The Brown Bunny การเดินทางของความเศร้า



The Brown Bunny
การเดินทางของความเศร้า

- พล พะยาบ -

คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 10 กรกฎาคม 2548


The Brown Bunny โด่งดังเมื่อครั้งเข้าฉายในสายการประกวดชิงปาล์มทองในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ปี 2003 มิใช่เพราะว่าหนังดีเยี่ยมถูกใจผู้ชม แต่เพราะถูกรุมสับจากนักวิจารณ์หลายสำนัก โดยเฉพาะโรเจอร์ อีเบิร์ต นักวิจารณ์ปากจัดแห่งชิคาโก ซัน-ไทมส์ ตีตราหนังเรื่องนี้ว่าเป็นหนังที่ห่วยที่สุดในประวัติศาสตร์คานส์ เฟสติวัล

อีเบิร์ตบันทึกไว้ในข้อเขียนของเขาว่าผู้ชมต่างเกลียดชังเหยียดหยามหนังเรื่องนี้ ระหว่างการฉายหลายคนลุกเดินออกจากโรง บางคนยังทนอยู่เพื่อจะโห่ใส่

วินเซนต์ กัลโล ผู้กำกับฯ ไม่รอช้า เขาตอบโต้อีเบิร์ตด้วยถ้อยคำเจ็บแสบไม่แพ้กัน จนกลายเป็นวิวาทะดุเด็ดเผ็ดมันสะใจกองเชียร์รอบเวที

นอกจากภาพรวมของหนังที่ย่ำแย่แล้ว หนังยังอื้อฉาวคาวโลกีย์ด้วยฉากออรัลเซ็กซ์เห็นกระจะนานกว่า 3 นาที โดย โคลอี้ เซวิญญี นักแสดงขาประจำหนังอินดี้ (Boy Don"t Cry, Dogville) ผู้รับบทนางเอก กระทำต่อพระเอก ซึ่งก็คือตัวกัลโล ผู้กำกับฯจอมฉาวนั่นเอง

จนนำไปสู่อีกหนึ่งข้อหาสำหรับกัลโล คือ เขาเป็นพวกบ้าอีโก้ที่ชอบโชว์ของลับ และกดขี่เพศหญิง

กระนั้น The Brown Bunny ณ เมืองคานส์ ที่ใครต่อใครโขกสับ กลับสาบสูญไปหลังสิ้นสุดเทศกาล เพราะมันถูกแปลงโฉมใหม่เมื่อไปปรากฏที่เทศกาลหนังโตรอนโต และอีกหลายๆ ที่ กระทั่งกลายเป็นมาดีวีดี


ความแตกต่างของหนัง 2 เวอร์ชั่นคือ กัลโลตัดหนังของเขาจาก 118 นาที ลงมาเหลือ 90 นาที หรือหายไปเกือบครึ่งชั่วโมง ซึ่งฉากที่ถูกตัดออกนั้นล้วนแต่เป็นฉากที่ว่ากันว่าเยิ่นเย้อ น่าขัน ไร้จุดหมาย

ส่วนฉากฉาวติดเรตที่ว่า...กัลโลไม่แตะต้องแม้แต่น้อย

The Brown Bunny เป็นผลงานกำกับลำดับที่ 2 ของกัลโล ต่อจาก Buffalo’66 เมื่อปี 1998 ซึ่งได้รับคำชมไปพอสมควร ทั้ง 2 เรื่องนอกจากงานด้านการกำกับแล้ว เขายังเขียนบทและแสดงเองด้วย แต่ The Brown Bunny ไปไกลกว่านั้น เพราะเขาเหมางานเบื้องหลังเองทั้งหมด ทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏในเครดิต

ไล่ตั้งแต่ตัดต่อ กำกับภาพ คัดเลือกนักแสดง ออกแบบฉาก กำกับศิลป์ ออกแบบเครื่องแต่งกาย แม้กระทั่งเมคอัพ

จนกล่าวได้ว่า นี่คือผลงานส่วนตัวของกัลโลอย่างแท้จริง ไม่น่าแปลกใจที่เจ้าตัวจะเดือดดาลตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงแบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม...หรือหน้านักวิจารณ์ขาใหญ่คนไหน

หนังเริ่มด้วยฉากแข่งรถมอเตอร์ไซค์ในนิว แฮมเชียร์, บัด เคลย์(กัลโล) นักบิดมืออาชีพ ตามหลังคนอื่นเข้าเส้นชัย เขามีคิวแข่งอีกสนามหนึ่งที่แคลิฟอร์เนีย การเดินทางข้ามประเทศด้วยรถแวนบรรทุกมอเตอร์ไซค์คู่ชีพจึงเริ่มต้น

เย็นย่ำค่ำคืน เขาขับรถไปตามลำพัง บางครั้งเราเห็นเขาเช็ดน้ำที่รื้นตรงขอบตา...

ภาพหญิงสาวคนหนึ่งปรากฏเป็นระยะ เธอคือ เดซี่(เซวิญญี่) อดีตคนรักของเคลย์ ซึ่งยังคงอยู่ในความคิดคำนึงของเขาอยู่เสมอ

ระหว่างทาง เคลย์พยายามผูกมิตรหรือเปิดพื้นที่ให้หญิงสาวแปลกหน้า น่าแปลกที่ทุกคนล้วนแต่มีชื่อเป็นดอกไม้เช่นเดียวกับเดซี่ ไม่ว่าจะเป็นไวโอเลต ลิลลี่ หรือโรส แต่ก่อนที่ความสัมพันธ์จะงอกเงย เขากลับตัดมันทิ้งเสียเอง ราวกับว่าดอกไม้ป่าอย่างเดซี่เท่านั้นที่จะงดงามในใจเขาได้

เขาแวะเยี่ยมแม่ของเดซี่ ได้เห็นกระต่ายสีน้ำตาลในกรงเลี้ยงซึ่งเดซี่ฝากไว้ให้แม่ดูแล เป็นกระต่ายสีน้ำตาลซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนหนึ่งเดียวของหญิงสาวผู้จากไป เคลย์พบกระต่ายสีน้ำตาลอีกครั้งในร้านขายสัตว์เลี้ยง กำลังดื่มน้ำจากหลอดที่เชื่อมกับกระบอกทรงสูง


เมื่อมาถึงแคลิฟอร์เนีย ในที่สุดเขาได้พบกับเดซี่ในห้องพักโรงแรม ทั้งสองพูดคุยกันเหมือนการปรับทุกข์ ก่อนจะจบลงด้วยเดซี่ประกอบโอษฐกามให้เคลย์

เคลย์ร้องไห้ละล่ำละลัก เดซี่ปลอบใจเขาแล้วจากไป...อีกครั้ง

ด้วยเนื้อหาที่ไม่มีอะไรมากนัก การชมหนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่เพื่อติดตามเรื่องราว แต่เพื่อซึมซาบความรู้สึก กระทั่งกล่าวได้ว่า The Brown Bunny เป็นหนังที่สร้างพล็อตขึ้นจากความรู้สึก มิใช่พฤติกรรมของตัวละคร

เวลาส่วนใหญ่ของหนังหมดไปกับภาพเคลย์ขับรถ บางครั้งเป็นภาพโคลสอัพด้านข้างเห็นแววตาเศร้าชัดเจน บางครั้งเป็นภาพถ่ายผ่านไหล่จากด้านหลังเห็นถนนเบื้องหน้า หรือไม่ก็ภาพแทนสายตาเคลย์มองสายถนนที่เคลื่อนผ่านไปไม่รู้จบ

มีแสงแดดยามเย็น-พลบค่ำ-ความมืดมิดของกลางคืน บางครั้งฝนตกกระหน่ำ เป็นฉากที่เคลื่อนเปลี่ยนตลอดเวลา ภาพแล้วภาพเล่า ผ่านเวลานานนาที มีเพลงประกอบไพเราะซึ่งเลือกใส่ได้ถูกจังหวะจนผู้ชมสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของเคลย์

นั่นคือความเศร้าที่ไม่มีวันสิ้นสุด

เป็นความเศร้าที่นำพาฉากทุกฉาก ตัวละครทุกตัว รวมทั้งการปรากฏตัวของเดซี่ จนนำไปสู่ฉากโอษฐกามอันลือเลื่อง

ว่าไปแล้วฉากติดเรตดังกล่าวไม่ได้โผล่มาแบบไม่มีที่มาที่ไป ก่อนหน้าฉากนี้ ผู้ชมจะได้เห็นอากัปกิริยาที่คล้ายคลึงกันมาแล้ว 3 ครั้ง

2 ครั้งแรก เคลย์ใช้หัวจ่ายเติมน้ำมันรถ อีกครั้งหนึ่งคือกระต่ายสีน้ำตาล ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของเดซี่ ดูดดื่มน้ำด้วยความกระหายจากหลอดปลายกระบอกทรงสูงสำหรับสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก

ทั้งการเติมน้ำมันรถและการดื่มน้ำของกระต่ายต่างเกิดขึ้นเพื่อเติมชีวิตให้ยังคงสภาพปกติ

ลักษณะที่เดซี่ดูดดื่มน้ำจากร่างเคลย์ก็มีความหมายเดียวกัน นั่นคือเคลย์ต้องการเติมชีวิตให้แก่คนที่เขารัก


ความเรื่อยเฉื่อยไร้จุดหมายของหนังอาจทำให้บางคนมองหนังเรื่องนี้ว่าน่าเบื่อหน่าย หรืออาจตีค่าว่าเป็นแค่หนังโป๊เรื่องหนึ่ง แต่สำหรับผู้เขียน, The Brown Bunny คือความงดงามเศร้าสร้อยราวบทกวีที่ วินเซนต์ กัลโล ประจงขีดเขียนออกมาด้วยความรู้สึกอันเปี่ยมล้นโดยไม่ต้องใส่ใจเรื่องราวหรือสาระใดๆ ให้มากมาย

ถ้าหนังฉบับเมืองคานส์เลวร้ายตามที่ใครต่อใครรุมประณาม ก็คงต้องบอกว่าการตัดต่อหนังใหม่โดยเฉือนเนื้อร้ายไปกว่าครึ่งชั่วโมงนั้นเท่ากับดึงหนังเรื่องหนึ่งขึ้นจากก้นเหวเลยทีเดียว

และกัลโลคงได้บทเรียนว่า “การตัดต่อ” มีความสำคัญต่อหนังมากมายมหาศาล




 

Create Date : 07 กรกฎาคม 2549
4 comments
Last Update : 21 สิงหาคม 2549 2:49:33 น.
Counter : 5576 Pageviews.

 

น่าดูนะ

 

โดย: มะเหมี่ยวเอ็กซ์ 7 กรกฎาคม 2549 7:02:08 น.  

 

เคยได้ข่าวเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้มาบ้าง แต่ยังไม่มีโอกาสได้ดูเลยค่ะ
เคยดูแต่buffalo´66 หนังเรื่องแรกของเขา ก็ว่าเข้าท่าดี แม้ว่าจะพยายามเป็นหนังนอกกระแสมากไปนิด

 

โดย: DropAtearInMyWineGlass 7 กรกฎาคม 2549 7:06:55 น.  

 

อยากดูเหมือนกันค่ะ
ถ้ามันเจือไปด้วยความเศร้า และ หม่น ล่ะก้อ น่าสนใจ น่าสนใจ

 

โดย: octavio 7 กรกฎาคม 2549 19:40:09 น.  

 

ของเค้าสวยดีเนอะ น่าดูดจัง *0*

 

โดย: เก่ง IP: 118.173.232.30 3 กรกฎาคม 2551 9:11:01 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
7 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.