Group Blog
 
 
ธันวาคม 2548
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
22 ธันวาคม 2548
 
All Blogs
 
1 มกราคมในอดีต



1 มกราคม พ.ศ. 2406
วันประสูติสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

*สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ( พระพันปีหลวง ) ประสูติ ในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2406 เป็นพระราชธิดาในพระ บาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ เจ้าจอมมารดาเปี่ยม ( ซึ่งในรัชกาล ที่ 5 ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นเจ้าคุณจอมมารดา และใน รัชกาลที่ 6 เป็นสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ) ในการสมโภชเมื่อ ประสูติได้ ครบเดือนหนึ่ง พระองค์ได้รับพระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าเสาวภา ผ่องศรี และมีคาถาพระราชนิพนธ์ภาษามคธพระราชทานพรอีกด้วยเหมือน ดั่งพระองค์อื่น ๆ ในรัชกาลนี้ คาถานั้นว่าดังนี้

" โสภาสุทธสิริมตี อิติ นาเมน วิสสุตา โหตุ มยห อย ธีตา ปิยมาย สุปุตติกา สุขีนี จ อโรคา จ โหตุ เสฏฐา ยสสสินี สพพทาเยว นทโทสา อุปปสยหาว เกนจิ อุททธา มหทธนา โภค วตี พหูหิ เอญชิตา เสฆธา ปิตุโน มาตุยาจาปิ สพพทา รกขต ยส สุหิตา โหตุ ภาตูน ภคินีนญจ สาธุก พุทธาทิวตถวานุภาโว สทต อภิรกขตุ "

มีคำแปลพระคาถานี้ ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงแปลเป็นภาษาไทยถวายไว้แต่ก่อนนานแล้ว ดังนี้ " ขอธิดาของเรา ซึ่งเป็น บุตรีอันดีของเปี่ยมคนนี้ จงปรากฏโดยนามว่า โสภาสุทธสิริมตี ( เสาวภา ผ่องศรี ) เถิด ขอเธอจงมีสุขและไม่มีโรค มี อิศริย ยศประเสริฐสุด ปราศจากโทษอันใคร ๆ อย่า คุมเหงได้ทุกเมื่อ จงเป็นคนมั่งคั่งมีทรัพย์ใหญ่ มีโภคสมบัติมากอันคนเป็นอันมาก นิยม นับถือ ขอเธอจงรักษาเกียรติยศของบิดามารดาไว้จงทุกเมื่อ จงทำนุบำรุงพี่น้อง ชายหญิงอันดี ขออานุภาพพระรัตนตรัย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จงรักษาเธอทุกเมื่อเทอญ "

ท่านผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า สมเด็จฯ ทรงมีพระปัญญาเฉียบแหลมมาแต่ยังทรงพระเยาว์ แต่บางทีก็ดื้อมาก เช่น เวลาทรงพระอักษร ก็ไม่ยอมทรงอ่านดัง ๆ พระอาจารย์อ่านถวายไปเท่าใดท่านก็ทอดพระเนตรตามไปเฉย ๆ พระอาจารย์ไม่อาจทราบว่าสามารถทรงได้เพียงไหน จึงต้องไปร้องทุกข์ต่อเจ้าจอมมารดา ครั้นเจ้า จอมมารดาทูลต่อว่า ก็ตรัสว่า " ฉันอ่านได้แล้ว " เจ้าจอมมารดาบังคับให้ทรงอ่านให้ฟังก็ได้จริงดั่งที่ตรัสมา พระองค์เป็นพระราชธิดาที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรง พระเมตตามาก ดั่งปรากฏในพระนิพนธ์เรื่อง ความทรงจำของสมเด็จกรมพระย าดำรงราชานุภาพว่า เมื่อเสด็จทรงพระราชทานประพาสในที่ใด ๆ ก็โปรดให้สมเด็จฯ ประทับบนพระเพลา คู่กับพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ( สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในรัชกาลปัจจุบัน ) ถ้าไปทางไกลหน่อยก็ประทับที่ ซอกพระขนอง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเสียเมื่อพระองค์มีพระชันษาเพียง 5 ปี ครั้นเมื่อมีพระชันษาได้ 13 ปี ได้เสด็จเข้า พระราชพิธี โสกันต์ พร้อมด้วยพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่สี่อีก 5 พระองค์ อาทิ คือ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ( สมเด็จพระเจ้าบรม วงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวิตติวงศ์ ) ครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดเป็นการพิเศษ คือมีกระบวนแห่รอบนอกด้วย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ได้ทรงกล่าวไว้ในพระราชประวัติของพระองค์ที่พิมพ์ไว้ต้นหนังสือแจกงานพระบรมศพว่า " ในปลาย รัชกาลที่ 4 นั้น ยังหาได้มีที่จะศึกษาเล่าเรียนได้ดีเสมอเหมือนอย่างทุกวันนี้ไม่ และพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในซึ่งทรงชำนาญในการอักษร เคยเป็นที่ศึกษาเล่าเรียน ของเจ้านายชั้นหลังนั้นก็สิ้นพระชนม์ไปเสียหมดแล้ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ จึงมีโอกาสที่จะทรงศึกษาเล่าเรียนได้น้อยนัก แต่หากว่าทรงมีพระวิริยะพระปัญญา แตก ตั้งแต่ประสูติมาเดิมแล้ว และพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระเมตตากรุณาใช้สอยติดตามเสด็จมาแต่ยังทรงพระเยาว์ได้ทรงเห็นทรงฟังพระกระแส รับสั่ง และการงานในพระราชสำนักมาก อีกทั้งได้ทรงพระอุตสาหะหมั่นฟังหมั่นถาม เล่าเรียน หมั่นเขียน หมั่นตริตรองตามวิสัยบัณฑิตยชาติ จึงได้ทรงทราบสรรพ วิชาอันควรจะทราบได้ ถ้าแม้จะไม่ดีกว่า ก็เสมอเหมือนผู้ที่มีความรู้และศึกษาเล่าเรียนอย่างดีแล้วก็ได้ ความข้อนี้มีพยานที่จะให้เห็นปรากฏชัด ในลายพระราชหัตถ์ ที่ทรงไว้เป็นอันมาก กับทั้งในราชการบ้านเมืองอันสำคัญที่สุด ซึ่งได้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ในเวลาซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จพระ ราชดำเนินประพาสยุโรปใน พ.ศ. 2440 ย่อมปรากฏชัดเจนแก่คนทั้งปวงทั่วหน้ากันแล้ว ทรงพระปัญญาสามารถที่จะวินิจฉัยราชการได้ทั่วไป แม้ที่สุดในข้อสำคัญ ๆ ซึ่งเกิดมีความเห็นแตกต่างกันในระหว่างเจ้ากระทรวงทบวงการนั้นๆก็ยังทรงพระราชวินิจฉัยได้แต่โดยลำพังพระองค์ให้เป็นที่พอใจกันได้ทั่วหน้าแล้ว และมิให้ เป็นที่เสียประโยชน์ราชการอย่างหนึ่งอย่างใดได้เลย "
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐานพระองค์ไว้ในตำแหน่ง พระมเหสีมีพระอิสริยยศเป็นลำดับมาคือ เป็น พระนางเธอเสาวภาผ่องศรี แล้วเป็น พระนางเจ้า ฯ พระวรราชเทวี ต่อมาเป็น สมเด็จพระนางเจ้าพระอัครราชเทวี ครั้นถึง พ.ศ. 2440 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จประพาสยุโรป ได้ทรงสถาปนาพระองค์เป็น สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์โดยฐานะที่ทรงเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในรัชกาลที่หก พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระองค์เป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนี และทรงมอบการปกครอง ในพระบรมมหาราชวังถวายเป็นสิทธิ์ขาดแก่พระองค์ ต่อมายังถวายพระเกียรติในทางทหารคือ ทรงเป็นพันโทผู้บังคับการพิเศษกองพันที่ 2 กรมทหารมหาดเล็ก
รักษาพระองค์ในพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพันเอกพิเศษแห่งกรมทหารม้าที่ 5 นครราชสีมา สมเด็จ ฯ ได้ทรงรับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยา ภรณ์ฝ่ายในชั้นที่ 1 ทุกอย่าง ตั้งแต่ในรัชกาลที่ห้ามาแล้วและได้ทรงดำรงตำแหน่งมหาสวามินีแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในด้วย ( ตำแหน่งนี้มีหน้าที่ กำหนดตัวผู้ที่สมควรได้รับพระราชทานตราขึ้นถวายเพื่อทรงพิจารณา ได้เลิกไปแล้วภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 ) ในรัชกาลที่หก เมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นสูงสุด คือ มหาวชิรมงกุฎขึ้น ได้ถวายแด่พระองค์เป็นปฐมสำหรับสตรี โดย วางบนพานตั้งไว้หน้าพระบรมโกศ เพราะตรานี้สร้างเสร็จเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว พระองค์ยังได้ทรงรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน ของต่างประเทศ อีก หลายประเทศ
สมเด็จฯได้บำเพ็ญพระราชกรณียกิจอย่างน่าสรรเสริญในฐานะพระมเหสีของพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ ทรงตั้งมั่นอยู่ในราชธรรมจรรยา มีพระราชหฤทัย กว้าง ขวาง เพียบพร้อมด้วยพระเมตตาและกรุณาคุณเป็นที่นับถือของคนทั้งหลาย แม้จะมีความฉุนเฉียวบ้างในบางขณะบางกรณีก็มิได้พยายาทผูกแค้นอยู่นาน จึ่งมีผลที่ บางคนเคยมีใจชิงชังพระองค์มาก่อนแล้วกลับกลายเป็นผู้จงรักภักดีในที่สุด ก็มีอยู่มาก อนึ่ง พระองค์ยังทรงมีพระญาณวิเศษอาจหยั่งทราบได้ใน ความจงรักภักดีหรือ คุณสมบัติบางประการของผู้ที่มิได้ขวนขวายเฝ้าแหน หรือพยายามวิ่งเต้นหาความชอบแต่เฉพาะพระพักตร์อันใดนัก ข้อนี้ก่อให้เกิดความจงรักภักดี มั่นคงต่อพระองค์ ยิ่งขึ้นในจิตใจของผู้ที่เห็นคุณค่าในน้ำพระราชหฤทัยอันเที่ยงธรรมนั้น
สำหรับพระราชสวามีนั้นพระองค์ทรงเป็นผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขได้โดยแท้จริง ดั่งจะเห็นได้หลายทาง เช่นทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างสมบูรณ์ ในยามประชวร พระองค์ก็คะเนพระอาการได้ถูกต้อง และถวายการพยาบาลให้เป็นที่พอพระราชหฤทัย ในการประชวรครั้งสุดท้ายนั้น เมื่อได้เห็นพระอาการ แม้ในระยะเริ่มแรก ก็ ทรงทราบทันทีว่าหนัก ก่อนที่หมอจะทราบว่าพระวักกะไม่ทำงานและพระบังคนเบาเป็นพิษเสียอีก ทั้งนี้น่าจะเป็นด้วยทรงมีพระหฤทัยจงรักภักดีผูกพันมั่นคง อยู่ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดั่งปรากฏในพระราชดำรัส เมื่อพระราชทานเหรียญราชินีแก่ผู้โดยเสด็จดำเนินประพาสยุโรปคราวแรกๆ เมื่อ วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2440
" เรามีความขอบใจท่านทั้งหลายบันดาที่ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประพาสประเทศยุโรปครั้งนี้เป็นอันมาก ถึงว่าการเสด็จยุโรปครั้งนี้มิใช่ไป ทัพศึกก็จริง แต่เมื่อคิดดูถึงระยะทางที่ไกลแลกันดาร ทั้งภยันตรายต่างๆ ซึ่งอาจจะมีจะเป็นได้ด้วยโลกะธาตุแลเหตุอื่นๆ แลที่สุดเมื่อคิดว่าพระองค์แลพระบรมศุขของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเปนสิ่งสำคัญของชาวเราและบ้านเมืองของเราเพียงใด ก็ย่อมและเห็นได้ว่าน่าที่ระวังเหตุการต่าง ๆ ในเวลาที่เสด็จไปครั้งนี้ เป็นการ สำคัญมาก ที่ท่านทั้งหลายได้ติดตามเสด็จพิทักษ์รักษาแลสนองพระเดชพระคุณ ในพระบาทสมเดพ็จพระเจ้าอยู่หัวโดยความจงรักภักดี ต่อใต้ฝ่าลอองธุลี พระบาท แลได้อุส่าห์รักษาการตามหน้าที่เรียบร้อยตลอดมาจนเสด็จกลับคืนพระนครครั้งนี้ ชื่อว่าเปนความชอบ ความดี และเปนเกียรติยศแก่ท่านทั้งหลาย อันสมควรจะสรร เสริญยิ่งขึ้น ในส่วนตัวของเรานี้ ท่านทั้งหลายย่อมจะเข้าใจได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเปรียบดุจดวงชีวิตของเรา ที่ท่านทั้งหลายได้ช่วยกันพิทักษ์รักษาสนอง พระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงเปนสุขสำราญตลอดทางกันดาร จนเสด็จกลับคืนพระนครฉนี้ ก็เหมือนหนึ่งท่านทั้งหลายได้ช่วยป้องกันชีวิต ของเราตลอดมา จึงขอบคุณท่านทั้งหลายเปนอันมากเมื่อเราระฦกถึงคุณของท่านทั้งหลายที่มีแก่เราดังว่ามานี้ จึงได้สร้างเหรียญราชินี * ขึ้นโดยเฉพาะ แลได้รับพระ ราชทานพระบรมราชานุญาตในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะได้ให้แก่ท่านทั้งหลายในเวลานี้ จงรับไว้ประดับกายเปนที่ระฦกถึงที่เราขอบคุณท่านทั้งหลาย ใน ครั้งนี้สืบไปทุก ๆ คนเทอญ "
( * เหรียญราชินี เป็นเหรียญทำด้วยเงินห้อยแถบสีฟ้า ด้านหนึ่งมีอักษรพระนามย่อ ส.ผ. อีกด้านหนึ่งมีอักษรบรรทัดบนว่า พระราชทาน
บรรทัดล่างว่า ร.ศ. 116 เหรียญนี้ใช้ประดับอย่างเดียวกับเหรียญที่ระลึกงานพระราชพิธีต่าง ๆ ของหลวง )
ไม่ว่าผู้ใดในโลกนี้ จะเป็นบิดามารดากับบุตร หรือเป็นสามีภรรยากัน หรือเป็นญาติพี่น้องเพื่อนฝูงกัน หรือแม้เป็นแต่เพียงบ่าวกับนายก็ตาม ถ้ารู้ใจกัน เข้าใจ กันดีไม่ต้องมีการอธิบายอะไรกันมาก ก็ย่อมคบกันได้ยั่งยืนมั่นคงและสนิทสนม สมเด็จฯ ทรงเป็นผู้รู้พระราชอัธยาศัยของพระราชสวามีเป็นอย่างดียิ่ง ดั่งที่เล่ากัน อยู่มาก เช่นว่าอาจหยิบของถวายได้ตามพระราชประสงค์โดยเกือบมิต้องมีพระราชดำรัสสั่ง และสามารถทรงสนทนากันได้ทุกเรื่องไป ให้เป็นที่เพลิดเพลินพระราช หฤทัย พระองค์จึงเป็นที่ " ชอบพระราชอัธยาศัย ไว้วางพระราชหฤทัยและทรงพระเมตตากรุณาอย่างยิ่งที่สุดหาที่เปรียบเทียบมิได้ ดั่งปรากฏอยู่ในพระราชประวัติต้นหนังสือ แจกงานพระบรมศพของพระองค์ตลอดจนเนื้อความของหนังสือเรื่องนั้นเอง ก็เป็นพยานอยู่ ( คือเรื่องพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีมาพระราชทานแก่พระองค์ ระหว่างที่เสด็จประพาสยุโรปคราวแรก )
พระคุณสมบัติที่เด่นอีกอย่างหนึ่งของสมเด็จฯที่พระราชสวามีทรงยกย่องมากคือ สุจริตธรรม ข้อนี้ปรากฏในพระราชนิพนธ์หลายแห่งละในตอนท้ายแห่งพระราช ดำรัสที่พระราชทานในการสโมสรสันนิบาตเพื่อประกาศกระแสพระบรมราชดำริ และพระราชกำหนดแห่งการเสด็จยุโรปพร้อมทั้งแต่งตั้ง ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ต่างพระองค์ ก็มีว่า
" เราได้สั่งให้พระอัครราชเทวีรักษาราชการในหน้าที่อันสำคัญยิ่งนี้ ด้วยการปฏิบัติอธิษฐานน้ำใจ ให้ตั้งอยู่ในความสัตย์ธรรมอันประเสริฐ ซึ่งเป็นธรรมอันพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ทรงปฏิบัติอธิษฐาน ในพระราชหฤทัยมิให้อคติทั้ง 4 ประการ มาครอบงำในสันดานได้ ให้มีความกรุณาปรานีและตั้งใจทะนุบำรุงทั่วไปในพระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน และสมณพราหมณาจารย์ประชาราษฎร
ทั่วพระราชอาณาจักร แลอารีตั้งใจเป็นธรรมต่อชนทั้งหลายอันจะมายังพระนครนี้ แลรักษาสัญญาทั้งปวง อันได้ทำไว้แล้วดุจเราได้ประพฤติต่อ
ท่านทังหลาย 29 ปีมาแล้วนั้น
เราหวังใจว่า ด้วยความสุจริตอันมีอยู่แล้วในสันดานแห่งพระอัครราชเทวี และด้วยความจงรักภักดีที่เธอมีต่อตัวเรา ( เธอ ) คงจะประพฤติตามที่เราหวังใจ แลที่ เราได้แนะนำนี้ทุกประการ "

สมเด็จฯ ทรงมีพระราชโอรสธิดาคือ
1. สมเด็จเจ้าฟ้าพหุรัดมณีมัย พ.ศ. 2421-2430 ในรัชกาลที่หก ทรงสถาปนาเป็นกรมพระเทพนารีรัตน์
2. พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติ พ.ศ. 2423 ทรงราชย์ พ.ศ. 2453 สวรรคต พ.ศ. 2468
3. สมเด็จเจ้าฟ้าชายตรีเพชรุตมธำรง พ.ศ. 2424-2430
4. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พ.ศ.2425-2463
5. สมเด็จเจ้าฟ้าชายศิริราชกกุธภัณฑ์ พ.ศ. 2428-2430
6. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ในวันที่ประสูติ พ.ศ. 2430
7. สมเด็จเจ้าฟ้าชายอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา พ.ศ. 2432-2467
8. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย พ.ศ. 2435-2466
9. พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติ พ.ศ. 2436 ทรงราชย์พ.ศ.2468 สละราชสมบัติ พ.ศ. 2477 สวรรคต พ.ศ. 2484
ใคร ๆ ที่ได้รู้จักพระราชโอรสของพระองค์แม้แต่เพียงเล็กน้อย ย่อมเห็นพ้องต้องกันอยู่ว่า ทุกพระองค์มีพระนิสัยซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา ไม่มีลักษณะ " เค็ม " เลย หากจะมีข้อใคร่ติอยู่บ้างก็ตรงที่ว่า สมเด็จฯ ทรงสนิทสนมกับพระราชโอรสบางพระองค์น้อยเกินไป

สมเด็จฯ ทรงมีพระราชนัดดาคือ
1. สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
2. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
3. พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภาในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย
4. พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรานนทธวัชในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย
ส่วนกิจการที่สมเด็จฯได้ทรงจัดทำสำหรับบ้านเมืองนั้น ที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นการรักษาพระนครใน พ.ศ. 2440 สมัยนั้นการปกครองแผ่นดิน ขึ้นอยู่กับพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกอย่าง ถ้าพูดอย่างปัจจุบันสมัยก็คือ ทรงเป็นทั้งพระมหากษัตริย์ ทั้งนายกรัฐมนตรีรวมอยู่ด้วยกัน เมื่อต้องแทนพระองค์ สมเด็จ ฯ ก็ต้องทรงสละ เวลาและความสุขสำราญส่วนพระองค์ให้แก่ราชการเป็นอันมาก จริงอยู่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งคณะที่ปรึกษาของผู้สำเร็จราชการไว้ด้วย (มีสมาชิก 5 ท่าน) แต่ภาระหนักก็ตกอยู่แก่พระองค์เป็นส่วนมาก ซึ่งภาระทั้งนี้พระองค์มิได้เคยทรงศึกษาหรือฝึกหัดให้ทำมาก่อนเลย นอกจากจะทราบเรื่องอยู่บ้าง โดยที่เป็นผู้ไว้วางพระ ราชหฤทัยใกล้ชิดสนิทสนมในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชการที่ต้องทรงวินิจฉัยและสั่งก็มีอยู่มาก ไหนยังงานในด้านสังคมอีกเล่า พระองค์เสด็จประทับในที่ประชุม คณะเสนาบดี เสด็จออกให้ผู้มีราชการเฝ้า เสด็จเป็นประธานในพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากกว่าในปัจจุบันนี้มาก ถึงเทศกาลกฐินก็ต้องเสด็จไปพระราชทาน พระกฐิน หลวง แม้จนกระทั่งเมื่อเกิดเพลิงไหม้ในพระนครก็ได้เสด็จไปเป็นประธานในการดับเพลิงด้วยทุก ๆ วันในเวลาเย็น เสด็จลงสวนศิวาลัยเพื่อร่วมทรงสนทนาเล่นหัว กับพระราชวงศ์ และข้าราชการฝ่ายใน บางทีก็สรงน้ำกันในสระ โปรดให้ช่างสตรีเข้าไปฉายรูปในการเสด็จลงเวลาเย็น ๆ นี้ส่งไปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ในพระราชหฤทัยว่า ทางนี้มีความสุขสำราญดีอยู่ทั่วกัน ครั้นค่ำลงก็ทรงพระอักษรอยู่จนดึก เพราะนอกจากหนังสือราชการที่ต้องทรงวินิจฉัยโดยลำพัง แล้ว ยังมีลายพระราชหัตถ์ส่งไปทูลเกล้าฯ ถวายอยู่แทบจะทุกวันในระหว่างที่แทนพระองค์อยู่นี้ ได้ทรงจัดการต่างๆขึ้นใหม่ก็มาก เช่นวางระเบียบในพระบรมมหาราชวัง พระองค์ต้องทรงรับภาระอันหนักนี้อยู่เป็นเวลาถึง 8 เดือนเศษ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จคืนสู่พระนครแล้วก็มีการสมโภชรับเสด็จ ต่อมาเกือบจะทุก วันนี้ เป็นเวลาร่วม 2 เดือน ซึ่งสมเด็จฯ ทรงมีส่วนเสด็จไปร่วมด้วยเสมอ จึงมีผลที่พระอนามัยเสื่อมโทรมลงอย่างหนัก ต่อมาถึงกับประชวรอยู่พักใหญ่ ถึงแม้พระอาการ ประชวรจะคลายลงในที่สุดแต่พระอาการประชวรจะคลายลงในที่สุดแต่พระอาการบรรทมหลับยากก็ยังติดพระองค์อยู่ตลอดมา ในระยะเวลา 6-7 ปี ของตอนท้ายแห่ง รัชกาลที่ห้าการเฝ้าแหนสนิทสนมในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมิได้เป็นไปเช่นก่อน ๆ นี้
ส่วนผู้ที่ร่วมราชการนั้นจะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์หรือข้าราชการก็ตาม เมื่อประจักษ์ในพระราชหฤทัยว่าเป็นผู้มีความสามารถหรืออุตสาหพยายามแล้ว ย่อมทรง พระกรุณาอนุเคราะห์เป็นอันดี บางท่านก็ได้รับพระราชทานทรัพย์สินเงินทองที่บ้านหรือไร่นานับร้อย ๆ ไร่ก็มี เป็นต้นว่า วังวรดิศนั้น สมเด็จฯ ได้ตรัสชวนพระบาท สมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเข้าร่วมกันพระราชทานพระราชพรัพย์ให้สร้างตำหนักขั้นและพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินบางส่วนด้วยครั้นเมื่อเสด็จ ฯ ไปในการ ขึ้นวัง สมเด็จ ฯ ก็ยังได้พระราชทานเงินเพิ่มเติมอีกเป็นส่วนสำหรับสร้างบ้านเจ้าจอมมารดา ผู้ใดป่วยไข้ล้มตาย หรือจะทำการสมรส หรือโกนจุกบุตรหลาน สมเด็จ ฯ ก็พระราชทานพระราชานุเคราะห์เสมอ มากบ้าง น้อยบ้าง ตามฐานานุรูป บุตรธิดาของท่านที่กล่าวมานี้ ก็ทรงอุปถัมภ์บำรุงด้วยประการต่าง ๆ ที่ทรงเลี้ยงไว้ในพระราช ฐานก็มีมาก พระองค์ทรงพระกรุณาจัดให้ได้เล่าเรียนยังต่างประเทศก็หลายราย จนได้กลับมาทำราชการเป็นโยชน์ต่อบ้านเมืองก็มีจำนวนไม่น้อย เช่น พระองค์เจ้า วิวัฒนชัย ก็เป็นนักเรียนในทุนเล่าเรียนของสมเด็จ ฯ เมื่อเสด็จไปศึกษายังต่างประเทศ สมเด็จฯทรงมีลักษณะที่เด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ ความกล้า สิ่งใดที่ทรงเห็นว่า ดีแล้วพระองค์มิได้ย่อท้อหวั่นไหว ที่จะทรงสนับสนุนหรือจัดทกขึ้น ทั้งนี้เป็นการนำทางที่ดียิ่งสำหรับสตรีเพศ ซึ่งในสมัยนั้นยังอยู่ในระบอบเก่าอย่างเคร่งครัด พระองค์ ทรงเป็นผู้ริเริ่มใช้การผดุงครรภ์ และการพยาบาลอย่างแบบใหม่ เมื่อประสูติพระราชโอรสธิดา เลิกการบรรทมเพลิง ( อยู่ไฟ ) ซึ่งใช้กันมาแต่สมัยโบราณ คนชั้นสูงก็ เกิดความนิยมค่อย ๆ เลิกตามไป พระองค์ทรงพระราชดำริเห็นว่า ประชาชนพลเมืองทั้งหลายจะยังไม่เลิกวิธีเก่าได้ จนกว่าจะมีนางพยาบาลและผดุงครรภ์แบบใหม่ เพียงพอ จึงทรงเป็นพระธุระในการจัดส่งเด็กหญิงไทย 4 คน ให้ไปเรียนวิชานี้ในประเทศอังกฤษตั้งแต่ พ.ศ.2426 เพื่อมาเผยแพร่แก่มหาชนต่อไป แต่เผอิญครั้งนั้น ในประเทศอังกฤษยังไม่ยอมให้เด็กหญิงเรียนการพยาบาลก่อนมีอายุครบ 25 ปี เด็กไทย 4 คนเรียนวิชาเบื้องต้นจบแล้ว ยังจะต้องรออีกหลายปีเป็นการเปล่าประโยชน์ จึงกลับมาโดยมิได้เรียนการพยาบาลและผดุงครรภ์ ถึงกระนั้นก็ได้ไป สอนหนังสือในโรงเรียนสุนันทาลัย และสอนพิเศษแก่กุลธิดาบางท่าน รวมทั้งพระราชธิดาของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยบางพระองค์ ส่วนเรื่องการพยาบาลและผดุงครรภ์นั้น สมเด็จฯพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นในโรงพยาบาล ศิริราช เมื่อผู้ใดเรียนจบตามหลักสูตรก็ได้รับพระราชทานเครื่องมือเครื่องใช้ในการนี้เป็นรางวัล แล้วยังได้โปรดให้ประกาศแก่คนทั้งหลายให้ทราบทั่วไป ในคุณ ประโยชน์ของการผดุงครรภ์แบบใหม่นี้ ให้อ้างพระนามด้วยว่า พระองค์เองก็ได้ทรงใช้อยู่เสมอ และเมื่อหญิงคนใดเข้าไปคลอดบุตรในโรงพยาบาลและใช้วิธีแบบใหม่นี้ ก็พระราชทานเงินทำขวัญ 4 บาท * พร้อมทั้งเบาะและผ้าอ้อมแก่ทารกด้วย 1 ชุด เพื่อชักจูงคนทั้งหลายให้เกิดความนิยม เพราะสมัยนั้นความนิยมในการรักษา พยาบาล แบบใหม่ยังมีน้อยนัก โรงพยาบาลยังต้องใช้แพทย์แผนโบราณร่วมอยู่ด้วย ในหลักสูตรของโรงเรียนแพทย์ก็ต้องมีวิชาแพทย์แผนโบราณอยู่ด้วยต่อมาอีกนาน นอกจากนี้เมื่อหญิงไทยได้จัดตั้งสภาอุณาโลมแดงขึ้นเพื่อช่วยรักษาพยาบาลทหารและประชาชนพลเมืองดีที่ต้องบาดเจ็บเนื่องในการที่บ้านเมืองเราเกิดพิพาทกับ ฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ. 112 ( พ.ศ. 2436 ) นั้นก็ได้ตกลงกันเชิญเสด็จให้สมเด็จฯ ทรงเป็นสภานายิกาของสภานี้มาแต่แรกตั้ง ได้ทรงจัดการในเรื่องนี้เป็นอันดี ถึงรัชกาลที่หกสภานี้ เปลี่ยนมาเป็นสภากาชาด สมเด็จฯ ได้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาต่อมา จวบจนเสด็จสวรรคตลง รวมเวลาทั้งสิ้น 26 ปี แม้เรื่องเล็กน้อย เช่น การขัดฟันขาวสำหรับ สตรีไทย ก็น่าจะเรียกได้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้นำทางขึ้นก่อน ( แต่ก่อนนี้ชาวตะวันออกส่วนมากอมหมากกันจนฟันดำ ทั้งหญิงทั้งชายในประเทศไทยนี้ผู้ชายได้เลิกไป ก่อน แต่ฝ่ายหญิงพึ่งจะเลิกในตอนปลายรัชกาลที่ห้า นอกจากบางคนที่ได้ไปต่างประเทศนานหรือที่สมาคมคบหากับชาวต่างประเทศมาก แต่ก็เป็นส่วนน้อย )
(* เงิน 4 บาท ครั้งนั้นมีค่าเป็นเงินเดือนได้เดือนหนึ่ง หม่อมเจ้าที่เกสากันต์แล้วยังได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 40 บาท ต่อเมื่อกำพร้าพระบิดาจึ่งจะได้ปีละ 48 บาท)
สมเด็จ ฯ ทรงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคงได้ทรงทะนุบำรุงโดยการบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เสมมิได้ขาด ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสร้างเจดีย์วัตถุ มีพระพุทธรูป และพระธรรมคัมภีร์ เช่น พระไตรปิฎกสยามรัฐในรัชกาลที่ห้า ทรงสร้างพระวิหารสมเด็จที่วัดเบญจมบพิตร และทรงปฏิสังขรณ์พระ อารามต่าง ๆ ทั้งในพระนคร ทั้งในหัวเมืองในพระราชอาณาจักร แม้พระพุทธเจดียฐาน นอกพระราชอาณาจักรก็ได้ทรงปฏิสังขรณ์ด้วยกัน กับได้ถวายนิตยภัตแก่พระ สงฆ์บางองค์ ถวายข้าวสารเป็นอาหารบิณฑบาตแก่ภิกษุสามเณรทั้งพระอารามอีกหลายพระอาราม รวมทั้งค่าน้ำประปา ค่ากระแสไฟฟ้า และค่าชำระปัดกวาดรักษาพระ อารามบางแห่งอีกด้วย
ในส่วนสาธารณประโยชน์นั้น พระองค์ได้ทรงสร้างสะพานพระราชเสาวนีย์ริมทางรถไฟสายเหนือเชื่อมถนนศรีอยุธยาให้ติดต่อกันตลอดเมื่อทรงบำเพ็ญ พระราช กุศลฉลองพระชนมายุครบ 48 พรรษา ต่อมายังโปรดให้สร้างนางพระธรณีให้น้ำเป็นอุทกทาน ที่หัวมุมสนามใกล้สะพานผ่านพิภพลีลากับที่โรงพยาบาลปัญจมาธิราชอุทิศ ที่พระนครศรีอยุธยา และบ่อน้ำที่หัวหิน เป็นต้น
อนึ่ง พระองค์ทรงตระหนักแน่ในพระราชหฤทัยว่าความเจริญของบ้านเมืองย่อมอาศัยความที่ได้ศึกษาเล่าเรียนอันดีทั้งชายและหญิงแต่โรงเรียนสำหรับเด็กชาย นั้น ทางรัฐบาลได้จัดตั้งไว้มากแล้ว จึงได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้น เริ่มด้วยโรงเรียนเสาวภา เมื่อ พ.ศ. 2440 ต่อมายังได้โปรดให้จัด ตั้งขึ้นอีก เช่น โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ ( อยุธยา ) ราชินีบูรณะ ( นครปฐม ) สำหรับเด็กชายมีโรงเรียนวิเชียรมาตุ ที่ตรังแห่งหนึ่ง โรงเรียนที่กล่าวนามมานี้ พระราช ทานไว้แก่กระทรวงธรรมการ ( คือ กระทรวงศึกษาธิการบัดนี้ )

ส่วนโรงเรียนราชินีนั้น สมเด็จ ฯ ได้โปรดให้จัดตั้งขึ้น ใน พ.ศ. 2447 โดยทรงเป็นพระธุระในทุกสิ่งทุกอย่างอย่างใกล้ชิด เงินเดือนครู และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์พระราชทานมาในชั้นต้นโรงเรียนนี้ตั้งอยู่ที่ตึกแถวมุมถนนอัษฎางค์และถนนจักรเพชร ปากคลองตลาดซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนพระองค์ของท่าน ต่อมาได้ย้ายไปตั้งที่ท่าช้างวังหน้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ขณะนี้เป็นสำนักงานของ U.N.I.C.E.F ถึง พ.ศ. 2449 จึงได้มาอยู่ในสถานที่ซึ่งเคยเป็นโรงเรียนสุนันทาลัย คือ โรงเรียนราชินีปัจจุบันนี้ โดยสมเด็จ ฯ ได้กราบบังคมทูลขอพระบรม ราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ได้มาอาศัย ณ ที่นั้นถึงรัชกาลที่หก จึงได้รับพระราชทานเป็นสิทธิ์มีเนื้อที่กว้างยาว 4,456 ตารางวา รวมทั้งสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ด้วย
สมเด็จฯ ได้ทรงอุปการะแก่โรงเรียนราชินีเป็นพิเศษจนตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ในชั้นต้นเมื่อคนทั้งหลายยังมิได้นิยมให้เด็กหญิงเข้าโรงเรียน พระองค์ พระราชทานพระราชานุเคราะห์ส่งเสริมความนิยม โดยส่งพระราชวงศ์และเด็กหญิงในราชสำนักของพระองค์หรือในข่ายพระกรุณาให้เข้าเรียนในที่นี้ ทรงจัดรางวัลอัน มีค่าพระราชทานแก่เด็กที่ประพฤติตนดีที่สุดในโรงเรียนรางวัล 1 ที่หมั่นเรียนที่สุดรางวัล 1 ที่เรียนดีได้คะแนนสูงสุดในชั้นประโยคมัธยมรางวัล 1 ที่เรียนดีได้คะแนน สูงที่สุดในชั้นประโยคประถมรางวัล 1 ผู้ที่เรียนจบหลักสูตรของโรงเรียนทุกคนได้รับพระราชทานเข็มกลัดอักษรพระนาม เสาวภา ครูทุกคนได้รับพระราชทาน เข็มกลัด อักษรพระนาม เสาวภา ผ่องศรี ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในกระทรวงธรรมการที่มาเกี่ยวข้องในกิจการของโรงเรียนก็ได้รับพระราชทานด้วย รางวัลทั้งนี้พระองค์เสด็จมาพระ ราชทานอยู่หลายปี บางทีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จด้วย ครั้นต่อมาเมื่อพระอนามัยเสื่อมโทรมลงเสด็จไม่ได้ พระราชโอรสก็เสด็จแทน พระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยได้เสด็จมาหลายครั้ง รวมทั้งเมื่อสมเด็จฯ เสด็จสวรรคตแล้วด้วย
อนึ่ง สมเด็จฯ ได้ทรงรับสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระ ศรีสวรินทิราบรมราชเทวี มาทรงอุปถัมภ์บำรุงเยี่ยงพระราชธิดาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โปรดให้ศึกษาเล่าเรียนจนสามารถหลายทาง เช่น ศึกษาภาษาต่างประเทศดี จนใช้การได้เป็นต้น สมเด็จฯ ได้ทรงอบรมให้นิยมยินดีในอุดมคติอย่างเดียวกับพระองค์เอง ทูลกระหม่อมจึงทรงรับภาระอุดหนุนการศึกษาอย่างแข็งขัน ได้เป็นทีพึ่ง ของโรงเรียนราชินีแทนพระองค์สมเด็จฯ ต่อมาจนตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ได้ทรงรับทอดจัดรางวัลพระราชทานเหมือนดั่งที่สมเด็จฯเคยพระราชทานนั้น จวบจน มีผู้นิยมเข้าโรงเรียนแพร่หลาย นอกจากนี้แล้วยังได้ทรงสละพรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างโรงเรียนราชินีบนขึ้น อุทิศพระราชกุศลถวายสมเด็จฯ และให้สร้างโรงเรียน สหายหญิง ขึ้นทีเมืองสระบุรี ต่อมาพระราชทานที่บ้านแห่งหนึ่งที่ถนนเพชรบุรี แก่กระทรวงธรรมการเพื่อจัดเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู คือ โรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ เป็นเหตุให้ประชาชนคนไทยได้มีการศึกษาขึ้นอีกส่วนหนึ่ง
ในตอนปลายแห่งรัชกาลที่ห้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพญาไทขึ้นเป็นที่ทำการเพาะปลูกอย่างแบบฝรั่ง รวมทั้งมีการเลั้ยงไก่พันธุ์ไข่ดก ของฝรั่งด้วยเป็นการเริ่มแรกที่มีขึ้นในประเทศไทย โปรดให้สร้างพระตำหนักหลังย่อม ๆ สำหรับเสด็จไปประทับแรมหลังหนึ่ง *** กับตำหนักสำหรับข้าราชการบริพาร ฝ่ายในพักอีกหลังหนึ่ง มีพระราชดำรัสชวนให้สมเด็จฯเสด็จไปประพาสที่นั้นเนือง ๆ เป็นที่สำราญพระราชหฤทัยมาก ถ้าเป็นฤดูทำนา สมเด็จฯมักเสด็จไปใน ตอนเช้า ทรงดำนากับพระราชวงศ์ฝ่ายในจนถึงกลางวันทรงพักสรงน้ำแล้วเสวยพระกระยาหารข้าวห่อ ที่โรงนา ( อยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระตำหนัก ) ในเวลาเย็นเสด็จไปประชุมกัน ที่ตำหนักญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในเขตพระตำหนักที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงรถไฟฟ้าขับเองมายังที่นี้ ทรงสนทนากันอยู่เวลาค่ำ จึงเสด็จกลับ บางทีสมเด็จฯก็ประทับแรม ณ พระตำหนักบ้าง พร้อมด้วยเจ้านายบางพระองค์ซึ่งเป็นที่ชอบพระราชอัธยาศัย คือ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน พระองค์เจ้าแขไขดวง พระ องค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ ( ทั้งสามพระองค์นี้ เป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่สี่ ) ครั้งนั้นพญาไทยังเป็นที่เงียบสงบ อยู่นอกเขตสัญจรไปมาอากาศก็ดีเป็นที่สบายมาก
( ปัจจุบันนี้สถานที่นี้เป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า )
( *** พระตำหนักนี้ ในรัชกาลที่หก เมื่อจะทรงสร้างพระที่นั่งพิมานจักรี ฯลฯ ได้โปรดให้รื้อไปปลูกไว้ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ( วชิราวุธวิทยาลัยบัดนี้ ) ครั้นถึง
รัชกาลที่เจ็ด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินแก่โรงเรียนเป็นค่าพระตำหนักนี้ ซึ่งพระองค์โปรดให้รื้อไปปลูกไว้ที่วัดราชาธิวาส )
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังพญาไทเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ถึงวันพุธโปรดให้เชิญเสด็จ
สมเด็จฯ ขึ้นไปจากที่ประทับสวนสี่ฤดู ( อยู่ตรงข้ามฝั่งคลองกับพระที่นั่งอัมพรสถาน ( เพราะเริ่มทรงพระประชวร มีพระราชดำรัสว่า " ฉันเรียกแม่เล็กมามอบให้เป็น เจ้าของไข้ " สมเด็จฯ จึงมิได้เสด็จกลับมาที่ประทับ นอกจากครู่เดียวในวันศุกร์ ( หรืออาจเป็นวันพฤหัสบดีก็ได้ ) พอถึงเวลา 24 นาฬิกา 45 นาที วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคต ข้าหลวงเชิญเสด็จสมเด็จฯ ทรงพระเก้าอี้หามกลับมายังสวนสี่ฤดู พระองค์ประชวรพระวาโยจนไม่รู้สึกพระองค์

ตอนบ่ายวันที่ 23 สมเด็จฯ โปรดให้จัดเครื่องสรงน้ำพระบรมศพ มีพร้อมตลอดจนของที่น่าจะมีอยู่บนพระที่นั่งแล้ว เช่น สบู่และผ้าซับพระองค์ แต่ละอย่างวางไว้ บนพานทองให้หม่อมเจ้าในราชสำนักของพระองค์ช่วยกันเชิญขึ้นไปบนพระที่นั่งอัมพรสถานเพื่อใช้ในการนี้เมื่อเจ้าหน้าที่ได้สรงน้ำพระบรมศพ ทรงเครื่องและเชิญ ลงสู่พระโกศแล้ว ก็เชิญพระโกศแห่ไปประดิษฐานยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ในวันนั้นเจ้านายและข้าราชการฝ่ายในอพยพกันไปในพระ บรมมหาราชวังหมด แต่สมเด็จฯ เสด็จในวันรุ่งขึ้นเพราะยังประชวรอยู่ครั้นเมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้วพระองค์เสด็จไปประทับที่พญาไท โปรดให้เจ้านาย และข้าราชการฝ่ายในกลับคืนไปอยู่สวนดุสิต เว้นแต่ผู้ที่สมัครอยู่ในพระบรมมหาราชวังต่อไป
ระหว่างรัชกาลที่ห้า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสที่ใดในราชอาณาจักร สมเด็จฯก็ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนฝ่ายใน ทุกครั้ง แม้นอกพระราชอาณาจักร หากเป็นทวีปอาเซียพระองค์ก็ได้โดยเสด็จหลายคราว เช่น ประเทศชวา มลายู เป็นต้น ครั้นถึงรัชกาลที่หกเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุน เพชรบูรณ์อินทราชัย และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุริโยทัยธรรมราชา ( พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ) ซึ่งเสด็จกลับมาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ แพทย์หลวงถวายคำแนะนำให้สมเด็จฯเสด็จพระราชดำเนินไปส่ง เป็นการประพาสทางทะเลเพื่อให้ทรงพระ สำราญขึ้นด้วย เพราะพระองค์มีพระโรคาพาธมารบกวนบ้าง เนื่องจากวิปโยคทุกข์ในการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตนั้น จึงได้เสด็จไป ยังประเทศอินโดจีน คือ ญวณ และ กัมพูชาบางจังหวัด ซึ่งครั้งนั้นอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศสและเมืองฮ่องกงด้วย รวมระยะเวลาที่เสด็จ 40 วัน สมเด็จพระเจ้า ลูกยาเธอกราบถวายบังคมลาที่ฮ่องกง แล้วเสด็จต่อไปยังทวีปยุโรปโดยผ่านทางไซบีเรีย
ในการเสด็จครั้งนั้นใช้เรือพระที่นั่งมหาจักรีเป็นราชพาหนะ มีเรือสุครีพเป็นเรือรักษาการตามเสด็จ มีพระบรมวงศ์โดยเสด็จ 4 พระองค์รวมทั้งสมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ( แต่ยังทรงดำรงพระยศเป็นกรมหลวง ) ซึ่งเสด็จในฐานะเสนาบดีต่างประเทศด้วย แม้ว่าจะได้กำหนดไปว่าการเสด็จนี้ ไม่เป็นทางราชการแต่เมื่อไปถึงเมืองใด ก็มีการรับเสด็จทางราชการอย่างสมพระเกียรติยศ
ต่อมายังมีการเสด็จประพาสภายในพระราชอาณาจักรอีกหลายครั้ง เช่น ประพาสจังหวัดฝ่ายเหนือ เป็นต้น ครั้งนี้ได้ไปโดยขบวนเรือจูง รอนแรมตามระยะทาง ในลำแม่น้ำเจ้าพระยา ไปยังจังหวัดนครสวรรค์ก่อนแล้วเสด็จทางรถไฟไปยังจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อทรงนมัสการพระแท่นศิลาอาศน์ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อทรงนมัสการ พระพุทธชินราช ซึ่งได้โปรดให้ประกอบการพระราชพิธีสมโภชด้วย ต่อจากนั้นได้กลับมายังนครสวรรค์ แล้วเสด็จโดยขบวนเรือแม่ปะไปตามลำน้ำพิงถึงจังหวัดกำแพง เพชร แล้วจึงเสด็จคืนสู่พระนคร ในปลายปีเดียวกันนี้ได้เสด็จประพาสนครราชสีมา พิมาย และลำน้ำแควป่าสักจนถึงตำบลหินซ้อน นอกจากนี้ได้เสด็จประพาสหัวเมือง ปักษ์ใต้ มีจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ระหว่างเวลาที่ประทับที่หัวหินได้เสด็จประพาสจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ครั้งหนึ่ง ในคราวหน้าน้ำโดยปกติมักเสด็จไป บางปะอินบ้าง ที่ตำบลบ้านแป้งบ้าง และที่ตำหนัก เกาะลอยอยุธยาบ้าง
ในการเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่างๆ ตามที่กล่าวมาข้างบนนี้ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จประพาส หรือเป็นการแปรพระราชสำนักย่อมเพื่อพระราชสริรสุข ตามคำ แนะนำของแพทย์หลวงเป็นเบื้องต้นก็จริงอยู่ แต่ผลที่แท้จริงหาได้มีเพียงเท่านั้นไม่ เพราะว่าถ้าเสด็จ ไปยังที่แห่งใด พระองค์ก็ทรงพระเมตตาพิจารณาสอดส่อง ทุกข์ สุขของประชาชนไปด้วยเสมอ ถ้าควรจะพระราชทานพระราชานุเคราะห์ได้สถานใด เป็นไม่ละเว้นที่จะทรงปฏิบัติหน้าที่ เช่น การศึกษาเล่าเรียน การบำบัดโรคภัย การบำรุงวัดวาอาราม และอุปถัมภ์พระภิกษุสามเณร การบำรุงถนนหนทาง ตลอดจนเมื่อเกิดภัยต่าง ๆ เช่น ทุพภิกขุภัย ก็พระราชทานแจกข้าวสาร ตำบลใดขาดน้ำ บริโภค ก็โปรดให้ขุดบ่อสร้างสระน้ำ ปีใดหนาวจัด ก็พระราชทานผ้าห่ม ตำบลใดขาดยาบำบัด โรคภัยต่าง ๆ ก็พระราชทานทรัพย์ซื้อยามาแจก ฉะนั้น การเสด็จพระราช ดำเนินไปถุงที่ใด ย่อมนำความร่มเย็นไปสู่พสกนิกร
อนึ่งในรัชกาลที่หก เมื่อถึงฤดูแล้งปลายปีมักจะมีการซ้อมรบของทหารในต่างจังหวัดแทบทุกปี ในการซ้อมรบนี้ สมเด็จ ฯ มักเสด็จไปประทับรวมอยู่ด้วยกับทหาร แทบทุกครั้ง เช่น ที่ราชบุรี และ ในจังหวัดอยุธยา ที่ตำบลบ้านม้า เป็นต้นวันใดซึ่งเป็นวันที่จะมีรายการน่าดู ก็เสด็จประทับรถไฟไปทอดพระเนตร ถึงที่ประลองยุทธ์ ครั้นเสร็จการแล้ว เวลามีการสวนสนามและเลี้ยงใหญ่ในค่าย ก็เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรและประทับร่วมเสวยพระกระยาหารกับทหารด้วย พระองค์ทรง มีความห่วงใยในทุกข์สุขของทหารเป็นอันมาก เมื่อเสด็จไปในการประลองยุทธ์ครั้งใด ก็พระราชทานของแจก มีบุหรี่ ไม้ขีดไฟ น้ำแข็ง ยาอุทัย และอาหารบางชนิดเสมอ ถ้ามีทหารต้องได้รับอุปัทวันตราย ก็ทรงห่วงใยคอยถามอาการ และผลแห่งการรักษาพยาบาล บางทีก็พระราชทานแพทย์หลวงไปช่วยด้วย
สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในชั้นเดิมมีพระสรีรานามัยดีมาก แต่ต่อมาบรรทมหลับยากดั่งได้กล่าวมาแล้ว ทั้งพระบังคมเบามีไข่ขาวด้วย เนื่องจากพระวักกะไม่ เป็นปรกติ ครั้นเมื่อพระชนมายุบรรจบ 4 รอบ ล่วงมาแล้ว ประกอบทั้งทรงประสบวิปโยคทุกข์เมื่อตอนสิ้นรัชกาลที่ห้า ก็มีพระโรคามารบกวนบ่อย ๆ พระอาการมีทรงกับ ทรุด เป็นเหตุให้พระกำลังลอถอยน้อยลงไปทุกที ปีหลัง ๆ ถึงกับทรงพระดำเนินโดยลำพังพระองค์ไม่ได้ ในกลางปี พ.ศ. 2462 ได้ประชวรไข้ติด ๆ กันหลายครั้ง ครั้ง ที่สุดได้เริ่มประชวรเมื่อเวลาเที่ยง วันที่ 19 ตุลาคม 2462 ไข้นั้นเกิดแต่พิษในพระอันตะ กำลังพระหทัยทนพิษไข้ไม่ได้ เสด็จสวรรคตที่ตำหนักพญาไท เวลา 7.50 นาฬิกา วันที่ 20 ตุลาคม นั้นเอง
ในตอนสาย ได้เชิญพระบรมศพไปสู่ที่ประทับของพระองค์ ในพระบรมมหาราชวังเป็นการภายใน บ่ายวันนั้พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้ถวายสักการะสรงน้ำพระบรมศพที่พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร แล้วเชิญพระบรมโกศ แห่ไปประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาประสาท และประกาศให้ประชาชนชาวไทยไว้ทุกข์ถวาย จนกว่าเสร็จการถวายพระเพลิง ระหว่างนั้น ได้มีการพระราชกุศลถวาย ตามบูรพาราชประเพณี ครั้นถึงวันที่ 24 พฤษ ภาคม พ.ศ. 2463 จึงได้เชิญพระบรมศพไปสู่พระเมรุมาศกลางท้องสนามหลวง และถวายพระเพลิง แล้วเชิญพระบรมอัฐิ ไปประดิษฐานบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่วนพระสรีรางคารนั้น บรรจุในพระบัลลังก์ของพระสัมพุทธพรรณี ( รัชกาลที่ห้า ) ในพระอุโบสถวัดราชาธิวาส กรุงเทพ ฯ ...

ข้อมูลจาก..พีระ แย้มประดิษฐ์ อาจารย์ 2 ระดับ 7
โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


1 มกราคม 2423
วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

1 มกราคม 2454
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานธงประจำกอง (ธงชัยเฉลิมพล) แก่กรมทหารรักษาวัง พื้นธงสีแดงมีรูปช้างเผือกทรงเครื่อง ยืนบนแท่น มุมธงมีอักษรย่อ วปร

1 มกราคม 2469
วันเปิดสะพานพระราม 6
สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแห่งแรกได้แก่สะพานพระราม 6 อยู่ตอนเหนือขึ้นไป ใกล้จังหวัดนนทบุรี ตอนเขตตำบลบางกรวย ซึ่งเป็นที่ตั้งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (การไฟฟ้ายันฮี) สะพานแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้น โดยให้มีทั้งทางหลวงและทางรถไฟและทางเดินเท้าไปพร้อม ๆ กัน โดยลงมือสร้างในเดือนธันวาคม พ.ศ.2465 แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ.2468 รวมเวลาสร้าง 4 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า "สะพานพระราม 6" ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2469 สะพานพระราม 6 ได้ถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งลูกระเบิดทำความเสียหายให้เป็นอันมากในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงกับใช้การไม่ได้ จนกระทั่งเสร็จสิ้นสงครามโลกลงแล้ว รัฐบาลจึงได้ซ่อมแซมใหญ่จนใช้การได้ ที่มา : หนังสือวันนี้ในอดีต (หอสมุดแห่งชาติ)

1 มกราคม 2484
เป็นวันเริ่มใช้วันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม เพื่อให้เหมือนกับนานาอารยประเทศ จากเดิมใช้วันที่ 1 เมษายน ในปี พ.ศ. 2483 จึงมีแค่ 9 เดือน คือนับตั้งแต่ 1 เมษายน 2483 สิ้นปี 31 ธันวาคม 2483

1 มกราคม 2488
ไทยได้ยินยอมลงนามในความตกลงสมบูรณ์แบบ เพื่อเลิกสถานะสงครามระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร และอินเดีย รวมทั้งบันทึกแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับ ออสเตรเลีย เพื่อเลิกสถานะสงคราม ความตกลงสมบูรณ์แบบมี 24 ข้อ เน้นเรื่องการถอนกำลังทหารออกจากสหรัฐไทยเดิม และสี่รัฐมาลัย การคืนดินแดนให้อังกฤษ และไทยต้องส่งข้าวจำนวน 1.5 ล้านตันให้อังกฤษโดยไม่คิดมูลค่า

1 มกราคม 2492
ไทยจ่ายเงินงวดสุดท้ายเป็นเงิน 9000,000 ปอนด์ เป็นค่าทางรถไฟสายมรณะ รถไฟสายมรณะ คือเส้นทางยุทธศาสตร์ที่กองทัพญี่ปุ่นสร้างขึ้น
ในช่วงสงคราม มหาเอเซียบูรพาทางรถไฟเริ่มสร้างเมื่อเดือน ต.ค. พ.ศ.2485 วางรางตลอด
และใช้งาน ครั้งแรกเมื่อเดือน ต.ค. พ.ศ. 2486

1 มกราคม 2527
กำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักให้กับประชาชนทุกคน
กรมการปกครอง กำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ เพื่อใช้ในการอ้างอิง แสดงตน หรือพิสูจน์ตัวตน ควบคู่ชื่อตัว ชื่อสกุล ประชาชนแต่ละคนจะมีเลขเดียว ไม่ซ้ำกัน นับแต่เกิดจนตาย เป็นเลข 2 ระบบ คือ ระบบทะเบียนบ้าน และระบบสูติบัตร

ที่มา : หนังสือจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติ 5 ทศวรรษ โดย : มูลนิธิ 5 ธันวามหาราช






Create Date : 22 ธันวาคม 2548
Last Update : 8 มกราคม 2549 21:26:32 น. 4 comments
Counter : 2924 Pageviews.

 




สวัสดีตอนสายๆของ เนเธอร์แลนด์ นะจ้า


หวังว่าคงสบายดีและเป็นสุข
หากเมื่อใดมีทุกข์คิดถึงฉัน
หากเมื่อใดมีภัยคิดถึงกัน
ทุกคืนวันยังมีฉันอยู่ข้างเธอ


** มีความสุขมากๆๆในวันหยุดพักผ่อนนะจ้า **


โดย: จอมแก่นแสนซน วันที่: 1 มกราคม 2549 เวลา:15:50:30 น.  

 






Happy New Year'2006

หนี่ฯเอาการ์ดามาฝากค่ะ
มีความสุขมากๆๆ และตลอดไป



โดย: หนี่หนีหนี้ (แพรวขวัญ ) วันที่: 1 มกราคม 2549 เวลา:22:34:18 น.  

 


โดย: ปลาทูน่าในบ่อปลาพยูน วันที่: 2 มกราคม 2549 เวลา:15:14:40 น.  

 
บล๊อกนี้..ดีจริงๆค่ะ


โดย: jingsija วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:19:30:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aisha
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับสู่
Aisha's blog ขอบคุณที่แวะมาค่ะ

Friends' blogs
[Add Aisha's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.