Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
14 กุมภาพันธ์ 2552
 
All Blogs
 

^^ คุณสมบัตินักแปล ^^

คุณสมบัตินักแปล

จากหนังสือ "คู่มือนักแปลอาชีพ"
โดย "ศ.ดร.สิทธา พินิจภูวดล"


ทั้งคุณสมบัติส่วนตัว ความสามารถ ประสบการณ์ และความรู้ เรียงลำดับมากที่สุด ไปถึงน้อยที่สุด

คุณสมบัติส่วนตัว

- มีใจรักในงานแปล
- รักการอ่าน
- มีสมาธิในการอ่าน
- มีความรอบคอบ ละเอียดระมัดระวังใจการใช้ถ้อยคำ และภาษา
- มีความมั่นใจในตนเองอย่างสูง
- มีจรรยาบรรณของนักแปล เช่น อ้างอิงถึงแหล่งข้อมูล
- มีปฏิภาณดี
- มีความใจกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

ความสามารถ

- สามารถตีความภาษาที่ตนจะถ่ายทอดได้เป็นอย่างดี
- มีจินตนาการ สร้างสรรค์คำใหม่ที่เหมาะสม เพื่อมิให้ผู้อ่านเกิดความเบื่อหน่าย
- มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้
- มีความสามารถในการจัดขั้นตอนในการแปลให้ถูกต้องเพื่อให้ผลงานมีคุณภาพ

ประสบการณ์

- ฝึกฝนการแปลอยู่เสมอ
- มีความเชี่ยวชาญในงานหลายสาขา
- มีความเข้าใจในระบบงานของหน่วยงานที่ตนปฏิบัติงานแปลอยู่
- เคยได้รับการอบรมทางด้านการแปล
- เคยอ่านงานแปลของผู้อื่นมามากพอควร (เพื่อทราบว่างานแปลเหล่านั้นมีจุดดีจุดบกพร่องที่ใดบ้าง)

ความรู้
- มีความรู้รอบตัวอย่างกว้างขวาง
- ทำการค้นคว้าสิ่งแปลกใหม่ที่น่าสนใจ เพื่อเสริมความคิดของตนตลอดเวลา
- สะสมคำแปลกใหม่ ที่จะนำมาปรับใช้ในงานแปลได้อย่างถูกต้อง
- มีความรู้ด้านภาษาทั้ง 2 ภาษาที่ใช้ในการแปลเป็นอย่างดี
- มีความรู้เฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับงานแปล
- มีภูมิหลังเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี ของชาติที่เป็นเจ้าของภาษาที่จะแปลด้วย

ข้อสังเกต

- ยังมีผู้ที่คิดว่า ในการแปลงานเฉพาะสาขา ผู้แปลควรมีอาชีพอยู่ในสาขานั้น เช่น แพทย์ควรเป็นผู้แปลตำราแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญทางอัญมณีควรเป็นผู้แปลตำราทางอัญมณีศาสตร์
- บางหน่วยงานมีนักแปลเฉพาะสาขาไม่ครบทุกสาขา ดังนั้นจึงจำต้องใช้นักแปลผู้นั้น แปลงานสาขาอื่นที่ตนไม่ถนัดด้วย
- การแปลงานเฉพาะสาขาควรทำงานแปลเป็นทีมอย่างน้อย 3 คน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาต้นฉบับ 1 คน ด้านภาษาไทย 1 คน (อาจเป็นคนเดียวกันได้) และด้านวิชาการเฉพาะสาขา 1 คน

***************




 

Create Date : 14 กุมภาพันธ์ 2552
6 comments
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2552 14:17:37 น.
Counter : 5999 Pageviews.

 

เป็นอาชีพที่กำลังพยายามไปสู่ คิดวางแผนไว้ยาวๆ ต้องอดทนๆ ระหว่างนี้ก็ทำมาหากินอื่นไปก่อน คิคิ

 

โดย: Herzlich ! 14 กุมภาพันธ์ 2552 18:02:09 น.  

 

ลืมบอกว่าขอแอดเป็นเพื่อนไว้ด้วยน้าค้า

 

โดย: Herzlich ! 14 กุมภาพันธ์ 2552 18:04:47 น.  

 

อยากทราบความเป็นมาของ ศุภฤกษ์ รมยานนท์ นักแปลเรื่อง "อาลาดินกับตะเกียงมหัศจรรย์" ครับ

 

โดย: ประชา IP: 124.122.64.237 13 กันยายน 2552 23:35:07 น.  

 

ศุภฤกษ์ รมยานนท์
ล่ามภาษาแห่งป่าวรรณกรรมไทย
คอลัมน์ : เส้นทางคนขายฝัน
ผู้สัมภาษณ์ : รัชนีกร หัสรังสี
จากนิตยสาร “แนวหน้าสุดสัปดาห์”
ปีที่ 2 ฉบับที่ 86 ประจำวันที่ 19-24 พฤศจิกายน 2536
--------------------------------
เอ่ยชื่อ ศุภฤกษ์ รมยานนท์ บนถนนหนังสือสายปัจจุบันของเมืองไทย และแม้จะบีบให้อาณาเขตแคบเล็กลงเหลือเพียงพื้นที่กรุงเทพฯ แล้วก็ตามที คาดเดาเอาว่าชื่อของผู้ชายวัยเฉียด 40 ซึ่งมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่เพชรบูรณ์คนนี้ ค่อนข้างจะเป็นชื่อเสียงเรียงนามที่แปลกหู ทั้งที่ไม่เป็นที่คุ้นเคยกันสักเท่าไหร่ แม้ตัวเขาเอง...จะใช้ชีวิตย่ำก้าวไปมาในราวป่าวรรณกรรมของกรุงเทพฯ ยาวนานกว่า 13 ปีแล้ว ทว่าชื่อของ ศุภฤกษ์ รมยานนท์ ก็ยังคงให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างห่างไกล ไม่คุ้นเคยต่อความทรงจำของนักอ่านโดยทั่ว ๆ ไปสักเท่าไรนัก
ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากช่วงต้นของการใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่ในแวดวงคนทำหนังสือ ชิ้นงานเป็นจำนวนมากมายของศุภฤกษ์มักถูกซ่อนแฝงไว้กับเบื้องหลังชื่อเสียงเรียงนามอื่น ๆ ชื่อที่บางครั้งเพียงปรากฏชั่วขณะก่อนจะวับหายไปกับวันอันเลอะเลือนเกินจดจำ เพราะแม้แต่กับตัวของเขาเองก็อาจทวนจำนามปากกา หรือชื่อแฝงที่เขาเลือกสรรหาใช้ได้ไม่ครบถ้วน มันเป็นความยากลำบากในระดับที่ใกล้เคียงกับการให้เขาขานตัวเลขของจำนวนชิ้นงานที่ได้ทำผ่านมือออกมาทั้งหมดด้วยความแม่นยำถูกต้อง เพราะปริมาณงานที่สำเร็จผ่านการแปลของเขาจนออกมาสู่การเสพอ่านของผู้คนนั้น มีมากมายนับเป็นร้อย ๆ ชิ้น หลากหลายแตกต่างกันไปทั้งที่เป็นเรื่องสั้น เรื่องยาว บทความ สารคดี สกู๊ปสั้นยาว ข่าวสาร กับอีกสารพันเรื่องราวเท่าที่ความสนใจของเขาจะหยุดยั้งลงไปทักทายสัมผัสต้อง
ในเนื้องานอันมากมายหลายหลากประเภทที่ศุภฤกษ์ได้ทำผ่านออกไปสู่การพิมพ์เหล่านั้น กว่าครึ่งค่อนหรือแทบทั้งหมดล้วนเป็นงานถอดแปลจากภาษาหนึ่งมาเป็นอีกภาษาหนึ่ง จากภาษาอังกฤษในสำนวนต่าง ๆ ให้กลับกลายมาเป็นเนื้อความภาษาไทย ซึ่งคนไทยโดยทั่วไปสามารถอ่านทำความเข้าใจได้ เพราะที่นี่คือประเทศไทย และ “ผมมันคนไทย” อะไรเทือก ๆ นั้น บทบาทของศุภฤกษ์บนถนนหนังสือนับแต่เริ่มต้นจวบปัจจุบัน เขาคือล่ามผู้ถอดแปลภาษา งานที่มีจุดเริ่มต้นขึ้นมาจากเหตุผลเรียบง่ายและกระชับสั้น
“มันสนใจไอ้เรื่องต่างประเทศ คืออยากอ่านหนังสือภาษาอังกฤษให้รู้เรื่อง สนใจเรื่องวรรณคดีอังกฤษ อเมริกัน มันมีมาตั้งแต่สมัยอยู่ ม.ศ.4 ม.ศ.5 มันก็อ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ก็พยายามอ่านให้ออก มันอยากรู้เรื่องน่ะนะ พูดง่าย ๆ คือมันอยากอ่านหนังสือพวกต่างประเทศได้ก็เท่านั้นเอง”
ทั้งที่ศุภฤกษ์มิได้เติบโตขึ้นมาใจครอบครัวที่เต็มไปด้วยนักอ่านประเภทหนอนตัวใหญ่ ไม่มีใครที่อยู่รอบข้างส่อแววถึงความเป็นคนเขียนหนังสือและทำหนังสือ แม้กระทั่งตัวของศุภฤกษ์เองก็ตาม เขาก็ไม่เคยฝันเห็นภาพตัวเองในความเป็นคนเขียนหรือคนแปลหนังสือเฉกเช่นที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันนี้เลย อาจมีเค้าเงื่อนที่แม่ของเขาเคยทำงานเป็นบรรณรักษ์ห้องสมุด และตัวเขาเองก็ลงไปช่วยงาน ไปคลุกคลีอยู่ใกล้ชิดกับการรื้อค้นท่ามกลางกองพะเนินของหนังสือจำนวนมากมายเหล่านี้อาจส่งสัญญาณเรียกเร้าความสนใจของศุภฤกษ์อยู่อย่างเงียบ ๆ และซ่อนลึกก็เป็นได้
จนเมื่อได้ภาพที่ชัดเจนต่อความสนใจด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วศุภฤกษ์จึงลงมือคุ้ยเข้าไปในศักยภาพของตนเอง เพื่อขุดเอาความสามารถที่ค่อย ๆ ปูฐานสั่งสมเอาไว้มาใช้ทำงานเป็นล่ามภาษาแห่งป่าวรรณกรรม พอกพูดความชำนาญให้มีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ...อย่างต่อเนื่อง
“เราอ่านหนังสือภาษาอังกฤษออกมานานแล้ว แต่จะเรียกว่าแตกหรือไม่แตกไม่รู้ แต่มันก็มาจากการอ่าน แล้วก็ฝึกฝนด้วยการแปลนะ แปลมันเยอะ ๆ มันแปลเป็นจำนวนมากขึ้น ที่สุดก็ค่อย ๆ กลายเป็นความชำนาญ เกิดความเข้าใจ แล้วก็จะอาศัยหนังสือ...อย่างเช่นศิลปะการแปลหลาย ๆ เล่มมาช่วย ซึ่งบางเล่มก็เคยช้าสมัยเรียนคณะมนุษยศาสตร์ที่รามคำแหง หรือไม่ก็ถามเอาจากคนอื่น ๆ มันต้องถามบ้างนะ ยิ่งสมัยแรก ๆ ด้วย...ยิ่งต้องถาม แต่บางทีก็ค้นเอาเอง ทุกวันนี้ก็กลายเป็นอาชีพไปแล้ว”
ต่อการตอบรับที่ผู้อื่นมีให้กับงานแปลชิ้นแรกได้เป็นเสมือนแรงกระตุ้นเร่งเร้าเป็นความท้าทายที่เชิญชวนอยู่ในที ที่สุดงานแปลชิ้นที่สอง ชิ้นที่สาม สี่...และอีกมากมายก็ค่อย ๆ ทยอยออกมาปรากฏอยู่ในหน้านิตยสารมากมาย ทั้ง หนุ่มสาว แมน เรา เปรียว MISSY IMAGE ผู้นำ แก้ว...ฯลฯ กระชับเวลาเว้นห่างของงานแต่ละชิ้นให้เหลือแคบลง...แคบลงเป็น 4 ชั่วโมงต่อชิ้นได้ 4-6 หน้ากระดาษ จากที่งานชิ้นหนึ่งเคยใช้เวลาร่วมอาทิตย์
“ทำงานแปลอยู่ 7-8 ปีมั้งถึงเพิ่งจะได้เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกของตัวเอง ซึ่งมันต้องเอาอารมณ์ของตัวเองมาใช้ แล้วเรื่องสั้นชิ้นที่สองก็ต้องใช้เวลาอีกปีนึง คือที่นานเพราะมันไม่มีแรงดลใจที่รุนแรงพอ เรียกว่า 4-5 ปี เขียนได้ 4 เรื่องเอง แล้วตอนนั้นก็ไม่ได้ใช้ชื่อ ศุภฤกษ์ รมยานนท์ เลย”
วันนี้ ศุภฤกษ์ รมยานนท์ ยังคงรักษาบทบาทหน้าที่ล่ามแห่งป่าวรรณกรรมของเขาเอาไว้ จ่ายป้อนงานแปลไปสู่นิตยสารทั้งรายเดือน รายปักษ์ หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์เป็นช่วง ๆ รวมทั้งยังมีงานแปลที่รวมพิมพ์เป็นเล่มอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเท่าที่มีวางจำหน่ายกับที่กำลังทยอยตีพิมพ์ตามออกมาในเวลาอันใกล้นี้ ดูจะเน้นหนักไปที่วรรณกรรมสำหรับเด็ก เป็นเรื้องที่เน้นความสวยงามทางความรู้สึก ความละมุนอ่อนโยน ความสนุกสนานบันเทิง ที่แทรกเจือสาระเรื่องราวไว้ด้วยจังหวะน้ำหนักอันพอเหมาะลงตัว
“ถามว่าอยากทำอะไรอีกบ้าง ก็คงอยากจะทำประชาสัมพันธ์ด้านข่าวสาร ครั้งนึงเคยอยากทำร้านอาหาร แต่ตอนนี้ไม่คิดแล้ว ไม่รู้ตอนนั้นมันเป็นแฟชั่นรึเปล่า เพื่อน ๆ ไปทำร้านอาหารกัน คนเรามันต้องมีอาชีพหลักอาชีพรองนะ แต่จริง ๆ ก็ไม่คิดจะทิ้งงานแปลถ้าไม่มีอาชีพอื่น เราก็คงทำไอ้นี้ต่อไป...คือทำงานแปลไปเรื่อย ๆ จะแย่ก็ตรงที่คนไทยไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือกัน ทั้ง ๆ ที่คนอ่านหนังสือออกกันเกือบทุกคนแล้ว”
เป็นคำพูดประโยคที่น่าคิดของ ศุภฤกษ์ รมยานนท์ ก่อนที่ผู้เขียนจะแยกจากเขามาในบ่ายวันที่ถนนแออัดยัดแน่นไปด้วยรถยนต์...รถยนต์...และคน

 

โดย: kitisak IP: 124.120.13.3 18 กันยายน 2552 1:24:38 น.  

 

บทกวีเล่มหนึ่งของ “ปาป้า”
จากคอลัมน์ “คนหนังสือ”
เขียนโดย ศุภฤกษ์ รมยานนท์
ในจุดประกายวรรณกรรม
นสพ.กรุงเทพธุรกิจฉบับวันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ.2541
%%%%%%%%%%%%%%%
ตอนผมเรียนวรรณกรรมอเมริกันของต้นศตวรรษที่ 20 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น มีนวนิยายเล่มหนึ่งที่ผมต้องอ่านคือ Farewell to Arm ของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ตอนนั้นผมได้รู้จักกับ อุดร วงษ์ทับทิม เฮมิงเวย์เป็นนักประพันธ์ที่อุดรชื่นชอบและพูดถึงอยู่เสมอ
อุดรกับผมต้องทำรายงานเพื่อบรรยายกันหน้าชั้น แต่แทนที่อุดรจะได้เรื่องของเฮมิงเวย์ กลับได้เรื่อง The Great Gatsby ของ เอฟ. สก็อตต์ ฟิทช์เจรัลด์ นักศึกษาหญิงในชั้นคนหนึ่งได้เรื่อง Farewell to Arm ไป ส่วนผมได้เรื่อง All The King’s Men ของ โรเบิร์ต เพ็นน์วอร์เร็น
แต่ถึงอย่างไรผมก็อ่าน Farewell to Arm จนจบ เป็นนวนิยายเกี่ยวกับความรักในระหว่างสงคราม ผมมีความประทับใจตัวละครเอกของเรื่อง ร.ท. เฮ็นรี่ ที่ถูกข้าศึกยิงขณะขับรถจนรถคว่ำหมดสติไป แล้วเขาก็มีประสบการณ์จิตนอกร่าง หรือตามหลักศาสนาพุธของเราเรียกว่า “กายทิพย์” ที่กำลังอยู่ในความสนใจของผมในขณะนั้น
สมัยที่เรียนอยู่ผมยังไม่ได้แปลหนังสือ แต่ อุดร วงษ์ทับทิม ก็แปลแล้ว ซ้ำยังเป็นนักเขียนอีกด้วย ผมได้เห็นผลงานแปลเรื่องของเฮมิงเวย์ของอุดรปรากฏในหน้านิตยสารรวมทั้งงานเขียนอื่น ๆ ตรงนี้เองทำให้ผมอยากมีงานเขียนเหมือน อุดร วงษ์ทับทิม บ้าง ผมลองแปลเรื่อง “The Killer” ของเฮมิงเวย์ส่งไปยังนิตยสาร “แมน” แต่ไม่ได้รับการลงพิมพ์
“The Killer” เป็นเรื่องสั้นที่มีบทพูดตลอดทั้งเรื่อง ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับผู้อ่านมาก โดยให้ผู้อ่านจินตนาการฉากและอากัปกิริยาของตัวละครเอาเอง แทบจะไม่มีการบรรยายเรื่องและบรรยายฉากเลย
ต่อมาผมได้อ่านเรื่อง The Old Man and The Sea ซึ่งเป็นนวนิยายบรรยายฉากและอากัปกิริยาของตัวละครนำเรื่องได้อย่างพิสดาร แต่ผมได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Jaws มาก่อน ฉากการต่อสู้ชิงไหวชิงพริบกับฉลามยักษ์ของเจ้าของเรือหาปลาขนาดเล็กเทียบเคียงได้กับการชิงไหวชิงพริบของ “ชายชรา” กับปลายักษ์ไม่มีผิด นวนิยายเรื่องนี้ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ได้รับรางวัลโนเบล และได้รับการขนานนามให้เป็น The Great Artist ชื่อเสียงเรียงนามกระหึ่มก้องไปทั่วโลก
ผมเองไม่ได้หยิบเรื่องของเขามาแปลอีก เพราะไปเจอหนังสือรวมเรื่องสั้นอเมริกันปกแข็งเรียงกันเป็นชั้น ๆ ในห้องสมุด เอยูเอ. ผมหาเรื่องสั้นขนาดสั้น ๆ ที่เหมาะจะเสนอต่อนิตยสารแปลออกไป และก็ได้รับการตีพิมพ์บ่อย ๆ
นักเขียนผู้ใหญ่บางท่านของไทยเรามีแบบอย่างชีวิตคล้าย ๆ เฮมิงเวย์ “ปาป้า” เป็นชื่อเล่นของเฮมิงเวย์ นักเขียนไทยที่ชื่อเล่นว่า “ปาป้า” ก็คือ พี่เพี้ยน พุ่มชะมวง อดีตบรรณาธิการนิตยสาร “ชีวิตกลางแจ้ง” ผมมีโอกาสไปร่วมงานฉลองครบรอบปี “ชีวิตกลางแจ้ง” หลายครั้ง
ชีวิตจริงของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ คงเป็นแบบอย่างชีวิตลูกผู้ชายเต็มตัว ที่ให้ความสนใจกับความเสี่ยงได้เสี่ยงเสียและการผจญภัย ชอบต่อสู้ชกต่อย ชอบเล่นปืนผาหน้าไม้ ชอบตกปลาล่าสัตว์
รู้สึกจะเป็นปี 2536 เห็นจะได้ ผมได้แปลเรื่องสั้น A Day’s Wait (“อีกนานมั้ยกว่าผมจะตาย”) ของเฮมิงเวย์ตีพิมพ์ในนิตยสาร “แพรว” เป็นเรื่องที่ผู้เขียนต้องดูแลลูกชายป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ พ่อหนูน้อยคิดว่าตัวเองใกล้จะตายจึงไม่อ้อนไม่กวนผู้เป็นพ่อ นอนรอความตายให้มาถึงอย่างกล้าหาญ ผู้เป็นพ่อโทรตามหมอเอาหยูกเอายาให้ลูกกิน แล้วคว้าปืนยาวออกไปยิงนกนอกบ้านก่อนกลับมาดูแลลูก พอสอบถามความจริงก็รู้ว่าพ่อหนูน้อยเข้าใจผิด คิดว่าตนไข้ขึ้นสูงมีหวังต้องตายแน่ ๆ พ่อซึ่งเป็นผู้เขียนเรื่องนี้จึงอธิบายว่า เป็นไข้หวัดใหญ่ไม่ถึงกับต้องตายหรอก
เรื่องสั้นเรื่องนี้ขัดกับความรู้สึกของผม อาจเป็นเพราะจิตวิญญาณของความเป็นคนไทย ถ้าในบ้านมีญาติพี่น้องเจ็บป่วยก็จะหยุดเบียดเบียนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ราว ๆ เดือนเมษายน 2537 สมพงษ์ ทวี’ ไปค้นเจอหนังสือรวมบทกวีของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ที่ห้องสมุด เอยูเอ. โทรมาหาผมเพื่อให้ผมแปล สมพงษ์บอกให้ผมมาเอาต้นฉบับภาษาอังกฤษที่งานวันนักเขียน 5 พฤษภาคม ที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ เห็นเข้าบอกผมว่า “เฮ้ย นายรีบแปลให้เสร็จแล้วเอามาให้เรานะ เราจะทำเป็นพ็อคเก็ตบุ๊คเลย”
สมดังที่ลั่นวาจา นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ ขณะนั้นเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์กล้วยไม้รีบจัดทำ บทกวี เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ อย่างรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ โดยมี สมพงษ์ ทวี’ เป็นผู้ให้การปฏิสนธิ และผมเป็นผู้แปล ผมแปลได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น เกือบครึ่งหนึ่งของเฮมิงเวย์กล่าวถึงกีฬาเบสบอล ซึ่งผมไม่รู้จักกีฬาประเภทนี้แม้แต่น้อย อเมริกันถือว่าเบสบอลเป็นกีฬาในจิตวิญญาณของพวกเขา
นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ มองการณ์ไกลเป็นฉาก ๆ ว่า นักเขียนนักแปลผู้นิยมนักประพันธ์รางวัลโนเบลนามกระเดื่องคือ อุดร วงษ์ทับทิม เลยเอาชีวประวัติเฮมิงเวย์ที่อุดรเคยแปลไว้มารวมเป็นรูปเล่มด้วย ทั้งนิรันศักดิ์และสมพงษ์ มีผมรวมอยู่ด้วยช่วยกันโปรโมท บทกวี เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ จนติดตลาด
ลักษณะนิสัยบางอย่างของเฮมิงเวย์เป็นคนอ่อนไหวในอารมณ์ จากข้อความแปลของ อุดร วงษ์ทับทิม สรุปได้ว่า ในปี 2478 เฮมิงเวย์ได้รับรางวัลชนะเลิศการตกปลาที่อังกฤษ ทำให้ผู้แข่งขันเกิดโต้แย้งถกเถียงกัน เขาประกาศว่าถ้าใครสามารถชกกับเขาได้เกิน 4 ยกจะให้เงินรางวัล 200 เหรียญ และเฮมิงเวย์ก็ได้ชกกับ ทอม ฮีนีย์ แชมป์ตกปลาชาวอังกฤษท่ามกลางคนมุงดูกันเนื่องแน่น
อาจเป็นเพราะชื่อเสียงของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย กระหึ่มก้องโลก เป็นแบบอย่างชีวิตลูกผู้ชายที่ทุ่มเทสังขารและวิญญาณให้กับความปรารถนาที่จะเป็นและที่ได้เป็นสมดังตั้งใจ ผมเห็นคนเขียนหนังสือบางคนในแวดวงนักเขียนไทยเป็นอย่างนี้ทั้ง ๆ ที่เป็นวงการแคบ ๆ จึงขอยกถ้อยคำของ พี่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นักเขียนรางวัล “ศรีบูรพา” ประจำปี 2539 ดังนี้:
“เรามันยังต้วมเตี้ยมทั้ง ๆ ที่เรานำหน้า น่าเห็นใจ เกิดมาเป็นคนอยู่ที่ไหนก็เติบโตได้เหมือนปลา อยู่หนองน้ำไหนก็เติบโตได้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องโตกว่าปลาที่อื่น อย่าเอามาเปรียบเทียบ จะเอาความเติบโตในแผ่นดินเราไปเทียบกับปลาที่เติบโตในแม่น้ำอื่นของโลกมันไม่ใช่”

******************

 

โดย: kitisak IP: 124.120.16.175 21 ตุลาคม 2552 23:35:17 น.  

 

อยากเป็นๆๆ

 

โดย: นิว IP: 192.99.14.36 9 เมษายน 2557 18:42:07 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Flowery
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Flowery รักการเขียน รักการเรียนรู้ รักภาษาอังกฤษ รักการแปล และรักที่จะแบ่งปันประสบการณ์ความรู้
Friends' blogs
[Add Flowery's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.