Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
14 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
34 ปี 14 ตุลา “หัวใจอยู่ที่การต่อสู้เพื่อเสรีภาพและเสมอภาค”



อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์



รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “มองคนละมุม” สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ FM 100 MHz โดยได้พูดถึงประเด็นครบรอบ 34 ปี 14 ตุลา 16 ย้ำว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ส่งผลต่อการขับเคลื่อนประชาชนอยู่สองสิ่ง คือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและเสมอภาค



0 0 0



เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ผ่านไป 34 ปีแล้ว มีประเด็นและข้อสรุปอะไรบ้าง?

ถ้าเราดูหัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหว 14 ตุลา ซึ่งก็ส่งผลต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ผมคิดว่าหัวใจอยู่ที่การต่อสู้ในสองสิ่ง คือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและเสมอภาค การเคลื่อนไหวของพี่น้องประชาชนและนักศึกษาในปี 2516 หัวใจอยู่ตรงนี้



จากปี 2516 จนถึงเดี๋ยวนี้ เราอาจจะคาดหวังว่าจะมีผลสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันคงเป็นไปไม่ได้ ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็เป็นอย่างนี้เสมอมา มันจะมีช่วงหักโค้งบ้าง ลื่นหกล้มบ้าง เพียงแต่ว่า เราต้องสร้างความหวัง หรือสืบทอดกระบวนการสร้างเสรีภาพและเสมอภาคให้ต่อเนื่องไป



วันนี้คนที่เคยร่วมการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเมื่อปี 2516, 2518, 2535 ส่วนหนึ่งอาจจะเจ็บปวด ก็คงต้องให้กำลังใจกัน และคงต้องบอกว่า ความฝันเพื่อสร้างสังคมที่งดงามด้วยเสรีภาพและเสมอภาคมันคงไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววัน





‘เสรีภาพ’ และ ‘เสมอภาค’ เมื่อเทียบกับตอน 14 ตุลา 2516 เปลี่ยนไปมากไหม

ผมคิดว่าเปลี่ยน ไม่ว่าอย่างไร สังคมไทยได้เคลื่อนจากปี 2516 มามาก จนกระทั่งไม่สามารถที่จะมีใครไปปิดกั้นเสรีภาพและลดทอนความเสมอภาคได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์อีกแล้ว อย่าลืมว่าก่อนปี 2516 เราไร้เสรีภาพและไม่มีความเสมอภาคอย่างแท้จริงเลย แต่วันนี้อย่างน้อยที่สุด เราก็ยังพอที่จะพูดได้ เราก็ไม่ได้ไร้เสรีภาพไปเสียทีเดียว



การรัฐประหาร 19 กันยา (2549) เอาเข้าจริงๆ แล้ว เขาก็ไม่กล้าทำอะไรอีกมากมาย ก็ยังปล่อยเปิดช่องให้เราพูดวิพากษ์วิจารณ์ ให้เรามีเสรีภาพได้มีระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดในทุกวันนี้คือ ประเด็นเรื่องความเสมอภาค ผมคิดว่าเราพัฒนามาน้อยกว่า



ในวันนี้ ประเทศที่เรียกว่าเขตทวีปเอเชียอาคเนย์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยด้วย เรากำลังเผชิญปัญหาใหญ่ที่เรายังไม่เคยเจอมาก่อน เรามี ‘กองทัพคนจน’ ที่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง



ในปี 2516 - ปี 2519 แม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา อาจจะชูประเด็นเรื่องการต่อสู้เพื่อคนจน แต่วันนั้นคนจนยังไม่มีมากมายขนาดนี้ แม้ว่าเราผ่านตุลา 16 มา วันนี้ปัญหาความเรื่อง ‘ความเสมอภาค’ กลับรุนแรงมากขึ้น เรามีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น เรามีคนจนที่ต่ำกว่า Property Line คือต่ำกว่าเส้นระดับความยากจน นี่คือปัญหาใหญ่ ซึ่งถ้าหากเราจะคิดถึงการสืบทอดเจตนารมณ์ 14 ตุลา 2516 ในวันนี้ต้องคิดเรื่องความเสมอภาคให้มากขึ้น การจะคิดถึงความเสมอภาคให้มากขึ้นได้ คนชั้นกลางที่เติบโตมาจากผลพวงของเสรีภาพในช่วงที่ผ่านมาจำเป็นจะต้องคิดถึงคนจนมากขึ้น ต้องคิดถึงว่า ความฝันความหวังของคนจนคืออะไร เราต้องร่วมกันสร้างพัฒนาการทางเศรษฐกิจ





ที่บอกว่า กองทัพคนจน ไม่ว่าในอินโดนีเซียในฟิลิปปินส์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เยอะเหมือนกัน มีปัจจัยอะไรไหมที่ทำให้มีลักษณะคล้ายกัน?

กลุ่มประเทศเหล่านี้ดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจมาเหมือนๆ กัน ก็คือแผนพัฒนาที่มุ่งเน้นทางอุตสาหกรรม โดยได้ละทิ้งภาคการเกษตร ลำดับเวลาก็แตกต่างกัน แต่ทุกประเทศก็จะเดินเหมือนกัน แผนแบบนี้ถูกสร้างและถูกดำเนินการในช่วงที่เผด็จการครองอำนาจทุกประเทศเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น มาคอส ซูฮาโต้ ถนอม ประภาส สฤษดิ์ ทั้งหมดนี้ภายใต้อำนาจเด็ดขาดทั้งนั้น และก็สร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นมามุ่งเน้นอุตสาหกรรม และได้คัดเลือกกลุ่มก้อนพรรคพวกของตัวเองทั้งนั้นเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากแผนพัฒนาอุสาหกรรมตรงนี้ คนอาจจะไม่กี่ร้อยตระกูล กลายเป็นผู้ที่เสพหรือได้ผลประโยชน์ของชาติไป



แผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบนี้ บวกเผด็จการ มันทำให้คนจำนวนไม่มากนักกลายเป็นผู้ที่ดูดเอาทรัพย์ส่วนเกินส่วนใหญ่จากสังคมไปหล่อเลี้ยงตัวเอง นี่คือลักษณะร่วมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมันเป็นปัญหาใหญ่ และปัญหาที่อาเซียนทั้งหมดต้องคิดคือ ร่วมกันแก้ปัญหาคนจนในแต่ละประเทศ สร้างแพทเทิร์นการเรียนรู้ร่วมกัน



ดังนั้นเมื่อเราเห็นปัญหาร่วมอย่างนี้ เราอาจจะพูดถึงอุดมการณ์ 14 ตุลา 2516 ด้วยการขยายไปสู่กลุ่มพี่น้องของอาเซียนทั้งหมด การแก้ปัญหาในอาเซียน น่าจะเป็นบรรทัดฐานได้ ถ้าหากร่วมกันแก้และทำให้ภูมิภาคทั้งหมดเดินต่อไป



การรวมกลุ่มอาเซียนของเราวันนี้ เป็นการรวมกลุ่มเฉพาะกลุ่มทางเศรษฐกิจและเป็นกลุ่มเฉพาะ 3-4 ร้อยตระกูลที่กล่าวมา ไม่เคยลงมาข้างล่าง ดังนั้น เราต้องคิดถึงอาเซียนภาคประชาชน เพื่อให้เราร่วมกันแก้ปัญหาคนจนของเรา นี่มันเป็นปัญหาใหญ่ของเราและเพื่อนๆ บ้าน





แต่ปัญหาที่สำคัญคือ คนเหล่านี้ก็ถูกรัฐของแต่ละประเทศกีดกันออกไป แล้วยังมุ่งพัฒนาในแบบเดิม แล้วจะส่งผลอย่างไรต่อไป ?

จินตนาการถึงความสับสน ความปั่นป่วนของพี่น้องคนจน ซึ่งผมใช้คำว่า กองทัพคนจน ก็คือ ไม่มีใครหรอกครับที่จะยอมอดตาย ผมคิดว่าถ้าถึงจุดหนึ่ง ถ้าเราไม่แก้ปัญหานี้ดีๆ พี่น้องคนจนเหล่านี้ก็พร้อมที่จะลุกออกมาบอกว่าขอข้าวกิน แค่การขอข้าวกินของคนเป็นล้านๆ นี่ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่แล้ว ถ้าหากว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ เราต้องคิดถึงเรื่องนี้



นี่คือปัญหาที่อย่างน้อยๆ มันก็เสียดแทงใจของพวกเราที่เห็นพี่น้องต้องส่งเด็กๆ มาขายพวงมาลัยตามสี่แยกและอื่นๆ ทั้งหมดนี้ต้องมองปัญหาให้ชัด ช่วยกันทำให้ความเสมอภาคมันเกิดขึ้นมากขึ้น รวมทั้งโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร รวมทั้งต้องคิดว่า การทำให้คนทั้งหมดรู้สึกได้ว่ารัฐๆ นี้ยังให้ความเสมอภาคแก่เรา เช่น ต้องคิดถึงภาษีมรดก ต้องคิดถึงภาษีก้าวหน้า ต้องคิดถึงหลายอย่าง นอกจากแก้ปัญหาทางคนจนแล้ว ทำให้คนในรัฐรู้สึกว่าชีวิตเขามีความหวัง รัฐเป็นผู้ผดุงความเสมอภาคให้เราได้



ถ้าไม่เกิดตรงนี้ ไทยและทวีปเอเชีย จะเผชิญปัญหาที่เราคิดไม่ถึง เราจินตนาการไม่ได้ แค่ปัญหาเด็กกวนเมืองซึ่งจริงๆ แล้วก็คือปัญหาชนชั้นเหมือนกัน หรือเด็กแก๊งทั้งหลาย คนเหล่านี้คือคนที่อยู่ชายขอบของเมือง ‘ขึ้นไม่ได้ ลงไม่ได้’ หมายความว่า ขึ้นไปเรียนระดับปริญญาตรีไม่ได้ ลงไม่ได้ คือลงเป็นชาวนาก็ไม่ได้ กลุ่มพวกนี้ สับสน เจ็บปวด มึนงง แค่นี้เราก็แก้ปัญหาไม่ได้แล้ว เพราะสังคมไทยขาดความพยายามที่จะเข้าใจคนจนๆ



ผมมักจะเจ็บปวดเสมอกับผู้มีอำนาจที่เขามักจะอธิบายอะไรแบบมักง่าย เพราะคุณไม่เข้าใจว่า นี่มันเป็นปัญหาของสังคมไม่ใช่ครอบครัว หรือถ้าเป็นครอบครัวก็เป็นครอบครัวของสังคม แค่ปัญหาเด็กแซ๊ปยังไม่มีคำอธิบายอะไรและแก้ปัญหาได้ดีกว่าการประณามครอบครัว ซึ่งน่าเศร้าสำหรับประเทศในเซ้าท์อิสเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยที่เราขาดปัญญาในด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์โดยสิ้นเชิง





ความหมายของความยากจนกับความจนที่รัฐหรือผู้ปกครองคิด มีความเหมือนหรือแตกต่างกันไหม?

ปัญหาคนจนนี่ รัฐบาลทักษิณพูดถึงมากที่สุด แต่วิธีการทำงานกับคนจนของรัฐบาลนี้เป็นการทำงานแบบไฟไหม้ฟาง ชั่วคราว โยนเงินให้เป็นระยะๆ โดยที่ไม่ได้วางแผนที่จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคจริงๆ ขึ้นมา ดังนั้น พี่น้องคนจนจำนวนหนึ่งอาจจะมีความสุขกับก้อนเงินที่ได้รับ ผมไม่ปฏิเสธว่าเป็นเรื่องจำเป็น แต่หมายถึงว่า ถ้าหากว่าเราจะแก้ปัญหา ต้องคิดยาวและคิดอย่างเป็นระบบ และแก้ไขจริงๆ ต้องแก้ไขในสองกระบวนการอย่างน้อย กระบวนการแรกคือ กระบวนการทำให้อำนาจของคนจนในการเข้าถึงในเรื่องของทรัพยากรเกิดขึ้นได้จริง สองคือ จำเป็นต้องให้คนจนมีส่วนกำกับรัฐ ในแต่ละท้องถิ่น ทั้งสองข้อนี้จะทำให้พี่น้องคนจนมีความหวังที่จะมีชีวิตก้าวหน้าขึ้น





ในรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด อ้างกันว่าเน้นเรื่องการมีส่วนร่วม แต่กลับไม่ได้เน้นให้ประชาชนมีความเสมอภาคอย่างแท้จริง

ตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผูกขาดการตัดสินใจขั้นสุดท้ายไว้กับสิ่งที่เราเรียกว่า “ส่วนเสี้ยวของระบบราชการ” ดังนั้นตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีทางแก้ปัญหาความยากจนได้ แต่สิ่งที่เราต้องคิดกันก็คือ หลังเลือกตั้งแล้ว เราทั้งหลายต้องกลับมาคุยกันใหม่เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะทำให้การตัดสินใจไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่เจ็ดอรหันต์ แปดอรหันต์ หรือระบบราชการ จำเป็นที่อำนาจการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะต้องอยู่ที่ประชาชน อย่าขัดขวางการเลือกตั้งเพราะความรู้สึกของสังคมไทยต้องการการเลือกตั้ง เพราะเราหวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นทางออกเบื้องต้นให้กับสถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่ในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองหรือเศรษฐกิจ



และหลังการเลือกตั้งในบรรยากาศการเมืองที่เปิด ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม เราต้องมาร่วมกันแก้ไขกติกากันใหม่ โดยผ่านกระบวนการประชาธิปไตยตรงนั้น เพื่อที่จะทำให้การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจของคนต่างๆ ในสังคมไทยโดยเฉพาะคนจนมีดุลมากขึ้น และถ้าหากเราจะรำลึกวันครบรอบ 34 ปี 14 ตุลา ก็เพื่อที่เราจะสร้างสังคมที่มีเสรีภาพและมีความเสมอภาคอย่างแท้จริงขึ้นมา





มองอย่างไรนับจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง

ถ้าหากเราจะศรัทธาพรรค ก็อยากเสนอว่าให้เราถอยมาสักก้าวหนึ่ง จงคิดถึงนักการเมืองที่เป็นหมากให้เราเดิน แน่นอนว่ามันไม่ง่าย แต่ก็ต้องพยายามทำตรงนั้น รวมทั้งต้องคิดว่า เมื่อเลือกตั้งแล้ว ความขัดแย้งของประชาชนควรจะต้องลดลง อย่าทำให้ความขัดแย้งของคนชั้นนำมาดึงเอาเรากลายเป็นเบี้ยของนักการเมือง เราคงต้องถอยออกมาจากพรรคการเมืองทั้งหลาย แล้วมานั่งคุยกันหาทางออกที่ทุกคนพอจะเห็นพ้องต้องกันได้ แล้วช่วยกันกดดันพรรคทุกพรรค





กลุ่มคนจน พอจะรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองได้หรือไม่ในอนาคต

ตัวคนจนเองอาจจะลำบาก หมายถึงยากในการที่จะจัดตั้งขึ้นมาเป็นพรรคการเมือง แต่ตัวคนจนเองสามารถที่จะสร้างนโยบายของตัวเองได้ แล้วใช้นโยบายนั้นไปกดดันนักการเมือง เพื่อให้เขาปฏิบัติตามนโยบายที่คนจนสร้างจะง่ายและเป็นไปได้มากกว่า พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่ใช้เงินสูงมาก เราพี่น้องคนจนไม่มีทางทำได้ แต่เราทำได้คือทำให้เขาต้องมารับใช้เรา ผมคิดว่าตรงนั้นน่าทำกว่า





ดูจากอดีต สังคมไทยหรือคนจนในอาเซียน พอจะมีการรวมกลุ่มกันบ้างไหม

ผมนึกถึงการเคลื่อนไหวอย่างน้อยในช่วงหลังปี 2516 การเคลื่อนไหวของนักศึกษากับประชาชนส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายการเช่าที่ดิน หรือลองนึกถึงในช่วงหลังหรือก่อนของมหาเธร์ (ดร.มหาเธร์ บิน โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย) ในการสร้างนโยบายภูมิบุตร คือนโยบายที่ดูแลพี่น้องคนจนชาวมาเลเซีย ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าจะถูกต้องเสมอ แต่มันก็สามารถผลักดันทำให้เกิดการดูแลพี่น้องคนจนชาวมาเลย์ หรือกรณีได้เอกราชใหม่ๆ ของประเทศอินโดนีเซีย สมัยซูกาโน่ (อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย) ที่พยายามจะผลักดันให้มีนโยบายของการกระจายที่ดิน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้สำเร็จทุกอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่นี่คือตัวอย่าง





ของเราก็มีสมัชชาคนจนที่เกิดขึ้นเพื่อต่อรอง แต่ทำไมมันไม่เติบโตพอที่จะมีอำนาจต่อรองกับนักการเมืองที่จะเข้ามารับใช้กลุ่มเหล่านี้

ก็คงต้องบอกว่า เราประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาคนจนเอง หรือกลุ่มทางเหนือเอง ทำให้คำว่า ป่าชุมชนเป็นที่รับรู้ทั่วไป เพียงแต่ยังไม่สำเร็จวันนี้ ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าเราล้มเหลวเลย ในขณะที่คนชั้นกลางไม่ได้มองเห็นไม่ได้รู้จักคนอื่นมากกว่านี้ เราทำได้ขนาดนี้ ผมถือว่าเราประสบความสำเร็จ แต่ในวันข้างหน้าที่ผมเรียกร้องให้คนชั้นกลางเข้าใจคนอื่นมากขึ้น การเคลื่อนไหวโดยรวมของคนทั้งหมดสังคมน่าจะมีพลังมากกว่านี้



ในวาระ 34 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ก็อยากให้ความหวังแก่สังคมไทย และเราคงต้องช่วยกันสร้างความหวังให้กับสังคมไทยต่อไป ถ้าสังคมไหนไร้ความหวัง เราก็ทำอะไรไม่ได้


ที่มา : ประชาไท วันที่ : 14/10/2550




Create Date : 14 ตุลาคม 2550
Last Update : 14 ตุลาคม 2550 13:14:15 น. 3 comments
Counter : 1325 Pageviews.

 
เฟ้นหาอุดมการณ์ 14 ตุลา เจอแต่ ปชต.อันสับสน






เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 50 โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มธ. ร่วมกับกลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 40 และคนเดือนตุลาไม่เอาเผด็จการ จัดงานรำลึก 34 ปี 14 ตุลา



กิจกรรมเริ่มต้นขึ้น ด้วยการอ่านแถลงการณ์และบทกวี พร้อมทั้งแสดงละครล้อเลียน ณ บริเวณลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผู้เข้าร่วม อาทิ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย นพ.เหวง โตจิราการ นายเกรียงกมล เลาหะไพโรจน์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข






โดยละครล้อเลียนนั้น ได้เสียดสีอดีตคนเดือนตุลา โดยมีคนสวมหน้ากากเป็นนายธีรยุทธ บุญมี นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายประพันธ์ คูณมี และทำพิธีจุดธูปอัญเชิญดวงวิญญาณจอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อคารวะขอขมาที่เคยขับไล่ในสมัยเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยมีบุคคลที่สวมหน้ากากนายธีรยุทธ เป็นผู้นำในการทำพิธีดังกล่าว และช่วงท้าย ได้ให้คนสวมหน้ากาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. ยืนให้อดีตแกนนำคนเดือนตุลาก้มลงเลียรองเท้าทหารพร้อมทั้งตะโกนว่า เผด็จการจงเจริญ



ถัดจากนั้น เป็นการอภิปรายเนื่องในโอกาส 34 ปี 14 ตุลา ในหัวข้อ “เจตนารมณ์ 14 ตุลา กับสถานการณ์ปัจจุบัน” ผู้ร่วมอภิปราย อาทิ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และอดีตนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปี 2519, วิจิตร ศรีสังข์ อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังธรรม มธ. และอดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2517, ณัฐวุฒิ วัชรกุลดิลก อดีตกรรมการสหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ผู้ช่วยบรรณาธิการเครือนชั่นกรุ๊ป อดีตสมาชิกวงดนตรีต้นกล้า และสมาชิกสภาองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2517 ดำเนินรายการโดย จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตผู้ก่อตั้งสภาหน้าโดม มธ. และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ล่าสุดเพิ่งถูกถอดถอนไปหลังเข้าร่วมกิจกรรมต้านรัฐประหาร



วิจิตร ศรีสังข์ กล่าวว่า อุดมการณ์ 14 ตุลา เป็นเรื่องต้องการรัฐธรรมนูญ ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีอำนาจตัดสินใจการบริหารประเทศ และไม่ต้องการรัฐทหาร ไม่ต้องการให้ทหารใช้อาวุธมายึดอำนาจ เพราะมันก็คือการปล้นประเทศชาติ เท่านั้นเองคือสิ่งที่คิดกันเมื่อ 14 ตุลา ถ้าเทียบกับสถานการณ์ทุกวันนี้ สถานการณ์มันซับซ้อนมากขึ้นว่า เราต้องการรัฐธรรมนูญแบบไหน



“บางที คนอย่างคุณคำนูณ (สิทธิสมาน) หรือประพันธ์ (คูณมี) เขาอาจเข้าใจว่า กำลังสู้กับเผด็จการอยู่ก็ได้”



วิจิตรกล่าวว่า ทุกวันนี้เราได้ยินคำว่า ‘อำมาตยาธิปไตย’ ซึ่งเข้าใจว่าชาวบ้านร้อยละ 90 ไม่เข้าใจว่ามันแปลความหมายว่าอะไร แต่ที่จะพูดถึงประเด็นนี้คือ ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็มี ‘อำมาตยาธิปไตย’เหมือนกัน เพราะไม่เชื่อว่าพลังนักศึกษาอย่างเดียวจะไปล้มจอมพลถนอม จอมพลประภาสได้



มาวันนี้ จึงมีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลายกันไปหมด แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ ล้มอำมาตยาธิปไตย มีจำนวนน้อยลงทุกที



“ปัญหาคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีโอกาสเข้าร่วมมากกว่านี้ ซึ่งผมคิดว่ามันต้องเป็นเรื่องของพรรคการเมืองอยู่ดี



“พูดกันอย่างนี้แล้วกันว่า ปี 2519 พรรคประชาธิปัตย์ทำท่าจะเติบโต ตอนนั้นมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้า เขาก็ทุบทิ้ง มาวันนี้ พรรคไทยรักไทยทำท่าจะเติบโต ก็ถูกทุบทิ้ง”



ต่อเรื่องพรรคการเมืองนั้น วิจิตรกล่าวว่า พรรคการเมืองบ้านเราจะเป็นรัฐบาลผสมที่แข็งแรงไม่ได้ ประเทศไทยมีอำนาจรัฐบาลซ้อนรัฐบาลอยู่ตลอด แล้วเทวดาที่ไหนก็บริหารประเทศไมได้ ไม่มีอีกแล้ว ต้องเข้าไปทำความเข้าใจให้เห็นว่า ปัญหาที่ว่า ‘อำมาตยาธิปไตย’ คืออะไรให้คนเขาเข้าใจ



เขาย้ำพร้อมกับถามทิ้งท้ายไว้ว่า เจตนารมณ์ 14 ตุลา คืออยากได้รัฐธรรมนูญ ไม่ชอบรัฐทหาร ไม่อยากให้ทหารปฏิวัติ แล้วตอนนี้ เราต้องการรัฐธรรมนูญแบบไหน ประชาธิปไตยแบบไหนที่ประชาชนต้องการ



ด้านจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่า การเรียกหาเสรีภาพ ใช้เวลามานานมาก ตั้งแต่ปี 2490 มาจนปี 2516 ก็ใช้เวลาตั้ง 26 ปีที่เมืองไทยอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร มีการร่างรัฐธรรมนูญครั้งละนานๆ หลายปี แล้วก็ใช้ฉบับละสั้นมากๆ ก่อนจะมีการยึดอำนาจอีก



อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยกล่าวว่า การปกครองแบบเผด็จการทหารที่ยาวนานสร้างปัญหากับประเทศมาก แล้วก็รับเอาแนวคิดประชาธิปไตยมา ผ่านทางปัญญาชนไทย มีการเรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการผ่านทางมหาวิทยาลัย มีการเรียกร้องเกี่ยวกับปากท้องของประชาชน เช่น ประท้วงการขึ้นค่ารถเมล์ และการเคลื่อนไหวอีกหลายๆ อย่าง นั่นคือ เป็นสภาพที่ไม่พอใจเผด็จการที่สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การเรียกร้องเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่ทรงพลัง จนกระทั่งมีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และผู้เรียกร้องถูกจับเป็น 13 กบฏ



“ประเด็นใหญ่ที่ขมวดให้คนมารวมกันได้คือการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ”



จาตุรนต์กล่าวว่า แม้แรงผลักดันรัฐธรรมนูญ จะมาจากความไม่พอใจในการใช้อำนาจบาตรใหญ่ การทำอะไรที่นอกกฎหมาย แต่เรายังมีสิ่งที่พัฒนาความคิดกันไม่ชัดเจนนัก ว่าที่แท้แล้ว เราต้องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญไปทำไม และแม้ว่าผู้ไปยื่นเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่ถูกจับไปด้วยนั้นจะเข้าใจหรือไม่ก็ตาม แต่ความหมายสำคัญของการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ คือการปกครองโดยนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งประเทศไทยไม่มี



เขากล่าวว่า มาถึงวันนี้ เจตนารมณ์ 14 ตุลา อยู่ในสถานะที่ถูกอธิบายแบบสับสน คนกลุ่มหนึ่งอาจจะมีคำอธิบายแบบหนึ่ง แล้วก็เชื่อว่าไม่สับสน แต่ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ตีความว่า ขอให้ได้ต่อต้านรัฐบาล



“และบางกลุ่ม เลยเถิดไปว่า ถ้ารัฐบาลไม่ดี นโยบายไม่ดี ก็รับไม่ได้ และข้าขอเป็นผู้ตัดสิน แล้วไปร่วมกับเผด็จการ” จาตุรนต์กล่าว



จาตุรนต์กล่าวต่อไปว่า ความคิดที่ว่า ‘ยอมไม่ได้ ข้าขอเป็นผู้ตัดสิน’ คือการไม่ยอมรับในระบอบรัฐธรรมนูญ บอกว่าคนส่วนหนึ่งสามารถตัดสินประเทศได้ ทหารมายึดก็ไม่เสียหายอะไร จะมาจากเผด็จการก็ไม่เป็นไร ขอแค่ได้รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งการพูดแบบนี้คือการไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตย ไม่ยอมให้ประเทศเป็นนิติรัฐ วิธีคิดเช่นนี้ นอกจากทำให้เจตนารมณ์เดือนตุลาสับสนแล้ว ยังทำให้ความหมายของคนเดือนตุลาเกือบจะหาคำนิยามไม่ได้



อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยตั้งคำถามว่า ทำไมคนจำนวนมากย้ายข้างไปสนับสนุนเผด็จการ คนเดือนตุลาจำนวนไม่น้อย ปัญญาชนจำนวนมาก ได้ย้ายข้างไปสนับสนุนเผด็จการ ในทางการเมืองผมถือว่าน่าเสียใจอย่างที่สุดที่ปัญญาชนผู้เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หันไปสนับสนุนเผด็จการ แถมยังอ้างว่าเป็นคนเดือนตุลา



จาตุรนต์กล่าวว่า คนจำนวนหนึ่งคิดว่า ถ้ามีรัฐบาลที่ทุจริต ไม่มีจริยธรรม ก็เอาคนดีมาปกครอง จะล้มรัฐธรรมนูญก็ได้ แล้วรัฐธรรมนูญใหม่จะดีหรือไม่ดีก็เป็นเรื่องคนเขียน ทั้งนี้บ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่นั้น เป็นเรื่อง ‘ระบบการปกครอง’ แต่คนไทยจำนวนมากเหลือเกินในประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับระบบ ระบอบ แต่ไปเน้นที่ตัวบุคคล ไปเน้นในสิ่งที่เป็นนามธรรม



เขาได้เสนอทิ้งท้ายว่า คงต้องมาถกถึงเจตนารมณ์ 14 ตุลา แล้วสร้างองค์ความรู้ใหม่ สร้างกติกาว่า อะไรคือระบอบรัฐธรรมนูญ นิติรัฐคืออะไร นิติธรรมคืออะไร เสรีภาพคืออะไร เสรีภาพสื่อคืออะไร ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ระบบพรรคการเมืองสำคัญแค่ไหน



เขาเสนอว่า สังคมไทยต้องรวบรวมคนที่คิดอะไรได้ ปัญญาชน มารวมกัน ดีกว่าจะให้สังคมไทยเรียนรู้จากประสบการณ์ทางตรงที่ใช้เวลายาวนาน เหมือนสมัยปี 2490 ที่ต้องใช้เวลาถึง 26 ปี ให้ความเลวร้ายสะสมถึงเกิด 14 ตุลา ขึ้นมา แล้วสังคมเรา ถ้าให้คมช.ยึดอำนาจไปห้าปีสิบปี ทุกคนคงเรียนรู้กันหมดว่ามันเลวร้ายจริงๆ แต่เวลานี้ ปัญญาชนย้ายข้างไป



“รากฐานความคิดมันไม่แน่น ที่ผมเสนอคือ มาช่วยกันคิด สร้างความเข้าใจ อย่าปล่อยให้สังคมไทยเรียนรู้ทางตรงจนใช้เวลานานถึงสิบปีกว่าจะมาเรียนรู้ว่า เผด็จการมันเลวร้ายจริงๆ จะทำอย่างไรให้มันมีทางลัด แทนที่จะผ่านประสบการณ์ทางตรงที่ใช้เวลายาว ก็ต้องมาเร่งสร้างองค์ความรู้” จาตุรนต์กล่าว



นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว เจตนารมณ์ 14 ตุลา ไม่ชัดเจน เราไม่เคยพูดเรื่องหลักการ มีแต่อารมณ์ เราจึงไม่เคยมีหลักการเรื่องประชาธิปไตย จึงไม่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร มีแต่การพูดเพื่อโก้เก๋ที่เรียกร้องเสรีภาพ แต่เป็นเสรีภาพของตัวเองเท่านั้นเอง



“ดังนั้น ประชาธิปไตยของสังคมไทย ก็เป็นของคนมีสตางค์และมีอำนาจ” นิธินันท์กล่าว



นิธินันท์กล่าวว่า การจะทำความเข้าใจหลักการของประชาธิปไตย ต้องไม่ลืมสองหลักใหญ่ของเจตนารมณ์ 14 ตุลา คือหลักประชาธิปไตย และหลักนิติรัฐ



ในเรื่องหลักประชาธิปไตยนั้น คือหลักของประชาชน อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ที่จะใช้ปกครองตัวเอง ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงนำไปสู่ความเสมอภาค, เป็นการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ที่เคารพเสียงส่วนน้อย ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ปิดปากคนส่วนน้อย และไม่ใช่เสียงส่วนน้อยที่ไปกระทืบคนที่คิดไม่ตรงกัน

เพราะการเคารพเสียงส่วนน้อย นำไปสู่การตรวจสอบ



“สิ่งที่เราต้องทำต่อไป แทนที่จะมารำลึกวีรชน เราต้องมาแลกเปลี่ยนความเห็นเชิงหลักการอย่างจริงจังเสียทีว่า ประชาธิปไตยคืออะไร” นิธินันท์กล่าว



ในเรื่องหลักนิติรัฐนั้น คือการปกครองโดยกฎหมาย กฎหมายต้องประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน และมีองค์กรตรวจสอบถ่วงดุล สิทธิขั้นพื้นฐานคือสิทธิพลเมืองที่รัฐให้การรับรอง เป็นหลักประกันความเสมอภาค คำถามคือ เรามีจริงเหรอ



นิธินันท์ตั้งคำถามว่า ประเทศไทยมีอะไรบ้างนอกจากเปลี่ยนหน้าคนปกครอง พร้อมทั้งเรียกร้องกับสื่อ ไม่เว้นสื่อที่นิธินันท์สังกัดอยู่ว่า ต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตย ทำความเข้าใจให้มากไปกว่าการเดินขบวนขับไล่รัฐบาล ที่ผ่านมา หากคนมีอำนาจไม่ไล่กันเอง ประชาชนก็ไม่มีทางชนะ แล้วสิ่งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทำลงไป ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับประเทศเลย นอกจากความฉิบหาย



ด้านณัฐวุฒิ วัชรกุลดิลก อดีตกรรมการสหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย เล่าถึงเพื่อนคนเดือนตุลา ที่ไปเข้าร่วมกับเวทีพันธมิตรว่า รู้สึกเจ็บปวดที่ต้องมาทะเลาะกับพรรคพวกที่ไปสนับสนุนรัฐประหาร



เขากล่าวว่า เราต้องเจาะลึกสังคมไทยพอสมควร สังคมไทยเป็นสังคมที่ปากว่าตาขยิบ กายกับใจไม่ตรงกัน เป็นสังคมแห่งอารมณ์ ไม่มีหลักการ ไม่มีเหตุผล นอกจากนี้ สังคมไทยยังใช้วีรบุรุษเปลืองอีกด้วย



ที่มา : ประชาไท วันที่ : 14/10/2550



โดย: Darksingha วันที่: 14 ตุลาคม 2550 เวลา:13:16:36 น.  

 
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ขออาลัยและรำลึกถึงวีรชนผู้เสียสละและไม่ลืมว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ยังคงดำเนินต่อไป


โดย: numkung วันที่: 15 ตุลาคม 2550 เวลา:8:23:16 น.  

 
ด้วยความยินดีครับคุณ numkung


โดย: Darksingha วันที่: 15 ตุลาคม 2550 เวลา:11:03:52 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.