สอนลูกให้รู้จักคิดวิเคราะห์ รู้จักแก้ปัญหาและอยู่ในสังคมที่หลากหลายได้อย่างมีความสุข
สอนลูกให้รู้จักคิดวิเคราะห์ รู้จักแก้ปัญหาและอยู่ในสังคมที่หลากหลายได้อย่างมีความสุข

จากประสบการณ์ช่วงที่เจนยังเคยสอนเด็ก (ปัจจุบันดูแลความประพฤติอย่างเดียวไม่ได้สอนมานานแล้ว) ต้องบอกว่า เรื่องทฤษฎี ท่องจำ วิชาการ เด็กไทยแข่งกับใครก็ได้ แต่ถ้าพูดเรื่องความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ การนำองค์ความรู้มาหลอมรวมกันเพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ ก็ต้องบอกอีกเหมือนกันว่าถ้าไปแข่งก็คงได้เป็นตัวเต็งรางวัลปลอบใจ

เจนคิดว่าเด็กไทยไม่ได้โง่กว่าเด็กชาติไหน แต่ขาด "ความคิดสร้างสรรค์" และมีปัญหาอย่างยิ่งในการคิดวิเคราะห์


แม้กระทั่งในเด็กกลุ่มที่ "เก่ง และ ขยัน" พวกเขาก็มีปัญหาเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

ครูต่างชาติเคยเล่าให้เจนฟังว่า เขาแจกชีทเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ที่อาศัยอยู่ในขั้วโลกเหนือ(เป็นภาษาอังกฤษ)ให้เด็กกลับไปอ่านแล้วบอกว่าคลาสหน้าจะให้ทำข้อสอบในเรื่องนี้โดยที่จะมีแค่คำถามกับตัวเลือก(ไม่มีโจทย์ให้อ่านแล้ว)

และเมื่อทดสอบ เด็กกลุ่มที่ "เก่ง และ ขยัน" ตอบคำถามที่เป็นข้อเท็จจริง(สัตว์ปรับตัวโดยการทำอย่างไร , อุณหภูมิในเรื่องอยู่ที่เท่าไหร่, สถานที่ๆผู้เขียนกล่าวถึงอยู่บริเวณไหน ฯลฯ) ได้ถูกหมดหรือเกือบหมด แต่คำถามเชิงวิเคราะห์สามข้อที่ถามว่าผู้เขียนมีความรู้สึกอย่างไรกับสัตว์เหล่านี้(สงสาร หรือ ประหลาดใจ หรือ ชื่นชม), เรื่องนี้น่าจะอยู่ในหนังสือประเภทใด(น.ส.พ. หรือ หนังสือประเภทสารคดี หรือ วารสารทางการแพทย์) , ผู้เขียนน่าจะมีอาชีพใด (สัตว์แพทย์ หรือ นักท่องเที่ยว หรือ นักวิทยาศาสตร์)

เด็กกลุ่มนี้ตอบคำถามสามข้อนี้ได้ถูกเฉลี่ยแค่คนละข้อ แล้วเมื่อคุยกับเด็กแบบเปิดใจ เด็กบ่นว่า "ครูถามนอกเหนือจากที่ให้อ่าน ต่อให้หนูท่องได้ทุกตัวก็ยังตอบไม่ได้" , "หนูจะไปรู้ได้ไงว่ามันควรอยู่ในหนังสือเล่มไหน ก็ครูแจกมาเป็นชีทนี่หนูไม่ได้เป็นคนฉีกมานะ" , "สามข้อนี้คนอ่านมาไม่อ่านมามันก็มีโอกาสมั่วได้ถูกพอๆกันละ" แถมบางคนยังงอนครูด้วยเหตุผลที่ว่า "ถามแบบนี้ ตั้งใจไม่ให้มีคนได้เต็มนี่หน่า"

เห็นได้ชัดเจนว่านี่คือปัญหาของเด็กไทย



จุดอ่อนอีกอย่างคือพวกเขาไม่สามารถสร้างมโนภาพหรือพักความรู้ไว้ในใจแล้วรอให้ความรู้ใหม่เข้ามาเพื่อที่จะหลอมรวมกันเพื่อแก้ปัญหาหรือต่อยอดความรู้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาเจอคำถามที่สลับซับซ้อน คำถามแบบชี้นำ หรือเจอแรงกดดัน พวกเขามักจะพลาดได้อย่างง่ายๆ

เช่น ครูบอกว่าให้ทุกคนวาดภาพในใจถึงสิ่งที่ครูจะพูดหลังจากนี้

ครูถามว่า "นักเรียนโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ไช่ไหมเอ่ย"

นักเรียน "ใช่ค่ะ" โดยพร้อมเพรียงกัน

ครู "แล้วพระจันทร์หมุนรอบโลกถูกต้องไหม"

นักเรียน "ใช่ค่ะ" อย่างไม่ลังเล

ครู "เอาละ คราวนี้ค่อยๆคิดนะ แล้วพระจันทร์หมุนรอบดวงอาทิตย์ด้วยหรือเปล่า"

"ใช่ค่ะ" นักเรียนร้อยละ70ตอบ ส่วนที่เหลือไม่ลิปซิงค์ก็เงียบ

แล้วถ้าถามรายตัวกับเด็กกลุ่มหลัง พวกเขาจะตอบว่า "หนู..คิดว่าคงจะใช่" , "คงอย่างงั้นมั้งคะครู"

แล้วถ้าครูทำเสียงดุๆหน่อย "พระจันทร์มันหมุนรอบโลกไปแล้วๆยังจะหมุนรอบดวงอาทิตย์อีกหรือ คิดหน่อยสิลูก"

เชื่อเถอะร้อยละ 30 ที่ลังเลอยู่แล้วพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงคำตอบอย่างง่ายดาย

หลังจากนั้นพอครูเฉลยว่า "พระจันทร์หมุนรอบดวงอาทิตย์ด้วยนะถูกแล้ว"

แล้วถามต่อว่า "โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ พระจันทร์ก็หมุนรอบดวงอาทิตย์ เพราะฉะนั้นวงโคจรของโลกและวงโคจรของพระจันทร์ก็เหมือนกัน ถูกต้องไหมคะ"

รับรองได้ คุณจะได้ยินเสียง "ใช่ค่ะ" อย่างท่วมท้น

ทั้งๆที่คำตอบของข้อนี้คือ "ไม่ใช่" และถ้าเด็กวาดภาพตามในใจมาเรื่อยๆจะเห็นได้อย่างชัดเจนและง่ายดายว่าคำตอบคือ "ไม่"

รูปประกอบข้างล่างฝีมือน้องอิ๊ก(สาเหตุที่ไม่เอารูปอื่นมาลงเพราะกลัวปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ภาพ ถ้าดูแล้วไม่เข้าใจแนะนำ
https://www.youtube.com/watch?v=W47Wa7onrIQ&feature=related)


ระบบการศึกษาแบบไทยๆเองนั้นก็เป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ แต่เจนคิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่เรายังไม่มีอำนาจมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้นั้นไม่ได้ประโยชน์มากเท่ากับการพูดในสิ่งที่ "ใครๆก็ทำได้"



ถ้าคุณต้องการให้ลูกรู้จักคิดและมีความคิดสร้างสรรค์ คุณต้องปรับวิธีการสอนลูกใหม่ และควรทำตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ

อย่างการเล่านิทานให้ลูกฟัง เมื่อเล่าเสร็จพ่อแม่ส่วนใหญ่ก็จะบอกลูกว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า.....

แล้วถ้าต้องการรู้ว่าลูกเข้าใจหรือตั้งใจฟังแค่ไหน ก็จะถามลูกแต่คำถามประเภท ใครชื่ออะไร ทำอะไร ที่ไหน กับใคร อย่างไร เมื่อไหร่ แล้วตอนจบเป็นยังไง

คำถามเหล่านี้มีประโยชน์แต่ไม่ช่วยให้ลูกรู้จักคิดวิเคราะห์หรือมีความคิดสร้างสรรค์แต่อย่างใด


สมมุติว่าเล่าเรื่องกระต่ายกับเต่า

คุณควรถามลูกใหม่(หรือเพิ่ม)ประมาณว่า

-ถ้าหนูเปลี่ยนตอนจบได้หนูจะเปลี่ยนไหม ถ้าเปลี่ยนจะเปลี่ยนเป็นยังไง

-ถ้าแข่งใหม่หนูคิดว่าใครจะชนะ

-ถ้าหนูเป็นเต่าแล้วต้องแข่งใหม่ หนูจะใช่เล่ห์กลอะไรที่จะเอาชนะกระต่ายได้ (เพราะกระต่ายคงไม่เผลอหลับแบบครั้งที่แล้วแน่ๆ)

-สมมุติว่าหนูเดินผ่านมาแล้วเห็นกระต่ายหลับอยู่ หนูจะช่วยปลุกเจ้ากระต่ายไหม เพราะอะไร

-นิทานเรื่องนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกหนูคิดว่าเพราะอะไร

ส่วนประโยคที่ว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..... แทนที่คุณจะบอกลูกคุณควรให้ลูกเป็นคนบอกแทน

คำตอบของคำถามข้างบนนี้ไม่มีถูกหรือผิด ไม่มีอะไรตายตัวแต่จะช่วยสอนให้ลูกรู้จักคิดวิเคราะห์และมีความคิดสร้างสรรค์



อีกอย่างที่เจนรู้สึกคือพ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยสอนวิธีแก้ปัญหาให้ลูกเมื่อลูกทำอะไรผิดพลาด

เช่น เด็กทำน้ำหกลงบนพื้น พ่อแม่มักจะบ่น ดุ ด่า หรือถ้าใจดีหน่อยก็บอกไม่เป็นไรไปเล่นต่อเถอะเดี๋ยวแม่จัดการเอง แต่ไม่ค่อยสอนลูกถึงวิธีการแก้ไขปัญหา

ส่วนเจนเองถ้าน้องอิ๊กทำน้ำหกเจนจะไม่ว่าลูก แต่จะถามว่าเราควรจะทำยังไงต่อไป เอาไม้กวาดมากวาด เอาผ้าขี้ริ้วมาเช็ด หรือเอาที่ดูดฝุ่นมาดูดดี และเมื่อลูกเลือกคำตอบเจนก็จะอธิบายว่าถูกหรือไม่เพราะอะไร และให้ลูกเป็นคนทำเองเพื่อเป็นการสอนให้ลูกรู้จักรับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำ (เว้นแต่ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่อันตราย เช่น แก้วแตก)



และเมื่อลูกโตขึ้นเจนจะสอนลูกให้เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต เข้าใจความแตกต่าง เข้าใจความรู้สึกคนอื่น เพื่อที่จะอยู่ในสังคมที่หลากหลายหรืออุดมไปด้วยความขัดแย้งได้อย่างมีความสุข

เจนจะสอนว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่ถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว ใช่หรือไม่ใช่

และเวลาที่ถามคำถามอะไรกับใคร เช่น คิดว่าการทำแท้งเป็นบาปไหม , รู้สึกอย่างไรกับนักการเมืองคนนี้ , เปิดบ่อนเสรีดีหรือเปล่า

ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอะไร จงให้ความสำคัญกับคำตอบแค่ร้อยละ 30 ส่วนอีกร้อยละ 70 ให้ตอบตัวเองให้ได้ว่า "อะไรทำให้เขาคิดแบบนั้น" , "ทัศนคติของเขาเป็นทัศนคติที่เป็นกลางหรือเปี่ยมล้นไปด้วยความอิจฉา ริษยาและปมด้อยในวัยเด็ก" และถ้าเป็นแบบนั้นเพราะอะไร , "ถ้าเขาไม่เคยเจอประสบการณ์เลวร้ายแบบนี้ คิดว่าเขาจะยังมีอคติแบบนี้อีกหรือไม่"

หลายต่อหลายครั้งถ้าเรายึดติดแค่ตัวคำตอบ เราจะมองว่าคนที่ตอบไม่ถูกใจหรือไม่ถูกทำนองคลองธรรมเป็นคนไม่ดี เห็นแก่ตัวหรือมีนิสัยที่น่ารังเกียจ แต่เมื่อมองให้ลึกด้วยความเข้าใจจะพบว่าคนกลุ่มนี้มักจะเป็นแค่คนที่หลงผิดหรือถูกเหยียบย่ำจากประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก และน่าสงสารมากกว่าน่ารังเกียจ

การทำแบบนี้จะทำให้ลูกเป็นคนที่เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต ยอมรับความเห็นที่แตกต่างได้ ไม่เป็นทุกข์เพราะคำพูดหรือตัวหนังสือของใคร และอยู่ในสังคมสีเทาๆที่หลากหลายได้อย่างมีความสุข


(บทความนี้เขียนขึ้นจากความรู้สึกและประสบการณ์ไม่ใช่งานวิจัยหรือเอกสารทางวิชาการ คุณพ่อคุณแม่จะคิดเห็นเช่นไรนั้นขอได้โปรดใช้วิจารณญาณตัดสินใจด้วยตัวเอง)



เจน




Create Date : 03 กรกฎาคม 2554
Last Update : 3 กรกฎาคม 2554 14:04:15 น.
Counter : 2481 Pageviews.

3 comments
  
รู้จักโลก
กับเข้าใจโลก

ไม่เหมือนกันจริงๆนะครับคุณเจน
ตอนนี้ระบบการศึกษาของเราส่วนใหญ่
สอนแต่ให้รู้จักโลกครับ


โดย: กะว่าก๋า วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:9:18:58 น.
  
โลกไม่ได้หมุนรอบดวงอาทิตย์อะ
ถ้าเรียนต่อสายวิทย์ก็จะรู้ -,-
โดย: mass IP: 161.200.95.39 วันที่: 29 มีนาคม 2555 เวลา:15:43:46 น.
  
Critical thinking. ทำกันตั้งแต่เริ่มอ่านนิทานให้ลูกฟัง สัก 1-2 ขวบ


ถ้าสื่อสารกันได้ questioning ที่เหมาะสมตามหลักก็น่าจะส่งเสริมสิ่งที่ว่าได้



โดย: Noname IP: 171.97.95.76 วันที่: 31 กรกฎาคม 2557 เวลา:0:24:53 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

JanE & IK
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 44 คน [?]



Group Blog
กรกฏาคม 2554

 
 
 
 
 
1
2
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
3 กรกฏาคม 2554
All Blog