รูปบล็อคนอก
Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
27 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 

อุปลมณี 08 การฝึกสมาธิเจริญปัญญา ตอนที่ 2




08 การฝึกสมาธิเจริญปัญญา


เดินจงกรมให้เกิดปัญญา





อีกวิธีหนึ่งที่นักภาวนาใช้ในการประกอบความเพียรทางจิต คือการเดินจงกรม การเดินจงกรมนั้น คือการฝึกสมาธิในอิริยาบถเดินนั่นเอง เป็นอิริยาบถที่เหมาะเมื่อนั่งสมาธิพอสมควรแล้ว แต่ต้องการภาวนาต่อ ส่วนมากนักปฏิบัติมักจะสลับการนั่งสมาธิกับการเดินจงกรม อนึ่ง การเดินเป็นอุบายแก้ความง่วงเหงาหาวนอนที่ดี และเหมาะในเวลาฉันอาหารเสร็จใหม่ ๆ หรือยามดึกดื่น

พระพุทธองค์ทรงแสดงอานิสงส์ของการเดินจงกรมว่ามี ๕ อย่าง คือ

๑. อดทนต่อการเดินทางไกล
๒. อดทนต่อความเพียร
๓. มีอาพาธน้อย
๔. อาหารที่ฉัน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มรสแล้วย่อมย่อยไปด้วยดี
๕. สมาธิที่ได้ในขณะเดินจงกรมย่อมตั้งอยู่นาน

ด้วยอิริยาบถแห่งการเดินอย่างเป็นธรรมชาติ การเคลื่อนไหวของร่างกายที่มีสติควบคุมใกล้ชิด และรู้เท่าทันอารมณ์อย่างต่อเนื่องจะทำให้สมาธิมั่นคงเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ความรู้สึกนึกคิดที่ปรุงแต่งออกไปจะเกิดเป็นอุบายทางปัญญาได้อย่างแยบคาย

วิธีเดินจงกรม หลวงพ่อให้กำหนดเส้นทางเดินจากระยะต้นไม้ ๒ ต้น หรือเครื่องหมายอะไรสักอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน ห่างกันราว ๗-๘ วา (๒๐-๓๐ ก้าว) แล้วตั้งใจเดินกลับไปกลับมา โดยมีสติสัมปชัญญะในอิริยาบถแห่งการเดินนั้น สำหรับการทำความรู้สึกในขณะเดินจงกรม หลวงพ่ออธิบายไว้ดังนี้

“ก้าวเท้าขวาออกก่อน ให้พอดี ๆ ให้นึกพุทโธ พุทโธ ตามก้าวเดินนั้น ให้มีความรู้สึกในอารมณ์นั้นไปเรื่อย ๆ ถ้าใจเกิดฟุ้งซ่านหรือเหนื่อยก็หยุด กำหนดจิตให้นิ่ง กำหนดลมหายใจให้สบาย เมื่อสบายพอสมควรแล้ว ก็ทำความรู้สึกกำหนดการเดินอีก ให้มีความรู้ตัวอยู่เรื่อย ๆ ต้นทางออกก็ให้รู้จัก รู้จักหมด ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ทำความรู้สึกให้ติดต่อกันเรื่อย ๆ ขณะที่เราเดินจงกรม บางทีความหวาดความสะดุ้งมันเกิดขึ้นมา เราก็ทวนมันอีก มันเป็นของไม่แน่ ความกล้าหาญเกิดขึ้นมา อันนี้มันก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน ไม่แน่ทั้งหมดนั่นแหละ ไม่รู้จะจับอะไร นี่ทำปัญญาให้เกิดเลยทีเดียว ทำปัญญาให้เกิด ไม่ใช่รู้ตามสัญญา (ความจำ) รู้จิตของเราที่มันคิดมันนึกอยู่นี้ มันคิดนึกทั้งหมด เกิดขึ้นมาในใจของเรานี้แหละ

จะดีหรือชั่ว จะถูกหรือผิด รับรู้มันไว้ อย่าไปหมายมั่นมัน เออ! ทุกข์มันก็เท่านั้นแหละ สุขมันก็เท่านั้นแหละ มันเป็นของหลอกลวงทั้งนั้นแหละ เรายืนตัวอยู่เช่นนี้เลย ยืนตัวอยู่เสมอเช่นนี้ไม่วิ่งไปกับมัน ไม่วิ่งไปกับสุข ไม่วิ่งไปกับทุกข์ รู้อยู่ รู้แล้วจึงวาง อันนี้ปัญญาจะเกิด ทวนจิตเข้าไปเรื่อย ๆ”

“เหนื่อยพอสมควรแล้วก็หยุด ก็ออกจากทางจงกรม ระวังให้มีสติให้ติดต่อ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ให้มีสติอย่างสม่ำเสมอไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งไปบิณฑบาต ไปรับบาตร ไปขบฉันอะไรสารพัดอย่าง ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา การยืน เดิน นั่ง นอน การนอนก็นอนตะแคงข้างขวา เอาเท้าเหลื่อมกันอย่างนี้ กำหนดอารมณ์ พุทโธ พุทโธ จนกว่าจะหลับ อันนี้เรียกว่า การนอนมีสติ”

“เวลาฝนตกไม่มีทางเดินจงกรม เราจะเดินบนกุฏิของเราก็ได้ คือเดินขาเดียว ตั้งขาซ้ายไว้ เอาขาขวาขยับมาข้างหน้า ขยับมาข้างหลังอย่างนี้ ท่านว่าเป็นการเดินจงกรมเหมือนกัน สำคัญอยู่ที่ว่าให้เรามีสติอย่างต่อเนื่อง อย่าให้ขาดวรรคขาดตอน ให้ติดตามรู้ทุกขณะที่ปฏิบัติ”





08 การฝึกสมาธิเจริญปัญญา


นิวรณ์


อุปสรรคเครื่องกางกั้นกีดขวางความสงบของจิตใจในเบื้องต้น พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่านิวรณ์มีอยู่ ๕ ประการด้วยกัน ได้แก่

กามฉันทะ ความพอใจใคร่ในกาม ต้องการกามคุณเป็นเครื่องตอบสนอง
พยาบาท ความคิดร้าย มุ่งร้าย ความขัดแย้งเคืองใจ
ถีนมิทธะ ความสลดหดหู่และเซื่องซึม ง่วงเหงาหาวนอน
อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความร้อนใจวิตกกังวล
วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

ไม่แน่ คือธรรมเครื่องแก้องค์นิวรณ์ ที่หลวงพ่อย้ำเตือนมากเป็นพิเศษ
“เมื่อมันเกิดอะไรขึ้นมาในใจของเรานี่ มันเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา ที่เราชอบใจก็ตาม เราเห็นว่ามันผิดมันถูกก็ตามเถอะ ให้เราตัดมันไปเลยว่า อันนี้มันไม่แน่ จะเกิดอะไรขึ้นมาก็ ช่างมันเถอะ สับมันลงไป ไม่แน่ ไม่แน่ อย่างเดียว ขวานเล่มเดียวสับลงไป ไม่แน่ทั้งนั้นแหละ มันแน่ที่ตรงไหนล่ะ ถ้าเห็นว่ามันไม่แน่ ทุกสิ่งทุกอย่าง ราคามันก็น้อยลง อารมณ์ทั้งหลายมันเป็นของที่ไม่มีราคาแล้ว ของที่ไม่มีราคาแล้ว เราจะเอาไปทำไม”

หลวงพ่อมีเมตตา ให้กำลังใจแก่ผู้ที่กำลังใฝ่หาความสงบว่า
“เราพยายามทำจิตเราให้สงบดีกว่าไม่ทำ ถึงมันไม่สงบแต่มานั่งทำท่าสมาธิอย่างนี้ก็ดีแล้ว วันนี้พูดความจริงให้ฟัง เปรียบว่าเราหิวข้าว มีแต่ข้าว ไม่มีอาหารก็น้อยใจ อาตมาว่ามันดีที่มีข้าวอยู่ มีข้าวเปล่า ๆ ดีกว่าไม่มีข้าวกินใช่ไหม มีข้าวเปล่า ๆ ก็กินไปเถอะ อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น เรารู้จักการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ นิดหน่อยก็ยังดีอยู่”

ท่านให้ผู้ภาวนาตั้งท่าทีทัศนะต่อนิวรณ์ที่กำลังรุมเร้ารบกวนจิตใจอยู่ว่า เป็นครูบาอาจารย์หรือเครื่องทดสอบสติปัญญาของตน มากกว่าที่จะมองเห็นนิวรณ์เป็นตัวศัตรูที่น่าเกลียด อันอาจทำให้เกิดความตึงเครียดเป็น วิภวตัณหา ซึ่งเป็นเหตุให้ความไม่อยากให้นิวรณ์นั้นอยู่ในใจของตนทุกข์เพิ่มทวี





08 การฝึกสมาธิเจริญปัญญา


กามฉันทะ ความใคร่ในกาม


การบรรเทาความใคร่ในกามให้เบาบางลง ต้องใช้หลายวิธีด้วยกัน เพื่อควบคุมการคึกคะนองของจิต สิ่งที่หลวงพ่อเน้นอยู่เสมอ คือการกินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ความเป็นผู้มีอินทรีย์สังวร การเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค นอกเหนือจากนี้คือการใช้อสุภกรรมฐานเป็นอุบายเครื่องแก้

“กามราคะจะบรรเทาลงได้ ด้วยการพิจารณาไตร่ตรองถึงความน่าเกลียดโสโครก การหลงติดอยู่ในรูปกายเป็นสุดโต่งข้างหนึ่ง ซึ่งเราต้องมองให้เห็นสิ่งตรงข้าม จงพิจารณาร่างกายเหมือนซากศพ และเห็นการเปลี่ยนแปลงเปื่อยเน่า หรือพิจารณาอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ปอด ม้าม ไขมัน อุจจาระ และอื่น ๆ จำอันนี้ไว้ แล้วพิจารณาให้เห็นจริงถึงความน่าเกลียดโสโครกของร่างกาย เมื่อมีกามเกิดขึ้น ก็ช่วยให้เอาชนะกามราคะได้




ถ้าเห็นรูปนี้ ชอบรูปนี้เพราะอะไร ก็เอารูปนี้มาพิจารณาดูว่า เกสาคือผม โลมาคือขน นขาคือเล็บ ทันตาคือฟัน ตะโจคือหนัง พระพุทธเจ้าให้เอาพวกนี้มาพิจารณาย้ำเข้าไป แยกออก แจกออก เผามันออก ลอกมันออก ทำอยู่อย่างนี้ เอาอยู่อย่างนี้จนมันไม่ไปไหน มองพวกเดียวกัน เช่น พระเณรเวลาเดินบิณฑบาต เห็นพระ เห็นคน ต้องกำหนดให้เป็นร่างผีตายซาก ผีเดินไปก่อนเรา เดินไปข้างหน้า เดินไปเปะ ๆ ปะ ๆ กำหนดมันเข้า ทำความเพียรอยู่อย่างนั้น เจริญอยู่อย่างนั้น เห็นผู้หญิงรุ่น ๆ นึกชอบขึ้นมา ก็กำหนดให้เป็นผีเปรต เป็นของเน่าเหม็นไปหมดทุกคน ไม่ให้เข้าใกล้ ให้ในใจของเราเป็นอยู่อย่างนี้ ถึงอย่างไรมันก็ไม่อยู่หรอก เพราะมันเป็นของเปื่อยของเน่าให้เราเห็นแน่นอน

พิจารณาให้มันแน่ ให้เป็นอยู่ในใจ อย่างนี้แล้วไปทางไหนก็ไม่เสีย ให้ทำจริง ๆ เห็นเมื่อใดก็เท่ากับมองซากศพ เห็นผู้หญิงก็ซากศพ เห็นผู้ชายก็ซากศพ ตัวเราเองก็เป็นซากศพด้วยเหมือนกัน เลยมีแต่ของอย่างนี้ทั้งนั้น พยายามเจริญให้มาก บำเพ็ญให้อยู่ในใจนี้มากขึ้นอีก อาตมาว่ามันสนุกจริง ๆ ถ้าเราทำ แต่ถ้าไปมัวอ่านตำราอยู่มันยาก ต้องทำเอาจริง ๆ ทำให้มีกรรมฐานในใจเรา”





08 การฝึกสมาธิเจริญปัญญา


พยาบาท


เคยมีพระลูกศิษย์ผู้มีโทสจริตรูปหนึ่ง กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า

“เมื่อผมโกรธควรจะทำอย่างไรครับ”
“ท่านต้องแผ่เมตตา” หลวงพ่อแนะนำ “ถ้าท่านมีโทสะในขณะภาวนาให้แก่ด้วยการแผ่เมตตา ถ้าใครทำไม่ดีหรือโกรธก็อย่าโกรธตอบ ถ้าท่านโกรธตอบท่านจะโง่ยิ่งกว่าเขา จงเป็นคนฉลาด สงสารเห็นใจเขา เพราะว่าเขากำลังเป็นทุกข์ จงมีเมตตาเต็มเปี่ยมเหมือนหนึ่งว่าเขาเป็นน้องชายที่รักยิ่งของท่าน เพ่งอารมณ์เมตตาเป็นอารมณ์ภาวนา แผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลก เมตตาเท่านั้นที่จะเอาชนะโทสะและความเกลียดได้”

“บางครั้งท่านอาจจะเห็นพระภิกษุรูปอื่นปฏิบัติไม่สมควร ท่านจะรำคาญในใจ ทำให้เป็นทุกข์โดยใช่เหตุ นี่ไม่ใช่ธรรมะของเรา ท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่าเขาไม่เคร่งครัดเท่าฉัน เขาไม่ใช่พระกรรมฐานที่เอาจริงเอาจังเช่นฉัน เขาไม่ใช่พระที่ดี นี้เป็นกิเลสเครื่องเศร้าหมองอย่างยิ่งของตัวท่านเอง เอาเปรียบเทียบ อย่าแบ่งเขาแบ่งเรา จงละทิฏฐิของท่านเสีย และเฝ้าดูตัวท่านเอง นี้แหละคือธรรมะของเรา ท่านไม่สามารถบังคับให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติ ตามที่ท่านต้องการ หรือเป็นเช่นท่านได้ ความต้องการเช่นนี้มีแต่จะทำให้ท่านเป็นทุกข์ ผู้ปฏิบัติภาวนามักจะพากันหลงผิดในข้อนี้ การจับตาดูผู้อื่นไม่ทำให้เกิดปัญญาได้ เพียงแต่พิจารณาตนเองและความรู้สึกของตนแล้วท่านก็จะเข้าใจได้”

บางครั้งนิวรณ์ตัวนี้เกิดขึ้นในลักษณะความไม่พอใจ หรือขัดเคืองกับการปฏิบัติของตัวเอง หลวงพ่ออธิบายว่า

“ใจวุ่นวาย ทำไมจึงวุ่นวาย เพราะมีตัณหา ไม่อยากให้คิด ไม่อยากให้มีอารมณ์ ความไม่อยากนี่แหละตัวอยาก คือ วิภวตัณหา ยิ่งไม่อยากเท่าไรมันยิ่งชวนกันมา เราไม่อยาก มันทำไมจึงมา? ไม่อยากให้มันเป็นทำไมมันเป็น? นั่นแหละเราอยากให้มันเป็นเพราะเราไม่รู้จักใจเจ้าของ”








08 การฝึกสมาธิเจริญปัญญา


ถีนมิทธะ ความหดหู่ง่วงเหงา


พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบการถูกนิวรณ์ คือความง่วงเหงาหาวนอนครอบงำจิตว่า เสมือนการถูกกักขังไว้ในเรือนจำ มืดมิดอึดอัด ไม่เป็นอิสระ นิวรณ์ตัวนี้ทำให้นักปฏิบัติจำนวนไม่น้อย ต้องหนักอกหนักใจ แต่อุบายในการแก้ไขความง่วงมีอยู่มากมายหลายวิธี อย่างเช่น อุบายที่หลวงพ่อแนะนำแก่พระรูปหนึ่ง




“มีวิธีเอาชนะความง่วงได้หลายวิธี ถ้าท่านนั่งอยู่ในที่มืด ย้ายไปอยู่ที่สว่าง ลืมตาขึ้น ลุกไปล้างหน้า ตบหน้าตนเอง หรือไปอาบน้ำ ถ้าท่านยังง่วงอยู่อีก ให้เปลี่ยนอิริยาบถ เดินให้มากหรือเดินถอยหลัง ความกลัวว่าจะเดินไปชนเอาอะไรเข้า จะทำให้หายง่วง ถ้ายังง่วงอยู่จงยืนนิ่ง ๆ ทำใจให้สดชื่น และสมมุติว่าขณะนั้นสว่างเป็นกลางวัน หรือนั่งบนหน้าผาสูงหรือบ่อลึก ท่านจะไม่กล้าหลับ ถ้าทำอย่างไร ๆ ก็ไม่หายง่วง ก็จงนอนเสีย เอนกายลงอย่างสำรวมระวัง และรู้ตัวอยู่จนกระทั่งท่านหลับไป เมื่อท่านรู้สึกตัวตื่นจงลุกขึ้นทันที อย่ามองดูนาฬิกาแล้วพลิกไปพลิกมา เริ่มต้นมีสติ ระลึกรู้ทันทีที่ท่านตื่น”

“ถ้าง่วงนอนอยู่ทุกวัน ลองฉันอาหารน้อยลง สำรวจตัวเอง ถ้าอีก ๕ คำจะอิ่ม หยุดแล้วดื่มน้ำจนอิ่มพอดี แล้วกลับไปนั่งดูต่ออีก เฝ้าดูความง่วงและความหิว กะฉันอาหารให้อิ่มพอดี เมื่อท่านฝึกปฏิบัติต่อไปอีก ท่านจะรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นและฉันน้อยลง ต้องปรับตัวของท่านเอง”





08 การฝึกสมาธิเจริญปัญญา


อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ


อุบายของหลวงพ่อในการแก้ไขความฟุ้งซ่านนั้นง่ายจริง ๆ

โยม : ความฟุ้งซ่าน เวลามันเกิดขึ้นมา เราจะแก้ไขด้วยอุบายอย่างไร
หลวงพ่อ : มันไม่ยากหรอก มันเป็นของไม่แน่หรอก ไม่ต้องไปแก้มัน คราวที่ฟุ้งซ่านมีไหม ที่มันไม่ฟุ้งซ่านมีไหม
โยม : มีครับ
หลวงพ่อ : นั่น! จะไปทำอะไรมันล่ะ มันก็ไม่แน่อยู่แล้ว
โยม : ทีนี้เวลามันแวบไปแวบมาล่ะครับ
หลวงพ่อ : เอ๊า! ก็ดูมันแวบไปแวบมาเท่านั้นแหละ จะทำยังไงกับมัน มันดีแล้วนั่นแหละ โยมจะไม่ให้มันเป็นอะไร อย่างไร มันจะเกิดปัญญาหรือนั่น
โยม : มันแวบไป เราก็ตามดูมัน
หลวงพ่อ : มันแวบไปมันก็อยู่นั่นแหละ

เราไม่ตามมันไป เรารู้สึกมันอยู่ มันจะตรงไปไหนล่ะ มันก็อยู่ในกรงอันเดียวกัน ไม่ตรงไปไหนหรอก
นี้แหละ เราไม่อยากจะให้มันเป็นอะไรนี่ พระอาจารย์มั่นเรียกว่าสมาธิหัวตอ ถ้ามันแวบไปแวบมา ก็ว่ามันแวบไปแวบมา ถ้ามันนิ่งเฉย ๆ ก็ว่านิ่งเฉย ๆ จะเอาอะไรล่ะ ให้รู้เท่าทันมันทั้งสองอย่าง วันนี้มันมีความสงบก็คิดว่า มันมาให้ปัญญาเกิด แต่บางคนเห็นว่าสงบนี่ดีนะ ชอบ ดีใจ วันนี้ฉันทำสมาธิมันสงบดีเหลือเกิน แน่ะ! อย่างนี้เมื่อวันที่สองมาไม่ได้เรื่องเลย วุ่นวายทั้งนั้นแหละ แน่ะ วันนี้ไม่ดีเหลือเกิน

เรื่องดีไม่ดีมันมีราคาเท่ากัน เรื่องดีมันก็ไม่เที่ยง เรื่องไม่ดีมันก็ไม่เที่ยง จะไปหมายมั่นมันทำไม? มันฟุ้งซ่านก็ดูมันฟุ้งซ่านไปซิ มันสงบก็ดูมันสงบซิ อย่างนี้ให้ปัญญามันเกิด มันเป็นเรื่องของมันจะเป็นอย่างนี้ เป็นอาการของจิตมันเป็นอย่างนั้น เราอย่าไปยุ่งกับมันมากซิ ลักษณะอันนั้นอย่างเราเห็นลิงตัวหนึ่งนะ มันไม่นิ่งใช่ไหม โยมก็ไม่สบายใจเพราะลิงมันไม่นิ่ง มันจะนิ่งเมื่อไร โยมจะให้มันนิ่ง โยมถึงจะสบายใจ มันจะได้เรื่องของลิงนะ ลิงมันเป็นเช่นนี้ ลิงที่กรุงเทพฯ มันก็เหมือนลิงตัวนี้แหละ ลิงที่อุบลราชธานีก็เหมือนลิงที่กรุงเทพฯ นั่นแหละ ลิงมันเป็นอย่างนั้นของมันเอง ก็หมดปัญหาเท่านั้นแหละ เอาอย่างนี้แหละจะได้หมดปัญหาของมันไป อันนี้ลิงก็ไม่นิ่ง เราก็เป็นทุกข์อยู่เสมอ อย่างนั้นก็ตายเท่านั้นแหละ เราเป็นลิงยิ่งกว่าลิงเสียแล้วกระมัง





08 การฝึกสมาธิเจริญปัญญา


วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย





ความลังเลสงสัย เป็นนิวรณ์ที่มักเป็นอุปสรรคสำคัญของนักปฏิบัติ ที่มีการศึกษาในระดับสูง เพราะการศึกษาทางโลกทำให้คนคิดมากขึ้น รู้จักเปรียบเทียบ วิเคราะห์วิจัย ใช้เหตุผล ซึ่งมีประโยชน์มากในชีวิตประจำวัน แต่โทษที่อาจเกิดขึ้นก็คือ ผู้รู้มากมักสงสัยมาก นักปฏิบัติพวกนี้ตกเป็นเหยื่อของนิวรณ์ตัวนี้ จึงกลายเป็นนักภาวนาจับจด ไม่เอาจริงเอาจัง เพราะไม่แน่ใจว่าถูกหรือผิด แคลงใจว่าวิธีการหรือเทคนิคของตนไม่ถูกจริง สงสัยในอาจารย์ สงสัยในความสามารถของตน วิจิกิจฉาก็เหมือนไวรันที่ทำให้การปฏิบัติหยุดชะงัก เมื่อลูกศิษย์ขี้สงสัยชอบมาถามปัญหากับหลวงพ่ออย่างไม่รู้จักอิ่ม ท่านไม่ตอบคำถาม แต่จะบอกว่า

“ถ้าผมตอบปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ทุกปัญหาของท่าน ท่านก็จะไม่มีทางรู้เท่าทันถึงการเกิดดับของความสงสัยในใจท่าน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านต้องเรียนรู้ที่จะสำรวจตัวท่านเอง สอบถามตัวท่านเอง” และหลวงพ่อเตือนสติว่า

“ปัญหาไม่ได้จบด้วยคำพูดของคนอื่น แต่มันจบด้วยการกระทำของตัวเราเอง”
“ถ้าเราสงสัยสิ่งทั้งหลายทั้งปวง มันก็ไม่เป็นอันอยู่อันกินหรอก เดี๋ยวก็วิ่งไปตามไอ้โน่นบ้าง ไอ้นี่บ้าง ให้เรารู้จักว่าคน ๆ นี้คือคนโกหก เราจับมันไว้ เรื่องอารมณ์มันเป็นอยู่อย่างนี้ เป็นของไม่แน่นอน อย่างยิ่งไปกับมันเลย รู้มันเฉย ๆ อยู่นั่นแหละ ถ้ารู้เช่นนี้ มันจะมีปัญหาอื่นเกิดขึ้นมาอีก เราก็รับรู้สิ่งที่มันเกิดขึ้นมานี้ มันถึงจะสบายใจ ถ้าเราไปวิ่งตามสิ่งที่เราสงสัย มันก็ไม่สบายใจ และมันจะเกิดมากกว่านี้ขึ้นไป ท่านจึงว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่น”

นักปฏิบัติบางคนภาวนาไปแล้วก็สงสัยว่า ตนเองได้ทำไปถึงขั้นไหนแล้ว และบรรลุอะไรหรืออยู่ระหว่างไหน ในขณะทำสมาธิ เรื่องนี้หลวงพ่อชี้แจงว่า

“มันไม่มีป้ายบอกเหมือนทางจะเข้าวัดป่าพงนี้หรอก” แล้วท่านอธิบายต่อว่า
“อย่างผลไม้ผลหนึ่งนะ โยมเอามาถวายอาตมา รสผลไม้มันหวานอาตมาก็รู้จัก มันหอมก็รู้จัก รู้จักทุกอย่าง แต่ว่ามันขาดอยู่อย่างหนึ่ง คือไม่รู้จักชื่อของผลไม้ว่าชื่ออะไร อันนี้ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ของจำเป็นอะไรหรอก ถ้าเรารู้จักว่าชื่อนั้น ๆ มันก็ไม่เพิ่มความหวานขึ้นมาอีก มันก็อยู่แค่นั้นแหละ อันนั้นก็ให้เห็นว่า ถึงเหตุที่ควรจะรู้ก็ให้รู้ แต่ว่าไม่รู้ชื่อของมันก็ไม่เป็นไร รสของมันเรารู้มันแล้ว เช่นว่า เรากำขามันไว้ทั้งสองขา แล้วมันจะไปตรงไหนก็ให้มันไปเถอะ อย่างนั้นจะเป็นชื่อของแอปเปิ้ลหรืออะไรก็ช่าง รสมันเรารู้แล้ว เรื่องชื่อมัน ก็ไม่จำเป็นเท่าไหร่ ถ้ามีใครมาบอกก็รับไว้ แต่ถ้าไม่มีใครมาบอกก็ไม่เดือดร้อน”

อีกโอกาสหนึ่ง หลวงพ่อปลอบใจลูกศิษย์ชาวต่างประเทศซึ่งมักเป็นพวกช่างสงสัยดังนี้

“ความสงสัยนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทุกคนเริ่มต้นด้วยความสงสัย ท่านอาจได้เรียนรู้อย่างมากมายจากความสงสัยนั้น ที่สำคัญคือ ท่านอย่าถือเอาความสงสัยนั้นเป็นตน นั่นคือ อย่าติดข้องอยู่กับมัน ซึ่งจะทำให้จิตใจของท่านหมุนวนเป็นวัฏฏะอันไม่มีที่สิ้นสุด แทนที่จะเป็นเช่นนั้น จงเฝ้าดูความเกิดดับของความสงสัย ของความฉงนสนเท่ห์ ดูว่าใครคือผู้ที่สงสัย ดูว่าความสงสัยนั้นเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร แล้วท่านจะไม่ตกเป็นเหยื่อของความสงสัยอีกต่อไป ท่านจะก้าวพ้นความสงสัยออกมาได้ และจิตของท่านก็จะสงบ

ท่านจะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร จงปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ที่ท่านยังยึดมั่นอยู่ สลัดทิ้งความสงสัยของท่าน และเพียงแต่เฝ้าดู นี้คือที่สิ้นสุดของความสงสัย”






 

Create Date : 27 ตุลาคม 2554
0 comments
Last Update : 31 ตุลาคม 2554 21:33:25 น.
Counter : 1506 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Jจุ้ย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


facebookฝากข้อความได้ครับ
Google

ฟังวิทยุออนไลครับ
ฟังวิทยุออนไลน์ กดที่รูปครับ




หลับฝันดี
๑ หลับคืนนี้ฝันดีนะที่รัก...
หลับตาพักหลับตาฝันถึงวันใหม่...
หลับคืนนี้คนดีฝันถึงใคร...
รู้บ้างไหมฉันตั้งใจฝันถึงเธอ...


Friends' blogs
[Add Jจุ้ย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.