รูปบล็อคนอก
Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
27 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 
อุปลมณี 07 ศีลของสงฆ์



07 ศีลของสงฆ์


07 ศีลของสงฆ์




๑. พระวินัย
๒. ข้อวัตรปฏิบัติ
๓. ธุดงควัตร





๑. พระวินัย


๑. พระวินัย


ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่าการสอนศิษย์ของหลวงพ่อเน้นเรื่องเอกภาพของมรรค อย่างที่ท่านย้ำอยู่เสมอว่า ศีล สมาธิ และปัญญา แยกออกจากกันไม่ได้ ในการอบรมพระภิกษุสงฆ์ที่เข้ามาบวชที่วัดหนองป่าพง ท่านจึงเอาศีลของสงฆ์ คือ พระวินัยเป็นหลักใหญ่ ความสำคัญที่หลวงพ่อให้กับพระวินัยดูได้จากคำพูดของท่านเอง

“ถ้าเราไม่รักษาพระวินัยนี่...เท่ากับไม่เคารพพระพุทธเจ้า เพราะท่านเป็นผู้บัญญัติพระวินัยขึ้นมา ฉะนั้นถ้าไม่รักษาพระวินัย ไม่เคารพพระวินัย ก็เท่ากับไม่เคารพพระพุทธเจ้า ถ้าเราเคารพพระพุทธเจ้า เราต้องเคารพพระวินัยด้วยการรักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด ถ้าไม่ทำเช่นนี้ก็ไม่รู้จะมาบวชทำไม แล้วจะเกิดประโยชน์อะไรแก่เรา”

“พระวินัยอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่เรานั่นแหละ เรารักษาไว้พระวินัยก็อยู่ ถ้าไม่รักษา ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ก็เป็นโจรเหยียบพระศาสนาเท่านั้นเอง”

“ยอมตายก่อนที่จะละเมิดพระวินัย ไม่เสียดายชีวิตเท่าเสียดายพระวินัย”

พระวินัยคืออะไร
แง่ส่วนตัว
แง่ส่วนรวม
หลวงพ่อกล่าวถึงพระวินัย
พระชาข้องใจ
ไม่มีเจตนาจะทำผิดแล้ว
หิริ โอตตัปปะ
ใช้ให้เป็น
ความสงสัย
หลวงพ่อสอนพระวินัย
ทดสอบ
วินัยทางปฏิบัติ





๑. พระวินัย


พระวินัยคืออะไร




พระวินัย คือ ระบบแบบแผนต่าง ๆ ที่กำหนดความประพฤติ ความเป็นอยู่ และกิจการของสงฆ์ทั้งหมด เป็นสิ่งที่ครอบคลุมชีวิตด้านนอกของภิกษุสงฆ์ทุกแง่มุม

พระวินัย ประกอบด้วยสิกขาบทต่าง ๆ มากมาย มีทั้งข้อกำหนด เกี่ยวกับความเป็นอยู่ส่วนตัว ความสัมพันธ์ระหว่างพระภิกษุด้วยกัน ความสัมพันธ์กับคฤหัสถ์ทั้งหลาย ตลอดจนการปฏิบัติต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ระเบียบว่าด้วยการปกครอง และการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสงฆ์ ระเบียบเกี่ยวกับการแสวงหา การจัดทำ เก็บรักษา แบ่งสันปันส่วนปัจจัย ๔ ฉะนั้น เมื่อรวมข้อห้ามและข้ออนุญาตแล้วก็มีมาก จนกระทั่งหลวงพ่อเคยบอกว่านี้ มีเป็นโกฏิเป็นกือ

เหตุผลที่พระพุทธองค์ทรงปรารภในการบัญญัติสิกขาบทแก่สงฆ์มี ๑๐ ประการ

๑. เพื่อความเรียบร้อยดีงามแห่งสงฆ์
๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
๓. เพื่อกำราบคนหน้าด้านไม่รู้จักอาย
๔. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม
๕. เพื่อปิดกั้นความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อน ที่จะมีในปัจจุบัน
๖. เพื่อบำบัดความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อน ที่จะมีในภายหลัง
๗. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของคนที่เลื่อมใสแล้ว
๙. เพื่อความดำรงมั่นแห่งสัทธรรม
๑๐. เพื่อส่งเสริมความเป็นระเบียบเรียบร้อย สนับสนุนวินัยให้หนักแน่น

พระวินัยจึงมีอานิสงส์ทั้งในแง่ของการปฏิบัติธรรมส่วนตัวของพระและในแง่ส่วนรวมของสงฆ์





๑. พระวินัย


แง่ส่วนตัว


พระวินัยเป็นเครื่องมือกำจัดกิเลสขั้นหยาบ ไม่ให้ความเศร้าหมองทางใจกำเริบ เกิดการล่วงละเมิดด้วยกายและวาจา จนสร้างความเดือดร้อนแก่ตนและผู้อื่น ตามรากศัพท์คำว่า วินัยแปลว่า การนำออก เพราะนำผู้ปฏิบัติตามให้ออกจากนิสัยเก่าที่ยังติดเชื้อจากชีวิตฆราวาส และช่วยปลูกฝังสมณสัญญาให้งอกงามไพบูลย์

คนที่ยังใหม่ต่อพรหมจรรย์ มักไม่อาจคงความสม่ำเสมอในปฏิปทาไว้ได้ ยังหลงอารมณ์บ่อย ๆ สิกขาบทและข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงตามความรู้สึกหรือความต้องการของใครจึงเป็นเสมือนมาตรฐานเครื่องวัดการกระทำ เป็นเครื่องเตือนสติที่ดี พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ศีลคือเจตนา” และการระลึกรู้อยู่ในศีลของตน ทำให้พระภิกษุผู้เอื้อเฟื้อต่อพระวินัย สามารถมองเห็นเจตนาของตัวเองว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ควรประพฤติตามหรือไม่

นอกจากนั้น พระวินัยยังทำให้ผู้ปฏิบัติตามด้วยความเอาใจใส่อย่างจริงจัง เพิ่มความละเอียดถี่ถ้วนขึ้น มีวิจารณาญาณที่กว้างไกล เป็นผู้รู้มารยาทและโคจร เคารพคารวะต่อผู้หลักผู้ใหญ่ มีปกติอ่อนน้อมถ่อมตน แม้ในหมู่เพื่อนสหธรรมิกด้วยกัน เป็นผู้ยินดีในความมักน้อยสันโดษ อดทน เลี้ยงง่าย พร้อมที่จะเสียสละประโยชน์ส่วนตนให้กับหมู่สงฆ์อยู่เสมอ

แต่อานิสงส์ของการรักษาพระวินัยที่สำคัญ อยู่ที่จิตเบาสบาย ไม่เดือดร้อน มีความเชื่อมั่นและนับถือในตนเอง ซึ่งทำให้การเจริญสมาธิภาวนาก้าวหน้าเร็วและราบรื่น

อนึ่ง การปฏิบัติที่จิต ภาวนาอย่างขะมักเขม้น แต่ละเลยกิริยาภายนอก หลวงพ่อถือว่าเป็นการสร้างประโยชน์ตนแต่ฝ่ายเดียว ไม่ใส่ใจในประโยชน์ของผู้อื่น จะเรียกว่านักปฏิบัติธรรมที่ครบถ้วนสมบูรณ์ยังไม่ได้ ส่วนการประพฤติปฏิบัติโดยเอื้อเฟื้อต่อพระวินัยนั้น ถือเป็นการประกาศศาสนาไปในตัว เพราะทำให้ผู้ที่มาพบเห็น ที่ยังไม่เคยเลื่อมใสให้เลื่อมใส ที่เลื่อมใสแล้วเกิดความเลื่อมใสยิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งข้อนี้ ตรงกับวัตถุประสงค์อันหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นคู่เคียงกับพระธรรม บางสำนักสอนว่าไม่ต้องไปจุกจิกจู้จี้เรื่องสิกขาบทต่าง ๆ มากเกินไป ให้มีสติตัวเดียวก็พอแล้ว ครั้งหนึ่งมีพระถามหลวงพ่อว่า ท่านเห็นอย่างไรต่อทัศนะนี้ หลวงพ่อตอบว่า

“จริงแต่ไม่ถูก ถูกแต่ไม่จริง”





๑. พระวินัย


แง่ส่วนรวม




พระวินัยเป็นวิธีสร้างชุมชนที่เรียบร้อย อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข มีบรรยากาศที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรม ในเมื่อผู้ที่เข้ามาบวชมักจะมีความแตกต่างกันในเรื่องเชื้อชาติ ชั้นวรรณะ นิสัยใจคอ การศึกษาพระธรรมวินัยจึงเป็นเครื่องรับรองคามสามัคคีของสงฆ์ ทำให้ทุกรูปไว้วางใจซึ่งกันและกัน ไม่มีความหวาดระแวง หรือทะเลาะวิวาทกัน ไม่มีความแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่นกัน แต่อยู่อย่างมิตรด้วยความเมตตาและเคารพต่อกัน

หลวงพ่อปรารภเรื่องความสามัคคีของสงฆ์อยู่เสมอ เพราะท่านทราบดีว่าเป็นสิ่งรับประกันความมั่นคงและอายุของสงฆ์ และความสามัคคีย่อมอาศัยพระวินัยนั่นเอง หลวงพ่อเห็นว่าความเสื่อมของสถาบันสงฆ์ในปัจจุบันสัมพันธ์กับเรื่องนี้

“เรื่องพระวินัย เรื่องศีลนี่ เดี๋ยวนี้ผมว่าจะมีแต่ชื่อ ตัวศีลจริง ๆ มันไม่ค่อยมี ดังนั้นความสามัคคีจึงไม่ตกลง ตกลงกันไม่ได้ ไอ้คนนั้นทำผิด ไม่กล้าตัดสินใจ เพราะอะไร นี่เพราะว่าเราก็เป็นอย่างนั้น มันก็เลยไม่กล้าครับ ก็เลยทิ้งมันไว้อย่างนั้น ไม่มีใครว่าอะไรกัน คนอื่นก็เป็นอย่างนั้น ตัวเราก็เป็นอย่างนั้น ถ้าไปพูดให้คนอื่น มันก็คงแดงขึ้นนี่ครับ ตัวเราก็พร้อมไปด้วย มันเป็นในทำนองนี้ เดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างนั้น”
หลวงพ่อเตือนลูกศิษย์ไม่ให้ทำอะไรตามอำเภอใจ แต่ให้ปรึกษาสงฆ์ก่อน (กติกาสงฆ์ข้อที่ ๔) ท่านสอนว่าในเรื่องเกี่ยวกับความสามัคคีของสงฆ์นั้น ไม่ควรนำคำว่านานาจิตตังมาอ้างเพราะเป็นคนละเรื่อง ความเอกฉันท์ของหมู่สงฆ์ ย่อมอาศัยการลดมานะละทิฏฐิของแต่ละรูป

หลวงพ่อเคยเรียกพระวินัยว่าเป็น ตะแกรงร่อนพระเณร เพราะเมื่อคณะสงฆ์ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พระรูปที่มีศรัทธาจริง ๆ เท่านั้น ที่จะอยู่ได้ เมื่อมีกฏระเบียบที่ตายตัวอย่างนี้ ความย่อหย่อนย่อมปรากฏออกมาทันทีตั้งแต่แรก ผู้ปกครองจึงมีโอกาสควบคุมไม่ให้กำเริบเสียหายเปรียบได้ราวกับน้ำใส แม้มีสีหยดลงไปเพียงเล็กน้อยก็สังเกตเห็นได้ง่าย

การมีมาตรฐานในการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ขึ้นกับบุคคลใด แต่ทุกคนยอมรับทำตามด้วยความสมัครใจ ทำให้การปกครองง่ายขึ้น เพราะถ้าต้องมีการตักเตือนว่ากล่าวกันแล้ว ก็ไม่มีใครบ่นได้ว่า ไม่ยุติธรรมหรือเป็นการข่มเหง เพราะครูบาอาจารย์ขนาบลูกศิษย์ในฐานะเป็นตัวแทนพระพุทธองค์เท่านั้น ดังคำอธิบายที่พระอานนท์ให้แก่วัสสการพราหมณ์

“(หาก) ปรากฏภิกษุมีอาบัติ คือ มีโทษที่ล่วงละเมิด อาตมภาพทั้งหลายจะปรับโทษให้เธอปฏิบัติธรรมตามคำอนุศาสน์ การที่จะเป็นดังนี้จะชื่อว่า พวกภิกษุผู้เจริญทั้งหลายทำการปรับโทษก็หามิได้ ธรรม (ต่างหาก) ปรับโทษ”

ตั้งแต่ที่หลวงพ่อเริ่มบริหารวัดหนองป่าพง ท่านพิจารณาถึงหลักความเจริญและความเสื่อมของสงฆ์อยู่ตลอดเวลา จนท่านตระหนักชัดในความจริงของพุทธพจน์ที่กล่าวว่า “วินัย คือ อายุของพระศาสนา” คือเห็นว่าตราบใดที่คณะสงฆ์มีความเอื้อเฟื้อต่อพระวินัย ความสามัคคีย่อมไม่แตก การปฏิบัติธรรมก็ราบรื่น ฉะนั้น ถึงแม้ว่าบางสิ่งบางอย่างที่วัดหนองป่าพงเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เรื่องศีลและข้อวัตร ท่านย้ำอยู่อย่างเสมอต้นเสมอปลาย และผลที่ปรากฏออกมาชัดเจน คือการขยายตัวของคณะสงฆ์เป็นลำดับ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ แม้ท่านอาพาธหนักตั้งแต่พฤษภาคม ๒๕๒๔ ก็ยังมีสานุศิษย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

การมีระเบียบแบบแผนของพระวินัยเป็นหลักดำเนิน ทำให้พระภิกษุสามเณรทุกสาขาของวัดหนองป่าพงมีความรู้สึกกลมเกลียว เป็นหมู่คณะเดียวกัน เนื่องจากมีแนวทางการปฏิบัติที่ไม่ขึ้นอยู่กับศรัทธาในตัวบุคคล ตอนหลวงพ่ออาพาธหรือมรณภาพแล้ว คณะศิษยานุศิษย์ยังสามารถรักษาความสามัคคีของหมู่สงฆ์ไว้ เหมือนดอกไม้ที่ได้รับการร้อยเป็นพวงมาลัย ไม่กระจัดกระจาย แลดูงดงามและเป็นระเบียบเรียบร้อย





๑. พระวินัย


หลวงพ่อกล่าวถึงพระวินัย




“การปฏิบัติของเราที่มีรากฐาน คือพระวินัย รวมทั้งธุดงควัตรและการปฏิบัติภาวนา การมีสติ การสำรวมระวังในกฏระเบียบต่าง ๆ ตลอดจนในศีล ๒๒๗ ข้อนั้น ให้คุณประโยชน์อันใหญ่หลวง ทำให้มีความเป็นอยู่อย่างสงบเรียบง่าย ไม่จำเป็นต้องพะวงว่าจะต้องทำตนอย่างไร ดังนั้นจึงพ้นจากการครุ่นคิด และมีสติดำรงอยู่อย่างสงบระงับแทน”

“พระวินัยทำให้พวกเราอยู่กันอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียว และชุมชนก็ดำเนินไปอย่างราบรื่น ลักษณะภายนอกทุก ๆ คนดูเหมือนกัน มีการกระทำอย่างเดียวกัน พระวินัย และศีลธรรมเป็นบันไดอันแข็งแกร่งนำไปสู่สมาธิยิ่ง และปัญญายิ่ง การปฏิบัติอย่างถูกต้องตามพระวินัย และธุดงควัตร ทำให้เรามีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ และจำกัดจำนวนเครื่องใช้สอยของเราด้วย ที่นี่เราจึงมีการปฏิบัติอันสมบูรณ์ตามแบบของพระพุทธเจ้า คือการงดเว้นจากความชั่ว และทำความดี มีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ ตามความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจด โดยการเฝ้าดูจิตและตัวของเราในทุก ๆ อิริยาบถ เมื่อนั่งอยู่ เดินอยู่ หรือนอนอยู่ จงรู้ตัวของท่านเอง”

“พระวินัของพระสงฆ์ และกฎระเบียบของวัดสำคัญมาก ทำให้เกิดบรรยากาศที่เรียบง่ายและประสานกลมกลืน แต่จำไว้ว่า ความสำคัญของพระวินัยของสงฆ์ คือการตั้งใจเฝ้าดูและสำรวจจิต”

“ผู้ปฏิบัติจะต้องมีสติ ต้องพิจารณา จะพูด จะจา จะจับ จะแตะ ทุกอย่างจะต้องพิจารณาก่อนให้มาก ที่เราพลาดไปนั้นเพราะว่าไม่มีสติพอ หรือไม่เอาใจใส่ในเวลานั้น พระวินัยจึงเป็นของก่อกวนกับผู้ปฏิบัติทั้งหลาย และก็มีประโยชน์มากด้วย ไม่รู้สิกขาบทไหนก็ต้องให้รู้ ไม่รู้ก็ต้องไต่ถามผู้รู้ให้รู้”

“พระวินัย ก็คือ รั้วนั่นเอง เหมือนรั้วที่จะให้เราพ้นจากความผิดต่าง ๆ พิถีพิถันกันหน่อยนะ..อันนี้ เรื่องพระวินัยนี้ ถ้าหากว่ามันไม่เห็นในใจของตนมันก็ยาก สำรวมอยู่แล้วมันก็เหมือนกับไม่มีอะไรจะผิด แต่มันกลัวเสมอนะ”

“พระวินัยเป็นเครื่องช่วยในการทำสมาธิภาวนาของท่าน ไม่ใช่อาวุธสำหรับใช้ติชม หรือค้นหาความผิดผู้อื่น ไม่มีใครสามารถฝึกปฏิบัติให้ท่านได้ และท่านก็ไม่สามารถปฏิบัติให้ผู้อื่นได้ จงมีสติ ใส่ใจในการกระทำของท่านเอง และนี่คือแนวทางของการปฏิบัติ”

“พระวินัยนี้ลำบาก ต้องเป็นคนมักน้อย ต้องเป็นคนสันโดษ เป็นคนเห็นภัยในสิ่งที่เป็นโทษ คนไม่รักษาพระวินัย คนไม่ภาวนา กับคนภาวนา อยู่ด้วยกันไม่ได้ มันต้องแยกกันเลย อันนี้เป็นของสำคัญ ดังนั้นจงศึกษาให้เข้าใจ แล้วพิจารณา แล้วก็จำไว้ นาน ๆ ก็มากราบครูบาอาจารย์สักครั้งหนึ่ง เรียนถามตรงนั้นมันเป็นอย่างไร อันนี้นะท่านจะอธิบายปลีกย่อยให้ฟัง เราศึกษาไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเข้าใจจริง ๆ ในเรื่องพระวินัย”





๑. พระวินัย


พระชาข้องใจ


หลวงพ่อมีความกระตือรือร้น ศึกษาหาความรู้ในเรื่องพระวินัยมาตั้งแต่อยู่วัดบ้าน เมื่อมาปฏิบัติเป็นพระธุดงค์กรรมฐาน ก็มักสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ เกี่ยวกับเรื่องสิกขาบทข้อห้ามต่าง ๆ กับเพื่อนสหธรรมิกด้วยกันเสมอ

ครั้นได้มีโอกาสไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น หลวงพ่อก็ได้ยกปัญหาทางพระวินัยมาเป็นคำถามที่สำคัญ คำชี้แจงที่หลวงปู่มั่นเมตตาตอบให้นั้นเป็นสิ่งที่ประทับใจท่านอย่างยิ่ง และได้ถือเป็นหลักประจำใจในการประพฤติปฏิบัติตลอดมา

ท่านได้เล่าถึงประสบการณ์ในครั้งนั้นให้ลูกศิษย์ฟังอย่างละเอียด ตอนหนึ่งท่านเล่าถึงการศึกษาพระวินัยขอท่านว่า

“บางวันผมเอาตั้งแต่ ๖ โมงถึงสว่างเลยนะ องค์ของอาบัติทั้งหมดที่อยู่ในหนังสือบุพพสิกขาผมเก็บเอาไว้ในสมุดพกใส่ย่ามตลอดเวลา ขะมักเขม้นพยายามที่สุด”

“เมื่อพูดถึงเรื่องพระวินัยนี้ ผมเคยฟั่นเฝือมากเหลือเกิน ผมเคยกราบเรียนท่านอาจารย์มั่น ในเวลานั้นเรากำลังจะเริ่มปฏิบัติ แล้วก็อ่านบุพพสิกขาไปบ้างก็เข้าใจพอสมควร ทีนี้ไปอ่าน วิสุทธิมรรค ท่านมาพูดถึง สีลนิทเทส สมาธินิทเทส ปัญญานิทเทส ศรีษะผมมันจะแตกเลย อ่านแล้วก็มาพิจารณาว่ามนุษย์ทำไม่ได้ ทำอย่างนั้นไม่ได้ แล้วคิดไปอีกว่า อันที่มนุษย์ทำไม่ได้นั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่สอนหรอก ท่านไม่สอนแล้วท่านก็ไม่บัญญัติ เพราะว่าสิ่งนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อท่าน และก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นด้วย สิ่งอะไรที่ใครทำไม่ได้ท่านไม่สอน สีลนิทเทสนี้มันละเอียดมาก สมาธินิทเทสก็ยิ่งละเอียด ปัญญานิทเทสก็ยิ่งมากขึ้นอีก เรามานั่งคิดดู ไปไม่ไหวเสียแล้ว ไม่มีทางที่จะไป คล้าย ๆ ว่ามันหมดทางเสียแล้ว”

ในคราวนั้นก็กำลังกระเสือกกระสนเรื่องปฏิปทาของตนอยู่ มันก็ติดอยู่อย่างนี้ พอดีมีโอกาสไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ก็เลยเรียนถามท่านว่า

“ผมจะทำอย่างไร เกล้ากระผมปฏิบัติใหม่ แต่ก็ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร ความสงสัยมาก ยังไม่ได้หลักในการปฏิบัติเลยครับ”
ท่านว่า “มันเป็นยังไง”
“ผมหาทางก็เลยเอาหนังสือวิสุทธิมรรคขึ้นมาอ่าน มีความรู้สึก่ามันจะไม่ไหวเสียแล้ว เพราะว่าเนื้อความในสีลนิทเทส สมาธินิทเทส ปัญญานิทเทส นั้น ดูเหมือนไม่ใช่วิสัยของมนุษย์เสียแล้ว ผมมองเห็นว่ามนุษย์ทั่วโลกนี้มันจะทำไม่ได้ครับ มันยาก มันลำบาก กำหนดทุก ๆ สิกขาบทนี้ มันไปไม่ได้ครับ มันเหลือวิสัยเสียแล้ว”

ท่านก็เลยพูดว่า “ท่าน... ของนี้มันมากก็จริงหรอก แต่มันน้อย ถ้าเราจะกำหนดทุก ๆ สิกขาบทในสีลนิทเทสนั้น มันก็ลำบากจริง แต่ความเป็นจริงแล้วนะ ที่เรียกว่าสีลนิทเทสนั้น มันเป็นนิเทศอันหนึ่ง ซึ่งบรรยายออกไปจากจิตใจของคนเรานี้ ถ้าหากว่าเราอบรมจิตของเราให้มีความละอาย มีความกลัวต่อความผิดทั้งหมด นั่นแหละก็จะเป็นคนสำรวม จะเป็นคนสังวรจะเป็นคนระวังเพราะความกลัว”




“เมื่อเป็นอย่างนั้นจะเป็นเหตุที่ว่า เราจะเป็นคนมักน้อย จะไม่เป็นคนมักมาก เพราะว่าเรารักษาไม่ไหว ถ้าเป็นเช่นนั้นสติของเรามันจะกล้าขึ้น มันจะตั้งสติขึ้น จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ที่ไหน มันตั้งอกตั้งใจมีสติเต็มเปี่ยมเสมอ ความระวังมันเกิดขึ้นมา อันใดที่มันสงสัยแล้วก็รับฟังไว้อีก และอันใดที่มันสงสัยแล้วก็อย่าพูดมันเลย อย่าทำมันเลย ที่เรายังไม่รู้จะต้องถามครูบาอาจารย์เสียก่อน ถามครูบาอาจารย์แล้วก็ต้องรับฟังไว้อีก ก็ยังไม่แน่ใจ เพราะว่ามันยังไม่เกิดเฉพาะตัวเอง ถ้าหากเราจะไปกำหนดทุกประการนั้นก็ลำบาก เราจะเห็นว่าจิตของเรายอมรับหรือยังว่า ทำผิดมันผิด ทำถูกมันถูก อย่างนี้เรายอมรับหรือเปล่า” คำสอนของท่านอันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่ว่าจะไปรักษาสิกขาบททุก ๆ ข้อ เรารักษาจิตอันเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว

“อะไร ๆ ทั้งหมดนี่ท่านดูไปนะ มันขึ้นต่อจิตทั้งนั้น ถ้าท่านยังไม่อบรมจิตของท่านให้มีความรู้ มีความละอาย ท่านก็จะมีความสงสัยอยู่เรื่อยไป วิจิกิจฉาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นท่านจงรวมธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ที่จิต สำรวมอยู่ที่จิต อะไรที่มันเกิดขึ้นมา แล้วสงสัย เลิกมัน ถ้ายังไม่รู้แจ้งเมื่อใดแล้วอย่าพึงทำมัน อย่าพึงพูดมัน เช่นว่า อันนี้ผิดไหมหนอ หรือไม่ผิด อย่างนี้ คือยังไม่รู้ความเป็นจริงแล้ว อย่าทำมัน อย่าไปพูดมัน อย่าไปละเมิดมัน”

“นี่ผมก็นั่งฟังอยู่ ก็เข้ากับธรรมะที่ว่า ธรรมะที่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความสะสมซึ่งกิเลส
ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์
ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ
ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความมักมาก
ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความมักใหญ่ใฝ่สูง
ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความคลุกคลีหมู่คณะ
ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก

ลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการนั้น รวมกันลงไปแล้ว อันนี้ สัตถุธรรม เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นอกนั้นไม่ใช่”






Create Date : 27 ตุลาคม 2554
Last Update : 31 ตุลาคม 2554 20:18:24 น. 0 comments
Counter : 628 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Jจุ้ย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


facebookฝากข้อความได้ครับ
Google

ฟังวิทยุออนไลครับ
ฟังวิทยุออนไลน์ กดที่รูปครับ




หลับฝันดี
๑ หลับคืนนี้ฝันดีนะที่รัก...
หลับตาพักหลับตาฝันถึงวันใหม่...
หลับคืนนี้คนดีฝันถึงใคร...
รู้บ้างไหมฉันตั้งใจฝันถึงเธอ...


Friends' blogs
[Add Jจุ้ย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.