VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 
การโจมตีแบบพลีชีพ

การโจมตีแบบพลีชีพ (Suicide Attack)

ตีพิมพ์ในนิตยสาร Topgun ฉบับเดือนธันวาคม 2552

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ


"... การโจมตีแบบพลีชีพ ถูกผูกโยงเข้ากับการต่อสู้ทางศาสนา แต่ความจริงแล้ว การโจมตีดังกล่าวมีประวัติมายาวนานและไม่มีความเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางศาสนาเลยแม้แต่น้อย ..."






เสียงระเบิดที่ดังกึกก้องไปทั่วทั้งเมืองเปชาวาร์ (Peshawar) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2009 ที่ผ่านมา ได้ปลุกให้ประชาคมโลกหันมาให้ความสนใจกับการโจมตีด้วย “ระเบิดพลีชีพ” อีกครั้ง พร้อมๆ กับชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ 19 ชีวิตที่ได้ถูกมัจจุราชกระชากออกจากร่าง ทำให้บริเวณพื้นที่เมืองดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่อันตรายที่ถูกโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพเป็นจำนวนถึง 6 ครั้ง ในเวลาเพียงไม่ถึงสองสัปดาห์ เป็นการตอกย้ำให้มวลมนุษยชาติได้ตระหนักว่า โลกยุคปัจจุบันคือ โลกแห่งยุคของการก่อการร้ายอย่างแท้จริง

นับตั้งแต่โลกได้เคลื่อนตัวผ่านยุค “สงครามเย็น” และก้าวเข้าสู่ยุคแห่ง “การก่อการร้าย” อย่างสมบูรณ์แบบ สังคมต่างๆ ดังเช่นสังคมในเมืองที่เงียบสงบแบบเมือง “เปชาวาร์” ก็ถูกปกคลุมไปด้วยความน่าสะพรึงกลัวจากศักยภาพของการปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ เพราะการปฏิบัติการเหล่านั้น ไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่สัญลักษณ์ทางการเมือง การทหาร หรือสิ่งที่แสดงถึงอำนาจของฝ่ายตรงข้าม

หากแต่มีเป้าหมายอยู่ที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ เด็ก สตรีและคนชรา การก่อการร้ายได้ก่อให้เกิดแนวความคิดที่ว่า “ไม่มีที่ใดที่ปลอดภัยอีกต่อไป” สถานที่หลายแห่ง เช่น โรงแรม สถานที่ตากอากาศ สถานีรถไฟ หรือห้างสรรพสินค้าที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า อาวุธแห่งการทำลายล้างที่รุนแรง เหี้ยมโหด ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายผลิตคิดค้นขึ้นมา เพื่อต่อสู้กับอาวุธและอำนาจรัฐฯ ที่มีศักยภาพและความรุนแรงไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นระเบิดแสวงเครื่อง (IED – Improvised Explosive Device) อาวุธเชื้อโรค (Biochemical weapon - Bioterrorist) อาวุธศักยภาพทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction) และระเบิดพลีชีพ (Suicide Bomb)






เมื่อกล่าวถึงการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพ หรือที่บางคนเรียกว่า ระเบิดแบบฆ่าตัวตาย ที่กำลังกลายเป็นเอกลักษณ์ของการก่อการร้ายที่เชื่อมโยงกับสงครามทางศาสนา จนดูเหมือนจะเกิดความเข้าใจผิดในกลุ่มคนรุ่นใหม่ว่า “การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพ” คือ ภารกิจหนึ่งของการเสียสละเพื่อทำสงครามทางศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์

ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการจำนวนหนึ่งว่า เป็นแนวคิดที่ถูกทำให้ผันแปรไปจากความเป็นจริง รวมทั้งมีความพยายามชี้ให้เห็นว่า การโจมตีแบบพลีชีพนั้น ไม่ใช่สัญลักษณ์ของการทำสงครามทางศาสนาอย่างที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายบางกลุ่มมุ่งหวังจะให้เป็น

หากมองย้อนกลับไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เราจะพบว่านักรบกลุ่มแรกๆ ที่เปิดฉากการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพ ไม่ใช่นักรบที่สละชีพเพื่อศาสนา ไม่ใช่แม้แต่สละชีพเพื่อพระเจ้า หากแต่เป็นการสละชีพเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาตุภูมิของนักบินกองทัพอากาศญี่ปุ่น ที่สร้างวีรกรรมอันห้าวหาญด้วยการนำเครื่องบินขับไล่บรรทุกระเบิด ตอร์ปิโด หรือบรรทุกน้ำมันเต็มลำพุ่งเข้าชนเรือรบของสหรัฐฯ และสัมพันธมิตรภายใต้ชื่อ “กามิกาเซ่” (Kamikaze) หรือ “ลมศักดิ์สิทธิ์”

ทั้งนี้เพื่อมุ่งผลในความแม่นยำของการโจมตีเป้าหมาย โดยกามิกาเซ่เริ่มปฏิบัติภารกิจครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 1944 ในการรบที่อ่าวเลย์เตของฟิลิปปินส์ เพื่อหยุดยั้งการรุกคืบหน้าของกองเรือสหรัฐฯ การปฏิบัติภารกิจของเหล่านักบินกามิกาเซ่เป็นการปฏิบัติที่กล้าหาญ เสียสละ และอุทิศตนต่อการทำลายเป้าหมายทางทหารของข้าศึก






ดังเช่นบันทึกตอนหนึ่งของ ร้อยโท ยูกิโอะ เซกิ(Lieutenant Yukio Seki) นักบินกามิกาเซ่ที่กล่าวว่า

“เราสมควรตายดีกว่า หากจะต้องมีชีวิตอยู่อย่างคนขี้ขลาด”

ในขณะที่นักบินกามิกาเซ่ปฏิบัติการโจมตีด้วยการขับเครื่องบินพุ่งชนเรือรบของศัตรู ทหารราบญี่ปุ่นเองก็มีวิธีการโจมตีแบบพลีชีพ หรือที่โลกตะวันตกขนานนามว่า “การโจมตีแบบบันไซ” (Banzai Charge) ด้วยเช่นกัน

การโจมตีชนิดนี้จะเป็นการใช้คลื่นมนุษย์ของเหล่าทหารกองทัพญี่ปุ่น เคลื่อนที่เข้าโจมตีข้าศึกในการรบขั้นแตกหัก หรือการรบที่เต็มไปด้วยความเสียเปรียบ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับเป็นเชลย หรือการยอมแพ้

การที่ทหารอเมริกันเรียกการโจมตีชนิดนี้ว่า การโจมตีแบบบันไซ ก็เพราะขณะที่เคลื่อนที่เข้าโจมตี ทหารญี่ปุ่นจะตะโกนว่า “เทนโนะเฮกะ บันไซ” ซึ่งแปลว่า “ขอให้องค์จักรพรรดิทรงพระเจริญ”

การโจมตีแบบบันไซครั้งแรกๆ เปิดฉากขึ้นเมื่อญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพ่ายแพ้ที่เกาะอัตสุ (Attu Island) ซึ่งพันเอกยาสุโกะ ยามาซากิ (Colonel Yasuko Yamazaki) สังกัดหน่วยนาวิกโยธินญี่ปุ่น ได้รวบรวมทหารจำนวนกว่าหนึ่งพันนาย เข้าตีที่มั่นของทหารอเมริกัน

โดยเขาถือดาบซามูไรนำหน้าเหล่าทหารด้วยความกล้าหาญจนสามารถเจาะแนวตั้งรับเข้าไปได้จนถึงกำลังส่วนหลังของกองทัพอเมริกัน สร้างความสูญเสียอย่างมาก ก่อนที่กำลังทหารญี่ปุ่นทั้งหมดจะถูกทำลายลง

ผลจากการรบ มีทหารญี่ปุ่นรอดชีวิตเพียง 28 นาย พลเสนารักษ์ของญี่ปุ่นที่รอดชีวิตจากการสู้รบ ได้เล่าถึงยามาซากิว่า

“พันเอกยามาซากิเป็นนักรบที่กล้าหาญมาก เขารู้ว่าทหารญี่ปุ่นไม่มีโอกาสที่จะต่อสู้กับกำลังของฝ่ายสหรัฐฯ ที่มีจำนวนมากกว่าได้ แทนที่จะรอวันตาย เขากลับสั่งให้ทหารทุกนายวิ่งเข้าหาความตายอย่างกล้าหาญ ก่อนตายยามาซากิบันทึกไว้ในหนังสือไดอารี่ของเขาว่า ... ฉันกำลังจะสละชีพเพื่อผืนแผ่นดินนี้ หลังจากที่มีชีวิตอยู่มาเป็นเวลา 33 ปี ... ฉันไม่เคยเสียใจ และจะไม่เสียใจที่ตัดสินกระทำการเช่นนี้ ... ขอองค์พระจักรพรรดิจงทรงพระเจริญ ... “






ทั้งการโจมตีแบบกามิกาเซ่และบันไซ ล้วนเป็นการโจมตีแบบพลีชีพทั้งสิ้น ไม่ต่างจากการโจมตีแบบพลีชีพที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในยุคปัจจุบัน หากแต่มีความแตกต่างตรงที่ “กามิกาเซ่” และ “บันไซ” เป็นการโจมตีที่มุ่งหวังต่อกำลังพล สถานที่ทางยุทธศาสตร์และอาวุธยุทโธปกรณ์ของข้าศึก มิได้มุ่งหวังทำลายล้างชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงทำให้การโจมตีของกองทัพญี่ปุ่นทั้งสองรูปแบบ ได้รับการยกย่องว่าเป็นการปฏิบัติการรบที่กล้าหาญและเสียสละ

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด เรื่องราวของการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพก็เริ่มจางหายไปจากความทรงจำของผู้คน หลงเหลือไว้แต่เรื่องราวอันห้าวหาญของทหารเหล่านั้น จนกระทั่งกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam) ในประเทศศรีลังกาได้เปิดฉากใช้การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพขึ้นมาอีกครั้ง

คราวนี้เป็นการโจมตีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อสู้และบั่นทอน ทำลายอำนาจรัฐ และสถาปนารัฐอิสระ “ทมิฬ” ขึ้นทางตอนเหนือและทางตะวันออกของประเทศศรีลังกา

คราวนี้ประวัติศาสตร์ต้องบันทึกไว้ว่ากลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมเป็นกองกำลังกลุ่มแรกที่คิดค้น “เข็มขัดพลีชีพ” (suicide belt) อันลือชื่อที่กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ นำมาใช้ในการโจมตีแบบระเบิดพลีชีพในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งหน่วยพลีชีพที่มีชื่อว่า “พยัคฆ์ดำ” (Black Tiger) ที่มีสมาชิกทั้งชายและหญิง ทำหน้าที่ในการโจมตีแบบพลีชีพในทุกรูปแบบต่อหน่วยทหารศรีลังกา ผู้นำรัฐบาลและบุคคลสำคัญในวงการเมืองของศรีลังกา







นิตยสาร “เจน” (Jane) ได้สรุปสถิติการโจมตีแบบพลีชีพของหน่วยพยัคฆ์ดำว่าได้ออกปฏิบัติภารกิจจำนวน 168 ครั้ง ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 1976 จนถึง 2009 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่กลุ่มต้องประสบกับความพ่ายแพ้ต่อฝ่ายรัฐบาลในที่สุด รวมถึงการโจมตีท่าอากาศยานโคลัมโบของศรีลังกาในปี 2001 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 16 คน และทำให้อากาศยานพาณิชย์และอากาศยานทางทหารของกองทัพอากาศศรีลังกาจำนวนหนึ่งได้รับความเสียหาย

นอกจากนี้ในปี 1998 กลุ่มพยัคฆ์ดำยังเป็นผู้โจมตีศาสนสถานของพุทธศาสนาในเมืองกันดี (Kandy) ซึ่งได้รับการจัดให้เป็นมรดกโลก และนับเป็นศาสนสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของศรีลังกา การโจมตีครั้งนี้ทำให้มีผู้แสวงบุญจำนวน 8 คนเสียชีวิต

รวมทั้งนักรบพยัคฆ์ดำก็ยังเป็นผู้โจมตีแบบพลีชีพในการสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีราจีฟ คานธี ของอินเดียในปี 1991 อีกด้วย ซึ่งการโจมตีแบบพลีชีพของกลุ่มนับเป็นการโจมตีบนพื้นฐานของการเมืองเป็นหลัก มิได้มีพื้นฐานอยู่บนหลักศาสนาแต่อย่างใด

การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพที่กำลังเป็นที่จับตามองในปัจจุบัน ก็คือการโจมตีในตะวันออกกลางซึ่งมีพื้นฐานมาจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ส่งผลให้เกิดความกดดันทางจิตใจต่อชาวปาเลสไตน์อย่างมาก

ดังเช่นที่สมาชิกกลุ่มฟาทาฮ์ (Fatah) ซึ่งปฏิบัติการต่อต้านอิสราเอลในฉนวนกาซาและเวสต์แบงค์เปิดเผยต่อสำนักข่าวตะวันตกว่า

“... ความเคียดแค้น ชิงชังที่มีต่ออิสราเอลในการกระทำต่อชาวปาเลสไตน์นั้น เป็นสิ่งที่ทำให้มีจดหมายยื่นความจำนงเข้าเป็นมือระเบิดพลีชีพเพื่อต่อสู้กับอิสราเอลหลั่งไหลเข้ามามากมายราวกับสายน้ำเลยทีเดียว ในจำนวนนี้มีทั้งสตรีหม้ายที่สูญเสียทั้งสามีและบุตร มีทั้งเด็กเยาวชนที่สูญเสียบิดามารดาไปจากการโจมตีของทหารอิสราเอล ...”

มือระเบิดพลีชีพเหล่านี้ได้ออกปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนมีนาคม 2002 ที่กลุ่มฮามาสและฟาทาฮ์ได้โหมปฏิบัติการต่อเป้าหมายในอิสราเอลอย่างถี่ยิบ ตั้งแต่วันที่ 2, 5, 7, 9, 17, 20, 21, 27, 29, 30, 31 มีนาคม ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากเนื่องจากการโจมตีแต่ละครั้งมุ่งไปที่สถานที่ชุมชนของชาวยิวในเมืองสำคัญๆ

เช่นในวันที่ 29 มีนาคม กลุ่มฟาทาฮ์ได้ส่งมือระเบิดพลีชีพที่เป็นสุภาพสตรีปาเลสไตน์ผูกระเบิดจำนวนไม่ต่ำกว่า 10 กิโลกรัมรอบตัว ก่อนที่จะเดินเข้าไปในซุปเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเยรูซาเร็ม และจุดระเบิดบริเวณเคาน์เตอร์ที่เต็มไปด้วยผู้คน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 28 คน

และต่อมาวันที่ 31 มีนาคม กลุ่มฮามาสก็ได้ใช้มือระเบิดพลีชีพโจมตีภัตตาคาร “มัทซา” (Matza restaurant) ซึ่งเป็นภัตตาคารหรูหราในเมืองไฮฟา ทำให้ชาวยิวที่กำลังรับประทานอาหารเสียชีวิตทันที 15 คน บาดเจ็บอีกกว่า 40 คน







อย่างไรก็ตามหากวิเคราะห์จากพฤติกรรมในการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพในอิสราเอลจะเห็นได้ว่า ไม่ได้เกิดขึ้นจากประเด็นทางศาสนาเป็นหลัก หากแต่เกิดขึ้นจากความต้องการในการตอบโต้ แก้แค้นและขับไล่อิสราเอลออกจากดินแดนปาเลสไตน์ รวมทั้งเป็นการโจมตีที่มีประเด็นของความกดดันทางจิตใจเป็นมูลเหตุสำคัญ แต่เนื่องจากความแตกต่างทางศาสนาในตะวันออกกลาง ทำให้การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพเริ่มถูกนำไปเชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางศาสนา เพื่อสร้างความชอบธรรมและขยายแนวร่วมในการปฏิบัติการให้เพิ่มมากขึ้น

การเชื่อมโยงดังกล่าวทำให้การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพกลายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ในสงครามศาสนาไปในที่สุด โดยเฉพาะการโจมตีกำลังทหารสหรัฐฯ และฝรั่งเศสในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ด้วยมือระเบิดพลีชีพที่ขับรถยนต์โดยสารบรรทุกระเบิดเต็มคัน ทำให้ทหารสหรัฐฯและฝรั่งเศสเสียชีวิตถึงกว่า 300 นายในปี 1983 และเป็นผลทำให้สหรัฐฯ ต้องถอนทหารออกจากเลบานอนในที่สุด

ความสำเร็จในครั้งนี้ถูกเชื่อมโยงเข้าสู่หลักศาสนาในการขับไล่ผู้รุกรานนอกศาสนาออกจากแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ในตะวันออกกลาง

จุดหักเหสำคัญที่ทำให้การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางศาสนาก็คือ ปฏิบัติการโจมตีแบบพลีชีพต่ออาคารเวิร์ลเทรดเซนเตอร์ (World Trade Center) และกระทรวงกลาโหม “เพนตากอน” (Pantagon) ของสหรัฐฯ ในเหตุการณ์ 9/11 อันสะเทือนโลกในปี 2001 ของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ ซึ่งนำโดยโอซามา บิน ลาเดน ผู้ซึ่งเชื่อมโยงการก่อการร้ายและการโจมตีแบบพลีชีพเข้ากับการต่อสู้ในสงครามศาสนาจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ดังเช่นในปัจจุบัน







นับจากนั้นมา การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพก็เปิดฉากขึ้นมาอย่างรุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกเปิดฉากส่งกำลังทหารเข้ายึดครองประเทศอิรักเพื่อโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนเมื่อกลางปี ค.ศ. 2003

เป็นที่น่าสังเกตว่าการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพเพื่อต่อสู้กับสหรัฐฯ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดในช่วงปีแรกของการยึดครอง ทั้งนี้จากสถิติการโจมตีต่อเป้าหมายของกลุ่มต่อต้านในอิรักในปี 2003 มีเพียงครั้งเดียวคือ ในวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.2003 ณ โรงแรมคาแนล กลางกรุงแบกแดด มีผู้เสียชีวิต 22 คน รวมทั้งผู้นำระดับสูงขององค์การสหประชาชาติคือนาย เซอร์จิโอ เดอ เมลโล (Sergio De Mello) ด้วย

การโจมตีมาเริ่มต้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2004 โดยเฉพาะในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2004 เมื่ออันซาร์ อัล ซุนน่าห์ (Ansar Al Sunnah) หนึ่งในผู้นำกลุ่มต่อต้านได้ส่งมือระเบิดพลีชีพ 2 คนคาดเข็มขัดที่มัดด้วยระเบิดแรงสูงเข้าโจมตีสถานที่สำคัญ 2 แห่งในเมืองโมซุลของอิรัก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 117 คน บาดเจ็บ 221 คน

และอีกสิบวันต่อมาคือวันที่ 10 กุมภาพันธ์ มือระเบิดพลีชีพก็ขับรถยนต์บรรทุกระเบิดจำนวน 250 กิโลกรัม พุ่งเข้าใส่สถานีตำรวจอิรักในกรุงแบกแดด ซึ่งเต็มไปด้วยประชาชนที่กำลังเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อสมัครเข้าเป็นตำรวจ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 55 คน บาดเจ็บอีก 67 คน

ต่อมาในวันที่ 2 มีนาคม 2004 ก็เกิดการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพในมัสยิดของชนนิกายชีอะห์พร้อมๆ กันทั้งที่กรุงแบกแดดและเมืองคาร์บาล่า โดยเชื่อว่าเป็นการลงมือปฏิบัติการของกลุ่มอัล กออิดะฮ์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมกันถึง 171 คน และบาดเจ็บเกือบหกร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นเด็ก สตรีและคนชรา







และในวันที่ 17 พฤษภาคม ก็เกิดการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพในรถยนต์ใจกลางกรุงแบกแดด ส่งผลให้ เอซซาดิน ซาลิม (Ezzadin Salim) ประธานสภาปกครองอิรักเสียชีวิตพร้อมกับพลเรือนอีก 6 คน หลังจากนั้นตลอดทั้งปี 2004 ก็มีการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพประปราย แล้วเปลี่ยนมาใช้การโจมตีส่วนใหญ่ด้วยระเบิดแสวงเครื่อง เครื่องยิงลูกระเบิดและการซุ่มโจมตีที่มุ่งเป้าไปที่กำลังทหารสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเป็นหลัก

โมฮัมเหม็ด เอ็ม ฮาเฟซ (Mohammed M. Hafez) จากสถาบันเพื่อสันติภาพของสหรัฐฯ (United States Institute of Peace) ได้วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในอิรักไว้ในหนังสือของเขาเรื่อง “ระเบิดพลีชีพในอิรัก” (Suicide bombers in Iraq) ว่าเป็นที่น่าแปลกใจที่อิรักตกเป็นสถานที่แห่งการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพอย่างรุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่การเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2005 เป็นต้นมา

โดยเฉพาะในเดือนเมษายน เมื่อรัฐสภาอิรักได้ลงมติรับรองรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ส่งผลให้ภายหลังจากวันลงมติหนึ่งวัน คือในวันที่ 26 เมษายน มีการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพถึง 16 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการสื่อสารให้โลกภายนอกได้รับรู้ว่า กลุ่มต่อต้านจะไม่ยอมรับการแก้ปัญหาภายในของอิรักบนแนวทางการเมืองอย่างที่โลกตะวันตกต้องการ ซึ่งจากจุดนี้เองที่ฮาเซฟชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้ววัตถุประสงค์ของการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพนั้น มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ไม่ใช่วัตถุประสงค์ทางศาสนาอย่างที่กลุ่มต่อต้านกล่าวอ้าง

นอกจากนี้โมฮัมเหม็ด เอ็ม ฮาเฟซยังให้เหตุผลว่า การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพในอิรักมีการพุ่งเป้าหมายไปที่พลเรือน มากเท่าๆ กับเป้าหมายทางทหาร โดยเฉพาะสถานที่สำคัญอันเป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจของชนนิกายชีอะห์ ทั้งนี้เพื่อสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างชนนิกายสุหนี่และชีอะห์

อีกทั้งยังเป็นที่น่าประหลาดใจอย่างมากที่มือระเบิดพลีชีพส่วนใหญ่ในอิรักนั้นกลับไม่ใช่ชาวอิรัก หากแต่เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่เดินทางมาจากประเทศต่างๆ เช่น อียิปต์ ซีเรีย จอร์แดน ลิเบีย โซมาเลีย และอัฟกานิสถาน ที่ต้องการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ ทั้งๆ ที่ชาวอิรักส่วนใหญ่โดยเฉพาะชนนิกายสุหนี่ ไม่มุ่งทำการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพ โดยเฉพาะการโจมตีใส่กลุ่มประชาชนผู้บริสุทธิ์

ฮาเซฟสรุปบทความของเขาว่า การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพในอิรัก จึงเป็นการโจมตีชาวอิรักโดยชาวต่างชาติที่ต้องการสละชีพเพื่อทำสงครามศักดิ์สิทธิ์บนดินแดนอิรัก และเพื่อดำเนินกลยุทธในการทำลายประเทศอิรักด้วยการสร้างสงครามกลางเมืองขึ้นระหว่างชนสองนิกาย ซึ่งจะส่งผลให้อิรักกลับไปสู่จุดต่ำสุดของประวัติศาสตร์ อันเป็นการทำลายโครงสร้างของประเทศลงอย่างสิ้นเชิง ก่อนที่จะเริ่มสร้างสังคมใหม่ที่เป็นสังคม “ศาสนาบริสุทธิ์” ขึ้นมานั่นเอง

ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในบางประเทศ เช่นในประเทศกัมพูชาช่วงเขมรแดงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั่นเอง จะแตกต่างกันก็เพียงแต่มีการนำหลักศาสนาเข้ามาเชื่อมโยงด้วยเท่านั้นเอง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น แสดงให้เห็นได้ว่าการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพที่กำลังเป็นภัยคุกคามสังคมอันสงบและสันติอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่สัญลักษณ์ของการทำสงครามทางศาสนาแต่อย่างใด หากเป็นการกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความขัดแย้งทางการเมือง การทหาร เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ตลอดจนความขัดแย้งเกี่ยวกับดินแดน

อีกทั้งการโจมตีแบบพลีชีพนี้ก็มิได้เพิ่งเกิดขึ้นในโลกยุคก่อการร้าย หากแต่มีการปฏิบัติกันมาในสงครามหรือความขัดแย้งต่างๆ นับตั้งแต่อดีตมาแล้ว เพียงแต่การโจมตีเหล่านั้น มีเป้าหมายต่อกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ของข้าศึกรวมทั้งมุ่งหวังที่จะสร้างความได้เปรียบในการรบหรือทางยุทธวิธี ตลอดจนสร้างผลกระทบต่อสถานภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของข้าศึก มิได้มุ่งหวังที่จะประหัตประหารชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นหลัก

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมวลมนุษยชาติทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันทุกวิถีทางในการหยุดยั้ง “การโจมตีแบบพลีชีพ” ซึ่งเป็น “การสังเวยชีวิตตน” เพื่อ “ทำลายล้างชีวิตคนผู้บริสุทธิ์” โดยอ้างหลักศาสนาเพื่อสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทั้งๆ ที่คำสอนของศาสนาทุกศาสนาล้วนแต่มุ่งหวังหล่อหลอมให้มนุษย์ทุกคนเป็นคนดีด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อนำสังคมแห่งความสงบสุขกลับคืนสู่พื้นพิภพแห่งนี้อย่างมั่นคงถาวรตราบชั่วลูกชั่วหลานสืบไป



Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2553 13:11:23 น. 4 comments
Counter : 4937 Pageviews.

 
ไม่มีการกดขี่ก็จะไม่มีการพลีชีพ


โดย: lsm IP: 118.174.130.105 วันที่: 24 กันยายน 2555 เวลา:11:29:02 น.  

 
อิสลามไม่ได้สอนหัยระเบิดพลีชีพแต่อิสลามสอนให้ถวายชีพในการต่อสู้กับผู้ที่กดขี่และผู้ที่อธรรมทุกรูปแบบและช่วยเหลือกับผู้ที่ถูกกดขี่ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็ฯใครหรือศาสนาใดตาม การยอมจำนนกับผู้ที่กดขี่ก็เท่ากับการยอมรับการกดขี่นั้นเอง พระผู้เป็นเจ้าจะสาปแช่งผู้ที่ยอมรับการกดขี่
โปรเข้าใจอิสลามใหม่ซะนะคับ


โดย: lsm IP: 118.174.130.105 วันที่: 24 กันยายน 2555 เวลา:11:36:55 น.  

 
ในบทความไม่มีตอนไหนเลยที่เขียนว่า อิสลามสอนให้ระเบิดพลีชีพครับ

รวมทั้งพยายามชี้แจงอีกว่า ระเบิดพลีชีพไม่ใช่สัญลักษณ์ของการทำสงครามทางศาสนา แต่เป็นความขัดแย้งทางการเมือง การทหาร เชื้อชาติและเผ่าพันธ์

บทความพยายามชี้ให้เห๋นว่า ระเบิดพลีชีพมีมาตั้งแต่ กามิกาเซ่ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามเลย

ลองอ่านอีกครั้งนะครับ


โดย: unmoknight (unmoknight ) วันที่: 30 กันยายน 2555 เวลา:15:54:18 น.  

 


ไม่มีการกดขี่ก็จะไม่มีการพลีชีพ


โดย: lsm
"
"
ยังกะพวกมุสลิมไม่เคยไปกดขี่คนอื่น มุสลิมเวลาไปทำคนอื่นกดขี่คนอื่นทำได้ แต่พอโดนบ้างออกมาร้องจะเป็นจะตาย


โดย: axis IP: 113.53.253.238 วันที่: 13 กรกฎาคม 2556 เวลา:15:38:29 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.