VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 
เมื่อนโยบาย "อเมริกา เฟิร์ส" แผลงฤทธิ์









เมื่อนโยบาย "อเมริกา เฟิร์ส" แผลงฤทธิ์

โดย พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand

ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2560

สงวนลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำเพื่อการพาณิชย์ อนุญาตให้เผยแพร่เพื่อการศึกษา



ทันที่ที่สหรัฐฯ โจมตีซีเรีย ตามมาด้วยการเคลื่อนกำลังทางเรือมุ่งหน้าสู่คาบสมุทรเกาหลี ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยการทิ้งระเบิดขนาดมโหฬาร ลงสู่ที่มั่นของกลุ่ม "ไอซิส" ในอัฟกานิสถาน โลกต่างก็จับตามองนโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่ "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่มีการพลิกผันและแปรเปลี่ยนไปมา จนยากที่จะคาดการณ์ได้ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มวิเคราะห์ถึง "ทิศทาง" ของโลก นับจากนี้เป็นต้นไปว่า จะมุ่งหน้าไปสู่ทิศทางใด


หากมองย้อนกลับไป ดูนโยบายด้านการต่างประเทศ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทางทำเนียบขาวได้ประกาศไว้อย่างเป็นทางการ ก็จะพบว่ามีการชูนโยบาย "สันติภาพบนความแข็งแกร่ง” เป็นแกนกลางของนโยบาย โดยตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า ".. โลกที่มีสันติภาพมากขึ้น จะนำมาซึ่งความขัดแย้งที่น้อยลง .." ซึ่ง "ความแข็งแกร่ง" นี้ สามารถตีความได้ในสองลักษณะคือ "ความแข็งแกร่งด้านการทหาร" และ "ความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ"


สำหรับ “ความแข็งแกร่งด้านการทหาร" นั้น นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะมุ่งให้ความสำคัญกับการเอาชนะกลุ่ม "ไอซิส" หรือ "ไอเอส" (ISIS : IS) และกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงทางศาสนา โดยถือเป็นความเร่งด่วนสูงสุดของนโยบายด้านต่างประเทศ ซึ่งการทำลายกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ จำเป็นจะต้องใช้วิธีการที่รุนแรง โดยอาศัยการปฎิบัติการทางทหารร่วมกับชาติพันธมิตร รวมถึงความร่วมมือกับประชาคมนานาชาติ เพื่อกำหนดมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการฟอกเงิน ยุติการขยายเครือข่ายการก่อการร้าย และใช้การปฏิบัติการไซเบอร์ เพื่อขัดขวางและทำลาย "การโฆษณาชวนเชื่อ" ของกลุ่มดังกล่าว


นอกจากนี้ นโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังระบุถึง การสร้างพลังอำนาจทางทหาร ให้มีความแข็งแกร่ง โดยยกตัวอย่างถึงความตกต่ำของกองทัพ เช่น แสนยานุภาพทางเรือของสหรัฐฯ ที่ลดต่ำลงจากแต่เดิม ซึ่งมีจำนวนถึงกว่า 500 ลำ ในปี ค..1991เหลือเพียง 275 ลำ ในปี ค..2016 ส่วนกองทัพอากาศก็มีขนาดเล็กลงเกือบ 1 ใน 3 จากที่เคยเป็นอยู่ในห้วงเวลาเดียวกัน


ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เชื่อมั่นว่าการเสริมสร้างศักยภาพทางด้านการทหาร จะนำมาซึ่งความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ ท้ายที่สุดเอกสารดังกล่าวระบุว่า การดำเนินการนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ จะตั้งมั่นอยู่บนผลประโยชน์ของชาติ โดยใช้ "การทูต" เป็นหลักและ


".. สหรัฐฯจะไม่สร้างความขัดแย้งขึ้นด้วยการสร้างศัตรูใหม่ ในขณะที่ศัตรูเก่าจะกลายเป็นเพื่อน และเพื่อนเก่าจะกลายเป็นพันธมิตร .. โลกจะมีสันติภาพมากขึ้น ก็ด้วยความเข้มแข็งและความน่าเกรงขามของสหรัฐฯ ..”


อย่างไรก็ตาม การแสดงแสนยานุภาพทางด้านการทหารของสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดฉากโจมตีซีเรีย การเคลื่อนกำลังทางเรือเข้าไปยังคาบสมุทรเกาหลี นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพลิกเกมการเมืองระหว่างประเทศ ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับการหาเสียง หรือแม้แต่ตามที่ระบุไว้ในเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศ


ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เขาพร่ำบอกอยู่เสมอว่า ประเทศต่างๆ ควรจะยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เพราะสหรัฐฯ จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวอีกต่อไป อีกทั้งยังกล่าวประณามนโยบายในตะวันออกกลางของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า อยู่เสมอว่า "ผิดพลาด" ที่นำสหรัฐฯ เข้าไปติด "ปลักตมแห่งสงคราม" อย่างยาวนาน


แต่แล้วประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับเป็นผู้สั่งโจมตีซีเรียเสียเอง ก่อนที่จะหันกลับมาดำเนินตามนโยบายที่ประกาศไว้ ในการกำจัดกลุ่ม "ไอซิส" ด้วยการทิ้งระเบิดขนาดมโหฬารแบบจีบียู-43/บี (GBU-43/B MOAB : Massive Ordnance Air Blast) ซึ่งมีน้ำหนัก 9,800 กิโลกรัม (21,600ปอนด์) ลงใส่ที่มั่นของกลุ่ม "ไอซิส" ในจังหวัด “นันการ์ฮาร์” (Nangarhar)ทางตะวันออกของอัฟกานิสถาน


จะเห็นได้ว่าการตัดสินใจทั้งหมด นับเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของความเป็นนัก "สัจนิยม" (Realist) อย่างแท้จริง เพราะมุ่งสร้าง "ความสมดุลแห่งอำนาจ" (Balance of Power) และตั้งมั่นอยู่บนความเชื่อที่ว่า "โลกนี้มีเพียงผู้แพ้และผู้ชนะ" .. โดยผู้ชนะคือผู้ที่มีความแข็งแกร่งกว่า ส่วนผู้แพ้ก็คือเหยื่อของผู้ชนะเท่านั้น จะสังเกตุได้ว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ยึดถือมาโดยตลอด


ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ในห้วงเวลาสั้นๆ ที่ผ่านมา ทั้งการโจมตีซีเรีย การเคลื่อนกำลังทางเรือสู่คาบสมุทรเกาหลี และการทิ้งระเบิดใส่กลุ่ม "ไอซิส" ในอัฟกานิสถาน ถูกวิเคราะห์ว่า น่าจะมีจุดมุ่งหมายอื่น นอกเหนือไปจากการปฏิบัติการทางทหารทั่วไป สำนักข่าวบีบีซี  (BBC World News) ได้วิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวว่า สำหรับการโจมตีซีเรียนั้น ความสำเร็จยังถือว่าห่างไกลจากการทำลายแสนยานุภาพทางทหารของกองทัพซีเรียอยู่มาก


การเคลื่อนกำลังสู่คาบสมุทรเกาหลี ก็ดูเหมือนเป็นเพียงการแสดงพลังอำนาจทางทหารอันน่าเกรงขามของสหรัฐฯ เพราะเจาะจงเลือกเรือบรรทุกเครื่องบิน "คาร์ล วินสัน" (USS Carl  Vinson) ที่มีอานุภาพสูงที่สุดลำหนึ่ง พร้อมเรือคุ้มกันอื่นๆ โดยประกอบกำลังเป็น "กองกำลังเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีที่ 1" (Carrier Strike Group One : CSG-1)


ส่วนการโจมตีกลุ่ม "ไอซิส" ในอัฟกานิสถานก็ดูน่ากังขา เพราะขุมกำลังของกลุ่ม "ไอซิส" ในอัฟกานิสถานนั้น เป็นเพียงกลุ่มย่อยที่มีชื่อว่า "ไอซิส-โคราซาน" (ISIS-Khorasan group) หรือ “ไอซิส-เค” (ISIS-K) ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค..2015 มีกำลังพลเพียง 700 คน ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับกลุ่ม "ไอซิส" ในอิรักและซีเรีย แม้ว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มดังกล่าวได้สังหารหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานไปจำนวนหนึ่งก็ตาม


จึงมีความเป็นไปได้ว่า เหตุการณ์สะเทือนโลกทั้งสามเหตุการณ์นี้ เป็นความพยายามของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใน "การสื่อสารทางยุทธศาสตร์" (Strategic Communication : SC) เพื่อเสริมสร้างและสนับสนุนผลประโยชน์ ตลอดจนนโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยมุ่งสื่อสารไปยังเป้าหมายหลัก จำนวน 5 เป้าหมาย ประกอบด้วย


เป้าหมายที่ 1 คือ "รัฐบาลซีเรีย" เพื่อเตือนว่าสหรัฐฯ จะไม่อยู่นิ่งเฉย หากมีการใช้อาวุธเคมีทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ตลอดจนเป็นการตอกย้ำว่า วัตถุประสงค์ในการโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ยังคงมีอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง


เป้าหมายที่ 2 คือ "ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน" แห่งรัสเซีย เพื่อแสดงให้เห็นว่า นโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น มีความแตกต่างจากอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า โดยเฉพาะการตัดสินใจที่ฉับพลัน ไร้การแจ้งเตือน และยากที่จะคาดเดาได้


เป้าหมายที่ 3 คือกลุ่ม "ไอซิส" และกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ เพื่อเตือนว่า ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใด พวกเขาจะไม่มีวันปลอดภัยจากอาวุธอันทรงอานุภาพของสหรัฐฯ


สำหรับเป้าหมายที่ 4 คือ "จีน" เพื่อมุ่งหวังส่งสัญญานให้ทราบว่า ถึงเวลาแล้วที่จีนจะต้องเลือกระหว่างสหรัฐฯ กับฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียหรือเกาหลีเหนือ


และเป้าหมายที่ 5 คือ "ประชาคมโลก" เพื่อแจ้งเตือนว่า สหรัฐฯ กำลังกลับมาในฐานะของ "มหาอำนาจ" ที่จะมีบทบาทเป็นผู้ "ชี้นำ" สังคมนานาชาติอีกครั้ง


จาก "การสื่อสารทางยุทธศาสตร์" ดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายต้องหันกลับมามองสถานการณ์ใน "ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ว่าจะมุ่งหน้าไปในทิศทางใด เพราะพื้นที่นี้มี "จุดวาบไฟ" (Flash Point) นั่นคือ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นจุดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างสหรัฐฯ จีน และประเทศต่างๆ เป็นอย่างมาก


สิ่งที่น่าสังเกตคือ การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่เกิดขึ้นอย่างพลิกความคาดหมาย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวหาจีนอย่างมากมาย เกี่ยวกับการเอาเปรียบทางการค้า แต่แล้วเขาก็หันมากระชับความสัมพันธ์กับจีน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเกาหลีเหนือ


ส่งผลให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ปรับท่าทีต่อกรณีการโจมตีซีเรียเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา โดยกล่าวสนับสนุนสหรัฐฯ ระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็นที่ทราบกันดีว่า จีนเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลซีเรีย และต่อต้านการใช้กำลังทหารในซีเรียทุกรูปแบบ พร้อมกับเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาโดยการเจรจาและการทูต


จึงอาจกล่าวได้ว่า "การสื่อสารทางยุทธศาสตร์" ที่สหรัฐฯ มีต่อจีน ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในระดับหนึ่ง


นาย ฉี ยิ่นหง (Shi Yinhong) ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาอเมริกาแห่ง มหาวิทยาลัยเหรินหมิน ในกรุงปักกิ่ง (Director of Renmin University's Center on American studies) ให้คำจำกัดความท่าทีที่ประนีประนอมของจีนในครั้งนี้ว่า "ความเป็นมิตรที่มีนัยสำคัญ" (considerable goodwill) และยังได้กล่าวอีกว่า การพบปะระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ครั้งล่าสุดที่ใช้เวลารวมแล้วนานกว่า 18 ชั่วโมง ได้แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ในการสนับสนุนสหรัฐฯ อย่างชัดเจนและอาจเป็นการส่งสัญญาณถึงการแก้ปัญหาเกาหลีเหนืออีกด้วย


ผลสำเร็จของ "การสื่อสารทางยุทธศาสตร์" ครั้งนี้ นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า จีนต้องการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และพร้อมที่จะรับผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียในกรณี "ซีเรีย"


อีกทั้ง จีนยังมีการแสดงความเบื่อหน่ายต่อพฤติกรรม "เกะกะระราน" ของเกาหลีเหนือมาโดยตลอด การสนับสนุนสหรัฐฯ ในการแก้ไขปัญหาซีเรีย จนถึงปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี จึงปรากฏออกมาในลักษณะข้างต้น แม้จีนจะเน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี ควรมุ่งไปที่การทูตและการเจรจาเป็นหลักก็ตาม


อย่างไรก็ตาม การแสดงออกของจีนในครั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า จีนพร้อมที่จะให้สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในพื้นที่เขตอิทธิพลของตน ทั้งในคาบสมุทรเกาหลี และทะเลจีนใต้แต่อย่างใด


ดังที่ พอล มิลเลอร์ (Paul Miller) ที่ปรึกษาอาวุโสของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช  ได้กล่าวว่า การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการให้จีนมาเป็นพันธมิตรในการสนับสนุน และเสริมสร้างอิทธิพลของสหรัฐฯ ในคาบสมุทรเกาหลีนั้น เป็นมุมมองและเป็นการวิเคราะห์ที่ผิดพลาด เพราะไม่มีทางที่จีนจะให้ร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการแผ่ขยายอำนาจเข้ามาในพื้นที่อิทธิพลของจีน ดังเช่น เกาหลีเหนือและทะเลจีนใต้ อย่างเด็ดขาด่


ในทางตรงกันข้าม จีนจะได้รับประโยชน์อย่างมากกับความไม่แน่นอน ในนโยบายด้านต่างประเทศของสหรัฐฯ ทั้งในเกาหลีเหนือ ซีเรีย และจากความไม่แน่นอนในนโยบายด้านการค้าเสรี เช่น การถอนตัวออกจาก "ทีพีพี" (TPP : Trans-Pacific Partnership) ซึ่งถือว่าเป็นจุดสำคัญของนโยบายการค้าเสรี ระหว่างสหรัฐฯ เอเชีย และออสเตรเลีย ส่งผลให้เกิดความไม่ไว้วางใจของสังคมนานาชาติ


".. จีนพร้อมที่จะแสวงประโยชน์อย่างไร้ความปรานี (ruthlessly) จากการกระทำที่ผิดพลาดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในครั้งนี้ ..” พอล มิลเลอร์กล่า


นอกจากนี้ ผลจากการเปิดศึกพร้อมกัน 2 ด้านของสหรัฐฯ ทั้งในตะวันออกกลางและคาบสมุทรเกาหลี อาจทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องลดความสำคัญกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ลง ทั้งๆ ที่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เขาได้ประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า จะ "ปิดกั้น" (blockade) หมู่เกาะสแปรตลีในทะเลจีนใต้ เพื่อป้องกันไม่ให้จีนเข้ามาในพื้นที่ขัดแย้ง อีกทั้งยังส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน "คาร์ล วินสัน" มาประจำการ


การเปลี่ยนท่าทีในทะเลจีนใต้ ของสหรัฐฯ ก็เนื่องมาจากไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น และต้องการดำรงความสัมพันธ์อันดีกับจีนไว้ เพื่อร่วมกันกดดันเกาหลีเหนือในปัญหาคาบสมุทรเกาหลี และร่วมกันโดดเดี่ยวรัสเซีย ในกรณีความขัดแย้งในซีเรีย ทั้งนี้เพราะการเผชิญหน้าของสหรัฐฯ และจีนในทะเลจีนใต้ อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต่างไม่ต้องการให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาอันวิกฤติเช่นนี้


การลดบทบาทของสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้นี้ อาจส่งผลให้ยุทธศาสตร์ด้านต่างประเทศของสหรัฐฯ ย้อนกลับไปสู่ยุคของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช นั่นคือ "การทอดทิ้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" จนอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า ต้องประกาศนโยบาย "ปรับสมดุลย์" (Rebalance) เพื่อหวนกลับคืนสู่ภูมิภาคนี้อีกครั้ง


ซึ่งหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง จะส่งผลกระทบหลายประการ เช่น ประเทศที่มีความขัดแย้งกับจีน และเคยพึ่งพาสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จะหันไปกระชับความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น ในขณะที่เมียนม่าร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหรัฐฯ ในยุคของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า จนทำการเปิดประเทศและเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ "พลิกหน้ามือ เป็นหลังมือ" ก็จะถูกโดดเดี่ยวจากสหรัฐฯ มากขึ้น และจำต้องหวนกลับไปหาจีนอย่างไม่มีทางเลือก


ส่วนกัมพูชาก็เพิ่งประกาศยุติความร่วมมือในการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมกับกองทัพเรือสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ได้รับเงินสนับสนุนกว่า 100 ล้านเหรียญดอลล่าร์ จากจีนในการก่อสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่ เป็นต้น


พอล มิลเลอร์ วิเคราะห์ว่า การดำเนินนโยบาย "ชาตินิยม" (nationalism) และ "พาณิชย์นิยม" (mercantilism) ที่มุ่งปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นหลัก ตามแนวคิดของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะสร้างความตึงเครียดขึ้นในสังคมนานาชาติ และถ้ายิ่งนโยบายนี้เพิ่มความตึงเครียดมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งจะผลักดันให้ประเทศต่างๆ มุ่งหน้าสู่ปักกิ่งมากขึ้นเท่านั้น เพื่อหาความคุ้มครองจากจีน ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน หรือแม้แต่ด้านความมั่นคง


ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่า จีนมีความพร้อมและมีความแข็งแกร่งอย่างมาก ที่จะโอบอุ้มประเทศเหล่านั้น อีกทั้งจีนยังเดินนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ สุขุม ลุ่มลึก และแสดงออกว่าพร้อมที่จะเป็นยักษ์ใหญ่ใจดี แต่ก็แอบแฝงไว้ด้วยกลยุทธ์ที่ยากจะหยั่งถึง ไม่แพ้สหรัฐฯ เช่นกัน


".. สิ่งที่จะส่งผลจากนโยบาย "อเมริกา เฟิร์ส" ในระยะเวลาอันใกล้นี้ คือการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็ว ..” พอล มิลเลอร์ กล่าวสรุปในท้ายที่สุด








Create Date : 15 เมษายน 2560
Last Update : 26 เมษายน 2560 7:44:40 น. 0 comments
Counter : 3060 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.