รูปบล็อคนอก
Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2554
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
3 พฤศจิกายน 2554
 
All Blogs
 
อุปลมณี 09 สมณธรรม ตอนที่ 8




09 สมณธรรม


เรื่องกาม


อันว่ากาเมนี้ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ เป็นปัญหาหนักอกหนักใจของพระหนุ่มเณรน้อยเกือบทุกรูปหรือไม่หนุ่มก็เถอะ ว่ากันว่าการที่นักบวชไม่สามารถครองผ้ากาสาวพัสตร์ไปได้ตลอดรอดฝั่งนั้นต้นเหตุสำคัญก็อยู่ที่แรงดึงดูดอันมหาศาลของเรื่องนี้นั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อหลวงพ่อสอนเรื่องกาม แม้จะเป็นเรื่องหยาบก็ต้องสอนกันบ่อย ๆ และพูดกันอย่างตรงไปตรงมา เพราะลูกศิษย์ลูกหาของหลวงพ่อ ส่วนมากก็จะเป็นพระหนุ่มพื้นบ้าน

“งูเห่าตายแล้วหรือยัง?” ครั้งหนึ่งหลวงพ่อถามพระหนุ่มผู้ร้อนผ้าเหลือง ลูกศิษย์ก้มหน้างุดหน้าแดงและตัวสั่นนิด ๆ “ระวังนะอย่าให้งูเห่ามันฉก วันไหนมันแผ่แม่เบี้ยมาก ๆ ก็ให้ทำความเพียรให้มาก”

อีกตัวอย่าง ที่เป็นคำสอนของท่านในเรื่องนี้ก็เช่นว่า

“เออ! มันหลงน้อ ไอ้โลภ โกรธ หลงนี่เลิกไม่ได้ซักทีน้อ ความงามมันงามอยู่แค่ตานี่นะ ต้องดูให้ดี ๆ ความหลงมันก็หลงอยู่ที่จิตใจนี้ มันไม่ภาวนานะ งามหนัง หลงหนังเรอะ ดูดี ๆ ซิ ข้างล่างมันมีอะไร ดูดีแล้วเหรอ จิตใจมันเป็นยังไงนักหนา จะไม่ให้มันพ้นเชียวเหรอ ทุกข์พวกนี้น่ะอยากเข้าคุกอีกเหรอ รักรูขี้เขาเหรอ นี่สองรู รูขี้ ไม่ล้างละก็เหม็นคลุ้งเลยละ ไม่เชื่อเหรอ ขี้มูกไหลอยู่น่ะ ไม่รู้ว่าหลงรูขี้เขาด้วยซ้ำ รูขี้เขาทุกขุมขน ทั่วใบหน้า บ้าแท้ ๆ ยังจะหลงมันอีก ยังอยากกลับไปตายที่เก่าอีก ยังไม่พออีกเหรอ”

center>

บางทีท่านก็เทศน์เรื่องอสุภะอสุภัง เรื่องของการเกิด อย่างท่านจะดุว่า

“ออกมาแล้วยังอยากจะกลับไปอีกเหรอ กว่าจะคลอดออกมาได้ จมอยู่กับของสกปรก ผ่านของสกปรกมามากแค่ไหน ยังไม่รู้สึกอีก”

แล้วท่านจะเปรียบเทียบกับรู หรือท่อส้วมให้เห็นว่า มันสกปรกอย่างนั้น บางทีท่านก็เปรียบเทียบความอยากในกามเหมือนคนอยากกินเนื้อสัตว์ว่า

“กามนี้พระพุทธเจ้าหรือปราชญ์ทั้งหลายท่านสอนว่า เหมือนกันกับคนกินเนื้อสัตว์ เมื่อมันเข้าไปในซี่ฟันเจ็บปวด แล้วก็เอาไม้มาจิ้มมันออก แหม ! สบายนะ เดี๋ยวก็คิดอยากอีกแหละ อยากเนื้ออีกก็มากินอีก เนื้อมันก็ยัดเข้าไปในซี่ฟันแล้วก็ปวดอีก ไปหาไม้มาแหย่มันออกจิ้มมันออกแล้วก็สบายอีกแล้ว แต่นึกไปอีกอยากอีก ใช่ไหม ไม่รู้จัก ยังงั้นถึงเป็นกรรม กามนี่ขนาดนี้ ไม่ดีไปกว่านั้น พอปานนั้นแหละ”

หลวงพ่อเล่าถึงตัวเองว่า

“พอบวชมาแล้ว โอ้โฮ มันกลัวทั้งนั้นแหละ มันคล้าย ๆ ว่าเห็นกามที่เขาอยู่นะ ไม่เห็นความสนุกกับเขา แต่เห็นความทุกข์มากกว่า มันคล้าย ๆ กับกล้วยน้ำว้าใบหนึ่ง เราไปทานมันก็หวานดี มันมีรสหวานก็รู้อยู่ แต่เวลานี้รู้ว่า เขาเอายาพิษไปฝังไว้ในกล้วยใบนั้น แม้จะรู้อยู่ว่ามันหวานเท่าไรก็ช่าง ถ้ากินไปแล้วมันจะตายใช่ไหม ความเห็นมันเป็นเช่นนั้นทุกที ว่าจะกินก็เห็นยาพิษฝังอยู่ในนั้นทุกทีนั่นแหละ มันก็เลยถอยออกมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีอายุพรรษามากขนาดนี้แล้ว ถ้าเรามองเห็นแล้ว มันไม่น่ากินเลยนะ”

พระอาจารย์รูปหนึ่งเล่าว่า “สมัยก่อนผมเองก็เคยมีปัญหาเรียนถามท่าน บางครั้งก็ภาวนาไม่ลง เพราะถ้าเห็นผู้หญิงสาวสวย ๆ ก็เกิดมีความรัก ชอบมองดู ผมเขาก็สวยดูเรือนร่างของผู้หญิงแล้วสวยงามไปหมด ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร ผมก็จนใจเพราะติดอยู่ตรงนั้น ภาวนาไม่ลง หลงพ่อท่านก็ได้ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับจิตใจของผม ท่านว่า นั่นแหละเราไปหลงในรูปร่างกายของคนอื่น ถ้ายึดว่าสวยก็ไปหลงรัก ถ้ายึดว่าไม่สวยก็ไปหลงชัง เพราะเรายังภาวนาไม่เป็นเกิดความมัวเมาลุ่มหลงอย่างนั้น ดูให้แน่ชัดซิว่ามันสวยจริง ๆ หรือ ถ้ามันยังตอบว่าสวยจริง ๆ ก็หันไปดูแม่ยายของเขาเสียก่อนว่า มีสภาพเป็นอย่างไร ผมที่ว่าดำสลวยสวยงามนั้น อีกไม่นานก็จะหงอกขาว เนื้อหนังที่เต่งตึงในวัยสาวพอถึงวัยชรามันก็เหี่ยวย่นหย่อนยานไป นับวันจะทรุดโทรมลงทุก ๆ วัน ดูแม่เขาซิ เมื่อก่อนเขาก็สวย แต่เดี๋ยวนี้เขาก็มีอันเปลี่ยนไปดูไม่ได้ใช่ไหม นั่นแหละมันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ กฎของสภาวะธาตุที่ไม่มีใครจะฝ่าฝืนได้ ควรที่เราจะหันมาค้นคว้าพิจารณาดู เพื่อให้รู้แจ้งทั้งร่างกายของเราและของคนอื่นด้วยการพิจารณาอสุภกรรมฐาน เพื่อเพิกถอนความลุ่มหลงของจิตใจให้จางคลายไปเพราะหมดความสงสัย ว่าสวยว่างาม เพราะเราดูเพียงผิวเผินจึงทำให้ลุ่มหลงเอามาก ๆ ให้พวกเราพิจารณาให้ลึกซึ้งด้วยปัญญา จึงจะเห็นตามสภาพความเป็นจริง จึงจะสามารถถอดถอนความกำหนดยินดีออกจากจิตใจได้ สามารถยกจิตใจออกจากกองทุกข์ได้ หลวงพ่อท่านมีปัญญามีความฉลาดรอบรู้ สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีที่สุดครับ”

สำหรับรายที่อาการหนักจริง ๆ ภาวนาเท่าไร ๆ ก็ยังฟุ้งซ่าน หลวงพ่อมีคำแนะนำซึ่งทำให้ผู้ฟังคอย่นว่า
“สันอีโต้ สันขวนฮั่น สับมันลงไปโลด เบิ่งเบิ่งมันสิกล้าโงหัวขึ้นอีกอยู่บ้อ”
(สันมีดโต้หรือสันขวานแน่ะ สับมันลงไปเลย ดูซิมันจะกล้าผงกหัวขึ้นมาอีกไหม)

แต่คำว่า กาม มีความหมายกว้างขวางนัก มิใช่แต่ความรู้สึกต่อเพศตรงข้าม หลวงพ่อเคยเตือนสติพระเณรว่า

“อย่างเราบวชเข้ามานี้ก็ดีใจว่า จะไม่ได้เสพกามแล้ว อันนี้เป็นคำพูดของเราที่ติดปากกันมา แต่เมื่อเรามองเข้าไปอีกทีว่า ใครเสพนี่ ตามันเห็นรูป ถ้ามันยังเกลียดหรือชอบเขาอยู่ มันก็เสพแล้วนี่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต ถ้าไม่รู้เรื่อยมัน ๆ ก็เสพทั้งหมด เดี๋ยวนี้ทั้งพระทั้งเณรเสพกามนี้ไม่ได้หนีจากกามหรอก ตาเห็นรูปผู้หญิง มันชอบก็เสพแล้ว จมูกดมกลิ่น มันหอมชอบมันก็เสพอีก ยังเสพกามอยู่ยังปล่อยวางอารมณ์ไม่ได้ ที่ว่าเราเป็นพระนั่นสมมุติขึ้นมาหรอก”

นอกจากนี้ท่านก็เปรียบให้เห็นโทษในการติดรสของกามซึ่งเป็นอันตรายต่อการประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งว่า

“การประพฤติปฏิบัติมันก็ยาก ครูบาอาจารย์จะสอนให้เข้าแบบเข้าแนวก็ยาก มันติดรสเสียแล้ว เหมือนกับสุนับ ถ้าเอาข้าวเปล่า ๆ ให้กินทุกวัน ๆ มันก็อ้วนอย่างหมูเหมือนกัน แต่ถ้าวันหนึ่งเอาแกงราดข้าวให้กินซี เอาซักสองจานเท่านั้นแหละ วันหลังเอาข้าวเปล่าให้กิน มันไม่กินแล้ว แน่ะ มันติดเร็วเหลือเกิน ดังนั้น รูป เสียง กลิ่น รสนี่ จึงเป็นเครื่องทำลายการประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าหากว่าเราทุกคนไม่มีการพิจารณาในปัจจัยสี่ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรค”

แล้วท่านก็ยังชี้ให้เห็นว่า แม้การชอบคลุกคลีกับเพื่อน หาความสนุกกับการพูดคุยก็เป็นอาการของกาม ท่านบอกว่า พระอรหันต์พระอริยเจ้า อยู่กันเป็นหมื่นเป็นแสนก็ไม่มีเสียง ผู้ประพฤติปฏิบัติจริงอยู่กันร้อยสองร้อยก็ไม่มีเสียงคุย

เพราะฉะนั้นหลวงพ่อจึงย้ำแล้วย้ำอีกว่า นักปฏิบัติมุ่งหน้าปฏิบัติจริง ๆ ไม่มีการพูดคุย เวลาซักผ้าที่โรงย้อม ระหว่างรอผ้าแห้งท่านก็ให้ขัดบาตรรอไปพลาง ๆ หรือทำไม้สีฟันบ้าง รูปไหนเผลอส่งเสียง ท่านจะมาฮื่มใส่ว่า “ปล่อยให้หมากัดกันอีกแล้ว” เพราะโรงย้อมอยู่ใกล้กับกุฏิของท่าน เวลาจะไปไหนท่านจะสั่งเสียให้รักษาวัดให้ดี อย่าปล่อยให้หมามาขี้ใส่ เป็นต้น”





09 สมณธรรม


การทำงานคือการปฏิบัติธรรม


นอกจากงานประจำวันที่เรียกว่ากิจวัตรแล้ว หลวงพ่อมักพาพระเณรทำงานพิเศษต่าง ๆ เช่น งานก่อสร้าง หรือซ่อมแซมเสนาสนะ ทั้งนี้ก็มีเหตุผลหลายประการ คือ เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถหรือเปลี่ยนบรรยากาศ และเพื่อท่านจะได้คอยสังเกตว่าพระเณรสามารถเจริญสติในขณะทำงานได้หรือไม่ อีกประการหนึ่งก็คือเป็นความจำเป็นด้วย เนื่องจากวัดมีปัจจัยไม่เพียงพอที่จะจ้างคนนอกมาช่วยทำ ต้องอาศัยพระเณรช่วยกันคนละไม้ละมือ ซึ่งเป็นการสร้างความสามัคคีขึ้นในหมู่คณะ ต่อมาในสมัยหลัง ๆ พระเณรมีจำนวนมากขึ้น ผู้มาบวชใหม่บางครั้งก็ยังคึกคะนอง จะปล่อยให้ภาวนาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องให้ออกแรงเจริญสติในการทำงานบ้าง

บางครั้งหลวงพ่อพาทำงานจนดึกดื่น เช่น ตอนสร้างโบสถ์ จุดตะเกียงทำกันถึงห้าทุ่มหกทุ่มเกือบทุกวัน ญาติโยมบางคนถึงกลับล้อเลียนว่า พระวัดหนองป่าพงเป็นพระกรรมกร ไม่ใช่พระกรรมฐาน บางรูปก็บ่นที่ต้องทำงานหนัก

หลวงพ่อกล่าวถึงการปฏิบัติธรรมในการทำงานว่า

“นี่แหละการปฏิบัติ ทำงานไปก็ดูจิตของท่านซิ มันเป็นอย่างไรเมื่อพามันทำอย่างงี้ ไม่ใช่จะหลบอยู่เรื่อย ต้องออกมาต่อสู้กับมัน มันเป็นอย่างไรเราจะได้รู้ ต่อไปผมจะพาไปในเมืองกรุง มันจะยิ่งร้ายกว่านี้ เรามาฝึก เมื่อฝึกแล้วก็ต้องขึ้นเวทีซิ จะมาตำหนิติเตียนครูบาอาจารย์ไม่ได้ แลก็ดูผลมันซิ ทำแล้วสร้างแล้วผมก็มิได้พักอาศัย อันนี้ก็ทำเพื่อพวกท่านนั่นแหละ ต่อไปก็จะเห็นผลหรอก อย่าเพิ่งติอย่าเพิ่งชม ทำไปก่อน”

ท่านก็เตือนอย่างนี้ รูปไหนพอใจก็อยู่ได้ รูปไหนไม่พอใจก็หนีไป

พระอาจารย์เลี่ยมได้พูดถึงปฏิปทาในการทำงานของหลวงพ่อไว้อย่างชัดเจนว่า

“การทำกิจท่านเน้นให้เสียสละ หลักของการเสียสละเป็นทานของสงฆ์ เกิดขึ้นจากจิตใจที่กว้างขวางเห็นประโยชน์ส่วนรวม และการทำท่านจะไม่มีบอกให้หยุด หรือบอกว่าพอเถอะ เพราะคำว่าปฏิปทามันต้องปฏิบัติ คำว่าหยุดไม่มี ส่วนที่ว่ามันจะตึงไปหรือหย่อนไปนั้นก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องสอดแทรกสติของเราเข้าไป เพื่อให้มันเป็นการปฏิบัติที่สม่ำเสมอ

ท่านเคยย้อนถามโยมที่ชอบบอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติว่า ไม่ใช่เรารีบไปเหรอ เพราะอันที่จริงเวลายังมีอีกเยอะ แต่ถ้าเรารีบไปก็จะเห็นว่าเวลามีน้อย เพราะว่าเราไปเกี่ยวข้องกับความอยาก ถ้าเราอยากทำมันก็ไม่อยากหยุด มองในแง่ความรู้สึกมันเป็นอย่างนั้น แต่เราไม่ทำเพราะความอยาก ทำเพราะการเสียสละ จะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ แต่มันเป็นปฏิปทา ช่วยให้คนที่ทำกับเรามองเห็นการกระทำนั้นในแง่ของการปฏิบัติว่า การเสียสละนั้นเป็นประโยชน์ อย่างตอนทำถนนขึ้นถ้ำแสงเพชรท่านก็ไม่ได้บอกให้ท่าน แต่ก็ช่วยกันทำทั้งวันทั้งคืน ใครเหนื่อยก็ไปนอน หลวงพ่อก็เดินไปเดินมาอยู่อย่างนั้น ทำกันอยู่ ๔ เดือน ทั้งพระเณรและญาติโยม มันเป็นปฏิปทาของคนมีศรัทธา คือทำไม่หยุด ไม่เคยได้ยินท่านบอกสักครั้งว่า โยมกลับบ้านเสียที มีแต่ใครเหนื่อยก็ออกไป คนใหม่ก็เข้ามาแทน

ช่วงก่อนเข้าพรรษา จะเป็นช่วงที่มีกิจต้องช่วยกันทำมาก ก่อนเข้าพรรษาก็จัดสถานที่ของวัด เช่น เสนาสนะหลังไหนรั่วก็ต้องซ่อมแซม ทางเข้าออกไม่มีก็ทำแนวถนนเข้ากุฏิ พอจะออกพรรษาหมดฤดูฝนดินขุดง่ายก็ช่วยกันแยกถนนทุกปี เกลี่ยหลังถนนให้ดี ตรงไหนเป็นที่ลุ่มก็เกลี่ยใบไม้ไปกลบ ถ้ามีจอมปลวกก็ให้โยมขุดทีละน้อย แต่ระหว่างพรรษาไม่มีงานมาก ท่านให้เราตั้งใจสมาทานวัตร เช่น ธุดงควัตร”





09 สมณธรรม


นั่งอย่างเดียวก็ไม่ใช่



วันหนึ่งหลวงพ่อพาพระเณรขนดินขึ้นไปใส่สนามหญ้ารอบโบสถ์ พอดีขณะที่ท่านกำลังยืนสั่งงานอยู่นั้น มีหนุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งมาเที่ยวชมวัด เดินมาพบท่านเข้า พวกเขาเข้ามายืนใกล้ ๆ ท่าน ท่าทางแบบฝรั่งวัยรุ่นกิริยาไม่สู้จะอ่อนน้อมเท่าไรนัก หนึ่งในคณะของเขา ถามท่านหลายอย่างและท้ายที่สุดเขาจึงถามท่านทำนองรุกไล่ว่า

“ทำไมท่านไม่พาพระเณรนั่งสมาธิ ชอบพาทำงานอยู่เรื่อย”

หลวงพ่อตอบออกไปทันควันว่า

“นั่งมากมันขี้ไม่ออกว่ะ”

พวกนั้นรู้สึกงุนงงต่อคำตอบของท่าน ทันทีท่านก็ยกไม้เท้าขึ้นชี้ไปยังคนถามปัญหา และสั่งสอนว่า...

“ที่ถูกนั้น นั่งอย่างเดียวก็ไม่ใช่ เดินอย่างเดียวก็ไม่ใช่ ต้องนั่งบ้าง ทำประโยชน์บ้าง และทำความรู้ความเห็นให้ถูกต้องไปทุกเวลานาที อย่างนี้ถึงจะถูก กลับไปเรียนมาใหม่ นี้ยังอ่อนอยู่มาก เรื่องการปฏิบัตินี้ถ้าไม่รู้จริง อย่าพูด มันจะขายขี้หน้าตัวเอง”





09 สมณธรรม


การออกธุดงค์


“ที่พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญให้ไปธุดงค์นั้นคือ ไปประกาศพรหมจรรย์ พรหมจรรยืนั้นคือข้อปฏิบัติอันละเอียด คือปฏิบัติจิตภายในนี้ ไม่ใช่ว่าการเดินนั้นมันเป็นธุดงค์ การไปนั้นมันเป็นธุดงค์ ตัวธุดงค์จริง ๆ นั้น คือข้อปฏิบัติ” นี้คือ ความหมายของธุดงค์ที่หลวงพ่อชี้แจงให้ลูกศิษย์ได้เข้าใจ แล้วท่นาอธิบายเพิ่มเติมว่า
“การไปธุดงค์นี้เรียกว่าเราไปเพื่อให้เห็นวิเวกทางกาย ไปพบป่าช้าป่าชัฏ ไปพบหุบเขาเราก็แวะไปทำความเพียร ได้ความวิเวกวังเวงเป็นกายวิเวก เมื่อกายวิเวกก็เป็นเหตุให้จิตวิเวก พลอยให้จิตสงบระงับไปด้วย...”
คุณธรรมที่พระธุดงค์ควรดำรงไว้มีหลายข้อ แต่หลวงพ่อมักกล่าวว่า ถ้ามีธรรม ๒ ข้อ คือ หิริ ความละอายต่อบาป โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาปเท่านั้นแล้ว “ธุดงค์ไปที่ไหนจิตจะสว่างไสว”
ท่านแนะนำอีกว่า “เมื่อพบอาจารย์ต่าง ๆ ก็ให้เอามาเทียบสำนักนี้เป็นอย่างนี้ สำนักโน้นเป็นอย่างโน้น ให้เอาดีมาต่อดีอย่างเดียว บริขารธุดงค์ก็เหมือนกัน ไม่ใช่นี่ก็จำเป็น โน่นก็จำเป็น แบกเอาไปเสียมากมาย เดินไป ๆ ต้องให้เขาไปหมด ธุดงค์เป็นการเตรียมใจเพื่อไปปฏิบัติ ไม่จำเป็นต้องมีสบู่ เอาผ้าดูก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีแปรงสีฟัน เอาไม้ขัดก็ได้ ผ้าผืนเดียว น้ำขันเดียว ก็ให้อาบได้ อยู่ได้ อย่างนี้จึงจะเรียกว่า ไปธุดงค์”
หลวงพ่อปรารภบ่อย ๆ ว่าทุกวันนี้ พระธุดงค์ที่แท้จริงหายาก ส่วนมากเป็นพระทะลุดงเสียมากกว่า นั่งรถนั่งเรือไปหาที่สวยงาม ทิวทัศน์ดี อาหารดี พอรู้สึกเบื่อแล้วก็ย้ายหาที่ใหม่ ไม่อย่างนั้นก็ไปหาเอกลาภ โดยปักกลดใกล้ ๆ หมู่บ้าน แล้วให้ยันต์ให้ตะกรุด ให้เครื่องรางของขลัง ให้หวยเป็นธุดงค์พาณิชย์ และบางรูปเข้าไปในด่าดงดิบ อยู่ด้วยความยากลำบาก แต่ไม่ใช่เพื่อแสวงหาสัจธรรม หากต้องการเหล็กไหลเท่านั้นเอง หลวงพ่อปรารภถึงความแตกต่างกันระหว่างสมัยก่อนและสมัยนี้ว่า
“สมัยก่อนไม่เป็นอย่างนี้ ถึงจะมีรถมีเรือก็ไม่ไปกัน ไปด้วยสติปัญญา ไปด้วยทุกขเวทนา ไปด้วยการพิจารณาจิตใจ ดูทุกขเวทนา ไปเพื่อความเยือกเย็น ไปเพื่อการปฏิบัติ ไปหา ไปคิดหาธรรมะ หาความสงบ หาการปฏิบัติ หาความจริง ไปตามภูเขา ตามป่าตามดง”
เพื่อให้ลูกศิษย์ได้สัมผัสกับความวิเวกตามความหมายที่ท่านได้อธิบายไว้อย่างนั้น หลวงพ่อจึงได้พาคณะพระเณรออกธุดงค์เป็นครั้งคราว บรรยากาศการไปธุดงค์ในสมัยก่อนที่หลวงพ่อเป็นผู้นำไปนั้นเป็นอย่างไร จะเห็นภาพได้จากคำบอกเล่าของท่านพระครูบรรพตวรกิต ซึ่งได้ร่วมขบวนในครั้งนั้นดังนี้
“ผมได้ฝึกออกไปธุดงค์กับท่าน ครั้งแรกไปด้วยกัน ๖ องค์ และมีโยมตามไปด้วย ไปทางอำเอบุณฑริกเป็นเวลาประมาณสองเดือนครึ่ง เมื่อถึงป่าช้า ท่านได้พาแวะเข้าไปพัก พักอยู่แห่งละสองวัน สี่วัน หรือห้าวัน
ท่านพาเดินไปเรื่อย เมื่อผ่านหมู่บ้านออกไปได้ไปเจออุจจาระ ผมเดินตามหลังกับพระ ๒-๓ องค์ ท่านได้หยุดอยู่และพูดว่า นี่ ๆ มาดูนี่ จะทำให้ดู นี่คืออุจจาระของสาว ๆ นี่แหละ มันสวยตรงไหน สาวก็ขี้เหม็นเหมือนกัน แล้วท่านได้เล่าเรื่องของหลวงพ่อทองรัตน์ว่า เมื่อหลวงพ่อทองรัตน์เห็นสิ่งเหล่านี้ เช่น เห็นอุจจาระบ้าง เห็นเห็ดที่เพิ่งขึ้นบ้าง เห็นเห็ดเน่าลงบ้าง เห็นตอไม้ตายบ้าง ท่านจะเรียกลูกศิษย์ไปดู และจะพูดว่า พ่อเห็นธรรม พ่อได้ธรรมเพราะป่านี้ ทุ่งอันนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ คือเอาไปพิจารณา ถ้าไม่พิจารณาเห็นอะไรก็สวยไปหมด แล้วอุจจาระนี้ก็สวยไหม เจ้าของมันคือสาว สวยหรือเปล่า ท่านได้ชี้แนะให้ดู”
ต่อมาเมื่อหลวงพ่ออายุมากขึ้น ท่านก็ไม่อาจพาลูกศิษย์อกธุดงค์ได้เหมือนครั้งที่ยังแข็งแรง บางครั้งท่านจึงจัดให้พระไปป่าช้าบ้านกลางหรือบ้านก่อในตอนค่ำ โดยมีพระเถระรูปใดรูปหนึ่งพาไป แบ่งกันไปครั้งละ ๒-๓ รูป ไปฝึกอยู่ที่นั่นโดยเฉพาะเวลามีศพคนตายโหง เพื่อเป็นการฝึกนิสัยของพระบวชใหม่
หลังจากบวชได้ห้าพรรษาแล้ว พระอาจารย์ชาคโรก็ได้กราบลาหลวงพ่อไปธุดงค์บ้างเหมือนกัน ท่านเล่าว่า

“หลวงพ่อได้ให้คำแนะนำผมอย่างดีที่สุด ถ้าเดินไปพบพระหรือโยมก็ตาม ถ้าเขาถามเราว่า ท่านนิยมลัทธิไหนหรือนิกายอะไร ก็ให้ตอบเขาว่า เราไม่สนใจเรื่องนิกาย ไม่สนใจเรื่องลัทธิ แต่เรานิยมธรรมะคำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา ถ้าหากเขาถามว่า ท่านเป็นพระมหานิกายหรือพระธรรมยุต ก็ให้ตอบเขาว่า พระอุปัชฌาย์ของเราเป็นพระมหานิกาย แต่เราเป็นพระที่ดีที่รักษาพระวินัย” ท่านย้ำบ่อย ๆ ว่า
“อย่าไปสนใจในเรื่องลัทธิอะไร ๆ ในเรื่องนิกายอะไร ๆ ให้อ่านธรรมะที่ผุดขึ้นในใจของเราดีกว่า”
ต่อมาเมื่อท่านพระครูบรรพตวรกิต จะออกธุดงค์เองโดยไม่มีหลวงพ่อเป็นผู้นำ หลวงพ่อก็ให้คำแนะนำแก่ท่านอย่างละเอียดลออทีเดียว

“หลวงพ่อสอนว่า ถ้าจะไปพักในถ้ำ ต้องถามญาติโยมก่อนว่าถ้ำไหนเป็นถ้ำสมบัติหรือถ้ำวิบัติ มีบางถ้ำเป็นถ้ำวิบัติ เพราะบางครั้งมีพระไปอยู๋แล้วทำเสียศีล ด้วยการฆ่าสัตว์หรือไปทำสังฆาทิเลส เรียกว่า ถ้ำวิบัติ ถ้ำนั้นเราไม่ควรไปอยู่และไม่ควรไป หรือถิ่นนั้นมีสัตว์ร้าย มีเจ้าที่เจ้าทางรุกขเทวดาอารักขา เมื่อไปถึงก็ต้องหยุดเสียก่อน หยุดยืนตั้งเจตนาจิต ข้าพเจ้าจะเข้าไปสู่ที่นี่ ไปเพื่อเป็นมิตรสหายเป็นเพื่อ เพื่อปลดเปลื้องช่วยเหลือให้หมดความทุกข์ ไม่ใช่จะเข้าไปเป็นศัตรูหมู่ร้ายกัน ให้ตั้งจิตอย่างนั้น ถ้ามีสัตว์มีอะไรอยู่ก็ขอให้อยู่ตามสบาย ไม่ต้องสงสัยแคลงใจ ข้าพเจ้ามาเพื่อทำความเพียร ทำความดี ถ้าจะอยู่ด้วยกันก็อยู่ตามอัธยาศัยตามสบาย ตั้งจิตเจตนาอย่างนี้เสียก่อนจึงค่อยเข้าไปด้วยความตั้งใจมีสติ
ถ้ามีสัตว์ร้ายเช่น ช้าง เสือ ที่เป็นอันตราย ท่านให้งดฉันเนื้อสัตว์เสียก่อน เพราะเนื้อเมื่อฉันแล้วมีกลิ่น สัตว์ร้ายได้กลิ่นจะมาทำร้ายเราได้ จึงต้องงดฉันเนื้อซึ่งเป็นวิธีป้องกันตัว เมื่อออกธุดงค์จะเหมือนกับออกสู่สนามรบ เรื่องศีลสำคัญมากต้องพยายามรักษาทุกลมหายใจเข้าออกทุกก้าวเท้าเดิน ถ้าไปทำผิดศีลก็จะมีอันเป็นไปต่าง ๆ บางครั้งก็ปวดท้องเจ็บท้อง บางครั้งก็นอนเพ้อละเมอฝันร้าย บางทีก็สัตว์มีสิ่งอื่นมาเบียดเบียน ต้องพิจารณาดูศีล
ถ้ามีสัตว์จะมาทำร้าย เช่น ควาย ธรรมดาวัวควาย ถ้าจะชนมันก็ก้มหัวลง แต่ลงได้ไม่มาก ถ้าหนีไม่พ้นเราก็หลบลงตรงที่ต่ำ ๆ หรือกางกลดออก ถ้ามันตกใจจะหนี ถ้ามีร่องให้ลงไป มันจะขวิดไม่ถูก ส่วนวัวเลาจะชนมันจะหลับตา ถ้ากำลังจิตเราหนักแน่น เมื่อมันวิ่งเข้ามาเราก็หลบฉากมันนิดเดียว แต่ว่าอาจจะไม่ทันก็ได้ ขึ้นอยู่ที่กำลังใจและความไวของเรา เวลาใช้ไฟฉายอย่าฉายตรงทางเราเดิน ต้องฉายให้เหออกไปข้าง ๆ ถ้ามีคนร้ายใช้ปืนยิงมาจะต้องยิงไปที่แสงไฟฉาย เราจะพ้นอันตรายได้ ท่านแนะนำทุกอย่าง
ถ้าไปพักป่าช้าท่านก็ให้อยู่ไกล ๆ กัน แต่ถึงเวลากลางคืนถ้าไปกับท่าน ท่านจะกระแอมให้กำลังใจ ท่านย้ำเสมอว่าการทำความเพียรไม่ต้องสงสัยว่าจะไม่ถูก มันถูกแล้วดีแล้ว ถ้าไม่ดี พระพุทธเจ้าท่านคงไม่ทิ้งลูกทิ้งเมียไปปฏิบัติหรอก เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวตาย ไม่ต้องกลัวขาดขาดง่อยเปลี้ยทั้งนั้น
ก่อนไปธุดงค์ที่ภูลังกา ตอนแรกต้องไปฝึกกับท่าน ท่านสอนให้ระมัดระวัง อย่าไปติดผู้คน สำคัญที่สุดอย่าให้ผิดศีล จะมีอันเป็นไปต่าง ๆ อย่าไปพักในที่หวงห้าม ให้สังเกตร่มเงา ดูบ้างบนมีกิ่งไม้แห้งมันจะตกลงมา กลางก็ให้สังเกตตอไม้ การพูดจาก็ให้รู้ระดับจิตใจญาติโยม อย่าไปขัดแย้งแข็งแกร้าว จะเข้าป่าไหนก็ให้หยุดก่อนเข้าเขต ให้ตั้งจิตเมตตาก่อน ว่าจะเข้าไปเป็นมิตร ไปเป็นเพื่อน จะเข้าถ้ำอย่าฉันเนื้อ พวกช้างจะได้กลิ่นตัวเรา บางถ้ำเป็นถ้ำวิบัติ มีพระเป็นสังฆาทิเสส ปาราชิก อย่าไปพัก ไปแล้วไม่ต้องไปเที่ยวดูข้างนอก ให้ดูข้างใน ไม่ต้องไปหาครูบาอาจารย์มาก ให้ไปตามป่าช้า ให้ทำวัตรสวดมนต์กราบอยู่ที่นั่น ให้ระวังสังวร และอย่าอยู่ที่ไหนนาน จะไปติดญาติโยม อย่างมากไม่ควรเกิน ๑๕ วัน
อีกเรื่องที่ท่านให้ระวัง คือเรื่องคนมาขอหวย ให้บอกเขาว่าไม่รู้ แต่จะให้ของดีกว่านั้น คือให้ข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าเขารบเร้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ให้ข้อวัตร ศีลห้า ศีลแปด แล้วแต่เขาจะแปลเอาเอง ให้ดูนิสัยคน อาจเป็นอันตราย แต่บางบ้านเขาฉลาด เพราะเคยรับพระกรรมฐานมาก่อน เขาจะมาอุปัฏฐาก กลางคืนก็พาลูกหลานมาสมาทานศีล วันพระก็มาถือศีลแปด
สิ่งที่ท่านเตือนและแนะนำให้อดทน ก็คือเรื่องความขัดแย้ง ถ้าไปเกินเดือนหรือ ๒ เดือน ไป ๕ องค์ มักจะเหลือเพียงสาม หรือสอง หรือหนึ่ง เพราะต่างคนต่างเหนื่อย สิ่งแวดล้อมก็ทารุณ บางทีก็ขัดกันเรื่องเส้นทางเรื่องสถานที่พัก บางองค์ก็นิสัยขี้ลืม ไปพักที่ไหนลืมของไว้ที่นั่นต้องกลับไปเอา มีปัญหามาก โดยเฉพาะปัจจัยสี่ขาดแคลน ไปธุดงค์ต้องใช้ความอดทนและอดกลั้นมาก
ถ้ามีคนมาถามเราเรื่องเกี่ยวกับฌาน โสดาบัน ก็บอกว่า ไม่ได้ปฏิบัติทางนั้น ไม่สนใจ การปฏิบัติท่านให้ลดลงไปว่ามันละความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ไหม มันไม่ยึดมั่นในวัตถุสิ่งของไหม คนด่ายังโกรธไหม ส่วนฌานขั้นไหน ๆ ครูบาอาจารย์ไม่ได้สอน ท่านสอนให้ตามดูจิตของตน จะพ้นจากบ่วงของมาร”





09 สมณธรรม


ยาดองของดี


พระธุดงค์มักชอบหาที่วิเวกห่างไกลจากความเจริญ เพื่อบำเพ็ญสมณะธรรม แต่ที่สงบสงัดจากความวุ่นวายของโลก ย่อมสงบสงัดจากสิ่งอำนวยความสะดวกสบายเช่นกัน ที่สำคัญอาจจะอยู่ไกลหลายกิโลเมตรจากโรงพยาบาล ฉะนั้นพระธุดงค์ต้องเรียนรู้เรื่องยาสมุนไพร รู้จักใช้สิ่งที่ธรรมชาติให้แก่โลกเพื่อบำบัดอาพาธ ฉะนั้นพระธุดงค์ต้องเรียนรู้เรื่องยาสมุนไพร รู้จักใช้สิ่งที่ธรรมชาติให้แก่โลกเพื่อบำบัดอาพาธ และในเรื่องนี้หลวงพ่อได้สั่งสมความรู้ที่ลึกซึ้งเอาไว้เหมือนกัน พระอาจารย์ดิลก เคยเขียนบทความเรื่อง ยาดียาดองของพระธุดงค์ โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า
“อันที่จริงยาที่นักปฏิบัตินิยมทำกันก็คือยาดองน้ำมูตรเน่า บางทีดองใส่ไหเป็นปีจนหนอนขึ้นก็มี แล้วกรองเอาน้ำมาต้มกับขิงใส่เกลือ พอฉันคล่องใช้แทนยาระบาย การทำน้ำยาดองมูตรเน่าต้องพิจารณาปัสสาวะ ถ้ามีกลิ่นมากยาดองก็จะมีกลิ่นด้วย ถ้าดองแบบไม่ใส่เครื่อง ๗-๘ เดือน จึงใช้ได้ แต่ถ้าใส่ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ก็ประมาณ ๓ เดือน ส่วนที่จะทำอย่างไรแล้วแต่ความชอบ บางทีก็น้ำปัสสาวะสองส่วน น้ำสุกหนึ่งส่วน บางทีก็กลับกัน ผู้เขียนมีประสบการณ์ว่าฉันยาดองน้ำมูตรเน่าทุกเจ็ดวันจะระบายท้องดี ฉันทุกวันไม่ดีจะติดยา เมื่อหยุดฉันจะไม่ถ่าย สมัยโบราณใช้ยานี้เป็นยาระบา ยบางทีเครื่องที่ใช้ดองก็ไม่ทิ้ง ภายหลัง ๓ เดือน เอามาตากและบดสำหรับติดตัวไปยามออกธุดงค์ ชงน้ำรับประทาน
หลวงพ่อเคยบอกกับหมู่สงฆ์ว่า ก่อนหน้าออกธุดงค์ท่านจะใช้ใบส้มลม ตำละเอียดปนกับเกลืออัดใส่กระบอกไม้ไผ่จนแน่น แล้วเอาไปหลาม คือปิ้งไฟให้แห้ง นำมาผ่าออกจะได้ยาเป็นแห่ง เวลาฉันก็ขูดออก ไปไหนมาไหนไม่มีน้ำปานะก็นำสิ่งนี้แหละมาฉันแทนน้ำปานะ ส่วนมาเลเรียก็ใช้ใบสะเดากับบอระเพ็ด ฉันวันละคืบ ถ้าป่วยหนักต้องตำคั้นเอาน้ำฉัน บางคนนิยมเอาบอระเพ็ดหั่นเป็นแว่นเฉลียงบาง ๆ คั่วใส่เกลือ หอมเหมือนกาแฟ ส่วนประกอบยาแก้ต่าง ๆ โดยเฉพาะยากันงูกัดก็มี ท่านบอกว่าได้ตำรามาจากน้องชายหลวงพ่อชื่อ ผู้ใหญ่ลา มีกล่อมก้อยลอดขอน ตุ่มกาแดงหัวป่อ ขี้ไก่และดีงูเหลือม มียาแก้งูกัดอีกขนานหนึ่งที่พระธุดงค์เคยใช้ได้ผลมาแล้ว ในพระวินัยกล่าวว่า ในกรณีถูกงูกัดอนุญาติให้ตัดไม้จุดไฟได้ (เผาไม้ให้เป็นขี้เถ้า) ให้เอาน้ำมูตรรวมกับอุจจาระและขี้เถ้าจากไม้ที่เผา กวนให้เข้ากัน แล้วให้คนถูกงูกัดกิน จะทำให้อาเจียนออกมาอย่างแรง และทำลายพิษของงูได้ (เรียกว่า ยามหาวิกัฏ ๔)
ผู้พันคนหนึ่งได้ยินหลวงพ่อเทศน์เรื่องนี้บ่อยจนจำได้แม่นยำ วันหนึ่ง คุมทหารเดินลาดตระเวณอยู่ในป่า พลทหารคนหนึ่งถูกงูกัด ผู้พันนึกถึงคำของหลวงพ่ อจึงบอกให้พลทหารที่ปวดอุจจาระและปัสสาวะไปถ่ายเอามา คนให้เข้ากันจับกรอกลงไปในปากพลทหารที่ถูกงูกัด ตอนนั้นขากรรไกรแข็งแล้ว ปรากฏว่าตัวเย็นและอาเจียนออกมา รอดตายได้เหมือนกัน”










Create Date : 03 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2554 18:00:50 น. 0 comments
Counter : 339 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Jจุ้ย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


facebookฝากข้อความได้ครับ
Google

ฟังวิทยุออนไลครับ
ฟังวิทยุออนไลน์ กดที่รูปครับ




หลับฝันดี
๑ หลับคืนนี้ฝันดีนะที่รัก...
หลับตาพักหลับตาฝันถึงวันใหม่...
หลับคืนนี้คนดีฝันถึงใคร...
รู้บ้างไหมฉันตั้งใจฝันถึงเธอ...


Friends' blogs
[Add Jจุ้ย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.