รูปบล็อคนอก
Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2554
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
3 พฤศจิกายน 2554
 
All Blogs
 
อุปลมณี 10 สาขาวัดหนองป่าพง คอนที่ 1




10 สาขาวัดหนองป่าพง


สาขาวัดหนองป่าพง


ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๓๕) วัดหนองป่าพงมีวัดสาขาในประเทศไทย ๘๒ แห่งและในต่างประเทศ ๘ แห่ง นอกจากนั้นยังมีอีก ๕๑ สำนักสงฆ์เป็นสาขาสำรอง ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาตามระเบียบการรับสาขาจากคณะสงฆ์วัดหนองป่าพง แต่เป็นสำนักสงฆ์ที่ลูกศิษย์ของหลวงพ่อปกครองอยู่

วัดสาขา ๑๔๑ แห่งนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานีมี ๖๑ แห่ง นอกนั้นกระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย

เหตุผลในการขยายสาขามีหลายประการ เป็นต้นว่า เพื่ออนุเคราะห์ญาติโยม ผู้ต้องการสร้างวัดป่าใกล้บ้านของตนเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ การส่งพระออกไปตามคำนิมนต์ของชาวบ้านอย่างนี้ถือเป็นการตอบสนองความต้องการของสังคม และเป็นการเผยแผ่ธรรมะไปสู่ชนบทที่ได้ผลอย่างถาวร สำหรับพระเถระที่รับผิดชอบเป็นเจ้าสำนักในแต่ละวัด ท่านก็ได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถที่ได้ศึกษามา สร้างประโยชน์แก่พระศาสนามากขึ้น การที่หลวงพ่อคอยส่งคนเก่าออกจากวัดหนองป่าพงไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้มีที่ว่างสำหรับคนใหม่อยู่เสมอ การหมุนเวียนพระภิกษุสามเณรจึงเป็นเหตุให้คณะสงฆ์ได้เพิ่มขึ้นอย่างราบรื่น

การก่อตัวของวัดสาขาเริ่มครั้งแรกใน พ.ศ.๒๕๐๑ หลังจากหลวงพ่อได้รับนิมนต์จากชาวบ้านเก่าน้อย ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเคยมาจำศีลที่วัดหนองป่าพงเป็นประจำ ให้ไปจำพรรษาที่ป่าละเมาะใกล้บ้านเก่าน้อย หลวงพ่อพอใจกับศรัทธาอันแรงกล้าของชาวบ้านมาก และเมื่อออกพรรษากลับไปวัดหนองป่าพง ท่านได้จัดส่งศิษย์อาวุโสในขณะนั้นคือพระอาเที่ยงให้ไปอยู่แทน พระอาจารย์เที่ยงจึงกลายเป็นเจ้าอาวาสของวัดใหม่ชื่อวัดป่าอรัญญวาสีและได้อยู่มาจนกระทั่งทุกวันนี้ วัดป่าอรัญญวาสีนี้นับว่าเป็นสาขาที่ ๑ ของวัดหนองป่าพง



ต่อมาสาขาอื่น ๆ ได้เกิดขึ้นตามลำดับ ส่วนมากมีลักษณะการเกิดคล้ายกับสาขาที่ ๑ แต่ในบางกรณีลูกศิษย์หลวงพ่อออกธุดงค์พบที่สัปปายะ และตัดสินใจปักหลักอยู่ที่นั่นจนกลายเป็นสำนักสงฆ์ หรือไม่อย่างนั้นชาวบ้านที่เลื่อมใสในปฏิปทาของพระสายวัดหนองป่าพงแล้ว ขอให้หลวงพ่อส่งลูกศิษย์ไปอยู่เป็นประจำ บางครั้งญาติโยมขอให้พระผู้เป็นญาติกลับไปโปรดที่บ้านเกิดของท่านเอง กรณีหลังนี้มีตัวอย่างที่เด่นคือวัดสาขาที่ ๒ (วัดบึงเขาหลวง) ซึ่งพระครูบรรพตวรกิตเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้รับนิมนต์ไปตั้งวัดใกล้บ้านเกิดของท่าน ที่อำเภอเขื่องใน จ.อุบลราชธานี หลังจากที่อยู่วัดหนองป่าพงมาแล้ว ๗ ปี ท่านเล่าว่า



“เมื่อผมจะออกไปอยู่วัดบึงเขาหลวง หลวงพ่อท่านก็ไม่ค่อยอยากให้ไป แต่ท่านก็เห็นใจ เลยบอกให้ออกไปทดลองดูก่อน ถ้าสู้ไม่ไหวให้กลับไปสร้างลูกปืนใหม่ พอดีช่วงนั้นหลวงปู่กินรีมา ท่านก็เตือนเหมือนกันเรื่องไปสร้างวัดที่บ้าน ท่านอ้างว่าพระพุทธเจ้าเองท่านยังไปที่อื่นเสียก่อน เพราะที่บ้านนั้นโปรดยากกว่าที่อื่น ญาติกันเองนั่นแหละจะหลอกล้อทำพิษ ให้ระวังจะเสียพระเพราะเพื่อนและญาติ รักสิ่งไหนสิ่งนั้นแหละจะมาทำให้เป็นทุกข์”

แต่เนื่องจากว่าท่านพระครูบรรพตวรกิต ได้รับการฝึกอบรมจากหลวงพ่อมาเป็นอย่างดี มีความมั่นคงในพระธรรมวินัยและสามารถปลูกฝังศรัทธาในชาวบ้านในละแวกนั้นได้ ท่านจึงสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ นานาที่เกิดขึ้นมาได้ และทุกวันนี้วัดบึงเขาหลวงมีวัดสาขาแยกออกไปหลายแห่ง แต่ก็ขึ้นตรงกับวัดหนองป่าพง






10 สาขาวัดหนองป่าพง


กว่าจะเป็นสาขา




พระอาจารย์สุพร เจ้าอาวาสวัดป่าไตรสรณคมน์ จังหวัดกระบี่เล่าว่า หลวงพ่อไม่ได้รับทุกราย หรือรับทันทีที่โยมมาขอสร้างวัดสาขา

“ใครจะถวายที่จะสร้างวัดนี้ก็ต้องมากราบเรียนหลวงพ่อ แล้วหลวงพ่อจะส่งครูบาอาจารย์ไปดู เมื่อดูแล้วเห็นว่าสถานที่สมควร ญาติโยมก็ไปสร้างกุฏิ สร้างศาลาชั่วคราวก่อน ยังไม่ต้องทำถาวร แล้วมานิมนต์พระไป ซึ่งอาจจะส่งไปสัก ๔ รูป ๕ รูป ๒-๓ รูป อะไรก็แล้วแต่ที่ ๆ ไปอยู่จำพรรษา เมื่อพระไปจำพรรษาที่นั่น ญาติโยมก็จะมาฝึกหัดจำศีลภาวนา มาฝึกทำวัตรสวดมนต์ นอกจากถวายที่แล้ว จะต้องเสนอชื่อโยมอุปัฏฐากดูแลพระเณรในสิ่งที่จำเป็นด้วย ถ้าท่านเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างพอสมควรแล้ว ท่านจึงจะรับเป็นสาขา แต่ส่งพระเณรไปอยู่ประจำต่อไป”

เมื่อรับเป็นวัดสาขาแล้ว หลวงพ่อท่านจะเมตตายิ่งนัก สงเคราะห์ทั้งกำลังกายกำลังใจ

“ส่วนที่เป็นวัตถุภายนอกท่านก็สงเคราะห์ เป็นต้นว่าสาขาไหนขาดแคลนสิ่งของอะไร เช่น ตุ่มน้ำใหญ่ไม่มีท่านก็ส่งไปให้ ท่านบอกว่า ของเหล่านี้เป็นสมบัติของสงฆ์ ให้เจือจานไปให้ทั่วถึงจะมีประโยชน์มาก เป็นคำพูดที่ประทับใจมาก ไม่ว่าท่านจะเมตตาด้วยธรรมะอันเป้นส่วนหล่อเลี้ยงจิตใจภายใน หรือสงเคราะห์วัตถุภายนอกดูช่างเหมาะเจาะพอดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านไม่มีความลำเอียง คือ ท่านไม่มีอคติทั้งสี่ ท่านไม่ประจบและไม่ทำตามกิเลสใคร”

ในสมัยที่สาขายังมีจำนวนน้อย หลวงพ่อดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการย้ายสาขาของพระภิกษุสามเณร ต้องผ่านท่านก่อนทุกราย แต่เมื่อขยายสาขาได้มากแล้ว คณะสงฆ์ก็ใหญ่ขึ้น ประกอบกับพระใหม่หลายรูปบวชเป็นลูกศิษย์ของเจ้าอาวาสสาขามากกว่าหลวงพ่อเอง หลวงพ่อจึงอนุญาตให้เจ้าสำนักเป็นผู้พิจารณาคำขอย้ายสำนักของลูกศิษย์ และถ้าท่านเจ้าสำนักเห็นสมควรให้เขียนจดหมายรับรองแทนด้วย

เมื่อสาขามีมากนั้น หลวงพ่อให้มีการประชุมเจ้าสำนักสาขาประจำปี ประชุมเพื่อปรึกษาเรื่องต่าง ๆ และปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างปีนั้น ๆ การบริหารในรูปแบบนี้ ได้ดำเนินมาตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้ แต่เปลี่ยนจากวันมาฆบูชา เป็นวันที่ ๑จ มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อ





10 สาขาวัดหนองป่าพง


วัดสาขาต่างประเทศ


ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๒๐ พระอาจารย์สุเมโธ เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติในขณะนั้น ได้รับนิมนต์จากมูลนิธิกิจการสงฆ์แห่งประเทศอังกฤษ ไปเผยแผ่พุทธศาสนาที่นั่น และใน พ.ศ.๒๕๒๑ ท่านได้เปิดวัดป่าจิตตวิเวก ในรัฐซัสเซกต์ ภาคใต้ของอังกฤษ นับเป็นสาขาที่ ๑ ของวัดหนองป่าพงในต่างประเทศ




ภาพประกอบจาก //www.oknation.net/
ด้วยการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และความสามารถในการสื่อสารคำสอนของพระพุทธองค์ด้วย สำนวนที่ฟังง่ายเข้าใจง่าย ศรัทธาในคณะสงฆ์ของพระอาจารย์สุเมโธ ได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วในแวดวงชาวพุทธตะวันตก ไม่นานกุลบุตรกุลธิดาเริ่มมาขอบวช และต่อมาพระอาจารย์สุเมโธได้รับนิมนต์ไปตั้งวัดสาขาที่อังกฤษอีก ๓ แห่ง รวมทั้งที่สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และนิวซีแลนด์ด้วย

พ.ศ.๒๕๒๔ พระอาจารย์ชาคโร ได้รับนิมนต์ไปตั้งวัดที่เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย และประสบความสำเร็จพอสมควรเช่นกัน

ในปัจจุบันนี้ (พ.ศ.๒๕๓๕) คณะสงฆ์พระต่างชาติสายวัดหนองป่าพง ที่อยู่ในสาขาต่างประเทศมีประมาณ ๕๕ รูป และมีแม่ชีอีกประมาณ ๑๕ รูป





10 สาขาวัดหนองป่าพง


ให้กำลังใจ


ปี พ.ศ.๒๕๑๗ หลวงพ่อตั้งสาขาที่ ๑๐ ของวัดหนองป่าพงที่อำเภอเดชอุดม คือวัดป่าไทรงาม และได้ส่งพระอาจารย์เอนกไปรับหน้าที่ประธานสงฆ์ พระอาจารย์เอนกได้เล่าถึงปฏิปทาของหลวงพ่อ ในการติดตามไปให้กำลังใจ และสนับสนุนการปฏิบัติงานของลูกศิษย์ยังสาขาต่าง ๆ

“ระยะหลังที่หลวงพ่อขยายสาขาแล้ว ท่านพยายามไปเยี่ยม พักวัดละ ๒ คืนบ้าง ๓ คืนบ้าง ลูกศิษย์ก์ภูมิใจ มีปัญหาขัดข้องท่านก็ช่วยแก้ รู้สึกว่าเราได้ที่พึ่งที่ดีที่สุด มีปัญหาเรื่องการปกครองพระเณรหรือญาติโยม ก็กราบเรียนท่าน ท่านก็ทำหน้าที่ของท่าน ให้ญาติโยมมาประชุมกันแล้ว ท่านก็เทศน์ไปเรื่อย ๆ กะว่าญาติโยมสนใจฟังธรรม ใจเย็นดีแล้ว ท่านก็เอาเรื่องที่มีปัญหามาพูด ถ้าท่านพูด ญาติโยมก็มักไม่ฝืน พระเณรก็เหมือนกัน การงานทุกอย่าง เช่นงานกฐิน ท่านจะเป็นผู้นำตลอด เราได้รับความอบอุ่นจากท่านมาก วัดตามชนบทชายแดน ขาดแคลนปัจจัยต่าง ๆ ที่ท่านช่วยสงเคราะห์ได้ ท่านก็พยายามช่วย ท่านไปเยี่ยมลูกศิษย์อยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กำลังใจ ท่านสอนให้อดกลั้นต่อารมณ์ และอุปสรรคต่าง ๆ กำลังใจจะแข็งแกร่งได้ต้องผ่านอารมณ์ หากไม่อดทน ไม่รู้จักใจ ก็เหมาเอาอารมณ์กับใจเป็นตัวเดียวกันหมดว่า นี่แหละ คือความรู้สึกนึกคิดจิตใจของเรา ท่านสอนย้ำอย่างนี้เสมอ เรื่องความอดกลั้นต่อทุกสิ่งทุกอย่าง”





10 สาขาวัดหนองป่าพง


สาขาวัดหนองป่าพง






10 สาขาวัดหนองป่าพง


โอวาท – ชนะใจตัวเอง




โอวาท – ชนะใจตัวเอง
(แสดงแก่ผู้บริหารสาขา)

เมื่อจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช มันมากขึ้น ความยากลำบากในการปกครองหมู่สงฆ์มันก็เพิ่มขึ้น ถ้าหากว่าเราทั้งหลายไม่หนักแน่นในการประพฤติปฏิบัติแล้ว มันก็จะเป็นของยุ่งยากลำบาก

หลักของการปฏิบัตินั้น หนึ่ง เราตั้งไว้ในใจของเราว่า เราจะต้องเอาชนะใจตัวเองให้ได้ นี่หลักใหญ่ของมัน อย่าเอาชนะวัตถุ อย่าเอาชนะบุคคลอื่น ถ้าบุคคลมีความรู้สึกนึกคิดว่าจะเอาชนะผู้อื่นอยู่ร่ำไป นั่นก็เป็นผู้ที่แพ้เรื่อยไปในด้านปฏิบัติ เพราะลักษณะปฏิบัติที่แท้จริงนั้นจะต้องภาวนาให้รู้จักเอาชนะตนเองเรื่อยไป อย่าเอาชนะผู้อื่น เมื่อรวมแล้วถ้าเอาชนะตัวเองก็ชนะหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ผู้ปฏิบัติอยู่ในระบบอันนี้เรียกว่า เป็นผู้มีหลักธรรมเอาชนะใจตัวเองได้ การดำเนินงานในด้านปฏิบัติของเรา ให้ตั้งอันนี้ไว้ให้สม่ำเสมอ หลักย่อ ๆ ก็คือศีล คือระเบียบกฏภายนอก กิริยามารยาท อย่างที่เราเคยทำกันมานี้เป็นต้น

หลักที่สอง คือสมาธิความสงบระงับ

หลักที่สาม ก็คือเป็นผู้มีปัญญา จะรักษาศีลก็ต้องเป็นผู้มีสติปัญญา จะหาสมาธิความสงบจิตก็ต้องมีสติปัญญา จึงจะเรียกได้ว่า ผู้นั้นรู้จักการปฏิบัติส่วนใหญ่ของตน ธรรมดาเมื่ออยู่ห่างไกลจากครูบาอาจารย์ เมื่อเรากลาย ๆ ไป เหมือนผลไม้ต่าง ๆ เช่น มะเขืออย่างนี้เป็นต้น ถ้าเราปลูกพันธุ์ดีครั้งแรก ในปีที่ ๒ ถ้าไม่เก็บพันธุ์มันไว้ ไม่เอาเมล็ดมันไปเพาะพันธุ์ พันธุ์มันก็เสียไปเสื่อมไปเรื่อย ๆ เลยเกิดกลายเป็นมะเขือพันธุ์ไม่ดีสูญจากพันธุ์เดิมของมันไป พวกเราก็เช่นกัน ให้พากันประพฤติปฏิบัติอยู่ในหลักอันหนักแน่นไว้ในจิตของเราเสมอ

การเทศนาว่ากล่าวแก่พระเจ้าพระสงฆ์แก่ญาติโยมทั้งหลายนั้น ก็ให้พากันเข้าใจ ตระหนักเข้าใจ อย่าให้เป็นโลกาธิปไตยหรือเป็นอัตตาธิปไตย แต่ให้เป็น ธรรมาธิปไตย ให้พูดโดยธรรมะ ให้เป็นธรรมะ พูดธรรมะให้เป็นธรรมะ คือไม่กระทบกระทั่งเป็นต้น แบบที่ว่า “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” คือผู้ปฏิบัติธรรมอย่างพวกเราทั้งหลายที่อยู่ร่วมกันนี้ ก็ให้มีความสามัคคี เช่นวัดนี้อาวาสที่เราอยู่นี้เป็นอาวาสที่เราอยู่ในป่า ถ้าเราไม่สามัคคีพร้อมเพรียงกัน เราก็จะมีความลำบาก ความผาสุกก็เกิดขึ้นไม่ได้ การรักษาเสนาสนะที่อยู่อาศัยนี้ ไม่ได้เป็นกิเลสตัณหา เราสร้างไว้เพื่อเราอยู่ไปให้ได้ความสะดวกแก่หมู่คณะ เกิดประโยชน์พอสมควร

อันนี้ให้เจ้าอาวาส ให้เป็นเจ้าอาวาสหมดทุก ๆ คน มีหน้าที่ดูแลรักษาศาลา มีหน้าที่ดูแลบ่อน้ำ มีหน้าที่ดูแลเสนาสนะที่อยู่อาศัย ให้ช่วยกัน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมันก็เกิดขึ้นมา หลักของการประพฤติปฏิบัตินี้มันก็เหมือนกัน ให้ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า นึกถึงคุณครูบาอาจารย์ไว้ในใจอยู่เสมอ ว่าท่านพาทำอย่างไร ให้เป็นผู้มีสติปัญญา อย่าไปทำตามอำนาจโลกาธิปไตย คือเป็นไปตามโลก อย่าให้เป็นอัตตาธิปไตย ว่าเราชอบอย่างไรก็ทำไปอย่างนั้น อย่าไปทำอย่างนั้น แต่ให้เป็นธรรมาธิปไตย

ธรรมาธิปไตยนั้นไม่ไปกับผู้ใด ไปตามธรรมะ ไปตามสัจธรรม ไปตามความจริง เราจึงมีความสบาย ความสบายเกิดขึ้นมาได้ เพราะปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ได้เอาจิตของเราเป็นประมาณ ไม่ได้เอาใจของเราเป็นประมาณ เอาความถูกต้องเป็นประมาณ เอาสัจธรรมเป็นประมาณ ถึงแม้จิตใจของเราไม่ชอบที่จะทำอันนั้น เราก็ต้องทำอันนั้น เพื่อมันเป็นธรรมะ เป็นต้น เราต้องผลักดันอัตตาของเราออกเสีย ผลักดันความรู้สึกที่เป็นโลก ๆ ออกไปจากใจของเรา

ผู้ประพฤติปฏิบัตินั้นเข้าใจว่า อยู่กับหมู่พวกมันวุ่นวาย หมู่นั่นแหละมันเป็นกิเลส ส่วนหนึ่งที่มีอยู่ภายนอกซึ่งเราเห็นด้วยตาเราอยู่ ก็มันกลับเข้ามาภายในเป็นอารมณ์ เราจะต้องต่อสู้ด้วยการประพฤติปฏิบัติ ให้เรารู้เรื่องอารมณ์ภายนอกอารมณ์ภายใน ให้มันสบายโดยธรรมะ อย่าสบายโดยกิเลสตัณหา ให้มันถูกต้องโดยธรรมะ อย่าถูกต้องโดยกิเลสตัณหา อย่าให้เห็นแก่ตัว ได้ตามใจตัวแล้วสบายมันไม่เป็นธรรมะ อย่างนั้นเราไม่เอา

ในฐานะที่เราเป็นผู้ปกครองคนส่วนมาก ชีวิตเราเกิดมาถ้าไม่ปฏิบัติเราจะทำอะไร ต้องทำหน้าที่ของเรา คือเราจะเป็นสมณะผู้พยายามละถอน พยายามละ พยายามวาง การปกครองในหมู่สงฆ์นั้นให้ใจของเรามันสูง เช่นว่าเราอยู่ในวัดนี้ เราจะคุ้มครองใจของเรา ให้ชนะใจของเราตลอดคนทั้งวัดนี้เสมอ

ลักษณะที่ประพฤติปฏิบัติในข้อความที่ว่าเด็ดขาด ปฏิบัติโดยเด็ดขา บัญชาการเด็ดขาดเฉียบขาดนี่ ในทางโลกเขาต้องฆ่าทิ้งยิงทิ้งโละทิ้งเป็นต้น ต้องเอาชนะผู้อื่นอยู่เรื่อยไป นั่นมันการเฉียบขาดของโลก การเด็ดขาดในโลกเป็นอย่างนั้น ให้เป็นผู้เฉียบขาดในกิเลสของเจ้าของ ในด้านธรรมะ คือ ให้เห็นว่าเป็นอนิจจังเสมอ นี่คือการเฉียบขาด เห็นเป็นของไม่แน่นอนเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คืออาการอันใดที่เราทำให้มันสมหมายสมหวังของเรามันไม่ได้ มันจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น ให้เราเห็นตามว่าอันนี้เป็นอนิจจัง นี้คือการเฉียบขาดของธรรมะ อันนี้จะบรรเทาทุกข์ลงไปได้ บางทีผู้อื่นทำผิดเราเป็นทุกข์ อย่างนี้มันชอบจะเป็น กลัวเขาจะว่าเราไม่ดี กลัวเขาจะว่าเราไม่มีอำนาจ กลัวเขาว่าเราไม่เฉียบขาดอย่างนี้เป็นต้น เมื่อมีความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้เกิดขึ้น มันเป็นโลกาธิปไตยขึ้นมาในใจ ก็เป็นเหตุให้เราสั่งสมความหลงไว้ในใจของเราก็ได้

ฉะนั้นในการปกครอง ถ้ามันมากเราเอาออก หากมันน้อยเราเอาเพิ่ม ให้มันพอดีใจของเจ้าของ ปฏิบัติให้สม่ำเสมอเรื่อย ๆ ไป ในหมู่คณะของเราทั้งหลายก็เหมือนกัน จิตใจมนุษย์ของเราทั้งหลายที่อยู่ด้วยกันน่ะ มันไม่เหมือนกันหรอก แบบที่เรียกว่านานาจิตตัง คือมีจิตใจแตกต่างกัน อันนี้ถ้าเราเข้าใจผิดมันผิด ถ้าเราเข้าใจถูกมันก็ถูก

คำว่านานาจิตตัง จะทำอะไรก็ทำเพราะว่าคนใจไม่เหมือนกัน อันนี้มันก็ใช่ แต่มันจะวุ่นวายโลกแตก ทำให้แตกสามัคคี ถ้าคิดอย่างนั้น

คำว่านานาจิตตังเป็นต้น เอามารวมกันลงรอยอันเดียวกัน แม้นใครจะเป็นนานาชาติก็ตาม นานาบ้านก็ตาม เกิดนถิ่นฐานอันใดก็ตาม นานาที่อยู่ก็ตาม เมื่อมารวมกันเป็นสมณะในพระพุทธศาสนาแล้ว พยายามรวบรวมคำที่ว่านานาจิตตัง รวมให้เป็นจุดอันเดียวกันคือ สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน ให้มีคุณธรรมของสาวกไว้ในใจของเจ้าของสม่ำเสมอ อย่าไปเห็นแก่น้อย อย่าไปเห็นแก่มาก ผู้เป็นประธานสงฆ์ก็ให้มีหลักธรรม ๔ ประการคือ ๑ เมตตา ๒ กรุณา ๓ มุทิตา ๔ อุเบกขา ธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ต้องใช้ให้มันถูกกาลถูกเวลาด้วย

เมตตา คือความรักใคร่สนิทสนม ให้รักใคร่กันโดยธรรมะ ให้เมตตากันโดยธรรมะ อย่าเมตตาโดยส่วนตัวผู้เดียว อย่าเมตตาโดยโลก ให้เมตตาโดยธรรมะ เมตตาให้มันทั่ว ๆ ไป นี่แหละลักษณะความเมตตา รักกันในธรรม ความที่รักกันโดยธรรมน่ะ อยู่ด้วยกันถ้าหากว่าอันใดมันไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นมา จะต้องเมตตากัน มีความสามารถชี้แจงอันนั้นให้รู้เรื่อง อันนั้นมันเป็นอย่างนั้น อันนี้มันเป็นอย่างนี้ จะต้องเตือนกัน เรียกว่าเมตตากันโดยธรรมะ ถ้าหากว่าเราไม่ได้ตักเตือนกัน พูดไม่ดีทำไม่ดีก็ไม่ได้ตักเตือนกัน เกรงใจกันเลยปล่อยไปตามอารมณ์ของบุคคลที่อยู่ด้วยกัน อันนั้นไม่ใช่คนเมตตากัน เมตตากันจะต้องแนะนำตักเตือน ใครทำผิดแนะนำให้มันถูก ถูกแล้วทำความถูกให้ยิ่งขึ้นไป ญาติโยมเราก็เหมือนกัน ไม่รู้จักทานก็แนะนำให้รู้จักทาน ไม่รู้จักศีลก็แนะนำให้มีศีล ไม่รู้จักการภาวนาก็แนะนำให้มีการเจริญภาวนา อันนี้เป็นลักษณะของคนเมตตากัน โดยธรรมะ

กรุณา เมตตาแล้วมีกรุณา คือสงสารบุคคลที่พูดผิดทำผิดต้องตักเตือน นี่คือเป็นคนที่มีคุณธรรม

มุทิตา ให้มีความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี พลอยอนุโมทนาสาธุการ จะเป็นเพื่อเราก็ตาม จะเป็นลูกศิษย์ลูกหาเราก็ตาม เป็นต้น ปล่อยให้ทำตามบุญวาสนาบารมี ใครจะทำดีทำเด่นในหลักพระรรมก็ปล่อยให้ทำ ไม่ต้องคัดค้าน ไม่ต้องเบียดเบียน ลูกศิษย์ลูกหาที่มีสติปัญญาดีล้ำเลิศ ประเสริฐ ให้อนุโมทนาส่งเสริม ไม่ให้กดไว้ไม่ให้ขี่ไว้ ครูบาอาจารย์เราก็เหมือนกันที่ได้ฝึกปฏิบัติมาแล้วเป็นต้น เราเห็นก็ไม่ต้องไปแกล้งไปแย้ง ช่วยส่งเสริมข้อวัตรปฏิบัติให้ดีให้งาม เป็นต้น อันนี้เป็นหลักธรรมของผู้ใหญ่

อุเบกขา ความวางเฉย อันนี้ตอนที่สุดท้าย ถึงที่สุดท้ายแล้วให้อยู่ในอุเบกขา เช่น ลูกศิษย์เราเป็นพระหรือเณรก็ดี เราหมดความสามารถที่จะสอนได้ เราก็วางใจเป็นกลาง ๆ ไว้ไม่ให้เสีย เราสอนแต่คนที่สอนได้ก็พยายามตักเตือน ไม่ใช่ว่าบอกทีเดียวมันไม่ฟังความแล้วเลยหยุด ไม่ใช่อย่างนั้น มันยังไม่ทันเห็นก็ค่อยแนะนำ ตักเตือนด้วยอุบาย ลูกศิษย์ลูกหานี้ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ทำอะไรที่ไม่ค่อยดีประมาทพลาดพลั้งก็ให้เตือน เตือนโดยธรรมะอย่าเตือนโดยกระทบกระแทก แต่บอกว่าท่านอาจารย์ อันนั้นผมว่ามันไม่ค่อยดี น่าจะพิจารณาดูอีกที นี่การเตือนครูบาอาจารย์เรา ให้รู้จักกาลให้รู้จักเวลา

เราเป็นคนบริหารก็เหมือนกันให้ดูด้วย สารพัด นอกนั้นเป็นอุบายที่ปกครองครั้งหลาย จะแนะนำพร่ำสอนหลายอย่างหลายประการพูดแล้วมันไม่จบ เอาเหตุเฉพาะหน้าและปัจจุบันมาดำเนินการให้มันได้ เหตุกาณณ์อันใดมันจะแตกแยกกันมันจะแรกร้ายกัน อย่านำมาทำ อย่านำมาพูด ให้พากันปรับปรุงเข้าไว้ให้ดีงาม เป็นหมู่เป็นคณะเป็นหมู่สงฆ์ กายใจให้เป็นพระสงฆ์ ข้อวัตรปฏิบัติอันใดก็ให้เป็นพระสงฆ์ เราทำประโยชน์เหล่านั้น และก็ให้ฟังความกัน ให้เคารพกัน ให้รู้จักกตัญญูกตเวที ผู้อุปการะเรามาแล้ว คือผู้ประธานในสงฆ์ช่วยอุปการะเรา ตลอดถึงการบรรพชาการอุปสมบท การสงเคราะห์บริขารบางสิ่งบางอย่าง สงเคราะห์ให้คำแนะนำพร่ำสอนต่าง ๆ แก่เรา นี่เรียกว่าผู้มีอุปการะ

ผู้มีอุปการะเรามาก่อน เมื่อได้รับอุปการะแล้ว ได้รับปัจจัย จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช และได้ปฏิบัติธรรมได้ฟังธรรมะได้เรียนธรรมะ ได้ความเฉลียวฉลาดแล้ว เป็นต้น เราจะต้องกตัญญู กตัญญูของบุคคลผู้ที่ได้อุปการะ ลูกก็รู้จักคุณพ่อแม่ พูดง่าย ๆ ลูกศิษย์รู้จักคุณครูบาอาจารย์ เท่านี้มันก็เป็นไป นี้เรียกว่าการปฏิบัติในหมู่คณะของเรา

ในพรรษาหนึ่งผมเคยพบเห็นบุคคลบางคน สอนยากสอนลำบากเอาดีด้วยไม่ได้ อันนั้นให้เราเอาดีให้ได้ ให้หาประโยชน์ในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้ได้ เราจะต้องรู้จักจิตใจของเราว่ามันลึกซึ้งเพียงใด การละถอน การปล่อยวาง เราได้เพียงใด นี่เป็นเหตุให้เราศึกษาน้อมเข้ามาดูให้มันเห็น เราจะรู้แจ้งอยู่ในตัวของเรา การที่เรามาอยู่ในหมู่คณะที่เราปฏิบัติสอนผู้อื่นนั้น ผู้อื่นก็สอนเราไปด้วยทุกฝีก้าว ที่เราพูดไปไม่ว่าว่าเราสอนแต่ผู้อื่น ผู้สอนนั้นต้องมีความรู้สึกอยู่ในตัวเรา ต้องพยายามสอนตัวเราไปด้วย ให้เป็นนักศึกษาไปด้วย ให้มีคันถธุระและมีวิปัสสนาธุระศึกษาไปด้วยมีสติปัญญาไปด้วย รอบคอบไปเรื่อย ๆ ถึงอยู่นี่เราก็อยู่นี่ไป การเคลื่อนไหวไปมาของคนเรามันไม่แน่ไม่นอน อย่าพากันประมาทในอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น อันนี้ปัญหาที่มีในหมู่คณะอยู่ร่วมกันนี้มันมีหลายอย่างหลายประการ

ทีนี้พูดถึงการปฏิบัติส่วนตัวของบุคคลแต่ละคน นานนะ มันนาน ให้เราปฏิบัติอยู่ในลักษณะทรมานเจ้าของ ทรมานการอยู่การกิน การหลับการนอนทุกสิ่งสารพัด เราทรมานส่วนตัวของบุคคล ธรรมดาคนเราซึ่งไม่มีธรรมะ จะอยู่ตามความจริงแล้วอยู่ยาก อยู่เฉย ๆ บางทีก็เกิดความวุ่นวาย มีการงานให้ทำก็เกิดความวุ่นวาย อยู่ที่ไหนก็ไม่สบาย ถูกทรมานจากอันโน้นอันนี้อยู่เรื่อย กินมาก เดี๋ยวก็นอนมาก เดี๋ยวก็พูดมากสารพัด แล้วแต่มันจะเป็น นี่คือเราภาวนายังไม่ทันเป็น มันเป็นกับสถานที่ ไม่เป็นกับหมู่กับพวก ไม่เป็นกับอะไรทั้งหลาย มันเป็นกับความเข้าใจผิดในใจของเรานี้เอง มันจึงไม่สบาย คือต้านทานอารมณ์ทั้งหลายไม่ได้

สมัยก่อนผมเป็นพระน้อย ๆ ปฏิบัติมาไม่รู้จะเอาอะไร ปฏิบัติยาก บางทีก็กินหลายก็ไม่ดีใจ กินน้อยก็ไม่ดีใจ ทำอะไรก็ไม่ถูก คือมันเพ่งไปข้างนอก มันก็ไม่ถูกสักทีแหละ เพราะมันเป็นอยู่ภายใน มันเป็นเพราะความเห็นผิดของเรา ทำดีเท่าไรมันก็ไม่ถูก เพราะมันไม่รู้จักมันเป็นอย่างนั้น จะทำความเข้าใจให้ตัวเองก็ยากลำบาก เราก็ทำเรื่อย ๆ ไปแต่ให้มีสติปัญญา มีอะไรเกิดขึ้นมาได้ความสบายใจความทุกข์ใจก็ตาม อย่าไปยึดมั่นถือมั่นกับมัน เป็นของไม่แน่นอน เดินจงกรมก็เดินไป ๆ ก็คิดไปเรื่อย ๆ ยิ่งเดินก็ยิ่งคิด บางทีก็ไม่ได้ดูเจ้าของ มีแต่ความคิดเต็มอยู่ในใจ นาน ๆ สักสามสิบนาทีหรือชั่วหนึ่งหยุดเดิน เอ้อ! มันไปไกลแล้ว คิดหลาย ปรุงหลาย แต่งหลาย เมื่อกำหนดแล้ว เราก็ถอนตัวเราออกมาว่า อ้อ! เรื่องที่คิดไปนี่ตั้งหลายชั่วโมงนี่ก็ดีมีทั้งดีมีทั้งชั่วทุกสิ่งสารพัด สิ่งทั้งหมดนี้เป็นของอนิจจังไม่แน่นอน อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันเลย อย่างนี้ เดี๋ยวมันก็หายไป ทีหลังมันเกิดขึ้นมา ก็สอนมันอย่างนี้ มันจะเกิดอย่างนี้เรื่อย ๆ ไป

เมื่อรวมการปฏิบัติส่วนตัวของเรา อะไร ๆ มันก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจะละลายไปเรื่อย ๆ แต่ความรู้สึกของเรามันจะลวงหลอกไป การปรุงมันเกิดมาจากอวิชชา อวิชชาให้เกิดสังขาร ก็เลยปรุงแต่งขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ให้เราหยุดสักที เมื่อมันปรุงขึ้นมาอีกเราก็ว่าอันนี้เป็นของไม่แน่นอน ตัดบทมันไปเลยไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น มันก็ละลายของมันไประเหยไป เหมือนไฟกับหม้อแกง ไฟมันอยู่ก้นหม้อ หม้อแกงมันอยู่ข้างบน ไฟมันไม่ดับมันก็ทำให้น้ำในหม้อเดือดขึ้นมาเรื่อย ๆ ถ้าเราดับไปเสียน้ำมันก็จะไม่เดือด มันเป็นอย่างนี้





10 สาขาวัดหนองป่าพง


อาจาริยบูชา


















Create Date : 03 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2554 15:20:30 น. 0 comments
Counter : 911 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Jจุ้ย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


facebookฝากข้อความได้ครับ
Google

ฟังวิทยุออนไลครับ
ฟังวิทยุออนไลน์ กดที่รูปครับ




หลับฝันดี
๑ หลับคืนนี้ฝันดีนะที่รัก...
หลับตาพักหลับตาฝันถึงวันใหม่...
หลับคืนนี้คนดีฝันถึงใคร...
รู้บ้างไหมฉันตั้งใจฝันถึงเธอ...


Friends' blogs
[Add Jจุ้ย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.