The Cabinet of Dr.Caligari(1920) โลกวิปริตของ‘คาลิการี่’



The Cabinet of Dr.Caligari
โลกวิปริตของ‘คาลิการี่’

- พล พะยาบ -

คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 2 กรกฎาคม 2549


ระหว่างติดตามข่าวคราวบ้านเมืองชวนวุ่นวายสับสนและดูตีบตันหนทาง ผู้เขียนลองตั้งโจทย์คิดเองเล่นๆ ว่า ถ้าเปรียบสถานการณ์ตอนนี้กับฉากในภาพยนตร์จะได้ภาพออกมาเป็นเช่นไร

คิดไปคิดมา สุดท้ายภาพที่คิดว่าใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นภาพจากหนังสกุล “เยอรมัน เอ็กเพรสชั่นนิสม์” (German Expressionism) ยุคทศวรรษที่ 20 ที่มีสีทึบทึม แสงเงาแปลกประหลาด สิ่งของประกอบฉากผิดเพี้ยนไม่ได้รูปทรง เป็นโลกเหนือจริงที่ให้ความรู้สึกอึดอัด คับข้อง และน่าหวาดหวั่น...

เมื่อคิดต่อไปก็จะพบว่า หนังในกลุ่มนี้หลายเรื่องมีเจตนาวิพากษ์ชนชั้นผู้ปกครอง-นักการเมืองเสียด้วย

ในเมื่อเข้ากันได้เช่นนี้จะเก็บไว้คนเดียวก็ใช่ที่ ว่าแล้วก็หยิบเรื่อง The Cabinet of Dr.Caligari ที่คิดว่าเหมาะเจาะคล้องจองกับสถานการณ์บ้านเรามาแนะนำบอกต่อกันดีกว่า


หนังเงียบ ขาว-ดำ ความยาว 72 นาที ปี 1920 เรื่องนี้ได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแนวทาง “เยอรมัน เอ็กเพรสชั่นนิสม์” เป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่ใช้วิธีเล่าเรื่องซ้อนเรื่อง และที่สำคัญคือ เป็นหนังที่ส่งอิทธิพลให้เกิดแนวทางหนังนัวร์และหนังสยองขวัญ เช่นงานของ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก จนกลายเป็นต้นแบบให้แก่หนังมากมายนับไม่ถ้วนมาถึงปัจจุบัน

The Cabinet of Dr.Caligari หรือในชื่อดั้งเดิมว่า Das Kabinett des Doktor Caligari เกิดขึ้นในยุคที่วงการหนังเยอรมันกำลังเฟื่องฟู แต่เนื่องจากเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเยอรมนีต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมากจนเศรษฐกิจภายในประเทศย่ำแย่ ประกอบกับต้องแข่งขันกับหนังฮอลลีวู้ดซึ่งหรูหราอลังการ

ผู้สร้างหนังชาวเยอรมันจึงหาทางออกให้แก่หนังตนเองด้วยการสร้างสรรค์แนวทางใหม่โดยไม่ต้องใช้ทุนมากนัก แต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แทนที่จะไปแข่งความหรูหราตระการตากับหนังฮอลลีวู้ด

แนวทางใหม่ดังกล่าวได้แก่ เน้นการใช้สัญลักษณ์และการจัดองค์ประกอบภาพซึ่งส่งผลต่อความลึกของเนื้อหาเรื่องราว ออกแบบฉากให้ดูเหนือจริงด้วยการวาดแสงและเงาให้ดูผิดแปลก วาดหรือใช้วัตถุที่บิดเบี้ยวไม่ได้รูปทรง ขณะที่เนื้อหาก็มักเกี่ยวพันกับภาวะความสับสนผิดปกติ ความลวง อันเป็นแนวทางศิลปะที่เรียกว่า เอ็กเพรสชั่นนิสม์ ซึ่งแพร่หลายระหว่างปี 1919-1925 เริ่มตั้งแต่การละคร วรรณกรรม จิตรกรรม กระทั่งมาสู่ภาพยนตร์


ขณะนั้น เยอรมนีอยู่ในภาวะสับสนยุ่งเหยิงอย่างหนัก ทั้งการสิ้นสุดของระบอบกษัตริย์ กบฏสปาร์ตาซิสต์ การแก่งแย่งแบ่งฝักฝ่ายทางความคิด ศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จึงถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอทัศนคติของศิลปินต่อสังคมเยอรมันโดยไม่อาจเลี่ยงพ้น

จนเมื่อนาซีปกครอง คนทำหนังกลุ่มนี้หลายคนจึงโยกย้ายตนเองไปอยู่ต่างประเทศ รวมถึงมาทำงานในสหรัฐ พร้อมกับนำเอาสไตล์หนังเอ็กเพรสชั่นนิสม์มาใช้จนแพร่หลายและงอกเงยเป็นหนังนัวร์และหนังสยองขวัญรุ่นต่อๆ มานั่นเอง

ผลงานเด่นๆ ของเยอรมัน เอ็กเพรสชั่นนิสม์ นอกจาก The Cabinet of Dr.Caligari ยังมี Nosferatu(1922) Faust(1926) ของ เอฟ.ดับเบิลยู.เมอร์เนา Metropolis(1927) และ M(1931) ของ ฟริตซ์ ลัง

สำหรับ The Cabinet of Dr.Caligari โดยผู้กำกับฯ โรแบร์ต วีเนอ เขียนบทโดย ฮานส์ จาโนวิตซ์ และคาร์ล เมเยอร์ เล่าถึงเรื่องที่ชายชื่อฟรานซิสเล่าให้ชายอีกคนฟัง เกี่ยวกับบุคคลแปลกประหลาดที่เขาเคยพบเมื่อนานมาแล้ว ณ โฮลเทนวอลล์ เมืองเชิงเขาในเยอรมนี

ดร.คาลิการี่ ชายวัยกลางคนท่าทางลึกลับ มายังเมืองนี้พร้อมกับ ซีซาเร่ ร่างหลับใหลของชายหนุ่มซึ่งคาลิการี่อ้างว่าไม่เคยตื่นมากว่า 20 ปี ยกเว้นเมื่อเขาสั่ง ทั้งยังอวดอ้างว่าซีซาเร่หยั่งรู้ทุกเรื่อง สามารถตอบได้ทุกคำถาม อลัน เพื่อนสนิทของฟรานซิส จึงถามว่าเขาจะมีชีวิตถึงเมื่อไร คำตอบชวนอกสั่นขวัญแขวนว่า “ย่ำรุ่ง” ทำให้อลันแทบทรุดลงกับพื้น

คืนนั้น อลันถูกฆาตกรรมเสียชีวิตจริงๆ แต่ด้วยฝีมือของเจ้าของคำทำนายนั่นเอง

เหยื่อรายต่อมาคือ เจน คนรักของฟรานซิส แต่ความงามของเธอหยุดการกระทำของซีซาเร่ได้ เจนจึงรอดพ้นความตายหวุดหวิด


ฟรานซิสตามสืบจนพบว่า ซีซาเร่คือผลงานการทดลองของผู้อำนวยการโรงพยาบาลประสาท ซึ่งอยากเข้าถึงงานทดลองเก่าแก่ของหมอชาวอิตาเลียนชื่อคาลิการี่ จึงสมมุติตนเองไปตามเรื่องราวที่ได้ศึกษา สุดท้าย ดร.สติเฟื่องจึงต้องเป็นคนไข้ในโรงพยาบาลนั้นเสียเอง

ก่อนจบ หนังหักมุมอีกชั้นหนึ่งด้วยการเฉลยว่า เรื่องราวทั้งหมดเป็นจินตนาการเพ้อฝันของคนไข้ชื่อฟรานซิส ส่วน ดร.คาลิการี่ผู้ลึกลับกลับกลายเป็นหมอที่กำลังหาทางรักษาคนไข้รายนี้

อันที่จริง บทจบหักมุมที่ว่าเหตุฆาตกรรมทั้งหมดไม่มีจริง หากเป็นเพียงอาการหลงเพ้อของคนไข้โรคประสาทนั้นไม่มีในบทดั้งเดิม แต่ เอริค พอมเมอร์ โปรดิวเซอร์ ไม่อยากให้หนังดูน่าสะพรึงกลัวเกินไปจึงคิดเพิ่มฉากจบใหม่เข้าไป ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้หนังเพิ่มความซับซ้อนยิ่งขึ้น อีกทั้งการหักมุมเรื่องเล่ายังถือเป็นกลวิธีแปลกใหม่ในยุคนั้น

มีผู้ตีความว่า เรื่องราวและวิธีการนำเสนอของ The Cabinet of Dr.Caligari มุ่งวิพากษ์ความเลวร้ายของผู้ปกครองของเยอรมนี ซึ่งนำพาประเทศเข้าสู่สงคราม ฉากหลังอันบิดเบี้ยวสื่อถึงภาวะผิดเพี้ยนที่สังคมต้องเผชิญ ส่วนตัวละครอย่าง ดร.คาลิการี่ก็คือตัวอย่างของชนชั้นปกครองที่สร้างเรื่องเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นเพราะความเห็นแก่ตัว

หนังสื่อถึงระบบชนชั้นด้วยการให้ผู้ปกครองหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอื่นๆ เช่น คาลิการี่ และตำรวจ มีสำนักงานอยู่ชั้นบน ประชาชนทั่วไปต้องขึ้นบันไดหลายขั้นกว่าจะได้เข้าพบ ทั้งยังให้ตำรวจและนายกเทศมนตรีนั่งทำงานอยู่บนเก้าอี้สูงกว่าปกติหลายเท่า


นอกจากนี้ ความพยายามจับฆาตกรและฉีกหน้ากากคาลิการี่ยังเป็นผลงานของคนธรรมดาอย่างฟรานซิสและชาวบ้านคนอื่นๆ มิใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อพวกเขาจับกุมคาลิการี่ได้ก็เหมือนว่าล้มล้างระบอบอันเลวร้ายลงได้สำเร็จ

การเปลี่ยนฉากจบไม่ว่าจะเพราะถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหรือไม่ก็ตาม จนทำให้เจตนาเบื้องต้นเฉไฉไป แต่ฉากจบใหม่ที่มีภาพสุดท้ายเป็นภาพใบหน้าดีใจของหมอ(หรือ ดร.คาลิการี่) พร้อมคำพูดว่า “รู้วิธีรักษาแล้ว” ก็อาจจะยิ่งเพิ่มภาพพจน์ของผู้ปกครองให้ดูน่าชิงชังมากขึ้นได้เช่นกัน

หนังน่าตื่นตาด้วยฉากหลังประหลาดล้ำ ราวกับนำภาพศิลปะเคลื่อนไหวได้จำนวนมากมาร้อยเรียงกัน แม้เป็นเพียงภาพขาว-ดำแต่ก็ดึงดูดความสนใจแทบทุกฉาก ไม่เว้นแม้ภาพคำบรรยายและตัวหนังสือที่ถูกออกแบบให้เข้ากับฉากหลังได้อย่างกลมกลืน เมื่อรวมกับคุณค่าเนื้อหาที่ไม่มีวันตกยุคแล้ว ดร.ชราวัย 86 ปีเรื่องนี้...หยิบมาดูเมื่อไรก็ไม่เชย

โดยเฉพาะเมื่อมองตรงประเด็นที่ว่า คนอย่าง “คาลิการี่” มีอยู่ทุกที่จริงๆ ...ไม่เว้นแม้ในเมืองไทย!



Create Date : 04 สิงหาคม 2549
Last Update : 9 สิงหาคม 2549 15:17:52 น. 5 comments
Counter : 10338 Pageviews.

 
ขอบคุณที่แวะไปเที่ยวที่บล็อกนะครับ

สำหรับหนังเรื่อง The Cabinet of Dr. Caligari ผมจำได้ว่าได้ดูที่หอศิลป์ มช. ครับ ดูด้วยจอแบบโรงหนังก็ได้สัมผัสบางอย่างที่ดีกว่าการดูบนจอทีวีหรือคอมพิวเตอร์

ผมชอบการใช้ฉากในหนังเรื่องนี้จัง มันบิดเบี้ยวและเป็นเหลี่ยมจนพิกลอย่างไรไม่รู้



โดย: I will see U in the next life. วันที่: 5 สิงหาคม 2549 เวลา:22:52:19 น.  

 
หวัดดีค่ะน้า


โดย: renton_renton วันที่: 7 สิงหาคม 2549 เวลา:6:36:53 น.  

 
เพิ่งได้ดูเรื่องนี้

ไม่เคยดูหนังเงียบมาก่อน
สไตล์แปลก ภาพสวย ดู art ดี
อารมณ์เหมือนดูละครเวที แล้วใช้ฉากแบบ surrealism อ่ะ
ทุกอย่างเหนือจริงไปหมด ชอบ


โดย: ทะเลอาบแสงจันทร์ วันที่: 8 สิงหาคม 2549 เวลา:23:55:23 น.  

 
แวะมาอ่านอีกรอบค่ะ



โดย: renton_renton วันที่: 3 มิถุนายน 2550 เวลา:20:02:09 น.  

 
หาข้อมูลในการสอบวิชาฟิลม์คับ

อ่านแล้วเรื่องนี้น่าสนใจดีนะ


โดย: PINN IP: 125.25.93.181 วันที่: 30 กันยายน 2551 เวลา:23:41:26 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2549
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
4 สิงหาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.