Nanook of the North 'เอสกิโม'สุดขั้วโลก



Nanook of the North
‘เอสกิโม’สุดขั้วโลก

พล พะยาบ

พิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 28 พฤษภาคม 2549


เขียนถึงหนังร่วมสมัยกันมาหลายสัปดาห์ อาทิตย์นี้เอื้อมหยิบหนังเก่าคร่ำบนหิ้งมาแนะนำกันบ้าง ถ้าถามว่าเก่าแค่ไหน ทำไมถึงไปอยู่บนหิ้ง ขอตอบว่า 84 ปี คืออายุของหนังเรื่องนี้ โดยมีตำแหน่ง “หนังสารคดีขนาดยาวเรื่องแรกของโลก” ค้ำอยู่

ที่สำคัญคือ เป็นหนังที่นำเสนอภาพชีวิตของกลุ่มคนที่มีลักษณะเฉพาะอย่างเอสกิโมได้น่าตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะต่อผู้ชมทั่วไปเมื่อต้นศตวรรษก่อน

Nanook of the North ออกฉายเมื่อปี 1922 เป็นผลงานของ โรเบิร์ต เจ.ฟลาเฮอร์ตี้ หนุ่มอเมริกันนักสำรวจแร่ในอ่าวฮัดสัน แคนาดา ซึ่งพกกล้องไปบันทึกภาพวิถีชีวิตของครอบครัวชาวอินุค (ชื่อเรียกเอสกิโมในแถบอลาสก้าตอนเหนือ แคนาดา กรีนแลนด์) ที่มี นานุค เป็นหัวหน้าครอบครัว


โชคร้ายที่ฟิล์มหนังจากการถ่ายทำครั้งแรกสูญไปในกองเพลิง ด้วยฝีมือฟลาเฮอร์ตี้เองที่เผลอทำบุหรี่หล่นใส่ เขาจึงกลับไปที่อ่าวฮัดสันอีกครั้ง ฝ่าความหนาวเย็น ความยากลำบาก ตะลุยถ่ายจนได้กลับมาเป็น Nanook of the North หนังเงียบ ขาว-ดำ ความยาว 79 นาที ในที่สุด

หนังเล่าถึงวิธีอยู่รอดของชาวอินุคครอบครัวหนึ่ง ประกอบด้วย นานุค ภรรยา 2 คน ลูกวัยกำลังซน 2 คน และทารกอีก 1 คน ท่ามกลางสภาพหนาวเย็นเต็มไปด้วยหิมะและก้อนน้ำแข็ง ต้องล่าสัตว์ขนาดใหญ่เป็นอาหาร และใช้ชิ้นส่วนของพวกมันมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ สร้างที่อยู่อาศัยจากหิมะและก้อนน้ำแข็ง รวมทั้งการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้าบางอย่างกับคนผิวขาว

โดยกำหนดให้สภาพอากาศ-ภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลง เป็นเงื่อนไขติดตามดูพวกเขาว่าจะใช้ชีวิตเช่นไร

ฉากที่น่าจดจำมีหลายฉาก ไม่ว่าจะเป็นฉากล่าวอลรัส โดยที่ผู้ชมจะเห็นนานุคค่อยๆ ย่องไปหาฝูงวอลรัสที่นอนอยู่ริมหาด ก่อนจะวิ่งเข้าหาและใช้หอกพุ่งใส่เหยื่อเคราะห์ร้าย จากนั้น เพื่อนๆ นักล่าจะเข้ามาช่วยกันฉุดดึงวอลรัสหนักหลายร้อยกิโลกรัมขึ้นฝั่ง ใช้เวลาเนิ่นนานกว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้น โดยนักล่าจะใช้มีดที่ทำจากเขี้ยววอลรัสเฉือนเนื้อกินสดๆ เป็นรางวัลให้ตนเอง


หรือฉากจับแมวน้ำที่นานุคโชว์ทักษะการล่าโดยใช้วิธีสังเกตรูขนาดเล็กบนพื้นน้ำแข็ง รูดังกล่าวคือช่องอากาศที่แมวน้ำจะขึ้นมาหายใจทุกๆ 20 นาที จังหวะที่แมวน้ำขึ้นมาหายใจนั่นเอง นานุคฉวยโอกาสพุ่งหอกใส่ ช่วงเวลาต่อจากนั้นคือการประลองกำลังระหว่างผู้ล่ากับผู้ถูกล่าที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าหลายเท่า ดูแล้วทั้งลุ้นระทึกและน่าขบขัน

อีกฉากที่อยู่ในความทรงจำของผู้ชมคือฉากที่นานุคสร้างกระท่อมน้ำแข็ง หรือ igloo ด้วยมีดด้ามเดียวได้อย่างชำนาญและรวดเร็วจนน่าทึ่ง

การปรากฏของ Nanook of the North ถือว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่มากในปี 1922 ไม่เพียงเพราะเป็นปรากฏการณ์ของ “ภาพความจริง” ที่มีความยาวมากเป็นพิเศษเท่านั้น แต่เรื่องราวของเอสกิโมซึ่งเป็นคนต่างถิ่นแห่งดินแดนไร้ชีวิตได้สร้างความตื่นตาตื่นใจในอารมณ์เอ็กโซติคเต็มพิกัดให้แก่ผู้ชม จนหนังประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในอเมริกาเหนือและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม Nanook of the North ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ใช่สารคดีที่แท้จริง เพราะเต็มไปด้วยเงื่อนไขที่ฟลาเฮอร์ตี้กำหนดกะเกณฑ์ให้เป็นไปอย่างที่ตัวเขาต้องการ ไล่ตั้งแต่เรื่องราวของหนังที่ไม่ใช่ “ความจริง” ทั้งหมด หากแต่ฟลาเฮอร์ตี้จงใจสร้างขึ้นมาตามบทที่เขาคิดเอาไว้


ทั้งนี้ สภาพความเป็นจริงของชาวอินุคในช่วงเวลานั้นไม่ใช่อย่างที่เห็นในหนัง นานุคหรือ Allakariallak ซึ่งเป็นชื่อจริงของผู้แสดง ไม่ได้ใช้หอกล่าสัตว์อย่างที่บรรพบุรุษใช้กัน แต่ใช้ปืนไรเฟิล ส่วนเรือคายัก พาหนะเปี่ยมเสน่ห์ในหนังก็เป็นเพียงอุปกรณ์ประกอบฉาก เพราะตอนนั้นชาวอินุคมีเรือยนต์ใช้กันแล้ว

ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งเล่าถึงเบื้องหลังการถ่ายทำโดยยกตัวอย่างฉากล่าวอลรัสว่า หลังจากยื้อกับวอลรัสหนักหลายร้อยกิโลกรัมอยู่นาน คนหนึ่งในกลุ่มนักล่าตะโกนบอกฟลาเฮอร์ตี้ว่าขอใช้ไรเฟิลยิง แต่ฟลาเฮอร์ตี้ไม่สนใจ ปล่อยให้พวกเขาจัดการกับวอลรัสจนสำเร็จ เพื่อให้ได้ภาพการล่าแบบดั้งเดิมครบสมบูรณ์

ยังไม่รวมถึงการจัดสถานที่เพื่อให้สามารถถ่ายทำได้ เช่นฉากในกระท่อมน้ำแข็ง เบื้องหลังคือกระท่อมนั้นถูกสร้างเพียงครึ่งซีก เพราะการถ่ายทำในกระท่อมจริงๆ จะมีปัญหาเรื่องแสงไม่พอ

ที่สำคัญ ครอบครัวนานุคที่เราเห็น อันที่จริงเป็นครอบครัวอุปโลกน์ เพราะภรรยาคนหนึ่งของนานุคแท้แล้วคือภรรยาชาวอินุคคนหนึ่งของฟลาเฮอร์ตี้!


กระนั้น ฟลาเฮอร์ตี้ได้ออกมาตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เขาไม่ได้นำเสนอสภาพความเป็นจริง แต่ตั้งใจนำเสนอวิถีอันแท้จริงของชาวอินุคแม้ว่ามันจะสูญสิ้นไปแล้ว ซึ่งความคิดของฟลาเฮอร์ตี้สอดคล้องกับการศึกษาความอยู่รอดของชาวอเมริกันอินเดียนโดยนักชาติพันธุ์วิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 นั่นเอง

เกร็ดเล็กๆ เกี่ยวกับหนังอีกอย่างหนึ่งคือ หนังเกี่ยวกับชาวเอสกิโมซึ่งต้องใส่เสื้อขนสัตว์ป้องกันอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งเรื่องนี้ได้ทุนสร้างหนังจากบริษัทผลิตเสื้อขนสัตว์ในฝรั่งเศส!

ถึงจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึง “เจตนา” ของผู้สร้าง แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ Nanook of the North คือหนังเรื่องแรกที่ถ่ายทำในขั้วโลกเหนือเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ด้วยอุปกรณ์และเทคนิควิธีการสร้างภาพยนตร์ในยุคบุกเบิก ลองนึกถึงความยากลำบากแล้วต้องบอกว่าเป็นภารกิจที่ไม่น่าเป็นไปได้ด้วยซ้ำ

นี่กระมัง...ที่เป็นคุณค่าอันแท้จริงของหนังเรื่องนี้



Create Date : 26 มิถุนายน 2549
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2550 16:52:54 น. 4 comments
Counter : 6601 Pageviews.

 
น่าสนใจ


โดย: Zantha วันที่: 26 มิถุนายน 2549 เวลา:14:44:01 น.  

 

ฝนจะมีโอกาสได้ไปดูไม๊เนี่ย เศร้าใจจังพลาดหนังดีๆ ไปหลายเรื่องเลยค่ะ



โดย: Malee30 วันที่: 26 มิถุนายน 2549 เวลา:16:51:40 น.  

 
งี้ดๆ อ่านแล้วอยากดูง่ะ

อยากไปเห็นอิกลูของจริงด้วย


โดย: ทะเลอาบแสงจันทร์ วันที่: 28 มิถุนายน 2549 เวลา:22:10:58 น.  

 


โดย: renton_renton วันที่: 3 ตุลาคม 2550 เวลา:21:04:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2549
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
26 มิถุนายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.