จะทำอย่างไรเมื่อแฟนหรือญาติผู้ใหญ่คอยตามใจให้ท้ายลูก
จะทำอย่างไรเมื่อแฟนหรือญาติผู้ใหญ่คอยตามใจให้ท้ายลูก

ปัญหาหนึ่งที่เจนคิดว่าผู้ปกครองหลายคนได้พบคือแนวทางการเลี้ยงดูลูกของญาติผู้ใหญ่(ปู่ ย่า ตา ยาย ป้า น้า อาฯลฯ)หรือแม้กระทั่งพ่อหรือแม่ของลูกเองนั้นไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน

พูดให้เข้าใจง่ายๆคือ บุคคลเหล่านี้อาจตามใจในสิ่งที่ไม่สมควรตามใจ ให้ท้าย ยินยอมหรือส่งเสริมให้เด็กมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์


เจนขอยกตัวอย่างสักสามกรณี

(1) ลูกเล่นของเล่นเสร็จกำลังจะเก็บใส่ลัง ปู่บอกว่า ไม่ต้องเก็บหรอกเดี๋ยวให้คนรับใช้มาเก็บให้

(2) ลูกวิ่งเล่นแล้วหกล้ม ป้าเข้ามาตีพื้น "นี่แน่ๆ กล้าดียังไงมาทำหลานฉันเจ็บ" ตีคนเดียวไม่พอยังชวนหลานตีพื้นด้วย

(3) พ่อเอาพิซซ่าขึ้นมานอนกินบนเตียง กินไปดูทีวีไปและก็ชวนให้ลูกทำตาม

แน่นอนว่าทางแก้ที่ดีที่สุดคืออธิบายให้คนเหล่านี้เข้าใจและยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่ในความเป็นจริงถ้าเราอยู่บนโลกนี้มานานพอก็จะทราบได้ว่าหลายต่อหลายครั้งทางแก้ที่ดีที่สุดนั้นมักจะเป็นทางที่ทำได้ยากที่สุด และเมื่อเป็นแบบนี้สิ่งที่ดีที่สุดคือทำในสิ่งที่เราพอจะทำได้



ก่อนอื่นเจนจะอธิบายเรื่องการกระทำสิ่งต่างๆให้ลูกเข้าใจโดยแบ่งออกเป็นสามอย่าง

อย่างแรก คือสิ่งที่ต้องทำ ส่วนใหญ่คือสิ่งที่เป็นหน้าที่หรือสิ่งที่เป็นผลดีกับตัวลูกเอง เช่น ตั้งใจเรียน , อาบน้ำ , แปรงฟันก่อนนอน

อย่างที่สอง คือสิ่งที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้แต่ถ้าเลือกที่จะทำก็อาจจะมีข้อกำจัด สิ่งนี้ส่วนใหญ่เป็นคือสิ่งที่ลูกชอบแต่ไม่ค่อยมีประโยชน์แต่ก็ไม่ถึงกับมีผลร้ายเกินระดับที่รับได้ เช่น เล่นวีดีโอเกมส์ (ไม่เกินเวลาที่กำหนด) กินขนม ดื่มน้ำอัดลม (ในปริมาณที่ตกลงกันไว้)

อย่างที่สาม คือสิ่งที่ห้ามทำ คือสิ่งที่เล็งเห็นว่าไม่มีประโยชน์และยังมีแต่ผลร้าย เช่น เล่นปลั๊กไฟ , ขี่จักรยานที่ถนนใหญ่ , โกหก

ถ้าลองพิจารณาดูดีๆจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เด็กมักถูกตามใจหรือยอมให้ทำทั้งๆที่สิ่งนั้นอาจทำให้ลูกนิสัยเสียมักจะเป็นอย่างที่สอง


สำหรับวิธีการแก้ปัญหา

ขั้นแรก

บอกลูกว่าพฤติกรรมด้านบนในข้อ (1) (2) (3) เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำแม้ลูกจะได้รับอนุญาตหรือถูกคะยั้นคะยอให้ทำ

แน่นอนที่ลูกจะตอบคุณกลับมาว่า "ก็คุณปู่บอกเองว่าไม่ต้องเก็บ", "คุณป้าบอกพื้นผิด" , "คุณพ่อยังเอาขึ้นไปกินได้"

อธิบายเรื่องการกระทำสิ่งต่างๆสามอย่าง (ทำได้ , ทำหรือไม่ทำก็ได้ , ห้ามทำ ตามรายละเอียดข้างบน)ให้ลูกฟังอีกครั้ง

บอกลูกว่าพฤติกรรมใน (1)(2)(3) นี้อยู่ในแบบที่สองคือทำหรือไม่ทำก็ได้ (เจนคิดว่าคงไม่มีปู่หรือป้าหรือพ่อคนไหนจะตีลูกถ้าลูกจะเก็บของเล่นเอง ไม่โทษพื้นหรือกินพิซซ่าที่โต๊ะทานข้าว)

แต่ย้ำกับลูกอีกครั้งว่าลูกไม่ควรทำถึงแม้ลูกจะมีสิทธิหรือได้รับอนุญาตให้ทำได้


ขั้นที่สอง

อธิบายเหตุผลให้ลูกฟังว่าทำไมถึงไม่ควรทำ เช่น ในกรณีที่ยกตัวอย่างมา

(1) หนูเล่นของเล่นแล้วไม่เก็บแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบ แล้วถ้าหนูให้คนอื่นเก็บให้เขาอาจเก็บไม่ถูกใจเช่นเอาดินน้ำมันวางทับตุ๊กตา ตุ๊กตาก็จะเลอะ แล้วถ้าพี่(คนรับใช้)ยังไม่มาเก็บเกิดพอดีช่วงนั้นใครเดินผ่านมาก็อาจเหยียบได้ นอกจากของเล่นหนูจะเสียหายแล้ว คนเหยียบก็อาจจะเจ็บตัวอีก

(2) หนูหกล้มเพราะหนูไม่ระวัง ไม่ใช่พื้นผิด แล้วตีพื้นให้ได้อะไรกลายเป็นว่านอกจากเจ็บเข่าแล้วหนูยังต้องเจ็บมืออีก

(3) ถ้าหนูกินแล้วทำหกนอกจากผ้าปูที่นอนจะเลอะแล้ว เศษอาหารยังเป็นตัวทำให้มดหรือแม้กระทั่งแมลงสาบมาเยี่ยมเยือนตอนหนูนอนได้


ขั้นที่สาม

สอนให้เด็กพูดกับบุคคลเหล่านั้นเมื่อเด็กถูกคะยั้นคะยอให้ทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์อีก (พูดแบบไม่ให้มีใครเสียหน้าและโดยปราศจากกิริยาก้าวร้าว)

(1) ขอบคุณคุณปู่นะคะที่จะให้พี่(คนรับใช้)มาช่วยเก็บ แต่หนูว่าหนูเก็บเองดีกว่าเพราะให้คนอื่นเก็บให้แล้วไม่ถูกใจแล้วหนูอยากรับผิดชอบของเล่นของหนูเองเพราะหนูโตแล้ว

(2) หนูหกล้มเพราะหนูไม่ระวังเอง ไม่ใช่ความผิดของพื้น หนูไม่ตีพื้นหรอกเพราะหนูเจ็บเข่าอย่างเดียวก็พอแล้วหนูไม่อยากเจ็บมืออีก

(3) ไม่เอาหรอกเดี๋ยวมด แมลงสาบก็แห่กันมาพอดี หนูว่าคุณพ่อเอาลงมากินข้างล่างดีกว่าไหม หนูไม่อยากโดนมดหรือแมลงสาบกัดเวลานอนนะ


กรณีที่ลูกถามว่าถ้าอย่างงั้นสิ่งที่คุณปู่ คุณป้า คุณพ่อยอมให้ทำมันผิด มันไม่ฉลาด มันไม่ใช่สิ่งที่ดีใช่ไหม แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น "ทำไมพวกเขาถึงยอมหรือคะยั้นคะยอให้หนูทำละ"

เจนจะบอกลูกว่าทุกๆคนรักและหวังดีกับหนูทั้งนั้น แต่ที่บางทีสิ่งที่บุคคลเหล่านั้นทำให้หรือแนะนำให้หนูทำกลายเป็นสิ่งที่ทำให้หนูลำบากหรือเป็นผลเสียกับตัวหนูเองในภายภาคหน้า ทั้งๆที่บุคคลเหล่านั้นมีเจตนาที่ดี ที่เป็นแบบนี้เพราะพวกเขาอาจมองจากคนละมุมหรืออาจจะอยากเอาใจ อยากให้หนูมีความสุขมากๆจนลืมมองข้ามถึงผลเสียที่จะตามมา ซึ่งทั้งหมดนั้นก็ไม่ใช่ว่าความคิดของพวกเขาจะผิด ไม่ดี หรือไม่ฉลาดแต่อย่างใด

เมื่อเจนบอกลูกแบบนี้ น้องอิ๊กก็ทำหน้างงและก็แสดงออกทางสีหน้าว่าไม่เข้าใจ

เจนเลยเล่าให้ลูกฟังว่า คุณแม่เคยไปวัดๆนึง ที่วัดนี้เลี้ยงกระต่ายไว้ในกรงและก็มีป้ายเล็กๆเขียนว่า กรุณาอย่าให้อาหารสัตว์ แต่ปรากฎว่าไม่มีใครสนใจ ใครที่มาวัดก็รักก็เอ็นดูเจ้ากระต่าย พอรถเข็นผลไม้ผ่านมาทุกคนก็พร้อมใจกันซื้อแตงโม แคนตาลูปเอาใส่เข้าไปในกรง ผลคือเจ้ากระต่ายกินไม่เป็น แต่แขกที่ไม่ได้รับเชิญคือมดฝูงใหญ่แห่เข้ามานอกจากจะกินผลไม้แล้วยังกัดเจ้ากระต่ายจนกลายเป็นแผลอีก

"น่าสงสารเจ้ากระต่าย" น้องอิ๊กพูด

เจนบอกลูกว่าใช่ค่ะ และสมมุติถ้าหนูเป็นเจ้ากระต่ายแล้วหนูพูดได้ หนูจะบอกคนที่กำลังจะเอาผลไม้มาใส่กรงไหม

"บอกสิคะ ใครจะอยากโดนมดกัดละ" น้องอิ๊กตอบ

แล้วเจนก็ยกตัวอย่างเรื่องในชีวิตจริงอีกสักสองอย่าง

อย่างแรกคือเวลาไปกินข้าวด้วยกันคุณปู่ก็จะชอบตักนู่นตักนี่ให้น้องอิ๊ก แน่นอนคุณปู่ทำด้วยความปรารถนาดีแต่หลายทีคุณปู่ก็ตักในสิ่งที่หลานไม่กินมาให้ เช่น น่องไก่ (น้องอิ๊กกินแต่อก)

หรืออย่างแฟนเจนเขาจะชอบกอดลูกเวลานอนแต่แฟนไม่ได้กอดแบบทั่วๆไป เวลากอดก็ใช้ทั้งแขนทั้งขา(เหมือนกอดหมอนข้าง)ปัญหาคือขาเขาไม่ใช่เบาๆทับลงมาทีขนาดเจนยังร้องส่วนลูกเจอเข้าก็แทบแบนหายใจไม่ออก (บางคืนลูกต้องปีนหนีไปนอนริมเตียงจากเดิมนอนตรงกลาง)

เจนบอกลูกว่า หนูเข้าใจใช่ไหมว่าคุณปู่ คุณพ่อทำไปเพราะรักหนู แต่สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ได้กลับกลายเป็นตรงกันข้าม

"แต่น้องอิ๊กต่างจากเจ้ากระต่ายตรงที่น้องอิ๊กพูดได้และคิดเป็นเพราะฉะนั้นหนูก็ต้องบอกให้(บุคคลเหล่านั้น)เข้าใจว่าที่หนูไม่อยากทำถึงแม้จะได้รับอนุญาตให้ทำหรือไม่อยากให้ทำแบบนี้กับหนูเพราะอะไร และเวลาที่บอกก็ต้องพูดเพราะๆพูดดีๆด้วยเพราะแม้สิ่งเหล่านั้นหนูอาจจะไม่ชอบหรือไม่พอใจแต่อย่าลืมว่าทุกอย่างที่(บุคคลเหล่านั้น)ทำลงไปก็เพราะรักและปรารถนาดีกับหนู"

และเจนจะบอกลูกและตัวเองว่า เราไม่ควรโกรธหรือไม่พอใจคนเหล่านั้น เพราะแม้พวกเขาอาจจะแสดงความรักอย่างผิดๆแต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะต้อง "ผิด" เพราะเขารักลูก(หรือหลาน)


สุดท้ายเจนเข้าใจดีว่าในหลายกรณีปัญหาเรื่องแบบนี้มีความซับซ้อนและคงไม่ได้แก้ง่ายๆแบบพลิกฝ่ามือเป็นแน่ เพียงแต่หวังว่าบทความนี้อาจพอเป็นแนวทางหรือจุดประกายในการประยุกต์ใช้วิธีการต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหา และที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่จะได้ตอบลูกได้ว่า "ทำไมคุณพ่อให้ทำได้แล้วหนูถึงไม่ควรทำ ถ้าอย่างนั้นแปลว่าคุณพ่อทำไม่ถูกหรือไม่ฉลาดหรือยังไงกัน"

และอย่าลืมว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาเรื่องนี้คือคุณต้อง "ได้ใจ" ลูกก่อนเพราะคำสั่งสอน คำแนะนำ การอธิบายด้วยเหตุและผลที่ดีที่สุดในโลก แต่ถ้ามาจากปากของคนที่เด็กคิดว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้าม สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านั้นก็จะผ่านเลยไปโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลยทั้งสิ้น


(บทความนี้เขียนขึ้นจากความรู้สึกและประสบการณ์ไม่ใช่งานวิจัยหรือเอกสารทางวิชาการ คุณพ่อคุณแม่จะคิดเห็นเช่นไรนั้นขอได้โปรดใช้วิจารณญาณตัดสินใจด้วยตัวเอง)



เจน




Create Date : 03 กรกฎาคม 2554
Last Update : 3 กรกฎาคม 2554 14:05:31 น.
Counter : 1128 Pageviews.

1 comments
  
มีหลายอย่างทีผ่มไม่พึงใจเลย
เวลาคนในครอบครัวทำหรือสอน
แต่ก็เลี้ยงได้ยาก

ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง
คือ หาโอกาสค่อยๆสอนลูกครับ


โดย: กะว่าก๋า วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:9:19:56 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

JanE & IK
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 44 คน [?]



Group Blog
กรกฏาคม 2554

 
 
 
 
 
1
2
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
3 กรกฏาคม 2554
All Blog