าเป็นเดือน เพื่อฝึกไม่ให้พระเณรติดในความสะดวกสบาย ให้เผชิญหน้ากับความวังเวงในป่า และสัตว์ต่าง ๆ ทั้งที่น่ากลัวเช่น งู แมงป่อง หรือตะขาบ แมละที่ก่อกวน เช่น มดและปลวก เป็นต้น





09 สมณธรรม


ต้องทนฟัง


แม้การเทศน์ของท่านก็ใช้เป็นการทรมานลูกศิษย์ได้เหมือนกัน คือไม่ใช่ว่าท่านจะแสดงธรรมเพื่อให้ความรู้หรือให้กำลังใจเท่านั้น เช่น บางทีท่านก็เทศน์มาหลาย ๆ ชั่วโมงโดยไม่ได้มีเรื่องราวอะไรมากมายนัก นอกจาพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่แต่เรื่องเดิม การทรมานโดยวิธีนี้รู้สึกว่ามีผลมากสำหรับลูกศิษย์ชาวต่างประเทศ ที่ยังไม่เข้าใจภาษาไทย พระอาจารย์สุเมโธและพระอาจารย์วีรธมฺโมเล่าว่า ท่านทั้งสองต่างก็รู้สึกเป็นทุกข์และโกรธหลวงพ่อมาก ในขณะที่ต้องทนนั่งฟังเทศน์โดยไม่รู้ว่าเมื่อไรจะจบลงเสียที “ทำไมต้องให้เรามานั่งฟังด้วย ทำไมหลวงพ่อไม่ปล่อยให้กลับไปทำความเพียรที่กุฏิ” แต่เมื่อได้สติ และหันกลับไปเฝ้าดูความรู้สึกของตัวเองอย่างเพ่งพินิจได้เห็นการเกิดขึ้น และการดับไฟของอารมณ์ต่าง ๆ จึงได้แต่รู้สึกขอบคุณหลวงพ่อที่ท่านได้ช่วยเปิดตาในให้ได้เห็นกิเลสของตัวเอง พระอาจารย์สุเมโธเล่าว่า หลังจากที่ต้องทนทุกข์นั่งฟังหลวงพ่ออยู่ถึง ๖ ชั่วโมงโดยไม่รู้เรื่องอะไรเลย ความทุกข์ ความโกรธแค้นขัดเคืองทั้งหลายทั้งปวงก็มลายหายสิ้นไป เมื่อหลวงพ่อจบการเทศน์และหันมาพูดกับท่านด้วยน้ำเสียงปรานีเป็นอย่างยิ่งว่า

“เป็นจังได๋ สุเมโธ” (เป็นยังไงบ้าง สุเมโธ)





09 สมณธรรม


อยากมากไม่ให้เสียเลย


ความอยากทุกอย่าง ไม่ว่าอยากไปโน่นมานี่ หรืออยากได้บริขาร ขึ้นชื่อว่าอยากแล้วก็ถูกหลวงพ่อสวนทางหมด คือถ้าท่านรู้ว่าใครอยากไปไหนมาก ๆ ท่านไม่ยอมให้ไป ต่อเมื่อหายอยากแล้วจึงให้ไป อยากได้บริขารก็เช่นกัน พระอาจารย์เอนกได้กล่าวว่า “ถ้ารูปไหนอยากมากกว่าธรรมดา ไม่อิ่มในอัฐบริขาร ท่านก็ทำให้รู้สึกว่าท่านไม่ทำตามความต้องการของลูกศิษย์ ให้เราคิดแล้วคิดอีกจนอ่อนใจนั่นแหละ ท่านจึงอธิบายให้ฟังว่า จุดของความเย็นไม่ได้อยู่ที่วัตถุภายนอก อายุของวัตถุมันมีเมื่อเราใช้มันก็แตกดับ แต่ความสงบ ถ้าเราเข้าถึงแล้วมันไม่มีอายุ ไม่แตก ไม่ดับ นั่นเอง

วิธีการทรมานนี้เหมาะสำหรับคนกลุ่มน้อยผู้มีศรัทธาแรง แต่กับคนหมู่มากมักไม่ค่อยได้ผล และอาจเป็นเหตุให้คนไม่กล้าบวชก็ได้ เพราะกลัวตัวเองจะสู้ไม่ไหวหรืออาจทำให้คนต้องลาสิกขาอย่างพ่ายแพ้ เพราะฉะนั้นหลวงพ่อจึงใช้การทรมานเป็นครั้งเป็นคราว เช่น ในระยะแรก ๆ ที่สุขภาพของท่านยังแข็งแรง ทำเป็นตัวอย่างได้และลูกศิษย์มีจำนวนน้อยเท่านั้น ซึ่งลูกศิษย์ที่มีศรัทธามากในครูบาอาจารย์ก็มีกำลังใจทำตาม แต่ในระยะหลังเมื่อสุขภาพของท่านเสื่อมลง ทำเป็นตัวอย่างไม่ไหวแล้วท่านก็ลดลง ท่านได้อบรมเรื่องการปฏิบัติเพื่อทรมานกิเลสให้ลูกศิษย์ได้เข้าใจว่า

“การปฏิบัตินั้นคือทวนกระแส ทวนกระแสน้ำใจของเราเอง ทวนกระแสของกิเลส อะไรที่เป็นของทวนกระแสแล้วมันลำบาก พายเรือทวนกระแสก็ลำบาก สร้างคุณงามความดีนั้นก็ลำบาก เสียหน่อยหนึ่งเพราะว่าคนเรามีกิเลส ไม่อยากจะทำ ไม่อยากจะยุ่งยากไม่อยากจะอดทน อยากจะปล่อยไปตามอารมณ์เสียเป็นส่วนใหญ่ เหมือนน้ำน่แหละ มันก็ไหลไปตามเรื่องของมัน ถ้าปล่อยให้ไหลไปตามน้ำก็สบาย แต่ว่านั่นไม่ใช่ลักษณะปฏิบัติ ลักษณะปฏิบัติต้องฝืน ต้องฝืนกิเลสฝืนใจของตัวเอง ข่มจิตเจ้าของ ทำความอดทนให้มากขึ้น มันจึงเป็นการปฏิบัติทวนกระแสน้ำ”

อย่างไรก็ตาม การทวนกระแสกิเลสซึ่งพัดพาเราให้เวียนว่ายในวัฏสงสารมานับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้วนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย ผู้ปฏิบัติที่ยังกลัวความลำบากคงไม่มีทางชนะใจตนเองได้ การปฏิบัติก็เหมือนกับการขุดอุโมงค์ ยิ่งขุดลึกเข้าไปก็ยิ่งมืดยิ่งยาก จึงชวนให้ท้อแท้หมดหวัง ทั้งที่ผู้ขุดเชื่อ และแม้จะรู้ว่าความสว่างรออยู่ที่ปลายทางเมื่ออุโมงค์ทะลุ หลวงพ่อจึงคอยปลุกเร้ากำลังใจของลูกศิษย์อยู่เสมอ ให้เป็นผู้มีความกล้าหาญในการประพฤติปฏิบัติ กล้าฝึกกล้าฝืนหักหาญความอยากของตัวเอง ให้เห็นทุกข์จนถึงที่สุดนั่นแหละ จึงจะได้ประจักษ์ในผลของการปฏิบัติที่เป็นอัศจรรย์ด้วยตนเอง เช่นเดียวกับที่หลวงพ่อได้ประสบมาแล้ว ซึ่งท่านได้นำมาถ่ายทอดสู่ลูกศิษย์ในโอวาทที่กระตุ้นศรัทธาและพลังในการปฏิบัติ ให้กล้าแกร่งขึ้นมากทีเดียว

โอวาท – เอาชีวิตเข้าแลก


09 สมณธรรม


โอวาท – เอาชีวิตเข้าแลก




อย่าตามใจมัน หัดมัน เอาชีวิตเข้าแลกเลยปฏิบัตินี่ อย่างน้อยต้องได้ร้องไห้สามหนนั่นแหละ การปฏิบัติถ้ามันง่วงนอนอยากนอน ก็อย่าให้มันนอน พอมันหายง่วงจึงให้มันนอนอย่างนั้น แต่เราน่ะ โอย! ปฏิบัติไม่ได้หรอก บางครั้งบิณฑบาตมา ก่อนจะแนก็มานั่งพิจารณา มันพิจารณาไม่ออก เหมือนสุนัขบ้า น้ำลายหกน้ำลายไหลเพราะความอยาก จะพิจารณาอะไรก็พิจารณาไม่ออก บางทีพิจารณาก็ไม่ทันใจรีบตาม มันก็ยิ่งร้ายใหญ่ ถ้ามันไม่ฟังอดทนไม่ได้ ก็ดันบาตรออกไปเสีย อย่าให้มันได้ฉัน หัดมัน ทรมานมัน การปฏิบัตินี่ อย่าทำตามมันเรื่อย ๆ ผลักบาตรหนีไป อย่าให้มันฉัน มันอยากมากนัก อย่าให้มันฉัน มันพูดไม่ฟังนี่ฮึ น้ำลายก็หยุดไหล พอรู้ว่าจะไม่ได้ฉัน มันเข็ด พอมันต่อมาวันไม่กวนหรอก มันกลัวว่ามันจะไม่ได้ฉัน เงียบ ลอง ๆ ทำดูซิถ้าไม่เชื่อ

คนเรานะมันไม่เชื่อไม่กล้าทำ ถึงว่าคนไม่มีศรัทธาจะทำ กลัวจะหิว กลัวจะตาย ไม่ทำดูก็ไม่รู้จัก ไม่กล้าทำหรอกพวกเราน่ะ ไม่กล้าทำดู กลัวแต่จะเป็นนั่น กลัวแต่จะเป็นนี่ เรื่องอาหารการขบฉันเรื่องนั่นเรื่องนี่นะ โอย! ทุกข์กับมันมามากจนรู้เท่าว่ามันทุกข์ นั่นแหละเรื่องการปฏิบัตินี่ ไม่ใช่เรื่องจะพิจารณาง่าย ๆ ไม่ใช่เรื่องเบา ๆ นะ

พิจาณาเรื่องอะไร เรื่องอะไรล่ะที่สำคัญที่สุด เรื่องอะไรที่ไม่มีแล้วมันตาย เรื่องนี้สำคัญ ตายจึงเป็นเรื่องสำคัญในโลก พิจารณาไป ทำไป หาไปก็ยังไม่พบ ไม่มีผ้านุ่งผ้าห่มก็ยังไม่ตาย ไม่มีหมากกินไม่มีบุหรี่สูบก็ยังไม่ตาย ถ้าไม่มีข้าวไม่มีน้ำกินนี่ตาย เห็นเท่านี้ของสำคัญในโลก มีข้าวกับน้ำที่สำคัญเลี้ยงร่างกาย เลยไม่สนใจเรื่องอื่น เอาแต่พอได้ ส่วนข้าวกับน้ำนี่พอไม่ตาย มีอายุปฏิบัติไปเท่านั้นก็เอาละ เอาไหมล่ะเอาเท่านี้ อย่างอื่นเรื่องเบ็ดเตล็ดนั่น จะได้หรือไม่ได้ก็ช่างมัน จะมีจะพบก็ช่าง ข้อสำคัญมีข้าวกับน้ำเท่านั้นก็พอ ถ้าอยู่ไปจะพอกินไหม จะถึงตายไหม พิจารณาไปอย่างนั้น พอกินพอใช้อยู่หรอก เข้าไปบิณฑบาตบ้านไหน เขาคงจะให้หรอกข้าวทีละก้อน น้ำก็หากินจนได้แหละ เอาสองอันเท่านี้ไม่คิดจะรวยเท่าใดหรอก

เรื่องการปฏิบัติ เรื่องผิดเรื่องถูกมันปนกันมานั่นแหละ เราต้องกล้าทำต้องกล้าปฏิบัติ ป่าช้านะไม่เคยไปก็ต้องหัดไป ไปกลางคืนไม่ได้ก็ต้องไปกลางวัน แล้วหัดไปค่ำ ๆ บ่อย ๆ ต่อไปตอนค่ำก็ไปได้ แล้วจะเห็นประโยชน์ในการกระทำของตน ทีนี้ก็จะรู้เรื่อง นี่อะไร จิตใจของเรามันไม่รู้เรื่องราวมาตั้งกี่ชาติกี่ชาติ อันไหนเราไม่ชอบอันไหนเราไม่รักก็ไม่อยากประพฤติปฏิบัติ ปล่อยมันกลัวอยู่อย่างนี้ แล้วก็ว่าเราได้ปฏิบัติ มันยังไม่เรียกปฏิบัติหรอก ถ้าปฏิบัติจริง ๆ ละก็ชีวิตนั่นแหละพูดง่าย ๆ ถ้าตั้งใจจริง ๆ จะไปสนใจทำไม กูได้น้อยมึงได้มาก มึงทะเลาะกู กูทะเลาะมึง ไม่มีหรอกเรื่องอย่างนั้นน่ะ เพราะไม่หาเอาเรื่องอย่างนั้น ใครจะทำอย่างไรก็ช่าง จะเข้าวัดไหนก็ตาม ก็ไม่ได้หาเอาเรื่องเช่นนี้ ไม่ได้ไปเพ่งเอาเรื่องเช่นนี้ ใครจะปฏิบัติต่ำปฏิบัติสูงก็ไม่ได้หาเอาเรื่องเช่นนั้น ใส่ใจแต่เรื่องของตนเท่านั้น อย่างนี้แหละกล้าประพฤติกล้าปฏิบัติ ปัญญาจะเกิด ฌานจะเกิด เพราะการปฏิบัติ

ถ้าหากว่าปฏิบัติถึงที่แล้วมันปฏิบัติแท้ ๆ กลางคืนกลางวันก็ตามก็ปฏิบัติ กลางคืนก็นั่งสมาธิ เงียบ ๆ แล้วลงมาเดิน อย่างน้อยก็ต้องได้ ๒-๓ ครั้ง เดินจงกรมนั่งสมาธิ นั่งสมาธิแล้วลงมาเดินจงกรมมันไม่อิ่มมันเพลิน บางทีฝนตกพรำ ๆ ให้นึกถึงเมื่อคราวทำนาโน่น กางเกงที่นุ่งทำงานกลางวันยังไม่ทันแห้ง ตื่นเช้ามาก็ต้องสวมใส่เข้าไปอีกตั้งแต่เช้า เข้าไปเอาควายในคอกออก มองดูควายข้างนอกเห็นแต่คอ ไปจับเอาเชือกควายมามีแต่ขี้ควายเต็มไปหมด หางควายตวัดแกว่งเอาขี้ของมันมาเปรอะเราเต็มไปหมด ตีนเป็นฮังก้าด้วย เดินไปทรมานไป “ทำไมถึงทุกข์ ทำไมถึงยากแท้” ทีเราเดินจงกรมฝนตกแค่นี้จะเป็นอะไร ทำนายิ่งทุกข์ก็ยังทำได้ เดินจงกรมแค่นี้ทำไมจะทำไม่ได้ มันกล้าขึ้นมาหรอกถ้าเราได้ทำ

ถ้าตกกระแสของมันแล้วเรื่องการปฏิบัตินี่ไม่มีอะไรจะขยันเท่า จะทุกข์ก็ไม่ทุกข์เท่าผู้ปฏิบัติ จะสุขก็ไม่สุขเท่าผู้ปฏิบัติ ขยันก็ไม่ขยันเท่าผู้ปฏิบัติ ขี้เกียจก็ไม่ขี้เกียจเท่าพวกนี้ พวกนี้เป็นเลิศกว่าเขา ขยันก็เลิศกว่าเขา ขี้เกียจก็เลิศกว่าเขา มีแต่เลิศทั้งนั้น ถึงว่าถ้าตั้งใจปฏิบัติแล้วมันก็น่าดูจริง ๆ แต่พวกเราที่ว่าปฏิบัติน่ะยังไม่ถึง ยังไม่ได้ทำ เปรียบก็เท่ากับว่า ถ้าหลังคารั่งตรงนี้ก็ขยับไปนอนตรงนั้น ถ้ารั่วตรงนั้นก็ขยับมานอนตรงนี้ “ทำยังไงจะได้บ้านได้ช่องดี ๆ กับเขาสักที” นี่ถ้ามัวรั่วทั้งหลังก็คงหนีเลย อย่างนี้ก็ไม่น่าเอา มันก็อย่างนั้นแหละการปฏิบัติ

จิตของเรากิเลสของเรานะ ถ้าไปทำตามมันก็ยิ่งไปกันใหญ่ ยิ่งทำตามก็ยิ่งหมดข้อวัตรปฏิบัติ เรื่องการปฏิบัตินี่ จนมันอัศจรรย์ในจิตของตนนะ อัศจรรย์มันขยันหมั่นเพียรไม่รู้เป็นอย่างไร ใครจะปฏิบัติก็ตามไม่ปฏิบัติก็ตาม ไม่ได้สนใจใคร ทำของตนปฏิบัติของตนไปสม่ำเสมออย่างนั้น ใครจะไปใต้มาเหนือก็ช่างเขา เราทำของเราอยู่อย่างนั้น ต้องดูตัวเองมันจึงจะเป็นการปฏิบัติ ครั้นปฏิบัติไปแล้วไม่มีเรื่องอะไรในใจ มีแต่เรื่องธรรมะ ตรงไหนยังทำไม่ได้ตรงไหนยังขัดข้องอยู่มันก็วนอยู่แต่ตรงนั้น ไม่แตกแล้วมันไม่หนีหรอก หมดอันนี้แล้วไปคาอยู่อะไรอีก มันก็ไปติดอยู่ตรงนั้นอีก ติดอยู่ที่นั่นมันไม่หนี ถ้าติดอยู่มันเอาจนแตกนั่นแหละ ถ้าไม่เสร็จก็ไม่ไป มันไม่สบายใจถ้าไม่เสร็จหมด มันพิจารณาจ่ออยู่ที่นั่น นั่งก็อยู่ที่นั่นเดินก็อยู่ที่นั่น เปรียบเหมือนกับเราทำนาไม่เสร็จนั่นแหละ นาเราเคยดำทุกปี แต่ปีนี้ตรงนี้ยังไม่เสร็จ ใจก็เลยติดเป็นทุกข์ อยู่ที่นั้นไม่สบาย เหมือนเราทำงานไม่เสร็จ ถึงมาอยู่กับเพื่อนมาก ๆ ใจก็ไม่สบาย พะวงแต่เรื่องงานที่เราทำไม่เสร็จอยู่นั่นแหละ หรือเหมือนกับเราปล่อยลูกเล็ก ๆ ไว้กับบ้าน แต่เราให้อาหารหมูอยู่ใต้ถุน ใจมันก็คิดอยู่กับลูกกลัวมันจะตกบ้าน ทำอย่างอื่นก็คิดอยู่อย่างนั้น เช่นเดียวกันกับข้อปฏิบัติของเรา มันลืมสักทีเลย ทำอย่างอื่นอยู่ก็ไม่ลืม พอจะออกจากมัน มันก็ป๊าบเข้ามาในใจทันที ติดตามอยู่กระทั่งคืนกระทั่งวันไม่ได้ลืมสักที เป็นอยู่อย่างนั้นมันจึงเป็นไปได้ ไม่ใช่ของง่าย

ตอนแรกก็อาศัยครูบาอาจารย์ให้ท่านแนะนำ เข้าใจแล้วก็ทำ ครูบาอาจารย์สอนแล้วก็ทำตามที่ท่านสอน พอเข้าใจแล้วทำได้แล้วท่านก็ไม่ได้สอนอีก เราทำของเราเองละทีนี้ จะเกิดประมาทอยู่ตรงไหน จะเกิดไม่ดีตรงไหน มันก็รู้ของมันเอง มันเป็นผู้รู้มันเป็นปัจจัตตัง จิตมันเป็นของมันเอง รู้เองว่าผิดน้อยผิดมาก ผิดตรงไหนมันก็พยายามดูของมันอยู่อย่างนั้นพยายามประพฤติปฏิบัติของมันเอง เป็นอย่างนั้นละปฏิบัติ คล้าย ๆ เป็นบ้าหรือเป็นบ้าไปเลยก็ว่าได้ ปฏิบัติจริง ๆ ก็เป็นบ้าน่ะแหละ มันเปลี่ยน มันเป็นสัญญาวิปลาส แล้วมันเปลี่ยนสัญญานั่น ถ้าไม่เปลี่ยนมันก็ดุร้ายอยู่เหมือนเดิม ก็ทุกข์อยู่เหมือนเดิม

มันก็แสนจะทุกข์นั่นล่ะการปฏิบัติ แต่ว่าทุกข์นั่นถ้าไม่รู้จักว่ามีทุกข์มันก็ไม่รู้จักทุกข์หรอก ถ้าเราจะพิจารณาทุกข์ เราจะฆ่าทุกข์นี่มันก็ต้องพบกันก่อนซิ จะไปยิงนกถ้าไม่เจอนกแล้วจะได้ยิงหรือ ทุกข์ ทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าทุกข์ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ เกิดขึ้นมาแล้วไม่อยากให้ทุกข์ มันก็ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์มันก็ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักทุกข์ก็เอาทุกข์ออกไม่ได้ อย่างนี้แล้วคนเราไม่อยากเห็นทุกข์ไม่อยากได้ทุกข์ ทุกข์ตรงนี้ก็หนีไปตรงนั้น นั่นแหละยิ่งเก็บเอาทุกข์ไว้ ไม่ได้ฆ่ามัน ไม่ได้คิดไม่ได้พิจารณาดูมัน ทุกข์ตรงนี้หนีไปตรงนั้น ทุกข์ตรงนั้นหนีไปตรงนี้ หนีแต่ทางกาย เราหลงอยู่เมื่อใดจะไปตรงไหนมันก็ทุกข์ จะขึ้นเครื่องบินหนีไปมันก็ขึ้นไปด้วย แม้จะมุดลงไปในน้ำมันก็มุดไปด้วย เพราะทุกข์มันอยู่กับเราแต่เราหลง มันอยู่กับเรา จะหนีจะละมันที่ไหนได้ คนเราน่ะทุกข์ที่นี้หนีไปที่นั้น ทุกข์ที่นั้นหนีมาทางนี้ ว่าเราหนีทุกข์มันก็ไม่ใช่ ทุกข์มันไปกับเรา เราไปกับทุกข์ ไม่รู้จักทุกข์ ถ้าไม่รู้จักทุกข์ไม่รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ ไม่รู้จักเหตุของทุกข์ไม่รู้จักความดับทุกข์ที่ไหนมันจะดับได้ ไม่มีหรอก

มันต้องหมั่นมาพิจารณาให้แน่นอน ต้องกล้าประพฤติ กล้าปฏิบัติ อยู่กับเพื่อนกับฝูงก็เหมือนอยู่คนเดียว ไม่กลัว ใครจะขี้เกียจขี้คร้านก็ช่างเถอะ ผู้ใดเดินจงกรมทำความเพียรมาก ๆ ละรับรอง ใครจะไปไหนมาไหนก็ทำการปฏิบัติของตัวเองอยู่อย่างนั้น ทำความเพียรอยู่อย่างนั้น ถ้าทำจริง ๆ แล้ว ก็พรรษาเดียวเท่านั้นการปฏิบัตินี่ ให้ทำนะให้ทำอย่างที่พูดมานี่ ให้ฟังคำสอนของอาจารย์ อย่าไปเถียงอย่าดื้อ ท่านสั่งให้ทำทำไปเลย ไม่ต้องกลัวกับการปฏิบัติ มันรู้จักเพราะการกระทำ ไม่ต้องสงสัยหรอก

การปฏิบัตินั้นเป็นปฏิปทาด้วย ปฏิปทาอย่างไร ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ สม่ำเสมอ ปฏิบัติเหมือนหลวงตาเปไม่ได้นะ ในพรรษาท่านก็สมาทานไม่พูด ไม่พูดแต่ก็เอาหนังสือมาเขียน “พรุ่งนี้ปิ้งข้าวเหนียวให้สักก้อนนะ” อยากกินข้าวเหนียวปิ้ง ท่านไม่พูดแต่เอาหนังสือมาเขียน ยิ่งยุ่งกว่าเดิมอีก เดี๋ยวก็เขียนเอาอันนั้น เดี๋ยวก็เขียนเอาอันนี้ วุ่นวายไปหมด ท่านสมาทานไม่พูดแต่มาเขียนเอานี่ก็ไม่รู้จะสมาททานไม่พูดไปทำไม ไม่รู้จักการปฏิบัติของตนเอง ความเป็นจริงปฏิปทาของเราเป็นผู้มักน้อยเป็นผู้สันโดษ ปล่อยไปตามธรรมดาปกติของเรา อย่าไปสนใจมันจะขี้เกียจ อย่าไปสนใจมันจะขยัน ปฏิบัตินี่อย่าว่าขยันอย่าว่าขี้เกียจ ธรรมดาคนเรานั้นนะขยันจึงจะทำถ้าขี้เกียจแล้วไม่ทำ นี่ปกติของคนเรา แต่พระท่านไม่เอาเช่นนั้น ขยันก็ทำขี้เกียจก็ทำ ไม่สนใจอย่างอื่น ตัดไป ละไป หัดไป ทำไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าวันหรือคืน ปีนี้ปีหน้า ยามไหนก็ตาม ไม่สนใจขยันไม่สนใจขี้เกียจไม่สนใจร้อนไม่สนใจหนาว ทำไปเรื่อย ๆ นี่ท่านเรียกว่าสัมมาปฏิปทา

บางทีก็ขะมักเขม้นขึ้นมาคุยกันอยู่เสียหกวัน เจ็ดวัน พอเห็นว่าไม่เข้าท่าก็หยุดเลิกออกมาเลยยิ่งไปกันใหญ่ ทั้งพูดทั้งคุยไม่รู้อะไร พอนึกได้ทำเข้าไปอีกสองวัน สามวันเท่านั้นพอเลิกแล้วนึกได้อีกก็ทำอีก เหมือนกับคนทำงานบทจะทำก็ทำเสียจนไม่รู้เนื้อรู้ตัว เรื่องขุดไร่ขุดสวนถางไร่ถางภูก็ดี บทจะเลิกจอบเสียมก็ไม่ยอมเก็บทิ้งอยู่อย่างนั้นหนีไปเลย วันต่อมาดินจับเกรอะไปหมด แล้วก็นึกขยันทำอีก ทิ้งไปอีก อย่างนี้ไม่เป็นไร่ไม่เป็นนา ปฏิบัตินี่ก็เหมือนกันนั่นแหละ ปฏิปทาถ้าถือว่าไม่สำคัญก็ไม่สำเร็จ สัมมาปฏิปทานี่สำคัญมากจริง ๆ คือเราทำเรื่อย ๆ อย่าไปสนใจว่าได้อารมณ์ดีอารมณ์ไม่ดีก็ช่างมัน พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สนใจใครหรอก ท่านผ่านมาหมดของดีไม่ดี ของชอบไม่ชอบเหล่านี้ นั่นแหละจึงเป็นการปฏิบัติ การปฏิบัติที่จะเอาแต่ของชอบ ของไม่ชอบไม่เอา อย่างนี้ไม่เป็นการปฏิบัติ มันเป็นวิบัติ นี่ไปที่ไหนก็ไม่สบาย อยู่ที่ไหนก็ไม่สบาย เป็นทุกข์อยู่ตลอดกาลตลอดเวลา กระทำเพียรก็เหมือนกัน ทำไมเราจึงทำความเพียรล่ะ ทำเพื่อมีภพมีชาติ ต้องการตามใจตามปรารถจึงเอา ไม่ได้ตามปรารถนาก็ไม่เอา เหมือนกับพราหมณ์บูชายันต์เขาต้องการเขาจึงบูชายันต์ พระพุทธเจ้าท่านไม่ว่าอย่างนั้น การกระทำเพียรก็เพื่อละเพื่อปล่อยเพื่อเลิกเพื่อถอนไม่ต้องการภพชาติไม่ต้องการเอานั่นเอานี่ กว่าท่านจะมาถูกทางท่านก็ปฏิบัติมาไม่รู้กี่อย่างต่อกี่อย่าง มีพระเถระองค์หนึ่ง ท่านบวชมหานิกายว่ามันไม่เคร่งก็เปลี่ยนมาเป็นธรรมยุต ครั้นบวชธรรมยุตแล้วมาปฏิบัติ ปฏิบัติไปบางทีก็ไม่ยอมกินข้าวตั้งสิบห้าวันนะ ครั้นกินก็กินเฉพาะผักเฉพาะหญ้า กินสัตว์น่ะมันบาป กินผักกินหญ้าดีกว่า กินฝักลิ้นฟ้าหมดทีละสี่ห้าฝักแน่ะ กินอย่างนั้นมันก็ได้แค่นั้น ต่อมาสักหน่อย เฮ้ย เป็นพระไม่ดีเป็นไปลำบาก รักษาวัตรมันยาก ลดลงมาเป็นปะขาวดีกว่า เลยสึกจากพระมาเป็นปะขาว เพราะเก็บผักเก็บหญ้ากินเองก็ได้ ขุดหัวเผือกหัวมันกินเองได้ เลยมาเป็นปะขาวหมดเลย! เดี๋ยวนี้ไม่รู้ว่าไปอย่างไรตายหรือยังก็ไม่รู้ นี่เพราะทำอย่างไรก็ไม่พอใจไม่หนำใจเลย ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำตามกิเลส กิเลสพาทำก็ไม่รู้จัก พระพุทธเจ้าน่ะท่านสึกเป็นปะขาวหรือเปล่า ท่านทำอย่างไร ท่านปฏิบัติอย่างไร ก็ไปคิดดู ท่านพากินผักกินหญ้าเหมือนวัวเหมือนควายหรือเปล่า เออ! จะกินก็กินไปเถอะ เราทำได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น

อย่าไปติตนอื่นอย่าไปว่าคนอื่น สบายอย่างใดก็เอาอย่างนั้น อย่าไปเสี้ยอย่าไปถาก อย่าไปฟันเข้ามากเกินไป จะไม่เป็นคันกระบวย เลยไม่เป็นอะไรก็ทิ้งไปเสียเฉย ๆ อย่างนี้ก็มี อย่างการทำความเพียรเดินจงกรม สิบห้าวันก็เดินอยู่อย่างนั้น ไม่กินข้าวละ แข็งแรงอยู่ ครั้นเลิกทำแล้วทิ้ง นอนเรื่อยเปื่อยไม่ได้เรื่อง นี่แหละไม่ได้คิดไตร่ตรองให้ดี ไป ๆ มา ๆ เป็นอะไรก็ไม่ถูกใจ เป็นพระก็ไม่ถูกใจ เป็นเณรก็ไม่ถูกใจ เป็นปะขาวก็ไม่ถูกใจ เลยไม่เป็นอะไร ไม่ได้อะไรเลย นี่แหละไม่รู้จักการปฏิบัติของตน ไม่พิจารณาเหตุผล จะปฏิบัติเพื่อเอาอะไรให้คิดดู ที่ท่านให้ปฏิบัติน่ะปฏิบัติเพื่อทิ้ง มันคิดรักคนนั้นคิดชังคนนี้ อย่างนี้มีอยู่แต่อย่าไปสนใจ แล้วปฏิบัติเพื่ออะไร เพื่อละสิ่งเหล่านี้ สงบก็ทิ้งความสงบ รู้แล้วก็ทิ้งมันเสีย ความรู้เหล่านั้น รู้แล้วก็แล้วไป ครั้นถือว่าตัวว่าตนว่ารู้แล้วก็ถือว่าตัวเก่งกว่าคนอื่นเท่านั้นซิ ไป ๆ มา ๆ เลยอยู่ไม่ได้ อยู่ที่ไหนเดือดร้อนที่นั่น นี่เรื่องปฏิบัติไม่ถูกทาง






09 สมณธรรม


ดุ!


พระพุทธองค์เคยตรัสว่า
“เราย่อมฝึกคนด้วยวิธีอ่อนละมุนละม่อมบ้าง ด้วยวิธีรุนแรงบ้าง ด้วยวิธีทั้งอ่อนและละมุนละม่อมและทั้งรุนแรงปนเปกันไปบ้าง”

หลวงพ่อก็เอาหลักนี้มาใช้เหมือนกัน และเมื่อท่านใช้วิธีรุนแรง หรือดุพระเณร ก็ทำให้ลูกศิษย์กลัวท่านมาก แต่เกือบทุกรูปยอมรับตรงกันว่า “ท่านดุเท่าไร ก็ไม่รู้สึกต่อต้านไม่โกรธเลย”

ท่านอาจารย์เอนกเคยพูดถึงเรื่องนี้ว่า
“ความเป็นจริงแล้วท่านไม่ได้ดุ แต่ท่านจะเตือนสติของเราทันทีถ้ามีใครทำอะไรผิดพลาดขาดความระมัดระวัง อย่างเช่นพระเณรทำของตก เป็นต้นว่ากระโถน กาน้ำ แก้วน้ำ เสียงดัง เพล้งพล้างอยู่ในโรงฉัน หรือบางครั้งทำบาตรหล่น เป็นต้น

ถ้าเกิดเสียงดังไม่ว่าจากอะไรก็ตาม เป็นความพลั้งเผลอขาดสติของลูกศิษย์ ท่านจะเตือนขึ้นทันทีเดี๋ยวนั้นเลย บางทีเตือนด้วยสายตา แต่บางทีก็เตือนด้วยคำพูดเสียงดังคล้ายดุอย่างนี้ เออ! ไม่มีการสำรวมระวัง ไม่มีสติบ้างหรือ หรือไม่ก็ จะจับจะวางสิ่งของอะไรลงไปก็ให้มีสติบ้างสิ ปล่อยสติไปที่ไหน อย่างนี้เป็นต้น พระเณรทุกองค์จึงต้องพยายามสำรวมระวังที่สุดที่จะไม่ทำเสียง

แต่ถึงท่านจะพูดเสียงดังคล้ายกับดุ ท่านก็ไม่มีอะไร ไม่ว่าจะเป็นญาติโยมหรือพระเณร ถ้าทำผิดท่านก็เตือนเหมือนกัน แต่วันหลังก็เรียกใช้ธรรมดา เวลาพูดด้วย ตามปกติท่านจะพูดเรียบแม้กับเณรเล็กเณรน้อยก็เหมือนกัน ท่านพูดเรียบคล้ายพูดกับเพื่อน ยกเว้นบางรูปที่นิสัยหยาบกร้าน ท่านจะพูดกระตุ้นความรู้สึกให้ระวังตัวอยู่เสมอ”

ถ้ามีเหตุที่จะต้องดุลูกศิษย์เป็นรายบุคคล หลวงพ่อพิจารณาก่อนว่าเขาจะรับได้หรือไม่ เพราะท่านดุเพื่อมุ่งผลในการปฏิบัติของลูกศิษย์ ไม่ใช่ดุเพื่อระบายความไม่พอใจ และการที่ดุนั้น หลวงพ่อก็พูดให้รู้สึกว่าเป็นการตำหนิที่กิเลสไม่ใช่ที่ตัวบุคคล เช่นว่า นี่แหละภาวนาไม่เป็น ไม่ดูจิตเจ้าของ จิตมีมายาสาไถยก็ไม่รู้จัก

แต่ปกติแล้วท่านจะไม่เทศน์เจาะจงว่าใครคนหนึ่งโดยเฉพาะ จะยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่าง เพื่อชี้โทษจากการกระทำนั้น ๆ มากกว่า แต่ท่านอาจใช้ภาษารุนแรงจนผู้ทำผิดอาย ร้อนตัวไปหมด บางครั้นท่านก็ใช้ลูกศิษย์เก่า เช่น หลวงปู่ลาดหรือพระอาจารย์สีนวลเป็นแพะรับบาป เพราะท่านรู้ว่าไม่ถือสา

พระอาจารย์ทองจันทร์เล่าว่า ครั้งหนึ่งหลังจากโดนหลวงพ่อดุ “ผมรู้สึกชื่นชมมาก เพราะกินแต่ของหวานบ่อย ๆ ก็ไม่ค่อยดีเหมือนกันต้องเอาของเผ็ด ๆ บ้าง ทำให้หูตาสว่างไปเป็นเดือน ๆ กว่ามันจะมาอีก”

แต่บางทีหลวงพ่อก็เอาหนักเหมือนกัน จนลูกศิษย์ถึงกับร้องไห้ก็มี ซึ่งมักเป็นกรณีที่พระต้องอาบัติหนัก เป็นเหตุให้พระกลัวท่านมาก และอาบัติสังฆาทิเสสจึงมีน้อย นับว่ามีอานิสงส์เหมือนกัน เพราะในระยะบวชใหม่พระนวกะจิตยังหยาบ หิริโอตตัปปะยังไม่มีกำลัง ก็ยังคิดถึงเรื่องทางโลกอยู่บ้าง ความกลัวอาจารย์อาจเป็นเครื่องยับยั้งอันเดียวที่จะช่วยยังอารมณ์เอาไว้ได้










Create Date : 03 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2554 17:09:14 น. 0 comments
Counter : 451 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Jจุ้ย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


facebookฝากข้อความได้ครับ
Google

ฟังวิทยุออนไลครับ
ฟังวิทยุออนไลน์ กดที่รูปครับ




หลับฝันดี
๑ หลับคืนนี้ฝันดีนะที่รัก...
หลับตาพักหลับตาฝันถึงวันใหม่...
หลับคืนนี้คนดีฝันถึงใคร...
รู้บ้างไหมฉันตั้งใจฝันถึงเธอ...


Friends' blogs
[Add Jจุ้ย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.