Memories of Underdevelopment คิวบารำลึก...ในสำนึกจักรวรรดินิยม




Memories of Underdevelopment
คิวบารำลึก...ในสำนึกจักรวรรดินิยม

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 2 พฤศจิกายน 2551 ในชื่อ ความทรงจำ‘ชั้นสูง’


*Memorias del subdesarrollo หรือ Memories of Underdevelopment ของ โทมัส กูเตียเรซ เอเลีย (Tomas Gutierrez Alea) หนังคิวบาปี 1968 ติดอันดับต้นๆ ในทำเนียบหนังคลาสสิกของละตินอเมริกา และปีนี้เป็นวาระครบรอบ 40 ปี พอดี (ฉายครั้งแรกในคิวบาวันที่ 19 สิงหาคม 1968)

ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ เอ็ดมุนโด เดสโนเอส (Edmundo Desnoes) ใช้ช่วงเวลาฉากหลังในปี 1961 หลังจากเหตุการณ์ “บุกอ่าวหมู” จนถึงวิฤกตขีปนาวุธคิวบาเดือนตุลาคม ปี 1962

กล่าวคร่าวๆ...เหตุการณ์ “บุกอ่าวหมู” (Bay of Pigs Invasion) เป็นแผนการที่ซีไอเอโดยความเห็นชอบของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ สนับสนุนกองทัพชาวคิวบาลี้ภัยราว 1,500 คน บุกขึ้นอ่าวหมูซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของคิวบาเพื่อไปรวมกับกลุ่มกองโจรใต้ดินในเทือกเขาแล้วรุกโค่นล้มคาสโตร แต่แผนการนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงเมื่อคาสโตรรู้ตัวก่อนและส่งกองกำลังจำนานมหาศาลมาปราบเสียราบคาบ (ที่เห็นในเรื่อง The Good Shepherd – 2006 ของ โรเบิร์ต เดอ นีโร)

ส่วนวิกฤตขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis) เป็นเหตุการณ์ตึงเครียดที่จวนจะกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 เมื่อสหรัฐจับได้ว่าโดนโซเวียตย่องเข้ามาจ่อคอหอยด้วยการติดตั้งฐานทัพขีปนาวุธในคิวบา หลังจากกดดันโดยปิดน่านน้ำและเจรจาต่อรอง-ข่มขู่กับโซเวียตอยู่หลายวัน ในที่สุดต่างฝ่ายต่างยอมถอยโดยไม่มีใครเพลี่ยงพล้ำเสียหน้าท่ามกลางความโล่งใจของชาวโลก (ดูได้ใน Thirteen Days - 2000)







Memories of Underdevelopment เป็นเรื่องของ เซร์คิโอ นักเขียนวัย 38 ปี ชนชั้นกลางฐานะดีอาศัยในอพาร์ตเมนต์หรูที่ตนเองเป็นเจ้าของ ตัดสินใจอยู่ในคิวบาต่อไปขณะที่แม่ เมียเก่า เพื่อนฝูง และใครต่อใครต่างอพยพหนีความไม่แน่นอนในคิวบาไปอยู่สหรัฐอเมริกา หนังเล่าผ่านสายตาและเสียงบรรยายของเซร์คิโอ มีทั้งความคิดความรู้สึกต่อผู้คน สิ่งต่างๆ รอบตัว และต่อสังคม-การเมือง ขณะใช้ชีวิตอย่างไม่อนาทรร้อนใจในอพาร์ตเมนต์และเที่ยวไปในกรุงฮาวานา กระทั่งได้พบ เอเลน่า หญิงสาววัย 16 ปี เขาชวนเธอไปที่พัก มีอะไรกับเธอตามประสาชายฐานะดีไร้เครื่องผูกมัด แต่สุดท้ายกลับถูกเธอและครอบครัวฟ้องข้อหาข่มขืน

ผู้เขียนดูหนังเรื่องนี้โดยมีหนัง 2 เรื่อง ผ่านเข้ามาในความคิด เรื่องแรกคือ Hiroshima Mon Amour (1959) ของ อแลง เรเนส์ เพราะว่าด้วยห้วงรำลึกถึงสิ่งที่ผ่านมากับการเผชิญหน้าสิ่งที่เป็นอยู่เหมือนกัน เป็นเรื่องราวเล็กๆ ที่ดำเนินไปอย่างหนืดเนือยท่ามกลางซากล่มสลายเสื่อมทรามอันเป็นฉากหลัง ฮิโรชิมาหลังถูกระเบิดนิวเคลียร์แทนที่ด้วยฮาวานาหลังการปฏิวัติ

อีกเรื่องหนึ่งคือ Beyond the Clouds หรือ Al di la delle nuvole (1995) ของ มิเกลันเจโล อันโตนิโอนี เนื่องจากหน้าตาของผู้รับบทเป็นเซร์คิโอ มีส่วนคล้ายกับ จอห์น มัลโควิช ผู้แสดงนำใน Beyond the Clouds ขณะที่เรื่องราวก็เป็นห้วงคำนึงผ่านบทพรรณนาโวหารขณะพบเห็นสิ่งต่างๆ เหมือนกัน

Underdevelopment ในชื่อหนังคือคำสำคัญที่อิงกับทุนนิยมจักรวรรดินิยมโดยตรง สถานภาพของคิวบาหลังปฏิวัติคือปฏิปักษ์ของสหรัฐอเมริกาทั้งในฐานะที่เป็นคอมมิวนิสต์ในความคุ้มครองของสหภาพโซเวียต และทำให้สหรัฐเสียผลประโยชน์ทางการค้าการลงทุนที่เคยได้ เซร์คิโอนอกจากจะเป็นตัวแทนของชนชั้นกลางซึ่งกำลังหมดความได้เปรียบทางสังคมลงเรื่อยๆ แล้ว ยังเปรียบได้กับคิวบายุคประธานาธิบดีฟุลเกนซิโอ บาติสต้า ภายใต้อิทธิพลของจักรวรรดินิยม ก่อนจะถูกคาสโตรโค่นล้มไล่รื้อ

อย่างไรก็ตาม เซร์คิโอยืนยันจะรักษาสถานะ “พัฒนาแล้ว” ของตนเองในเมืองที่กำลังถอยหลังลงคลอง ต่ำต้อย เสื่อมทราม ฉากที่เขาใช้กล้องส่องทางไกลมองสภาพกรุงฮาวานาจากชั้นสูงสุดของอพาร์ตเมนต์สื่อถึงการวางตนเองไว้สูงส่งกว่าสังคมที่เป็นอยู่นั่นเอง







คำพูดและบทบรรยายโวหารของเซร์คิโอล้วนแต่มีนัยยะเสียดเย้ย “คิวบาที่ยังไม่พัฒนา” เช่นบอกว่าฮาวานาเคยเป็น “ปารีสแห่งคาริบเบียน” แต่บัดนี้กลายเป็น “เตกูซิกัลปาแห่งคาริบเบียน” (กรุงเตกูซิกัลปาเป็นเมืองหลวงของฮอนดูรัส) กล่าวประชด พาโบล พิกัสโซ ว่าการเป็นเศรษฐีคอมมิวนิสต์ในปารีสช่างวิเศษจริงๆ ไปเยี่ยมชมบ้านพักของ เออร์เนสต์ เฮมมิ่งเวย์ ตัวแทนอเมริกันผู้มองคิวบาเป็นเพียงบ้านพักตากอากาศ

ขณะที่เซร์คิโอคือสถานะของคิวบาที่เจริญแล้ว เอเลน่าซึ่งมาจากครอบครัวชนชั้นล่างคือตัวแทนของคิวบาล้าหลัง เซร์คิโอถึงกับรำพึงว่าเอเลน่าคือความไม่พัฒนาที่ติดตามเขาถูกฝีก้าว เซร์คิโอพยายามเปลี่ยนแปลงเอเลน่า เขาใช้เซ็กซ์ควบคุมเธอเหมือนที่เขาเคยควบคุมเลาร่าเมียเก่า แต่สุดท้ายเซร์คิโอกลับเป็นฝ่ายถูกโต้ตอบอย่างคาดไม่ถึง ไม่ต่างอะไรกับการควบคุมเปลี่ยนแปลงคิวบาให้ล้ำเลิศแบบจักรวรรดินิยม แต่ในที่สุดก็โดนปฏิเสธ แถมตราหน้าว่า “ชั่วร้าย”

หนังใช้ประโยชน์จากสื่อหลากหลายมาผสมรวมกัน ทั้งคลิปข่าว ภาพจากโทรทัศน์ ฟุตเตจหนังฮอลลีวู้ด ฟุตเตจหนังคิวบา ภาพนิ่ง เทปบันทึกเสียง สื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งเพื่อบอกเล่าถึงความเป็นไปของคิวบา ความคิดของเซร์คิโอ และสื่อความหมายเชิงเปรียบเทียบ ยังมีข้อความในเรื่องสั้น "The Short Happy Life of Francis Macomber" ของเฮมมิ่งเวย์ที่เซร์คิโอเอ่ยออกมา บทกวี “Song of Despair” ของพาโบล เนรูด้า อ้างคำของ โฮเซ่ ออร์เตก้า กาสเซ็ต นักปรัชญาชาวสเปน และข้อมูลทางวิชาการมากมาย ทั้งหมดก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองเป็นปัญญาชน

ความน่าค้นหาของหนังยังอยู่ที่หลายฉากหลายเหตุการณ์สามารถนำมาซ้อนทาบเปรียบเทียบกันได้ เช่น เหตุการณ์ระหว่างเซร์คิโอกับเมียเก่าในห้องพัก (ผ่านเทปบันทึกเสียง) กับเหตุการณ์ระหว่างเซร์คิโอกับเอเลน่าในห้องพักเดียวกัน คลิปเหตุการณ์จริงการพิจารณาคดีฆาตกรรมกับฉากที่เซร์คิโอตกเป็นจำเลยในศาล

ฉากเปิดเรื่องในงานเต้นรำของชาวคิวบาผิวดำ มีชายคนหนึ่งลอบยิงทหารปฏิวัติแล้วแหวกฝูงชนหลบหนีไป ฉากดังกล่าวปรากฏอีกครั้งกลางเรื่อง เห็นเซร์คิโออยู่ในงานดังกล่าวด้วย ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่ามือปืนที่ยิงทหารปฏิวัติแล้วหลบหนีไปนั้นใส่แว่นกรอบดำเหมือนเซร์คิโอ

ยังมีภาพ เสียง เหตุการณ์ และเรื่องราวให้สังเกตคิดตามอีกมากมาย ซึ่งคงไม่อาจเก็บได้หมดในการชมเพียง 1-2 รอบ







โทมัส กูเตียเรซ เอเลีย (1928-1996) มีบทบาทสำคัญในฐานะคนทำหนังผู้สนับสนุนขบวนการปฏิวัติคิวบา แต่ผลงานของเขากลับไม่ได้แฝงแนวคิดชวนเชื่อ หากสะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์การปฏิวัติและสังคมคิวบาอย่างตรงไปตรงมา เช่นใน Memories of Underdevelopment ซึ่งเป็นผลงานโดดเด่นที่สุดและทำให้เป็นที่รู้จักในวงการหนังโลก





หมายเหตุ

1.ชมหนังเรื่องนี้แบบมีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษได้ ที่นี่



Create Date : 08 มิถุนายน 2551
Last Update : 26 กรกฎาคม 2552 18:27:08 น. 6 comments
Counter : 3045 Pageviews.

 
ดูจากรูปคนที่เล่นเป็นคาสโตร
หน้าตาคล้ายคาสโตรผสมเช เกวาร่าจัง


โดย: grappa วันที่: 9 มิถุนายน 2551 เวลา:10:20:24 น.  

 

^
^
คาสโตรเป็นคลิปจริงๆ ที่หนังใส่เข้ามาครับ




โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 9 มิถุนายน 2551 เวลา:19:54:08 น.  

 


โดย: renton_renton วันที่: 10 มิถุนายน 2551 เวลา:9:20:52 น.  

 
เคยไปดูหนังที่หอสมุดปรีดีธรรมศาสตร์ด้วยเหรอครับ มหาลัยผมเลย ไม่อยากจะบอกข้อเสียตัวเองเลยว่าตอนเรียนอยู่โดยเฉพาะปี3-ปี4 โดดเรียนตลอดครับประมาณ 99.99 เปอร์เซ็น ไปดูหนังที่ห้องสมุดนี่แหละ ตามตัวได้ตลอด เคยไปดูของดวงกมลเหมือนกัน จำชื่อไม่ได้ ลามกมาก มีคนผู้ใฝ่ดีและละอายเกินกว่าจะทนดูได้เดินออกจากโรงด้วย
ไม่ได้แวะมาเยี่ยมซะนาน หวังว่าคงสบายดีน่ะครับ


โดย: beerled IP: 203.154.188.177 วันที่: 10 มิถุนายน 2551 เวลา:18:54:16 น.  

 

^
^
ไม่เคยไปดูหนังที่ มธ.ครับ เคยแต่ไปใช้บริการหอสมุด หนังสือเยอะดี

จริงๆ หนังของดวงกมลฯ ผมไม่เคยดูเลย
ตอนที่ฉายที่ซีคอนฯ ใกล้บ้าน แต่สมัยนั้นยังไม่อินกับการดูหนังแปลกๆ
พอย้ายไป มธ. ก็ไกลเกินไป อาศัยว่าหาดูจากแหล่งอื่นพอให้หายอยากได้

----------









โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 12 มิถุนายน 2551 เวลา:19:54:55 น.  

 
คุณวิเคราะห์หนังเรื่องนี้ได้เข้าใจดีจัง
ชอบค่ะ


โดย: เเพว IP: 58.9.191.73 วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:12:43:03 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
 
มิถุนายน 2551
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
8 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.