รูปบล็อคนอก
Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2554
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
5 พฤศจิกายน 2554
 
All Blogs
 
อุปลมณี 11 หลวงพ่อกับชาวต่างประเทศ ตอนที่ 1




11 หลวงพ่อกับชาวต่างประเทศ


หลวงพ่อกับชาวต่างประเทศ

เป็นที่ยอมรับกันว่าหลวงพ่อเป็นครูบาอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหาชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะชาวตะวันตก ซึ่งคนไทยทั่วไปเรียกกันติดปากว่า “ฝรั่ง” และก็เป็นที่น่ายินดีที่ลูกศิษย์ฝรั่งของหลวงพ่อ ได้เป็นตัวแทนที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไปยังต่างประเทศ ชาวตะวันตกที่สนใจในการปฏิบัติภาวนา และการบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทวีจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ดังจะเห็นได้ว่ามีสำนักสาขาของวัดหนองป่าพงได้รับการจัดตั้งขึ้นแล้วหลายแห่งในประเทศตะวันตก เฉพาะที่ประเทศอังกฤษมีอยู่ ๔ สาขา สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรลีย และนิวซีแลนด์ อีกแห่งละ ๑ สาขา โดยมีจำนวนพระสงฆ์ทั้งหมดประมาณ ๕๐ รูป และแม่ชีประมาณ ๑๕ คน

ส่วนในประเทศไทยมีวัดป่านานาชาติ ซึ่งเป็นวัดพระฝรั่งวัดแรกที่หลวงพ่อให้จัดตั้งขึ้นที่บ้านบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมุ่งหมายให้เป็นอาวาสสำหรับชาวต่างประเทศที่เข้ามาศึกษาและอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ได้อบรมสั่งสอนกันเองนั้น และก็ได้กลายเป็นสถานที่ดึงดูดความสนใจใคร่รู้ของชาวไทยไปด้วย ในแต่ละวันจึงมีผู้คนทั้งชายไทยและชาวต่างประเทศเดินทางมาขอพักปฏิบัติธรรมอยู่มิได้ขาด บ้างก็มาพักในช่วงสั้นเพียง ๒-๓ วัน เพื่อสัมผัสบรรยากาศพอรู้รสชาติแล้วก็จากไป บ้างก็มาพักเป็นอาทิตย์เป็นเดือนและเป็นปี สำหรับชาวต่างประเทศนั้นมีจำนวนไม่น้อยและนับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่ยุติการเดินทางลง ด้วยการขอบรรพชา อุปสมบท ยอมละทิ้งถิ่นฐานบ้านช่องในต่างประเทศขอพักพิงในประเทศไทย เพื่อมุ่งมั่นแสวงหาบ้านอันแท้จริงของตัวเองต่อไปกระทั่งถึงปัจจุบัน (ปี พ.ศ.๒๕๓๕) มีพระภิกษุ สามเณรประมาณ ๔๐ รูป จาก ๑๕ ประเทศ ได้แก่คานาดา อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมันนี ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส สวีเดน เดนมาร์ค ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อิสราเอล ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย จำนวนพระสงฆ์ที่พำนักอยู่ในวัดป่านานาชาติมีประมาณ ๒๐ รูป นอกนั้นก็ผลัดเปลี่ยนกันไปอยู่ตามสาขาต่าง ๆ ของวัดหนองป่าพงบ้างและออกธุดงค์บ้าง




11 หลวงพ่อกับชาวต่างประเทศ


รับน้อง

พระอาจารย์สุเมโธเป็นพระฝรั่งเพียงรูปเดียวอยู่ที่วัดหนองป่าพงนานถึง ๔ พรรษา จึงมีโอกาสได้ต้อนรับพระรุ่นน้อง โดยในปี พ.ศ.๒๕๑๓ ได้มีชาวอเมริกันอีก ๒ คนเข้ามาบวชศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดหนองป่าพงด้วย แต่อยู่ในช่วงเวลาสั้นราวหนึ่งปีทั้งคู่ก็ลาสิกขาไป ระหว่างที่บวชอยู่ พระรูปหนึ่งคือสุญโญภิกขุ (Jack Kornfield) ได้จดบันทึกคำสั่งสอนอบรมของหลวงพ่อไว้เป็นอันมาก ภายหลังได้นำไปเรียบเรียงและจัดพิมพ์ออกเผยแผ่ ทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา ผ่านการศึกษาธรรมาแล้วหลายสำนัก มีนิสัยหวาดระแวงขี้สงสัย ชอบวิพากษ์วิจารณ์ติเตียนครูบาอาจารย์ต่าง ๆ เว้นแต่หลวงพ่อรูปเดียวเท่านั้นที่เขาคงความเคารพเทิดทูนเอาไว้ หลังจากสึกแล้ว คนนี้กลับไปอยู่กรุงเทพฯ เมื่อได้พบชาวต่างประเทศที่มีความสนใจในพระพุทธศาสนาและกำลังแสวงหาครูบาอาจารย์ เขามักแนะนำให้มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อที่วัดหนองป่าพงเสมอ

นอกเหนือจากคำสั่งสอนและบุคลิกของหลวงพ่อเองแล้ว องค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ดึงดูดชาวต่างประเทศให้ทยอยกันมาสู่สำนักหนองป่าพง และขอบรรพชาอุปสมบทด้วยนั้นก็คือ พระอาจารย์สุเมโธ ซึ่งท่านต้องรับหน้าที่เป็นทั้งล่ามเป็นทั้งพระพี่เลี้ยงแก่ชาวตะวันตก และที่สำคัญต้องเป็นแบบฉบับและตัวอย่างที่ทำให้ผู้มาใหม่มีความหวังเกิดความมั่นใจว่า การดำรงสมณเพศนี้ไม่เหลือวิสัย เหตุนี้เองทำให้พระฝรั่งในวัดหนองป่าพงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ

ต่อมา มีสามเณรชาวอังกฤษชื่อไมเคิลบวชจากอินเดียมาขอกราบคารวะ หลวงพ่อถามสามเณรว่า “พูดไทยได้หรือเปล่า?” สามเณรไมเคิลตอบว่า “ได้นิดหน่อย” ท่านถามต่อไปว่า “บวชจากไหน” สามเณรตอบว่า “บวชมาจากตดใหม่” ฟังกันไม่รู้เรื่องว่าแปลว่าอะไร ต้องหันกลับไปถามพระฝรั่งซึ่งทำหน้าที่ล่ามให้ช่วยถามเป็นภาษาอังกฤษ จึงได้ความว่าบวชมาจากต้นไม้ คือ ต้นศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาอินเดีย หลวงพ่อก็ได้เมตตาให้สามเณรรับศีลใหม่ให้ถูกต้องตามแบบฉบับของไทย




11 หลวงพ่อกับชาวต่างประเทศ


ภาษานั้นสำคัญไฉน

“หลวงพ่อสอนฝรั่งอย่างไร ในเมื่อท่านพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และลูกศิษย์ฝรั่งเองก็ไม่คุ้นกับภาษาไทย” คำถามทำนองนี้มีอยู่เสมอและหลวงพ่อก็มีคำตอบเปรียบเทียบให้ฟังอย่างคมคายว่า

“น้ำร้อนก็มี น้ำฮ้อนก็มี ฮอทวอเตอร์ก็มี มันเป็นแต่ชื่อภายนอก ถ้าเอามือจุ่มลงไปก็ไม่ต้องใช้ภาษาหรอก คนชาติไหนก็รู้ได้เอง”

บางทีท่านตั้งคำถามเอากับพวกช่างสงสัยในเรื่องเหล่านี้ว่า

“ที่บ้านโยมมีสัตว์เลี้ยงไหม อย่างหมาแมว หรือวัวควายอย่างนี้ เวลาพูดกับมัน โยมต้องรู้ภาษาของมันด้วยหรือเปล่า?”

เคล็ดลับในการสอนของหลวงพ่อมีอยู่เพียงประการเดียวและไม่ใช่เรื่องลี้ลับเลย นั่นคือ ท่านสอนด้วยการกระทำ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ภาษามาก ดังที่ท่านชี้แจงให้ฟังว่า

“ถึงแม้มีลูกศิษย์เมืองนอกมาอยู่ด้วยมาก ๆ อย่างนี้ก็ไม่ได้เทศน์ให้เขาฟังมากนัก พาเขาทำเอาเลย ทำดีได้ดี ถ้าทำไม่ดีก็ได้ของไม่ดี พาเขาทำดู เมื่อทำจริง ๆ ก็เลยได้ดี เขาก็เลยเชื่อ ไม่ใช่มาอ่านหนังสือเท่านั้นนะ ทำจริง ๆ นั่นแหละ สิ่งใดไม่ดีก็ละมัน อันไหนไม่ดีก็เลิกมันเสีย มันก็เป็นความดีขึ้นมา”

การสอนแบบ “พาเขาทำเอาเลย” นี้ บางทีหลวงพ่อก็เปรียบเทียบให้ฟังว่า “ไม่ยากหรอก ดึงไปดึงมาเหมือนควาย เดี๋ยวมันก็เป็นเท่านั้นล่ะ”

จุดเด่นและจุดอ่อนของมนุษย์เรามักจะอยู่ในที่เดียวกัน สำหรับพระฝรั่งส่วนใหญ่ที่มามอบตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อ จุดนั้นอยู่ที่ความสงสัย หลวงพ่อจึงมีลูกศิษย์ช่างซักช่างถามอยู่หลายรูป

“เมื่อเราทำให้เขาหยุดได้ เขาก็มองเห็นข้างหลังถนัดเลยฝรั่งเหล่านี้ แต่ครั้งแรกก็เปลืองอาจารย์นิดหน่อย อยู่กับอาจารย์ที่ไหนก็ต้องถามทั้งนั้นแหละ ก็คนไม่รู้จักนี่ ต้องถามจนกว่าหมดสงสัยนั่นแหละ ไม่มีอไรจะถามถึงหยุด ไม่ยังง้นก็วิ่งตลอดเวลา...มันร้อน...”




11 หลวงพ่อกับชาวต่างประเทศ


สี่บาทห้าสิบหรือจะกลัว



ในจำนวนพระชาวต่างประเทศที่มาบวชในสมัยนั้น มีชาวญี่ปุ่นรูปหนึ่งนามเดิม มิตซุโอะ ซิบายาชิ ซึ่งคนไทยออกเสียงยากหน่อย หลวงพ่อจึงจับเค้าชื่อเก่ามาเรียกใหม่ว่า “ท่านสี่บาทห้าสิบ” หลังจากได้ผ่านการฝึกอบรมเป็นสามเณรนานพอสมควรแล้ว ในหน้าแล้ง พ.ศ.๒๕๑๘ “สี่บาทห้าสิบ” ได้กลายเป็นพระต่างประเทศรูปแรกที่ได้อุปสมบทโดยมีหลวงพ่อเป็นพระอุปัชฌาย์ แล้ววันนั้นได้รับฉายาใหม่ว่า คเวสโก

ปัจจุบันนี้ พระอาจารย์คเวสโกรับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุนันทวนาราม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี (สาขาสำรองที่ ๔ ของวัดหนองป่าพง) ท่านได้พูดถึงความรู้สึกของท่านในวันแรกที่มาถึงวัดหนองป่าพงว่า

“พอดีพระภิกษุสามเณรกำลังเดินออกบิณฑบาตเห็นท่านเดินเป็นแถวอย่างสำรวมระวังก็รู้สึกประทับใจ ตรึงตาตรึงใจมองดูแล้วก็สวยงามจริง ๆ เลยทีเดียว เป็นภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จากนั้นก็เดินเข้าไปในบริเวณวัด ไปพบทางเดินที่สะอาดเรียบร้อย เดินสบาย ไม่มีกิ่งไม้ ใบไม้เป็นที่รกตา ทำให้ประทับใจมากยิ่งขึ้น คิดว่าพระอาจารย์เจ้าอาวาส ต้องเป็นพระที่ดี มีระเบียบวินัยเคร่งครัดจริง ๆ”

ก่อนมาสู่สำนักวัดหนองป่าพง พระอาจารย์คเวสโกเป็นนักท่องเที่ยวผู้มีประสบการณ์ชีวิตโชกโชน หลังจากท่านได้เดินทางไปอยู่ประเทศเนปาลหลายเดือนกับเพื่อนนักปีนเขา ต่อมาได้ไปเที่ยวประเทศอินเดีย ที่อินเดียท่านได้มาสนใจในศาสนาตะวันออกเป็นครั้งแรก และเริ่มฝึกสมาธิในสำนักของพวกโยคี ในที่สุดเมื่อวีซ่าหมดอายุแล้ว ไม่อาจอยู่ในประเทศอินเดียได้ต่อไป จึงตัดสินใจเดินทางมาประเทศไทย เพื่อศึกษาพระพุทธศาสนา

เมื่อได้มาบวชเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อในวัดหนองป่าพงแล้ว พระอาจารย์คเวสโกได้ฟังธรรมเทศนาสั้น ๆ จากหลวงพ่อก็เกิดความประทับใจเป็นอันมาก มีความรู้สึกว่าหลวงพ่อเป็นคนที่มีความพิเศษกว่ามนุษย์ที่เคยพบมา เป็นพระแท้ ๆ จิตใจเป็นทองคำอันบริสุทธิ์มีน้ำหนักมีค่างวด ทำให้พระอาจารย์คเวสโกทุ่มเทความตั้งใจทั้งหมดไว้ที่วัดหนองป่าพง และท่านยังจำธรรมเทศนาที่ประทับใจครั้งนั้นได้ดี หลวงพ่อสอนว่า

คนเรามันโง่หลาย เที่ยวตามเงาของตัวเองเสียเป็นส่วนมาก ถ้าหากว่าเรารู้จักตามหาจิตใจของเรา เหมือนกับตามหาแนวอื่น ๆ ป่านนี้เราก็ไปไกลแล้ว คนเรานี่หลงทาง จิตใจโหดร้ายก็ไม่รู้สึกตัว จิตใจเป็นทุกข์เดือดร้อนก็ไม่รู้จัก มันมัวแต่เสริมต่อเอาของไม่ดีใส่ตัวเราอยู่เรื่อย ๆ ฉะนั้น วัดหนองป่าพงจะเป็นที่ขจัดกวาดเอาของไม่ดีออกจากจิตใจ ใฝ่หามองดูใจตัวเองตลอด นั่งสมาธิ เดินจงกรม สวดมนต์ไหว้พระ นี่เป็นหลัก ต้องทำอย่างนี้ทุก ๆ คน

และหลวงพ่อให้กำลังใจต่อการปฏิบัติธรรมว่า

“สี่บาทห้าสิบไม่ต้องกลัวหรอก มันยังมีตา มีแข้ง มีขา มีมือ อวัยวะต่าง ๆ ทุกสิ่งทุกส่วนพร้อมอยู่แล้ว รับรองว่าต้องปฏิบัติได้ ต้องมีประโยชน์ให้บ้างไม่มากก็น้อย การแนะนำเป็นเพียงลมปาก ตัวหนังสืออ่านแล้วก็แล้วไป สู้ปฏิบัติเลยไม่ได้ ลงมือเดี๋ยวนี้แหละ จะเกิดความจริง จะพบสิ่งที่ดีแน่นอนได้ นี่เองจะได้พบคำสอนของพระพุทธเจ้า...”

ยิ่งอยู่ไปนาน ๆ ความศรัทธาในตัวหลวงพ่อก็ยิ่งเพิ่มพูน เมื่อมีโอกาสได้อุปัฏฐากหลวงพ่อ เวลาที่ท่านอาพาธ พระอาจารย์คเวสโกก็ทำหน้าที่พระอุปัฏฐากด้วยความรู้สึกกตัญญูรู้คุณเต็มเปี่ยม

“หลวงพ่อเหมือนพ่อแม่ เราควรพร้อมที่จะตายแทนท่านได้ ท่านให้อะไร ๆ แก่เราหลายอย่าง ถ้าจะพูดอย่างไทย ๆ ก็คือชุบชีวิตใหม่ให้แก่เรา เหมือนเรากำลังถูกบ่อทรายดูด กำลังจะกลืนชีวิตของเราให้จมลงไปทีละน้อย ๆ แต่แล้ว หลวงพ่อก็ยื่นมือคว้าตัวเราไว้ ดึงให้ขึ้นไป ให้พ้นความตายนั้น แค่สนองตอบเท่านี้จึงคิดว่ามันเล็กน้อยเกินไป...”





11 หลวงพ่อกับชาวต่างประเทศ


ลูกศิษย์ฝรั่งรูปแรก




มีคนถามหลวงพ่อเช่นเดียวกันว่า ได้เคยทำความรู้จักมักคุ้นกับชาวต่างประเทศมาตั้งแต่ครั้งไหนและอย่างไร เขาจึงได้พากันมาสมัครเป็นลูกศิษย์ลูกหามากมายเช่นนี้ แท้ที่จริงหลวงพ่อรู้จักฝรั่งจากหนังที่ท่านเคยดูสมัยเป็นเด็กเท่านั้นเอง ซึ่งท่านได้เล่าถึงสายใยในเรื่องนี้ว่า

“มันมีนิมิตอยู่ ฝรั่งมาวัดหนองป่าพงมันเป็นนิมิต ตั้งแต่เป็นเด็กไม่กี่ปีหรอก เคยไปดูหนังกับเขา แล้วก็เห็นฝรั่งสูบยาตัวยาว ๆ ดูแล้วก็คิดสนใจ เอ! คนอะไรน้อตัวใหญ่ร่างใหญ่เหลือเกิน ยังติดตาติดใจมาตลอดทุกวันนี้ อันนี้จึงมีพวกฝรั่งมาเยอะ อันนี้พูดเป็นเหตุมันมีปรากฏอยู่นะ ต่อมาก็พอดีสุเมโธมาเลย เหมือนสุเมโธน่ะแหละ...จมูกยาว ๆ พอเห็น อื้อ! พระรูปนี้มันเป็นฝรั่งเว้ย เราเคยเห็นอยู่ในหนังเลยเล่าให้สุเมโธฟัง มันเป็นเหตุมันเป็นปัจจัย ยังงั้นมันถึงมีญาติฝรั่งมาก ทั้งที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ว่าฝรั่งยอมมาอยู่ด้วย เราก็พยายามฝึกให้เขารู้จักธรรมะตามความพอใจของเรา ถึงแม้เขาไม่รู้จักประเพณีอะไรของไทยก็ช่างมันเถอะ เราก็ไม่ถือ เพราะว่ามันเป็นยังงั้น แล้วก็ค่อย ๆ ช่วยมาเรื่อย ๆ มา อันนี้พูดถึงนิยายมันเป็นยังงั้นมา”

ก่อนจะมาสู่สำนักวัดหนองป่าพง ท่านอาจารย์สุเมโธ อดีตทหารหน่วยเสนารักษ์แห่งกองเรือในสงครามเกาหลี จบการศึกษาด้านเอเชียศึกษา ระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเบิร์คเลย์ คาลิฟอร์เนีย เคยทำงานเป็นอาสาสมัครสันติภาพ (PEACE CORPS) เป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่เกาะบอร์เนียว จากนั้นย้ายมาสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มฝึกปฏิบัติธรรมที่วัดมหาธาตุ จนตัดสินใจเข้าสู่เพศบรรพชิตในที่สุด ท่านบรรพชาอยู่ที่จังหวัดหนองคายเป็นวลา ๑ ปี หลังจากอุปสมบทแล้วไม่นาน ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ท่านก็มีโอกาสได้พบกับพระสมชายลูกศิษย์ของหลวงพ่อซึ่งเดินธุดงค์ไปเขตนั้น และบังเอิญที่พระสมชายพูดภาษาอังกฤษได้ ท่านจึงได้ฟังกิตติศัพท์และเกิดความสนใจในวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดของหลวงพ่อเป็นอย่างมาก จนถึงกราบลาอุปัชฌาย์ของท่านที่จังหวัดหนองคาย เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์ ขออยู่ศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยกับหลวงพ่อที่วัดหนองป่าพง ซึ่งหลวงพ่อก็เมตตารับไว้ แต่ตั้งเงื่อนไขเอากับท่านว่า

“จะมาอยู่กับผมก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าผมจะไม่หาอะไรมาบำรุงท่านให้ได้ตามอยาก ต้องทำตามระเบียบข้อวัตรเหมือนที่พระเณรไทยเขาทำกัน”

ปีแรก ในวัดหนองป่าพงผ่านไปอย่างอบอุ่นเพราะหลวงพ่อให้ความเมตตามาก ทำให้ท่านอาจารย์สุเมโธมีกำลังใจ สามารถอดทนต่อความลำบากขัดข้องต่าง ๆ โดยไม่ท้อถอย แต่พอขึ้นปีที่ ๒-๓ หลวงพ่อก็เริ่มเคี่ยวเข็ญท่านมากขึ้น แถมมีอุบายในการสอนและการทดสอบหลายอย่างหลายประการ ดังเรื่องที่ท่านได้เมตตาเล่าให้ฟังต่อไปนี้

ชี้จุดบอด
เหม็นฝรั่ง
ยอมแล้วครับ
ภาษาไทย ภาษาธรรม
ปฏิบัติกิจ – ปฏิบัติจิต
ทุกข์เอง ขำเอง
เทศน์ครั้งแรกก็...เก่ง
ขัดกิเลสอเมริกัน
ไม่เข้าท่า


11 หลวงพ่อกับชาวต่างประเทศ


ชี้จุดบอด

“...บางครั้งหลวงพ่อจะด่าหรือสบประมาทผมในที่สาธารณะหรือในที่ประชุม ทำให้ผมอายมากแต่ผมก็ทนได้ ผมเฝ้าสังเกตดูความรู้สึกของตัวเองอยู่เสมอแล้วจึงได้รู้ว่า นี่เป็นความกรุณาของหลวงพ่อที่ช่วยเปิดเผยความเย่อหยิ่งถือตัวของเรา มันเป็นจุดบอดที่ปกติเรามักจะมองไม่เห็นหรือมองข้าม แต่ในลักษณะที่ท่านเมตตาต่อเราเช่นนี้ ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนแล้วปล่อยวาง”




11 หลวงพ่อกับชาวต่างประเทศ


เหม็นฝรั่ง

“...บางครั้งหลวงพ่อก็เล่าให้โยมทั้งศาลาฟังถึงเรื่องที่ผมทำไม่สวยไม่งาม เช่น การฉันข้าวด้วยมือแต่เปิบไม่เป็น ขยุ้มอาหารขึ้นมาเต็มกำมือแล้วโปะใส่ปากใส่จมูกเลอะเทอะไปทั้งหน้า ทั้งพระทั้งโยมหัวเราะกันลั่นศาลา ผมนั้นทั้งโกรธทั้งอาย มีอยู่ครั้งหนึ่งเณรไปหยิบผ้าสังฆาฏิของผมมาส่งให้หลวงพ่อ ท่านบอกว่า รู้ทันทีว่าหยิบผิดเพราะมันเหม็น ผมได้ยินเข้าก็เคืองอยู่เหมือนกัน รู้สึกไม่ค่อยพอใจแต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ทนได้ไม่แสดงออกมาเท่าไรก็เพราะความเคารพท่าน หลวงพ่อเลยถามว่า สบายดีหรือ ผมก็ตอบว่า สบายดีครับ แต่ว่าหูแดงคือเราโกรธ อันนี้เป็นอุบายที่ท่านจะสอบอารมณ์เราว่ามีพื้นฐานที่จะรองรับธรรมะได้มากน้อยแค่ไหน อีกอย่างหนึ่งผมเป็นพระฝรั่งรูปเดียในเวลานั้น เป็นจุดเด่นที่ญาติโยมให้ความสำคัญและสรรเสริญอยู่เสมอ พระไทยก็เคารพเพราะผมตั้งใจปฏิบัติเอาจริงเอาจัง บางทีก็มีการอิจฉาริษยาบ้าง เพราะพระฝรั่งย่อมเด่นเป็นธรรมดา แต่หลวงพ่อท่านไม่ลำเอียง พระไทยอยู่อย่างไรพระฝรั่งก็อยู่อย่างนั้น กุฏิก็เหมือนกัน อาหารก็เหมือนกันไม่มีอะไรพิเศษ จะดุด่าว่ากล่าวตักเตือนอะไรก็เป็นเรื่องของพระธรรมวินัยทั้งนั้น ท่านไม่เคยเลือกที่รักมักที่ชัง...”




11 หลวงพ่อกับชาวต่างประเทศ


ยอมแล้วครับ



“... ทุกเช้าเวลาหลวงพ่อกลับจากบิณฑบาตจะมีพระเณรหลายรูปไปรอที่หน้าศาลาเพื่อคอยล้างเท้าท่าน ระยะแรก ๆ ที่ผมไปอยู่ที่วัดหนองป่าพงได้เห็นกิจวัตรอันนี้ทีไรก็ได้แต่นึกค่อนขอดพระเณรเหล่านั้นอยู่ในใจ ล้าเท้าท่านรูปเดียวสองรูปก็พอทำไมต้องไปมากมาย แต่พออยู่นานเข้าผมก็ชักจะเป็นไปด้วย แล้วก็มีอยู่เช้าวันหนึ่ง ก่อนที่จะรู้ตัวว่าอะไรเป็นอะไร ผมก็ปราดเข้าไปอยู่หน้าพระเณรรูปอื่น ๆ เสียแล้ว ขณะก้มลงล้างเท้าถวายท่าเราก็ได้ยินเสียงนุ่ม ๆ เย็น ๆ กลั้วเสียงหัวเราะของหลวงพ่อ พูดอยู่บนหัวเราว่า สุเมโธ ยอมแล้ว บ่...”




11 หลวงพ่อกับชาวต่างประเทศ


ภาษาไทย ภาษาธรรม

“เดือนแรกที่เราอยู่วัดหนองป่าพง มีพระรูปหนึ่งพูดภาษาอังกฤษได้ดีและช่วยเป็นล่ามเราจึงมีโอกาสสนทาธรรมถามปัญหากับหลวงพ่อเกือบทุกวัน แต่ต่อมาพระรูปนั้นจากไป และเราก็ยังพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ หลวงพ่อก็ไม่รู้ภาษาอังกฤษเลยเช่นเดียวกัน แต่ในที่สุดก็ไม่มีปัญหา เพราะหลวงพ่อหลักแหลมมากในการถ่ายทอดธรรมะ มีกุศโลบายเยอะ เมื่อพูดกับเรา ท่านใช้ภาษาที่ง่าย ๆ สั้น ๆ แต่ลึกซึ้งถึงหัวใจ เช่นวันหนึ่งเรากำลังกวาดใบไม้ที่ลานวัด อารมณ์ไม่ดีรู้สึกหงุดหงิด ขัดเคือง นึกเพ่งโทษอยู่ที่วัดหนองป่าพงเจอแต่ทุกข์ พอดีหลวงพ่อเดินมาที่เรา ทานยิ้มแล้วพูดว่า วัดป่าพงทุกข์มาก แล้วเดินกลับ เราจึงสงสัยว่าทำไมหลวงพ่อพูดอย่างนี้ กลับไปกุฏิพิจารณาก็ได้สติว่า ทุกข์ไม่ได้เกิดจากวัดหนองป่าพง แต่เกิดจากจิตใจของเราเอง การตระหนักในเรื่องนี้ช่วยให้เราเลิกเพ่งโทษสิ่งแวดล้อมและคนอื่น หลวงพ่อพูดไม่กี่คำ แต่เป็นคำที่มีอำนาจให้เราน้อมเข้าไปสู่ตัว”





11 หลวงพ่อกับชาวต่างประเทศ


ปฏิบัติกิจ – ปฏิบัติจิต


“...เมื่อแรกมาอยู่วัดหนองป่าพง เรารู้สึกโล่งใจที่หลวงพ่อไม่จำกัดวิธีภาวนา แต่ให้ลูกศิษย์ใช้วิธีที่ถูกจริตนิสัยของตน จุดสำคัญในชีวิตของพระที่วัดหนองป่าพง คือ การปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อวัตรอย่างมีสติสัมปชัญญะ ดูจิตของตัวเองอยู่ตลอดเวลา พิจารณาถึงความรู้สึกยินดียินร้าย เพลิดเพลินเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นในการทำตามข้อวัตรเหล่านั้น เป็นอุบายเปิดเผยโฉมหน้าของกิเลสให้เราได้เห็น เมื่อพิจารณาถึงโทษของมันแล้วก็ปล่อยวางตัวทิฏฐิมานะความยึดติดต่าง ๆ ปฏิบัติอย่างนี้เป็นการดีสำหรับคนอย่างเรา ซึ่งเดิมเป็นคนหมกมุ่นแต่ในเรื่องของตัวเองและยึดมั่นถือมั่นความคิดเห็นต่าง ๆ อย่างมาก รู้สึกว่าการปลีกตัวทำความเพียรรูปเดียว โดยไม่มีการติดต่อกับโลกภายนกอเลยนั้น คงจะไม่ได้ผลดีในที่สุด เราเคยลองมาแล้ว ได้ข่มความคิดไว้ด้วยอำนาจสมรถกรรมฐาน แต่ปัญญาไม่เกิดตาม รู้ไม่ทัน ข้าพ้นความสงสัยไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งระเบียบและข้อวัตรที่หลวงพ่อตั้งขึ้นนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างบรรยากาศของวัดหนองป่าพงให้เป็นสถานปฏิบัติธรรมที่สงบเรียบร้อย ซึ่งช่วยสนับสนุนการทำความเพียรของเราอีกต่อหนึ่ง”

“คำสอนของหลวงพ่อชัดเจนและตรงไปตรงมา ท่านย้ำการพิจารณาอารมณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราจึงหันไปให้ความสำคัญการเฝ้าดูจิตใจของตัวเองอย่างจริงจัง มากกว่าการเพียรพยายามอบรมสมถะในขั้นสูง ๆ ซึ่งสำหรับตัวเรา ล่อแหลมมากกว่าการเก็บกด”





11 หลวงพ่อกับชาวต่างประเทศ


ทุกข์เอง ขำเอง

“...ท่านจะรอให้เราเป็นทุกข์เต็มที่เสียก่อน แล้วจึงพูดหรือแสดงอะไรสักอย่างออกมาให้เราเห็นอารมณ์ของตัวเอง แล้วเกิดความสำนึกขึ้นว่า ความทุกข์นี้ไม่ใช่เกิดจากปัจจัยภายนอกแต่เป็นปัญหาที่เราสร้างขึ้นมาเอง บ่อยครั้งที่ท่านพูดพลางหัวเราะพลาง แล้วเราก็สามารถขำตัวเองได้ด้วย”

อีกวิธีหนึ่งที่หลวงพ่อใช้บ่อยในการฝึกลูกศิษย์ก็คือ การให้ขึ้นธรรมาสน์เทศน์โปรดญาติโยม แม้ว่าพระรูปนั้นจะยังอ่อนพรรษาและประสบการณ์ก็ตาม เพราะนอกจากจะเป็นการฝึกให้เกิดความมั่นใจในตัวเองแล้ว ยังเป็นการทดสอบลูกศิษย์อีกทางหนึ่งด้วย ท่านอาจารย์สุเมโธก็เช่นกัน แม้จะเป็นพระฝรั่งพูดไทยยังไม่คล่องหลวงพ่อก็จัดให้ขึ้นธรรมาสน์





11 หลวงพ่อกับชาวต่างประเทศ


เทศน์ครั้งแรกก็...เก่ง

“...ครั้งแรกที่หลวงพ่อนิมนต์ขึ้นเทศน์ เราก็รับปากว่าจะเทศน์ แต่ในที่สุดก็ต้องของดเพราะมีความวิตกกังวล กลัว ประหม่าและเครียดมาก ก็เลยต้องไปขอตัวกลับหลวงพ่อ แต่นี้ก็เป็นสิ่งที่เตือนให้เรารู้ว่า ไม่วันใดวันหนึ่งข้างหน้าเราต้องโดนจับขึ้นธรรมาสน์อีกแน่ ต่อมาคณะศรัทธาอำเภอม่วงสามสิบได้มาถวายป่าไม้ให้จัดสร้างเป็นวัด (ซึ่งปัจจุบันก็คือวัดป่าวิเวกธรรมชาน์) เขานิมนต์หลวงพ่อไปดูที่ ท่านอาจารย์มหาอมรกับผมก็ได้ติดตามไปด้วย เมื่อไปดูที่เสร็จแล้วก็กลับมาประชุมกันที่วัดบ้านในตัวอำเภอม่วงสามสิบ หลวงพ่อก็ประกาศว่า วันนี้จะให้พระสุเมโธขึ้นธรรมาสน์เทศน์โปรดญาติโยม คราวนี้หนีไม่ได้แล้วก็เลยต้องขึ้น แม้ว่าจะเทศน์ไม่ดีเท่าไร แต่ญาติโยมก็ชมว่า พูดเก่ง น่าฟัง ทำให้เรามีกำลังใจขึ้นบ้าง หลังจากนั้นหลวงพ่อก็เริ่มฝึกให้เทศน์ตามโอกาสต่าง ๆ เช่น งานกฐิน งานทอดผ้าป่า ให้เทศน์ช่วงตีสองตีสาม ผมพยายามพูดให้น้อยที่สุด ๒๐-๓๐ นาที แล้วรีบลงจากธรรมาสน์เลย”





11 หลวงพ่อกับชาวต่างประเทศ


ขัดกิเลสอเมริกัน

“...วันหนึ่งที่วัดบึงเขาหลวง หลวงพ่อสั่งให้ผมเทศน์ ๓ ชั่วโมง ห้ามลงก่อนหมดเวลา เลยต้องทำตามที่ท่านสั่ง พูดไปเรื่อย ๆ หยุดแล้วตั้งต้นใหม่หลายครั้ง จนไม่รู้จะเอาอะไรมาพูด ภาษาก็ไม่ค่อยคล่อง ผู้ฟังก็นั่งหลับเป็นส่วนใหญ่ อันนี้ถือเป็นความเมตตาของหลวงพ่อ เพราะการทำอย่างนั้นช่วยแก้กิเลสได้ดีเทียว เนื่องจากขัดกับนิสัยของชาวอเมริกันเรา ซึ่งมีอัตตาสูง ความเชื่อมั่นในตัวเองมีมาก เวลาขึ้นธรรมาสน์ก็อยากจะเทศน์ให้น่าฟัง อยากให้ทุกคนฟังด้วยความตั้งใจ แต่ถ้าท่านใครง่วงนอนหรือไม่ตั้งใจฟังก็อยากจะหยุดพูดทันที เป็นเพราะจิตใจเรายังมีความหวั่นไหวกับโลกธรรมอยู่”





11 หลวงพ่อกับชาวต่างประเทศ


ไม่เข้าท่า

“...การจัดให้ลูกศิษย์ขึ้นเทศน์นี้หลวงพ่อมีกติกาอยู่หนึ่งคือ ห้ามเตรียมตัวเตรียมเนื้อหาของเรื่องที่จะเทศน์ แต่ให้แสดงออกถึงสิ่งที่มีอยู่ในใจขณะนั้น ท่านสอนไม่ให้หวังอะไรจากการเทศน์ ไม่ใช่พูดเพื่อให้คนนับถือ หรือเกิดความชอบใจซาบซึ้ง ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้มีอัตตาแอบเข้าไปในการแสดงธรรม

...มีอยู่ครั้งหนึ่งผมดื้อมาก เตรียมคำเทศน์ไว้ก่อนอย่างละเอียด ล้วนแต่เรื่องดี ๆ ทั้งนั้น เมื่อเทศน์จบผมก็หลงภูมิใจตัวเองว่าเทศน์ได้ดีมาก แต่พอลงจากธรรมาสน์เข้าไปกราบหลวงพ่อ ท่านทำหน้าขรึมแล้วก็ดุว่า ไม่เข้าท่า อย่าทำอย่างนี้อีกต่อไป..."










Create Date : 05 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2554 15:18:51 น. 0 comments
Counter : 1087 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Jจุ้ย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


facebookฝากข้อความได้ครับ
Google

ฟังวิทยุออนไลครับ
ฟังวิทยุออนไลน์ กดที่รูปครับ




หลับฝันดี
๑ หลับคืนนี้ฝันดีนะที่รัก...
หลับตาพักหลับตาฝันถึงวันใหม่...
หลับคืนนี้คนดีฝันถึงใคร...
รู้บ้างไหมฉันตั้งใจฝันถึงเธอ...


Friends' blogs
[Add Jจุ้ย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.