Terrible Twos มาทำความเข้าใจกับเจ้าวายร้ายวัยสองขวบกัน
วันนี้เจนขอเขียนในฐานะแม่ที่เคยเป็นเด็กสองขวบ แม่ที่เคยมีลูกวัยสองขวบ

สิ่งที่เจนเขียนมาจากประสบการณ์ส่วนตัว การศึกษา และการพูดคุยกับผู้ที่มีความรู้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนตัวยอมรับว่าด้านพฤติกรรมเด็กเล็กนั้นไม่ใช่ด้านที่ถนัดและมีประสบการณ์โดยตรงสักเท่าไหร่

หนึ่งในคำถามที่เจนได้รับบ่อยที่สุดคือ ลูกช่วงใกล้ๆสองขวบไปจนถึงสี่ขวบ ดื้อ งอแง พูดไม่รู้เรื่อง ไม่พอใจก็กรี้ด ก็วีน ก็ลงไปดิ้น จะทำยังไงดี


ก่อนอื่นอยากอธิบายให้เข้าใจว่า เมื่อเด็กอายุสองขวบสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์กับความรู้สึกจะเติบโตเร็วกว่าส่วนที่ควบคุมเรื่องเหตุและผลและจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆจนกระทั่งเด็กอายุสี่ขวบส่วนที่ควบคุมเรื่องเหตุและผลถึงจะตามทัน

เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กวัยสองถึงสี่ขวบจะดื้อ ซน พูดไม่รู้เรื่อง (ทฤษฎีบางอันถึงขนาดใช้คำว่าเด็กช่วงนี้มีกระบวนการคิดใกล้เคียงกับสัตว์มากกว่ามนุษย์)



ตรรกะของเด็กวัยนี้ถ้าให้อธิบายก็คงได้ประมาณว่า


ถ้าฉันชอบอะไร มันก็ต้องเป็นของฉัน*

อะไรที่อยู่ในมือฉันก็แปลว่าฉันเป็นเจ้าของ**

อะไรก็ตามที่ฉันคิดว่าฉันเป็นเจ้าของ ก็แปลว่าฉันเป็นเจ้าของ***

ตอนฉันเล็กกว่านี้ฉันร้องไห้ ฉันดิ้นไปดิ้นมา เพราะอยากดูดนม อยากให้เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ แม่ก็รีบมาโอ๋มาทำให้

แล้วตอนนี้ฉันอยากได้อะไรแล้วฉันก็ใช้วิธีการแบบเดิม แต่ทำไมกลับมาดุมาตีฉันละ

ฉันทำผิดอะไร ฉันไม่เห็นจะเข้าใจ ฉันดื้อฉันงอแงตรงไหนแล้วดื้อกับงอแงหน้าตามันเป็นยังไงแล้วมันกินได้หรือเปล่า

(*,**,*** อ้างอิง Toddler Laws of Ownership)


การสอนเด็กในวัยนี้บอกเลยว่าต้องใช้แนวทางการสอนที่แตกต่างจากเด็กช่วงวัยอื่น

สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากให้เข้าใจคือ เด็กก็คือเด็ก เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวน้อยๆและไม่ใช่ผู้ใหญ่ย่อส่วน

ส่วนตัวขอแนะนำบางสิ่งเล็กๆน้อยๆจากประสบการณ์ของตัวเอง และเจนเข้าใจดีว่าวิธีที่ใช้ได้ผลกับเด็กคนหนึ่งไม่ได้ผูกพันธ์อันใดเลยที่จะใช้ได้ผลกับเด็กคนอื่นๆเสมอไป



==น้ำเสียง คำพูด และโค้ดลับ==

ปกติเวลาพูดกับลูกเจนจะใช้น้ำเสียงที่อ่อนโยน แต่เมื่อไหร่ที่ต้องดุหรือต้องปรามเจนจะเปลี่ยนมาใช้น้ำเสียงที่แข็ง แข็งพอที่จะทำให้ลูกรู้สึกได้ถึงความไม่พอใจ(แต่ไม่ถึงขั้นต้องตวาด)

เด็กวัยสองถึงสี่ขวบนั้นแยกแยะคำพูด คำชม คำตำหนิไม่ได้มากสักเท่าไหร่ แต่เด็กจะไวต่อระดับของน้ำเสียงที่แตกต่างออกไปมากกว่า

ถ้าคุณต้องการดุลูกคุณต้องใช้น้ำเสียงที่แข็งพอให้ลูกรู้สึกได้ ถ้าคุณใช้ระดับน้ำเสียงเดียวกับที่พูดทั่วไป โอกาสที่เด็กจะเข้าใจยิ่งน้อยลงไปอีก

อีกอันนึงที่เจนใช้กับน้องอิ๊กคือโค้ดลับ ปกติเวลาเรียกลูก เจนก็จะเรียกลูกบ้าง อิ๊กบ้าง น้องอิ๊กบ้าง แต่เมื่อไหร่ที่เจนเริ่มไม่พอใจหรือคิดว่าลูกทำตัวไม่น่ารัก เช่น เล่นเสียงดัง โวยวาย บอกให้อาบน้ำแล้วไม่ไป เจนก็จะเรียกชื่อจริงเขา เจนใช้วิธีนี้ตั้งแต่ลูกสองขวบจนขึ้นมัธยม แล้วลูกก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า ถ้าเมื่อไหร่แม่เรียกชื่อจริงแปลว่า แม่เริ่มใช้ความอดทนแล้วนะ แม่เริ่มไม่พอใจแล้วนะ

ข้อดีอีกอย่างของวิธีนี้ที่เจนคิดคือสามารถนำไปใช้นอกบ้านหรือเวลาที่มีคนอื่นอยู่ด้วยได้ โดยที่ไม่ทำให้ลูกเสียหน้าแต่ประการใด



==ไม่ได้ของเล่นแล้วลงไปร้องไห้ ทำยังไงดี==

ลูกร้องไห้อยากได้ของเล่นในห้างแล้วลงไปโชว์สเต็บกับพื้น จะทำยังไง บางคนก็ตี บางคนก็เดินหนี

การตีนั้นอาจหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กได้ก็จริงแต่จะเป็นการปลูกฝังความก้าวร้าวในจิตใจ และที่สำคัญต้องบอกว่าเด็กวัยนี้ตีให้ตายเด็กก็ไม่เข้าใจว่าตัวเองทำอะไรผิด

ส่วนการเดินหนี เจนคิดว่าเป็นวิธีที่ยอมรับได้วิธีหนึ่ง แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าอาจจะสร้างปมในใจให้เด็กกลัวการถูกทอดทิ้งหรือเปล่า

เพราะฉะนั้นอยากให้ลองอีกวิธี วิธีนี้คือเมื่อไหร่ที่ลูกอยากได้ของเล่นแล้วร้องไห้ โวยวาย บอกดีๆ พูดดีๆก็ไม่สนใจ เจนจะอุ้มลูกไปที่นอกห้างหรือลานจอดรถแล้วบอกลูกว่าจะพากลับเข้าไปก็ต่อเมื่อลูกหยุดพฤติกรรมเหล่านั้น แต่ถ้าพากลับเข้าไปแล้วยังเป็นอีกก็จะพาออกมาใหม่ ทำแบบนี้แค่สองสามครั้ง ลูกจะรู้ทันทีว่าถ้าร้องไห้โวยวาย ของเล่นจะไม่มีทางได้ แล้วยังต้องไปร้อน ไปอบอ้าวนอกห้างอีกต่างหาก

ปกติเจนไม่ใช่คนใจแข็งโดยเฉพาะกับเด็ก แต่สำหรับเรื่องนี้บอกเลยว่าต้องใจแข็งเพราะถ้าคุณยอมครั้งแรกแล้วเด็กจำได้ ครั้งต่อไปมีตามมาไม่สิ้นสุดแน่ๆ หรือถ้าคุณสงสารจนคิดว่าจะซื้อให้ ถ้าเป็นแบบนั้นก็ต้องให้เด็กหยุดร้องไห้หรือโวยวายก่อนถึงจะซื้อให้ อย่าซื้อให้ในขณะที่เด็กร้องไห้หรือโวยวายโดยเด็ดขาด



==เบี่ยงเบนความสนใจ สอนว่าอันไหนทำได้ทำไม่ได้ ง่ายกว่าสอนให้เข้าใจเรื่องเหตุและผล==

ส่วนตัวเท่าที่รู้สึก เวลาเด็กช่วงวัยนี้งอแง วิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลที่สุดคือเบี่ยงเบนความสนใจ เช่นลูกอยากได้ของเล่นราคาแพง คุณก็ลองทำเสียงเหมือนคุณเจออะไรที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจแล้วเรียกให้ลูกมาดูสิ่งนั้นแทน เช่น "ลูกมาดูลูกบอลยางลูกนี้เร็วสีสวยๆแม่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน" หรือไปเดินในสวนสนุก ลูกอยากกินขนมที่ไม่มีประโยชน์ ก็ลองเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น "หนูเห็นช้างตรงนั้นไหม ตัวเบ้อเร้อเลย เรารีบไปดูกันก่อนดีกว่า ไม่งั้นเดี๋ยวไม่ทันนะ"

การอธิบายเรื่องเหตุและผลให้เด็กช่วงสองถึงสี่ขวบเข้าใจนั้น ไม่ว่าคุณจะอธิบายได้ดีเพียงใด หรือเด็กพยักหน้าว่าเข้าใจ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเข้าใจจริงๆและจะจดจำได้ทุกครั้ง เพราะความเข้าใจของเด็กช่วงวัยนี้นั้นจริงๆอยู่ในขั้นแค่ รับรู้ ว่าสิ่งไหนทำได้สิ่งไหนทำแล้วจะถูกดุ ถูกห้าม ถูกทำโทษ มากกว่าจะเข้าใจในเรื่องของเหตุและผลจริงๆ

ถ้าเปรียบเป็นผู้ใหญ่ก็เหมือนพูดเรื่องแรงม้า เจนเชื่อว่าแทบทุกคนเคยได้ยินคำๆนี้ แต่ส่วนใหญ่ก็รู้แค่ว่าเป็นหน่วยวัดกำลังของรถ ยิ่งมีมากก็ยิ่งทำให้รถเร่งแซงได้ไว แต่ถ้าถามว่าคำนวนยังไง ใครเป็นคนบัญญัติ หนึ่งแรงม้าเท่ากับกิโลวัตต์ สัมพันธ์อย่างไรกับแรงบิด ถ้าไม่ใช่คนที่สนใจหรือเรียนด้านนี้มาเจนว่าน้อยคนนักที่จะตอบได้

เด็กก็เหมือนกันเขาไม่เข้าใจในเหตุผลหรอกว่าทำไมเอามือแหย่ปลั้กไฟไม่ได้ ไฟดูดคืออะไร ตายคืออะไรเด็กไม่รู้ เด็กรู้แค่ว่าถ้าฉันทำแบบนี้แล้วแม่จะไม่พอใจ จะมาดึงมือออก จะโดนดุ หรือจะอะไรก็ว่าไป

ถ้าถามว่าจะสอนเรื่องเหตุและผลได้ไหม บอกเลยว่าสอนได้ถ้าคุณมีเวลาพอ แต่ถ้าเวลามีจำกัดหรือจำเป็นต้องทำให้เด็กเข้าใจในระยะเวลาอันสั้น แนะนำให้สอนว่าอันไหนทำได้ทำไม่ได้ และถ้าทำอย่างนี้แล้วจะได้อะไรก่อนดีกว่า



==ไทม์ เอ้าท์ ใช้ให้ถูกวิธี เด็กจะกี่ปีก็ยังเอาอยู่==

ไทม์เอ้าท์เป็นวิธีหนึ่งที่เจนเห็นชอบและใช้วิธีนี้ทั้งกับลูกตัวเองและเด็กที่ดูแลมาตลอด

ไทม์เอ้าท์นั้นสามารถประยุกต์ใช้ได้กับเด็กหลายช่วงวัยไม่ใช่แค่เด็กสองหรือสามขวบ

จุดประสงค์ของไทม์เอ้าท์คือทำให้เด็กสงบลง และหันกลับมาพิจารณาตัวเอง เพราะอย่างที่รู้กันว่าเวลาคนเราโมโหก็มักจะพูด จะเถียง จะทำ โดยมุ่งหวังแต่ที่จะต้องเป็นฝ่ายชนะ และคิดแต่จะแสดงออกให้คนอื่นรู้ว่าฉันโกรธ ฉันโมโห หรือว่าฉันแน่สักแค่ไหน

กับเด็กที่โตแล้วแนะนำให้แบ่งเวลาไทม์เอ้าท์เป็นสองช่วง ช่วงแรกปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียวในระยะเวลาที่พอจะให้เด็กสงบหรือคิดทบทวนการกระทำของตัวเองได้ ช่วงที่สองค่อยสอนค่อยอบรมโดยให้เด็กฟังอย่างเดียว(ถ้าเด็กต้องการตอบโต้หรืออธิบายให้บอกเด็กว่า ได้ แต่ต้องรอให้แม่พูดจบก่อน)

อย่างน้องอิ๊กตอนสักเจ็ดขวบเธอโมโหแล้วก็เดินลงบันไดแบบกระทืบเท้าและก็ปิดประตูเสียงดัง เจนก็เลยสั่งให้เธอไปนั่งบนเตียงครึ่งชั่วโมงห้ามไปไหน ห้ามพูด ห้ามทำอะไรทั้งนั้น พอผ่านไปสักสิบห้านาทีเจนก็ไปพูดให้ลูกฟังว่า หนูทำแบบนี้มันสมควรไหม หนูโกรธ หนูไม่พอใจได้ แต่เด็กดี เด็กมีมารยาท มีใครเขาทำกันแบบนี้บ้างไหมลูก

กับลูกๆที่โรงเรียนสิบเจ็ดขวบแล้วแต่ยังพูดไม่รู้เรื่องก็โดนไทม์เอ้าท์เหมือนกัน ก็ให้เด็กคุกเข่า จมูกแตะผนัง ปล่อยให้ตากแอร์ไปสักพักใหญ่ๆจนคิดว่าเธอคงพอเริ่มที่จะคิดอะไรได้ แล้วค่อยไปสอนไปอบรม

อย่างล่าสุดก็เรื่องกระโปรงสั้นก็บอกเด็กว่า ครั้งที่หนึ่งกับครั้งที่สองครูเห็นเธอใส่เจ้ากระโปรงตัวนี้ ครูก็เตือนอย่างเดียวไม่ได้ทำโทษอะไรเพราะคิดว่า เธอโตเป็นผู้ใหญ่แล้วพูดดีๆกันน่าจะรู้เรื่อง แล้วตอนนั้นเธอก็ยอมรับว่าตัวเองผิดแล้วก็รับปากว่าจะไม่ทำอีก แต่แล้วก็มีครั้งที่สามจนได้ ในเมื่อเป็นแบบนี้ครูก็ถือว่าเธอมีวุฒิภาวะแค่เด็กก็จำเป็นที่จะต้องทำโทษ และถ้ามีครั้งหน้าอีกครูจะถือว่าเธอมีวุฒิภาวะแค่เด็กอนุบาล เพราะมีแต่เด็กอนุบาลเท่านั้นที่พูดไม่รู้เรื่อง ดื้อ งอแง เอาแต่ใจ และถ้าเป็นแบบนั้นครูก็คงต้องโทรเรียกให้คุณพ่อคุณแม่มารับกลับไปบ้าน ไปอาบน้ำ ปะแป้ง แต่งตัว ใส่เสื้อ ใส่กระโปรงใหม่ให้มันถูกระเบียบแล้วครูถึงจะให้ขึ้นเรียนได้


สุดท้ายอยากบอกว่าจริงๆยังมีข้อแนะนำอีกมากเพียงแต่รู้สึกว่าถ้าเขียนต่อแล้วจะยาวเกินไปกลัวว่าเห็นความยาวแล้วจะท้อใจจนไม่มีใครอยากอ่าน เพราะฉะนั้นขอจบลงเท่านี้ก่อนดีกว่า



เจน



Create Date : 30 กันยายน 2554
Last Update : 30 กันยายน 2554 18:56:28 น.
Counter : 8753 Pageviews.

4 comments
  
ของผมกำลังจะเป็น Terrible 3 ครับ 555
ช่วงนี้เวียนเกล้ามาก

ดีที่ไม่ลงไปดิ้นที่พื้นห้าง

แต่เหมือนกำลังท้าทายพ่อและแม่นิดๆครับ
โดยรวมผมก็ว่าน่าจะพอรับมอืไหว

เพียงแต่ต้องใช้เวลาอธิบายกันยาวเลยครับ


โดย: กะว่าก๋า วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:23:01:25 น.
  
อ่านแล้วรู้สึกดีมากๆค่ะจะเอาไปใช้กับลูกบ้าง2ขวบครึ่งลูกชายออกอาการอย่างนี้เป๊ะเลยขอบคุณค่ะ
โดย: PUME IP: 37.228.105.173 วันที่: 23 พฤศจิกายน 2556 เวลา:21:23:52 น.
  
ตอนนี้ลูกสาวเพื่ง2ขวบค่ะ แต่ดิฉันเป็นคุณแม่มือใหม่เลี้ยงลูกไม่ค่อยเป็น เวลาลูกทำในสิ่งที่ห้ามก็จะรู้สึกงุดหงิดใจ จนพาลตีลูกบ่อยครั้ง และลูกก็จะโต้ตอบด้วยการกรี้ดใส่บ้างตีแม่กลับบ้าง บางครั้งแม่ก็โมโหจนใส่อารมณ์กับลูกหลายครั้งเหมือนลูกจะกลัวนะค่ะ เวลาแม่เป็นแบบนี้ลูกจะร้องให้และเข้ามากอดแม่ไว้แน่นเลย
ตอนนี้กลัวมากเลยค่ะกลัวลูกจะเก็บกด จะพยายามเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกใหม่ค่ะจะเริ่มที่การไม่ตีลูกก่อนค่ะ
โดย: รักลูก IP: 27.55.35.204 วันที่: 20 มีนาคม 2559 เวลา:21:49:50 น.
  
ขอบคุณมากเลยค่ะ เป็นวิธีที่ดีมาก
ปกติจะเป็นคนอารมณ์ร้อย พยายามใจเย็นหลายรอบ บางครั้งก็ทำได้ แต่ถ้าไม่มีเวลารีบไปทำงานจะทำไม่ได้ จะตวาด ตะคอก ดุ ต่างๆ นานา บางครั้งก็ใช้มือตี แต่พอเห็นแล้วก็สงสาร กลับมานั่งคิด รู้สึกผิดกับลูก ไม่อยากทำแบบนั้น สงสารลูก
ต่อไปจะลองใหม่ จะทำอย่างที่คุณเจนแนะนำลองดูค่ะ ขอบคุณมากๆ
โดย: หญิง IP: 110.78.183.179 วันที่: 4 ธันวาคม 2560 เวลา:11:48:23 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

JanE & IK
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 44 คน [?]



Group Blog
กันยายน 2554

 
 
 
 
1
2
3
4
5
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
27
29
 
 
All Blog