Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
12 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
พม่าจากมุมมองที่สิ้นหวัง

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์





ใครๆ ก็คิดว่าเหตุการณ์ในพม่าน่าจะเป็นเกมส์ยาว แม้แต่คณะทหารที่ยึดกุมอำนาจอยู่เวลานี้ ก็พอจะคิดออกว่า เกมส์นี้ยาวแน่ แต่จะยาวแค่ไหน และลงเอยอย่างไร ไม่มีใครเดาออก เพียงแต่ว่า การปิดกั้นถนนและวัดจนจำนวนผู้ประท้วงเบาบางลง ไม่ใช่จุดจบของการลุกฮือขึ้นของประชาชนเพื่อล้มล้างเผด็จการที่เหี้ยมโหดที่สุดระบอบหนึ่งอย่างแน่นอน

ข่าวล่าสุดก็คือกองทหารบางกองในย่างกุ้งเองไม่ยอมยิงประชาชน ลือกันถึงว่าหน่วยทหารบางกองส่งเสียงเชียร์ผู้ประท้วงด้วยซ้ำ ฉะนั้นจุดจบของเหตุการณ์ก็อาจเหมือนเผด็จการทหารอีกหลายแห่งในโลก คือนายทหารชิงอำนาจกันเองในช่วงจังหวะที่ประชาชนลุกฮือขึ้นมาขับไล่เผด็จการ

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า กองทัพพม่านั้นถือกำเนิดจากกองโจรกู้ชาติในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่มีประเพณีของการรวมศูนย์บังคับบัญชาที่เข้มแข็งนัก จนถึงทุกวันนี้นายทหารที่ร่วมอยู่ใน คมช.พม่า ก็ยังมีกองพลซึ่งคุมพื้นที่ส่วนต่างๆ ของประเทศเป็นฐานกำลังของตนเอง การคุมอำนาจสูงสุดใน คมช.ไว้ให้ได้ จึงต้องอาศัยการจัดสรรผลประโยชน์ของนายพลต่างๆ ให้ลงตัว

นายพลตาน ฉ่วย ยืนอยู่บนเส้นบางๆ ที่ใจไม่อาจ 'นิ่ง' กับคนรอบข้างได้ เขาคงนอนไม่หลับ และยิ่งนอนไม่หลับมากขึ้นในช่วงนี้ ไม่ใช่เพราะกลัวประชาชนยิ่งไปกว่าทหารรอบข้าง ข่าวลือหนึ่งก็คือนายพลหม่อง เอ ซึ่งเป็นนัมเบอร์สองรองจากเขา อาจกำลังคิดแย่งอำนาจอยู่ ถึงหม่อง เอ ยังภักดี แต่การที่ทหารบางกองไม่ฟังคำสั่งให้ปราบปรามผู้ประท้วง ก็แสดงอยู่แล้วว่ามีนายทหารบางคนวางเดิมพันไว้คนละมือกับเขาเสียแล้ว

หากจุดจบคือการเปลี่ยนมือของผู้นำเผด็จการ ผู้นำคนใหม่คงยอมลดราคาน้ำมันลง เพื่อทำให้การประท้วงยุติลงเสียก่อน ไม่เปิดโอกาสให้นายทหารอื่นทำรัฐประหารซ้อน แม้แต่ทำทีประหนึ่งจะนำประเทศเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตย (มากขึ้น) ก็อาจเป็นไปได้ แต่เนื้อแท้แล้วยากที่จะไม่กดขี่ขูดรีดประชาชนต่อไปเหมือนเดิม เพื่อรักษาอำนาจของกองทัพไว้สืบไป

โดยโครงสร้างการบริหารของพม่าแล้ว การนำพม่าเข้าสู่การปกครองภายใต้กฎหมาย (แม้เป็นกฎหมายของเผด็จการ) ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หลังการปกครองของเผด็จการทหารมา 40 ปี พม่าไม่มีระบบราชการพลเรือนที่เข้มแข็งพอจะจัดการปกครอง 'ประชาชาติ' ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้ ไม่มีการจัดองค์กรที่จะผนวกเอาอย่างน้อยก็ 'ชนชั้นนำ' ทุกกลุ่มเข้ามาร่วมในการบริหารจัดการ แม้แต่จัดการภายใต้อำนาจเผด็จการของทหาร พม่ายังขาดโครงสร้างพื้นฐานอีกมากที่จะช่วยให้การบริหารจัดการจากส่วนกลางเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความอย่างที่นายลี กวน ยิว และสาวกของเขาพร่ำพูดว่า เหตุดังนั้นพม่าจึงควรอยู่ภายใต้เผด็จการทหารที่เหี้ยม-โหดตลอดไป เพื่อ 'ความสงบเรียบร้อย' ที่เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาตักตวงทรัพยากรได้สะดวก แต่หมายความว่าแม้แต่หากกองทัพต้องการแบ่งปันอำนาจกับกลุ่มอื่นๆ ถึงแบ่งปันอย่างไม่เท่าเทียม ก็ใช่จะทำได้ง่ายๆ ต้องใช้เวลาและความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง อำนาจที่จำกัดลงของกองทัพในช่วงเปลี่ยนผ่านย่อมก่อให้เกิดความพยายามจะก่อกบฏของนายทหารบางกลุ่มเสมอ ผู้นำใหม่ต้องสามารถจัดการได้ และแม้แต่ความสามารถในการจัดการ ก็จำกัดลงด้วย เพราะไม่อาจแบ่งปันผลประโยชน์อย่างไม่มีขีดจำกัดได้อีกแล้ว ยังจำเป็นต้องลงทุนกับอีกหลายเรื่องในประเทศ เพื่อก่อให้เกิด 'ความสงบเรียบร้อย' ที่ยั่งยืน จึงมีทรัพยากรจำกัดสำหรับแบ่งปัน

ด้วยเหตุดังนั้น การเปลี่ยนผู้นำจากการกบฏภายในของ คมช.พม่า จึงแทบไม่ทำให้เกิดความแตกต่างอะไร ปัญหาคือจะแหกออกจากโครงสร้างของเผด็จการทหารได้อย่างไร หนทางมีเพียงสองอย่างเท่านั้นคือ 1) ชัยชนะของประชาชน ซึ่งมีโอกาสจะรักษาให้ยั่งยืนและสร้างสรรค์ได้น้อยมาก แม้กระนั้นก็ 'คุ้ม' ที่จะเสี่ยงกับความปั่นป่วนวุ่นวายที่จะตามมา เพราะไม่อย่างนั้น พม่าก็จะเผชิญกับความปั่นป่วนวุ่นวายภายใต้ตรา 'ความสงบเรียบร้อย' ของกองทัพตลอดไป 2) นานาชาติรวมทั้งจีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น และอาเซียน เพิ่มแรงกดดัน คมช.พม่า จนกระทั่ง คมช.พม่าเลิกกดขี่ประชาชน แล้วเริ่มกระบวนการเข้าสู่ระบอบที่เคารพกฎหมายมากขึ้น

แต่ทั้งสองอย่างนี้มีความเป็นไปได้น้อยมาก

โอกาสที่ประชาชนจะได้รับชัยชนะ โดยไม่เกิดการกบฏภายในของ คมช.พม่าแทบจะไม่มีเลย การปราบปรามอย่างเหี้ยมโหด รวมทั้งการสร้างม็อบที่เหี้ยมโหดกว่าทหาร (เพราะไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครเลย) ออกราวีผู้ประท้วง ทำให้ขบวนการประท้วงซึ่งเกิดขึ้นอย่างไม่มีการจัดองค์กรจะล่มสลายลงในเวลาอีกไม่นาน ซ้ำร้ายผู้ประท้วงยังไม่มีพื้นที่สำหรับถอยอีกด้วย นอกจากต่างประเทศ ซึ่งยิ่งทำให้ปัจจัยอย่างที่สองมีความสำคัญมากขึ้น

เผด็จการทหารทุกแห่งในโลกนี้ย่อมสร้างอภิสิทธิ์ชนขึ้นจากทหาร กองทัพพม่าเป็นกองทัพที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน มีกำลังพล 400,000 ถึง 500,000 คน สวัสดิการต่างๆ รวมทั้งเงินเดือนประจำที่แน่นอนของกองทัพขนาดมหึมานี้ เมื่อเปรียบเทียบกับพลเมืองพม่าทั้งหมดแล้วคืออภิสิทธิ์ แม้ว่าสวัสดิการของทหารชั้นผู้น้อยแทบจะไม่พอยังชีพ แต่ก็ยังดีกว่าเป็นพลเรือน ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงอภิสิทธิ์ที่สูงขึ้นตามลำดับของนายทหาร การผดุงระบอบเผด็จการที่เหี้ยมโหดนี้ไว้ จึงเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ทหารทั้งกองทัพ (แน่นอน ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการปลูกฝังอุดมการณ์ ด้วยการเลือกป้อนแต่ข่าวสารข้อมูลที่บิดเบือน, เป็นเท็จ, หรือไม่รอบด้านให้ทหาร อย่างเดียวกับกองทัพเผด็จการทั้งหลายในโลกนี้ปฏิบัติ) การปราบปรามผู้ประท้วงให้อยู่ในอำนาจให้ได้ จึงเป็นภารกิจที่ทหารเต็มใจทำ เพียงแต่จะทำให้กับนายทหารคนไหนเท่านั้น

ในฐานะมนุษย์ เราไม่อยากเห็นความเหี้ยมโหดเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพของเผด็จการ แต่ในความเป็นจริง ความเหี้ยมโหดรักษาอำนาจของเผด็จการในโลกนี้ได้จริง อย่างน้อยก็ในระยะเวลาที่ยาวนานเป็นหนึ่งหรือสองเช่นอายุคน เราพบความจริงที่ทำให้เราหวั่นไหวต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นนี้ในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในเอเชีย, ยุโรปตะวันออก, แอฟริกา, หมู่เกาะทะเลใต้หลายแห่ง, และละตินอเมริกา

และแน่นอนในพม่าซึ่งเผด็จการทหารใช้ความเหี้ยมโหดทารุณเป็นเครื่องมือ ครองอำนาจมาได้กว่า 40 ปี ความเคลื่อนไหวใดๆ ที่อยู่นอกความควบคุมของกองทัพถูกเด็ดทิ้งไปตั้งแต่ยังไม่ผลิดอก ปราศจากองค์กรและการจัดองค์กรที่จะรวมประชาชนให้ดำเนินการอย่างมีพลังได้ โอกาสที่ประชาชนพม่าจะสามารถล้มล้างเผด็จการทหารเพื่อฟื้นคืนชีพประชาธิปไตยได้ด้วยตนเองเกือบจะเป็นศูนย์

แต่ปัจจัยที่สองคือแรงกดดันจากต่างชาติก็ไม่ใช่สิ่งอันพึงหวังได้มากนัก พันธะที่แท้จริงของนานาชาตินั้นไม่ได้อยู่ที่ชะตากรรมของประชาชนพม่า แต่อยู่ที่การทำกำไรกับทรัพยากรพม่าต่างหาก ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในพม่ามีไม่มากนัก (บริษัทน้ำมันเชฟรอนได้รับยกเว้นการประกาศแซงค์ชั่นในสมัยประธานาธิบดีคลินตัน เพราะได้เข้าไปลงทุนก่อนประกาศ) ส่วนสหภาพยุโรปก็เช่นกัน ด้วยเหตุดังนั้นการประกาศบอยคอตการลงทุนในพม่าของสองมหาอำนาจใหญ่จึงไม่ทำให้ คมช.พม่ากระทบกระเทือนมากนัก

มาตรการบอยคอตเองก็ต้องจำกัดขอบเขตด้วย เช่นไม่บอยคอตสินค้าทุกอย่างซึ่งประกอบขึ้นจากแรงงานและวัตถุดิบพม่า อันจะเป็นผลให้จีน, อินเดีย และไทยซึ่งใกล้ชิดและสนับสนุนเผด็จการทหารพม่าอยู่ขณะนี้ ต้องทบทวนนโยบายของตนใหม่ มหาอำนาจตะวันตกได้แต่เรียกร้องให้จีน, อินเดีย และอาเซียนกดดัน คมช.พม่าให้ปล่อยนักโทษการเมืองและนำประเทศสู่ครรลองประชาธิปไตย

ผลประโยชน์ของจีนในพม่ามีมากกว่าทรัพยากร เพราะความสัมพันธ์อันดีกับ คมช.พม่า ทำให้จีนได้ทางออกสู่อ่าวเบงกอลได้สะดวกขึ้น ส่วนอินเดียเองก็ยอมแลกชีวิตพลเมืองของตนเองซึ่งตกเป็นทาสยาเสพติดที่หลั่งไหลเข้ามาจากพม่า เพื่อทำให้กบฏแยกดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของตน ไม่อาจใช้พม่าเป็นที่หลบซ่อนในการทำสงครามจรยุทธ์ได้

แม้ในครั้งนี้อาเซียนใช้คำรุนแรงมากขึ้นในประกาศร่วมกันของ รมต.ต่างประเทศ (น่าสนใจที่รวมเวียดนาม, กัมพูชา และลาวด้วย) แต่ 'มหาอำนาจ' ของอาเซียนเอง ก็มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอยู่ในพม่า (ทั้งโดยตรงและแอบแฝง) อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์, มาเลเซีย และไทย

ปฏิกิริยาของไทย - เพื่อนบ้านชาวพุทธ - ต่อการปราบปรามประชาชนและภิกษุอย่างป่าเถื่อนในพม่าครั้งนี้ ดูจะสะท้อนให้เห็นได้อย่างดีว่า พันธะของไทย (และอาเซียน) มีต่ออะไรกันแน่ ระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและประชาชนพม่า

ผู้ว่าราชการจังหวัดระนองออกคำเตือนชาวประมงในจังหวัดว่า อย่าได้ล้ำน่านน้ำพม่าในช่วงนี้เป็นอันขาด นอกจากจะมีอันตรายต่อชาวประมงเองแล้ว (เพราะพม่าอาจใช้อาวุธและความรุนแรงในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้) ยังอาจเป็นเหตุให้พม่าปิดพรมแดนด้านนั้นลง (ซึ่งแน่นอนกระทบต่อการซื้อขายชายแดน รวมทั้งการซื้ออาหารทะเลป้อนโรงงาน, แรงงานอพยพ, การท่องเที่ยว และอาจทำให้กิจการประมงของจังหวัดต้องหยุดชะงักลง) ที่แม่สาย เสียงบ่นของข้าราชการพ่อค้าแม่ค้าก็เป็นทำนองเดียวกัน เพราะนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศหยุดไปแม่สาย เนื่องจากไม่กล้าข้ามไปท่าขี้เหล็ก

รัฐมนตรีพลังงานให้สัมภาษณ์ว่า การเจรจาซื้อขายก๊าซจากหลุม M9 ต้องระงับไว้ก่อน เพราะเป็นการซื้อขายจำนวนมาก หากรัฐบาลพม่าต้องเปลี่ยนไปหลังเหตุการณ์ประท้วงครั้งนี้ ก็เท่ากับข้อตกลงในการเจรจากลายเป็นหมันไปหมด

เมื่อมองลงไปถึงเบื้องหลังคำประกาศของ รมต.ต่างประเทศอาเซียนซึ่งใช้ถ้อยคำรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากแรงบีบของมหาอำนาจ ความเป็นจริงของนโยบายอาเซียนก็เป็นอย่างที่เห็นได้ในปฏิกิริยาของราชการและพ่อค้าไทยดังกล่าวนี่เอง

จนถึงนาทีนี้ แรงกดดันจากนานาชาติไม่ได้ช่วยให้พลังของประชาชนผู้ก่อการประท้วงในพม่ามีเพิ่มขึ้น คมช.พม่าสามารถปิดกั้นเครื่องมือของโลกาภิวัตน์คืออินเตอร์เน็ตได้สำเร็จ ทำให้แรงกดดันจากภายนอกยิ่งอ่อนลง แม้แต่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตที่แท้จริงจากการปราบปรามมีเท่าไรแน่ ก็ไม่อาจยืนยันได้ และกว่าจะรู้ตัวเลขที่ชัดเจน นานาชาติก็ทำได้แค่เศร้าสลดใจ

คมช.พม่าเป็นเผด็จการทหารที่ขัดขวางความแปรเปลี่ยนของสังคม ฉะนั้นพลังใหม่จึงไม่อาจเกิดขึ้นในสังคมพม่าได้ง่ายนัก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ โอกาสที่จะเกิด 14 ตุลา ไม่น่าจะเป็นไปได้ในระยะเวลาอันใกล้

ภายใต้เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ เรากำลังเผชิญกับเผด็จการทหารที่ล้าหลัง แต่อาจจะยั่งยืนยาวนานกว่าเผด็จการทหารทั้งหลายที่เคยมีมาแล้วในโลกสมัยใหม่


ที่มา //www.matichon.co.th/news_detail.php?id=6856&catid=16



Create Date : 12 ตุลาคม 2550
Last Update : 12 ตุลาคม 2550 17:04:14 น. 0 comments
Counter : 404 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.