The Snows of Kilimanjaro ‘คิลิมันจาโร’รำลึก



The Snows of Kilimanjaro
‘คิลิมันจาโร’รำลึก

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 10 กันยายน 2549


ฉากหนึ่งใน An Inconvenient Truth สารคดีเรื่องดังที่มีอดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ แปลงร่างเป็นวิทยากรบรรยายแจกแจงเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน เป็นภาพสไลด์ภูเขาคิลิมันจาโรแห่งแทนซาเนีย เปรียบเทียบ 2 ช่วงเวลา แสดงให้เห็นว่าหิมะบนยอดเขา ณ เวลาปัจจุบันเบาบางลงกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด พร้อมด้วยคำพูดของกอร์ตอกย้ำให้เห็นว่าในอนาคต “หิมะแห่งคิลิมันจาโร” จะเป็นเพียงอดีต

ฉากดังกล่าวกับวลี “หิมะแห่งคิลิมันจาโร” ทำให้ผู้เขียนนึกถึง เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ นักเขียนรางวัลโนเบลชาวอเมริกัน กับเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของเขา ที่มีคำบรรยายภาพอันยิ่งใหญ่งดงามของภูเขาแห่งนี้ในช่วงท้ายเรื่อง ทั้งยังเปี่ยมความหมายยิ่ง

“...และตรงนั้น, สิ่งที่เขามองเห็นเป็นที่กว้างขวางเหมือนโลกทั้งโลก, มหึมา, สูง. และขาวโพลนอย่างไม่น่าเชื่ออยู่ในแสงแดด, คือยอดสี่เหลี่ยมของภูเขาคิลิมันจาโร. ตอนนี้เองเขารู้ว่าที่นั่นเป็นที่ซึ่งเขากำลังเดินทางไปสู่.” สำนวนแปลของ อาษา ขอจิตต์เมตต์(เรื่องสั้นเฮ็มมิงเวย์ ชุดที่ 3, กรกฎบุคส์ 2525) นับว่าเก็บอรรถรสได้ไม่ขาดพร่อง

เรื่องสั้น The Snows of Kilimanjaro พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารเอสไควร์ ปี 1936 พิมพ์ซ้ำอีกครั้งใน The Fifth Column and the First Forty-Nine Stories ปี 1938 ก่อนจะกลายมาเป็นชื่องานรวมเรื่องสั้นที่ว่ากันว่าดีที่สุดของเฮมิงเวย์ โดยมีเรื่องเด่นอย่าง The Killers และ A Clean, Well-Lighted Place รวมอยู่ด้วย

เช่นเดียวกับงานประพันธ์ของเฮมิงเวย์เรื่องอื่นๆ ที่มักจะถูกฮอลลีวู้ดนำมาสร้างเป็นหนังอยู่เสมอ The Snows of Kilimanjaroได้โอกาสขึ้นจอในปี 1952 โดย เฮนรี่ คิง ที่เคยทำหนังชั้นดีอย่าง 12 O'Clock High และ The Gunfighter มานั่งแท่นกำกับฯ และได้ เกรกอรี่ เพ็ค, เอวา การ์ดเนอร์ และซูซาน เฮย์เวิร์ด 3 นักแสดงแถวหน้าในยุคนั้นมาประชันบทบาท

ดูจากเครดิตต่างๆ ถือว่า The Snows of Kilimanjaro เวอร์ชั่นจอเงิน ฟอร์มดีมาตั้งแต่ในมุ้งเลยทีเดียว

*หนังเล่าถึงห้วงยามแห่งความยากลำบากของ แฮร์รี่ สตรีต(เกรกอรี่ เพ็ค) นักเขียนหนุ่มใหญ่ที่ประสบอุบัติเหตุระหว่างท่องป่าแอฟริกาจนขาข้างหนึ่งเป็นแผลติดเชื้อรุนแรง ต้องนอนรอความช่วยเหลืออยู่ในค่ายพักแรมกลางป่า โดยมี เฮเลน(ซูซาน เฮย์เวิร์ด) ผู้เป็นภรรยาคอยดูแล

บาดแผลที่กัดกินลุกลามกับสภาพที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ทำให้แฮร์รี่เริ่มหมดหวังกับชีวิต เขาไม่ใส่ใจความห่วงใยของเฮเลน พร่ำพูดแต่เรื่องร้ายๆ ที่กำลังรุกคืบคุกคาม เช่นบอกว่าฝูงนกแร้งซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ นอกค่ายพักแรมกำลังรอจัดการเหยื่ออย่างเขา หรือเสียงร้องของหมาไนที่ได้ยินคือการเรียกหาความตาย

สัมปชัญญะของคนที่คิดว่าตนเองใกล้ตายนำพาแฮร์รี่รำลึกนึกย้อนไปยังอดีต...เรื่องราวระหว่างเขาและซินเธีย(เอวา การ์ดเนอร์) ผู้หญิงคนแรกและคนเดียวที่เขารัก แต่ละฉากตอนปรากฏในความคิดราวกับเป็นการทบทวนเรื่องราวฝังใจเป็นครั้งสุดท้าย

ในฐานะที่เป็นหนังซึ่งดัดแปลงจากบทประพันธ์ของนักเขียนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูงอย่างเฮมิงเวย์ จำเป็นต้องนำงานเขียนมาเปรียบเทียบว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ทั้งในส่วนของเรื่องราว ตัวละคร และที่สำคัญคือแก่นสารอันเป็นหัวใจของเรื่องสั้นเรื่องนี้

เรื่องสั้นความยาวประมาณ 50 หน้า ของหนังสือ 16 หน้ายก เล่าถึงนักเขียนชื่อแฮร์รี่ ผู้บาดเจ็บระหว่างท่องป่าแอฟริกากับภรรยาเหมือนในหนัง แต่การแสดงออกของแฮร์รี่ในฉบับเรื่องสั้นร้ายกาจกว่า ด้วยบทสนทนาและคำบรรยายบุคลิกเย่อหยิ่งทะนงตนโดยเฉพาะเมื่ออยู่ต่อหน้าเฮเลน

นอกจากนี้ กระแสสำนึกของคนที่คิดว่าตนเองกำลังจะตายของแฮร์รี่ฉบับเรื่องสั้น เป็นการย้อนไปยังเรื่องราวหลากหลายที่เขาประสบพบเห็นซึ่งล้วนแต่เป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับใช้ในงานเขียน แต่เขากลับละเลย ไม่เคยถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นฉากของผู้คนในย่านหนึ่งของปารีสที่เขาประทับใจ ความสำมะเลเทเมาภายใต้ความเปลี่ยวเหงาในกรุงคอนสแตนติโนเปิล ความโหดร้ายของการสู้รบระหว่างชาวกรีก-ตุรกี และความตายในสงครามโลกครั้งที่ 1 ฯลฯ

ชีวิตที่ผ่านมาของแฮร์รี่หมดไปกับการเปลี่ยนสตรีคนรักฐานะร่ำรวยที่ช่วยให้เขาไม่ต้องขวนขวายทำงาน ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับการเที่ยวเตร่และความสะดวกสบาย กระทั่งถึงวาระนี้เขาจึงได้แต่กล่าวโทษตนเองที่กำลังจะปล่อยให้เรื่องราวมีค่ามากมายสูญสลายไปกับตัวเขา

ภาพความคิดคำนึงสุดท้ายของแฮร์รี่คือเครื่องบินพาเขาขึ้นไปยังยอดเขาคิลิมันจาโร ซึ่งเฮมิงเวย์ได้ให้เชิงอรรถไว้ก่อนหน้านี้ว่า ใกล้กับยอดเขาด้านตะวันตกของภูเขาสูงที่สุดในแอฟริกานี้ มีซากเสือดาวแห้งเป็นน้ำแข็งซากหนึ่ง ไม่มีใครอธิบายได้ว่าเสือดาวขึ้นไปทำอะไรบนความสูงระดับนั้น

สำนึกสุดท้ายของแฮร์รี่ผู้ทิ้งขว้างชีวิตมากมายไว้เบื้องหลัง กับเรื่องราวของเสือดาวบนยอดเขาคิลิมันจาโร จึงมีนัยยะลึกล้ำให้ตีความ เป็นฉากสุดท้ายที่ตราตรึงเปี่ยมความหมาย และทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นงานคลาสสิคอีกชิ้นหนึ่งของเฮมิงเวย์

*ขณะที่ฉบับภาพยนตร์ ด้วยแนวทางของหนังฮอลลีวู้ดในยุคนั้นที่มีข้อจำกัดมากและเน้นเรื่องราวโรมานซ์เป็นหลัก บทหนังดัดแปลงโดย เคซีย์ โรบินสัน และโปรดิวเซอร์ ดาร์ริล เอฟ. ซานัค จึงเปลี่ยนกระแสสำนึกลึกล้ำของแฮร์รี่ให้เป็นเพียงเรื่องราวความรักครั้งสำคัญในชีวิต และให้แฮร์รี่รอดชีวิตในตอนจบ กระทั่งทำให้มิติของเรื่องเล่าตื้นลงไปถนัดใจ ทั้งยังสูญเสียแก่นสารสำคัญในเรื่องสั้นโดยสิ้นเชิง

การเปลี่ยนแปลงจากต้นฉบับมากมายทำให้เฮมิงเวย์ไม่พอใจ และไม่เคยพาตนเองไปดูหนังเรื่องนี้เลยเมื่อคราวออกฉาย

เป็นที่รู้กันดีว่างานเขียนของเฮมิงเวย์จะมีร่องรอยของประสบการณ์จริงเป็นหลัก ผู้เขียนบทจึงใช้วิธีเดียวกันนี้มาดัดแปลงเป็นหนังโดยนำประวัติชีวิตของเฮมิงเวย์มาผสมผสานตัดต่อกับบางฉากของเรื่องสั้น เราจึงได้เห็นฉากการสู้วัวกระทิง และสงครามกลางเมืองสเปน ซึ่งเป็นฉากในงานเขียนหลายเรื่องของเฮมิงเวย์ปรากฏในหนังโดยที่ไม่มีกล่าวถึงในเรื่องสั้น

มีเสียงของแฮร์รี่กล่าวถึงคำว่า “The Lost Generation” ซึ่งเป็นคำที่ใช้นิยามตัวละครของเฮมิงเวย์ มีฉากแฮร์รี่บาดเจ็บในสงคราม ขณะที่ผู้หญิงที่เขารักทำหน้าที่เป็นพยาบาลให้กาชาด เหมือนเรื่องจริงที่เฮมิงเวย์นำมาเขียนเป็น “รักระหว่างรบ” หรือ A Farewell to Arms หรือแม้กระทั่งบทสนทนาที่บอกว่าแฮร์รี่เป็นนักหนังสือพิมพ์ชิคาโก ทริบูน ซึ่งชิคาโกเป็นเมืองเกิดของเฮมิงเวย์ และเขาเคยเป็นนักข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น

การชม The Snows of Kilimanjaro โดยสอดส่องหาร่องรอยของเฮมิงเวย์กับมองหาเนื้อหาในเรื่องสั้นที่ผู้เขียนบทนำมาผสมผสานตัดต่อ ถือว่าเป็นความบันเทิงในการเสพหนังเรื่องนี้ได้เช่นกัน

The Snows of Kilimanjaro อาจจะไม่ใช่ “หนังเฮมิงเวย์” ที่คนจดจำและพูดถึงเทียบเท่ากับ To Have and Have Not (1944) ของฮาวเวิร์ด ฮอว์ค ที่มี ฮัมฟรีย์ โบการ์ด และลอเรน เบคอล นำแสดง A Farewell to Arms(1932) ของ แฟรงค์ บอร์ซาจ หนังเรื่องแรกที่นำงานของเฮมิงเวย์มาดัดแปลง และค่อนข้างซื่อตรงต่อต้นฉบับ หรือ The Killers(1946) ของ โรเบิร์ต ซิออดมัค ซึ่งว่ากันว่าเฮมิงเวย์พอใจที่สุด

แต่หากตัดเงื่อนไขที่ว่านี่คือการนำงานชั้นเยี่ยมของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่อย่างเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ มาสร้างเป็นหนัง The Snows of Kilimanjaro เรื่องนี้นับว่าเป็นงานบันเทิงที่ดีอีกเรื่องหนึ่ง มีบทเริ่มต้น-ลงท้ายน่าประทับใจ มีเรื่องราวความรักของตัวละครสะเทือนอารมณ์น่าติดตาม

ที่สำคัญ ความงามของเอวา การ์ดเนอร์ และบทบาทที่เข้ากันกับ เกรกอรี่ เพ็ค ได้อย่างเหมาะเจาะ คือหนึ่งในไฮไลต์ของ “หิมะแห่งคิลิมันจาโร” เรื่องนี้




ภาพ : carteles.metropoliglobal.com



Create Date : 12 ตุลาคม 2549
Last Update : 13 ตุลาคม 2549 0:36:11 น. 9 comments
Counter : 2548 Pageviews.

 


โดย: renton_renton วันที่: 13 ตุลาคม 2549 เวลา:1:32:38 น.  

 
ผมไม่ค่อยได้ดูหนังของเกรกอรี่ เพ็ค เลย
หรือว่าอาจเคยได้ดูตอนเด็กแต่จำไม่ได้ โตมาก็ไม่เคยหาดู เฮ้อ


โดย: sTRAWBERRY sOMEDAY วันที่: 13 ตุลาคม 2549 เวลา:4:16:37 น.  

 
สวัสดี สวีดัด
สุขสันต์ วันศุกร์
ขอให้มีความสุขทุกศุกร์
ไม่ทุกข์ ไม่โศก

สุขใจ สุขใจ เด้อค่ะ


* * อ่านเรื่องที่คุณเขียนทีไรมันทำให้อยากดูหนังขึ้นมาซะงั้นนะ * *


โดย: ดาริกามณี วันที่: 13 ตุลาคม 2549 เวลา:9:06:03 น.  

 
หนังรุ่นเดียวกะจขบ.ใช่มั้ยเนี่ย
เก่าแก่ซ้า

เกิดไม่ทัน งึมๆ


โดย: ทะเลอาบแสงจันทร์ วันที่: 13 ตุลาคม 2549 เวลา:12:55:14 น.  

 
เรื่องนี้ไม่ได้ดูครับ แต่น่าสนใจ

ชอบ เอวา การ์ดเนอร์ เธองดงามคลาสสิคดี


โดย: เจ้าชายไร้เงา วันที่: 14 ตุลาคม 2549 เวลา:1:46:09 น.  

 
เรื่องนี้ยังไม่ได้ดูค่ะ ความจริงก็คือเราได้ดูหนังเก่าๆน้อยมากๆ นิสัยแย่ๆของเราก็คือ ถ้ามีเวลาดูหนังและมีโอกาสเลือก ก็มักจะตัดหนังเก่าออกไปก่อนทุกที ซึ่งก็เหมือนตัดโอกาสตัวเองที่จะได้เรียนรู้งานดีๆและมีคุณค่าในอดีตออกไปด้วย


โดย: goldfish memory (goldfish memory ) วันที่: 15 ตุลาคม 2549 เวลา:12:10:28 น.  

 
เคยอ่านแต่ the old man and the sea ของเขาค่ะ กับดูหนังอีกเรื่องนึง (จำชื่อไม่ได้) ที่เกี่ยวกับความรักของเขาน่ะค่ะ

เรื่องนี้น่าสนใจจัง แต่ขอเป็นเวอร์ชั่นหนังสือน่าจะ work กว่า หนังดูเก่าไปหน่อยอะค่ะ หนูไม่ทัน


โดย: unwell วันที่: 16 ตุลาคม 2549 เวลา:10:12:59 น.  

 
หากโลกนี้ยังมีการนำหนังเก่ามาทำใหม่
หรือเอาหนังใหม่ มาทำให้ใหม่กว่า
ราวกับหมดมุข คิดไรไม่ออกแล้วล่ะก้อ

งั้นขอก็อบปี้คำตอบของคุณ goldfish memory เลยละกัน เหมือนกันค่ะเหมือนกัน อิ อิ

(หวังว่าคงไม่โดนทวงค่าลิขสิทธินะเรา ..เพี้ยง )


โดย: renton_renton วันที่: 16 ตุลาคม 2549 เวลา:20:00:30 น.  

 
ข้อสอบออก

แสด


โดย: สวย IP: 124.120.95.160 วันที่: 29 กรกฎาคม 2551 เวลา:21:45:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
12 ตุลาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.