คุณเคยสอนลูกแบบนี้บ้างหรือเปล่า???
คุณเคยสอนลูกแบบนี้บ้างหรือเปล่า???


การอบรมสั่งสอนเด็กนั้นเป็นสิ่งที่ดี จำเป็น และเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของพ่อแม่ เจนคิดว่าคงไม่มีใครปฏิเสธในเรื่องนี้ น่าเสียดายพ่อแม่บางคนไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตามพวกเขาสอนในสิ่งที่เป็นการทำลายลูกโดยไม่รู้ตัวหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คำสอนบางอย่างนั้นทำให้เด็กเข้าใจผิด ทำลายสัญชาตญาณ ขัดขวางกระบวนการคิดของเด็ก จนบางทีต้องบอกว่า "ไม่สอนอะไรเลยอาจจะยังดีเสียกว่า"

ถ้าคุณนึกไม่ออกว่าคือคำสอนประเภทไหน ลองมาดูกัน



== ลูกจะทำอะไรก็ได้ขอแค่อย่าให้ใครเดือดร้อนก็พอ ==

การสอนให้เด็กคิดถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับคนอื่นจากการกระทำของเขาเป็นสิ่งที่ดีเจนเห็นด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าสิ่งนั้นไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนแล้วจะสามารถทำได้ทุกอย่าง

อาจเป็นเพราะพ่อแม่หลายคนไม่มีเวลาหรือไม่รู้จะอธิบายกับลูกยังไง พวกเขาเลยสรุปทุกอย่างที่ควรสอนในชีวิตลูกให้เหลือแค่ประโยคสั้นๆประโยคเดียวคือ "ลูกจะทำอะไรก็ได้ขอแค่อย่าให้ใครเดือดร้อนก็พอ"

"มาสาย อ่านการ์ตูนขณะครูสอน กินขนมในห้อง แต่งตัวตามใจฉัน เล่นกับเพื่อนตอนเข้าแถว แล้วหนูไปทำให้ใครเดือดร้อนหรือไง " หลายครั้งเด็กๆที่เจนดูแลพูดหรือแสดงออกที่สื่อให้เข้าใจได้แบบนี้ เมื่อพวกเขาถูกตักเตือนหรือถูกให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูความน่ารัก เด็กๆพูดราวกับว่าไม่ว่าเขาจะทำอะไร ที่ไหน กับใคร ในโลกนี้ ถ้าไม่ทำให้ใครเดือดร้อนซะอย่างพวกเขาย่อมมีสิทธิทำได้ทั้งนั้นละ

จริงแล้วเด็กๆเหล่านี้มีจิตใจดีและมีนิสัยที่น่ารักหลายอย่าง แต่ขณะเดียวกันพวกเขาไม่เห็นความสำคัญของระเบียบ วินัย ชอบเอาอกเอาใจตัวเอง และเคารพกฏ กติกาเฉพาะข้อที่ถูกใจพวกเขา ซึ่งน่าเสียดายที่ความน่ารักต้องถูกลดทอนลงเพราะแนวความคิดนี้

แล้วเมื่อคุยกับเด็กลึกๆลงไป แนวความคิดนี้ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากพ่อแม่ทั้งสิ้น

ตอนนี้คุณอาจจะบอกว่า ผมไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น ถ้าอย่างนั้นคุณควรสอนลูกว่า "เวลาที่จะทำอะไรหนูต้องคิดก่อนว่าจะทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อนหรือเปล่า" "ถ้าคิดแล้วว่าสิ่งนั้นไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็ยังไม่ได้หมายความว่าจะทำได้เลยทันที ต้องคิดต่อด้วยว่ามันถูกต้องเหมาะสมมากแค่ไหน สิ่งที่จะทำมันขัดต่อกฎ ต่อความรู้สึก หรือธรรมเนียมปฎิบัติใดๆของสังคมที่นั้นหรือเปล่า" เพราะถ้าคุณพูดแค่ว่า "ลูกจะทำอะไรก็ได้ขอแค่อย่าให้ใครเดือดร้อนก็พอ" เด็กส่วนใหญ่จะเข้าใจความหมายแค่ตามนั้นจริงๆ




== ลืมซะเถอะคิดซะว่าหนูไม่ได้ทำ , คิดซะว่าแค่ฝันไป ==

เมื่อเด็กทำผิดในเรื่องร้ายแรง หรือสิ่งที่เขาทำนั้นเกิดผลเสียหายอย่างเลวร้าย พ่อแม่หลายคนมักปลอบลูกด้วยประโยคที่ว่านี้

การสอนให้เด็กคิดว่าเรื่องไม่ดีที่เขาทำผิดนั้นไม่เคยเกิดขึ้นหรือไม่ได้ทำก็คือการสอนให้เด็กไม่มีความรับผิดชอบและขาดจิตสำนึกอย่างสิ้นเชิง

คุณเคยเล่นวิดีโอเกมส์ที่ให้ยิงฝ่ายตรงข้ามให้ตายหรือเคยเล่นตำรวจจับผู้ร้ายตอนเด็กๆไหม คุณรู้สึกผิดไหมเวลาได้ฆ่าฝ่ายตรงข้าม ไม่เลยจริงไหมเพราะสามัญสำนึกบอกคุณว่านั่นเป็นแค่สิ่งสมมุติเป็นแค่การเล่นการแสดง

เมื่อเด็กโตขึ้นพวกเขาจะมีความสามารถแยกแยะสิ่งสมมุติ,ความฝันกับเรื่องจริงได้โดยอัตโนมัติ แต่เด็กที่ถูกสอนให้คิดว่าความจริงเป็นสิ่งสมมุตินั้น เป็นการทำลายกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก

ส่วนเด็กที่โตแล้วแม้จะไม่ถึงขนาดทำให้เด็กไม่รู้สึกผิดเลยแต่ถ้าเด็กเชื่อเช่นนี้เด็กจะรู้สึกผิดน้อยกว่าคนปกติธรรมดามากเวลาที่เขาทำผิด

ถ้าคุณไม่อยากให้ลูกฝังใจหรือรู้สึกผิดไปจนตายกับสิ่งที่เขาทำ คุณควรบอกลูกว่า "จริงอยู่ที่หนูทำผิด แต่การคิดโทษตัวเองซ้ำๆตลอดเวลามันมีประโยชน์อะไรละลูก เก็บเรื่องนี้ไว้เป็นบทเรียนจะได้ไม่ทำผิดซ้ำอีก และจากนี้ไปมองไปข้างหน้าดีกว่าไหม เพราะคนเราต้องมีชีวิตอยู่เพื่ออนาคตไม่ใช่อดีต"



== ไม่เป็นไรหรอกลูกใครๆเขาก็ทำกัน ==

การบอกเด็กว่าเราทำผิดแค่เล็กน้อยไม่เห็นเป็นไรมีคนทำผิดมากกว่าเราตั้งเยอะ ก็เหมือนกับการบอกเด็กว่าการทำไม่ดีอะไรก็ตามเป็นสิ่งที่ยอมรับได้เสมอถ้ายังมีคนที่ทำไม่ดีมากกว่า และนั่นเท่ากับสอนให้เด็กทำเรื่องเลวร้ายมากขึ้นไปเรื่อยๆในตัว เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นเขาย่อมต้องเห็นโลกมากขึ้นและเห็นด้านมืดของโลกมากขึ้นด้วยเช่นกัน ถ้าเขาซึมซับในความคิดนี้เขาก็จะยิ่งทำเรื่องเลวร้ายมากขึ้นๆเป็นลำดับ

สังคมที่มีแต่คนบอกว่า "ถึงฉันจะเลวแต่ฉันก็เลวน้อยกว่าคนอื่นนะ" แล้วก็มุ่งมั่นทำความเลวต่อไป คุณคิดว่าน่าอยู่ไหม และถ้าคุณสอนจนลูกเชื่อแบบนี้ ถ้าสักวันลูกคุณถูกตำรวจจับเพราะไปขโมยของ แล้วเขาบอกคุณว่าทำไมผมต้องติดคุกทีบางคนทุจริตมากกว่าผมเป็นพันเท่ายังไม่ต้องติดคุกเลย คุณจะตอบลูกว่ายังไงกันละ



== ลูกยังเด็กอยู่จะเอาอะไรมากมาย ==

ประโยคติดปากอีกอันที่พ่อแม่ชอบแก้ตัวให้ลูก

ถ้าเด็กทำผิดเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือเพราะไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ เช่นเด็กเล็กๆแซงคิวคนอื่น เจนเห็นด้วยว่าไม่ควรโทษเด็กแต่การไม่โทษเด็กก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องสอนเด็ก

และการแก้ตัวทุกอย่างให้เด็กเมื่อเด็กทำผิดว่า "ไม่เป็นไรหรอกเพราะหนูยังเด็ก" ก็เหมือนสอนว่าเขาเป็นคนที่ไม่มีวันทำอะไรผิดหรือทำผิดมากแค่ไหนก็ไม่ถือว่าผิด แล้วคุณคิดว่าคนที่คิดว่าตัวเองเป็นคนวิเศษที่ไม่มีวันทำอะไรผิดจะระวังตัวระวังการกระทำไปทำไมกันละ

สิ่งที่ควรทำคือสอนเด็กว่าหนูทำแบบนี้ไม่ได้เพราะอะไร บอกเด็กว่า "หนูแซงคิวคนอื่นครั้งนี้แม่ไม่ว่าไม่ทำโทษอะไรหนูเพราะหนูยังไม่รู้ว่าสิ่งนี้ผิด แต่ตอนนี้หนูรู้แล้วใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นห้ามทำแบบนี้อีกนะลูก"




== โทษทุกอย่างทั้งที่เป็นความผิดลูกเอง ==

ลูกเดินชนโต๊ะตีโต๊ะ ลูกหกล้มตีพื้นแล้วบอกลูกว่าแม่จัดการกับสิ่งที่ทำให้หนูเจ็บให้แล้วนะ

ปกติแล้วเมื่อเด็กเดินไม่ระวังชนโต๊ะเจ็บตัว สิ่งนี้จะถูกฝังเข้าไปในความจำของเด็ก เที่ยวหน้าเมื่อเด็กจะเดินผ่านโต๊ะอีก ความเจ็บตัวจากครั้งที่แล้วจะสอนให้เขาระวังตัวมากขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่การสอนแบบนี้คือการทำลายการเรียนรู้จากความจำหรือประสบการณ์ของเขา

คุณเคยได้ยินประโยคนี้ไหม

"คนโง่ไม่เรียนรู้อะไรเลยจากความผิดพลาด คนฉลาดเรียนรู้จากความผิดพลาด คนฉลาดกว่าเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น"

แล้วคุณคิดว่าการสอนแบบโยนความผิดไปให้สิ่งอื่นก็คือการสอนให้ลูกไม่เรียนรู้อะไรเลยจากความผิดพลาดใช่ไหม ผลที่ได้จะเป็นอย่างไรคุณอ่านในประโยคข้างบนอีกทีคงทราบดี นอกจากนั้นแล้วเด็กที่โตมากับการสอนแบบนี้มีแนวโน้มสูงที่โตขึ้นแล้วจะเป็นผู้ใหญ่ที่โทษได้ทุกอย่างนอกจากตัวเอง



== สอนให้ลูกรู้สึกในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง ==

ลูกเอามือไปแตะหม้อร้อนๆบนเตา แล้วเจ็บมือพองร้องไห้ คุณบอกลูกว่าไม่เจ็บๆ ไม่ร้อนสักหน่อย

โดยปกติแล้วสิ่งมีชีวิตทุกอย่างมีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดอยู่ในตัว ลูกๆของคุณก็เช่นกันสัญชาตญาณสอนเรื่องนี้ให้กับเด็กเองโดยอัตโนมัติให้เขาระวังมากขึ้นและกลัวในสิ่งที่ทำให้เขาเจ็บปวด

แต่การสอนแบบนี้เป็นการสอนที่ตรงกันข้ามกับสัญชาตญาณและยังทำให้เด็กสับสนในจิตใจ

และเมื่อเขาเห็นหม้อตั้งอยู่บนเตาอีกครั้งเมื่อเขาอยากลองที่จะแตะมันอีกที แม้สัญชาตญาณจะสอนเขาว่า "อย่านะ เดี๋ยวก็ได้เจ็บอีกหรอก" แต่คำสอนของคุณกลับแทรกเข้าไปในความคิดว่า "แต่แม่บอกว่าไม่ร้อน ไม่เจ็บนี่ เราคิดไปเองมั้ง"

ถ้าสัญชาตญาณชนะก็ดีไปแต่ถ้าไม่ผลเป็นยังไงคุณคงรู้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้คำถามคือ คุณจะสอนในสิ่งที่เป็นการทำลายสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของลูกให้มันได้อะไรขึ้นมาเว้นเสียแต่ว่าคุณอยากให้ลูกมีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดต่ำกว่าคนปกติ

สิ่งที่คุณควรทำคือปลอบเขาโอ๋เขาทายาให้เขาและเมื่อเขาหยุดร้องไห้ค่อยบอกว่า "ถ้าหนูเอามือไปแตะหม้อที่อยู่บนเตา หนูก็จะเจ็บอย่างนี้ละลูก ตอนนี้หนูรู้แล้วจำได้แล้วใช่ไหม ทีหลังหนูก็อย่าทำแบบนี้อีกนะ"



สุดท้าย เจนคิดว่ามีหลายคนสงสัยว่าเมื่อเด็กเจ็บเพราะความซน ความไม่ระวัง พ่อแม่ควรทำยังไงปล่อยให้ร้องไห้ เข้าไปโอ๋ หรือตีซ้ำ

ส่วนตัวเจน เจนบอกเลยว่าถ้าลูกหกล้ม เจนจะดูก่อนว่าลูกรู้สึกยังไง ถ้าลูกลุกขึ้นมาแล้วเดินต่อได้เจนก็จะทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
แต่ถ้าลูกล้มแล้วหันมามอง เจนจะบอกว่าให้ลุกขึ้น แต่ถ้าลูกไม่ยอมลุกหรือร้องไห้ เจนจะเข้าไปโอ๋เข้าไปปลอบ

ในโลกของเด็กเล็กๆพ่อแม่ไม่ได้เป็นแค่พ่อแม่แต่เป็นทุกสิ่งอย่างสำหรับเขา ผู้ใหญ่เวลาเจอเรื่องแย่ๆถ้าเขาไม่อยากบอกพ่อแม่พวกเขายังมีแฟนมีเพื่อนมีญาติแต่เด็กเล็กๆพวกเขาไม่มีใครอีกเลย การที่ความรู้สึกของเขาถูกปฎิเสธความสำคัญ ผลที่ได้ไม่ใช่ความเข้มแข็ง แต่เป็นการขาดความมั่นคงทางจิตใจ เมื่อโตมาเด็กมักจะเป็นคนที่เย็นชา ขาดความเห็นอกเห็นใจหรือไร้ความรู้สึก

การปลอบการโอ๋นั้นไม่ได้ทำให้เด็กอ่อนแอแต่อย่างใด แต่เป็นการทำให้เขารู้สึกว่ามีคนรัก มีคนห่วงใยและรู้สึกว่าตัวเขาเองมีความสำคัญ

ส่วนการจะทำโทษเด็กซ้ำในสิ่งที่พวกเขา "ไม่ได้ตั้งใจทำ ไม่ได้ต้องการให้มันเกิด และไม่มีใครได้รับผลร้ายจากสิ่งนั้นนอกจากตัวเขาเอง"

สิ่งนี้ถ้าเกิดกับผู้ใหญ่ๆมักเรียกว่า "ซวย"

แล้วคุณคิดว่าเราสมควรจะลงโทษซ้ำคนที่ซวยอีกไหมละ



เจน




Create Date : 03 กรกฎาคม 2554
Last Update : 3 กรกฎาคม 2554 13:59:59 น.
Counter : 1493 Pageviews.

1 comments
  
อ่านแล้วนึกถึงคำว่า "พ่อแม่รังแกฉัน" เลยนะครับ
เมื่อเด็กผิดหวัง และล้มเหลวในชีวิตเมือ่ตอนโต
ผมคิดว่าเด็กหลายคนจะนึกถึงประโยคนี้น่ะครับ


โดย: กะว่าก๋า วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:7:56:47 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

JanE & IK
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 44 คน [?]



Group Blog
กรกฏาคม 2554

 
 
 
 
 
1
2
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
3 กรกฏาคม 2554
All Blog