VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 

ทหารเด็ก (Child soldiers) - นักฆ่ารุ่นเยาว์

นักฆ่ารุ่นเยาว์ (Child soldiers)

ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2552
โดย พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ




"น้อยคนนักที่จะทราบว่า นักรบที่ได้รับการกล่าวขานว่ามีความเหี้ยมโหดที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่งกลับกลายเป็น “ทหารเด็ก” ซึ่งเป็นเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 7 -18 ปี หรืออาจจะน้อยกว่านั้น ที่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกนับแสนคน"









ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อใดก็ตามที่โลกเกิดความขัดแย้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ลัทธิ ความเชื่อ ชาติพันธ์ ไปจนถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ในหลายภูมิภาคของพื้นพิภพนี้ประชาชนได้หันมาใช้สงครามเป็นหนทางออกในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเชื่อว่าการทำลายล้างแนวความคิดที่ขัดแย้งกับฝ่ายตนให้หมดสิ้นไปนั้น จะเป็นหนทางแห่งชัยชนะที่สามารถยุติปัญหาต่างๆ ลงได้

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะยิ่งมีการประหัตประหาร ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นเท่าใด แทนที่ความขัดแย้งที่มีอยู่จะจางหายไป มันกลับกลายเป็นการบ่มเพาะความโหดร้ายอำมหิต ที่เหี้ยมเกรียม ดุดัน ลงในพื้นที่แห่งความขัดแย้งให้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น นับเป็นบาดแผลแห่งสงครามที่ยากจะเยียวยาแก้ไขได้ในห้วงระยะเวลาอันสั้น และหนึ่งในเชื้อร้ายที่สงครามได้บ่มเพาะลงในจิตใจของมวลมนุษยชาติก็คือ ...

การใช้เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นนักรบติดอาวุธ ซึ่งโลกได้ขนานนามเยาวชนนักรบเหล่านี้ว่า “นักรบรุ่นเยาว์” หรือ “ทหารเด็ก” (Child soldier) นั่นเอง




มีเอกสารหลายฉบับในโลกตะวันตกที่ได้ระบุว่า หากจะกล่าวถึงหน่วยรบที่มีประสิทธิภาพ และมีขีดความสามารถสูงจนเป็นที่น่าเกรงขามไปทั่วโลก เราก็มักจะนึกถึงหน่วยรบชั้นยอดของกองทัพสหรัฐฯ เช่น หน่วยเนวี ซีล (US Navy Seal) หน่วยเดลต้า ฟอร์ซ (Delta Force) หรือหน่วย เอส เอ เอส ( S A S ) ของกองทัพอังกฤษ ตลอดจนหน่วยรบพิเศษของกองทัพไทย เป็นต้น แต่หากจะกล่าวว่าหน่วยรบของประเทศใดที่มีความโหดเหี้ยมติดอันดับโลก หลายคนที่อาจจะพูดถึงหน่วยรบพิเศษ “สเปท์สนาซ” (Spetsnaz) ของกองทัพรัสเซีย หน่วยโคปาสซุส (Kapasus) ของกองทัพอินโดนีเซีย หรือหน่วยรบต่างๆ ที่มีประวัติการรบมาอย่างโชกโชน

แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า นักรบที่ได้รับการกล่าวขานว่ามีความเหี้ยมโหดที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่งกลับกลายเป็น “ทหารเด็ก” ซึ่งเป็นเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 7 -18 ปี หรืออาจจะน้อยกว่านั้น ที่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกนับแสนคน

ทั้งนี้เพราะ “ทหารเด็ก” หรือ “นักฆ่ารุ่นเยาว์” เหล่านี้ ได้รับการวิเคราะห์จากโลกตะวันตกแล้วว่า เป็นนักฆ่าที่สามารถสังหารผู้คนได้เพียงเพราะต้องการฆ่า หรือเพียงเพราะได้รับคำสั่งให้ฆ่า เป็นการฆ่าด้วยจิตใต้สำนึก ไม่ใช่การฆ่าด้วยอุดมการณ์ เป็นการฆ่าที่ปราศจากความยั้งคิดใดๆ ทั้งสิ้น อันเนื่องมาจากความด้อยประสบการณ์ ความไร้เดียงสา และการขาดความรู้ที่เพียงพอ “ทหารเด็ก” บางคนเริ่มสังหารผู้คนตั้งแต่ยังไม่สามารถจำอายุของตนได้เลย




ไมค์ เวสเซลส์ (Mike Wessells) แห่งนิตยสาร The Atomic Scientists ของสหรัฐฯ ได้วิเคราะห์ถึงการใช้ “ทหารเด็ก” เป็นเครื่องมือ “จักรกลสงคราม” ในการทำสงครามกลางเมืองของประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา เช่น ประเทศเซียร่า ลีโอน, ชาด, บุรุนดี, โซมาเลีย, เอธิโอเปีย ในทวีปเอเชีย เช่น พม่า, จีน ในอเมริกากลาง เช่น ชิลี, เอล ซัลวาดอร์, ปารากวัย หรือแม้กระทั่งในยุโรป เช่น เซอร์เบียและบอสเนีย เป็นต้น

โดยเวสเซลส์ระบุว่า เหล่านักรบรุ่นเยาว์เหล่านี้บางคนก้าวเข้าสู่สงครามตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ทั้งๆ ที่ในช่วงอายุดังกล่าวควรเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาควรได้รับโอกาสทางการ “ศึกษา” มากกว่าได้รับโอกาสในการ “เข่นฆ่าประหัตประหาร”

สงครามที่เหล่านักรบรุ่นเยาว์เข้าไปมีส่วนด้วย มักเป็นสงครามที่มีความขัดแย้งทางเชื้อชาติ และเป็นสงครามกลางเมืองที่มีรูปแบบของการรบแบบกองโจรเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่สงครามตามแบบแผนที่มีแนวรบแน่นอน ตายตัวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

เด็กๆ เหล่านี้เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ช่วยในครัวสนาม เป็นยามรักษาการณ์ เป็นหน่วยสอดแนม เป็นสายลับในการรวบรวมข่าวสาร แล้วได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นกลุ่มที่คอยก่อการจลาจล ด้วยการขว้างปาก้อนหิน เผาอาคารสถานที่ ลักลอบส่งอาวุธให้กับกลุ่มทหารของตน จนถึงขั้นสุดท้ายของการพัฒนาคือ เข้าสวมเครื่องแบบ จับอาวุธสงคราม มีการฝึกฝนการใช้อาวุธประจำกายและยุทโธปกรณ์ต่างๆ




บันทึกหน้าหนึ่งของเวสเซลส์เขียนไว้ตอนที่เขาเดินทางเข้าไปในเอธิโอเปีย และได้มีโอกาสสัมภาษณ์เด็กชายคนหนึ่งที่อดีตเคยเป็นทหารของกลุ่มกบฎ เด็กคนนั้นเล่าให้ฟังว่า

“ ... ตอนที่ผมอายุ 7 ขวบ พวกกบฏบุกเข้ามาที่บ้านแล้วจ่อยิงพ่อของผมที่ศีรษะ ก่อนที่จะฆ่าข่มขืนแม่ ผมจำภาพพ่อที่นอนจมกองเลือดอยู่กับพื้นได้อย่างติดตา พวกกบฎทำลายทุกอย่างภายในบ้าน ก่อนที่จะลากตัวผมไปแล้วบังคับให้ผมเป็นนักรบเหมือนพวกเขา พร้อมกับขู่ว่า ถ้าไม่ฆ่าคน ผมจะถูกฆ่าเหมือนพ่อกับแม่ของผม ... ผมกลัวมาก ... ความกลัวทำให้ผมฆ่าคนจำนวนนับไม่ถ้วน ... ไม่ใช่เพราะความเกลียด ... แต่เพราะความกลัว ...”

มีกรณีศึกษาหลายกรณีที่พบว่า “ทหารเด็ก” เหล่านี้เมื่อเผชิญหน้ากับศัตรูหรือเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย พวกเขาจะถูกขับเคลื่อนด้วยอำนาจมืดบางอย่าง เช่น ความเกลียดที่มีอยู่อย่างไร้เหตุผล ความกลัวที่มีอยู่อย่างไร้ขีดจำกัด ความคึกคะนองที่มีอยู่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะอำนาจมืดที่ถูกผสมผสานกับความไร้เดียงสาของเด็ก จนกลายเป็นความโหดเหี้ยมที่ผิดมนุษย์นี้เอง ที่ทำให้นักรบรุ่นเยาว์บางคนพร้อมที่จะทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น

นักรบรุ่นเยาว์คนหนึ่งซึ่งปัจจุบันได้รับการดูแลโดยมูลนิธิหมู่บ้านอุปถัมภ์เด็กกำพร้า (เป็นมูลนิธิเอกชนที่ดำเนินงานโดยกลุ่มเอ็น จี โอ ในประเทศอังกฤษ) ได้เปิดเผยถึงความทรงจำอันเจ็บปวดของเขาในการมีส่วนร่วมในสงครามกลางเมืองของประเทศรวันดา ระหว่างชนเผ่าฮูตูและชนเผ่าทุตซี่ว่า

“... การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ในประเทศรวันดาเริ่มต้นขึ้นในปี 1994 ขณะนั้นผมยังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมปลาย มีการกวาดต้อนเด็กๆ เข้าร่วมกับกลุ่มต่างๆ พวกกบฎบุกมาที่หมู่บ้านของผมในกรุงคิกาลี (Kigali) เมืองหลวงของรวันดา พวกเราไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่โบสถ์ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากหมู่บ้านประมาณ 500 เมตร แต่ก็ถูกพวกกบฏกวาดต้อนไปโดยพวกเขาบอกเราว่า จะฝึกให้เป็นทหารเพื่อปลดปล่อยเมืองหลวงจากฝ่ายรัฐบาล ... จากนั้นผมก็ถูกนำไปฝึกทำการรบ และฝึกการใช้อาวุธอยู่ประมาณสามสัปดาห์ ก่อนที่จะออกสู่แนวหน้าเพื่อทำการรบกับฝ่ายรัฐบาล ... ผมไม่เคยคิดเลยว่า ผมจะต้องจับอาวุธเข่นฆ่าผู้คน ผมไม่ต้องการจะทำเช่นนั้นเลย ... จนกระทั่งวันที่ 25 มิถุนายน 1994 ผมถูกส่งออกไปลาดตระเวณเพื่อเตรียมการเข้าตีฝ่ายรัฐบาล โชคร้ายที่เหยียบกับระเบิดที่ถูกฝังเอาไว้ ... ขาซ้ายของผมขาดกระเด็น ... จำได้ว่าทั่วร่างกายเต็มไปด้วยเลือด ผมถูกนำส่งโรงพยาบาลสนามที่เมือง “บยุมบา” เพื่อรับการรักษาเป็นเวลา 2 เดือน แม้ว่าบาดแผลยังไม่หายดี แต่ผมก็ถูกส่งไปยังค่ายทหารที่เมือง “บูตารา” ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 100 กิโลเมตรเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการรบอีกครั้ง ... ”




ส่วนอดีตทหารเด็กอีกคนหนึ่งที่กลับมาใช้ชีวิตตามปกติในโรงเรียนมัธยม เล่าถึงประสบการณ์ของเขาให้ฟังว่า

“... พวกเราถูกฝึกเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก่อนที่จะถูกส่งออกทำการรบ ผมได้รับคำสั่งให้ตัดมือผู้ใหญ่ทุกคนที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน เพราะหัวหน้าของเราไม่ต้องการให้ผู้ใหญ่เหล่านั้นใช้มือจับปากกาลงคะแนนให้ฝ่ายตรงข้าม ... เราจึงตัดมือพวกผู้ใหญ่ทุกคนที่ผ่านมาด้วยดาบ มีด หรือของมีคมทุกชนิด บางคนตัดขาดบ้าง ไม่ขาดบ้าง ... บางคนเลือดออกจนเสียชีวิตต่อหน้าพวกเรา บางคนอ้อนวอนอย่างน่าสงสาร แต่เราก็ยังคงตัดมือผู้คนต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ผมจำไม่ได้ว่าเราตัดมือคนไปเป็นจำนวนเท่าใด แต่ก็เป็นจำนวนมากพอสมควรเพราะมันเป็นปฏิบัติการที่ใช้เวลานานนับเดือน ... อย่าถามว่ามันโหดเหี้ยมเพียงใด ... เวลานั้นมันไม่ใช่ตัวผม ... แต่เป็นปีศาจร้ายที่สิงอยู่ในร่างของผม มันบอกผมว่า จงทำลายล้างศัตรูให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่มีเหตุผลอื่นใดมากกว่านี้ มันเป็นประสบการณ์ที่ผมจะไม่มีวันลืมเลย ...”




ในอูกานดา ที่ซึ่งสงครามกลายเป็นสิ่งปกติที่คงอยู่คู่กับการดำเนินวิถีชีวิตของประชาชน ทหารเด็กถูกกลุ่มกบฏที่ขนานนามตัวเองว่า “กองทัพต่อต้านของพระผู้เป็นเจ้า” (The Lord’s resistance Army) ใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ดังคำบอกเล่าของนักรบรุ่นเยาว์นายหนึ่งที่บรรยายให้ฟังว่า

“... พวกเขาสั่งให้พวกเราที่เป็นทหารเด็กใช้ดาบพื้นเมืองที่เรียกว่า พันกาส (Pangas) ตัดริมฝีปากและใบหูของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นการทำลายขวัญประชาชนที่ต่อต้านกลุ่มของเขา พวกเราวุ่นวายอยู่หลายวันในการปฏิบัติการดังกล่าว ... เราก้มหน้าก้มตาตัดริมฝีปากและหูของใครก็ได้ที่หัวหน้าของเราสั่งให้ทำ จนลืมไปว่า หลายคนที่ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดเหล่านี้ เป็นญาติที่อยู่ข้างบ้านของเรานั่นเอง ...”




จากการบอกเล่าของเหล่านักฆ่ารุ่นเยาว์เหล่านี้ คงทำให้สังคมโลกได้ตระหนักถึงความเหี้ยมโหดที่ผสมผสานกับความไร้เดียงสาในวัยเด็กของพวกเขา นอกเหนือไปจากการที่โลกได้มองว่า เป็นการกระทำทารุณต่อเด็กๆ ที่ควรจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียนเพื่อศึกษาหาความรู้ หรือสนุกสนามอยู่ในสนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่นหลากสีสัน ไม่ใช่ดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางสนามรบที่เต็มไปด้วยอาวุธแห่งการทำลายล้างนานาชนิด

อย่างไรก็ตามการควบคุมอัตราการขยายตัวของนักรบรุ่นเยาว์ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาก็ทำได้อย่างยากลำบาก ทั้งนี้เพราะทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฏในประเทศเหล่านี้พยายามที่จะปกปิดจำนวนตัวเลขที่แท้จริงของจำนวนทหารเด็กที่ประจำการอยู่ในกองทัพของตน ตลอดจนพยายามปิดบังอายุที่แท้จริงของเยาวชนเหล่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการประณามจากสังคมโลก




นอกจากการใช้เด็กผู้ชายเป็นนักฆ่ารุ่นเยาว์ในกองทัพแล้ว เด็กผู้หญิงจำนวนมากก็ถูกกวาดต้อนหรือเกณฑ์เข้าเป็นนักรบรุ่นเยาว์ด้วยเช่นกัน แต่ที่ทารุณยิ่งกว่าเด็กผู้ชายก็คือ นักรบหญิงรุ่นเยาว์เหล่านี้นอกจากจะต้องทำการรบ และทำงานหนักเหมือนผู้ชายทั่วไปแล้ว พวกเธอยังถูกบังคับให้ทำหน้าที่ให้บริการทางเพศแก่เหล่าทหารชายอีกด้วย

ตัวอย่างเช่นในเอธิโอเปีย มีเด็กผู้หญิงอยู่ในกองกำลังติดอาวุธเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 25 พวกเธอต้องกลายเป็นภรรยาของเหล่าทหารชาย ซึ่งกลายเป็นตราบาปไปตลอดจนชีวิต ซ้ำร้ายเมื่อสงครามสงบลง เด็กผู้หญิงเหล่านี้ไม่สามารถกลับไปยังภูมิลำเนาของเธอได้ เนื่องจากครอบครัวไม่ให้การยอมรับกับอดีตอันเจ็บปวดที่ผ่านมาได้ สุดท้ายนักรบหญิงรุ่นเยาว์จำนวนมากต้องหันไปใช้ชีวิตในการเป็นโสเภณีในที่สุด

ในขณะที่นักรบหญิงรุ่นเยาว์ต้องถูกสงครามประทับตราบาปไปตลอดชีวิตของพวกเธอ เหล่านักรบชายรุ่นเยาว์ก็มีอนาคตที่ไม่แตกต่างกันนัก เมื่อสงครามหรือความขัดแย้งยุติลง เด็กผู้ชายจำนวนมากต้องกลายเป็นโจร เนื่องจากไม่ได้รับการศึกษา มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว รุนแรง ตลอดจนไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้

ในทางตรงกันข้ามสังคมเองก็ดูเหมือนจะอึดอัดใจในการยอมรับการกลับมาสู่สังคมของเหล่าทหารเด็กที่มีพฤติกรรมอันอำมหิต โหดเหี้ยม ทำให้ปัญหาทหารเด็กกลายเป็นปัญหาที่อยู่ในสภาพ “งูกินหาง” หรือเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกไปโดยปริยาย




กราซ่า มาเชล (Graza Machel) อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศโมซัมบิค ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของเด็กและเยาวชน ได้ทำการค้นคว้าถึงการใช้เด็กเป็นกองกำลังทหารในทั่วทุกภูมิภาคของโลกว่า อัตราการเติบโตของการใช้ทหารเด็กในสงครามกลางเมืองเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังเช่นการสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มกบฎในไลบีเรีย ซึ่งเปิดฉากมาตั้งแต่ปี 1989 มีเยาวชนอายุระหว่าง 8 - 16 ปีเข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามถึงกว่า 6,000 คน

ขณะเดียวกันในกองทัพของประเทศเอล ซัลวาดอร์ ก็มีเยาวชนเป็นกำลังพลอยู่ถึงกว่าร้อยละ 20 ส่วนกลุ่มมูจาฮิดีนที่ทำการรบในอัฟกานิสถานก็มีการใช้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีถึงกว่าร้อยละ 10 เข้าเป็นกำลังรบหลักออกต่อสู้ในแนวหน้าเคียงข้างกับนักรบมูจาฮิดีนทั่วไป

มาเชลระบุในเอกสารของเธอว่า การเกณฑ์เยาวชนเข้าเป็นกำลังพลของกองกำลังติดอาวุธในประเทศต่างๆ มักจะเป็นไปในรูปแบบของการกวาดต้อนหรือลักพาตัว โดยกองทัพจะปิดล้อมสถานที่สาธารณะ เช่น ตลาด หรือ โรงเรียน แล้วกวาดต้อนเด็กๆ ไปคราวละจำนวนมากๆ เพื่อนำไปฝึกฝนในค่ายทหาร และจะไม่มีใครทราบชะตากรรมของเด็กๆ เหล่านี้อีกเลย

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจนเป็นปกติในบางประเทศ เช่น สหภาพพม่า โซมาเลีย และโมซัมบิคโดยเฉพาะเมื่อกองทัพขาดแคลนทหารหลัก และจำเป็นต้องใช้กำลังเสริมในการรบ ขณะที่ในเอธิโอเปียกลุ่มกบฏมักจะออกลักพาตัวเด็กๆ ที่ขายสิ่งของอยู่ตามท้องถนนแล้วกวาดต้อนขึ้นไปบนรถบรรทุกที่จัดเตรียมไว้ และขับหายไปอย่างไร้ร่องรอยจากนั้นอีกไม่นานก็มีผู้พบเห็นเด็กเหล่านั้นออกทำการรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารกบฏ

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ทหารเด็กไม่เพียงแต่จะถูกฝึกและล้างสมองให้กลายเป็นฆาตกรเลือดเย็นที่ไร้เหตุผลแล้ว นักรบเหล่านี้ยังถูกมอมเมาด้วยยาเสพติดนานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเสพติดประเภทแอมเฟทตามีน ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กๆ อยู่ในอาการประสาทหลอน ขาดความยับยั้งชั่งใจ และปราศจากความหวาดกลัวต่ออันตรายใดๆ ทั้งสิ้น

ซึ่งผลกระทบข้อนี้ทำให้เยาวชนส่วนใหญ่ตกเป็นทาสยาเสพติดจนยากที่จะเยียวยารักษาได้ แม้สงครามจะยุติลงแล้วก็ตาม และกลายเป็นปัญหาของสังคมต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด




อันที่จริงแล้วกฎบัตรของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของเด็กและเยาวชน ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 1986 และมีประเทศต่างๆ ลงนามรับรองกว่า 160 ประเทศ ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า การเกณฑ์ทหารนั้นให้กำหนดอายุขั้นต่ำที่ 15 ปี และที่น่าสนใจก็คือกลุ่มประเทศสมาชิกได้พร้อมใจกันกำหนดอายุขั้นต่ำให้สูงขึ้นเป็น 18 ปีเสียด้วยซ้ำ

แต่ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นเพียงตัวอักษรบนแผ่นกระดาษ ที่ไม่มีใครใส่ใจหรือปฏิบัติตาม ทั้งๆ ที่ปัญหาการใช้เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์เป็นทหารหลักเข้าสู่สนามรบนั้น นับเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ปัญหาหนึ่งของโลก แต่หนทางในการแก้ไขกลับดูมืดมน ไร้แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อย่างสิ้นเชิง ตราบใดที่โลกยังคงคุกรุ่นไปด้วยไฟแห่งสงคราม และตราบใดที่นานาชาติขาดความจริงใจในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังดังเช่นในปัจจุบัน

บทความฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะอุทิศให้กับ “นักฆ่ารุ่นเยาว์” หรือ “ทหารเด็ก” ที่ถูกผู้ใหญ่นำไปฝึกฝน ปลูกฝังความคิดจนความ “ไร้เดียงสา” กลายเป็นความ “อำมหิต” ความ “สนุกสนาน” กลายเป็นความ “โหดเหี้ยม” และ “อนาคตอันสดใส” กลายเป็น “ตราบาป” ไปชั่วชีวิต พร้อมทั้งขอจบบทความนี้ลงด้วยบทสัมภาษณ์ของทหารเด็กวัย 14 ปี แห่งเอธิโอเปียที่ตอกย้ำถึงความร้ายกาจของสงครามที่มีต่อ “ทหารเด็ก” เหล่านี้ว่า

“ ... ผมถูกกองกำลังรีนาโม (RENAMO) จับตัวไป และต้องฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า พวกเขาสอนผมให้ถอดประกอบปืน ครั้งแล้วครั้งเล่า ทุกวันได้ยินแต่คำว่า ฆ่า ... ฆ่า แล้วก็ ฆ่า เป็นเวลานานกว่า 4 เดือน... ผมยิงเป้านิ่งซ้ำแล้วซ้ำอีก จนยิงได้อย่างแม่นยำราวกับจับวาง ... แล้ววันแห่งการทดสอบก็มาถึง ... มีชายคนหนึ่งถูกจับมายืนอยู่ที่สนามยิงปืนแทนเป้ากระดาษ ... พวกเขาบอกให้ผมฆ่า ... ผมเพียงเหนี่ยวไกปืนและสังหารชายคนนั้นโดยไม่รู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น ... มีเสียงตะโกนว่า ผมเป็นนักรบที่สมบูรณ์แล้ว ... ผมจำได้ว่า มันเป็นความภาคภูมิใจที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของผม ผมคือ “นักฆ่ารุ่นเยาว์” แล้ว ...”




 

Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2553    
Last Update : 23 มีนาคม 2555 20:43:26 น.
Counter : 12036 Pageviews.  

การฟื้นคืนชีพของกลุ่มอัลกออิดะห์

การฟื้นคืนชีพของกลุ่มอัลกออิดะห์

ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับเดือนกันยายน 2552

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit),
Victoria University of Wellington, New Zealand







คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเมื่อใดที่เดือนกันยายนผ่านมาถึง เมื่อนั้นโลกก็ต้องหวนรำลึกถึงเหตุการณ์การก่อการร้ายที่สะเทือนขวัญผู้คนไปทั่วทุกสารทิศ เพราะนับตั้งแต่อาคารเวิร์ดเทรดเซนเตอร์ (World Trade Centre) กลางมหานครนิวยอร์คของสหรัฐอเมริกาถูกโจมตีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 เป็นต้นมา โลกก็ได้เคลื่อนตัวผ่านจากยุคสงครามเย็น (Cold war) เข้าสู่ยุคแห่งการก่อการร้ายอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นการเคลื่อนตัวของกาลเวลาที่ส่งผลให้ชื่อของกลุ่ม “อัลกออิดะห์” หรือ “อัลเคดา” ของโอซามา บิน ลาเดน กลายเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการยกย่องชื่นชมหรือความเกลียดชังสาปแช่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละกลุ่ม แต่ละบุคคล

กลุ่มอัลกออิดะห์ ถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดของโอซามา บิน ลาเดน ชาวซาอุดิอารเบียผู้ซึ่งเป็นบุตรคนที่ 17 จากทั้งหมด 51 คนของคหบดีที่มั่งคั่ง ในช่วงแรกนั้นอัลกออิดะห์มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อขับไล่ทหารโซเวียตออกจากอัฟกานิสถาน และมีสถานะเป็น “นักสู้เพื่ออิสรภาพ (Freedom Fighter)” มากกว่าการเป็น “กลุ่มก่อการร้าย (Terrorist)”

จนกระทั่งเมื่อโซเวียตถอนทหารออกไปจากอัฟกานิสถานแล้ว โอซามา บิน ลาเดน ก็ยกระดับการต่อสู้ของเขาขึ้นเป็นการต่อสู้เพื่อสถาปนา “รัฐอิสลามบริสุทธิ์” รวมทั้งประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาในปี 1996 โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การขับไล่สหรัฐอเมริกาออกจากซาอุดิอารเบียและดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ในตะวันออกกลาง อันนำมาซึ่งการโจมตีสถานฑูตสหรัฐอเมริกา 2 แห่งในแอฟริกาตะวันออกในปี 1998 และการโจมตีเรือพิฆาต “โคลด์” ด้วยระเบิดพลีชีพในอ่าวเอเดนในปี 2000 ซึ่งผลงานดังกล่าวทำให้โอซามา บิน ลาเดน กลายเป็นบุคคลที่ทางการสหรัฐอเมริกาต้องการตัวมากที่สุดคนหนึ่งด้วยค่าหัวสูงถึง 5 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา

ในขณะเดียวกันเขาก็กลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้และท้าทายมหาอำนาจตะวันตกไปโดยปริยาย ส่งผลให้คำว่า “นักสู้เพื่ออิสรภาพ” ของเขาเริ่มแปรเปลี่ยนเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ในสายตาโลกตะวันตกชัดเจนมากยิ่งขึ้น




ทหารสหรัฐฯ ขณะทำการกวาดล้างกลุ่มอัลกออิดะห์ในอัฟกานิสถาน ภายหลังจากการโจมตีทางอากาศอย่างหนักและต่อเนื่อง เป็นผลให้สมาชิกของกลุ่มต้องย้ายที่มั่นไปอยู่บริเวณชายแดนอัฟกานิสถาน – ปากีสถาน



อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามุมมองที่โลกมีต่อกลุ่มอัลกออิดะห์จะเป็นเช่นไร สมาชิกของกลุ่มดังกล่าวก็ได้แสดงให้มวลมนุษยชาติได้เห็นถึงความรุนแรง และโหดร้ายที่ไม่มีขีดจำกัด รวมทั้งยังไม่มีข้อยับยั้งชั่งใจใดๆ ทั้งสิ้นในการก่อการร้ายที่มุ่งหวังต่อชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ สตรีหรือแม้กระทั่งคนชรา ซึ่งเป็นภาวการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และมีความแตกต่างจากการก่อการร้ายในยุคสงครามเย็น ที่ผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่ เช่น กองทัพแดงของญี่ปุ่น (Japanese Red Army) หรือกองทัพสาธารณรัฐไอริช (ไออาร์เอ - IRA) ที่มุ่งโจมตีหรือกระทำต่อเป้าหมายที่แสดงถึง “อำนาจรัฐ” เป็นหลัก

ด้วยเป้าหมายที่เปลี่ยนไปนี้เอง ได้ส่งผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั่วทุกมุมโลกตกอยู่ในสภาวะแห่งความหวาดระแวง และตื่นตระหนก อีกทั้งยังเป็นการสร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เคยเปี่ยมไปด้วยความสงบสุขและสันติภาพอีกด้วย

จากเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 ในสหรัฐอเมริกาและจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ทำให้สหรัฐอเมริกาและกลุ่มพันธมิตรนาโต้ เปิดฉากโจมตีที่มั่นของกลุ่มอัลกออิดะห์ และกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอนรากถอนโคนกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าวให้สิ้นซาก ด้วยการโจมตีเทือกเขาต่างๆ ที่เป็นที่มั่นและที่ซ่องสุมผู้คนของขบวนการอย่างต่อเนื่องด้วยอาวุธต่างๆ อันทรงอานุภาพทั้งหมดที่โลกตะวันตกมีอยู่ในความครอบครอง โดยอดีตประธานาธิบดี จอร์ช ดับเบิลยู บุช ให้ความสำคัญในการตามล่าบิน ลาเดน ด้วยการออกคำสั่ง “จับเป็นหรือจับตาย (Dead or Alive)” แก่หน่วยต่างๆ ในพื้นที่

จนกระทั่งมาถึงยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ที่ยังคงให้ความสำคัญในการปราบปรามเพื่อเอาชนะกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าวในอัฟกานิสถานเป็นอันดับแรกๆ เพื่อลดประสิทธิภาพในการเป็นภัยคุกคามสันติภาพของสหรัฐอเมริกา

ทางฝ่ายโอซามา บิน ลาเดน และกลุ่มอัลกออิดะห์ของเขาซึ่งต้องประสบกับการโจมตีและกวาดล้างอย่างรุนแรง ก็ต้องพบว่าอัฟกานิสถานที่เคยเป็นสวรรค์ของพวกเขาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง




นักรบของกลุ่มอัลกออิดะห์ในโซมาเลีย ซึ่งเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏ อัล ชาบาบ (Al Shabab) ในกรุงโมกาดิชชู กำลังเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศโซมาเลีย



แม้จะมีความพยายามในการตอบโต้ แต่ก็เป็นการตอบโต้ตามแบบฉบับของกองโจร เช่น การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพ การซุ่มโจมตีขบวนลำเลียงของสหรัฐอเมริกาและกลุ่มพันธมิตรนาโต้ ซึ่งการโจมตีดังกล่าวแม้จะสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของฝ่ายตรงข้ามอย่างหนักก็ตาม แต่การโจมตีเหล่านั้น ไม่ได้ช่วยให้ฝ่ายอัลกออิดะห์และตาลีบันครอบครองพื้นที่หรือแผ่ขยายอิทธิพลได้มากขึ้นแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้ามผลกลับปรากฏว่า ยิ่งอัลกออิดะห์ลงมือก่อการร้ายมากขึ้นเท่าใด การตอบโต้จากสหรัฐอเมริกาก็ยิ่งมีสูงมากขึ้นเท่านั้น

เมื่อการปราบปรามเป็นไปอย่างรุนแรง อัลกออิดะห์และตาลีบันก็จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการปะทะด้วยกำลังหลัก ซึ่งนับวันจะร่อยหรอลงทุกขณะ พร้อมทั้งย้ายที่มั่นลงไปหลบซ่อนตัวอยู่บริเวณชายแดนทางตอนใต้ของอัฟกานิสถานที่ติดกับปากีสถาน และมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างชายแดนด้านนี้ให้เป็นสวรรค์แห่งใหม่ของกลุ่ม โดยอาศัยความซับซ้อนของภูมิประเทศและความหลากหลายของชนเผ่าต่างๆ ในพื้นที่ รวมทั้งยังวางแผนที่จะแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปในปากีสถาน เพื่อสถาปนา “รัฐอิสลามบริสุทธิ์” ขึ้นแทนอัฟกานิสถานที่สิ้นสภาพความเป็นรัฐอิสลามบริสุทธิ์ในอุดมคติไปแล้ว





สถานทูตของสหรัฐฯ ในกรุงซานา (Sana) เมืองหลวงของเยเมน ถูกกลุ่มอัลกออิดะห์โจมตีในปี 2008 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 16 คน เยเมนได้กลายเป็นจุดพักพิงที่สำคัญของกลุ่มอัลกออิดะห์เนื่องจากเป็นประเทศที่อ่อนแอทั้งทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ




ทั้งนี้จากข่าวสารของหน่วยข่าวกรองของโลกตะวันตกพบว่า โอซามา บิน ลาเดน ได้ย้ายที่มั่นของตนเข้าไปอยู่ในพื้นที่หุบเขาทางตอนเหนือของปากีสถานในปี 2007 และพยายามสร้างผลงานเพื่อเผยแพร่ออกไปสู่โลกภายนอกเหมือนที่เคยปฏิบัติมาในอัฟกานิสถาน

แต่ดูเหมือนความหวังดังกล่าวจะถูกต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากรัฐบาลปากีสถานและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่ต่างระดมอาวุธยุทโธปกรณ์ทุกอย่างที่มีอยู่สกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอัลกออิดะห์และตาลีบันอย่างเต็มขีดความสามารถ

โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ผ่านมา นักรบของอัลกออิดะห์ที่มาจากทั่วโลก เช่น อุซเบกิสถาน ปากีสถานและชาติอาหรับอื่นๆ ที่ข้ามเขตแดนอัฟกานิสถานเข้าไปตั้งรกรากในปากีสถานตอนเหนือ ได้ถูกสหรัฐอเมริกาโจมตีทางอากาศอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรบที่ “โทราโบลา” (Torabola) และการรบในหุบเขา “ชาร์ ไอ คอต (Shah I Kot)” ที่นักรบเหล่านี้ถูกทำลายจนแทบละลายหายไปในหุบเขาอันลึกลับซับซ้อนเหล่านั้นเลยทีเดียว

จนกระทั่งในปี 2008 อัลกออิดะห์ก็พยายามก่อการร้ายขึ้นอีกครั้งด้วยการวางระเบิดโรงแรมมาริออท ในกรุงอิสลามมาบัดของปากีสถานเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2008 ซึ่งสามารถสังหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปได้เกือบหนึ่งร้อยคน แต่ก็ตามมาด้วยการตอบโต้ด้วยการปฏิบัติการทางทหารทั้งจากสหรัฐอเมริกาและปากีสถาน

ล่าสุดในปี 2009 สหรัฐอเมริกาได้ส่งฝูงบินเข้าโจมตีบริเวณหุบเขาต่างๆ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานอย่างหนักหน่วง กระแสข่าวของตะวันตกระบุว่ามีผู้นำระดับสูงของกลุ่ม 11 คนจาก 20 คนเสียชีวิตจากการปฏิบัติการทางอากาศดังกล่าว ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงนายอาบู มูซาบ อัล-ซาร์กาวี และนายอาบู อับดุลลาห์ อัล-ชามี แกนนำระดับผู้บังคับการกองกำลังทหารของกลุ่ม ส่งผลให้อัลกออิดะห์แทบหมดหนทางในการเคลื่อนไหวสร้างผลงานการก่อการร้าย เพราะเพียงแค่เอาตัวรอดจากการโจมตีทางอากาศและทางภาคพื้นดินที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง อัลกออิดะห์ก็แทบจะประคองตัวเองไม่ไหวอยู่แล้ว

ในช่วงนี้เองที่ชื่อเสียงของอัลกออิดะห์เริ่มเงียบหายและคลายมนต์ขลังลงไปมาก สมาชิกของกลุ่มบางส่วนพยายามหลบหนีไปยังประเทศอาหรับอื่นๆ บางส่วนหลบหนีการโจมตีทางอากาศเข้าไปพื้นที่ที่ห่างไกลของรัฐวาซิริสถานใต้ (South Waziristan) ในปากีสถานและขอเช่าพื้นที่จากกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ด้วยค่าเช่าที่แพงกว่าปกติถึงสามเท่าตัวเพื่อสถาปนาที่ตั้งของกลุ่มขึ้นมาใหม่




กรุงโมกาดิชชู เมืองหลวงของโซมาเลีย ที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพังอันเนื่องมาจากสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อ ส่งผลให้กลุ่มอัลกออิดะห์ใช้เป็นสถานที่พักฟื้นและซ่องสุมผู้คน ภายหลังการสูญเสียอย่างหนักในอัฟกานิสถาน




ในขณะเดียวกันนักรบอัลกออิดะห์ที่มาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็กระจัดกระจายกันเดินทางกลับประเทศของตนในสภาพ “บ้านแตกสาแหรกขาด” ปล่อยให้กลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ เช่น เจไอ หรือ เจ๊ะมาฮ์ อิสลามิยะห์, กลุ่มฮามาส ตลอดจนกลุ่มเฮซบุลเลาะห์ สร้างผลงานอันโดดเด่นขึ้นมาแทน แม้จะมีความพยายามของกลุ่มอัลกออิดะห์ในเมโสโปเตเมียของอิรัก ที่พยายามเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มต่อต้านต่างๆ แต่ผลงานก็ไม่เป็นรูปธรรมเด่นชัดอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต

แม้ว่าที่ปรึกษาระดับสูงของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า จะมองว่าการโจมตีกลุ่มอัลกออิดะห์บริเวณชายแดนปากีสถานนั้น เป็นความสำเร็จที่สำคัญยิ่งของนโยบายทางด้านการทหารของรัฐบาลสหรัฐอเมริกายุคปัจจุบัน แต่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกากลับพบหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า สมาชิกกลุ่มอัลกออิดะห์ที่เหลือรอดจากการโจมตีหลายสิบคน ได้หลบหนีออกจากพื้นที่บริเวณชายแดนอัฟกานิสถาน – ปากีสถาน เพื่อมุ่งหน้าสู่ประเทศโซมาเลียและประเทศเยเมน โดยหวังว่าจะใช้ประเทศทั้งสองเป็นฐานในการเคลื่อนไหว เพื่อปลุกอัลกออิดะห์ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาในโลกแห่งการก่อการร้ายอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้หน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกายังพบว่า โอซามา บิน ลาเดน ผู้นำของกลุ่มยังคงปักหลักหลบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่หุบเขาในปากีสถาน เพื่อติดต่อกับกลุ่มอัลกออิดะห์ในเยเมน และโซมาเลีย โดยมีวัตถุประสงค์ในการเตรียมการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดในอนาคตอันใกล้นี้

“โซมาเลียเป็นประเทศที่ไร้อำนาจรัฐ ในขณะที่ประเทศเยเมนก็มีรัฐบาลที่คอร์รัปชั่นและอ่อนแอเกินไปที่จะต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย สองปัจจัยนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้อัลกออิดะห์เลือกโซมาเลียและเยเมนเป็นสถานที่ฟื้นคืนชีพของพวกเขาก่อนที่จะสูญพันธ์อย่างสิ้นเชิง” แหล่งข่าวระดับสูงของสหรัฐอเมริกาเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ (The New York Times) พร้อมทั้งให้ความเห็นว่า โซมาเลียและเยเมนจะถูกจุดประเด็นเรื่อง “สงครามศักดิ์สิทธิ์” หรือ “ญิฮาด” ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อเป็นการระดมนักรบที่พร้อมอุทิศตนเพื่อสงครามที่พวกเขามองว่า เป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ ให้เข้าร่วมขบวนการก่อการร้ายชื่อก้องโลกนี้

และหากโลกไม่มีมาตรการที่เข้มแข็งเพียงพอ เราจะได้เห็นการฟื้นคืนชีพของอัลกออิดะห์ และจะเป็นการฟื้นคืนชีพที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพในการสั่นคลอนเสถียรภาพของโลกในยุคปัจจุบันได้อย่างมากเลยทีเดียว




กลุ่มกบฏอัล ชาบาบ ในกรุงโมกาดิชชูของโซมาเลีย ขณะกำลังทำการฝึกร่วมกับกลุ่มอัลกออิดะห์ (ภาพ เอ พี)



ทางด้านนายลีออง อี พาเน็ตต้า (Leon E Panetta) ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ ซีไอเอ เปิดเผยต่อหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ว่า การเดินทางเข้าไปในโซมาเลียของสมาชิกอัลกออิดะห์ จะส่งผลให้โซมาเลียเกิดสงครามกลางเมืองที่รุนแรงขึ้นได้ โดยอัลกออิดะห์จะเข้าสมทบกับกลุ่มกบฏ “อัล ชาบาบ” (Al Shabab) ในกรุงโมกาดิชชู เมืองหลวงของโซมาเลีย ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏที่แข็งแกร่งเนื่องจากมีนักรบ “ญิฮาด” จากต่างประเทศเข้าร่วมอยู่แล้วนับร้อยคน

สำหรับในเรื่องนี้ ดร. น๊อกซ์ ชิทิโย (Dr Knox Chitiyo) คณบดีคณะแอฟริกาศึกษาของสถาบัน Royal United Services ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษได้คาดการณ์ว่า รัฐบาลโซมาเลียที่อ่อนแอกำลังอยู่ในภาวะคับขันจนถึงขั้นอาจล่มสลาย และอัลกออิดะห์ก็จะใช้โซมาเลียเป็นฐานในการส่งออกการก่อการร้ายแทนอัฟกานิสถานต่อไป ในขณะเดียวกันเยเมนก็คงต้องประสบเคราะห์กรรมไม่ต่างจากโซมาเลียอย่างแน่นอนหากอัลกออิดะห์สามารถจัดตั้งฐานที่มั่นได้ในประเทศดังกล่าว




สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อในโซมาเลียส่งผลให้ประเทศโซมาเลียกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว (Failed State) และกลายเป็นสรวงสวรรค์แห่งใหม่ของกลุ่มอัลกออิดะห์



ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2009 สมาชิกอัลกออิดะห์ที่มีฐานที่มั่นในเยเมนก็เริ่มเปิดฉากการก่อการร้ายสะเทือนโลกขึ้นอีกครั้ง ด้วยการส่งนายอับดุลเลาะห์ ฮัซซัน ทาเลห์ อัล-อาซิรี นักรบอัลกออิดะห์ผู้ทำหน้าที่เป็นมือระเบิดพลีชีพข้ามแดนเข้าไปในซาอุดิอารเบียเพื่อปฏิบัติการลอบสังหารเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ (Prince Mohammed bin Nayef) แห่งราชวงศ์ซาอุดิอารเบีย ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่มีนโยบายในการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างจริงจัง โชคดีที่เจ้าชายนาเยฟปลอดภัยจากการโจมตีในครั้งนี้ แต่การปฏิบัติการดังกล่าวก็เป็นการส่งสัญญาณให้โลกได้รับรู้ว่า อัลกออิดะห์กำลังจะคืนชีพขึ้นมาแล้ว

นอกจากนี้แหล่งข่าวซึ่งเป็นนายทหารระดับสูงของกองทัพสหรัฐอเมริกายังเปิดเผยอีกว่า หน่วยงานด้านการข่าวของสหรัฐอเมริกาสามารถตรวจพบการติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิกอัลกออิดะห์ทั้งสามประเทศอย่างต่อเนื่องว่า

“ ... พวกเขาติดต่อสื่อสารเกี่ยวกับความต้องการในด้านต่างๆ ของกันและกัน เช่น การสนับสนุนด้านการเงิน กำลังพล และด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นในการจัดตั้งกองกำลังขึ้น ซึ่งสัญญาณดังกล่าวอาจเป็นสิ่งบอกเหตุว่า พวกอัลกออิดะห์กำลังวางแผนที่จะปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ...”

การโยกย้ายฐานที่มั่นของกลุ่มอัลกออิดะห์ในครั้งนี้ถูกวิเคราะห์ออกเป็นสองมุมมอง มุมมองแรกซึ่งเป็นมุมมองของที่ปรึกษาระดับสูงของประธานาธิบดีโอบาม่า มองว่าการปฏิบัติการทางทหารบริเวณชายแดนปากีสถานประสบความสำเร็จอย่างมากจนทำให้กลุ่มก่อการร้ายต้องเปิดเผยตัวจากที่หลบซ่อน เปรียบเหมือนผึ้งแตกรังที่ง่ายต่อการติดตามและทำลาย รวมทั้งการติดต่อสื่อสารข้ามประเทศระหว่างกลุ่มจะเป็นตัวชี้นำไปสู่การจับกุมได้ง่ายขึ้น

แต่อีกมุมมองหนึ่งกลับมองว่า โอซามา บิน ลาเดนและกลุ่มแกนนำของอัลกออิดะห์ยังคงหลบซ่อนตัวอยู่บริเวณตอนเหนือของปากีสถาน ในขณะที่สมาชิกบางส่วนได้แผ่ขยายอาณาจักรไปยังสรวงสวรรค์แห่งใหม่ในโซมาเลียและเยเมน เพื่ออาศัยสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูองค์กร ทำการซ่องสุมผู้คนเพื่อสร้างอัลกออิดะห์ให้กลับมายิ่งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง ดังที่ ทาลัด มาซูด นายพลนอกราชการของปากีสถานกล่าวแสดงความคิดเห็นถึงการไล่ล่าสมาชิกอัลกออิดะห์ที่แตกกระสานซ่านเซ็นออกไปจากที่มั่นทางตอนเหนือของปากีสถานว่า

“ ... มันไม่ง่ายอย่างที่คิดหรอก ที่จะติดตามไล่ล่าพวกอัลกออิดะห์ในโซมาเลียและเยเมน เหตุการณ์ความสูญเสียของทหารอเมริกันในการรบที่กรุงโมกาดิชชูของโซมาเลียในปี 1993 จะหวนกลับมาอีกครั้งอย่างแน่นอน หากสหรัฐอเมริกาส่งทหารเข้าไปในโซมาเลียและเยเมน”

อย่างไรก็ตามไม่ว่าอัลกออิดะห์จะประสบความสำเร็จในการใช้โซมาเลียและเยเมนเป็นสถานที่ชุบชีวิตใหม่ขึ้นมาอีกครั้งหรือไม่นั้น โลกก็ยังคงต้องจับตามองความเคลื่อนไหวของขบวนการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งร่วมมือกันในการตัดท่อน้ำเลี้ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลให้มัจจุราชแห่งการก่อการร้ายกลุ่มนี้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา เพราะไม่เช่นนั้นแล้วโลกที่แสนสงบและเปี่ยมไปด้วยสันติสุข อาจจะต้องตกอยู่ใน “อาณาจักรแห่งความหวาดกลัวจากอำนาจแห่งการก่อการร้าย” ของอัลกออิดะห์อีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้










 

Create Date : 08 ธันวาคม 2552    
Last Update : 8 ธันวาคม 2552 7:28:34 น.
Counter : 6297 Pageviews.  

ภัยคุกคามของรถถังยุคปัจจุบัน

จักรกลแห่งสงคราม (War machine) ตอน “ภัยคุกคามของรถถังยุคปัจจุบัน”


โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

ลงพิมพ์ในนิตยสาร Topgun ประจำเดือนกรกฎาคม 2552






ในขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมุ่งมั่นที่จะผลิตรถถังให้ทรงอานุภาพมากที่สุด เพื่อใช้ในการรบตามแบบฉบับของสมรภูมิในสงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามในตะวันออกกลางทั้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มประเทศอาหรับ หรือสงครามในอิรักครั้งที่ 1 โดยมีสมมติฐานของการพัฒนาอยู่ที่การเผชิญหน้าระหว่างรถถังกับรถถัง ทำให้การออกแบบและสายการผลิตมุ่งเน้นไปที่รถถังที่มีความหนาของเกราะบริเวณด้านหน้าเพื่อป้องกันกระสุนของฝ่ายตรงข้าม รวมถึงการเพิ่มขนาดของปืนใหญ่ที่มีขนาดความกว้างปากลำกล้องจากเดิม 105 ม.ม. เป็น 120 ม.ม. ที่มีระยะยิงไกลเพื่อหวังผลในการทำลายรถถังของฝ่ายตรงข้ามแบบที่เรียกว่า “one shot .. one kill”

แนวความคิดนี้ปรากฏอย่างเด่นชัดในห้วงทศวรรษ 1970 – 1980 ที่สายการผลิตรถถังของสหรัฐอเมริกา รัสเซีย อังกฤษ และอิสราเอล ต่างให้กำเนิดรถถังที่ล้วนทรงประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้จนไม่อาจตัดสินได้ว่าใครเหนือกว่าใคร เช่น รถถังแบบ เอ็ม 1 อับบรามส์ (M 1 Abrams) ของสหรัฐฯ รถถังเมอร์คาว่า มาร์ค 4 (Merkava Mk IV) ของอิสราเอล รถถังชาลเลนเจอร์ 2 (Challenger 2) ของอังกฤษและรถถังแบบ ที 80 (T 80) ของรัสเซีย ทั้งนี้ยังไม่นับรถถังแบบเลอแคลซ์ (LECLERC) ของฝรั่งเศส, TYPE 90 ของญี่ปุ่นและ ZTZ – 99 ของจีน ที่ล้วนแต่ทรงอานุภาพไม่ด้อยไปกว่ากัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามเย็นได้ยุติลงพร้อมๆ ไปกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคของสงครามการก่อการร้ายที่ใช้พื้นที่ในเมืองเป็นสมรภูมิ (urban warfare) ใช้ยุทธวิธีการซุ่มโจมตีตามแบบฉบับของการรบแบบกองโจร รวมทั้งการใช้ระเบิดพลีชีพเป็นอาวุธสำคัญ และใช้แนวคิดทางศาสนาสุดขั้วเป็นตัวกำหนดหลักนิยมในการทำสงคราม

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้สมรภูมิการรบเปลี่ยนแปลงไป นับตั้งแต่การไม่มีแนวรบที่แน่นอนเพราะแนวรบอาจอยู่ที่ใดก็ได้แม้แต่ในฐานที่มั่นของฝ่ายตนเอง รวมไปถึงการไม่สามารถแยกแยะมิตรหรือศัตรูได้อย่างชัดเจน จนก่อให้เกิดความหวาดระแวงอันนำไปสู่การสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ ดังเช่นที่ทหารสหรัฐฯ ต้องประสบอยู่ในอิรักขณะนี้





เมื่อสมรภูมิ แนวคิดและยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงไป แต่รถถังซึ่งเป็นอาวุธหลักหรือ “จักรกลแห่งสงคราม” ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากอดีตที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้รถถังที่มีขั้นตอนการออกแบบและการผลิตที่มีราคาสูงลิบ ต้องประสบกับความสูญเสียอย่างคาดไม่ถึง

ประเทศแรกๆ ที่ต้องประสบกับความจริงอันเจ็บปวดในข้อนี้ก็คือ “รัสเซีย” ที่ส่งรถถังอันทรงอานุภาพแบบ ที 80 เข้าไปในสาธารณรัฐเชคเนีย (Republic of Chechnya) ในปี 1994 และในปี 2006 ซึ่งแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่ของกองทัพรัสเซียต้องเผชิญหน้ากับกองทหารเชเชนแห่งสาธารณรัฐเชคเนีย ที่ล้วนเคยประจำการอยู่ในกองทัพสหภาพโซเวียตก่อนการล่มสลาย ทำให้รู้ตื้นลึกหนาบางของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่รัสเซียใช้ประจำการอยู่

นอกจากนี้ทหารเชเชนยังได้ประยุกต์ยุทธวิธีการรบของกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน โดยผ่านทางนักรบมูจาฮีดิน (Mujahedeen) ที่ลักลอบเข้ามาทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ในเชคเนีย ซึ่งยุทธวิธีดังกล่าวเคยสร้างความเสียหายให้กับสหภาพโซเวียตในอัฟกานิสถานเป็นอย่างมากในห้วงทศวรรษที่ 80 มาแล้ว

เลสเตอร์ ดับเบิลยู เกราว์ (Lester W. Grau) แห่งสถาบันศึกษาการสงครามระหว่างประเทศที่ฟอร์ตลีเวนเวอร์ตของสหรัฐฯ ได้เขียนบทวิเคราะห์ในบทความเรื่อง “จุดอ่อนของยานเกราะรัสเซียในพื้นที่การรบในเมือง – บทเรียนจากเชคเนีย” โดยกล่าวถึงการจัดกำลังของฝ่ายเชเชนในการต่อสู้กับกองทัพรัสเซียที่รุกเข้าสู่เมืองกรอสนีย์ (Grozny) ซึ่งส่งผลให้ “จักรกลสงคราม” อันทันสมัยอย่างรถถัง ที 80 ของรัสเซียต้องประสบกับความพินาศว่า

.... การสู้รบกับรถถังที 80 ในพื้นที่เขตตัวเมืองนั้น ทหารเชเชนจะแบ่งกำลังออกเป็นกลุ่มๆ ละ 15 -20 คน แต่ละกลุ่มจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยลงไปอีก กลุ่มละ 4 คน ทำหน้าที่เป็น “ชุดล่าและทำลายรถถัง” (anti armor hunter – killer team) ในสี่คนนี้จะมีพลยิงเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง 1 คน (โดยปกติจะใช้เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 7 หรืออาร์พีจี 18) ผู้ช่วยพลยิงเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง 1 คน พลปืนกล 1 คนและพลซุ่มยิง (sniper) 1 คน

.... ในการปฏิบัติการรบนั้น พลปืนกลและพลซุ่มยิงจะทำหน้าที่ยิงทำลายหรือแยกทหารราบออกจากรถถังที 80 ขณะที่พลยิงเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังจะระดมยิงทำลายรถถัง ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทหารเชเชนจะใช้ชุดล่าและทำลายรถถังจำนวน 5 – 6 ทีม ต่อการทำลายรถถังที 80 ของรัสเซีย 1 คัน

.... โดยแต่ละทีมจะแยกกันยิงทำลายรถถังจากตัวอาคารชั้นที่ 2 หรือชั้นที่ 3 เพื่อมุ่งทำลายรถถังจากการยิงในมุมสูงโดยมุ่งเป้าไปที่เครื่องยนต์และป้อมปืนส่วนหลังของรถถังซึ่งเป็นส่วนที่เปราะบางมากที่สุด รวมทั้งยังเลือกโจมตีจากด้านข้าง มากกว่าการโจมตีจากด้านหน้าซึ่งมีเกราะและการป้องกันที่ดีกว่า

นอกจากนี้ความสำเร็จของทหารเชเชนยังมาจากการใช้ความได้เปรียบในการรบในเมืองด้วยการใช้ถนนต่างๆ เป็นเสมือนกับดักสำหรับขบวนรถถังที 80 โดยเลือกที่จะทำลายรถถังคันแรกและคันสุดท้ายของขบวน เพื่อปิดเส้นทางการหนีและเส้นทางการเคลื่อนที่ของรถถังคันอื่นๆ ก่อนที่จะทำลายรถถังที่เหลือภายในขบวนทั้งหมด ยุทธวิธีนี้ส่งผลให้รถถัง ที 80 ถูกทำลายลงถึง 62 คันในช่วงเวลาของการรบเพียงเดือนเดียว

ปัญหาของรถถังรัสเซียในเชคเนียที่เลสเตอร์ ดับเบิลยู เกราว์ ระบุไว้ในบทความของเขาก็คือ ปืนใหญ่ประจำรถที่มีขนาดใหญ่ถึง 125 ม.ม. อันทรงอานุภาพแบบ 2A46M-1 ของรถถังที 80 นั้น ไม่สามารถหยุดยั้งการเข้าโจมตีของชุดล่า – ทำลายของฝ่ายเชเชนที่โจมตีมาจากทุกทิศทุกทางได้ เพราะมันถูกออกแบบมาให้ต่อสู้กับรถถังด้วยกัน รวมทั้งเมื่อปราศจากทหารราบคุ้มกันรถถังแล้ว รถถังอันทรงอานุภาพนี้ก็ไม่ต่างไปจากเป้าเคลื่อนที่ที่ใช้ในการซ้อมยิงของพลยิงเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังของฝ่ายเชเชน

จากจุดอ่อนเหล่านี้ทำให้รัสเซียมีการปรับยุทธวิธ๊ในการรบใหม่ ด้วยการเสริมกำลังทหารราบคุ้มกันรถถังที 80 ให้มากขึ้น โดยทหารราบที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากนี้จะเปลี่ยนยุทธวิธีจากการเดินตามหลังรถถัง มาเป็นการเดินนำหน้าเพื่อกวาดล้างชุดล่า – ทำลายรถถังของทหารเชเชน ขณะเดียวกันพลประจำรถถังรถถังที 80 ก็มีโอกาสใช้ปืนกลต่อสู้อากาศยานแบบ NSVT ขนาด 12.7 ม.ม และ 7.62 ม.ม.ที่ติดอยู่บนป้อมปืนยิงสนับสนุนทหารราบในการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการใช้รถถังที 80 บางคันเป็นเสมือนเหยื่อล่อให้ชุดล่า-ทำลายรถถังของฝ่ายเชเชนเปิดเผยที่ตั้งของตนออกมา จากนั้นรัสเซียก็ใช้ทหารราบและรถถังที 80 ที่เหลือเข้ากวาดล้างทหารเชเชนเหล่านั้น ซึ่งการเปลี่ยนยุทธวิธีดังกล่าวส่งผลให้ยอดความสูญเสียของรถถังที 80 ลดลงอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้รัสเซียยังได้ทำการเพิ่มเกราะบริเวณเครื่องยนต์ด้านหลังของรถถังที 80 ที่เข้าทำการรบในเชคเนียครั้งที่ 2 ในปี 2006 อีกด้วย





อย่างไรก็ตาม การรบในเชคเนียครั้งที่ 2 แม้ยอดการสูญเสียของรถถัง ที 80 ของรัสเซียจะลดลงอย่างมากก็ตาม แต่ความสูญเสียก็ยังคงมีอยู่ เนื่องจากฝ่ายเชคเนียก็มีการเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีด้วยเช่นกัน โดยก่อนการโจมตีรถถังที 80 ฝ่ายเชเชนจะทำการกวาดล้างทหารราบจำนวนมากที่คุ้มกันรถถังด้วยระเบิดแสวงเครื่อง (IED – Improvised Explosive Device) ที่มีอานุภาพรุนแรง ก่อนที่จะเข้าประชิดรถถังแล้วทำการยิงด้วยเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังพร้อมๆ กันทีเดียวหลายนัด แล้วถอนตัวอย่างรวดเร็ว ก่อนที่กำลังเสริมชุดใหม่ของรัสเซียจะเข้ามาถึง

นอกจากนี้ฝ่ายเชเชนยังหันไปใช้ระเบิดแสวงเครื่องที่มีอานุภาพรุนแรง เช่น กระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 ม.ม. จำนวน 2 - 3 นัด ฝังไว้ใต้พื้นดินแล้วจุดระเบิดพร้อมกัน ซึ่งแรงระเบิดอันมหาศาลนี้สามารถทำลายรถถังที 80 ได้ (นอกจากนี้รัสเซียได้พัฒนารถถังที 90 โดยพัฒนามาจากรถถังที 72 ซึ่งรถถังที 90 ยังไม่ได้ออกทำการรบอย่างเป็นทางการ จึงยังไม่มีข้อมูลในการปฏิบัติการ แม้ฝ่ายเชเชนจะอ้างว่าสามารถทำลายรถถังที 90 ได้ในการรบเมื่อปี 2006 แต่ฝ่ายรัสเซียยืนยันว่าไม่มีรถถังที 90 เข้าปฏิบัติการในเชคเนียแต่อย่างใด)

นอกจากบทเรียนที่รถถังที 80 ของรัสเซียได้รับจากการรบในเชคเนียแล้ว ยังมีบทเรียนจากความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของรถถัง “เมอร์คาว่า มาร์ค 4” (Merkava Mk IV) ซึ่งเป็นรถถังของอิสราเอลที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่า ดีที่สุดรุ่นหนึ่งของโลก ในการรบกับกลุ่มเฮซบุลเลาะห์ (Hezbullah) ในเลบานอนช่วงปี 2004 ซึ่งกระทรวงกลาโหมอิสราเอลเปิดเผยตัวเลขความเสียหายของรถถังเมอร์คาว่าทุกรุ่นว่าได้รับความเสียหายถึง 52 คัน ในการรบเพียงช่วงสั้นๆ โดยเป็นความเสียหายจากเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบต่างๆ จำนวน 50 คัน เสียหายจากระเบิดแสวงเครื่องที่ฝังไว้บนถนนจำนวน 2 คัน และในจำนวน 50 คันที่ถูกยิงด้วยจรวดต่อสู้รถถัง ตัวจรวดต่อสู้รถถังสามารถเจาะทะลุรถถังเข้าไปภายในตัวรถได้ 22 คัน ทำให้พลประจำรถเสียชีวิต 23 นาย





โดยกระทรวงกลาโหมอิสราเอลเปิดเผยถึงชนิดของจรวดต่อสู้รถถังของฝ่ายเฮซบุลเลาะห์ว่ามีทั้งจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 29, จรวดคอร์เนต อี (Kornet E) และจรวดเมทิส เอ็ม (Metis-M) นอกจากนี้ยังมีจรวดแทนเดม (Tandem missiles) ซึ่งมีหัวรบสองชั้นที่สามารถเจาะทะลุเกราะของรถถังเมอร์คาว่าหรือเกราะที่มีความหนา 700 – 900 ม.ม.ได้

สำหรับรถถังเมอร์คาว่าที่ถูกระเบิดแสวงเครื่อง 2 คันนั้น เป็นเมอร์คาว่า มาร์ค 2 และเมอร์คาว่า มาร์ค 4 ซึ่งสร้างความตกตะลึงให้กับฝ่ายอิสราเอลเป็นอย่างมาก เพราะรถถังเมอร์คาว่า มาร์ค 4 นั้นเป็นรถถังเมอร์คาว่ารุ่นล่าสุดที่ได้รับการออกแบบให้สามารถทนทานต่อการโจมตีทุกรูปแบบ เพราะมีเกราะภายในอีกชั้น (underside armor)





อย่างไรก็ตามด้วยการติดตั้งเกราะชนิดใหม่นี้ ทำให้รถถังเมอร์คาว่า มาร์ค 4 สามารถป้องกันพลประจำรถจากการโจมตีได้ดีขึ้นกว่ารถถังเมอร์คาว่ารุ่นก่อนๆ ส่งผลให้พลประจำรถถังเมอร์คาว่า มาร์ค 4 เสียชีวิตจากการบในครั้งนี้เพียง 1 คนเท่านั้น รวมทั้งทหารที่บรรทุกมาในรถถังเมอร์คาว่าปลอดภัยทุกคน (รถถังเมอร์คาว่าถูกออกแบบให้สามารถบรรทุกทหารราบได้เหมือนยานเกราะลำเลียงพล)

โจนาธาน สปายเออร์ (Jonathan Spyer) ผู้สื่อข่าวนิตยสารไทม์ได้เขียนถึงบันทึกความทรงจำของพลขับรถถังเมอร์คาว่านายหนึ่งในการรบในเลบานอนเมื่อปี 2006 ในบทความเรื่อง “รถถังของเราคือกับดักแห่งความตาย” (Our tank was a death trap) ตีพิมพ์ในนิตยสารไทม์เมื่อ 30 สิงหาคม 2006 เกี่ยวกับประสบการณ์ในการถูกโจมตีด้วยเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 29 และคอร์เน็ต ใจความตอนหนึ่งสรุปได้ว่า





“ ... รถถังเมอร์คาว่าของเราถูกยิงด้วยจรวดคอร์เน็ตเข้าที่เครื่องยนต์จนเครื่องยนต์ดับ รถถังเมอร์คาว่าของผู้บังคับหมวดก็ถูกยิงด้วย ผมคว้าปืนและซองกระสุนก่อนที่จะคลานออกจากที่นั่งพลขับ ผ่านป้อมปืนออกไปทางประตูที่อยู่ตอนท้ายของรถถัง เสียงกระสุนเครื่องยิงลูกระเบิด (Mortars) ตกมาระเบิดรอบๆ ตัวพวกเรา

... เสียงใครคนหนึ่งตะโกนว่า ... อาลอน สโมฮา (Alon Smoha) ตายแล้ว ... ผมนึกถึงอาลอนผู้ซึ่งเป็นพลขับรถถังเมอร์คาว่าอีกคันหนึ่ง มีคนนำร่างของเขาออกจากซากรถถัง ผมเห็นเขานอนแน่นิ่งอยู่บนเปลสนาม ศพของอาลอนไม่มีร่องรอยอะไรมากมายนัก นอกจากแผลลึกทางด้านขวา สภาพศพยังปกติไม่ได้ถูกไฟไหม้ ขาของเขาพาดไขว้กัน จรวดต่อสู้รถถังคงทะลุมาโดนเขาขณะที่กำลังขับรถถังอยู่

... จากนั้นผมก็คลานลงไปคูน้ำที่อยู่ข้างๆ เพื่อหลบกระสุนที่พวกเฮซบุลเลาะห์ระดมยิงมาราวกับห่าฝน ก่อนที่รถสายพานลำเลียงพลและทหารราบของอิสราเอลจะเข้ามาช่วยพวกเราออกจากพื้นที่ดังกล่าว ในขณะที่กระสุนในรถถังทั้งสองคันเริ่มระเบิดเป็นระยะ ส่งผลให้เกิดไฟลุกท่วมรถอย่างรุนแรง

... และภายหลังที่รถถังเมอร์คาว่าทั้งสองคันถูกลากกลับเข้ามาในเขตแดนอิสราเอลแล้ว เราก็ได้มีโอกาสเห็นความเสียหายที่เกิดขึ้น รถถังเมอร์คาว่าของอาลอนถูกยิงด้วยจรวดต่อสู้รถถังเข้าที่เครื่องยนต์ มันทำลายเครื่องยนต์จนเสียหายแล้วยังคงพุ่งต่อไปด้านหน้าตรงที่นั่งพลขับ จากนั้นจรวดก็เจาะทะลุเกราะไประเบิดบริเวณที่นั่งพลขับที่อาลอนนั่งอยู่จนเสียชีวิต ส่วนในรถถังของผมนั้นจรวดเจาะทะลุเครื่องยนต์ตรงบริเวณเดียวกันกับรถถังของอาลอน แต่จรวดทำความเสียหายแต่เฉพาะเครื่องยนต์เท่านั้น ไม่เจาะทะลุไปในทิศทางใดๆ อีก ผมจึงรอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด ... “





จากบทความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า วิวัฒนาการของจรวดต่อสู้รถถังกำลังมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจนสามารถหยุดยั้งรถถังที่ระบบการป้องกันตัวเองที่เยี่ยมยอดดังเช่นรถถังเมอร์คาว่าได้ โดยเฉพาะจรวดต่อสู้รถถังแบบ เอ ที 14 คอร์เน็ต (AT 14 Kornet) และอาร์พีจี 29 รวมไปถึงจรวดต่อสู้รถถังรุ่นเก่าๆ ที่มีอายุใช้งานมานานกว่า 20 ปีอย่างเช่น อาร์พีจี 7 (RPG 7) เอ ที 3 แซกเกอร์ (AT 3 Sagger) เอ ที 4 สไปกอท (AT 4 Spigot) หรือ เอ ที 5 สแปนเดรล (AT 5 Spandrel) ที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน ราคาถูกสามารถซื้อหามาใช้ได้เป็นจำนวนมาก และใช้ปฏิบัติการด้วยการระดมยิงพร้อมกันเป็นชุด ชุดละ 5-6 นัด ก็สามารถสร้างความเสียหายให้กับรถถังอันทรงอานุภาพได้





กล่าวกันว่าผลจากการรบในเลบานอนของรถถังเมอร์คาว่า ที่กองทัพอิสราเอลทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลพัฒนารถถังรุ่นนี้ขึ้นจนเป็นรุ่นมาร์ค 4 ทำให้กระทรวงกลาโหมอิสราเอลถึงกับต้องทบทวนแผนการผลิตรถถังเมอร์คาว่ากันใหม่เลยทีเดียว เพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ในเลบานอนเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก

นอกจากรถถังที 80 ของรัสเซียและรถถังเมอร์คาว่าของอิสราเอลจะได้รับบทเรียนราคาแพงจากการรบในเมืองมาแล้ว รถถังชาลเลนเจอร์ 2 (Challenger 2) ซึ่งเป็นสุดยอดรถถังอีกรุ่นหนึ่งของโลกที่อังกฤษภาคภูมิใจก็ได้รับบทเรียนสำคัญไม่แพ้กันในการรบที่เมืองบาสรา (Basra) ของอิรัก รถถังชาลเลนเจอร์ 2 นั้นมีอานุภาพในการทำลายล้างสูง ปืนใหญ่ประจำรถขนาด 120 ม.ม. แบบ L30A1 สามารถทำลายข้าศึกได้อย่างแม่นยำในระยะไกลชนิดที่เรียกว่า ข้าศึกไม่มีโอกาสรู้ตัวเลยด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตามในเดือนสิงหาคม 2006 รถถังชาลเลนเจอร์ 2 ก็ถูกกลุ่มต่อต้านในอิรักยิงด้วยเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 29 โดยเป็นการยิงใส่ทางด้านหน้าตอนล่างของรถถัง ส่งผลให้ฌอน ชานซ์ (Sean Chance) พลขับรถถังสังกัดหน่วยรักษาพระองค์ฮัสซาร์ (The Queen’s Royal Hussars) ได้รับบาดเจ็บเท้าซ้ายขาดไปครึ่งหนึ่ง ผู้บังคับรถคันดังกล่าวให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์เทเลกราฟ (Telegraph) ของอังกฤษฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม 2007 ว่า

“ ... มีเสียงตะโกน ... อาร์พีจี 29 ... ผมได้แต่คิดว่า ... พระเจ้า ... มันต้องเป็นสิ่งเลวร้ายแน่ๆ ... ทันใดจรวดต่อสู้รถถังอาร์พีจี 29 ก็ปะทะกับตัวรถด้านหน้าแล้วเกิดระเบิดอย่างรุนแรงจนผมกระเด็นไปกระแทกกับป้อมปืนด้านหลัง แรงระเบิดทำให้เกิดควันและเปลวไฟในป้อมปืน ผมรู้สึกว่าใบหน้าบางส่วนของผมถูกไฟไหม้ ขณะเดียวกันก็ได้ยินเสียงพลขับตะโกนว่า ... ผมถูกยิง ... ผมถูกยิง ... เท้าของผมขาด ...”

อย่างไรก็ตามฝันร้ายของชาลเลนเจอร์ 2 ในสมรภูมิอิรักยังไม่ยุติลง ในวันที่ 6 เมษายน 2007 รถถังชาลเลนเจอร์ 2 คันที่สองก็ถูกโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่องขนาดใหญ่ที่ระเบิดจากพื้นถนนขณะปฏิบัติการในพื้นที่ Hyall Shuala ทางตะวันตกของเมืองบาสรา ระเบิดอัดทะลุเข้าไปในรถถังบริเวณใต้ท้อง ส่งผลให้พลขับถูกแรงดันของระเบิดขาขาดทันทีทั้งสองข้าง ข่าวความเสียหายของชาลเลนเจอร์ 2 ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในวันที่ 23 เมษายน ล่าช้าถึง 17 วัน จนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนว่ากระทรวงกลาโหมของอังกฤษพยายามปกปิดความล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับชาลเลนเจอร์ 2

สิ่งที่สร้างความหวั่นใจให้กับกระทรวงกลาโหมอังกฤษก็คือ รถถังชาลเลนเจอร์ 2 ได้มีการปรับปรุงระบบการป้องกันภายในรถโดยอาศัยบทเรียนจากรถถังเอ็ม 1 ของสหรัฐฯ ที่ประสบกับความสูญเสียจากเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังและระเบิดแสวงเครื่องในสมรภูมิอิรัก โดยการเพิ่มความหนาของเกราะด้วยเกราะพิเศษที่เรียกว่า ดอร์เชสเตอร์ (Dorchester armor) ซึ่งวัสดุที่นำมาเป็นส่วนประกอบของเกราะดังกล่าวยังคงเป็นความลับอยู่จนทุกวันนี้ รวมทั้งติดตั้งเกราะลดแรงระเบิด (ERA - Explosive Reactive Armor) ทางด้านหน้าของตัวรถ ส่งผลให้รถถังรุ่นนี้มีน้ำหนักถึง 70 ตัน

ซึ่งไมเคิล คลาร์ค แห่งศูนย์ศึกษาการสงครามของวิทยาลัยคิงส์ในกรุงลอนดอนกล่าวว่า การปรับปรุงขีดความสามารถของขาลเลนเจอร์ 2 ครั้งล่าสุดส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นว่ารถถังรุ่นนี้เป็น “รถถังที่ไม่อาจทำลายได้” และอาวุธทุกชนิดในสนามรบยุคปัจจุบันไม่ถือว่าเป็นภัยคุกคามของชาลเลนเจอร์ 2 ทั้งสิ้น ซึ่งจากห้วงเวลาที่ผ่านมารถถังชาลเลนเจอร์ 2 ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นรถถังที่มีความทนทานมากที่สุดรุ่นหนึ่ง





ตัวอย่างเช่นชาลเลนเจอร์ 2 คันหนึ่งถูกกลุ่มต่อต้านในอิรักระดมยิงด้วยจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 7 ในระยะเผาขนพร้อมกันถึง 8 ลูกพร้อมกับถูกยิงซ้ำด้วยจรวดมิลาน (Milan) อีก 1 ลูกจนสายพานขาดและตกลงไปในคูน้ำ ไม่สามารถแล่นต่อไปได้ แต่พลประจำรถทั้งหมดกลับไม่ได้รับอันตรายใดๆ พวกเขารออยู่ภายในตัวรถท่ามกลางการระดมยิงด้วยปืนเล็กนานาชนิดกว่าหนึ่งชั่วโมง จนกระทั่งได้รับการช่วยเหลือ และรถถังคันนี้ก็สามารถกลับเข้าปฏิบัติภารกิจได้ภายใน 6 ชั่วโมงต่อมา เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในรถถังชาลเลนเจอร์ 2 เป็นอย่างมาก

ดังนั้นเมื่อเกิดความเสียหายชาลเลนเจอร์ 2 และทำให้พลประจำรถได้รับบาดเจ็บ จึงส่งผลให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อรถถังรุ่นนี้ต้องสั่นคลอน เพราะชาลเลนเจอร์ 2 ที่ถูกยิงด้วยเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 29 บริเวณด้านหน้าซึ่งมีเกราะลดแรงระเบิดติดตั้งอยู่ แต่จรวดอาร์พีจี 29 ก็สามารถเจาะทะลุเข้าไปได้ จนโฆษกกระทรวงกลาโหมอังกฤษถึงกับออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จะต้องมีการสอบสวนหาสาเหตุว่าทำไมเกราะลดแรงระเบิดจึงไม่สามารถต่อต้านจรวดต่อสู้รถถังดังกล่าวได้ พร้อมทั้งปฏิเสธว่า ไม่เคยมีใครกล่าวว่าชาลเลนเจอร์ 2 เป็นรถถังที่ทำลายไม่ได้ หากเผชิญกับจรวดต่อสู้รถถังหรือระเบิดแสวงเครื่องที่มีอำนาจสูงมากก็สามารถทำลายรถถังได้ทุกชนิด ไม่ว่ารถถังนั้นจะมีสมรรถนะพิเศษมากมายเพียงใดก็ตาม อีกทั้งยังมีการยอมรับว่า ในการปฏิบัติภารกิจในอิรัก ไม่มีพื้นที่ใดที่ปลอดภัยสำหรับรถถังหรือยานเกราะทุกชนิดอีกต่อไป

รถถังอันทรงประสิทธิภาพอีกรุ่นหนึ่งที่ประสบชะตากรรมในสมรภูมิอิรักไม่เว้นแต่ละวันก็คือ รถถังเอ็ม 1 ของสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันมียอดความสูญเสียไปแล้วกว่า 80 คัน ทั้งจากการโจมตีด้วยเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังและระเบิดแสวงเครื่อง จนต้องมีการปรับปรุงขีดความสามารถของรถถังรุ่นนี้กันอย่างขนานใหญ่ เนื่องจากมีกระแสข่าวออกมาว่า กลุ่มต่อต้านในอิรักกำลังใช้วิธีการผลิตระเบิดแสวงเครื่องที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอนเปิดเผยผ่านสำนักข่าว ซี เอ็น เอ็นว่า ซีเรียและอิหร่านกำลังนำเทคโนโลยีในการผลิตระเบิดแสวงเครื่องรุ่นใหม่ที่มีอานุภาพในการเจาะเกราะที่มีความหนาถึง 1,000 ม.ม. ในระยะห่าง 300 ฟุตได้ ซึ่งหากกลุ่มต่อต้านนำระเบิดแสวงเครื่องรุ่นใหม่ออกใช้เมื่อใด ยานยนต์ทุกชนิดรวมทั้งรถถังเอ็ม 1 อันทรงประสิทธิภาพก็ไม่อาจต้านทานได้ ซึ่งเรื่องราวการต่อสู้ของรถถังเอ็ม 1 ในอิรักนั้น มีความยาวมากพอสมควร จึงจะขอยกไปกล่าวถึงโดยเฉพาะเจาะจงอีกตอนหนึ่ง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบัน “จักรกลแห่งสงคราม” ของแต่ละฝ่ายต่างมีเทคโนโลยีที่มีความสลับซับซ้อนในการทำลายล้างมากขึ้น ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งมุ่งพัฒนายานยนต์ให้มีประสิทธิภาพสูง และมีขีดความสามารถในการป้องกันพลประจำรถได้เป็นอย่างดี อีกฝ่ายหนึ่งก็มุ่งที่จะพัฒนาอาวุธของหน่วยทหารขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ เช่น เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง ระเบิดแสวงเครื่อง ตลอดจนอาวุธปืนประจำกายของทหารราบ ทั้งนี้เป็นการพัฒนาตามแนวคิด “การรบแบบกองโจร” ที่กลายเป็นยุทธวิธีหลักของกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก

อาจกล่าวได้ว่าพัฒนาการดังกล่าวจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ “ความสามารถสูงสุด” ในการทำลายข้าศึกที่ยังไม่อาจจินตนาการได้ว่า “ความสามารถสูงสุด” นี้จะสิ้นสุดอยู่ ณ จุดใด อย่างไรก็ตามหากการพัฒนา “จักรกลสงคราม” เพิ่มสูงมากขึ้นเพียงใด ชีวิตของทหารและประชาชนผู้บริสุทธิ์ก็ยิ่งถูกใช้เป็นเครื่องทดสอบความสามารถของจักรกลแห่งสงครามเพิ่มมากเป็นเท่าทวีคูณเพียงนั้น ซึ่งอาจส่งผลต่อสันติภาพของมวลมนุษยชาติในทั่วทุกภูมิภาคของโลกในอนาคตอันใกล้นี้





 

Create Date : 26 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 14 สิงหาคม 2553 23:40:36 น.
Counter : 12268 Pageviews.  

ความมั่นคงของโลกในกำมือโอบาม่า

บทวิเคราะห์ความมั่นคงของโลกในกำมือโอบาม่า

โดย ศนิโรจน์ ธรรมยศ

ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับที่ 23 เดือนสิงหาคม 2552


-------------------------------------






ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ประกาศจุดยืนในการถอนทหารจากอิรักอย่างชัดเจนว่า กำลังทหารทั้งหมดจะเดินทางกลับสหรัฐภายในปี 2010 เหลือเพียงที่ปรึกษาทางทหารที่จะปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนกองทัพอิรักจนถึงปี 2011




ภายหลังที่ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ประกาศนโยบายเน้นการ “เจรจา” และ “สร้างความสัมพันธ์” กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศโลกมุสลิม ที่ความสัมพันธ์ชะลอตัวลงอย่างมากในยุคของอดีตประธานาธิบดี จอร์ช ดับเบิล ยู บุช ทำให้เสียงตอบรับจากประชากรโลกมุสลิมเป็นไปทางที่ดีขึ้น แม้แต่ผู้นำลิเบีย โมฮัมมา กัดดาฟี่ ผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลานาน ก็ยังเอ่ยปากยอมรับนโยบายแห่งความประนีประนอมของโอบาม่า

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความมั่นคงของโลกในยุคปัจจุบัน มีความซับซ้อนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ในเลบานอนระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่โอมาบ่ายังคงหนุนอิสราเอลอย่างสุดตัว แม้จะมุ่งหวังอย่างสร้างสรรค์ในกระบวนการสันติภาพจนอาจถึงขั้นการสร้างรัฐปาเลสไตน์ให้เกิดขึ้นก็ตาม สถานการณ์การประท้วงการเลือกตั้งของกลุ่ม “สีเขียว” ในอิหร่านที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์การปราบปรามผู้ประท้วงของรัฐบาลเตหะรานอย่างถึงพริกถึงขิง รวมไปถึงปัญหา “อมตะ” ของสหรัฐฯ นั่นคือการสู้รบและการก่อการร้ายที่ยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดในอิรัก แม้จะมีการประกาศนโยบายถอนทหารสหรัฐฯออกจากอิรักที่แน่นอนแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการฟื้นตัวของกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานและปากีสถาน รวมไปถึงปัญหาซ้ำซากจากการทดลองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือที่ยังคงท้าทายประชาคมโลกอย่างอาจหาญ ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงกันว่า นโยบายแห่งความประนีประนอมตามแนวความคิดแบบ “อุดมคตินิยม” หรือ Idealism ของบารัค โอบาม่าที่มองว่าโลกนี้ เป็นดินแดนแห่งความร่วมมือ และมนุษย์ทุกคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เต็มไปด้วยเหตุผลนี้ จะอยู่รอดในโลกแห่งความเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด





ปัญหากลุ่มตาลีบันในปากีสถาน




ปัญหาที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษในห้วงเวลาที่ผ่านมาก็คือ ปัญหาการก่อการร้ายในปากีสถานของกลุ่มตีบันซึ่งนำโดย Baitullah Mehsud (ล่าสุดเสียชีวิตแล้วจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ) ที่ข้ามเขตแดนมาจากอัฟกานิสถาน ที่ยังคงดำเนินไปอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง และดูเหมือนรัฐบาลปากีสถานจะเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่ตลอดเวลา

ดังเช่น การลอบโจมตีขบวนยานยนต์ของกองกำลังทหารปากีสถานเมื่อเดือนที่ผ่านมาในพื้นที่เมือง ไมรามชาฮ์ (Miramshah) ทางตอนเหนือของวาซิริสถาน (North Waziristan) จนฝ่ายรัฐบาลแก้แค้นด้วยการส่งฝูงบินไอพ่นและเฮลิคอปเตอร์เข้าโจมตีฝ่ายตาลีบันอย่างหนักจนมีผู้เสียชีวิตถึง 16 คน





กลุ่มตาลีบันในปากีสถานกำลังสังหารนักโทษกลางที่ชุมชน ความโหดเหี้ยมและการยึดหลักศาสนาอย่างเคร่งครัดสุดโต่ง กำลังกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของปากีสถานและภูมิภาคอย่างรุนแรง




การแก้ปัญหาดังกล่าวในปากีสถานซึ่งเคยเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ ในการปราบปรามกลุ่มอัล กออิดะฮ์และตาลีบันนั้น ประธานาธิบดีโอบาม่าเคยประกาศว่า หากสหรัฐตรวจพบค่ายฝึก หรือที่ซ่อนตัวของกลุ่มตาลีบันบริเวณพรมแดนอัฟกานิสถาน-ปากีสถานเมื่อใด สหรัฐฯจะลงมือโจมตีที่หมายเหล่านั้นด้วยตนเอง โดยไม่แจ้งให้รัฐบาลปากีสถานทราบล่วงหน้า

เนื่องจากโอบาม่ามีความมุ่งหมายที่จะทุ่มเทศักยภาพทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ของสหรัฐฯ เพื่อยุติสงครามในอัฟกานิสถานเป็นหลัก มากกว่าที่จะ “ติดหล่มหรือจมปลักสงครามในอิรัก” ดังจะเห็นได้จากการเพิ่มกำลังทหารสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานอีกถึง 17,000 คน จากเดิมที่มีอยู่ 32,000 คน รวมทั้งแม้ว่าจะมีการประกาศถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ออกจากอิรักภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2010 ก็ตาม แต่ทั้งนี้ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทุ่มเทกำลังและศักยภาพทางทหารทั้งหมดไปที่อัฟกานิสถาน ที่โอบาม่ามองว่า คือต้นเหตุของการก่อการร้ายที่คุกคามสหรัฐฯ ไม่ใช่อิรักอย่างที่จอร์ช บุช มองเอาไว้





ทหารปากีสถานตามพรมแดนที่ติดกับอัฟกานิสถาน กำลังต่อสู้กับกลุ่มตาลีบันอย่างโดดเดี่ยว ปราศจากความช่วยเหลือจากนานาชาติ แม้สหรัฐฯ จะทำการทิ้งระเบิดที่มั่นของกลุ่มตาลีบันอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการรุกคืบหน้าของพวกตาลีบันได้





ปัญหาการก่อการร้ายในปากีสถานขณะนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า กำลังจะขยายตัว จนถึงขั้นอาจนำปากีสถานไปสู่สงครามกลางเมืองเลยก็ว่าได้ ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จของกลุ่มตาลีบันในการขยายแนวคิดและหลักศาสนาแบบสุดโต่งเข้าไปในดินแดนปากีสถานได้มากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ในเมืองใหญ่ๆ อย่างอิสลามาบัด หรือ การาจี ปัจจุบันเริ่มมีสตรีสวมผ้าคลุมมิดชิดมากขึ้น เพราะเกรงจะถูกทำร้ายจากกลุ่มศาสนาแนวคิดสุดโต่ง นักเรียนหญิงจำนวนมากถูกทำร้าย ตั้งแต่การตบหน้าไปจนถึงการสาดน้ำกรดใส่ใบหน้า เพื่อประกาศยืนยันถึงหลักศาสนาแบบสุดโต่งว่า สตรีไม่มีสิทธิเรียนหนังสือ ผู้นำศาสนาสายกลางหลายคนถูกผู้นำศาสนาแบบสุดโต่งกล่าวประณามอย่างรุนแรง

นอกจากการขยายแนวคิดทางศาสนาแบบสุดโต่งเข้าสู่ตัวเมืองสำคัญๆ แล้ว การรุกทางทหารของกลุ่มตาลีบันก็ยังดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องในพื้นที่ทางตอนเหนือของปากีสถานที่มีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน ซึ่งภูมิประเทศบริเวณดังกล่าวเป็นภูเขาสูงชันมีความสลับซับซ้อน อีกทั้งยังประกอบไปด้วยกลุ่มชนเผ่าติดอาวุธต่างๆ มากมาย ซึ่งกองกำลังภาคพื้นดินของกองทัพปากีสถานยังไม่สามารถเข้ายึดครองพื้นที่ได้ อาศัยแต่เพียงการโจมตีทางอากาศจากเครื่องบินรบ และขีปนาวุธพิสัยใกล้เท่านั้น แม้จะมีความพยายามของรัฐบาลในการปลดอาวุธชนเผ่าต่างๆ ในพื้นที่ที่มีการสู้รบ





ปืนใหญ่ของปากีสถานกำลังระดมยิงที่มั่นของกลุ่มตาลีบันทางตอนเหนือของประเทศ กสนโจมตีของปากีสถานส่วนใหญ่ใช้กำลังทางอากาศและปืนใหญ่ ส่วนกำลังภาคพื้นดินไม่สามารถรุกคืบหน้าไปได้มากนัก เนื่องจากภูมิประเทศเอื้ออำนวยต่อการตั้งรับของฝ่ายตาลีบัน



แต่ก็คาดกันว่า มาตรการดังกล่าวไม่น่าจะประสบผลสำเร็จแต่อย่างใด ขณะนี้จึงเป็นที่วิตกกันว่ากลุ่มตาลีบันจะประสบความสำเร็จในการครอบครองดินแดนตอนเหนือของปากีสถานมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นที่มั่นถาวรเหมือนที่กำลังเป็นอยู่ในอัฟกานิสถานขณะนี้ ซึ่งประธานาธิบดีโอบาม่าก็เหมือนจะเข้าใจในปัญหานี้ดี จึงได้มีการประกาศทบทวนนโยบายเกี่ยวกับปากีสถานขึ้นใหม่ เพราะหากปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยวอชิงตันไม่ทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันแล้ว ก็เป็นที่เชื่อแน่ว่า อดีตพันธมิตรของสหรัฐฯ ประเทศนี้คงประสบชะตากรรมไม่ต่างจากอิรักและอัฟกานิสถานอย่างแน่นอน





ปัญหาในอิรัก



นอกจากปัญหาในปากีสถานแล้ว ปัญหาในอิรักก็ยังเป็นปัญหาที่ประธานาธิบดีโอบาม่าให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง เขาบินไปเยี่ยมทหารสหรัฐฯ ในอิรักอย่างไม่มีใครคาดหมายเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางการต้อนรับพร้อมกับเสียงตะโกนว่า “เรารักโอบาม่า – We love Obama” จากกำลังพลสหรัฐฯ กว่า 600 คนที่ประจำอยู่ที่ค่าย วิคตอรี่ (Camp Victory) ในกรุงแบกแดด




ประธานาธิบดีโอบาม่า ขณะพบปะกับทหารสหรัฐฯ กว่า 600 นายในค่ายวิคตอรี่ (Camp Victory) ใกล้กรุงแบกแดด ระหว่างการเยือนอิรัก เพื่อยืนยันถึงการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอิรักตามกำหนดเวลาเดิม คือในปี 2010




ถึงแม้เขาจะมีนโยบายคัดค้านการทำสงครามในอิรักของอดีตประธานาธิบดีบุชก็ตาม แต่เขามองว่าปัญหาในอิรักนั้น สามารถแก้ไขได้บนแนวทาง “การเมือง” ของชาวอิรักเอง พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลอิรัก เตรียมการรับมอบความรับผิดชอบในการบริหารประเทศของตนเองบนหลักการและแนวทางของระบอบประชาธิปไตย เมื่อสหรัฐฯ ถอนทหารออกจากอิรักในปี 2010 หรืออย่างช้าที่สุดในปี 2011

โอบาม่าชื่นชมกับการปฏิบัติงานอันเสียสละของทหารสหรัฐฯ กว่า 140,000 คนในอิรักว่าประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม (extraordinary achievement) พร้อมทั้งยอมรับว่า ช่วงเวลาก่อนการถอนทหารที่จะมีขึ้นในอีก 18 เดือนข้างหน้านี้ จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก และเป็นช่วงเวลาที่วิกฤติสำหรับกองทัพสหรัฐฯ ในอิรัก ตามแผนการถอนทหารของโอบาม่านั้น เขาต้องการให้ถอนกำลังพลสหรัฐฯ ออกจากพื้นที่ความรับผิดชอบในเมืองต่างๆ ของอิรักภายในฤดูร้อนของปีนี้




ทหารสหรัฐฯ ส่งมอบพื้นที่ให้กับกองทัพอิรัก พร้อมๆ กับถอนตัวออกจากเมืองต่างๆ




ซึ่งในปัจจุบันกำลังทหารสหรัฐฯ เริ่มทยอยส่งมอบพื้นที่และความรับผิดชอบให้กับกองทัพอิรักอย่างต่อเนื่อง และทหารสหรัฐฯ ทั้งหมดจะเคลื่อนย้ายออกจากอิรักภายในสิ้นปี 2010 คงเหลือแต่ที่ปรึกษาทางทหาร (military adviser) และฝ่ายเสนาธิการบางส่วนที่จะยังคงอยู่ในอิรักเพื่อให้การสนับสนุนกองทัพและรัฐบาลอิรักจนถึงปี 2011

เจ้าหน้าที่ทางทหารของสหรัฐฯ และอิรักคาดหมายตรงกันว่า การปฏิบัติการทหารของกลุ่มก่อการร้ายในอิรักจะเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง เมื่อกำลังทหารสหรัฐฯ เริ่มเคลื่อนพลออกจากพื้นที่รับผิดชอบในเมืองต่างๆ ของอิรัก เพื่อยึดครองพื้นที่จากฝ่ายรัฐบาลอิรักและนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองทางการเมืองที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตามประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า ได้ให้คำยืนยันต่อนายกรัฐมนตรี นูริ อัล มาลิกิ (Nouri al-Maliki) ของอิรักว่า เมื่อสหรัฐฯ ถอนกำลังทหารออกไป เขาจะไม่ปล่อยให้อิรักถลำเข้าสู่สงครามกลางเมืองอย่างแน่นอน





ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า และประธานาธิบดีจาลัล ทาลาบานีของอิรัก สนทนากันระหว่างการเยือนอิรักอย่างไม่คาดฝันของประธานาธิบดีโอบาม่า ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา




นอกจากนี้ประธานาธิบดีโอบาม่ายังเคยกล่าวกับรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า หากสถานการณ์ในประเทศอิรักรุนแรงมากขึ้น จนถึงขั้นอยู่ในสภาพไร้กฎหมาย เขาอาจจะพิจารณาทบทวนแผนการถอนทหารของสหรัฐฯ ออกจากอิรักอีกครั้ง ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดทางให้กับกำหนดการถอนทหารที่ประกาศออกไปแล้วว่า อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญานเตือนไปยังกลุ่มก่อการร้ายในอิรักว่า เส้นตายในการถอนทหารนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ

ในขณะเดียวกันก็มีการวิเคราะห์กันในหมู่ทหารสหรัฐฯ ว่า ในห้วงเวลาต่อไปนี้ ทหารสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในอิรัก จะปฏิบัติภารกิจอย่างถนอมตัวมากขึ้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรอคอยเวลาของการถอนตัวออกจากหล่มสงครามในอิรัก ซึ่งอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของกองทัพสหรัฐฯ ลดลง เหมือนในช่วงที่สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากเวียดนามในช่วงปี 1970 นั่นเอง





ทหารสหรัฐฯ ขณะทำการรบในอิรัก




นอกจากนี้ยังมีการนำเอาบทเรียนจาก “สงครามเวียดนาม” และ “สงครามในอัฟกานิสถาน” มาเป็นกรณีศึกษาว่า ภายหลังการถอนทหารของสหรัฐฯ ออกจากเวียดนาม และการถอนทหารโซเวียตออกจากอัฟกานิสถาน ฝ่ายรัฐบาลของทั้งสองประเทศต้องตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อฝ่ายตรงข้ามในที่สุด จึงมีความเป็นได้ว่า เมื่อสหรัฐฯ ถอนกำลังทหารออกจากอิรักแล้ว รัฐบาลอิรักอาจตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำต่อกลุ่มต่างๆ ได้

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหมของกองทัพสหรัฐฯ ว่าจะสามารถนำบทเรียนความล้มเหลวในอดีต มาปรับใช้ในการปกป้องระบอบประชาธิปไตยในประเทศอิรัก ที่สหรัฐฯ พยายามสถาปนาขึ้นด้วยเลือดและชีวิตของคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันนับไม่ถ้วนอย่างไรต่อไป




ปัญหานิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี




อีกปัญหาหนึ่งที่โลกได้เห็นถึงความแข็งแกร่งที่แฝงอยู่ในบุคลิกอันประนีประนอมของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า นั่นก็คือ กรณีโครงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ที่ยังคงเพียรพยายามสร้างความตึงเครียดให้เกิดขึ้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่อง และเมื่อโอบาม่าได้มีโอกาสพบปะกับประธานาธิบดี ลี มุง บัค (Lee Myung-bak) ของเกาหลีใต้เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เขาได้ประกาศจุดยืนของสหรัฐฯ ว่า

“สหรัฐฯ จะไม่ยอมรับการครอบครองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น”

และยิ่งใกล้เวลาที่เกาหลีเหนือประกาศจะทดลองยิงขีปนาวุธข้ามทวีปพิสัยไกล เทปอนดง 2 ซึ่งมีระยะยิงไกล 6,700 กิโลเมตร เพียงพอที่ยิงไปถึงหมู่เกาะฮาวายของสหรัฐฯ ภายหลังจากที่ล้มเหลวมาแล้วถึงสองครั้ง โลกก็ยิ่งได้เห็นถึงความเฉียบขาดของโอบาม่ามากยิ่งขึ้น จากคำกล่าวของเขาที่ว่า “กองทัพสหรัฐฯ เตรียมพร้อมแล้วสำหรับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น”





ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงถึงไซโลที่ใช้เก็บขีปนาวุธข้ามทวีประยะไกลที่สามารถบรรจุหัวรบนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ




คำพูดของโอบาม่าทำให้หลายคนหวลนึกถึงอดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ เมื่อครั้งที่เคยประกาศจะถล่มประเทศคิวบา ภายใต้การนำของ ฟิเดล คาสโตร หากยังคงคิดที่จะติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ของรัสเซีย อันถือว่าเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อสหรัฐฯ ซึ่งขณะนั้นโลกต้องตกอยู่ในภาวะ “หายใจไม่ทั่วท้อง” เพราะนับเป็นอีกห้วงเวลาหนึ่งที่มวลมนุษยชาติก้าวเข้าใกล้สงครามโลกครั้งที่ 3 มากที่สุดอีกครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์

หากเปรียบเทียบสถานการณ์ทั้งสองครั้ง จะเห็นถึงความเหมือนกันของสถานการณ์อย่างน่าประหลาดใจ ทั้งความเป็นประธานาธิบดีในวัยหนุ่มของเคเนดี้และโอบาม่า และเป้าหมายของขีปนาวุธ ซึ่งเป็นดินแดนของสหรัฐฯ ทั้งสองเหตุการณ์

แม้ว่าคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ อันประกอบด้วย จีน รัสเซีย สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอังกฤษ จะพยายามยุติปัญหานี้ ด้วยการประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือ อันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนมติของสหประชาชาติปี 2006 แต่ดูเหมือน “เปียงยาง” จะไม่สนใจใยดีต่อมาตรการดังกล่าวเลย ประธานาธิบดีโอบาม่าเองก็ได้เสนอหนทางออกให้กับเกาหลีเหนือว่า “หนทางออกของปัญหาคือการกลับเข้าร่วมกับประชาคมโลกของเกาหลีเหนือ”




ขีปนาวุธข้ามทวีประยะไกลของเกาหลีเหนือ



นอกจากนี้โอบาม่ายังได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกลาโหม เข้าพบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกลาโหมของจีน เพื่อโน้มน้าวเกาหลีเหนือ ภายใต้การนำของคิม จอง อิล ให้ล้มเลิกโครงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ลง ในขณะเดียวกันกองทัพเรือสหรัฐฯ ก็กำลังจับตามองเรือสินค้าระวางขับน้ำ 2,000 ตัน สัญชาติเกาหลีเหนือที่ชื่อ Kang Nam ซึ่งเดินทางออกจากท่าเรือ “นัมโป” ใกล้กรุงเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือ เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยสงสัยว่าอาจจะมีการขนส่งอาวุธนิวเคลียร์ หรือชิ้นส่วนของขีปนาวุธไปยังประเทศโลกที่สาม ซึ่งหากเป็นความจริงตามข่าวแล้ว เรือดังกล่าวจะถูกยึดทันที เนื่องจากฝ่าฝืนมติของสหประชาชาติในการห้ามเกาหลีเหนือ ดำเนินการส่งออกอาวุธนิวเคลียร์ หรือชิ้นส่วนของขีปนาวุธใดๆ ก็ตาม

จึงอาจกล่าวได้ว่าปัญหาการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ จะยังคงเป็นปัญหาคุกคามความสงบในภูมิภาคเอเชียต่อไปอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นปัญหา “โลกแตก” ที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับประธานาธิบดีโอบาม่าได้ ไม่ต่างไปจากปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคอื่นๆ เพราะสาเหตุของปัญหานิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ ดูจะมีพื้นฐานมาจาก “ความต้องการท้าทายโลกตะวันตก” ของคิม จอง อิล มากกว่าสิ่งอื่นใด ดังนั้น ตราบใดที่ความต้องการท้าทายยังมีอยู่ ปัญหาก็ไม่อาจจะหมดสิ้นไปง่ายๆ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น นับเป็นปัญหาความมั่นคงบางประการที่ประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า ต้องเผชิญในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งตัวโอบาม่าเองก็ตระหนักดีถึงการรุมเร้าเข้ามาของปัญหานานัปประการเหล่านี้ เขาจึงเลือกที่จะ “เจรจา” เพื่อผ่อนปรนและลดความรุนแรงของปัญหาลง ดังจะเห็นได้จากการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเขาออกตระเวณรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับนานาชาติและโลกมุสลิม ที่เคยตกต่ำไปอยู่ในระดับ “เสื่อมโทรม” ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบุช อย่างน้อยก็เพื่อลดแรงกระแทกจากภายนอก และส่งผลให้เขามีเวลาจัดการกับปัญหาภายในอันยิ่งใหญ่ นั่นคือ ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัญหาปากท้องโดยตรงของชาวอเมริกันผู้ซึ่งเป็นฐานเสียงที่แท้จริงของเขานั่นเอง


---------------------------------------------










 

Create Date : 06 กันยายน 2552    
Last Update : 6 กันยายน 2552 12:34:56 น.
Counter : 3731 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.