VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 
ตำนานแห่งสมรภูมิอิรัก

ตำนานแห่งสมรภูมิอิรัก

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand

ลงพิมพ์ในนิตยสาร TOPGUN ฉบับเดือนตุลาคม 2553

(สงวนลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำ เผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาติจากผู้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร)








ในที่สุดขบวนลำเลียงของชุดปฏิบัติการรบ กองพลน้อยสไตรเกอร์ที่ 4 กองทัพบกสหรัฐฯ (the Army’s 4th Stryker Brigade Combat Team) ซึ่งเป็นกำลังทหารหน่วยรบของสหรัฐฯ หน่วยสุดท้ายที่ครอบครองประเทศอิรักมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2003 ก็เคลื่อนย้ายออกจากผืนแผ่นดินของประเทศอิรักเข้าสู่ประเทศคูเวตอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา ตามนโยบายการถอนทหารออกจากอิรักของประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า ที่ต้องการให้มีการสิ้นสุดภารกิจในการรบในประเทศอิรักภายในสิ้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2010

อย่างไรก็ตามยังมีทหารสหรัฐฯ ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเมืองต่างๆ ของประเทศอิรักอีกกว่า 50,000 นาย เช่น ประจำการอยู่ที่สนามบินเมืองบาสร่า (Basra) กว่า 4,000 นาย และอีก 46,000 นายประจำการอยู่ตามค่ายทหารและตำรวจอิรัก เพื่อทำหน้าที่เป็นครูฝึกและที่ปรึกษาทางทหารให้แก่กองทัพอิรักและหน่วยตำรวจของอิรัก ทั้งนี้กำลังทหารสหรัฐฯ ทั้งหมดจะเคลื่อนย้ายกลับประเทศสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2011 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการปฏิบัติภารกิจในประเทศอิรัก นอกจากการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางทหารแล้ว กำลังทหารสหรัฐฯ ที่เหลืออยู่เหล่านี้ก็ยังคงประจำการเพื่อคอยสนับสนุนกองกำลังทหารและตำรวจของรัฐบาลประเทศอิรักในการรักษาความปลอดภัยหากได้รับการร้องขอ ดังที่พลเอกเรย์มอนด์ โอดีอาโน (Raymond Odierno) ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ในอิรักกล่าวกับสำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น ว่า

“กำลังทหารสหรัฐฯ ที่เหลืออยู่สามารถหวนกลับมาปฏิบัติการรบได้อีกทันที หากการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศของกองทัพอิรักประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แต่เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน”







นับจากวันนี้เป็นต้นไป ทุกฝ่ายจึงเชื่อกันว่าสมรภูมิในประเทศอิรักสำหรับเหล่าทหารหาญอเมริกันกำลังจะยุติลงอย่างสิ้นเชิง และทำให้การรบในอิรักถูกบรรจุไว้ให้เป็นหน้าหนึ่งในตำนานการรบที่กองทัพสหรัฐฯ จะต้องจดจำและนำไปศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะเป็นสมรภูมิที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างมากมาย อีกทั้งยังมีบทเรียนที่ประสบสำเร็จและความล้มเหลว ซึ่งในวันนี้จะขอนำผู้อ่านไปพบกับสถิติที่สำคัญบางอย่างในสมรภูมิอิรัก ซึ่งกำลังจะกลายเป็นตำนานแห่งสงครามในอนาคตอันใกล้นี้

ยุทธการ “ปลดปล่อยอิรัก” (Operation Iraqi Freedom) เปิดฉากขึ้นด้วยการโจมตีทางอากาศในวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2003 เวลาประมาณ 05.30 น. เมื่อเครื่องบิน เอฟ 117 ไนท์ฮอว์ค (F 117 Nighthawk) ของสหรัฐฯ 2 ลำจากฝูงบินรบภาคโพ้นทะเลที่ 8 (8th Expeditionary Fighter Squadron) ได้ทิ้งระเบิดนำวิถีด้วยดาวเทียมชนิดทำลายที่มั่นแบบ จีบียู 27 (Bunker Buster GBU 27) ขนาด 4,000 ปอนด์จำนวน 4 ลูก ลงในพื้นที่ฟาร์ม “โดร่า” ชานกรุงแบกแดดซึ่งคาดว่าอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนเดินทางไปพำนักพร้อมบุตรชายอีก 2 คน

ขณะเดียวกันขีปนาวุธ “โทมาฮอว์ค” อีกกว่า 40 ลูก จากเรือรบและเรือดำน้ำสหรัฐฯ ในทะเลแดงและอ่าวเปอร์เซียก็ระดมยิงมายังที่หมายเดียวกัน การโจมตีไม่สามารถกำจัดซัดดัม ฮุสเซนหรือบุคคลในครอบครัวของเขาได้แต่อย่างใด มีเพียงชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 14 คนที่ถูกสังเวยไปกับการปฏิบัติการด้านการข่าวที่ผิดพลาดของสหรัฐฯ ในครั้งนี้







ส่วนการรบภาคพื้นดินในประเทศอิรักเปิดฉากขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2003 โดยเป็นการปะทะขนาดเล็กของหน่วยรบพิเศษสหรัฐฯ จากหน่วยนาวิกโยธินภาคโพ้นทะเลที่ 1 (1st US. Marine Expeditionary Force) และหน่วยคอมมานโดอังกฤษ ที่บริเวณท่าเรือ “อุมม์ กาเซอร์” (Umm Qasr) ส่งผลให้มีทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ เสียชีวิต 2 นาย หนึ่งในนั้นคือสิบตรี โจเซ่ กูเตียเรซ (Jose Gutierrez) อายุ 22 ปีซึ่งเป็นทหารสหรัฐฯ คนแรกที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ (Killed in Action) ในสมรภูมิอิรัก





สิบตรี โจเซ่ กูเตียเรซ ทหารสหรัฐฯ คนแรกที่เสียชีวิตในสมรภูมิอิรัก



แม้กรณีของกูเตียเรซจะมีการโต้แย้งว่า “ทหารสหรัฐฯ ที่เสียชีวิตคนแรกไม่ใช่ชาวสหรัฐ แต่เป็นทหารรับจ้าง” เพราะเขาเป็นชาวกัวเตมาลาที่เข้ารับราชการในกองทัพสหรัฐฯ กระทั่งขณะปฏิบัติหน้าที่เขาก็ยังไม่ได้เป็นพลเมืองสหรัฐฯ การเสียชีวิตของเขาทำให้เขาและครอบครัวได้รับสิทธิการเป็นพลเมืองสหรัฐฯ แต่ไม่ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เช่นไร วีรกรรมของเขาก็ได้รับการยกย่องไปทั่วประเทศในฐานะวีรบุรุษคนหึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ยังมีการรบครั้งแรกๆ ที่น่าสนใจที่ถูกบันทึกไว้คือการรบในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 2003 เมื่อกองทัพสหรัฐฯ เตรียมเคลื่อนพลเข้าสู่ดินแดนประเทศอิรักทางตอนใต้ บริเวณภูเขา “ซัฟวาน” (Safwan Hill) และหน่วยทหารปืนใหญ่ของอิรักที่เรียงรายอยู่ตามแนวชายแดนอิรัก-คูเวต ได้ทำการทดลองยิงปืนใหญ่ขนาด 122 มิลลิเมตรของตน เพื่อทดสอบระยะการยิง

นับเป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญเพราะการยิงทดสอบดังกล่าวส่งผลให้เรดาห์ของฝ่ายสหรัฐฯ ตรวจจับที่ตั้งปืนใหญ่เหล่านั้นได้ และภายในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เฮลิคอปเตอร์แบบ เอเอช 1 คอบร้า (AH 1 Cobra) และ เอเอช 64 อาปาเช่ (AH 64 Apache) ของหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ ก็ระดมยิงจรวดนำวิถีอากาศสู่พื้นแบบ เอจีเอ็ม 114 “เฮลล์ไฟร์” (AGM 114 Hellfire) ที่มีความเร็วสูงถึง 1.3 มัค เข้าใส่ฐานปืนใหญ่ของทหารอิรัก พร้อมๆ กับปืนใหญ่ขนาด 155 มิลิลเมตรของหน่วยนาวิกโดยธินสหรัฐฯ ก็เปิดฉากระดมใส่เป้าหมายเดียวกันจากระยะห่างถึง 30 กิโลเมตร โดยการโจมตีใช้เวลานานกว่า 8 ชั่วโมง ส่งผลทำให้หน่วยทหารปืนใหญ่ของอิรักถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง

ทหารสหรัฐฯ นายหนึ่งเปิดเผยว่า บริเวณที่ตั้งปืนใหญ่ของทหารอิรักตลอดทั้งแนว ตั้งแต่พื้นที่ราบไปจนถึงบนเนินเขาซัฟวาน กราดเกลื่อนไปด้วยซากศพของทหารอิรัก

“... ผมคิดว่ามันไม่ใช่การรบ แต่มันเป็นการสังหารหมู่ครั้งใหญ่มากกว่า ...”

และเมื่อแนวปืนใหญ่ของอิรักทางตอนใต้ถูกทำลาย หน่วยยานเกราะของสหรัฐฯ ก็สามารถรุกเข้าสู่ประเทศอิรักได้อย่างรวดเร็ว







สำหรับหน่วยทหารหน่วยแรกที่เข้าทำการรบในประเทศอิรักคือ กองพลส่งทางอากาศที่ 101 (101st Airborne Division) อันลือชื่อที่ลักลอบเข้าไปทำลายโรงงานผลิตอาวุธเคมีในประเทศอิรักในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2002 ก่อนการรุกของกำลังส่วนใหญ่ ในส่วนกำลังทหารขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่รุกเข้าสู่ประเทศอิรักในปี ค.ศ. 2003 มีจำนวนทั้งสิ้น 248,000 คน และมีทหารอังกฤษเข้าร่วมด้วยจำนวน 45,000 คน ทหารออสเตรเลีย 2,000 คน และหน่วยรบพิเศษโปแลนด์อีก 194 คน ส่งผลให้มียอดทหารฝ่ายสหรัฐฯ ในช่วงต้นของการรบสูงถึง 295,194 คน

อย่างไรก็ตามจากรายงานของทางการสหรัฐฯ ปรากฏว่ามีกำลังพลที่มีส่วนร่วมในการรุกเข้าสู่อิรักโดยตรงและโดยทางอ้อม เช่น วางแผน ปฏิบัติหน้าที่ในแนวหลัง หน่วยสนับสนุนและส่งกำลังบำรุงต่างๆ ในการรบครั้งนี้เป็นจำนวนถึง 466,985 คน ในขณะที่กองทัพอิรักของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนมีจำนวนประมาณ 538,000 คน นอกจากนี้ยังมีกองกำลังเฟดดายีน ซัดดัม จำนวน 44,000 คน และกองกำลังพิทักษ์สาธารณรัฐ หรือ “รีพับลิกัน การ์ด” (Republican Guard) จำนวน 80,000 คน (ตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขที่ฝ่ายตะวันตกประมาณการจากหลักฐานที่มีอยู่)

หลังจากยึดครองอิรักได้แล้วยอดทหารสหรัฐฯ ก็ลดลงมาอยู่ที่ 130,000 – 150,000 คนต่อปี โดยยอดทหารสหรัฐฯ ในประเทศอิรักสูงที่สุดตลอดการรบอยู่ในธันวาคม ค.ศ. 2005 ซึ่งมีจำนวนถึง 165,000 คน (ข้อมูลจาก //www.globalsecurity.org) เพิ่มขึ้นจากแผนเดิมที่วางไว้คือ 130,000 คน ประกอบด้วยหน่วยในระดับกองพลน้อย (Brigades) จำนวน 17 กองพลน้อย และหน่วยสนับสนุนอื่นๆ ก่อนที่กระทรวงกลาโหมจะมีคำสั่งให้ลดกำลังลงในปี ค.ศ. 2006 โดยลดจำนวนกองพลน้อยลงเหลือ 15 กองพลน้อย ส่งผลให้กำลังทหารสหรัฐฯ ในประเทศอิรักลดลงเหลือประมาณ 152,000 คนในปี ค.ศ. 2006

อย่างไรก็ตามกำลังทหารที่ลดลงไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ ลดการส่งทหารเข้าไปในอิรัก เพียงแต่ตัวเลขที่หายไปบางส่วนเป็นหน่วยทหารที่สหรัฐฯ ส่งไปเป็นกำลังหนุนอยู่ที่ประเทศคูเวต เช่น กองพลน้อยที่ 2 สังกัดกองพลยานเกราะที่ 1 จากฟอร์ท "บลิสส์" (Fort Bliss) มลรัฐเท็กซัส ที่ปรับไปเป็นกองกำลังเตรียมพร้อมเพื่อสนับสนุนกำลังหลักในภาวะวิกฤติอยู่ประเทศคูเวต เป็นต้น ส่วนจำนวนที่น้อยที่สุดก่อนการถอนทหารคือ 112,000 คนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2009

วันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งคือวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2003ซึ่งเป็นวันที่กองกำลังสหรัฐฯ สามารถจับตัวอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนได้ โดยมีชื่อยุทธการตามล่าอดีตผู้นำอิรักครั้งนี้ว่า “ยุทธการรุ่งอรุณแดง” (Operations Red Dawn) ในพื้นที่เมือง อัดดาวาร์ (Ad-Wadr) ใกล้กับเมือง “ทิกริท” (Tikrit) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา หน่วยที่เข้าปฏิบัติการคือชุดปฏิบัติการรบ กองพลน้อยที่ 1 สังกัดกองพลทหารราบที่ 4 นำโดยพันเอก เจมส์ ฮิคกี้ (Col. James Hickey) ร่วมกับชุดเฉพาะกิจ 121 (Task Force 121) รวมกำลังพลที่เข้าปฏิบัติการในครั้งนี้กว่า 600 คน และตรวจพบพบ “รังแมงมุม” (spider hole) ซึ่งเป็นที่ซ่อนตัวของซัดดัม ฮุสเซนในเวลาประมาณ 20.30 น. ซึ่งแม้ซัดดัมจะมีอาวุธปืน เอเค 47 อยู่ในมือแต่เขาก็ไม่ได้ต่อสู้แต่อย่างใด





การจับกุมตัวอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน



วันสำคัญอีกวันหนึ่งคือวันที่อดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอคือวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 2006 ภายหลังจากการพิจารณาของคณะลูกขุนพิเศษอิรักในข้อหากระทำอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ โดยการสังหารหมู่ชาวชีอะห์ 140 คนในเมือง “ดูจาอิล” (Dujail) ในปี ค.ศ. 1982 ภาพคลิปวีดิโอการแขวนคอของเขาถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งโต้แย้งและสนับสนุนการประหารชีวิตครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้

การปฏิบัติการปลดปล่อยประเทศอิรักของกองทัพสหรัฐฯ ในครั้งนี้มีประเทศที่เข้าร่วมกับสหรัฐฯ มากเป็นประวัติการณ์ โดยมีประเทศที่เข้าร่วมทั้งหมดถึง 39 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย อังกฤษ รูเมเนีย เอลซัลวาดอร์ เอสโตเนีย บุลกาเรีย มอลโดวา อัลบาเนีย ยูเครน เดนมาร์ก สาธารณรัฐเชค เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ตองก้า อาเซอร์ไบจัน สิงคโปร์ บอสเนียเฮอร์เซโกวีน่า มาซีโดเนีย ลัตเวีย โปแลนด์ คาซัคสถาน อาเมเนีย มองโกเลีย จอร์เจีย สโลวะเกีย ลิธัวเนีย อิตาลี นอรเวย์ ฮังการี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส นิวซีแลนด์ ไทย ฟิลิปปินส์ ฮอนดูรัส สาธารณรัฐโดมินิกัน สเปน นิคารากัวและไอซ์แลนด์





ยานเกราะของอังกฤษถูกโจมตีในเมืองบาสราของอิรัก



สำหรับประเทศที่ส่งทหารไปร่วมน้อยที่สุดคือประเทศไอซ์แลนด์ คือส่งชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดไปร่วมจำนวน 3 คน ประเทศที่ส่งไปร่วมมากที่สุดคือ อังกฤษ จำนวน 46,000 คนและอังกฤษก็เป็นประเทศพันธมิตรที่สูญเสียทหารในอิรักมากที่สุดคือ 179 คน สำหรับชาติอื่นๆ มีอัตราการสูญเสียดังนี้คือ อิตาลี 33 คน โปแลนด์ 23 คน ยูเครน 18 คน บุลกาเรีย 13 คน สเปน 11 คน เดนมาร์ก 7 คน เอลซัลวาดอร์ และจอร์เจียสูญเสียประเทศละ 5 คน สโลวะเกีย 4 คน ลัตเวียและโรมาเนียประเทศละ 3 คน ไทย ออสเตรเลียและเนเธอร์แลนด์สูญเสียประเทศละ 2 คน คาซัคสถาน เกาหลีใต้ ฮังการี สาธารณรัฐเชคและอาเซอร์ไบจันสูญเสียประเทศละ 1 คน




กกล.ฉก. 976 ไทย/อิรัก



ในส่วนประเทศไทยได้ส่งกำลังพลในนาม “กองกำลังเฉพาะกิจปฏิบัติเพื่อมนุษยธรรม 976 ไทย/อิรัก” หรือ กกล.ฉก.976 ไทย/อิรัก ไปร่วมปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรมที่เมืองคาร์บาล่า จำนวน 2 ผลัด ผลัดละ 443 คน ผลัดแรกนำโดยพันเอกบุญชู เกิดโชค (ยศขณะนั้น) เดินทางเข้าสู่ประเทศอิรักในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) มีการสูญเสียกำลังพลในผลัดนี้จำนวน 2 นายจากการโจมตีด้วยคาร์บอมบ์คือ จ่าสิบเอกมิตร กล้าหาญ และจ่าสิบเอกอัมพร ชูเลิศ (ภายหลังได้รับพระราชทานยศพันเอกทั้งสองนาย) สำหรับกองกำลังผลัดที่ 2 นำโดยพันเอกมนตรี อุมารี (ยศขณะนั้น) ผลัดที่ 2 นี้เป็นผลัดสุดท้ายก่อนสิ้นสุดภารกิจของกองทัพไทยในประเทศอิรักในเดือนกันยายน ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547)

สำหรับยอดความสูญเสียของกองทัพสหรัฐฯ นั้น ตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจำนวน 4,416 คน (ตัวเลขยังคงมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น เนื่องจากการโจมตีทหารสหรัฐฯ กว่า 50,000 คนในอิรักยังคงมีอยู่) โดยแยกเป็นผู้เสียชีวิตในการรบ 3,498 คน เสียชีวิตจากสาเหตุอื่น จำนวน 918 คน บาดเจ็บจำนวนทั้งสิ้น 31,839 คน ทำให้สหรัฐฯ มียอดรวมผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวน 36,255 คน ไม่นับที่ยังสูญหายไปอีก 2 คน

จากยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด เป็นกำลังพลที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีจำนวน 54% แบ่งเป็นทหารชายจำนวน 98 % ทหารหญิง 2% แบ่งตามชั้นยศเป็นนายทหารประทวน (ยศต่ำกว่าร้อยตรี) จำนวน 82% และเป็นนายทหารสัญญาบัตร (ชั้นยศร้อยตรีขึ้นไป) จำนวน 18% จำนวนกำลังพลที่ผ่านสมรภูมิอิรักทั้งหมดกว่า 30% มีอาการโรคประสาท หรือป่วยทางด้านจิตใจอันเนื่องมาจากความเครียดจากการรบ และเมื่อเทียบกับยอดผู้เสียชีวิตในสมรภูมิอัฟกานิสถานตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 ถึงปัจจุบันมีทหารเสียชีวิตในอัฟกานิสถานจำนวน 1,135 คน บาดเจ็บ 6,141 คน สูญหาย 1 คน




การสูญเสียของทหารสหรัฐฯ ในอิรัก



แต่สถิติการสูญเสียในอิรักและอัฟกานิสถานนั้นสวนทางหรือกลับกัน คือในอิรัก ยอดผู้สูญเสียจะลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่ในสมรภูมิอัฟกานิสถาน ยอดผู้สูญเสียกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสหรัฐฯ ได้เพิ่มกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานอีกกว่า 30,000 คนเมื่อต้นปี ค.ศ. 2010 ที่ผ่านมา อีกทั้งการรบก็มีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นเพราะสหรัฐฯ กำลังทุ่มเทความพยายามทุกอย่างลงไปที่อัฟกานิสถานจนทำให้สมรภูมิแห่งนี้กลายเป็นสนามรบหลักของสหรัฐฯ แทนอิรักในที่สุด







สถิติที่น่าสนใจอีกสถิติหนึ่งคือห้วงเวลาที่ทหารสหรัฐฯ สูญเสียมากที่สุดคือเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2004 มีจำนวน 137 คน รองลงมาคือในเดือนเมษายนปีเดียวกัน สูญเสียไปจำนวน 134 คน ทำให้ในปี ค.ศ. 2004 เพียงปีเดียวมีทหารสหรัฐฯ เสียชีวิตถึง 849 คน นับเป็นปีที่สหรัฐฯ มียอดสูญเสียสูงมากที่สุดครั้งแรกนับตั้งแต่เปิดฉากการรบในปี ค.ศ. 2003 และตัวเลขยังคงเกือบเท่าเดิมในปี ค.ศ. 2005 คือมียอดผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 840 คน ลดลงมาเพียง 9 คนเท่านั้น

และตัวเลขก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากอีกครั้งในปี ค.ศ. 2007 ซึ่งเป็นปีที่ฝ่ายต่อต้านในอิรักโหมการโจมตีต่อหน่วยทหารสหรัฐฯ อย่างหนัก จนมีผู้เสียชีวิตเฉพาะในปีนี้ปีเดียวสูงถึง 904 คน สำหรับตัวเลขผู้บาดเจ็บนั้นสูงที่สุดในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2004 มีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวน 1,427 คน รองลงมาคือเดือนเมษายนของปีเดียวกัน มีผู้บาดเจ็บจำนวน 1,214 คน ก่อนที่จะลดลงเรื่อยๆ ในปีต่อมา

นอกจากนี้ยังมีตัวเลขที่น่าสนใจคือ สหประชาชาติรายงานจำนวนชาวอิรักที่เสียชีวิตจากการรบว่า เป็นตัวเลขที่มาจากการคาดการณ์เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ มีการประมาณกันว่ามีชาวอิรักผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตเป็นจำนวนระหว่าง 50,000 – 100,000 คน หรืออาจมากกว่านั้น

กล่าวกันว่าทุกๆ 11 วันจะมีชาวอิรักเสียชีวิตเท่ากับยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 9/11 ที่อาคารเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์คือ 2,749 คน ส่วนกลุ่มต่อต้านต่างๆ ถูกสังหารประมาณ 55,000 คน มีชาวต่างชาติถูกลักพาตัวจำนวน 306 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 57 คน ได้รับการปล่อยตัว 147 คน หนีรอดมาได้ 4 คน ได้รับการช่วยเหลือ 6 คน ไม่ทราบชะตากรรมอีก 89 คน รวมทั้งมีผู้สื่อข่าวเสียชีวิตในอิรักทั้งหมด 147 คน แบ่งเป็นเสียชีวิตจากการฆาตกรรม 94 คนและเสียชีวิตจากการทำข่าวการสู้รบ 47 คน มีสื่อมวลชนที่เสียชีวิตเพราะถูกยิงจากทหารสหรัฐฯ ด้วยความเข้าใจผิดจำนวน 14 คน






สำหรับตัวเลขความสูญเสียยุทโธปกรณ์ที่สำคัญของสหรัฐฯ ประกอบด้วย ความสูญเสียที่มีต่อรถถังชั้นยอดแบบเอ็ม1 ทุกรุ่นจำนวนกว่า 20 คัน (แม้ว่าจะมีการโต้แย้งว่าไม่มีรถถังเอ็ม1 คันใดที่ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ส่วนมากได้รับความเสียหายและถูกทำลายโดยพลประจำรถหรือกำลังฝ่ายเดียวกันเพื่อไม่ให้รถถังตกอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้าม) นอกจากนี้ยังมีรถหุ้มเกราะแบบ เอ็ม 2 แบรดลี่ย์ (M 2 Bradley) อีก 50 คัน รถหุ้มเกราะล้อยางแบบสไตรเกอร์ (Stryker) 20 คัน รถสายพานลำเลียงพลแบบ เอ็ม 113 (M 113) จำนวน 20 คันและรถฮัมวี่ (HMMWV "Humvee" – High Mobility Multipurpose Wheeled Vehicle) อีกกว่า 250 คัน

ซึ่งเมื่อรวมยอดความสูญเสียยานยนต์แบบต่างๆ ทั้งรถเก็บกู้ทุ่นระเบิด รถลาดตระเวณตรวจการณ์แบบเอ็มเอ็ม 1 "ฟ๊อกซ์" (MM 1 "Fox") รถบรรทุกและรถลากจูงแล้ว สหรัฐฯ จะมียอดรวมการสูญเสียยานพาหนะสูงถึงเกือบ 1,000 คันเลยทีเดียว และการสูญเสียเกือบทั้งหมดมีสาเหตุมาจากระเบิดแสวงเครื่องหรือ "ไออีดี" (IED – Improvised Explosive Device) ที่กลุ่มต่อต้านวางซุกซ่อนไว้ตามเส้นทางต่างๆ






ในขณะเดียวกันเฮลิคอปเตอร์ชั้นยอดของสหรัฐฯ ทั้งแบบเอเอช 64 อาปาเช่ และยูเอช 60 แบล็กฮอว์ค ก็ประสบความสูญเสียไม่น้อย โดยจากสถิติพบว่ามีเฮลิคอปเตอร์ทุกแบบของสหรัฐฯ ถูกยิงตกในอิรักตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 - 2009 เป็นจำนวนกว่า 120 ลำ ส่งผลให้นักบิน พลประจำเครื่องและกำลังพลเสียชีวิตเป็นจำนวนกว่า 270 คน ความสูญเสียที่น่าวิตกเหล่านี้ทำให้กองทัพสหรัฐฯ ต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธีและยุทโธปกรณ์สำหรับการป้องกันตนเองจากการลอบโจมตีของกลุ่มต่อต้านที่อาศัยประโยชน์และความได้เปรียบจากการรบในเมือง (Urban Warfare) อย่างขนานใหญ่เลยทีเดียว








การรบในอิรักมีทหารสหรัฐฯ ที่ได้รับเหรียญกล้าหาญจำนวนมากเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเวียดนามเป็นต้นมา โดยแบ่งเป็นเหรียญกล้าหาญชั้น Medal of Honor ซึ่งเป็นเหรียญกล้าหาญชั้นสูงที่สุดเหรียญหนึ่งมีทหารที่ได้รับเหรียญนี้ทั้งหมด 6 คน เช่น ไมเคิล เอ มอนซัว (Michael A. Monsoor) จากหน่วยทำลายใต้น้ำของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่แสดงวีรกรรมด้วยการกระโดดเข้าทับระเบิดที่ฝ่ายต่อต้านโยนเข้ามาในจุดซุ่มยิงที่เขาประจำอยู่จนเสียชีวิต ทั้งนี้เพื่อรักษาชีวิตของเพื่อนร่วมงานในการรบที่เมืองรามาดี (Ramadi) ในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 2006 เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ได้รับเหรียญกล้าหาญซิลเวอร์สตาร์ (Silver Star) จำนวนมากกว่า 170 คน เหรียญกล้าหาญชั้นบรอนซ์สตาร์ (Bronze Star) จำนวนกว่า 38,000 คนอีกด้วย

สำหรับเรื่องเหรียญกล้าหาญนั้นมีเรื่องราวที่น่าสนใจของผู้ที่ได้รับเหรียญกล้าหาญชั้นซิลเวอร์สตาร์ คือ สิบเอกหญิง ลีฮ์ แอน เฮสเตอร์ (Sgt. Leigh Ann Hester) อายุ 23 ปี ซึ่งนับเป็นทหารหญิงคนแรกที่ได้รับเหรียญกล้าหาญชั้นนี้นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา





สิบเอกหญิง ลีฮ์ แอน เฮสเตอร์ ทหารหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ที่ได้รับเหรียญกล้าหาญซิลเวอร์สตาร์นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง



เฮสเตอร์เป็นผู้ควบคุมยานยนต์ฮัมวี่ 3 คันของกองร้อยสารวัตรทหารที่ 617 ซึ่งมีนามเรียกขานว่า "ราเวน 42" (Raven 42) พร้อมสารวัตรทหารอีก 9 คนและพลเสนารักษ์ 1 คนเข้าทำการช่วยเหลือขบวนลำเลียงของสหรัฐฯ ขณะถูกซุ่มโจมตีโดยฝ่ายต่อต้านจำนวน 40 - 50 คนเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 2005 บริเวณชานกรุงแบกแดด เมื่อไปถึงบริเวณพื้นที่การรบ เธอนำกำลังพลขับรถฝ่าเข้าไปในพื้นที่สังหารระหว่างรถบรรทุกและกองกำลังฝ่ายข้าศึก พร้อมกับระดมยิงปีนกลหนักประจำรถขนาด .50 คาลิเบอร์ใส่กลุ่มต่อต้านกว่า 10 คนที่กำลังวิ่งออกจากที่ซ่อนเข้าหาทหารสหรัฐฯ ที่ได้รับบาดเจ็บอยู่ในขบวนคุ้มกันรถลำเลียง โดยข้าศึกแต่ละคนมีกุญแจมือเพื่อเตรียมจับตัวทหารสหรัฐฯ ไปทำการฆ่าตัดคอและเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต (ข้อมูลจากเชลยอิรัก)

เฮสเตอร์สั่งให้รถของเธอทั้งสามคันเข้าโจมตีทันที แต่รถฮัมวี่คันที่สองของขบวนก็ถูกยิงด้วยจรวดอาร์พีจีอย่างจัง จนพลปืนที่ประจำอยู่บนหลังคารถคันดังกล่าวได้รับบาดเจ็บสาหัสและหมดสติ เฮสเตอร์และกำลังพลที่เหลือจึงวิ่งลงจากรถใช้ระเบิดมือและเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 40 มิลลิเมตรแบบเอ็ม 203 (M 203) ระดมยิงใส่ข้าศึกที่ซ่อนตัวอยู่ในคูน้ำข้างทาง จนกระทั่งข้าศึกเกิดความสับสน

เธอต่อสู้จนกระสุนปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตรของปืนเล็กยาวแบบเอ็ม 4 หมดและต้องวิ่งกลับไปที่รถฮัมวี่เพื่อบรรจุกระสุนใหม่ จากนั้นก็วิ่งกลับไปยังพื้นที่ซ่อนตัวของข้าศึกพร้อมด้วยระเบิดมือ 2 ลูก กระสุน 40 มิลลิเมตรของปืนเอ็ม 203 อีก 3 นัด แล้วเธอก็เริ่มกวาดล้างข้าศึกที่หลงเหลืออยู่บริเวณคูน้ำข้างทาง ฝ่ายต่อต้านคนหนึ่งโผล่ออกมาจากหลังต้นปาล์มพร้อมกับเล็งจรวดอาร์พีจีมาที่ขบวนรถของเฮสเตอร์ แต่เกือบจะในทันทีที่เขาถูกทหารสหรัฐฯ ระดมยิงจากทุกทิศทุกทาง

ภายหลังการปะทะ ข้าศึกทิ้งศพไว้เป็นจำนวนถึง 24 ศพ และมีข้าศึกที่ได้รับบาดเจ็บไม่สามารถหลบหนีไปได้อีก 6 คน (ต่อมาเสียชีวิตเนื่องจากทนพิษบาดแผลไม่ไหวอีก 2 คน) รวมทั้งถูกจับเป็นเชลยได้ 1 คน ยึดปืนเอเค 47 (AK 47) ได้ 22 กระบอก เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี (RPG) ได้ 6 กระบอกพร้อมจรวด 16 ลูก ปืนกลอาร์พีเค (RPK) 13 กระบอก ระเบิดมือ 40 ลูก สายกระสุน 2,500 นัดจำนวน 10 สาย ในขณะที่ฝ่ายสหรัฐฯ ไม่มีผู้เสียชีวิต มีเพียงผู้บาดเจ็บ 3 คน ซึ่งความสำเร็จจากการปฏิบัติการครั้งนี้นับเป็นความกล้าหาญของเฮสเตอร์และกำลังพลของราเวน 42 ที่มีเพียง 10 คนอย่างแท้จริง




กองกำลังทหารอิรักที่เข้ามาปฏิบัติภารกิจแทนทหารสหรัฐฯ กำลังควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย



ในปัจจุบันกองทัพสหรัฐฯ ได้สร้างกองกำลังรักษาความปลอดภัยของอิรักขึ้นมีจำนวนทั้งสิ้น 144,000 นาย เพื่อให้สามารถรักษาความมั่นคงภายในประเทศด้วยตัวเอง ทหารและตำรวจอิรักเหล่านี้ได้กลายเป็นเป้าหมายของกลุ่มต่อต้านต่างๆ ที่โหมโจมตีอยู่แทบทุกวัน จนมียอดทหารและตำรวจอิรักเสียชีวิตจากการโจมตีเป็นจำนวน 9,571 คน ในขณะที่กลุ่มต่อต้านมีการเติบโตอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากเงื่อนไขต่างๆ ในการปกครองของสหรัฐฯ โดยในปี ค.ศ. 2003 คาดว่ามีกลุ่มต่อต้านเพียง 15,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพวกเฟดดายีนและกองกำลังอารักขาสาธารณรัฐที่จงรักภักดีต่อซัดดัม ฮุสเซน ในปี ค.ศ. 2006 เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 – 30,000 คน และในปี ค.ศ.2007 เพิ่มขึ้นเป็น 70,000 คน อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากเงื่อนไขทางสังคมทั้งหลายที่มีอยู่ยังไม่ถูกทำให้หมดสิ้นไป

ทั้งหมดนี้คือสถิติที่น่าสนใจบางส่วนของการรบอันยืดเยื้อยาวนานกว่า 7 ปีของกองทัพสหรัฐฯ บนดินแดนอิรัก ซึ่งหลายคนเรียกว่า "ปลักตมแห่งสงคราม" ของกองทัพสหรัฐฯ เพราะเป็นการรบที่เต็มไปด้วยคราบเลือดและหยดน้ำตาของผู้คนสองฟากฝั่งอารยธรรม เป็นการรบที่เต็มไปด้วยความเสียสละและความกล้าหาญ อีกทั้งยังเป็นการรบที่มีจุดเริ่มต้นด้วยความฝันอันเฉิดจรัสในการสร้างประเทศอิรักขึ้นใหม่ของกองทัพสหรัฐฯ แต่กลับสิ้นสุดลงบนความมืดมนแห่งอนาคตของประชาชนชาวอิรัก อย่างไรก็ตามไม่ว่าอนาคตของอิรักจะเป็นเช่นไร ขอให้ตัวเลขสถิติและข้อมูลต่างๆ ที่นำมาเสนอในครั้งนี้ เป็นตัวเลขและข้อมูลสำหรับบทเรียนครั้งสุดท้ายที่ย้ำเตือนให้มวลมนุษยชาติได้ตระหนักถึงพิษภัยของสงคราม และตระหนักถึงความโหดเหี้ยมของจิตใจมนุษย์ที่ยากจะหยั่งถึงได้ ทั้งนี้เพื่อร่วมกันหาหนทางในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นอย่างถาวรบนพื้นพิภพนี้ตลอดไป





Create Date : 31 สิงหาคม 2553
Last Update : 15 ตุลาคม 2553 7:14:58 น. 4 comments
Counter : 8073 Pageviews.

 
Wow

good info

Thank you


โดย: love thai IP: 119.42.85.134 วันที่: 1 กันยายน 2553 เวลา:1:49:29 น.  

 
สิบเอกหญิง ลีฮ์ แอน เฮสเตอร์ ใจเธอเป็นนักสู้จริงๆ


โดย: เอก IP: 115.87.187.236 วันที่: 11 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:17:11:40 น.  

 
ผู้กล้าเท่านั้นจึงจะชนะศึก


โดย: อนุสรณ์ IP: 27.145.113.29 วันที่: 4 กรกฎาคม 2557 เวลา:21:44:18 น.  

 
Nice post. I was checking constantly this blog and I am impressed! Extremely helpful information specifically the last part :) I care for such information a lot. I was looking for this particular information for a very long time. Thank you and good luck.
mulberry sale //www.tnsi.com/pinterests.aspx


โดย: mulberry sale IP: 94.23.252.21 วันที่: 12 สิงหาคม 2557 เวลา:20:26:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.